ประเทศญี่ปุ่นนอกจากจะมีอาหารอร่อยๆ ธรรมชาติที่สวยงาม พิพิธภัณฑ์ดีๆ และของให้ช้อปอย่างเพลิดเพลินแล้ว ยังมีแหล่งความรู้ที่สนุกมากและเข้าชมฟรีอีกด้วย นั่นคือการเยี่ยมชมโรงงานการผลิตหรือสถานที่ทำงานของแบรนด์ต่างๆ
หากใครชอบการบินแนะนำให้ชม JAL Factory Tour Sky Museum หรือ ANA Maintenance Facility Tour เราจะได้ฟังความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบิน ชมโมเดลเครื่องบินจำลองและเครื่องแบบของพนักงานยุคต่างๆ ไปจนถึงการได้เข้าชมถึง Hangar หรือโรงเก็บเครื่องบิน ที่จะได้เห็นการตรวจเช็กและซ่อมบำรุงจริงๆ
หากใครเป็นสายกินสายดื่มจะต้องยิ่งปลื้ม เพราะหลากหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น Kewpie Suntory และ Kirin ก็เปิดโรงงานให้เข้าชม
วันนี้เราจะพาไปเที่ยวชมโรงงานที่คิดว่าน่าจะเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยมากที่สุดแบรนด์หนึ่งคือ คิคโคแมน (Kikkoman) ซึ่งขอเล่าที่มาที่ไปของการเปิดให้ชมโรงงานของคิคโคแมนกันก่อนเล็กน้อย
คิคโคแมนเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่หยิบวาระของชาติเรื่องการให้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ หรือโชคุอิคุ (Shokuiku) มาปลูกฝังกับกลุ่มเยาวชนตั้งแต่วัยที่เริ่มเลือกอาหารเอง เพราะสินค้าและบริการต่างๆ จากผู้ผลิตมีบทบาทต่อคุณภาพชีวิตเราไม่น้อยไปกว่านโยบายและสวัสดิการจากภาครัฐ บ่อยครั้งเราจึงเห็นการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจในประเทศพัฒนาแล้ว
ก่อนที่จะไปดูว่าคิคโคแมนทำอะไรเพื่อช่วยส่งเสริมนโยบายรัฐบ้าง เราชวนย้อนดูที่มาของการออกนโยบายเรื่องโชคุอิคุนี้กันสักหน่อยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมถึงสำคัญถึงขั้นถูกหยิบขึ้นมาเป็นวาระระดับชาติ
ขุดบ่อน้ำก่อนที่จะกระหาย
ถึงแม้ ‘Dig the well before you are thristy’ จะเป็นสุภาษิตจีน แต่ก็สะท้อนภาพการทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
รัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันการให้ความรู้ด้านโภชนาการอย่างจริงจังด้วยหลายสาเหตุ เช่น สัดส่วนประชากรที่มีภาวะโรคอ้วนมากขึ้น หรือประชาชนพึ่งพาอาหารจากร้านสะดวกซื้อจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต รวมถึงคนวัยทำงานและประชากรวัยเรียนเริ่มไม่ (มีเวลา) รับประทานอาหารเช้า ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความเป็นคนเมืองที่วิถีชีวิตเร่งรีบจนสมาชิกในบ้านไม่ได้ร่วมโต๊ะอาหารกันอย่างในอดีต
ทางการญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าหากปล่อยให้พฤติกรรมเหล่านี้ดำเนินต่อไปจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยจำนวนมหาศาล และลุกลามไปถึงงบประมาณด้านสาธาณสุข รวมถึงความมั่นคงด้านวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่นคงมีอนาคตที่ไม่ค่อยดีแน่นอน จึงเกิดการให้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการเป็นวาระสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
Shokuiku
สำหรับญี่ปุ่น ประชาชนควรมีสิทธิเข้าถึงอาหารที่ดี และเป็นความรับผิดชอบของประชาชนที่จะเลือกกินอาหารที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจนเป็นภาระของชาติ
โชคุอิคุถูกหยิบขึ้นเป็นวาระแห่งชาติเมื่อ ค.ศ. 2005 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นวิกฤตด้านอาหารของประชาชนในประเทศ และวัฒนธรรมอาหารอันลึกซึ้งก็กำลังถูกสั่นคลอนด้วยอาหารตะวันตกที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ
Shokuiku แปลว่า ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ ใจความสำคัญคือให้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ และสร้างความสามารถในการเลือกกินได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมารยาทบนโต๊ะอาหาร การเห็นคุณค่าของอาหาร ดังที่เราคุ้นเคยกับธรรมเนียม อิตะดะคิมัส (Itadakimasu) ที่เตือนให้สำนึกรู้คุณธรรมชาติที่ให้อาหารรวมถึงผู้ที่ปรุงอาหารให้เรา ซึ่งนำไปสู่การกินอาหารอย่างรู้คุณค่า ไม่เหลือทิ้ง

