22 พฤศจิกายน 2019
38 K

เกี๊ยง–เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ คือ เกี๊ยง แห่งวงเฉลียง ที่ใครๆ คุ้นหน้าคุ้นตากันดี นอกจากการมาร่วมรียูเนียนแบบนานๆ ทีหลายปีหนกับวงดนตรีวงนี้แล้ว หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้วว่าเกียรติศักดิ์มีอาชีพหลักเป็นสถาปนิก เป็นงานหลักที่เขาทำมาแล้ว 32 ปี 

เขาไม่ได้อยู่แค่วงดนตรีวงเดียวมาตลอดชีวิต แต่เขายังเติบโตจากการทำงานในบริษัทสถาปนิก 49 (A49) มาตั้งแต่เริ่มเรียนจบ และเติบโตจากพนักงานระดับจูเนียร์ กลายเป็นซีเนียร์ กลายเป็นผู้บริหาร และได้รับมอบหมายให้เปิดบริษัทในเครือ A49 ที่รับออกแบบบ้านโดยเฉพาะ ชื่อว่า A49HD จนมาถึงวันนี้ วันที่บริษัทสถาปนิก 49 และบริษัทในเครือได้ดำเนินมาครบวาระ 35 ปี

เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ หรือ เกี๊ยง วงเฉลียง สถาปนิกที่สร้างบ้านให้เป็นบ้าน และทำงานให้เป็นงานที่มีความสุข

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ เป็นสถาปนิกที่เชี่ยวชาญและมีความสุขกับการออกแบบบ้าน

เรานัดสัมภาษณ์กับเขาในบ้านที่มีชื่อโปรเจกต์ว่า Higher Ground ซึ่งผลงานการออกแบบของเขา เป็นงานที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559

ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาครึ้มเย็นสบาย ตัวบ้านวัสดุปูนเปลือย กระจก ไม้ ประกอบกันอย่างลงตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันรื่นรมย์ บทสนทนาของเราเริ่มต้นขึ้น

ถ้อยคำต่อไปนี้คือเรื่องราวเส้นทางในการเป็นนักออกแบบบ้านของ เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ ตั้งแต่วันแรกที่เขาเริ่มสนใจงานด้านนี้ ค่อยๆ เจริญงอกงามมาตามเส้นทางภายใต้ร่มเงาของบริษัทสถาปนิกชื่อดังของประเทศ จนถึงวันนี้ วันที่เขามองจากที่สูง และกลายเป็นคนที่ต้องให้ร่มเงากับคนรุ่นใหม่ต่อไป

เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ หรือ เกี๊ยง วงเฉลียง สถาปนิกที่สร้างบ้านให้เป็นบ้าน และทำงานให้เป็นงานที่มีความสุข

หน้ากากเสือกับสถาปนิก

“ตอนเด็กๆ ผมชอบการ์ตูนเรื่อง หน้ากากเสือ (ฉายในไทยเมื่อปี 2510) ตอนนั้นน่าจะสัก 5 ขวบ ในการ์ตูนเกี่ยวกับนักมวยปล้ำเรื่องนี้ การวาดการ์ตูน เขียนด้วยเส้นน้อยๆ มีการกระชากเส้น เขียนได้อารมณ์ เลยชอบเรื่องนี้มาก ผมได้จากเรื่องนี้สองอย่าง คือการวาดรูปกับการร้องเพลงการ์ตูนญี่ปุ่น พอวาดรูปก็เป็นแรงบันดาลใจให้เรียนสถาปัตย์ ส่วนร้องเพลงก็เป็นแรงบันดาลใจให้ชอบและเล่นดนตรี

“เดิมทีผมไม่ได้คิดที่จะเรียนสถาปัตย์ ผมแค่ชอบวาดภาพเหมือน ภาพวิวต่างๆ ตอน ม. ต้น ผมอยากเรียนวาดรูปแบบเพาะช่างเลย เพราะสนิทกับอาจารย์ที่จบเพาะช่างมา แล้วรู้สึกว่าเขาเท่มาก เลยขอพ่อแม่ไปเรียนเพาะช่าง พ่อแม่ผมเขาเซย์โนเลย (หัวเราะ) ไม่เด็ดขาด ไม่อยากให้เรียน พ่อแม่ขอให้เรียน ม. ปลายต่อแล้วที่เหลือก็ตามใจเรา วิชาที่เรียนแล้วผมทำคะแนนได้ดีคือฟิสิกส์-คณิตศาสตร์ แต่ชอบวาดรูป ก็เลยเหลือตัวเลือกแค่สถาปัตย์”

เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ หรือ เกี๊ยง วงเฉลียง สถาปนิกที่สร้างบ้านให้เป็นบ้าน และทำงานให้เป็นงานที่มีความสุข

บรรยากาศของการออกแบบ

“ก่อนมาเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมรู้แค่ว่าต้องออกแบบบ้าน คิดว่าจะได้ใช้ฟิสิกส์-คณิตศาสตร์ แต่แทบไม่มีเลย ตอนเรียนจะหนักไปทางวาดรูป ดีไซน์ต่างๆ เรียนปีแรกผมเรียนไม่ดีเลย แต่ปีต่อๆ มาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

“จำได้ว่าตอนเรียนผมชอบบรรยากาศของคณะ ผมทำกิจกรรมทุกอย่างเลย เล่นรักบี้ ละครเวที แต่ไม่ได้เป็นคนที่ไปเล่นละครนะ เป็นคนทำงานเบื้องหลังมากกว่า เป็นพวกฝ่ายเสียง ผมชอบทำกิจกรรมมากๆ เป็นเด็กกิจกรรมน่ะ

Higher Ground งานที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ของ A49HD

“ตอนอยู่ปี 4 พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ก็มาชวนผมไปเป็นสมาชิกวงเฉลียง แต่จริงๆ แกชวนผมไปร่วมงานด้านดนตรีมาตั้งแต่ปีสองแล้ว เป็นงานพวกร้องเพลงโฆษณา ตอนผมอยู่ปีหนึ่ง พี่จิกอยู่ปีห้า เขาเห็นเราเล่นดนตรีที่คณะ เห็นว่าเล่นกีตาร์ร้องเพลงได้ พอเรียนจบพี่จิกเขาไปทำงานในวงการ ก็เลยชวนเรามาร่วมงานแต่ยังไม่เป็นเฉลียง แต่ตอนผมปีหนึ่ง เฉลียงก็ออกไปชุดหนึ่งแล้วนะ ชื่อชุด ปรากฏการณ์ฝน (2525) ซึ่งผมก็ได้เปิดฟังกันในคณะนี่แหละ ชอบมาก ตอนนั้นผมเป็นแฟนเพลงวงนั้น พอแกจะทำวงนี้อีกครั้งแล้วมาชวน เราก็เลยไปร่วมวงเฉลียงด้วย

“ไม่น่าเชื่อนะ จากแฟนเพลงของวงเฉลียงได้กลายมาเป็นสมาชิกของวง (หัวเราะ)”

Higher Ground งานที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ของ A49HD

นักดนตรีหรือสถาปนิก

“หลายคนบอกว่าวงเฉลียงดังมาก แต่จริงๆ ผมว่าไม่ถึงกับดังมาก (หัวเราะ) คือดังในกลุ่มๆ หนึ่ง ในกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ๆ ตามต่างจังหวัด เมืองมหาวิทยาลัยนี่ก็ดังอยู่ แต่ชาวบ้านไม่ค่อยฟัง แต่อย่างไรก็ตาม การไปออกอัลบั้มและเล่นคอนเสิร์ตกับวงเฉลียงก็มีผลกับเรื่องการเรียนของผมนะ เพราะอาจารย์เขาเพ่งเล็งมาก อาจารย์จ้องจับผิดเลยว่าผมจะเกเรไหม ผมเลยพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าผมทำได้ทั้งสองอย่าง แล้วคะแนนออกมาดีจน Thesis ออกมาได้ A แล้วก็ได้เกียรตินิยมด้วย อีกทางหนึ่งคือที่บ้านก็กลัวเราจะเสียคน เราเลยทำให้เขาเห็นให้ได้ แต่ผมก็มุ่งมั่นว่าจบมาจะทำสถาปนิกเป็นหลักอยู่แล้วนะ ส่วนเฉลียงเป็นอาชีพเสริม เป็นรายได้เสริมที่ทำให้เรามีเงินทองมาทำอะไรได้ ถ้าทำสถาปนิกคงช้ามากที่จะรวบรวมเงินทองได้

“ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าจะประกอบอาชีพเป็นสถาปนิก เพราะตอนฝึกงานที่ A49 จบ ก็มาสมัครงาน พี่เต้ย (นิธิ สถาปิตานนท์) ยังบอกว่า ‘ผมไม่ค่อยมั่นใจคุณ แต่โปรไฟล์คุณดี เลยให้พิสูจน์’ ส่วนทางด้านเพลงผมก็ต้องคุยกับวงเฉลียงว่าจะรับงานแค่เสาร์อาทิตย์เท่านั้น หรือไม่ก็ต้องเป็นตอนกลางคืน ถ้าจะมีงานก็มีเป็นครั้งคราวที่ต้องใช้การลาพักร้อน แต่ไม่มีเกเร เข้างานทุกวันครับ”

Higher Ground งานที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ของ A49HD

สถาปนิกมือใหม่

“ตอนทำงานแรกๆ ผมเครียดมาก รู้สึกว่างานยากมาก ทำอะไรไม่เป็นเลย ตอนเรียนก็คิดว่าเราออกแบบสบายมาก แต่พอเข้ามาทำงานจริงๆ พบว่ายังมีอะไรให้คิดอีกเพียบเลย แค่ออกแบบบันไดอันหนึ่งยังเป็นใบ้เลย (หัวเราะ) ไม่รู้เลยว่าต้องใช้สเกลของราวบันไดเท่าไร เลยต้องไปถามพี่ๆ ที่ผ่านการทำงานมาเยอะมากกว่าเรา

“งานชิ้นแรกที่ผมได้จับใน A49 เป็นการทำแบบบ้านที่รุ่นพี่โยนแบบมา แล้วให้ผมคิดดีเทลต่อ ซึ่งยากมาก เพราะตอนนั้นผมไม่เคยทำแบบลงรายละเอียดแบบนั้น ทำให้ผมต้องไปคุยกับวิศวกรหลายคน ต้องคอยถามจากพี่ๆ ตลอดเวลาว่าอันโน้น อันนี้ต้องทำอย่างไร คือตอนเรียนก็กะๆ เอา แต่ของจริงเขียนเสาแค่เส้นเดียวกลายเป็นเงินหมดเลย ก็ถือว่าทำงานแรกแล้วได้ความรู้เยอะมาก พองานที่สองเป็นโปรเจกต์คอนโดมิเนียมแถวพัทยา”

เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ หรือ เกี๊ยง วงเฉลียง สถาปนิกที่สร้างบ้านให้เป็นบ้าน และทำงานให้เป็นงานที่มีความสุข

“ถือว่าช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มงาน เราทำงานกันหนักพอสมควร ออฟฟิศไหนมีชื่อเสียงก็จะยิ่งงานหนัก อย่าง A49 จะมีงานเข้ามาเยอะและงานดีด้วย ไม่ใช่งานทั่วๆ ไป เป็นงานที่มีคุณภาพ เป็นลูกค้าที่เจาะจงจะให้เราทำจริง ยอมจ่ายค่าออกแบบที่มันไม่ได้ถูกเหมือนชาวบ้านเขา ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ”

“เรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจในการทำงานที่ A49 คือบรรยากาศการทำงานสนุกๆ ถ้าไม่ใช่ช่วงเวลาที่คิดงานซึ่งก็ต้องจริงจัง แต่พอเป็นช่วงเบรกก็คุยกันเฮฮา เปิดเพลงลั่นเลย ตอนที่ผมทำงานใหม่ๆ ออฟฟิศมีแค่ 20 กว่าคน ก็แซวกันไปกันมา บางทีก็โดนแกล้ง พวกพี่ๆ แอบรับโทรศัพท์แล้วแอบปลอมตัวเป็นเกี๊ยงวงเฉลียงแทนผมก็มี (หัวเราะ)”

