‘เราเป็นแชมป์ครับ เราเป็นแชมป์ครับ’

เสียงตะโกนดังลั่นของผู้บรรยาย ในวินาทีที่ กัปตันกิ๊ฟ-วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ ตีลูกหัวเสาอัดลงแดนของฝั่งจีน ในศึกนัดชิงชนะเลิศของวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552 ส่งผลให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงเอาชนะทีมชาติจีน ด้วยสกอร์ 3-1 คว้าถ้วยแชมป์เอเชียเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อย่างเหนือความคาดหมาย จากเดิมที่ผูกขาดเฉพาะสองมหาอำนาจลูกยางอย่างจีนและญี่ปุ่นเท่านั้น

นั่นคือก้าวแรกที่ทำให้คนทั่วโลกได้เห็นฝีไม้ลายมือและความเก่งกาจของนักตบลูกยางหญิงไทย จนเกิดเป็นกระแสฟีเวอร์เรื่อยมาจนเกิดเป็นตำนาน ‘7 เซียนวอลเลย์บอล’ เรื่อยมาจนถึงทีมเลือดใหม่ชุดปัจจุบัน ซึ่งก็สร้างผลงานได้ดีไม่แพ้รุ่นพี่

หากแต่เบื้องหลังของความสำเร็จที่ทุกคนเห็น สิ่งที่ต้องแลกมา คือ หยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ คราบน้ำตา ความทุ่มเท และความเสียสละของผู้คนมากมายตลอด 20 กว่าปี โดยมี โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร เป็นกำลังสำคัญที่คอยปลุกปั้นและผลักดันตั้งแต่เริ่มต้น

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ถือโอกาสดีนัดพบโค้ชอ๊อต ซึ่งวันนี้ยังมีหมวกอีกใบเป็นอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อย้อนรอยปฏิบัติการเปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นฮีโร่ และความฝันที่ไม่เคยสิ้นสุดที่จะนำธงไตรรงค์ของเราไปให้ไกลถึงจุดสูงสุด อย่างกีฬาโอลิมปิกให้จงได้

01
ปฏิบัติการเปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นฮีโร่

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.​ 2540 ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมเล็ก ๆ ที่รวบรวมเด็กสาวแววดีจำนวน 18 คน ได้ถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่สุดด้ามขวานของประเทศอย่างจังหวัดยะลา

ไม่มีใครคาดคิดว่า จากทีมธรรมดา ๆ ในวันนั้น จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของทีมที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์ที่โด่งดังไปไกลทั่วโลกในอีกไม่กี่ปีถัดมา

จุดเริ่มต้นของทีมนี้เกิดจากนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในเวลานั้นหลายคนเริ่มมีแผนจะวางมือ ไม่ว่าจะเป็น ปริม อินทวงศ์, ลิขิต นามเสน, บุษบรรณ พระแสงแก้ว, แอนณา ไภยจินดา และ นันทกานต์ เพชรพลาย เป็นต้น

ผู้บริหารของสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยจึงคิดว่า คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนานักกีฬารุ่นใหม่มาทดแทนรุ่นพี่ นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการทำทีมยุวชนหญิง หรือ National Team 2001 ซึ่งมีเป้าหมายเบื้องต้น คือ ผลิตนักกีฬาเพื่อเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า และรักษาความเป็นผู้นำอาเซียน ในฐานะแชมป์ซีเกมส์ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ใน พ.ศ. 2544

โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ กับการปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยจากโนเนมสู่ทีมที่ทั่วโลกยกนิ้วให้

และเพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จ ร.ท.ชาญฤทธิ์ วงษ์ประเสริฐ เลขาธิการสมาคมฯ ในขณะนั้น จึงติดต่อให้ โค้ชอ๊อต มารับโจทย์ยากครั้งนี้

โค้ชอ๊อตคุ้นเคยกับวงการวอลเลย์บอลมาตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยพ่อของเขาเป็นอดีตนักวอลเลย์บอลของกองทัพอากาศ ตัวเขาเองก็มีโอกาสได้เล่นกับนักตบรุ่นพี่ทีมชาติ ซึ่งมักกลับบ้านมาทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ กลายเป็นทักษะที่สั่งสมเรื่อยมา พออายุ 17 ปี อ๊อตก็ติดทีมชาติ เป็นนับตบที่อายุน้อยสุดของรุ่น ได้ไปซ้อมที่เมืองจีน และสุดท้ายยังทำหน้าที่กัปตันทีมชาตินานถึง 10 ปีเต็ม

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือเขาเป็นทั้งครูและโค้ช ที่คอยปลุกปั้นนักวอลเลย์บอลมือดีมาอย่างยาวนาน

โค้ชอ๊อตเริ่มคุมทีมตั้งแต่เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยการสอนน้อง ๆ จนกลายเป็นมือเก๋าหลายคน เพราะเวลานั้นมหาวิทยาลัยไม่มีโค้ช ก็ต้องอาศัยรุ่นพี่ทีมชาติไทยอย่างเขาเป็นผู้ดูแล

ต่อมาเมื่อไปฝึกสอนที่โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ ปกติจะสอนแค่ครึ่งเทอมก็เพียงพอแล้ว แต่อาจารย์อ๊อตอุทิศตน เพื่อฝึกทีมวอลเลย์บอลของที่นี่แบบไม่ได้เงินนานถึง 5 ปีเต็ม จนหลายคนก็ขึ้นมาเล่นระดับอาชีพ และเมื่อมาเป็นทหารอากาศ ก็ได้ดูแลทีมของสโมสรจนได้แชมป์

ที่สำคัญ เขายังเคยเป็นโค้ชเยาวชนวอลเลย์บอลทีมชาติไทยอีกด้วย

“เช้าผมนอนอยู่ที่โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ ซ้อมลูกศิษย์ตอนเช้า ซ้อมเสร็จก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปซ้อมให้ทีมทหารอากาศตอนบ่าย พอประมาณบ่าย 2 เลิกซ้อม ผมก็กลับมาที่เบญจมฯ อีก ทำอย่างนี้เป็นปี พวกยุวชนทีมชาติ หรือทีมชาติชุดใหญ่ก็คือลูกศิษย์ผมทั้งนั้น อย่าง อภิศักดิ์ รักชาติยิ่งชีพ, สุนทร โพธิ์สีตา ผมกินนอนอยู่กับเขา 8 เดือน ซ้อมแบบรากเลือด ขนาดกอดขาพี่อ๊อตเลย โหดมาก”

โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ กับการปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยจากโนเนมสู่ทีมที่ทั่วโลกยกนิ้วให้

แต่ถึงจะมีประสบการณ์มายาวนาน โค้ชอ๊อตก็อดคิดหนักไม่ได้ เหตุผลแรกเป็นเพราะเขาไม่เคยคุมทีมเด็กผู้หญิงมาก่อน และต่อให้เคยคุมทีมผู้หญิงมาบ้าง ก็ล้วนเป็นมืออาชีพแล้วทั้งสิ้น 

อีกเหตุผลคือ เวลานั้นโค้ชอ๊อตเพิ่งเข้ามาทำงานที่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคล และเส้นทางอาชีพก็กำลังรุ่งโรจน์ เพราะมีแผนจะฝึกอบรมเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้บริหาร รวมถึงตั้งใจจะฝึกหัดเป็นนักบินต่อไปในอนาคตด้วย หากเบนเข็มไปคุมทีมชาติ ก็เท่ากับงานที่อยู่ทุกวันนี้ต้องชะงักไปเลยอย่างน้อย 4 ปีเต็ม

หลังจากครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ ในที่สุดโค้ชอ๊อตก็ตกผลึกว่า สิ่งที่รักและผูกพันมากที่สุดในชีวิตก็คือ วอลเลย์บอล และที่ผ่านมา เขามีทางเลือกมากมาย แต่คำตอบสุดท้ายก็มักลงเอยที่กีฬานี้อยู่เสมอ

“เราเลือกที่จะเปลี่ยนชีวิตมาทางนี้ อย่างสมัยเด็กผมเรียนดี ได้โควต้าวิศวะ ขอนแก่นนะ แต่ผมไม่ไป ผมเป็นคนเล่นดนตรีใช้ได้ เล่นตั้งวงกับเพื่อน ตอนนี้เพื่อนเป็นอาจารย์สอนดนตรี ผมติวให้เพื่อนสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยได้ แล้วพ่อก็อยากให้เป็นทหาร แต่เราเลือกไปทางกีฬา ซึ่งต้องขอบคุณพ่อกับแม่ที่เห็นลูกมาอย่างนี้แล้วไม่ขัด คืออะไรที่เป็นความสุขของลูก เขาก็พร้อมสนับสนุน

“ช่วงมาเรียนที่เกษตรศาสตร์ก็เหมือนกัน ตอนปี 1 เกือบเรียนไม่จบ เพราะต้องเล่นกีฬา ต้องซ้อม มาสอบก็ทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาคอยช่วยวางแผนการเรียน ลงทะเบียนให้ทีละเทอม ๆ จนครบ 6 ปี โดนรีไทร์แน่ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่เราเลือกมานั้นถูกต้องแล้ว”

โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ กับการปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยจากโนเนมสู่ทีมที่ทั่วโลกยกนิ้วให้

หากแต่ภาพที่เขาฝันนั้นยิ่งใหญ่กว่าการรักษาอันดับ 1 ของอาเซียน เพราะโค้ชอ๊อตต้องการทำให้นักกีฬาไทยเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก โดยเฉพาะการได้ไปแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก

“ลองนึกว่า 20 ปีที่แล้ว ผมมีความคิดแบบนั้น คุณว่าผมบ้าไหม คือไม่มีใครเขาคิดหรอกว่า อยากให้ประเทศไทยเดินไปแล้วเขาเคารพอ่ะ ได้รับการเคารพยกย่อง”