ทางการญี่ปุ่นได้พัฒนา Japanese Food Guide ขึ้นมาอย่างรอบด้าน นอกจากบอกประเภทอาหารที่ควรทานแล้ว ยังบอกด้วยว่าแต่ละวันควรกินกี่ส่วน ในปริมาณเท่าใด โดยใช้วิธียกตัวอย่างชนิดอาหารที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกันอย่างดีเป็นตัวอย่าง ทำให้ง่ายต่อความเข้าใจและจดจำ
ที่สำคัญ ไกด์ไลน์นี้อนุญาตให้กินขนม ลูกอม และเครื่องดื่มต่างๆ ได้ แต่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงเป็นแนวทางที่มีความเข้าใจ (Empathy) และสมเหตุสมผล (Realistic) ในการนำไปทำจริง แล้วก็ยังครอบคลุมไปถึงการออกกำลังกายและดื่มน้ำ เป็นแนวทางในองค์รวมที่ไม่ค่อยเห็นใน Food Guideline หลักๆ ที่ทั่วโลกใช้กัน
ร่วมด้วยช่วยกัน
ตัวแปรหนึ่งที่สำคัญมากต่อความสำเร็จนี้ก็คือแบรนด์ที่ผลิตสินค้าป้อนสู่ผู้บริโภค
รัฐบาลญี่ปุ่นเชิญชวนให้แบรนด์ต่างๆ ผนวกโชคุอิคุเข้าไปในการดำเนินธุรกิจของตัวเองในส่วนที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ชมโรงงาน สอนทำอาหาร หรือให้ความรู้ด้านอาหารในเว็บไซต์ของแบรนด์
การเปิดให้ผู้บริโภคชมโรงงานรับฟังข้อมูลโภชนาการและการผลิตต่างๆ ยังถือเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ไปในตัว และได้โอกาสรับความคิดเห็นจากผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่ต้องเสียงบประมาณทำไปวิจัยตลาด
คิคโคแมน… มากกว่าโชยุ
คิคโคแมนเป็นแบรนด์โชยุที่มียอดขายอันดับ 1 ในญี่ปุ่น คนไทยบางคนเรียกซีอิ๊วญี่ปุ่นว่า ‘คิคโคแมน’ มากกว่า ‘โชยุ’ ด้วยซ้ำ คิคโคแมนก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1917 มีอายุครบ 103 ปีในปีนี้ เป็นแบรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อคนวงกว้าง เพราะคนญี่ปุ่นกินโชยุเฉลี่ยคนละ 2.1 ลิตรต่อปี หรือบ้านละ 6 ขวดครึ่ง

ปัจจุบันคิคโคแมนมีแบรนด์ในเครืออีกหลายแบรนด์ รวมสินค้าหลายร้อยชนิด เช่น มิริน น้ำเต้าหู้ ซอสมะเขือเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย ภายใต้แนวคิด ‘Seasoning your life’