จุดเริ่มต้นที่มากับต้มยำกุ้ง

“ผมเริ่มทำงานปี 2530 พอถึงปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง งานอสังหาริมทรัพย์หยุดชะงักทุกอย่าง ตอนนั้น A49 ก็เกือบตายเหมือนกัน ก่อนที่จะถึงต้มยำกุ้ง เรามีงานเยอะมาก เด็กคนหนึ่งจับคอนโดฯ หนึ่งหลังเลยก็มี ผมเคยทำคอนโดฯ ทีละสามสี่โครงการด้วยซ้ำ แต่พอฟองสบู่แตก ลูกค้าโทรมาแคนเซิลเป็นรายวันจนหมดเลย จากที่ A49 มีคนเป็นร้อยก็มีการเลย์ออฟเรื่อยๆ จะมีคนโดนเรียกไปคุยในแต่ละวัน เพื่อบอกว่าบริษัทจำเป็นต้องให้คุณออกนะ มันเป็นบรรยากาศที่ตึงเครียดมาก จนเหลืออยู่ประมาณห้าสิบคนเท่านั้น แล้วเรามีการให้หยุดวันศุกร์เพื่อให้ไปหารายได้ทางอื่น ลดเงินเดือนครึ่งหนึ่ง ตอนนั้นในออฟฟิศจะมีงานเล็กๆ บ้าง เป็นพวกงานออกแบบบ้าน แต่ก็ไม่พอที่จะเลี้ยงองค์กรหรอก ทุกคนพยายามคิดว่าทำยังไงองค์กรเราถึงจะหารายได้เพิ่ม ก็พยายามทุกทาง จนใช้เวลาสี่ห้าปีถึงจะเริ่มกลับมาทำงานเต็มที่กันเหมือนเดิม แล้วก็ทยอยรับคนเพิ่มขึ้น” 

Higher Ground งานที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ของ A49HD
Higher Ground งานที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ของ A49HD

“ช่วงที่กำลังแย่ๆ นั่นเอง วันหนึ่งพี่เต้ยเรียกผมเข้าไปคุย ในใจผมก็คิดว่าถึงคิวเราต้องออกแล้วเหรอ (หัวเราะ) แต่พี่เขาก็แค่ถามว่าเราชอบงานออกแบบบ้านไหม คือพี่เขาชวนให้ผมทำสตูดิโอที่รับงานออกแบบบ้านโดยเฉพาะ ให้ผมเป็นคนดูแลสตูดิโอนี้เลย สตูดิโอของผมเลยเริ่มจากการมีทีมงานแค่สองคนจนค่อนข้างแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมียี่สิบคน แล้วพอถึงเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว เราก็แยกออกมาเป็นบริษัท ชื่อว่า A49 HD ซึ่งย่อมาจากคำว่า House Design ซึ่งจะรับออกแบบทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานออกแบบตกแต่งภายใน ควบคู่กันไป

“ก่อนหน้านี้ตอนที่เราทำแบบงานสถาปัตย์อย่างเดียวแล้วให้ลูกค้าเป็นคนหาอินทีเรียมาเองก็พบว่าบางทีเขาจะไม่ค่อยเข้าใจการทำงานของ A49 เท่าไร ส่วนใหญ่จะตามใจลูกค้า แต่เราอยากให้มันกลมกลืนเข้าด้วยกัน เลยเกิดเป็นส่วนที่มีทั้งสถาปนิกและงานตกแต่งภายในในบริษัท ให้มีความกลมกลืนกันทั้งข้างนอกข้างใน”

Higher Ground งานที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ของ A49HD

คนที่ต้องดูแลคน

“ผมคิดว่าทุกคนที่อยู่ในองค์กร มีความสำคัญหมดเลย แม้กระทั่งคนขับรถ ถ้าเราได้คนขับรถไม่ดี วันที่จะไปส่งแบบแล้วเขามาสาย หรือขับหลงทาง การทำงานก็จะไม่ราบรื่น ลูกค้าก็อาจจะไม่ชอบ แล้วไม่อนุมัติให้ทำงานต่อไป ผมจึงคิดว่าทุกคนมีความสำคัญทั้งหมด ต้องพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นเขาทำงานก็จะเข้าไปคลุกคลีทำงานหนักกับเขา หรือซื้อขนมนมเนยมาให้ พยายามเป็นพี่ที่ดี ไม่ทำตัวเป็นเจ้านาย ทำตัวเป็นเพื่อนมากกว่า พยายามให้บรรยากาศในการทำงานมันดี จริงๆ ผมก็อาจจะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ตอนเข้ามาทำงานที่ A49 ใหม่ๆ ที่พี่ๆ เขาจะทำให้เราไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้านายหรือลูกน้องนั่นเอง

