เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน หลายคนที่ขับรถผ่านไปแถวมักกะสัน คงได้เห็นรถไฟสีขาวรูปร่างหน้าตาแปลกแยกไปจากรถไฟที่คุ้นเคยจอดอยู่ในรั้วโรงงาน หรือเคยเห็นเหล่าเพจรถไฟถ่ายรูปเจ้ารถไฟหน้าตาประหลาดนี้วิ่งทดสอบอยู่ในเส้นทางสายตะวันออก เจ้ารถไฟหน้าตาเหมือนหุ่นกันดั้มนี้มีชื่อเรียกว่า ‘KIHA 183’ เป็นรถไฟจากเกาะฮอกไกโดที่เคยให้บริการอยู่กับ Hokkaido Railway Company หรือ JR Hokkaido ก่อนที่จะมาใช้ชีวิตหลังยุติการให้บริการในญี่ปุ่นที่ประเทศไทย
KIHA 183 เป็นรถดีเซลราง (Diesel Multiple Unit : DMU) ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีหัวรถจักรลากจูง ข้อเด่นของรถดีเซลรางคือมีความคล่องตัวสูง หัวและท้ายขบวนเป็นรถประเภทที่มีห้องขับ รถทุกคัน (หรือบางคัน) มีอุปกรณ์ในการขับเคลื่อน แรงม้าไม่สูงมากแต่เน้นการช่วยกันฉุดลาก จึงทำให้ทำความเร็วได้ดีกว่ารถไฟประเภทที่ต้องใช้หัวรถจักรในการลากจูง ซึ่งแม้ว่าจะมีแรงม้าที่สูง แต่การฉุดลากรถพ่วงที่ไม่มีกำลังด้วยน้ำหนักหลายร้อยตันนั้นทำให้การเร่งตัวเป็นไปได้ช้ากว่า รถดีเซลรางจึงเหมาะสมในการใช้งานกับรถโดยสารค่อนข้างมาก

ภาพ : พีระภัทร บุญมี
KIHA 183 เป็นรถที่สร้างและพัฒนาโดยการรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น (Japan National Railway : JNR) ในสมัยก่อนที่จะแยกออกมาเป็นสารพัด JR ที่เราคุ้นเคย และประจำการอยู่กับหลาย ๆ JR หนึ่งในนั้นคือ JR Hokkaido ซึ่งในเซ็ตนั้นประกอบด้วยรถ 2 รุ่น คันที่มีห้องขับเราเรียกว่า KIHA 183 ทำหน้าที่เป็นตู้แรกและตู้สุดท้ายของขบวน โดยมี KIHA 182 เป็นรถไม่มีห้องขับอยู่ตรงกลาง แม้ว่าจะมีรถรุ่น 182 ผสมอยู่ในขบวนแต่หลัก ๆ เราก็ยังคงเรียก KIHA 183 เป็นหลักมากกว่า

รถ KIHA 183 (คันมีห้องขับ) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้านหน้าสุดเป็นห้องขับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ารถไฟทั่วไปและเป็นเอกลักษณ์ของรถดีเซลราง (รวมถึงรถไฟฟ้า EMU) ของญี่ปุ่น จนทำให้หน้าตาดูเหมือนหุ่นยนต์ ฮิปโป หรือหมู อะไรก็ตามแต่ใครจะจินตนาการ ด้านล่างสุดเป็นกรอบไฟสี่เหลี่ยมสำหรับใส่ป้ายชื่อขบวนรถ ถัดจากห้องขับมาเป็นส่วนของห้องเครื่อง และหลังจากห้องเครื่องไปเป็นห้องโดยสารแอร์เย็นฉ่ำ มีที่นั่งเบาะกำมะหยี่แบบปรับเอนได้สีเทาจำนวน 40 ที่นั่ง รถมีห้องขับจะไม่มีห้องน้ำในตู้ ต้องเดินไปเข้าห้องน้ำที่รถไม่มีห้องขับแทน ส่วนรถไม่มีห้องขับ มีรหัสรุ่นว่า KIHA 182 เป็นห้องโดยสารยาวตลอดแนว นั่งเป็นเบาะกำมะหยี่สีแดงเลือดหมูปรับเอนได้จำนวน 68 ที่นั่ง มีห้องน้ำระบบปิดพร้อมเตียงเปลี่ยนผ้าอ้อม
หากจัดชุดรถแบบ 3 ตู้ เราจะได้ที่นั่ง 148 ที่/ขบวน
หากจัดชุดรถแบบ 4 ตู้ จะได้ที่นั่ง 216 ที่/ขบวน
และถ้าจัดชุดรถแบบ 5 ตู้ ก็จะได้ที่นั่งมากถึง 284 ที่/ขบวน
โดยเมื่อประกอบร่างแล้ว จะใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถได้ที่ 100 กม./ชม. เท่ากับดีเซลราง THN ของประเทศไทย


การรถไฟแห่งประเทศไทย รับรถ KIHA 183 และ KIHA 182 จากบริษัท JR Hokkaido จำนวน 17 คัน โดยเป็นรถรุ่น KIHA 183 (มีห้องขับ) แบบห้องขับสูงจำนวน 8 คัน และแบบห้องขับต่ำจำนวน 1 คัน ส่วนรุ่น KIHA 182 (ไม่มีห้องขับ) มีจำนวน 8 คัน ซึ่งเป็นการรับบริจาครถโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่การรถไฟฯ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะการขนส่งจากญี่ปุ่นมาไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นไทยเราก็เคยรับบริจาครถไฟใช้แล้วจากบริษัท West Japan Railway Company หรือ JR West เช่น รถดีเซลราง KIHA 28 KIHA 58 รวมถึงรถนอน Bluetrain ที่เคยใช้เป็นขบวนรถไฟพิเศษช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ งานพืชสวนโลก รวมถึงใช้กับรถไฟนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งแม้ว่าในช่วงหลัง ๆ มีหลายคันที่ยุติการใช้งาน แต่ช่างของการรถไฟฯ ก็เพิ่มมูลค่าของรถบางคันโดยดัดแปลงให้เป็นตู้รถพิเศษเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น รถ SRT Prestige หรือ รถ OTOP แต่กระนั้นแล้วก็ยังเป็นการเช่าเหมา ไม่ใช่รถที่ใช้สำหรับรถไฟนำเที่ยวประจำสัปดาห์

การรถไฟฯ จะดำเนินการฟื้นฟูสภาพจำนวน 8 คัน (2 ขบวน) ก่อน เพื่อใช้สำหรับให้บริการในรูปแบบของขบวนรถนำเที่ยวหรือขบวนรถพิเศษ ด้วยเหตุผลว่า รถไฟนำเที่ยวของการรถไฟฯ นั้น เป็นการดึงรถโดยสารที่ใช้งานโดยทั่วไปมารวมขบวนกันเพื่อเป็นขบวนรถไฟนำเที่ยว ซึ่งหลาย ๆ ครั้งพบว่าขบวนรถไม่อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว หรือต้องดึงรถจากในระบบเพื่อเข้ามาใช้งาน ทำให้การบริหารจัดการตู้โดยสารนั้นไม่มีความคล่องตัว ประกอบกับรถส่วนใหญ่ที่เป็นตู้พัดลมนั้น ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวมีความเหนื่อยมากกว่าความสบาย หากใช้รถเฉพาะที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบรถไฟนำเที่ยวไปเลยก็จะมีผลดีมากกว่า KIHA 183 จึงตอบโจทย์นั้น

รถ KIHA ที่เราได้รับมายุติการให้บริการในเส้นทางของ JR Hokkaido เมื่อ พ.ศ. 2560 มีอายุการใช้งานเท่า ๆ กับรถดีเซลราง THN และดีเซลราง Daewoo ของประเทศไทย
ฝูงรถ KIHA เดินทางมาถึงประเทศไทยที่ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 และเข้าสู่กระบวนการดัดแปลงรถเพื่อใช้งานเบื้องต้นในประเทศไทยโดยทันที ภายนอกของมันดูมีคราบสนิมเล็กน้อยจากการใช้งานและสภาพอากาศที่ฮอกไกโด ซึ่งเจอทั้งหิมะและไอทะเลจากท่าเรือที่จอดนิ่ง ๆ รอการขนย้ายมา ส่วนภายในนั้นดูดีเลยทีเดียว ยิ่งตอกย้ำว่าบริษัทรถไฟญี่ปุ่นดูแลบำรุงรักษารถไฟที่ใช้ได้เป็นอย่างดี