คิคโคแมนมีสินค้าที่หลากหลายและใช้ได้ทุกเพศทุกวัย การให้ความรู้ด้านโภชนาการจึงสำคัญต่อความเข้าใจและการใช้สินค้าของแบรนด์เอง คิคโคแมนตอบรับนโยบายโชคุอิคุอย่างจริงจัง จนนำมาพัฒนาเป็น 6 กิจกรรม ทั้งการสอนให้เด็กๆ ลองทำซอสถั่วเหลือง การเดินสายไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับซอสถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ปลูกมะเขือเทศ และโภชนาการตามโรงเรียนและบริษัท รวมถึงการเปิดโรงงานให้เยี่ยมชมการผลิตโชยุ ซึ่งโรงงานตั้งอยู่ที่เมืองโนดะ (Noda) จังหวัดชิบะ (Chiba) เป็นสถานที่เริ่มต้นแบรนด์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
ไปโรงงานกัน
บริเวณทางเข้าหน้าโรงงานมีคุณลุงยามที่พูดอังกฤษได้ดีมากๆ ดูแลอยู่ แค่แจ้งว่ามา Factory Tour คุณลุงยามจะโทรประสานเจ้าหน้าที่ภายในเพื่อเตรียมต้อนรับเรา เจ้าหน้าที่ทำงานกันเป็นทีมมาก โดยเราเดินตามทางเดินเขียวๆ แล้วเข้าที่ทางเข้าบริเวณหลังคาส้มๆ ได้เลย



เมื่อเข้ามาด้านในอาคาร เจ้าหน้าที่รีบเดินมาต้อนรับแล้วแจ้งว่า รอบนำชมต่อไปจะเริ่มในอีกไม่ช้า โดยมอบอุปกรณ์ฟังบรรยายไว้ให้ด้วยพร้อมสาธิตวิธีการใช้ เนื่องจากการบรรยายจะเป็นภาษาญี่ปุ่น

เจ้าหน้าที่เริ่มต้นการทัวร์โรงงานด้วยการเปิดวิดีโอบอกเล่าความเป็นมาของคิคโคแมนและเรื่องราวเกี่ยวกับโชยุ มีห้องฉายวิดีโอภาษาอังกฤษแยกต่างหากสำหรับชาวต่างชาติ จากนั้นก็พาไปชมขั้นตอนแรกของการทำโชยุ คือการเตรียมวัตถุดิบตั้งต้น ระหว่างทางมีภาพแสดงข้อมูลที่ใหญ่มากและมีภาษาอังกฤษให้เราอ่านด้วย
ส่วนผสมของโชยุของคิคโคแมนประกอบด้วยถั่วเหลือง ข้าวสาลี เกลือ กล้าของเชื้อราที่ใช้ในการหมัก ยีสต์ และแบคทีเรียแลคติก
หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการหมัก โชยุที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ใช้เวลาหมัก 6 เดือน ถั่วเหลืองจะค่อยๆ ถูกย่อย มีสีเข้มขึ้นและหอมขึ้นเรื่อยๆ ทางโรงงานได้นำตัวอย่างถั่วเหลืองที่หมักในระยะเวลาต่างๆ กันมาให้เราได้ดูสีและดมกลิ่น เด็กๆ ชอบกิจกรรมนี้มากเพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงทีละนิดจากเม็ดถั่วเหลืองมาเป็นซีอิ๊วที่เราคุ้นเคยกันบนโต๊ะอาหาร



หลังจากได้ฟังบรรยายเกี่ยวกับการหมักแล้ว เราเดินผ่านปล่องที่ใช้หมักถั่วเหลืองด้วย โดยมีการเจาะหน้าต่างไว้ให้ดู ทำให้เราเห็นพื้นผิวชั้นบนของถั่วเหลืองที่กำลังถูกหมักอยู่ในปล่องได้ แต่น่าเสียดายที่ทางโรงงานไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพในส่วนการผลิต
เมื่อครบ 6 เดือน โชยุหมักได้ที่ก็ถึงเวลาบรรจุขวด โชยุที่ผ่านการหมักจนได้ที่จะถูกนำไปกรองผ่านผ้าไนลอนที่ทบไปทบมาความยาว 2.8 กิโลเมตร หรือ 4 เท่าของความสูงโตเกียวทาวเวอร์! บริเวณนี้มีตัวอย่างผ้าไนลอนให้ได้สัมผัส และมีกากถั่วเหลืองที่คั้นโชยุออกไปแล้วให้ได้ดม รวมถึงมีตัวอย่างโชยุหลังจากการหมักได้ที่ ซึ่งจะมีน้ำมันถั่วเหลืองลอยอยู่ข้างบนด้วย


