หากเอ่ยถึง ‘ครามสกลนคร’ ผู้อ่านชาวก้อนเมฆหลายคนคงร้อง อ๋อ เพราะต้องเคยคุ้นตาผ่านการอ่านหรือสัมผัส ผ่านของขวัญของฝากแทนใจ จากคนสนิทมิตรสหายที่ไปเยี่ยมเยือนถิ่นสีครามกันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ผ้าพันคอ จนถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

แต่มีชายคนหนึ่งจากอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร หยิบสิ่งที่เกษตรกรทิ้งขวาง มาสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่า เพื่อสื่อสารผ่านผลิตภัณฑ์ว่า ต้นไม้หนึ่งต้นมีประโยชน์มากมายเหลือเกิน อยู่ที่คุณจะมองเห็นหรือเปล่า 

Khramer สกินแคร์ฝีมือคนไทยจากรากคราม สกลนคร ที่ตั้งใจช่วยโลกและชุมชนในทุกกระบวนการผลิต

ติงลี่-คมกฤช ภู่ทอง เจ้าของแบรนด์ Khramer สกินแคร์จากรากคราม ที่ตั้งใจพาครามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนรุ่นใหม่ ด้วยการทำให้ครามเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ง่าย เหมาะกับยุคสมัย และมุ่งมั่นแน่วแน่ว่าจะไม่ขอใช้ส่วนอื่นๆ ซึ่งสร้างประโยชน์ไปแล้ว อย่างกิ่ง ก้าน ใบ นำไปย้อมผ้าให้สีเด็ดขาด แต่จะใช้ ‘ราก’ ส่วนที่เป็นเศษซากทางการเกษตร เพื่อบอกว่าต้นไม้ 1 ต้น ได้ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าแล้ว แถมช่วยลดมลพิษจากการเผาทิ้งทำลายด้วย

Khramer ชื่อนี้เกิดจากการสมาสชนและสนธิเชื่อมขึ้นของคำ 3 คำ คือ 

Khram (คราม), Farmer (เกษตรกร) และ Charmer (คนมีเสน่ห์)

คราม เกษตรกรและคนมีเสน่ห์ ร้อยเรียงเป็น Khramer ได้อย่างไร นี่คือเรื่องราวทั้งหมด

Khramer สกินแคร์ฝีมือคนไทยจากรากคราม สกลนคร ที่ตั้งใจช่วยโลกและชุมชนในทุกกระบวนการผลิต

Khramer

ติงลี่เป็นคนอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ที่จับพลัดจับผลูมาเรียนต่อแดนอีสานในหลักสูตรเภสัชกรรมแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ฝันลึกๆ ในใจเขาอยากเรียนสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ เขาได้แต่เก็บความชอบไว้ลึกสุดใจ และหลังเรียนจบ ติงลี่ผันตัวไปทำธุรกิจนำเข้า-จำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ จนวันดีคืนดีมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ความชอบในวัยเด็กของเขาหายไป’ งานที่ทำอยู่ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เหมือนที่เขาเคยฝัน 

ติงลี่สนใจทำธุรกิจส่งออกเพื่อสร้างสมดุลจากธุรกิจนำเข้าเดิมที่ทำอยู่แล้ว บวกกับได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างที่เคยอยากใช้มาตลอด เขาพุ่งเป้าไปที่ ‘คราม’ สินค้าเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงในตลาดสากล

และโจทย์แรกที่เขาตั้งต้นในการทำธุรกิจคือ ธุรกิจนี้ต้องเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น

“ต้องบอกก่อนว่าเราทอผ้าไม่เป็น ก็เลยไม่ไปแตะเรื่องการย้อมผ้า ทอผ้า เพราะมีกลุ่มคนที่สนับสนุนงานออกแบบพวกนี้อยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่เราพยายามสร้างคุณค่าใหม่ขึ้นมากับกลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง

“ช่วงเริ่มคิดหาผลิตภัณฑ์ เราลงพื้นที่ไปดูชุมชนว่าเขาทำอะไรบ้าง คุยกับเกษตรกรว่าเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วเขาเหลืออะไรบ้าง แต่พอเข้าไปในพื้นที่ เราเห็นกองรากครามก็รู้เลยว่าเขาไม่ได้ใช้แน่ๆ จึงเป็นโจทย์ให้เราไปคิดต่อว่า จะเอารากครามไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสิ่งที่เราจะทำคือ Circular Design สร้างมูลค่าให้มันเป็นมากกว่าขยะหรือปุ๋ย 

“ที่สำคัญ ต้องมีคนได้ประโยชน์มากกว่าตัวเราเอง และเรามองถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดด้วย” ติงลี่เล่าจุดเริ่มต้นและเป้าประสงค์ของการหยิบใช้ส่วนที่หยั่งลึกที่สุดของต้นครามให้เราฟัง 

Khramer สกินแคร์ฝีมือคนไทยจากรากคราม สกลนคร ที่ตั้งใจช่วยโลกและชุมชนในทุกกระบวนการผลิต

นักทำแบรนด์มือใหม่เล่าว่าเมื่อศึกษาอย่างเข้มข้น พบว่ามีงานวิจัยหลายตัวที่บ่งบอกคุณสมบัติของครามเรื่องป้องกันแสง UV เขายกตัวอย่างคนไทยที่ทำไร่ ทำนากลางแดด มักสวมเสื้อผ้าย้อมคราม เพราะช่วยป้องกันการไหม้จากแดดได้ดี และคนสมัยก่อนจะใช้ธรรมชาติในการดำรงชีพ เช่น เด็กแรกเกิดจะถูกห่อตัวด้วยผ้าย้อมครามเพื่อลดการอักเสบ ลดความเจ็บปวด อย่างเข้าป่าแล้วเกิดแมลงสัตว์กัดต่อย ก็บดขยี้ใบครามมาโปะแผล 

และครามก็โลดแล่นในตลาดสากลมาเนิ่นนาน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ฯลฯ ต่างมีวัฒนธรรมครามในแบบที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่เด่นที่เครื่องแต่งกาย และอีกส่วนที่ติงลี่ทราบจากงานวิจัยคือ อินเดียใช้รากครามในการทำยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ญี่ปุ่นใช้ดอกครามมาสกัดเป็นครีมบำรุงผิว ฝรั่งเศสใช้ใบครามแก่จัดมาทำสารสกัด ฯลฯ 

‘ธรรมชาติบำบัด’ เป็นคอนเซ็ปต์หลักของ Khramer ที่มีแรงบันดาลใจจากประโยชน์ทั้งต้นของคราม

Khramer สกินแคร์ฝีมือคนไทยจากรากคราม สกลนคร ที่ตั้งใจช่วยโลกและชุมชนในทุกกระบวนการผลิต

ติงลี่ลงมือทำวิจัยเพื่อทำให้ของดีจากธรรมชาติมีมาตรฐานยิ่งขึ้น จากการวิจัยเปรียบเทียบใบและราก เพื่อดูว่าส่วนใดมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) มากกว่ากัน ทำการทดสอบ Anti-bacteria, Skin Moisture และการปกป้องแสงแดด ซึ่งผลเป็นอย่างที่คิด รากครามมีสารต้านอนุมูลอิสระเข้มข้นกว่าใบ เพราะครามเป็นพืชตระกูลถั่ว สะสมอาหารไว้ที่รากอย่างเข้มข้น รวมถึงตรวจสอบค่า SPF ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ

ติงลี่ได้ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดรากคราม 2 ประเภท ได้แก่ Indigo Root Extract Facial Sunscreen SPF50 PA ห่มครามให้ผิวหน้าเพื่อป้องกันแสงแดดและน้องยูวี แถมปรับผิวหน้าให้สมดุล Indigo Root Extract Facial Serum เอสเซนส์น้ำนมช่วยบำรุง ปลอบประโลม และปรับสมดุลให้กับผิวหน้า ที่สำคัญ สกินแคร์ของแบรนด์ปราศจากส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ พาราเบน ซิลิโคน ไม่แต่งกลิ่น ไม่แต่งสี และไม่ผสมสารเคมี

ติงลี่เฉลยว่าการเป็นศิษย์เก่าแพทย์แผนไทยช่วยเขาในการตั้งต้นความคิด ด้วยหลักการการมองส่วนต่างๆ ของพืชมาปรุงยา ราก ดอก ใบ ฯลฯ ล้วนมีสรรพคุณต่างกัน และเขายังแนะเทคนิคเก็บเกี่ยวให้ได้ประสิทธิภาพดีให้ด้วย

“ตามที่เราศึกษามา รากควรจะเก็บในเวลายามสี่ ช่วงบ่ายสามถึงหกโมงเย็น เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพของสารเคมีต่างๆ ที่อยู่ในราก ส่วนใบครามเก็บช่วงเช้ามืด ตีสี่ถึงตีห้า เพราะใบยังไม่โดนแสงแดด เมื่อย้อมแล้วจะให้สีชัด”

Khramer สกินแคร์ฝีมือคนไทยจากรากคราม สกลนคร ที่ตั้งใจช่วยโลกและชุมชนในทุกกระบวนการผลิต
Khramer สกินแคร์ฝีมือคนไทยจากรากคราม สกลนคร ที่ตั้งใจช่วยโลกและชุมชนในทุกกระบวนการผลิต

Framer

เมื่อถามถึงคราม ทำไมต้องเจาะจงเลือกใช้ ‘ครามสกลนคร’ 

“เราทราบมาว่าจังหวัดสกลนครเป็นแหล่งเพาะปลูกครามที่มีประสิทธิภาพ มีชื่อเสียง แล้วก็ได้รับรองเป็น GI ของจังหวัด จากการศึกษาของเรา ภูมิประเทศของสกลนครมีองศาของแดดและปริมาณน้ำฝนต่อปีเหมาะสมกับการปลูกคราม และพื้นที่นี้ก็มีประวัติศาสตร์เรื่องการใช้ครามในกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย เราเลยเลือกครามสกลเป็นวัตถุดิบหลัก”

ไม่เพียงแต่ดินดี น้ำดี ผลผลิตดี เรื่องราวประวัติศาสตร์พื้นที่ก็สอดคล้องกัน และหลาย ‘ดี’ ที่ว่าก็เป็นข้อมูลที่น่าพูดถึงและนำเสนอให้ผู้บริโภคทราบถึงแหล่งที่มาที่ไป เป็น Storytelling ซึ่งขยายภาพ Khramer ชัดเจนยิ่งขึ้น

แบรนด์สกินแคร์รักษ์โลกและชุมชนจากสารสกัดรากคราม สกลนคร ที่หยิบวัตถุดิบในดินมาทำครีมกันแดดและเอสเซนส์บำรุงผิว
แบรนด์สกินแคร์รักษ์โลกและชุมชนจากสารสกัดรากคราม สกลนคร ที่หยิบวัตถุดิบในดินมาทำครีมกันแดดและเอสเซนส์บำรุงผิว

ติงลี่เข้าไปทำงานกับเกษตรกร สกลนคร ในฤดูเก็บเกี่ยวและเล่าสู่กันฟังว่า รากครามมีประโยชน์นะ ไม่ต้องทิ้ง ไม่ต้องเผา มันจะกลายเป็นมลพิษ เขาจึงขอรับซื้อ เพราะปกติแล้วชาวบ้านจะปลูกคราม รอจนโตเต็มที่แล้วตัดกิ่ง ก้าน ใบ ไปใช้ประโยชน์ ทำแบบนี้ 2 – 3 ครั้งจนเหลือตอส่วนที่เป็นรากใต้ดินที่ไม่มีใครนำไปใช้งาน เพราะต้องออกแรงขุดขึ้นมา สุดท้ายก็จบชีวิตที่กองไฟเผาขยะ เมื่อสนิทสนมกับคนปลูก ก็เหมือนได้แบ่งปันความรู้เรื่องครามซึ่งกันและกัน

“ความรู้ ความคิด เราไม่ได้เก่งไปกว่าชาวบ้านที่เขาอยู่กับต้นครามมาหลายเจเนอเรชัน แต่เราคอยสังเกตและรับฟังมากกว่า อย่างขั้นตอนการเก็บเกี่ยวก็เสนอให้เขาทำแบบนี้ดีมั้ย เพื่อให้เหลือขยะน้อยลง ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น และเราไม่อยากให้ชาวบ้านเพิ่มปริมาณพื้นที่เพาะปลูกจากเดิม หรือเลิกทำนาเพื่อส่งรากครามให้เรา

“เราอยากให้ชุมชนคงวิถีของเขา และเรารับซื้อจากชุมชนดีกว่า เพื่อช่วยกระจายรายได้ให้เขาด้วย”

จากการพูดคุยมาสักพัก เราสัมผัสถึงไอเดียและความเป็นเจ้าพ่อโปรเจกต์จากนักทำแบรนด์มือใหม่คนนี้อย่างจัง เพราะนอกจากครีมกันแดดและเอสเซนส์บำรุงผิวที่ Khramer ร่วมงานกับชุมชน เขายังมีอีกหลายโครงการในหัว

แบรนด์สกินแคร์รักษ์โลกและชุมชนจากสารสกัดรากคราม สกลนคร ที่หยิบวัตถุดิบในดินมาทำครีมกันแดดและเอสเซนส์บำรุงผิว
แบรนด์สกินแคร์รักษ์โลกและชุมชนจากสารสกัดรากคราม สกลนคร ที่หยิบวัตถุดิบในดินมาทำครีมกันแดดและเอสเซนส์บำรุงผิว

“มีอีกหลายโปรเจกต์ที่เราทำร่วมกับชุมชน เช่น กระเป๋าจากเศษผ้าครามที่เหลือจากการตัดเย็บชุด เราจะรับซื้อเศษผ้าเล็กๆ มาทำเป็นถุงผ้าใส่สินค้าให้กับลูกค้า ให้ลูกค้านำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งคุณป้าที่เราไปรับซื้อ เขาดีใจมากที่มีคนมาซื้อเศษผ้าพวกนี้ แต่ตอนนี้คุณป้าติดทำนา เราเลยรอ เพราะไม่อยากเปลี่ยนวิถีเขาแล้วทำสินค้าให้เรา” ติงลี่เล่าถึงความตั้งใจที่ไม่รีบร้อน และไม่คิดจะเปลี่ยนหรือเร่งเร้าอะไร แต่มีเบื้องหลังเป็นความหวังดีและความห่วงใยที่ปรารถนาสร้างรายได้และรอยยิ้มให้กับชุมชนจังหวัดสกลนคร อีกทาง

“อนาคตเราอยากจะเข้าไปใกล้ชิดชุมชนให้มากกว่านี้ อยากสร้างพื้นที่พื้นที่หนึ่งขึ้นมาโดยไม่ขัดแย้งกับชุมชน เพื่อทดลองเกี่ยวกับคราม รวมถึงรับฟังชุมชนว่าเขามีปัญหาอะไรระหว่างการทำงาน แล้วก็นำมาแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมา สมมตินะ เราอาจนำยอดอ่อนใบครามมาคั่วเป็นชาจากคราม แล้วมันไม่กระทบวิถีชุมชน เพราะชาวบ้านก็ยังเก็บใบครามไปย้อมสีได้เหมือนเดิม เพียงแต่เราเลือกหยิบส่วนที่เขาไม่ได้ใช้มาทำประโยชน์”

แค่คิดก็น่าสนุกแทนชาวบ้านสกลนคร และตื่นเต้นแทนผู้บริโภคอย่างเราๆ 

Charmer

กลุ่มคนมีเสน่ห์ที่ติงลี่ตั้งเป้าหมายให้เป็นกลุ่มลูกค้าหลักคือหนุ่มสาวเจเนอเรชันวาย ผู้ชื่นชอบและต้องการรู้แหล่งที่มาที่ไปของวัตถุดิบ ใส่ใจและให้คุณค่ากับผลิตภัณฑ์ที่รักสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการ ซึ่งตอนนี้ Khramer อยู่ในช่วงแนะนำตัวให้ทุกคนรู้จัก เป็นน้องใหม่ของวงการที่รอคุณมาทดลองใช้และสนับสนุนกลับไปเติมเสน่ห์ที่บ้าน

และตั้งแต่สนทนากัน เจ้าของแบรนด์มือใหม่ทำเราเซอร์ไพรส์กับแนวคิดเท่ๆ จนเราเพลิดเพลินที่ได้ฟังเรื่องราวของเขาอยู่ตลอด สิ่งเหล่านี้สร้างความประทับใจจนขอยอมรับ และนิยามให้ Khramer เป็นแบรนด์ที่สนุกในทุกกระบวนท่าและลีลาทางความคิด เพราะทุกอย่างที่สื่อสารล้วนรักและใส่ใจโลกใบนี้อยู่เสมอ 

ขอบคุณจากหัวใจที่หลงใหลเสน่ห์ของธรรมชาติ และมองเห็น ‘ราก’ ส่วนที่หยั่งลึกที่สุดในดิน ขอบคุณที่พัฒนาและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดการผลิต

 “เราอยากให้คนจดจำ Khramer ว่าเป็นแบรนด์ที่มองเห็นและให้คุณค่ากับพันธุ์พืช ให้คนตระหนักว่า ต้นไม้หนึ่งต้นหรือสิ่งของหนึ่งอย่างทำประโยชน์ได้มากมาย ถ้าคนมองเห็นสิ่งนี้จากแบรนด์ของเรา ถือว่าคุ้มค่าแล้ว”

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วประทับใจจนอยากสั่งจองมาครอบครอง ตอนนี้ทางแบรนด์เปิดขายเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น และมีแผนจะวางตลาดในปีหน้า ส่วนสายผจญภัยที่รักการดำน้ำ อดใจรออีกนิด เพราะ Khramer ก็มีไอเดียครีมกันแดดกันน้ำ รักสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับเพื่อนพ้องใต้ทะเล แถมอนาคตยังคิดต่อยอดจาก ‘ธรรมชาติบำบัด’ ให้เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่ม Wellness ที่เป็น Mega Trend ของโลก โดยพูดถึงการเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวมด้วย

ไม่แน่ว่าคุณอาจเห็นน้ำมันรากครามทาถู และแผ่นประคบเย็นแก้ปวดเร็วๆ นี้ก็ได้ (บอกใบ้แล้วนะ)

แบรนด์สกินแคร์รักษ์โลกและชุมชนจากสารสกัดรากคราม สกลนคร ที่หยิบวัตถุดิบในดินมาทำครีมกันแดดและเอสเซนส์บำรุงผิว

Khramer

เว็บไซต์ : www.khramer.com

Facebook : KHRAMER

Writers

Avatar

พลอยไพลิน กลิ่นบัวงาม

นักหัดเขียนสายคาเฟ่ รักการอบขนม เสพติดการหอมหมา และเชื่อว่าวันที่ดีจะเริ่มต้นด้วยชาเขียวเย็นในแก้วเก็บอุณหภูมิ

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

จิราภรณ์ ล้อมหามงคล

ช่างภาพฟรีแลนซ์ตัวไม่เล็กจากแดนอีสาน ผู้ชื่นชอบในประวัติศาสตร์