แม้ในสายตาของคนทั่วไปจะมองว่า เพ้อฝัน ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่โค้ชหนุ่มวัย 31 ปี ก็อยากทดลองทำตามความเชื่อนั้น เขาเริ่มเขียน SWOT Analysis นำจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ทุกอย่างมาวิเคราะห์ อย่างละเอียด เรื่องใดที่เขาทำได้เอง เช่น โปรแกรมการฝึก การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจ เขาวางแผนไว้หมด

ส่วนเรื่องไหนที่ต้องให้คนอื่นช่วยเหลือ อย่างงบประมาณ สถานที่ฝึกซ้อม สถานศึกษา เพื่อให้นักกีฬาเรียนระหว่าง 4 ปี หรือแม้แต่สถานพยาบาลเพื่อดูแลคนในทีม หากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ก็เขียนรายละเอียดออกมาอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนรับทราบ โดยเฉพาะสมาคมฯ เพื่อหาทางจัดการปัญหาร่วมกัน

อย่างเรื่องแรกที่สำคัญมากคือ สถานที่ฝึกซ้อม ทีมยุวชนชุดนี้ไปเก็บตัวฝึกซ้อมกันที่จังหวัดยะลา

หลายคนอาจสงสัยว่า อยู่กรุงเทพฯ น่าจะสะดวกสบายและพร้อมเพรียงมากกว่า ทำไมต้องไปไกลถึงสุดด้ามขวานด้วย เหตุผลคือที่ยะลามีความพร้อมเรื่องการสนับสนุนของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐ เพราะเวลานั้น ผู้บริหารท่านหนึ่งของสมาคมฯ คือ สมพร ใช้บางยาง (ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมฯ) ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และสามารถอำนวยความสะดวกตั้งแต่เรื่องสนามฝึกซ้อม โรงเรียน รวมทั้งยังได้ อาวุธ เจษฎาไกรสร และครอบครัว เจ้าของโรงแรมปารค์วิว มาเป็นผู้จัดการทีมคอยดูแลเรื่องที่หลับที่นอน อาหาร 3 มื้อ ตลอดระยะเวลาการเก็บตัว

โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ กับการปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยจากโนเนมสู่ทีมที่ทั่วโลกยกนิ้วให้

ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมทีม เตรียมคน ให้พร้อม โดยโค้ชอ๊อตได้ อาจารย์สนอง กุลฉิม จากโรงเรียนบ้านหมี่วิทยาคม มาช่วยดูแลและประสานงานเรื่องการกำกับ ควบคุม เรื่องธุรการทั้งหมด และ น.อ.สาโรจน์ พินิจวงศ์ อดีตนักกีฬาวอลเลย์บอลรุ่นพี่ ซึ่งเป็นโค้ชจากโรงเรียนสวนกุหลาบนนทบุรีวิทยา ซึ่งโดดเด่นเรื่องเทคนิคมารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยโค้ช 

ส่วนนักกีฬานั้น ทั้งหมดเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 14-17 ปีจากทั่วประเทศ ซึ่งสมาคมฯ คัดเลือกจากผลการแข่งขันในระดับชิงแชมป์ประเภทต่าง ๆ ซึ่งก็มีทั้งนักกีฬาที่มีพรสวรรค์ บางคนเป็นดาวเด่นของทีมโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ อีกส่วนก็เป็นนักกีฬาที่อาจไม่เก่งมาก แต่รูปร่างดี ขยันฝึกซ้อม และน่าจะพัฒนาได้ รวมทั้งสิ้น 18 คน

โดยก่อนที่จะนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยะลา โค้ชอ๊อตพยายามพูดคุย สร้างความเข้าใจ นั่งสัมภาษณ์แต่ละคนแบบละเอียดว่า มีเป้าหมายอะไรต่อไปในชีวิต เพื่อจะได้เข้าใจและนำมาแนวทางในการสร้างทีมที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

“ก่อนที่เราจะนั่งรถไปยะลา ผมจะถามทุกคนเลยว่า ทำไมถึงเล่นวอลเลย์บอล ซึ่งคำตอบแทบจะเหมือนกันหมดคือ สนุก มีความสุข อยากเก่งแบบพี่ ๆ อยากมีอนาคตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต และได้มีงานการที่ดี จะได้ไปตอบแทนพ่อแม่ มันเป็น Commitment ที่เราเห็นว่าเขาคิดอะไรในใจ แล้วเราจะนำพาพวกเขาไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น แบบฝึกที่เราจะสอนเขา จะสร้างความมั่นคงทางจิตให้กับเขา ปลูกฝังเรื่องความอดทนว่า กว่าจะสำเร็จติดธงชาติไทย ต้องมุ่งมั่น มุมานะ อยู่ในระเบียบวินัย อยู่ในกรอบให้ได้ และมีความทะเยอทะยาน ท้าทายที่จะทำสิ่งนั้นให้ได้”

ชีวิตในจังหวัดยะลา โค้ชอ๊อตดูแลเด็กๆ ทุกคนเสมือนเป็น ‘พ่อ’ อีกคนหนึ่ง 

เพราะเขาต้องดูแลไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การกิน การอยู่ การเรียน การรักษาพยาบาล โดยเขาได้ติดต่อโรงเรียนคณะราษฎรบำรุงยะลา เพื่อนำทุกคนไปฝากเรียน และเมื่อเรียนเสร็จก็ยังกลับมาช่วยสอนการบ้าน แม้แต่เรื่องรายได้ ทุกคนได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 6,000 บาท ซึ่งทุกเย็น แต่ละคนจะต้องส่งรายรับ-รายจ่ายว่า วันนี้ซื้ออะไรมาบ้าง โค้ชอ๊อตจะมาตรวจบัญชีเองทุกวัน ซึ่งก็มีบางคนแอบเอาเงินไปซื้อขนม แต่มาลงบัญชีว่า ไปซื้อน้ำยาซักผ้า ซึ่งเขาก็จับได้อยู่ตลอด พร้อมกับสั่งลงโทษให้วิ่งบ้าง ยกเวทบ้าง จนนักกีฬาไม่อยากทำผิด

โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ กับการปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยจากโนเนมสู่ทีมที่ทั่วโลกยกนิ้วให้

เช่นเดียวกับการรักษาพยาบาล ในยุคนั้นเมืองไทยยังไม่มีบัตรทอง เวลาบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยขึ้นมาก็ต้องเสียเงินค่อนข้างมาก แต่โชคดีที่ทีมยุวชนหญิงได้ได้รับการอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ให้เป็นคนไข้อนาถา จึงได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลฟรี 

ส่วนเรื่องละเอียดอ่อนที่เด็ก ๆ อาจไม่สะดวกใจคุยกับผู้ชาย ก็จะได้ผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัด เช่นภรรยาของผู้จัดการทีม ภรรยาของคุณหมอ ซึ่งรักและเอ็นดูนักกีฬาเหมือนเป็นลูกหลานจริง ๆ คอยไต่ถามสารทุกข์สุขดิบอยู่เป็นประจำ ทำให้ทุกคนรู้สึกอุ่นใจ แม้จะอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดก็ตาม

เช่นเดียวกับการฝึกซ้อม โค้ชอ๊อตต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เนื่องจากปีหนึ่งมีเงินมาทำทีมไม่เท่าไหร่ ผู้สนับสนุนรายใหญ่อย่าง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้เงินช่วยเหลือทั้งโครงการ 4 ปี 2,000,000 บาท ส่วนที่เหลือสมาคมฯ ก็ต้องแสวงหาเอง ซึ่งไม่ง่ายเลย เนื่องจากเมืองไทยเพิ่งผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาได้ไม่นาน

อย่างเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามาตลอดคือ อุปกรณ์สำหรับการฝึกซ้อมไม่เพียงพอ เช่นลูกบอลซึ่งต้องใช้ปีละ 60-90 ลูก แต่ได้รับจัดสรรมาไม่ถึง 20 ลูก แถมยังเป็นเป็นลูกเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้วนับไม่ถ้วน เสื้อผ้าฝึกซ้อมก็มีแค่คนละ 3 ชุด แต่ต้องใส่ซ้อมวันละ 6 ชุด เพราะซ้อมแต่ละครั้ง นักกีฬาเหงื่อออกเยอะมาก ซ้อม ๆ อยู่ อาจลื่นล้มได้ รองเท้าฝึกซ้อมก็ต้องใช้เงินเบี้ยเลี้ยงมาซื้อเพื่อฝึกซ้อมกันเอง ครั้นจะไปขอสปอนเซอร์ก็ไม่มีใครสนับสนุน เพราะไม่มีชื่อเสียง

เครื่องป้องกันการบาดเจ็บ อาทิ สนับเข่า สนับศอก หรืออุปกรณ์พิเศษทางการแพทย์ อย่างเทปกาวยึดแน่นกล้ามเนื้อและข้อต่อเพื่อป้องกันการบาดเจ็บข้อต่อต่าง ๆ พวกนิ้วมือ ข้อมือ หัวไหล่ เข่า ข้อเท้า ซึ่งจำเป็นต่อการฝึกซ้อม โค้ชอ๊อตก็ต้องหาเงินมาซื้อเอง บางครั้งก็ต้องไปขอกู้เงินจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อมาจ่ายค่าใช้จ่ายตรงนี้

นี่ยังไม่รวมปัญหาอย่างสนามฝึกซ้อมไม่ได้มาตรฐาน เป็นเพียงโรงยิมเนเซียมปูพื้นไม้ปาร์เก้เท่านั้น แถมเสากับตาข่ายก็ยังกว้างไม่เพียงพอ ซ้อมกันไปชนกันไป แต่ทุกคนก็ยังทุ่มเทเต็มที่ ด้วยมีฝันอันยิ่งใหญ่ คือ การเข้าไปอยู่อันดับต้น ๆ ของทวีปเอเชีย

“ตอนนั้นในเอเชียก็มี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แล้วก็ไต้หวัน คาซัคสถานอีก เราอยู่อันดับ 6-7 บางทีก็เกือบไม่ผ่านฟิลิปปินส์ เพราะฉะนั้น ทำยังไงให้เราเข้าอยู่อันดับ Top 3-4 ให้ได้ นี่คือความทะเยอทะยาน ซึ่งพอมีความทะเยอทะยานก็ต้องมีความมุ่งมั่นว่า เราจะทำอะไร ต้องมี Vision มี Mission ให้มันสำเร็จ เพื่อให้เราเป็น High Performance Team ซึ่งทุกคนก็เชื่อมั่นว่า เราจะสร้างเด็กให้เก่งได้

“ปรัชญาหนึ่งที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถึงวันนี้ผมยังจำได้ คือ ‘สร้างความสนใจ และความรัก นำเอาความสนใจและความรัก มาสอนอย่างมีหลักการ มีความหมายทางจิต พัฒนาคุณภาพชีวิต’ แล้วคุณจะสร้างความสนใจให้เขาได้อย่างไร เราจึงออกแบบฝึกให้เขาสนใจทำกิจกรรมนั้น ให้เขามีความสนุกสนาน มีความท้าทายในแบบฝึกนั้น แต่ละวันจะฝึกซ้อมอะไร การฝึกแต่อย่างมีความหมายอะไร”

โค้ชอ๊อตถือเป็นโค้ชทีมชาติคนแรก ๆ ของทีมชาติไทยที่นำความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาเรียนจบสายนี้มาโดยตรง รวมทั้งเคยไปฝึกอบรมโค้ชนานาชาติที่ประเทศสเปนด้วย

เขาดูแลตั้งแต่เรื่องโภชนาการ โดยจัดทีมมาคุยกับนักกีฬารายคน เพื่อดูว่าแต่ละคนต้องเพิ่มหรือลดในส่วนไหน ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม หนึ่งในนั้นก็คือ การดื่มนม เพราะคนไทยนั้นตัวเล็ก ต้องหาวิธีเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงที่สุด โดยทุกเช้าจะมีนมแก้วใหญ่รอทุกคนอยู่ นักกีฬาต้องดื่มให้หมด ถ้าไม่หมดห้ามลุก ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษ ก่อนนอนก็เช่นกัน อาจารย์อ๊อตก็เอานมแช่ตู้เย็นไว้ครบทุกห้อง ซึ่งก็มีบางคนแอบลักไก่ แอบเอานมทิ้งชักโครก

นอกจากนี้ โค้ชอ๊อตยังให้ทุกคนทำเวทเทรนนิ่ง ยกน้ำหนักเพื่อเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ โดยเริ่มแรกก็จะให้ยกประมาณ 20 กิโลกรัม ครั้งละ 8-10 ครั้ง จากนั้นก็ให้เพิ่มเป็น 40-50 กิโลกรัม แต่ให้ยกประมาณ 4-5 ครั้ง ไม่เพียงแค่นั้นเขายังแบกตำราเรื่องจิตวิทยาการกีฬาไปคุยกับแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เพื่อจะได้มีนักจิตวิทยาคอยทำหน้าที่ดูแลจิตใจของนักกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพ

“จิตวิทยาการกีฬาเป็นศาสตร์ที่ทำให้นักกีฬามีความสุขกับการเล่นกีฬา มีความหวัง และจัดการกับความเครียดความวิตกกังวัล ความกดดันได้ ซึ่งแน่นอน การที่ผมต้องนำทีมเด็กผู้หญิงอายุ 15-17 ปี เดินทางมาไกลบ้าน ไกลพ่อแม่ มาเก็บตัวที่ยะลา แค่คิดก็จิตตกแล้ว

โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ กับการปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยจากโนเนมสู่ทีมที่ทั่วโลกยกนิ้วให้

“ผมก็เลยนำสิ่งที่ตัวเองเรียนไปคุยกับจิตแพทย์ นั่งจับเข่าคุยกันถึงเป้าหมาย รายละเอียดโครงการว่า เรามาทำอะไรที่นี่ และปัญหาที่คาดว่าผมกับเด็ก ๆ ในทีมต้องเผชิญมีอะไรบ้าง คุยกันไปงงกันไป เพราะปกติคุณหมอรักษาแต่อาการทางจิตทั่วไป จะทำอย่างที่ผมต้องการทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก แต่ผมก็คะยั้นคะยอ ขอร้องให้คุณหมอช่วยที เพราะว่าศาสตร์ทั้งสองอย่างมีรากที่มาไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ อาศัยปรับเปลี่ยนนิด ๆ หน่อย ๆ ก็น่าจะพอได้แล้ว ก็ทั้งขอร้อง อ้อนวอน จนกระทั่งผมก็มีนักจิตวิทยามาช่วยทีม”

การวางตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนักกีฬาในทีมเป็นผู้หญิง โค้ชอ๊อตจึงมีกติกาให้ตัวเองว่าจะไม่ถูกเนื้อต้องตัวนักกีฬาเด็ดขาด รวมทั้งทุกคนจะเรียกเขาว่า ‘อาจารย์’ ไม่ใช่ ‘พี่’ หรือ ‘โค้ช’ เพราะเขามีหน้าที่เป็นครูให้ความรู้ ทำให้ทุกคนเก่งขึ้น

“ผมมีความเป็นครูมากกว่าเป็นโค้ช เพราะคนเป็นครูต้องอดทน รักก็ต้องอดทน คนเป็นโค้ชหมดความอดทนมาเยอะ พอหมดความอดทนก็หมดความรัก แล้วจะสร้างคุณประโยชน์อะไรให้กับลูกศิษย์ เหมือนคุณเป็นพ่อแม่ คุณต้องอดทนกับลูกคุณได้ไหมว่า ลูกคุณทำไม่ถูกต้อง คุณก็ต้องอดทนที่จะสอนเขา ให้เขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดี และสิ่งที่เก่งด้วย”

ด้วยแนวคิดแบบนี้เอง ทำให้การฝึกซ้อมของเขาจึงเลื่องชื่อว่า หนัก โหด ถึงขั้นที่ลูกศิษย์บางคนบอกว่า หากผ่านด่านอาจารย์อ๊อตได้ ก็ไม่ต้องกลัวอะไรอีกแล้ว เพราะในโลกนี้ไม่มีใครซ้อมหนักกว่านี้แล้ว

อย่างการวิ่งจับเวลา หากวิ่งไม่ผ่านคนเดียว ที่เหลืออีก 17 คนก็ต้องกลับไปวิ่งใหม่ด้วย ขาดวินาทีเดียวก็ไม่ได้ หรือหากใครเป็นลมกลางสนาม ก็ให้คนเอาน้ำไปสาดให้ตื่น เพื่อปลุกให้วิ่งต่อ ซึ่งทีมที่เหลือก็ต้องช่วยกันฉุดกระชากลากถูกันไปได้ จนกระทั่งเข้าเส้นชัยทันเวลา

แถมยังมีโจทย์การฝึกซ้อมอีกสารพัด อัดแน่นสัปดาห์ละ 6 วัน ทั้งฝึกเสิร์ฟ ฝึกบล็อก และไปเรียกนักกีฬาชายที่มีพละกำลังมากกว่ามาเป็นคู่ซ้อม

“เราเน้นการฝึกฝนทางจิตควบคู่ไปกับการฝึกทางกาย อย่างการวิ่ง ทุกคนต้องวิ่งให้ได้ 2,000 เมตร ภายใน 9 นาที 30 วินาที ถามว่าตัวเลขนี้มาจากไหน เราเรียกว่า Maximum Aerobic Power คือ การวิ่งที่เหนื่อยที่สุด หัวใจต้องเต้นเกิน 200 ครั้งต่อนาที วิ่งเสร็จแล้วมาจับชีพจรดู ถ้าเกิน 30 ครั้งต่อ 10 วินาที ถือว่าใช้ได้ ซึ่งตัวเลขนี้ก็มีทั้งวิ่งผ่านและไม่ผ่าน แต่ถ้าไม่ผ่านต้องมีเหตุผล เช่น นอนน้อย บาดเจ็บ หรือใจไม่สู้ ถ้าเป็นแบบหลังก็ต้องทำให้ใจสู้ได้ยังไง หรือไม่อยากเป็นทีมชาติแล้ว อย่างนั้นที่เคยเขียนบอกในตอนแรกว่า อยากติดทีมชาติ เพื่อจะดูแลพ่อแม่ นั่นคือฝันเหรอ ไม่ทำแล้วเหรอ”

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อยกระดับคนธรรมดาให้กลายเป็นคนที่เป็นเลิศ พร้อมสร้างทีมที่แข็งแกร่งที่พร้อมจะรับมือกับยักษ์ใหญ่ที่เข้ามา ดังสิ่งหนึ่งเขามักบอกกับลูกทีมอยู่เสมอ นั่นคือ TEAM มาจาก Together Everyone Achieve More ทุกคนต้องทำเพื่อทีม โดยเป้าหมายที่อยากให้ทุกคนไปถึงก็คือ การเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่นให้ได้

ทว่าด้วยการฝึกที่กินเวลานาน และแตกต่างจากโค้ชทั่ว ๆ ไป ส่งผลให้เด็กในทีมบางคนทนไม่ไหว ถึงขั้นโทรศัพท์กลับไปฟ้องพ่อแม่ เกิดกระแสแอนตี้ว่า เหตุใดถึงต้องซ้อมหนักถึงเพียงนี้ และเริ่มมีการดึงตัวนักกีฬากลับด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น อยากให้มาเยี่ยมบ้าน อยากให้ไปช่วยทีมโรงเรียนแข่งขัน แล้วก็ไม่ยอมส่งกลับมา แต่โค้ชอ๊อตก็เดินตามความเชื่อเดิม โดยได้การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในสมาคมฯ 

แล้วสิ่งที่เขามุ่งมั่นก็เริ่มผลิดอกออกผล เมื่อลงสนามครั้งแรกในรายการแข่งขันยุวชนหญิงชิงแชมป์เอเซีย พ.ศ. 2540 ดรีมทีมก็คว้าอันดับ 4 นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของทีมวอลเลย์บอลหญิงไทย โดยแพ้แค่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

“ผมคิดมาตลอดว่าจะทำอย่างไรให้เราชนะพวกคาซัคฯ หรือไต้หวัน เพื่อเราจะได้ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นมากที่สุด วิธีหนึ่งคือเราต้องเสิร์ฟให้ได้เอซเลย ซึ่งจะยืนเสิร์ฟธรรมดามันก็ยาก เพราะตัวเล็กกว่าเขา ก็เลยให้กระโดดเสิร์ฟ เพราะถ้าเราทำได้มันจะนำไปสู่การกระโดดตบได้ดี ตบทั้งแดนหน้าแดนหลังด้วย แล้วผมก็ฝึกพร้อมกับเลือกว่าใครจะเสิร์ฟดีที่สุด แล้วก็จับตำแหน่งการเสิร์ฟมาในการเล่น ถ้าเราหมุน 3-4 รอบ แล้วทุกคนทำแต้มได้สักคนละ 2 แต้ม ก็ได้ 10 กว่าแต้มแล้ว ถ้าทำได้ 3 แต้มก็เหลือเฟือแล้ว 

โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ กับการปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยจากโนเนมสู่ทีมที่ทั่วโลกยกนิ้วให้

“ผ่านไป 4 เดือน พอถึงเวลาไปแข่ง เราก็กระโดดเสิร์ฟ กระโดดตบ เล่นกับไต้หวัน หมุนแค่ 3 ตำแหน่ง 3 ล็อก ทีมเราได้ 10 แต้ม 10-0 ไต้หวันไม่เคยเจอ เพราะเขารู้สึกว่าเหมือนตัวเองไปเล่นกับประเทศอะไรสักอย่างที่ด้อยกว่ามาก แล้วปรากฏว่าประเทศนั้นตีนำไป 10-0 แล้วโค้ชทีมที่แข็งกว่าก็โมโห ทำอะไรไม่ถูก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น มันทำให้เรามั่นใจว่า คิดถูกแล้ว”

จากนั้นพวกเขาก็สร้างปรากฏการณ์ไม่หยุด ด้วยการอันดับ 2 ของศึกถางลัพคัพ ก่อนจะปิดท้ายปี ด้วยอันดับ 5 ของยุวชนชิงแชมป์โลก 

ด้วยสไตล์การเล่นดุดัน แข็งแรง หลากหลาย รวดเร็ว และเหนียวแน่น ส่งผลให้ทีมยุวชนหญิงกลายเป็นดาวรุ่งที่ชาติต่าง ๆ ประมาทไม่ได้ เช่นเดียวกับเสียงชื่นชมก็เริ่มตามมา ปัญหาเรื่องนักกีฬาออกจากทีมก็เริ่มหมดไป แถมยังมีเด็กรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่อง เช่น นา-วรรณา บัวแก้ว และ กิ๊ฟ-วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์

ต่อมาพอขึ้นปีที่ 3 นักตบ 3 คน คือ วิสุตา หีบแก้ว, ลัดดา เดือนฉาย และ กระแต-ปิยะมาศ ค่อยจะโป๊ะ ก็ได้รับเลือกให้เข้าไปเล่นในทีมชุดใหญ่กับพวกพี่ ๆ ก่อนที่โค้ชอ๊อตจะย้ายทีมเข้ามาฝึกต่อในกรุงเทพฯ โดยระหว่างนั้นก็พยายามหาวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยให้ลูกศิษย์มีทักษะดีมากยิ่งขึ้น 

หนึ่งในนั้นคือ ประสานงานไปยังสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ขอนำนักกีฬาไทยไปเก็บตัวอุ่นเครื่องกับทีมจากยุโรป ซึ่งก็ได้การตอบรับจากสวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส จนหลายคนก็มีทักษะดีขึ้นอย่างเห็นชัด และคว้าแชมป์ในระดับอาเซียนมาได้ต่อเนื่อง

หากแต่ฤดูกาลที่เรียกว่าเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่สุดของทีมชุดนี้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2544 เพราะโค้ชอ๊อตตั้งเป้าหมายใหม่ให้นักกีฬาทุกคน ด้วยการชิงตั๋วไปแข่งชิงแชมป์โลกที่เยอรมนีให้ได้ในปีถัดไป

และในศึกเยาวชนหญิงชิงแชมป์โลก รอบคัดเลือก โซนเอเซีย พวกเธอก็ก้าวข้ามสิ่งที่ไม่เคยทำได้ตลอดหลายสิบปี นั่นคือ การเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่น 3-2 เซ็ต และคว้าอันดับ 3 มาครองได้สำเร็จ

“ผมจำได้ไม่ลืม ลองคิดดูว่า 4 ปีมานี้ เราฝึกซ้อมวิ่ง ยกน้ำหน้า รับเสิร์ฟ รับตบ วิ่งโยกหน้าโยกหลัง โดนโค้ชทำโทษมาเยอะแยะแค่ไหน ก็เพื่อจะชนะญี่ปุ่น เราผ่านความยากลำบากมาเยอะ แต่เราก็ไม่เคยท้อ พอเราชนะญี่ปุ่น เราก็ไปเล่นซีเกมส์ต่อ เราชนะทุกทีม 3-0 ซึ่งแต่ละทีมเอาโค้ชนั่นโค้ชนี่มาเพื่อจะโค่นไทย แต่คิดผิด โดนเราฟาด จนแต้มไม่ขึ้นเลย”

จากนั้นสาวไทยก็ได้ไปแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ซึ่งครั้งนี้พวกเธอคว้าเหรียญทองแดงกลับมา ถือเป็นเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย และทำให้เมืองไทยขอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยโลกใน พ.ศ. 2550 ต่อมาทีมชาติไทยก็ได้ไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เยอรมนี แม้จะจบที่อันดับที่ 17 แต่ก็นับเป็นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่

หากแต่ก้าวย่างที่สำคัญจริง ๆ คงต้องยกให้การได้รับเชิญให้ไปแข่งขันเวิล์ดกรังปรีซ์เป็นครั้งแรก เพราะทั่วโลกจะมีเพียง 8 ประเทศเท่านั้นที่ได้ไป ซึ่งการที่ไทยได้รับคัดเลือกครั้งนี้ก็มาจากฟอร์มที่โดดเด่นในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก และการเอาชนะญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

นับจากนั้นเส้นทางบนเวทีโลกของทีมนักตบสาวไทยก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการพิสูจน์ให้เห็นว่า ความเชื่อที่เหมือนเพ้อฝันในวันนั้นของโค้ชอ๊อต ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม หากเรามีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง

“ทั้งหมดเป็นการตอบโจทย์สมาคมฯ ครบถ้วนว่า 4 ปีเกิดอะไรขึ้นบ้าง แน่นอนความสำเร็จต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะเราช่วยกัน ส่วนผมก็เป็นเพียงแค่โค้ชที่มีหน้าที่สร้างความสำเร็จผ่านคนอื่นเท่านั้นเอง”

02
วอลเลย์บอลฟีเวอร์ สู่ตำนาน 7 เซียน

พ.ศ. 2546 โค้ชอ๊อตขอวางมือจากโค้ชทีมชาติไปรับหน้าที่ฝ่ายบริหาร เพื่อช่วยงาน ดร.ประเวช รัตนเพียร เลขาธิการสมาคมฯ คนใหม่

แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังคงทำหน้าที่ดูแลนักกีฬาเหมือนเดิม โดยรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการทีมชาติไทยด้วย พร้อมกับเริ่มภารกิจสำคัญ คือผลักดันนักกีฬาไทยให้ไปหาประสบการณ์ในลีกต่างประเทศ ซึ่งก็มีทั้งสโมสรเข้ามาทาบทามเอง รวมถึงฝากฝังผ่านเพื่อนที่เคยอบรมโค้ชด้วยกัน

โดยคนแรกที่ได้ไปเมืองนอกก็คือ วรรณา บัวแก้ว ซึ่งเข้าร่วมทีม Volley Spezzano ของอิตาลี จากนั้นก็มี หน่อง-ปลื้มจิตร์ ถินขาว ไปร่วมทีมในสโมสรที่จีนและรัสเซีย ขณะที่ กิ๊ฟ-วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ กับ นุช-นุศรา ต้อมคำ ก็ไปอยู่สโมสร IBSA Club Voleibol ที่สเปน และมีอีกหลายคนที่ส่งไปอย่างต่อเนื่อง

“เราวางแผนไว้เพราะเขาเริ่มโตกันแล้ว ควรไปต่างประเทศสัก 5-6 เดือน เพื่อหาประสบการณ์และหารายได้ ถึงค่อยกลับมาเล่นให้ทีมชาติไทย ถือเป็นแรงจูงใจให้คนเก่งได้ทำงาน”

กระทั่ง พ.ศ. 2552 โค้ชอ๊อตก็หวนกลับมาเป็นหัวหน้าโค้ชทีมชาติไทยอีกครั้ง โดยมีผู้ช่วยอีก 2 คน คือ โค้ชยะ-น.ท.ณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค กับ โค้ชด่วน-ดนัย ศรีวัชเมธากุล ภารกิจสำคัญคือ การพาทัพนักกีฬาไทย ไปแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในอีก 4 ปีข้างหน้า

สำหรับโค้ชอ๊อต การไปโอลิมปิก คือเป้าหมายที่อยู่ในใจมาตลอดตั้งแต่เมื่อครั้งที่ไปสร้างทีมยุวชนที่ยะลาแล้ว

หากแต่ประสบการณ์ที่โตขึ้น ทำให้โค้ชอ๊อตปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานหลายอย่าง การฝึกซ้อมอาจไม่เข้มข้นเท่ากับสมัยคุมทีมยุวชน แต่ก็ถือว่าสาหัสไม่น้อยสำหรับนักกีฬาที่ไม่เคยอยู่ในทีมของเขามาก่อน พร้อมกันนั้นยังปรับตำแหน่งของนักกีฬาให้เหมาะสมตามสภาพร่างกายและจิตใจของแต่ละคน 

“เราดูว่าใครเหมาะกับภารกิจไหน อย่างหน่องเป็นคนรูปร่างสูง แล้วก็ข้อมือเร็ว เราก็รู้ว่าเขาเหมาะจะเล่นบอลเร็วมากกว่าเป็นตัวตีหัวเสา หรืออย่างอย่างวรรณา มีความเร็ว สายตาดี อ่านบอลทางตบได้ดี เขาเหมาะจะเป็นลิเบอโรมากกว่าเป็น Middle Blocks หรืออรอุมา (สิทธิรักษ์) เป็นคนที่มีพาวเวอร์มาก เมื่อก่อนเขาเป็นตัวตบ เขาเล่นตำแหน่งนั้นก็ได้ แต่จะมีประโยชน์กว่าถ้ามาเล่นเป็นตัวตบหัวเสา”

ผลของการปรับเปลี่ยนและฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น ส่งผลให้ความสำเร็จของทีมวอลเลย์บอลหญิงเริ่มขยับเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อทัพนักกีฬาบุกไปคว้าแชมป์เอเชียครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ กับการปั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยจากโนเนมสู่ทีมที่ทั่วโลกยกนิ้วให้

ครั้งนั้นไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าสาวไทยจะกลายเป็นแชมป์ เพราะตลอดหลายสิบปีที่แข่งขันมา เราทำได้เพียงอันดับ 3 หรือ 4 ตลอด และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ก็มีแค่จีนกับญี่ปุ่นเท่านั้นที่เคยเป็นแชมป์

ในนัดแรกไทยเจอศึกหนัก เพราะต้องดวลกับทีมสาวแดนปลาดิบ แม้ทีมไทยจะเคยเอาชนะมาได้ครั้งหนึ่ง แต่ในสายตาของทุกคนยกเว้นโค้ชอ๊อต เรายังเป็นรอง และผลสุดท้ายก็เป็นไปตามคาด ทีมไทยแพ้ขาดลอย 3 เซ็ตรวด

หลังจบเกม ทุกคนมาประชุมในห้องพัก อาจารย์อ๊อตก็ปิดห้องตำหนินักกีฬาอย่างรุนแรง บอกว่า ทุกคนคิดแต่ว่าจะแพ้ ทำไมถึงไม่คิดว่าสู้ได้ และพอกลับมาถึงโรงแรม เขาก็ไม่ยอมคุยกับใคร ไม่นัดซ้อม ด้วยหวังทุกคนกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง

“เราต้องดึงเสือเอามาจากตัวคน ต่อให้เกลียดผมก็เกลียดไปเลย ผมจะพูดให้คุณเกลียด เจ็บแค่ไหน แต่คุณไปตบเขาจนชนะได้นี่ผมสบายใจแล้ว เพราะผมไม่ได้ทำทีมกีฬาให้คุณรักผมหรือเกลียดผม ผมทำทีมกีฬาให้พวกคุณเก่ง ให้พวกคุณเป็นตัวแทนทีมชาติไทย ไปแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัว ผมเห็นคุณเก่งได้มากกว่านี้ แต่สิ่งที่คุณยังเป็นมันยังไม่ใช่

“สิ่งที่เกิดขึ้น มันคือเหยาะแหยะ หละหลวม เหมือนไม่ให้เกียรติคู่ต่อสู้ ไม่ให้เกียรติโค้ช เพราะเราเป็นโค้ชทีมชาติมา 14 ปี เป็นกัปตันทีมชาติอีก 10 ปี จะไม่รู้เหรอว่า คุณทำเล่นหรือไม่ทำเล่น ลูกนี้ควรจะรับได้ แล้วถอยทำไม ทำไมไม่พุ่ง ถ้าจะเอา ไม่ต้องดึงหน้าหนีหรอก บอลมาชนกลัวอะไร อย่างมากก็แค่ปากแตก เลือดกลบจมูก ไม่ตายหรอก คือคนเป็นโค้ชมันผ่านประสบการณ์ มันรู้ มันเข้าใจว่าถึงไม่ถึง เอาไม่เอา คือการเล่นโดยใช้จินตนาการเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ทำเล่น”

หลังจากนั้น ฟอร์มการเล่นของสาวไทยก็ดีขึ้น เอาชนะทีมไต้หวัน 3-0 ตามด้วยคาซัคสถาน 3-1 และได้กลับมาแข่งกับญี่ปุ่นอีกครั้งในรอบรองชนะเลิศ แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนรอบแรก ในเซ็ตแรก สาวญี่ปุ่นยังทำผลงานเหนือไทยออกนำไปก่อน พอเซ็ตสองทีมไทยเริ่มตีตื้น ด้วยการนำห่างถึง 18-10 ก่อนจะปิดเกม กลับมาเสมอที่ 1-1 เซ็ต

ปฏิบัติการสร้างคนธรรมดาให้เป็นยอดมนุษย์มากว่า 2 ทศวรรษของ ‘โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร’

พอเซ็ตสาม ทีมไทยยังทำผลงานดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอรอุมาและวิลาวัณย์ตบผ่านบล็อกได้ตลอด แม้ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนเกมเล่น จนกลับมาแต้มจ่อกันที่ 23-22 แต่ทีมไทยก็แรงไม่ตก พลิกกลับมานำ 2-1 เซ็ตได้สำเร็จ และในเซ็ตที่ 4 ทีมญี่ปุ่นกับทีมไทยยังคงไล่บี้กันมาตลอด ก่อนที่ฝ่ายไทยจะตีได้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายจบเกมด้วยสกอร์ 25-21 ทีมไทยทะยานสู่รอบชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรก

การได้เป็นอันดับ 2 นั้นถือว่าเกินเป้าหมายสำหรับนักกีฬาแล้ว และยังเป็นหลักประกันว่า ทีมชาติไทยจะได้ไปแข่งเวิล์ดกรังปรีซ์แน่นอนอีกด้วย ส่วนการเป็นแชมป์ ยังถือว่าห่างไกล เพราะจีนคือแชมป์โลกที่เราไม่เคยเอาชนะได้มาก่อน แค่ได้เซ็ตเดียวยังยากเลย แต่แล้วปรากฏการณ์แจ๊กผู้ฆ่ายักษ์ก็เกิดขึ้น

ในวันนั้นภาพที่เกิดขึ้นคือ นอกจากทีมงานแล้ว ทีมไทยมีกองเชียงมาให้กำลังใจไม่ถึงสิบคน ขณะที่ทีมไทยวอร์มจนเหงื่อท่วมตัว ทีมจีนนั่งไขว้ห้างอย่างสบายอารมณ์ เสมือนเป็นการดูถูก และจากที่ไม่เคยคิดว่าจะชนะได้ แต่ตอนนี้ทุกคนเปลี่ยนความรู้สึก และไม่ยอมแพ้อีกแล้ว

แม้เราจะเสียเปรียบทุกประตู ตั้งแต่ความสูงของนักกีฬา เพราะสาวจีนสูงเฉลี่ยถึง 185 เซนติเมตร ส่วนสาวไทยสูงแค่ 175 เซนติเมตร แต่เซ็ตแรกก็เป็นไปอย่างสูสี ก่อนที่จีนจะปิดเกมได้ 25-20 ออกนำไปก่อน พอมาถึงเซ็ตที่ 2 สาวไทยใช้กลยุทธ์บอลเร็วสู้ ออกนำไปก่อน 5-0 จนนักกีฬาชาติอื่น ๆ หันมาเชียร์ทีมไทยกันหมด จากนั้นอรอุมากับวิลาวัณย์ก็ช่วยกันตบลูก จนไทยกลับมาชนะ 25-19 

พอถึงเซ็ตที่ 3 ทีมไทยยังเดินหน้าบุกอย่างต่อเนื่อง สามารถหลอกแนวรับของจีน ขึ้นตบได้ตลอด ออกนำมาเป็นครั้งแรก 2-1 และมาถึงเซ็ตที่ 4 ก็ยังเป็นฝ่ายไทยที่ทำผลงานได้ดีกว่า นำทิ้งท้ายถึง 6 แต้ม แต่จีนก็ยังไม่ยอมแพ้ไล่บี้ จนกระทั่งฝ่ายไทยขึ้นแท่นก่อนที่ 24-22 ครั้งนั้นโค้ชอ๊อตพยายามปิดแมทซ์ จึงเปลี่ยนผู้เล่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบล็อก แต่ฝ่ายจีนแก้เกมได้ โค้ชอ๊อตจึงเปลี่ยนนักกีฬากลับมาเหมือนเดิม โดยหลังจากนุศราตั้งบอลได้ ทำทีจะส่งให้ปลื้มจิตร์ตบ แต่กลับเป็นวิลาวัณย์ที่วิ่งตามหลังมากระโดดลอยตัวตบอย่างเร็ว บอลพุ่งลงกลางคอร์ด

ทีมไทยก็กลายเป็นผู้ชนะ คว้าแชมป์ประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ ชนิดหักปากกาเซียน

ปฏิบัติการสร้างคนธรรมดาให้เป็นยอดมนุษย์มากว่า 2 ทศวรรษของ ‘โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร’

สำหรับนักกีฬาไทยแล้ว ชัยชนะครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องฟลุก แต่มาจากความเต็มที่ของทุกคน วรรณา พี่ใหญ่ของทีมเคยเปรียบเกมนี้ว่า ทุกคนเล่นเหมือนองค์ลง เล่นกันอย่างสนุกสนาน ไม่เครียด ต่างจากจีนที่เล่นพลาดอยู่ตลอด เพราะกดดันและกลัวจะแพ้ 

ความสำเร็จนี้ก่อให้เกิดกระแสวอลเลย์บอลฟีเวอร์ขึ้นมาในเมืองไทย ในวันที่กลับมาถึงเมืองไทย ผู้คนต่างก็ไปรอรับ ขอถ่ายรูป มีสื่อมวลชนมากมายติดต่อขอสัมภาษณ์ จากแชมป์ครั้งนั้นทีมชุดนี้ก็สร้างผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่ตำนาน 7 เซียน ซึ่งประกอบด้วยผู้เล่นหลัก 7 คน คือ นา-วรรณา บัวแก้ว ตำแหน่งลิเบอโร, หน่อง-ปลื้มจิตร์ ถินขาว ตำแหน่งบอลเร็ว, อร-อรอุมา สิทธิรักษ์ ตำแหน่งตัวตบหัวเสา, กิ๊ฟ-วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ กัปตันทีมชาติไทย ตำแหน่งตัวตบหัวเสา, นุช-นุศรา ต้อมคำ ตำแหน่งเซ็ตเตอร์, ปู-มลิกา กันทอง ตำแหน่งบอลโค้ง และ แจ๊ค-อำพร หญ้าผา ตำแหน่งตัวบล็อกกลาง 