กระบวนการดัดแปลงนั้นออกจะดูหลายขั้นตอนสักหน่อย
เนื่องจากว่ารถไฟของญี่ปุ่นมีขนาดความกว้างของล้อที่ใช้กับทางระบบกว้างขนาด 1.067 ม. ซึ่งของไทยเราใช้อยู่ที่ 1.000 ม. ต่างกันอยู่ 6.7 เซนติเมตร วิศวกรของการรถไฟต้องทำการบีบอัดล้อเพื่อปรับขนาดลง (Re-gauge) เพื่อให้เพลาที่มีความกว้าง 1.067 ม. วิ่งบนทางกว้าง 1.000 ม. ได้
ขั้นตอนแรกต้องแยกโบกี้ (ชุดล้อ) ออกจากตัวรถ นำขึ้นขบวนพิเศษบรรทุกไปที่โรงงานมักกะสันเพื่อ Re-gauge ล้อทั้งหมด โดยทิ้งตัวรถทั้ง 17 คันไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบังก่อน เมื่อโบกี้พร้อมล้อทั้งหมดถึงโรงงานมักกะสัน ก็จะลำเลียงเข้าโรงล้อภายในโรงงานเพื่อ Re-gauge ด้วยเครื่องดันเพลาของโรงงาน เมื่อตรวจค่าความกว้างอย่างละเอียดแล้ว ล้อที่บีบอัดเสร็จก็จะประกอบกลับเข้าไปที่โบกี้ และส่งขึ้นขบวนพิเศษไปที่สถานีแหลมฉบังเพื่อรอประกอบเข้ากับตัวรถ
ในขณะเดียวกัน เมื่อล้อพร้อมโบกี้ที่ขนาดพร้อมลงทางกว้าง 1 เมตรกำลังเดินทางไปแหลมฉบัง ก็จะยกตัวตู้รถทั้งหมดขึ้นรถบรรทุกจากในท่าเรือมารอประกอบโบกี้ที่สถานีแหลมฉบัง

เมื่อล้อพร้อมโบกี้เดินทางมาถึง ก็ค่อย ๆ ใช้เครนยกรถเพื่อวางลงบนโบกี้และประกอบร่างบนราง ทำไปจนครบ 17 คัน จากนั้นแยกรถออกเป็น 2 ขบวนเพื่อลำเลียงไปโรงงานมักกะสันด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดทางมีเหล่าแฟนรถไฟทั้งไทยญี่ปุ่น (ที่อยู่ในไทย) มาคอยต้อนรับ KIHA 183 และ 182 เกือบตลอดทาง โดยเฉพาะที่สถานีมักกะสัน มีกองทัพ Railfan นับสิบชีวิตเฝ้ารอการเดินทางมาถึง และเห็นรถดีเซลรางญี่ปุ่นจาก JR Hokkaido ตัวเป็น ๆ ในประเทศไทย
เมื่อเจ้า KIHA ทั้ง 17 คันถึงโรงงานมักกะสันแล้ว ต่อไปคือกระบวนการแต่งหล่อและเสริมสภาพให้นำมาวิ่งใช้งานได้ โดยในลำดับแรกจะเริ่มที่ 4 คันก่อน โดยใช้รถ KIHA 183 ห้องขับสูงจำนวน 2 คัน และ KIHA 182 ไม่มีห้องขับอีก 2 คัน เพื่อประกอบร่างเป็น 1 ขบวนความยาว 4 ตู้

อะไรบ้างที่ต้องดำเนินการตรวจเช็กและปรับปรุงเพื่อให้ใช้งานได้ เริ่มจากเครื่องยนต์ประธาน (Main Engine) สำหรับการลากจูง ที่ต้องตรวจสภาพ ทำวาระ ถ่ายสารหล่อลื่น เปลี่ยนกรองเชื้อเพลิง กรองหล่อลื่น ตรวจสอบระบบต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ว่ายังใช้งานได้ในระดับไหน หลังจากนั้นจะไปดูต่อที่ระบบถ่ายทอดกำลัง (Transmission) ระบบห้ามล้อ (Brake System) แก้ไขระยาง (Link Gauge) ต่าง ๆ เพื่อให้แมตช์กับล้อที่ปรับขนาดลงสำหรับทางกว้าง 1.000 ม.
ระบบเครื่องยนต์ผ่านไป ไปต่อที่ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ระบบห้องสุขาที่เป็นแบบระบบปิดมีถังเก็บ รวมถึงการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่นั่งภายในพร้อมผ้าม่าน ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ในรถจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ และที่ชอบมาก ๆ คือประตูระหว่างห้องโดยสารกับห้องน้ำเป็นระบบอัตโนมัติที่ไม่ได้ใช้เซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหว แต่ซ่อนกลไกไว้ในพรมเช็ดเท้า ถ้าเราเหยียบพรมเมื่อไหร่ ประตูก็จะทำงานทันที ตัดปัญหาเข้าใกล้เซ็นเซอร์แล้วประตูเปิดไม่หยุดได้ดีทีเดียว