ต่อไปเป็นขั้นตอนการบรรจุขวดก่อนนำออกขาย มีการแสดงบรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ ที่แบรนด์เคยทำมา ตั้งแต่ถังไม้ในอดีต แบบกระป๋อง ขวดแก้ว มาจนถึงขวดพลาสติกในปัจจุบัน ถึงตรงนี้ก็จะจบการนำชมโรงงาน แต่ระหว่างทางมีป้ายความรู้และข้อมูลให้เดินย้อนมาอ่านได้อีกมาก



เมื่อจบการทัวร์โรงงาน นอกจากเราจะได้ความรู้เต็มอิ่มเกี่ยวกับซอสถั่วเหลือง ทางคิคโคแมนยังมีของฝากแจกให้ผู้เยี่ยมชมทุกคน (นอกจากเข้าชมฟรีแล้วยังมีสินค้าแจกให้ด้วย!) หากจะแจกโชยุธรรมดาคงไม่ตื่นเต้น เราได้รับชิโบริตาเตะ นามา โชยุ [Freshly Pressed Nama-shoyu (Raw Soy Sauce)] มันคือซีอิ๊วสดๆ ที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ ทำให้คงรสชาติของซีอิ๊วแบบสดใหม่ตามธรรมชาติ ใส่มาในขวดชนิดพิเศษมีระบบสุญญากาศที่เทซีอิ๊วออกจากขวดได้โดยไม่มีอากาศกลับเข้าไปในขวด ทำให้รักษาความสดของและปลอดภัยของซีอิ๊วได้นานถึง 90 วันหลังเปิดใช้
เท่านั้นยังไม่พอ เรายังได้รับซีอิ๊วผงรสวาซาบิอีกซอง เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้พกพาซีอิ๊วติดตัวได้ง่ายไม่ต้องกลัวหกเลอะเทอะ กินกับอาหารได้เลยหรือจะใช้ผสมเพื่อปรุงรสอาหารก็ได้

จากประสบการณ์ที่ได้เยี่ยมชม Factory Tour ของแบรนด์อื่นๆ ในญี่ปุ่นมาบ้าง ที่นี่พูดถึงแบรนด์ตัวเองน้อยมาก แต่เน้นให้ความรู้เรื่องโชยุและขั้นตอนการผลิต และในเว็บไซต์คิคโคแมนก็มีข้อมูลโภชนาการของสินค้าแต่ละตัวอย่างละเอียด สอดคล้องกันไปทั้งระบบโดยมีโชคุอิคุเป็นหัวใจ
ชิม & ช้อป
หากไม่รีบไปไหน ที่นี่ยังมี Mame Cafe รอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เปิดประสบการณ์ชิมความอร่อยจากโชยุในรูปแบบต่างๆ โดยมีอาหารและของหวานให้ลิ้มชิมรสโชยุได้ในราคาย่อมเยา

เราเลือกชิมเต้าหู้สดที่เสิร์ฟพร้อมถ้วยเปล่าเล็กๆ 3 ถ้วย ให้เราเลือกชิมโชยุและซอสนานาชนิดที่ตั้งเรียงรายไว้อย่างละลานตา ทำให้รู้สึกว่าเต้าหู้ชิ้นเล็กไปมากเลยทีเดียวเพราะไม่พอชิม
เราเลือกชิม Soy Sauce Soft Serve ซึ่งก็คือไอศกรีมโชยุ หากใครเคยชิ้มไอศกรีมซีอิ๊วดำของหยั่นหวอหยุ่นก็จะคล้ายๆ กัน เพียงแต่รสซีอิ๊วของคิคโคแมนเบากว่าและไม่ชัดเท่าของหยั่นหวอหยุ่น


หลังจากเอร็ดอร่อยกันเสร็จแล้ว หากติดใจในรสชาติหรือยังเที่ยวไม่จุใจ ก่อนกลับบ้านยังแวะร้านขายสินค้าในเครือคิคโคแมนได้ บางชิ้นก็เป็นสินค้าหายากที่ไม่ได้เจอกันบ่อยๆ เช่น โชยุขวดเล็กน่ารัก สินค้าบางตัวก็จะมีโปรโมชันลดราคาพิเศษ และยังมีของที่ระลึกต่างๆ เช่น พวงกุญแจหรือกระดาษโน้ตนานิจังแสนน่ารักให้ซื้อกลับบ้านอีกด้วย

Goyogura โชยุสูตรพิเศษสำหรับพระราชวังอิมพีเรียล
ขอแอบกระซิบว่านอกจากโชยุสูตรหมัก 6 เดือนที่พวกเราคุ้นเคยกัน คิคโคแมนยังมีซีอิ๊วสูตรพิเศษที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในพระราชวังอิมพีเรียลโดยเฉพาะมีชื่อว่า Goyogura Shoyu ต้องขออธิบายเพิ่มว่าปกติแล้วถั่วเหลืองที่ใช้ในการผลิตโชยุของคิคโคแมนมาจากแคนาดาและอเมริกา เพราะเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่ แต่โชยุชนิดนี้ใช้วัตถุดิบจากญี่ปุ่นทั้งหมด และหมักยาวนานถึง 12 เดือน ทำให้มีรสและกลิ่นพิเศษกว่าโชยุทั่วไป
โชยุสูตรนี้ผลิตขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1939 มีอาคารผลิตแยกส่วนออกไปต่างหาก ทางคิคโคแมนจำหน่ายโชยุรสพิเศษนี้ให้คนทั่วไปได้ชิมด้วย แต่เนื่องจากผลิตจำนวนจำกัด จึงอาจจะไม่ได้เห็นวางขายทั่วไปบ่อยนัก ถ้าพบโชยุในกล่องกระดาษสีเหลืองแบบนี้เมื่อไหร่ก็ให้รีบซื้อหากันได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าที่นี่มาขายและไม่ควรพลาดซื้อกลับบ้าน

ภาพ : www.tradbras.com.br
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วใครสนใจเข้าเยี่ยมชมโรงงานของคิคโคแมน อดใจรออีกนิด เนื่องจากตอนนี้กำลังปิดปรับปรุงและจะเปิดให้เข้าชมได้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้
สถานที่ : Kikkoman Soy Sauce Museum
การเดินทาง : สถานี Nodashi Station สาย Tobu Urban Park Line
วันทำการ : หยุดทุกวันจันทร์ที่ 4 ของเดือน, Golden week, Bon holiday และช่วงปีใหม่
เวลาเปิด : 09.00 – 15.00 น.
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าใช้จ่าย
การจอง : เข้าชมได้เลยโดยไม่ต้องจองล่วงหน้า แต่ถ้าอยากชมเป็นหมู่คณะหรือชมในนามองค์กรต้องติดต่อก่อน ดูรายละเอียดที่ www.kikkoman.com/en/shokuiku/factory.html
แนวทางการกินอาหารที่ดีตามนโยบาย Shokuiku ที่ถูกปรับปรุงล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 2016
- มีความสุขกับมื้ออาหาร
- รักษาท่วงทำนองที่เหมาะสมให้กับร่างกายในการรับอาหาร หรือกินอาหารเป็นเวลา
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ และกินอาหารหลากหลายอย่างสมดุล
- จัดสัดส่วนสารอาหารในมื้ออาหารให้เหมาะสม
- กินธัญพืชให้เพียงพอ เช่น ข้าว และธัญพืชต่างๆ
- อย่าลืมกินผัก ผลไม้ นม ถั่วต่างๆ และปลา
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด รวมถึงระวังปริมาณไขมันที่กินเข้าไป
- เห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากโภชนาการที่ดีซึ่งมีอยู่ในอาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว ช่วยกันรักษาอาหารดั้งเดิมเอาไว้
- รักษาแหล่งอาหาร รวมทั้งระมัดระวังการกินไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้ง
- หมั่นใส่ใจความรู้ด้านอาหารและดูแลการกินของตัวเองอยู่เสมอ
อ้างอิง
www.maff.go.jp/e/pdf/shokuiku.pdf
www.maff.go.jp/e/policies/tech_res/shokuiku.html
www.maff.go.jp/e/policies/tech_res/attach/pdf/shokuiku-3.pdf
www.youtube.com/watch?v=U1jxZgTNFAA
www.kikkoman.com/en/news/2011news/06.html
www.kikkoman.com/en/shokuiku/factory.html
Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