“เวลาตำหนิใคร ผมจะเรียกมาตำหนิส่วนตัว แต่ถ้าชมก็จะชมต่อหน้า เพราะรู้สึกว่าการตำหนิเขาต่อหน้าคนเยอะๆ จะทำให้รู้สึกไม่ดีมากๆ หรือจะต้องตำหนิก็จะพูดถึงส่วนรวมมากกว่า ไม่ได้เจาะจงว่ากำลังติใคร

“พอเป็นผู้บริหารแล้วก็ปวดหัวเหมือนกันนะ โดยเฉพาะเรื่องเงิน (หัวเราะ) ตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดเรื่องนี้ แต่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารแล้วต้องพยายามทำให้มันดีที่สุด ในปลายปีก็คิดว่าจะให้เด็กเยอะมากที่สุดเท่าที่จะเยอะได้ ถ้าปีนั้นรายได้ไม่ถึงตามเป้าก็จะกัดฟันให้น้องหมด ผมจะดูภาพรวมว่าปีนั้นทำงานหนักกันหรือเปล่า บางทีเอาเงินจากกระเป๋ามาจ่าย ที่สุดแล้ว ผมคิดว่าเผลอๆ เรื่องการดูแลคนจะยากกว่าเรื่องงานเสียอีก (หัวเราะ)”

เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ หรือ เกี๊ยง วงเฉลียง สถาปนิกที่สร้างบ้านให้เป็นบ้าน และทำงานให้เป็นงานที่มีความสุข

สิ่งที่ได้จากบ้านสามร้อยกว่าหลัง

 “ผมคิดว่าตัวเองไม่ใช่อาร์ติสต์มากนะ เวลาทำงานก็ไม่ใช่สถาปนิกที่แข็งมากที่เอาแต่ความชอบตัวเองเป็นหลัก แต่พยายามจะทำให้ลูกค้าชอบมากที่สุด พยายามเอาความรู้ของเราไปสานฝันให้เขา ผมออกแบบบ้านมาสามร้อยกว่าหลังแล้ว ส่วนใหญ่ได้สร้าง แต่ไม่ได้สร้างบ้างก็มี ทำงานมาสามสิบปีก็เฉลี่ยปีละสิบหลัง ซึ่งโดยเฉลี่ยปัจจุบันก็รับเดือนละหลัง แล้วก็มีการเลือกรับและไม่รับงาน เล่นตัวพอประมาณ (หัวเราะ) เพราะอยากทำงานกับคนที่อยากทำงานร่วมกับเราจริงๆ

“การออกแบบบ้านทำให้เราค่อนข้างสนิทกับลูกค้า ต้องคลุกคลี แลกเปลี่ยนความคิดกันเยอะ สถาปนิกบางคนไม่ชอบทำงานบ้านเพราะจุกจิกแล้วมันเหนื่อย ใช้เวลาทำเยอะด้วย ลูกค้างานบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยแคร์เรื่องเวลาในการทำงาน แต่ขอแค่ทำให้ดีที่สุด ให้ถูกใจที่สุด แต่ถ้าเป็นงานคอนโดฯ มักจะเร่ง และต้องอยู่ในงบประมาณที่ให้มา ในขณะที่งานบ้านส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่ที่สี่ห้าปีเลย ช่วงระหว่างก่อสร้างสถาปนิกก็ต้องมาคอยดูแลจนบ้านเสร็จ แม้กระทั่งผู้รับเหมาบ้านทั่วไปๆ ก็จะคอยมาดูแลบ้านที่เขาเป็นคนสร้างต่อไปด้วย เรียกว่าดูแลกันตลอดชีวิต

Higher Ground งานที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ของ A49HD
Higher Ground งานที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ของ A49HD

“งานออกแบบบ้านทำให้เราได้มิตรภาพกับลูกค้า บางครั้งมีมากกว่านั้นด้วย อย่างตอนแรกลูกค้ารายหนึ่งให้ผมทำบ้านให้ แล้วเขามีโรงงานอยู่ อยากทำแวร์เฮาส์ ผมเลยแนะนำให้ A49 ทำให้ แต่ลูกค้าก็บอกว่าอยากให้ผมเป็นคนทำมากกว่า ผมเลยต้องไปคุยว่าลูกค้าอยากให้ทำจริงๆ เลยต้องเป็น A49HD ทำแวร์เฮาส์ให้เขา (หัวเราะ) ก็จะมีเคสแบบนี้อยู่บ้าง เพราะมันเป็นเรื่องความผูกพันและความเข้าใจกันระหว่างสถาปนิกกับลูกค้านะ”