และแล้วก็มาถึงการต่อสู้ครั้งสำคัญ เมื่อทีมชาติไทยต้องแย่งชิงตั๋วกับประเทศต่าง ๆ เพื่อจะไปโอลิมปิกที่ลอนดอน ครั้งนั้นเป็นการแข่งขันแบบพบกันหมดของ 8 ชาติ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ไต้หวัน เซอร์เบีย รัสเซีย คิวบา และเปรู โดยจะมีเพียง 3 ชาติเท่านั้นที่มีสิทธิ์ไปแข่งขันในรอบสุดท้าย

แม้จะแพ้รัสเซียขาดลอย 3-0 แต่ก็ยังมีลุ้น โดยในนัดต่อมาไทยชนะเซอร์เบีย ไต้หวัน เปรู ก่อนจะพ่ายให้ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สรุป 6 เกม ชนะ 3 แพ้ 3 ยังมีโอกาสเข้ารอบ หากชนะคิวบาสำเร็จ และหากชนะ 3-0 ก็รับประกันว่าได้ไปลอนดอนแน่นอน แต่ถ้าเสียเซ็ตก็ต้องรอลุ้นผลคู่ของญี่ปุ่นกับเซอร์เบีย 

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 คือวันที่แฟนวอลเลย์บอลทั่วประเทศจะไม่ลืม เริ่มต้นสาวไทยลงสนามพบกับคิวบา คิวบาถือเป็นทีมชั้นนำของโลก ต่อให้จะตกรอบไปแล้วก็ยังน่ากลัว แถมเราก็ยังไม่เคยชนะเลย โดยเริ่มต้นสาวไทยบุกนำไปก่อน 2-0 ก่อนที่เซ็ตที่ 3 คิวบาจะตีตื้นได้สำเร็จ ตามมาเป็น 2-1 และในเซ็ตที่ 4 ทีมไทยก็ไม่ทำให้ผิดหวัง แม้คิวบาจะไล่บี้ชนิดหายใจรดต้นคอ แต่ก็ยังปิดเกมเอาชนะไปได้

ชัยชนะครั้งนี้หลายคนเชื่อว่า ไทยได้ไปโอลิมปิก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะโอกาสเดียวที่เราจะไม่ได้ไปคือ ญี่ปุ่นต้องแพ้เซอร์เบีย 3-2

สาวไทยซึ่งรอผลอยู่ที่โรงแรมต่างลุ้นระทึก ในเกมแรกญี่ปุ่นเล่นได้ยอดเยี่ยม เอาชนะไปได้สบาย ๆ แต่พอเซ็ตสอง ญี่ปุ่นเริ่มหลุดและแพ้ไป ก่อนจะแก้เกมกลับมา 2-1 ได้ ทว่าเหมือนฟอร์มของสาวปลาดิบจะตกลงมาอย่างกะทันหัน เริ่มพลาดบ่อยขึ้น จนกลับมาเสมอที่ 2-2 และเซ็ตสุดท้าย เซอร์เบียใช้เวลาเพียง 12 นาทีปิดเกม เข้ารอบสุดท้ายเป็นทีมที่ 3 จูงมือญี่ปุ่นเข้ารอบ ผลักทีมไทยตกรอบอย่างไม่น่าเชื่อ

ในเกมนั้นทุกคนต่างร้องไห้เสียใจ สำหรับโค้ชอ๊อตแล้ว คืนนั้นเป็นวันที่เขาไม่มีทางลืมได้เลย เพราะต้องอยู่เคียงข้างและคอยปลอบโยนทุกคน

“พวกเขาหมดศรัทธา ไม่คิดเลยว่าเกมมันจะเป็นอย่างนี้ เหมือนหมดทุกอย่าง สติก็หมด ไม่เหลือเลย ผมต้องค่อย ๆ ไปปลอบใจเขาทีละคน อยู่เป็นเพื่อนเขาทั้งคืนไม่ได้นอน กิ๊ฟกับหน่อง ร้องไห้หนักมาก แป้น (ปิยะนุช แป้นน้อย) ก็ร้องไห้หนัก ผมบอกเขาว่า ผมภูมิใจในตัวเขา ภูมิใจมากเราได้เป็นลูกศิษย์เป็นอาจารย์กัน และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมจะไม่มีวันลืมทุกคน แต่อีกสิบกว่าวันเราต้องไปแข่งเวิร์ลกรังปรีซ์ เราจะต้องเป็นตัวแทนทีมชาติไทย ขอให้ทำหน้าที่เพื่อคนไทย ไปแข่งเวิร์ลกรังปรีซ์ให้ดีที่สุด ครูก็ยังเหมือนเดิม อย่าแสดงความอ่อนแอ ให้คนอื่นเห็น จำได้ไหมกระดาษที่เขียน ๆ กันไว้ เรารักวอลเลย์บอลใช่ไหม เพราะฉะนั้น อย่าให้ใครมาพรากวอลเลย์บอลไปจากเรา พิสูจน์ให้คนทั้งโลกมันเห็นเลยว่าเราแข็งแกร่ง”

ทีมชาติไทยเดินทางจากญี่ปุ่นกลับมาเมืองไทย ก่อนจะไปแข่งต่อที่เมืองหนิงโป ประเทศจีน โดยทีมไทยทำผลงานได้ดีเยี่ยม คว้าอันดับ 4 มาครอบครอง

“ในปีนั้นมีอยู่แค่ 6 ทีมที่ไปแข่งเวิร์ลกรังปรีซ์ วันที่ประชุมโค้ช ทีมไทยมาถึงเป็นทีมสุดท้าย โค้ชทุกคนอยู่ในห้องประชุมหมด ผมเดินเข้าไปในห้อง โค้ชทุกคนเดินมาจับมือ มากอด บอกว่าเสียใจด้วย เข้าใจหมดทุกคน ทุกคนโค้งให้ผม คนเป็นโค้ชโอลิมปิก โค้ชแชมป์โลก ยืนปรบมือให้เรา นั่นคือสิ่งที่ผมได้รับ จากการเป็นคนคนหนึ่งที่สร้างถึงมาถึงขนาด ผมไม่ได้หวังให้เขามาเคารพผมนะ เพราะเราทำด้วยใจจริง ๆ และตั้งแต่มา เราไปแข่งที่ไหน ไม่มีใครทำไม่ดีเลย มีแต่คนให้เกียรติยกย่อง เคารพนับถือ อยากจะรู้ว่า ทำไมตัวเล็ก ๆ ถึงเล่นเก่งเหลือเกิน แล้วเล่นด้วยความสนุกสนานร่าเริง ไม่เหมือนคนเขา นี่คือสิ่งที่ถ่ายทอดจากครูสู่ลูกศิษย์ จากโค้ชสู่นักกีฬา เขาถึงแสดงสปิริตออกมาได้อย่างยอดเยียม

ปฏิบัติการสร้างคนธรรมดาให้เป็นยอดมนุษย์มากว่า 2 ทศวรรษของ ‘โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร’

“ถึงปี 2012 เราจะกลับมาอย่างชอกช้ำ แต่แฟนวอลเลย์บอลก็ยังเห็นใจ และสนับสนุนตามเชียร์เรื่อยมา พอปี 2013 เราก็ยังก้าวต่อ ตั้งใจว่าอีก 4 ปีทุกคนยังเหมือนเดิม ไปเล่นอาชีพครึ่งปีแล้วกลับมาอยู่กับครู ทะเยอทะยาน ซ้อมหนัก ในปีนั้นเราได้แชมป์เอเชียอีกครั้งที่โคราช มันจุดประกายที่ยิ่งใหญ่ให้กับเรา ถึงเรายังไม่ไปโอลิมปิก แต่เราชนะทุกทีมที่ไปโอลิมปิก เราเก็บชัยชนะมาเรื่อย ๆ พอปี 2016 เราชนะทุกทีมในโลก เราสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้คนไทยได้ภูมิใจว่า เรามีทีมวอลเลย์บอลทีมหนึ่ง ตัวเล็ก ๆ ไม่ใหญ่ แต่ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ในสิ่งที่คนธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาทำ”

03
เลือดนักสู้จากทีม (พี่) สู่ทีม (น้อง)

ถึงจะยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ทีมวอลเลย์บอลไทยก็ไม่เคยย่อท้อ เดินหน้าฝึกซ้อมอย่างหนัก พร้อมกับหาประสบการณ์จากต่างแดน 

โค้ชอ๊อตต้องการรักษาคนเก่งให้อยู่ทีมให้นานที่สุด แต่เขาตระหนักดีว่าทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เพราะหากทีมชาติไทยได้โอลิมปิก พ.ศ. 2559 ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เหล่าบรรดาผู้เล่นตัวหลักก็อาจจะประกาศอำลาสนามได้ทุกเมื่อ บวกกับก่อนหน้านี้ มีกรณีของ แจ๊ค อำพร ที่ประกาศขอหยุดพักการลงเล่นให้ทีมชาติ เนื่องจากอาการเจ็บเรื้อรังที่บริเวณหัวเข่า

เพื่อให้ทีมชาติไทยยังคงเดินหน้าต่อไป โค้ชอ๊อตจึงพยายามเลือดใหม่เข้ามาเสริมทัพรุ่นพี่ นักกีฬาเยาวชนฝีมือดีมากมาย อาทิ ชมพู่-พรพรรณ เกิดปราชญ์, เพียว-อัจฉราพร คงยศ, แนน-ทัดดาว นึกแจ้ง และ บุ๋มบิ๋ม-ชัชชุอร โมกศรี เริ่มถูกดึงเข้าทีมตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา

“ผมใช้ชื่อทีมนี้ว่า National Team 2020 โดยระหว่างเส้นทางก็คอยไปสอดแทรกอยู่กับพวกพี่เลย เป็นตัวแทน ตัวเปลี่ยน สลับกันไป โดยรูปแบบในการสร้างทีมไม่ต่างกัน ทุกคนถูกเคี่ยวอย่างหนัก โดยในปี 2014 รายการชิงแชมป์โลกกับเอเชียนเกมส์นั้นตรงกัน ผมก็เลยให้ชุดใหญ่ไปแข่งเอเชียนเกมส์ แล้วชุดนี้ไปแข่งชิงแชมป์โลก รู้สึกว่าบุ๋มบิ๋มน่าจะเป็นนักกีฬาที่อายุน้อยที่สุดในโลกที่ไปแข่ง ข้อดีคือเด็ก ๆ พวกนี้ได้เรียนรู้รูปแบบเทคนิคการเล่นใหม่ ๆ พร้อมกับเรียนรู้วิธีการจากรุ่นพี่ไปด้วย” 

ปฏิบัติการสร้างคนธรรมดาให้เป็นยอดมนุษย์มากว่า 2 ทศวรรษของ ‘โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร’

ทว่าหลังปลุกปั้นทีมได้ราวหนึ่งปี ก็มีเหตุให้โค้ชอ๊อตต้องส่งต่อภารกิจให้น้อง ๆ สต๊าฟโค้ชเข้ามาช่วยดำเนินการต่อ เนื่องจากต้องติดตาม เฟง คุน ภรรยา อดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติจีนกลับประเทศ โดยโค้ชอ๊อตก็ไปรับตำแหน่งเป็นโค้ชทีม Beijing BAW ซึ่งเล่นอยู่ในลีกสโมสรของที่นั่นเป็นเวลา 3 ปีเต็ม 

“เรารับผิดชอบต่อประเทศชาติมาเยอะมาก แต่ความรับผิดชอบต่อครอบครัวก็ต้องมี แล้วภรรยาก็อยู่เมืองจีน ส่วนเราไม่ได้หยุดเลย มันกลายเป็นคำถามกับตัวเองว่าจะทำแต่งาน ไม่ดูแลครอบครัวเลยเหรอ ก็เลยคุยกับท่านนายกฯ คุยกับทีมว่าถึงเวลาต้องขอพัก แล้วที่ผ่านมาก็ถ่ายงานให้ไปพอสมควรแล้ว เขาอาจจะสะดุดบ้าง 1-2 ปี แต่มันก็เดินได้ คิดว่าไม่น่ายาก ทีมชุด 2014 ก็สร้างไว้ให้แล้ว ซึ่งต้องขอบคุณทีมสตาฟโค้ชซึ่งไม่เคยหนีจากผมเลย ต้องขอบคุณโค้ชด่วนซึ่งอยู่เคียงข้างผมตลอดและทำงานต่อ”

ภารกิจของโค้ชอ๊อตที่ต่างแดนก็ไม่ต่างกับการสร้างทีมในเมืองไทย ซึ่งเมื่อเขาไปดูแลฟอร์มการเล่นของทีมก็ดีขึ้น นักกีฬาหลายคนถูกเรียกตัวติดทีมชาติ และกลายเป็นผู้เล่นในชุดแชมป์โอลิมปิก

จนกระทั่ง พ.ศ. 2562 หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่จีน โค้ชอ๊อตก็ได้รับทาบทาบให้ไปช่วยงานเป็นที่ปรึกษาที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกีฬาวุฒิสภา รวมทั้งมาสานต่องานของ อ.ชาญฤทธิ์ ด้วยเป็นเลขาธิการสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเชีย

เช่นเดียวสาวไทยซึ่งคงมุ่งมั่นตามฝันไปโอลิมปิกรอบสุดท้าย โดยโค้ชอ๊อตก็เข้ามาช่วยคุมทีมเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 เพื่อหา 3 ทีมไปแข่งขันโอลิมปิกที่บราซิล ซึ่งแม้สุดท้ายจะเป็นฝ่ายพ่ายญี่ปุ่น 3-2 แต่อย่างน้อยการเล่นของทีมไทยก็ชนะใจผู้ชมทั่วโลกที่ติดตามเกมในวันนั้น และทุกคนพร้อมปลอบประโลมว่า “ไม่เป็นไร คราวหน้าเอาใหม่”

ปฏิบัติการสร้างคนธรรมดาให้เป็นยอดมนุษย์มากว่า 2 ทศวรรษของ ‘โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร’

ต่อมาในการคัดตัวไปโตเกียวเกมส์​ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 กลุ่ม 7 เซียนยังคงจับมือรวมพลังกันเหนียวแน่น สำหรับพวกเธอแล้ว นี่คือการต่อสู้ครั้งสุดท้าย

ครั้งนั้นสาวไทยยังคงมีลุ้นเหมือนที่แล้วมา แถมยังแข่งในบ้านอีกต่างหาก มีกองเชียร์เข้าสนามอย่างล้นหลาม ขอเพียงเก็บชัยชนะในนัดที่เจอกับเกาหลีใต้ได้สำเร็จ ตั๋วโอลิมปิกใบแรกก็จะอยู่ในมือแล้ว หากแต่ด้วยฟอร์มการเล่นของสาวเกาหลีที่เหนือกว่า จึงเป็นฝ่ายชนะไป 3 เซ็ตรวด

ทุกคนต่างผิดหวัง แต่ก็รู้สึกว่าได้พยายามอย่างเต็มที่และทุ่มเททุกสิ่งที่มีไปหมดแล้ว 

“จิตวิญญาณเราไป แต่ว่าตัวเรายังไม่ได้ไป คำถามคือเราจะสู้ต่อไหม หรือพอแค่นี้ สุดท้ายคำตอบของชีวิตที่คุยกับทุกคน มันชัดเจนว่า กีฬาวอลเลย์บอลมันเป็นชีวิตของพวกเรา มันเป็นความรัก อย่าให้พรากจากพวกเราไป แน่นอนแม้นี่จะเป็นขบวนสุดท้ายของทุกคน แต่ความฝันก็ยังมีอยู่ และผมก็มีหน้าที่ส่งมอบความภาคภูมิใจว่า อย่างน้อยเราก็ชนะทุกทีมในโลกนี้แล้ว”

ปฏิบัติการสร้างคนธรรมดาให้เป็นยอดมนุษย์มากว่า 2 ทศวรรษของ ‘โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร’

แต่ถึงจะวางมือไปแล้ว เมื่อถึงคราวจำเป็น ทุกคนก็พร้อมยินดีกลับมาทำเพื่อวงการวอลเลย์บอล เพื่อพี่น้องชาวไทย เหมือนที่เคยทำมาตลอด 20 กว่าปี ดังเช่นช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้นักกีฬารุ่นใหม่ติดโควิด-19 เกือบยกทีม ไม่สามารถไปแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเนชั่นส์ ลีก 2021 ที่ประเทศอิตาลีและถอนตัวไม่ได้ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยจึงติดต่อกัปตันกิ๊ฟ เพื่อขอแรงให้ช่วยประสานเพื่อน ๆ มาแข่งขันแทน

แม้จะลังเลเนื่องจากเวลาจำกัดมาก แถมแต่ละคนก็ไม่ได้ฝึกซ้อมกันเลยตั้งแต่มีคำสั่งปิดสนามกีฬาทุกแห่งทั่วประเทศ แต่เมื่อมีการขอร้องมาทุกคน เว้นแต่วรรณาที่ผันตัวเป็นโค้ชไปแล้ว ก็ตอบรับลงสนาม แน่นอนการแข่งขันครั้งนี้พวกเธอไม่ได้หวังชัยชนะ แต่ตั้งใจทำให้ดีที่สุด ซึ่งผลก็เป็นตามคาด ชนะ 2 นัดจากทั้งหมด 15 นัด รั้งอันดับสุดท้ายของตาราง แต่สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติก็ได้จัดทำคลิป Golden Generation เพื่อขอบคุณสาวไทยที่สร้างปรากฏการณ์ในวงการวอลเลย์บอลโลกมาตลอด 20 ปี

และเมื่อพวกเธอกลับมาถึงเมืองไทย วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 การกีฬาแห่งประเทศไทย และสมาคมฯ ก็ได้จัดงาน ‘7 Legends of Volleyball’ เพื่อขอบคุณและอำลา 7 เซียนอย่างเป็นทางการ

“พวกเขาคือแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป เป็น Soft Power ที่มีอิทธิพลในการแข่งขันวอลเลย์บอล ซึ่งหลายคนชื่นชมเขา แต่สำหรับผม ผมขอบคุณพวกเขา เพราะพวกเขาเป็นลูกศิษย์ที่ดีมาก และช่วยถักทอดความฝันของคนหลายคน ผมอยากจะบอกว่า รักพวกเขามาก รักทุกคนเหมือนลูก ทุกคนเป็นเหมือนครอบครัว เพราะในช่วงเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน ผมก็ไม่มีใครเลย มีแต่พวกเขา”

ปฏิบัติการสร้างคนธรรมดาให้เป็นยอดมนุษย์มากว่า 2 ทศวรรษของ ‘โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร’

ถึงรุ่นพี่จะวางมือไป แต่ภารกิจในการสร้างทีมวอลเลย์บอลไม่เคยสิ้นสุดตามไปด้วย

แม้จะถูกปรามาสจากใครหลายคนว่า ทีมคลื่นลูกใหม่นั้นยากที่จะขึ้นมาเทียบรัศมีของพี่ ๆ 7 เซียนซึ่งเป็นตำนานของเมืองไทยไปแล้ว แต่โค้ชอ๊อตก็ย้ำเสมอว่า หัวใจของการพัฒนาวงการกีฬา คือการสร้างสิ่งที่ดีกว่า และแน่นอนว่านักกีฬาแต่ละยุคก็มีจุดเด่นไม่เหมือนกัน ซึ่งจุดเด่นของคนรุ่นใหม่ก็คือเทคนิค และสไตล์การเล่นที่หลากหลาย

“ทุกวันนี้ ถ้าไปดูการซื้อขายนักกีฬาในต่างประเทศ เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เขาซื้อขายกันที่เทคนิค นี่จึงเป็นคีย์สำคัญของการสร้าง Top Player ของโลก มันเป็น Long-term Process คุณต้องเข้าใจว่า นักกีฬาที่จะไปยืนตรงนั้นต้องมีคุณภาพร่างกายที่ดี คุณภาพทางจิตที่ดี คุณภาพทางเทคนิคที่ดี คุณภาพทางแท็กติกที่ ซึ่งหน้าที่โค้ชคือต้องมีสติ มองให้ออก วิเคราะห์ให้ได้ว่า ควรจะพัฒนาเขาอย่างไร ต้องเข้าใจเรื่องทักษะต่าง ๆ เพื่อที่นักกีฬาจะได้มี Performance และทำในสิ่งที่เขามีความฝันได้”

ปฏิบัติการสร้างคนธรรมดาให้เป็นยอดมนุษย์มากว่า 2 ทศวรรษของ ‘โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร’

และวันนี้ทีมสาวไทยก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้ว ด้วยการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายของเนชั่นส์ ลีก 2022 สำเร็จเป็นครั้งแรก รวมทั้งยังได้รับสิทธิ์ให้ร่วมคัดตัวเพื่อเข้าแข่งขันวอลเลย์บอลโอลิมปิกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2567 ซึ่งโค้ชอ๊อตก็หวังว่า ฝันที่รอมานานนี้จะกลายเป็นจริงได้เสียที

“ตอนนี้เหมือนกับเราอยู่ในระบบสุริยะ ดาราจักรของเรา ในขณะที่โอลิมปิกคือจักรวาล ซึ่งรวมเอาดาราจักรทั้งหมดไว้ด้วยกัน และเราอยากจะไปให้ถึงตรงนั้น เพราะที่ผ่านมาเราทำสำเร็จทุกอย่าง ก็เหลือแค่โอลิมปิกเท่านั้น”  

04
ส่งต่อความฝันที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ปัจจุบันโค้ชอ๊อตยังคงรับใช้วงการวอลเลย์บอลไทย และวงการวอลเลย์บอลโลกเหมือนเดิม โดยรั้งตำแหน่งอุปนายกฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศ, กรรมการบริหารสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ และเลขาธิการสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเชีย

ภารกิจของเขาในวันนี้จึงไปไกลกว่าการพัฒนาทีมวอลเลย์บอลหญิง หากคือการวางรากฐานของกีฬาวอลเลย์บอลในเมืองไทยให้ยั่งยืน ทั้งทีมชาย ทีมหญิง และทีมวอลเลย์บอลชายหาด

“มันท้าทายในการทำงานทุกภาคส่วนเลย คือเราจะบริหารจัดการอย่างไรถึงจะผลักดันทีมชาติไปสู่ความสำเร็จระดับโลก อย่างตอนนี้ทีมชายหาดหญิงของเรากำลังเติบโตไต่อันดับโลกอยู่ ส่วนทีมชายหาดชายก็ดีขึ้น ส่วนทีมชายในร่มกำลังเปลี่ยนถ่าย ทุกอย่างดีขึ้น เพราะมีทีมบริหารที่เข้าใจ จริงใจในการทำงาน เราพยายามพัฒนาบุคลากรในทุก ๆ ด้าน โดยให้ทีมหญิงเป็นทีมต้นแบบที่เราจะก้าวไป”

ปฏิบัติการสร้างคนธรรมดาให้เป็นยอดมนุษย์มากว่า 2 ทศวรรษของ ‘โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร’

แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทีมวอลเลย์บอลหญิงจะวางใจได้ ด้วยเหตุนี้โค้ชอ๊อตจึงเริ่มต้นพัฒนาทีมใหม่ National Team 2028 ด้วยการเฟ้นหานักกีฬาในระดับ U-16 เพื่อจะได้มารับไม้ต่อทดแทนรุ่นพี่ ๆ

โดยคาดว่าภายใน พ.ศ. 2569 ทีมชุดนี้ราว ๆ ครึ่งทีมจะเข้ามาเป็นทีมชาติชุดใหญ่ และเข้ามาเต็มทีมในช่วงคัดตัวเพื่อไปกีฬาโอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2571 

“การที่เราจะพร้อมสำหรับโอลิมปิกก็ต้องขับเคลื่อนหลาย ๆ ด้านมาก อย่างเรื่องหนึ่งที่ผมพูดเสมอคือ เราต้องมีพละ 5 หรือ ม้า 5 ตัวที่จะช่วยเราขับเคลื่อน อันแรกสุดคือ ศรัทธา คนเราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จต้องศรัทธาทั้งตัวเรา ทีมสต๊าฟ และทีมนักกีฬาว่าเป็น High Performance Team

“ต่อมาคือ วิริยะ มีความเพียร พยายาม ความพ่ายแพ้เป็นครูที่ดี ทำให้เราได้เรียนรู้ว่ายังขาดอะไร เหลืออะไร หลายคนอยากเห็นเรามี แต่เรามีไม่ได้ เช่นนักกีฬาสูง ๆ เราต้องยอมรับว่าเผ่าพันธุ์เรา มันตัวแค่นี้ จะหาเด็กสูง 190 ได้ยังไง เมื่อมีแค่นี้ เราก็ต้องยอมรับแล้วก็ทำความเพียรของเราให้ถึง ก็ต้องฝึกซ้อมให้หนัก ๆ เรื่องนี้มันก็เหมือนผมให้คุณไปว่ายน้ำ ถามว่าอ่านหนังสือ ฟังคนที่พูดแล้วไปว่าย คุณจะว่ายเป็นไหม คุณก็ต้องฝึก ต้องซ้อมถึงจะว่ายได้ ที่สำคัญเราต้องมีสติ มีสมาธิ ถ้าเรามีครบ เราก็จะรู้ว่าควรจะพัฒนาอย่างไร จะทำอย่างไรให้นักกีฬาที่ยังไม่เก่ง เก่งขึ้นมา ซึ่งนี่จะนำไปสู่ม้าตัวที่ 5 คือ ปัญญา”

เกือบ 40 ปี โค้ชอ๊อตรับหน้าที่ตั้งแต่นักกีฬาทีมชาติ โค้ชทีมชาติ ไปจนถึงการเป็นผู้บริหารทั้งสมาคมภายในประเทศและระดับนานาชาติ ในวันนี้เขาจึงนำประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานมาถ่ายทอดในฐานะ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันการศึกษาที่หล่อหลอมจนเขามีวันนี้

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผมไปสอนที่นั่นที่นี่มากมาย อย่างล่าสุดผมก็ไปสอนที่ยุโรป มีคนมาฟัง 160 คนจาก 46 ประเทศ โดยมี Keynote Speaker คือผมกับ Mr.John Kessel ซึ่งเป็น Hall of Fame ของอเมริกา แล้วเรารู้สึกว่าทุกคนให้เกียรติเรา ตั้งใจมาฟังเรา ทำไมเราไม่ไปตอบแทนสถาบันที่สร้างเราขึ้นมาบ้าง แล้วครูบาอาจารย์หลายท่านก็เริ่มไปสวรรค์กันแล้ว ส่วนท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมก็นึกถึงท่าน และน่าจะนำวิชาความรู้ที่ได้จากท่าน บวกกับประสบการณ์ในชีวิตที่เราได้เรียนรู้ไปถ่ายทอดกับคนรุ่นใหม่ ให้ลูกศิษย์ เพื่อจะได้พัฒนากีฬาของชาติด้วยกัน”

 โค้ชอ๊อตมีฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะปลุกปั้นบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและยกระดับกีฬาในเมืองไทย เมื่อมาสอน เขาจึงพยายามดึงเครือข่ายทั้งไทย อาเซียน และทั่วโลกที่ตนเองมีอยู่เพื่อมาร่วมทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ แน่นอนแม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้

ตลอด 20 กว่าปีมานี้ คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า โค้ชอ๊อตคือคนสำคัญที่ทำให้กีฬาที่เคยอยู่นอกสายตา ได้รับความนิยมในวงจำกัด กลายเป็นกีฬาที่คนไทยทั่วประเทศส่งแรงใจเชียร์ในทุกนัดการแข่งขัน ต่อให้ผลสุดท้ายจะลงเอยอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับชายผู้นี้แล้ว เขาถือว่าตัวเองเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความสำเร็จ เพราะทั้งหมดนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ทั้งปราศจากความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน จนก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ มาถึงวันนี้

“คงจะดีมาก ถ้าเรื่องราวทีมวอลเลย์บอลของพวกเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม ให้ข้อคิด หรือมีความหมายต่อชีวิตของแต่ละคน เหมือนกับที่วอลเลย์บอลมันมีความหมายกับพวกเรา ผมถือว่าผมเป็นตัวแทนของน้อง ๆ พี่ ๆ ครอบครัววอลเลย์บอล เราทำงานกันหนัก เราทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ผมคนเดียว ผมอยากให้เรื่องราวนี้เป็นแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลังว่า ถึงพวกเขาไม่ใช่คนที่เก่งมาก่อน แต่พวกเขามีความฝัน มีความมุ่งมั่น และทำหลายสิ่งหลายอย่างมาก จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วโลก”

ขอบคุณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้สัมภาษณ์

ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก เพจ Thailand Volleyball Association สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

– บทสัมภาษณ์ อาจารย์เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

– หนังสือ โค้ชอ๊อต โดย เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร

– หนังสือ ลูกยางโลกตะลึง แชมป์ประวัติศาสตร์ วอลเลย์บอลหญิงไทยเจ้าเอเชีย

– นิตยสาร ฅ.คน ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555

– สารคดีชุด “กว่า 20 ปี บนเส้นทางนักกีฬาทีมชาติไทย…กับตำนาน 7 เซียน วอลเลย์บอล”

– บทความชุด “โค้ชอ๊อต”…ขอเล่า โดย เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์