ภายในห้องโดยสารใช้ไฟส่องสว่างเป็นโทนอุ่น นั่งแล้วรู้สึกสบาย เบาะนั่งเอนได้ในระดับเหมาะสม มีขอบเบาะนูนขึ้นมาเพื่อกันหัวเอนไปซบคนข้าง ๆ ตอนหลับ นอกจากนั้นแล้วยังมีที่ทำการพนักงานที่กว้างขวาง มีตู้เย็นสำหรับแช่เครื่องดื่ม รวมถึงมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกพื้นฐานที่น่าจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวด้วยดีเซลราง KIHA เปี่ยมไปด้วยความสะดวกสบายสไตล์รถไฟนิฮงทีเดียว
ส่วนที่ต้องมีการดัดแปลงเพื่อให้ใช้งานในประเทศไทย อันดับแรกคือการตัดโคมไฟส่องทาง (Headlight) ตำแหน่งบนสุดออก เนื่องจากมีความสูงเกินเขตบรรทุกของรถไฟไทย จึงดัดแปลงย้ายโคมไฟส่องทางหลักมาไว้ที่หน้ารถใต้กระจกหน้าแทน ส่วนต่อมาที่ต้องทำคือบันไดขึ้นลง เพราะของเดิมเป็นประตูสำหรับชานชาลาสูงระดับพื้นรถ ซึ่งของไทยมีชานชาลาทั้ง 2 ระดับ คือชานชาลาสูงสำหรับสถานีที่สร้างใหม่ และชานชาลาต่ำสำหรับสถานีเดิม ยิ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายความสูง ชานชาลาทั้งประเทศก็จะต้องติดตั้งขั้นบันไดเพิ่มแบบนี้เนี่ยแหละ เพื่อให้ใช้งานได้กับชานชาลาทั้ง 2 แบบ




สีสันของตัวรถนั้น วิศวกรของการรถไฟฯ เลือกใช้เฉดสีเดิมทั้งหมด ตัวรถพื้นหลักเป็นสีขาว มีแถบสีม่วงอ่อน สีเขียว และแถบหน้าต่างออกเป็นสีน้ำตาลเข้ม เพื่อคงความเป็นต้นฉบับและรักษาเอกลักษณ์ของ KIHA 183 มีส่วนเดียวที่เพิ่มเข้ามา คือสัญลักษณ์ SRT ที่อยู่ด้านข้างรถใกล้กับเลขประจำตู้
เมื่อการดำเนินการปรับปรุงตัวรถเสร็จสิ้นสมบูรณ์จำนวน 3 คัน (คันที่ 4 อยู่ระหว่างทำสี) ก็ได้มีการวิ่งทดสอบสมรรถนะทางไกลจากสถานีมักกะสันไปชุมทางศรีราชา ระยะทาง 230 กม. (ไป-กลับ) เพื่อตรวจสอบระบบต่าง ๆ รวมถึงบันทึกข้อมูลสถิติเพื่อนำมาเปรียบเทียบและปรับปรุงต่อไป ถือได้ว่าวันนั้นเป็นวันรวมตัวเหล่าคนรักรถไฟให้ไปยืนถ่ายรูปถ่าย-คลิปสองข้างทางตั้งแต่มักกะสันยันศรีราชา

การปรับปรุงใหญ่ในช่วงที่ 2 คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี เพื่อเพิ่มสมรรถนะของขบวนรถให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น การเปลี่ยนล้อใหม่แบบยกกระบิ เปลี่ยนเครื่องยนต์ต้นกำลัง เปลี่ยนเครื่องยนต์ขับเคลื่อน เปลี่ยนเครื่องถ่ายทอดกำลัง เปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เปลี่ยนระบบปรับอากาศ รวมถึงระบบไฟฟ้าในรถ ซึ่งหากทั้ง 17 คันผ่านการปรับปรุงใหญ่แล้ว ขีดจำกัดของการให้บริการจะลดน้อยลง จากเดิมที่วิ่งไปกลับได้ไม่เกิน 300 กม. ต่อวัน ก็จะไปได้ไกลกว่านั้น เราอาจจะได้นั่งรถ KIHA 183 เที่ยวในเส้นทางไกลขึ้น รวมถึงมีรถไฟนำเที่ยวในเส้นทางต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การนั่งรถไฟท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องยากหรือมีตัวเลือกน้อยอีกต่อไป
นี่คงเป็นก้าวแรกสำหรับการมี ‘รถไฟนำเที่ยว’ ที่เป็นชุดรถเฉพาะของตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ปนกับรถไฟทั่วไปแบบที่รถไฟญี่ปุ่นเป็นเสียที
ขอบคุณวิศวกรและช่างของการรถไฟฯ ทุกคน ที่ทุ่มเททั้งพลังกาย พลังใจ เพื่อทำให้ KIHA 183 และ 182 ได้มารับหน้าที่ใหม่ที่ประเทศไทยในบั้นปลายได้อย่างมีคุณค่า
ขอฝาก KIHA 183 ไว้ในอ้อมใจผู้โดยสารที่น่ารักด้วย