“การออกแบบบ้านเป็นงานที่ดีนะ นอกจากเราจะได้คิด ได้สานฝันจากกระดาษแล้ว เรายังได้แก้ปัญหาต่างๆ ที่พบในช่วงระหว่างทางที่คาดไม่ถึง มันเป็นการช่วยฝึกสมอง จากที่คิดในกระดาษแล้วออกมาสร้างจริง พอเสร็จเป็นรูปเป็นร่างแล้วเจ้าของบ้านเขามาขอบคุณเรา การได้เห็นความสุขของลูกค้านั่นแหละคือจุดที่ผมรู้สึกดีที่สุด แล้วมันทำให้อยากทำอาชีพนี้มาอีกเรื่อยๆ และก็ยังช่วยคุณนิธิทำสำนักพิมพ์ลายเส้นที่ทำหนังสือเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม

“ผมชอบความรู้สึกเวลาเปิดดูหนังสือนะ ชอบมากกว่าดูในคอมฯ”

เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ หรือ เกี๊ยง วงเฉลียง สถาปนิกที่สร้างบ้านให้เป็นบ้าน และทำงานให้เป็นงานที่มีความสุข

รางวัลของสถาปนิก

“อย่างบ้านหลังนี้ที่ได้รางวัล ผมคิดว่ารางวัลควรจะแชร์ทั้งคู่ ทั้งสถาปนิกและเจ้าของบ้าน เพราะมันเป็นการทำงานร่วมกัน งานนี้ได้โล่และใบประกาศนียบัตร ผมก็ให้เอาโล่เอามาติดที่บ้านเลย ส่วนใบประกาศนียบัตรก็เอามาติดที่ออฟฟิศ

“การได้ทำงานในองค์กรที่ดี ที่ลงตัวกับเรา ก็ถือเป็นรางวัลเหมือนกัน อย่างที่นี่ก็ลงตัวกับผมแล้ว ผมได้ทำงานที่ดี ได้โจทย์มีแต่บ้านที่มีคุณภาพ ไม่ใช่งานทั่วๆ ไป บรรยากาศในการทำงานก็ดี ผมก็เลยทำมาเรื่อยๆ ที่นี่ที่เดียว แต่ผมก็เข้าใจเด็กรุ่นใหม่ที่อาจจะทำงานในองค์กรต่างๆ ไม่นานนะ ตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนไป สมัยก่อนเราอยากได้หนังสือเล่มหนึ่งในห้องสมุดมาดู เราต้องไปต่อคิวจอง ปัจจุบันแค่กดมือถือก็ได้ดูแล้ว ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเราหรอก เราใช้ความอดทน ใช้ความพยายาม ความรู้สึกเขาคงอยากได้อะไรรวดเร็วขึ้น โตเร็วขึ้น ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น แต่งานสถาปนิกไม่มีทางประสบความสำเร็จเร็วนะ เพราะการทำงานนี้ต้องผ่านประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ต้องรู้รายละเอียดเยอะ ต้องแก้ปัญหาต่างๆ ประสบการณ์จะทำให้เราประสบความสำเร็จ เด็กที่เพิ่งจบใหม่ๆ มักจะไม่เข้าใจดีเทลของงานสถาปัตยกรรม เหมือนสมัยที่ผมจบใหม่ๆ ก็ยังไม่เข้าใจเช่นกัน แต่จริงๆ งานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าก็เพราะดีเทลนี่แหละ ถ้าเอาแค่ทำออกมาให้ถ่ายรูปสวย ผมคิดว่าใครๆ ก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิก”

เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ หรือ เกี๊ยง วงเฉลียง สถาปนิกที่สร้างบ้านให้เป็นบ้าน และทำงานให้เป็นงานที่มีความสุข

Writer

Avatar

วิภว์ บูรพาเดชะ

บรรณาธิการ happening ที่เป็นสื่อด้านศิลปะ ซึ่งกำลังพยายามสื่อสารให้ผู้คนเห็นความสำคัญของศิลปะในหลายๆ มิติ FB: facebook.com/khunvip TWIT: @viphappening IG: @viphappening

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล