เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน หลายคนที่ขับรถผ่านไปแถวมักกะสัน คงได้เห็นรถไฟสีขาวรูปร่างหน้าตาแปลกแยกไปจากรถไฟที่คุ้นเคยจอดอยู่ในรั้วโรงงาน หรือเคยเห็นเหล่าเพจรถไฟถ่ายรูปเจ้ารถไฟหน้าตาประหลาดนี้วิ่งทดสอบอยู่ในเส้นทางสายตะวันออก เจ้ารถไฟหน้าตาเหมือนหุ่นกันดั้มนี้มีชื่อเรียกว่า ‘KIHA 183’ เป็นรถไฟจากเกาะฮอกไกโดที่เคยให้บริการอยู่กับ Hokkaido Railway Company หรือ JR Hokkaido ก่อนที่จะมาใช้ชีวิตหลังยุติการให้บริการในญี่ปุ่นที่ประเทศไทย

KIHA 183 เป็นรถดีเซลราง (Diesel Multiple Unit : DMU) ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีหัวรถจักรลากจูง ข้อเด่นของรถดีเซลรางคือมีความคล่องตัวสูง หัวและท้ายขบวนเป็นรถประเภทที่มีห้องขับ รถทุกคัน (หรือบางคัน) มีอุปกรณ์ในการขับเคลื่อน แรงม้าไม่สูงมากแต่เน้นการช่วยกันฉุดลาก จึงทำให้ทำความเร็วได้ดีกว่ารถไฟประเภทที่ต้องใช้หัวรถจักรในการลากจูง ซึ่งแม้ว่าจะมีแรงม้าที่สูง แต่การฉุดลากรถพ่วงที่ไม่มีกำลังด้วยน้ำหนักหลายร้อยตันนั้นทำให้การเร่งตัวเป็นไปได้ช้ากว่า รถดีเซลรางจึงเหมาะสมในการใช้งานกับรถโดยสารค่อนข้างมาก

KIHA 183 จากรถไฟรุ่นสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น สู่รถไฟท่องเที่ยวของไทย
KIHA 183 วิ่งทดสอบสมรรถนะในประเทศไทย
ภาพ : พีระภัทร บุญมี

KIHA 183 เป็นรถที่สร้างและพัฒนาโดยการรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น (Japan National Railway : JNR) ในสมัยก่อนที่จะแยกออกมาเป็นสารพัด JR ที่เราคุ้นเคย และประจำการอยู่กับหลาย ๆ JR หนึ่งในนั้นคือ JR Hokkaido ซึ่งในเซ็ตนั้นประกอบด้วยรถ 2 รุ่น คันที่มีห้องขับเราเรียกว่า KIHA 183 ทำหน้าที่เป็นตู้แรกและตู้สุดท้ายของขบวน โดยมี KIHA 182 เป็นรถไม่มีห้องขับอยู่ตรงกลาง แม้ว่าจะมีรถรุ่น 182 ผสมอยู่ในขบวนแต่หลัก ๆ เราก็ยังคงเรียก KIHA 183 เป็นหลักมากกว่า

KIHA 183 จากรถไฟรุ่นสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น สู่รถไฟท่องเที่ยวของไทย

รถ KIHA 183 (คันมีห้องขับ) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้านหน้าสุดเป็นห้องขับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ารถไฟทั่วไปและเป็นเอกลักษณ์ของรถดีเซลราง (รวมถึงรถไฟฟ้า EMU) ของญี่ปุ่น จนทำให้หน้าตาดูเหมือนหุ่นยนต์ ฮิปโป หรือหมู อะไรก็ตามแต่ใครจะจินตนาการ ด้านล่างสุดเป็นกรอบไฟสี่เหลี่ยมสำหรับใส่ป้ายชื่อขบวนรถ ถัดจากห้องขับมาเป็นส่วนของห้องเครื่อง และหลังจากห้องเครื่องไปเป็นห้องโดยสารแอร์เย็นฉ่ำ มีที่นั่งเบาะกำมะหยี่แบบปรับเอนได้สีเทาจำนวน 40 ที่นั่ง รถมีห้องขับจะไม่มีห้องน้ำในตู้ ต้องเดินไปเข้าห้องน้ำที่รถไม่มีห้องขับแทน ส่วนรถไม่มีห้องขับ มีรหัสรุ่นว่า KIHA 182 เป็นห้องโดยสารยาวตลอดแนว นั่งเป็นเบาะกำมะหยี่สีแดงเลือดหมูปรับเอนได้จำนวน 68 ที่นั่ง มีห้องน้ำระบบปิดพร้อมเตียงเปลี่ยนผ้าอ้อม

หากจัดชุดรถแบบ 3 ตู้ เราจะได้ที่นั่ง 148 ที่/ขบวน

หากจัดชุดรถแบบ 4 ตู้ จะได้ที่นั่ง 216 ที่/ขบวน

และถ้าจัดชุดรถแบบ 5 ตู้ ก็จะได้ที่นั่งมากถึง 284 ที่/ขบวน

โดยเมื่อประกอบร่างแล้ว จะใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถได้ที่ 100 กม./ชม. เท่ากับดีเซลราง THN ของประเทศไทย

KIHA 183 จากรถไฟรุ่นสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น สู่รถไฟท่องเที่ยวของไทย
KIHA 183 จากรถไฟรุ่นสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น สู่รถไฟท่องเที่ยวของไทย

การรถไฟแห่งประเทศไทย รับรถ KIHA 183 และ KIHA 182 จากบริษัท JR Hokkaido จำนวน 17 คัน โดยเป็นรถรุ่น KIHA 183 (มีห้องขับ) แบบห้องขับสูงจำนวน 8 คัน และแบบห้องขับต่ำจำนวน 1 คัน ส่วนรุ่น KIHA 182 (ไม่มีห้องขับ) มีจำนวน 8 คัน ซึ่งเป็นการรับบริจาครถโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่การรถไฟฯ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะการขนส่งจากญี่ปุ่นมาไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นไทยเราก็เคยรับบริจาครถไฟใช้แล้วจากบริษัท West Japan Railway Company หรือ JR West เช่น รถดีเซลราง KIHA 28 KIHA 58 รวมถึงรถนอน Bluetrain ที่เคยใช้เป็นขบวนรถไฟพิเศษช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ งานพืชสวนโลก รวมถึงใช้กับรถไฟนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งแม้ว่าในช่วงหลัง ๆ มีหลายคันที่ยุติการใช้งาน แต่ช่างของการรถไฟฯ ก็เพิ่มมูลค่าของรถบางคันโดยดัดแปลงให้เป็นตู้รถพิเศษเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น รถ SRT Prestige หรือ รถ OTOP แต่กระนั้นแล้วก็ยังเป็นการเช่าเหมา ไม่ใช่รถที่ใช้สำหรับรถไฟนำเที่ยวประจำสัปดาห์

KIHA 183 จากรถไฟรุ่นสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น สู่รถไฟท่องเที่ยวของไทย
รถ OTOP เป็นรถที่ดัดแปลงจากรถไฟญี่ปุ่นมือสอง เพื่อใช้เป็นรถไฟส่งเสริมการท่องเที่ยว

การรถไฟฯ จะดำเนินการฟื้นฟูสภาพจำนวน 8 คัน (2 ขบวน) ก่อน เพื่อใช้สำหรับให้บริการในรูปแบบของขบวนรถนำเที่ยวหรือขบวนรถพิเศษ ด้วยเหตุผลว่า รถไฟนำเที่ยวของการรถไฟฯ นั้น เป็นการดึงรถโดยสารที่ใช้งานโดยทั่วไปมารวมขบวนกันเพื่อเป็นขบวนรถไฟนำเที่ยว ซึ่งหลาย ๆ ครั้งพบว่าขบวนรถไม่อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว หรือต้องดึงรถจากในระบบเพื่อเข้ามาใช้งาน ทำให้การบริหารจัดการตู้โดยสารนั้นไม่มีความคล่องตัว ประกอบกับรถส่วนใหญ่ที่เป็นตู้พัดลมนั้น ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวมีความเหนื่อยมากกว่าความสบาย หากใช้รถเฉพาะที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบรถไฟนำเที่ยวไปเลยก็จะมีผลดีมากกว่า KIHA 183 จึงตอบโจทย์นั้น

KIHA 183 จากรถไฟรุ่นสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น สู่รถไฟท่องเที่ยวของไทย

รถ KIHA ที่เราได้รับมายุติการให้บริการในเส้นทางของ JR Hokkaido เมื่อ พ.ศ. 2560 มีอายุการใช้งานเท่า ๆ กับรถดีเซลราง THN และดีเซลราง Daewoo ของประเทศไทย

ฝูงรถ KIHA เดินทางมาถึงประเทศไทยที่ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 และเข้าสู่กระบวนการดัดแปลงรถเพื่อใช้งานเบื้องต้นในประเทศไทยโดยทันที ภายนอกของมันดูมีคราบสนิมเล็กน้อยจากการใช้งานและสภาพอากาศที่ฮอกไกโด ซึ่งเจอทั้งหิมะและไอทะเลจากท่าเรือที่จอดนิ่ง ๆ รอการขนย้ายมา ส่วนภายในนั้นดูดีเลยทีเดียว ยิ่งตอกย้ำว่าบริษัทรถไฟญี่ปุ่นดูแลบำรุงรักษารถไฟที่ใช้ได้เป็นอย่างดี

KIHA 183 จากรถไฟรุ่นสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น สู่รถไฟท่องเที่ยวของไทย
ห้องโดยสารของ KIHA 183 (รถมีห้องขับ) แบบเดิม ๆ ก่อนการปรับปรุงภายใน

กระบวนการดัดแปลงนั้นออกจะดูหลายขั้นตอนสักหน่อย

เนื่องจากว่ารถไฟของญี่ปุ่นมีขนาดความกว้างของล้อที่ใช้กับทางระบบกว้างขนาด 1.067 ม. ซึ่งของไทยเราใช้อยู่ที่ 1.000 ม. ต่างกันอยู่ 6.7 เซนติเมตร วิศวกรของการรถไฟต้องทำการบีบอัดล้อเพื่อปรับขนาดลง (Re-gauge) เพื่อให้เพลาที่มีความกว้าง 1.067 ม. วิ่งบนทางกว้าง 1.000 ม. ได้

ขั้นตอนแรกต้องแยกโบกี้ (ชุดล้อ) ออกจากตัวรถ นำขึ้นขบวนพิเศษบรรทุกไปที่โรงงานมักกะสันเพื่อ Re-gauge ล้อทั้งหมด โดยทิ้งตัวรถทั้ง 17 คันไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบังก่อน เมื่อโบกี้พร้อมล้อทั้งหมดถึงโรงงานมักกะสัน ก็จะลำเลียงเข้าโรงล้อภายในโรงงานเพื่อ Re-gauge ด้วยเครื่องดันเพลาของโรงงาน เมื่อตรวจค่าความกว้างอย่างละเอียดแล้ว ล้อที่บีบอัดเสร็จก็จะประกอบกลับเข้าไปที่โบกี้ และส่งขึ้นขบวนพิเศษไปที่สถานีแหลมฉบังเพื่อรอประกอบเข้ากับตัวรถ

ในขณะเดียวกัน เมื่อล้อพร้อมโบกี้ที่ขนาดพร้อมลงทางกว้าง 1 เมตรกำลังเดินทางไปแหลมฉบัง ก็จะยกตัวตู้รถทั้งหมดขึ้นรถบรรทุกจากในท่าเรือมารอประกอบโบกี้ที่สถานีแหลมฉบัง

ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย

เมื่อล้อพร้อมโบกี้เดินทางมาถึง ก็ค่อย ๆ ใช้เครนยกรถเพื่อวางลงบนโบกี้และประกอบร่างบนราง ทำไปจนครบ 17 คัน จากนั้นแยกรถออกเป็น 2 ขบวนเพื่อลำเลียงไปโรงงานมักกะสันด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดทางมีเหล่าแฟนรถไฟทั้งไทยญี่ปุ่น (ที่อยู่ในไทย) มาคอยต้อนรับ KIHA 183 และ 182 เกือบตลอดทาง โดยเฉพาะที่สถานีมักกะสัน มีกองทัพ Railfan นับสิบชีวิตเฝ้ารอการเดินทางมาถึง และเห็นรถดีเซลรางญี่ปุ่นจาก JR Hokkaido ตัวเป็น ๆ ในประเทศไทย

เมื่อเจ้า KIHA ทั้ง 17 คันถึงโรงงานมักกะสันแล้ว ต่อไปคือกระบวนการแต่งหล่อและเสริมสภาพให้นำมาวิ่งใช้งานได้ โดยในลำดับแรกจะเริ่มที่ 4 คันก่อน โดยใช้รถ KIHA 183 ห้องขับสูงจำนวน 2 คัน และ KIHA 182 ไม่มีห้องขับอีก 2 คัน เพื่อประกอบร่างเป็น 1 ขบวนความยาว 4 ตู้

ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย

อะไรบ้างที่ต้องดำเนินการตรวจเช็กและปรับปรุงเพื่อให้ใช้งานได้ เริ่มจากเครื่องยนต์ประธาน (Main Engine) สำหรับการลากจูง ที่ต้องตรวจสภาพ ทำวาระ ถ่ายสารหล่อลื่น เปลี่ยนกรองเชื้อเพลิง กรองหล่อลื่น ตรวจสอบระบบต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ว่ายังใช้งานได้ในระดับไหน หลังจากนั้นจะไปดูต่อที่ระบบถ่ายทอดกำลัง (Transmission) ระบบห้ามล้อ (Brake System) แก้ไขระยาง (Link Gauge) ต่าง ๆ เพื่อให้แมตช์กับล้อที่ปรับขนาดลงสำหรับทางกว้าง 1.000 ม.

ระบบเครื่องยนต์ผ่านไป ไปต่อที่ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ระบบห้องสุขาที่เป็นแบบระบบปิดมีถังเก็บ รวมถึงการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่นั่งภายในพร้อมผ้าม่าน ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ในรถจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ และที่ชอบมาก ๆ คือประตูระหว่างห้องโดยสารกับห้องน้ำเป็นระบบอัตโนมัติที่ไม่ได้ใช้เซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหว แต่ซ่อนกลไกไว้ในพรมเช็ดเท้า ถ้าเราเหยียบพรมเมื่อไหร่ ประตูก็จะทำงานทันที ตัดปัญหาเข้าใกล้เซ็นเซอร์แล้วประตูเปิดไม่หยุดได้ดีทีเดียว

ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย

ภายในห้องโดยสารใช้ไฟส่องสว่างเป็นโทนอุ่น นั่งแล้วรู้สึกสบาย เบาะนั่งเอนได้ในระดับเหมาะสม มีขอบเบาะนูนขึ้นมาเพื่อกันหัวเอนไปซบคนข้าง ๆ ตอนหลับ นอกจากนั้นแล้วยังมีที่ทำการพนักงานที่กว้างขวาง มีตู้เย็นสำหรับแช่เครื่องดื่ม รวมถึงมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกพื้นฐานที่น่าจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวด้วยดีเซลราง KIHA เปี่ยมไปด้วยความสะดวกสบายสไตล์รถไฟนิฮงทีเดียว

ส่วนที่ต้องมีการดัดแปลงเพื่อให้ใช้งานในประเทศไทย อันดับแรกคือการตัดโคมไฟส่องทาง (Headlight) ตำแหน่งบนสุดออก เนื่องจากมีความสูงเกินเขตบรรทุกของรถไฟไทย จึงดัดแปลงย้ายโคมไฟส่องทางหลักมาไว้ที่หน้ารถใต้กระจกหน้าแทน ส่วนต่อมาที่ต้องทำคือบันไดขึ้นลง เพราะของเดิมเป็นประตูสำหรับชานชาลาสูงระดับพื้นรถ ซึ่งของไทยมีชานชาลาทั้ง 2 ระดับ คือชานชาลาสูงสำหรับสถานีที่สร้างใหม่ และชานชาลาต่ำสำหรับสถานีเดิม ยิ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายความสูง ชานชาลาทั้งประเทศก็จะต้องติดตั้งขั้นบันไดเพิ่มแบบนี้เนี่ยแหละ เพื่อให้ใช้งานได้กับชานชาลาทั้ง 2 แบบ

ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย

สีสันของตัวรถนั้น วิศวกรของการรถไฟฯ เลือกใช้เฉดสีเดิมทั้งหมด ตัวรถพื้นหลักเป็นสีขาว มีแถบสีม่วงอ่อน สีเขียว และแถบหน้าต่างออกเป็นสีน้ำตาลเข้ม เพื่อคงความเป็นต้นฉบับและรักษาเอกลักษณ์ของ KIHA 183 มีส่วนเดียวที่เพิ่มเข้ามา คือสัญลักษณ์ SRT ที่อยู่ด้านข้างรถใกล้กับเลขประจำตู้

เมื่อการดำเนินการปรับปรุงตัวรถเสร็จสิ้นสมบูรณ์จำนวน 3 คัน (คันที่ 4 อยู่ระหว่างทำสี) ก็ได้มีการวิ่งทดสอบสมรรถนะทางไกลจากสถานีมักกะสันไปชุมทางศรีราชา ระยะทาง 230 กม. (ไป-กลับ) เพื่อตรวจสอบระบบต่าง ๆ รวมถึงบันทึกข้อมูลสถิติเพื่อนำมาเปรียบเทียบและปรับปรุงต่อไป ถือได้ว่าวันนั้นเป็นวันรวมตัวเหล่าคนรักรถไฟให้ไปยืนถ่ายรูปถ่าย-คลิปสองข้างทางตั้งแต่มักกะสันยันศรีราชา

ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
KIHA 183 วิ่งทดสอบสมรรถนะจากมักกะสัน-ศรีราชา รูปถ่ายโดยคุณ Napat Kuhapunya

การปรับปรุงใหญ่ในช่วงที่ 2 คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี เพื่อเพิ่มสมรรถนะของขบวนรถให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น การเปลี่ยนล้อใหม่แบบยกกระบิ เปลี่ยนเครื่องยนต์ต้นกำลัง เปลี่ยนเครื่องยนต์ขับเคลื่อน เปลี่ยนเครื่องถ่ายทอดกำลัง เปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เปลี่ยนระบบปรับอากาศ รวมถึงระบบไฟฟ้าในรถ ซึ่งหากทั้ง 17 คันผ่านการปรับปรุงใหญ่แล้ว ขีดจำกัดของการให้บริการจะลดน้อยลง จากเดิมที่วิ่งไปกลับได้ไม่เกิน 300 กม. ต่อวัน ก็จะไปได้ไกลกว่านั้น เราอาจจะได้นั่งรถ KIHA 183 เที่ยวในเส้นทางไกลขึ้น รวมถึงมีรถไฟนำเที่ยวในเส้นทางต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การนั่งรถไฟท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องยากหรือมีตัวเลือกน้อยอีกต่อไป

นี่คงเป็นก้าวแรกสำหรับการมี ‘รถไฟนำเที่ยว’ ที่เป็นชุดรถเฉพาะของตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ปนกับรถไฟทั่วไปแบบที่รถไฟญี่ปุ่นเป็นเสียที

ขอบคุณวิศวกรและช่างของการรถไฟฯ ทุกคน ที่ทุ่มเททั้งพลังกาย พลังใจ เพื่อทำให้ KIHA 183 และ 182 ได้มารับหน้าที่ใหม่ที่ประเทศไทยในบั้นปลายได้อย่างมีคุณค่า

ขอฝาก KIHA 183 ไว้ในอ้อมใจผู้โดยสารที่น่ารักด้วย

ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย
ความพิเศษของ KIHA 183 รถไฟรุ่นตำนานของญี่ปุ่น กับการดัดแปลงครั้งใหญ่จนใหม่กริ๊บ พร้อมวิ่งเป็นรถไฟท่องเที่ยวของไทย

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