คอสโรวกับชิรีน (Khosrow and Shirin) เป็นหนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเอกของอิหร่าน ประพันธ์โดย นีซามี (Nizami) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1141 – 1209 ความรักที่มีอุปสรรค คำสัญญา การรอคอย การถูกหักหลัง และถูกกลั่นแกล้ง มีฉากให้ผู้อ่านลุ้นเป็นระยะ แล้วจบลงด้วยโศกนาฏกรรมดังที่ปรากฏในตำนานรักของคอสโรวกับชิรีนนั้น จับหัวใจผู้อ่านจนวรรณกรรมเรื่องนี้ถูกเล่าขานไปทั่วอิหร่าน ตุรกี และอินเดีย และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่โรมิโอกับจูเลียตของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ซึ่งแต่งขึ้นหลังจากวรรณกรรมเปอร์เซียเรื่องนี้ถึงเกือบ 400 ปี

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในอาณาจักรเปอร์เซีย มีกษัตริย์ผู้หนึ่งพระนามว่าพระเจ้าฮอร์มุซ พระองค์มีโอรสองค์หนึ่งนามว่าคอสโรว เจ้าชายคอสโรวทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งด้านบุ๋นและบู๊ เสียแต่ชอบดื่มสุราจนขาดสติ สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นอยู่บ่อยๆ จนพระราชบิดาขู่ว่าถ้ายังไม่เลิกประพฤติตัวเหลวไหล จะยกบัลลังก์ให้ผู้อื่น

โรมิโอ-จูเลียต ฉบับเปอร์เซีย : ตำนานรักของคอสโรวกับชิรีน
คอสโรท่ามกลางข้าราชบริพาร 
ภาพ : The Metropolitan Museum of Art

คืนหนึ่งคอสโรวฝันถึงพระอัยกาคือพระเจ้าอนุชิรวาน พะองค์ตรัสแก่คอสโรวว่าคอสโรวจะได้ครอบครองของล้ำค่า 4 อย่าง ได้แก่ อาณาจักรเปอร์เซีย ม้าเร็วชื่อชับดิส นักดนตรีฝีมือดีชื่อบัรบัด และสาวงามนามว่าชิรีน รุ่งขึ้นองค์ชายเล่าความฝันให้ชาปูร์ (Shapur) สหายคนสนิทฟัง 

ชาปูร์เป็นจิตรกรและนักผจญภัย เขาเคยเดินทางไปอาร์เมเนียและรู้เรื่องราวของที่นั่นดี ชาปูร์กล่าวว่าชิรีนคือเจ้าหญิงรัชทายาทของราชินีแห่งอาร์เมเนีย ทรงงดงามเหมือนกุหลาบป่า ริมผีปากอวบอิ่ม วาจาอ่อนหวานสมกับพระนาม (ชิรีน ในภาษาฟาร์ซีแปลว่าหวาน) ทั้งยังเชี่ยวชาญการยิงธนูไม่แพ้บุรุษ เป็นสตรีที่งดงามและน่ายำเกรงเหมือนสิงห์สาว

เพราะชาปูร์บรรยายเก่ง หรือเพราะคอสโรวใจง่ายก็ไม่ทราบ เพราะเพียงได้ฟังเท่านี้ พระเอกของเราก็ตกหลุมรักชิรีนทันที ใคร่จะได้นางมาเป็นชายา ชาปูร์จึงอาสาเดินทางไปอาร์เมเนียเพื่อสู่ขอเจ้าหญิง แต่เพื่อให้งานนี้สำเร็จลุล่วงก็ต้องมีเทคนิคกันหน่อย เมื่อชาปูร์ไปถึงอาร์เมเนียจึงวาดภาพเหมือนของคอสโรว แล้วแอบนำไปแขวนที่กิ่งไม้ในสวนของพระราชวัง เมื่อเจ้าหญิงชิรีนออกมาชมดอกไม้แล้วเห็นภาพวาดขององค์ชายเข้า ศรรักก็ปักอกทันที (ชวนให้นึกถึงจรกาในเรื่อง อิเหนา ที่เห็นภาพวาดของนางบุษบาแล้วเกิดความดันขึ้น เอ๊ย! เกิดแรงพิศวาสขึ้นเฉียบพลันจนเป็นลม) 

โรมิโอ-จูเลียต ฉบับเปอร์เซีย : ตำนานรักของคอสโรวกับชิรีน
ชิรีนชมภาพวาดของคอสโรว 
ภาพ : The Stage Hermitage Museum

เมื่อทราบว่าชายในภาพคือเจ้าชายคอสโรวแห่งเปอร์เซีย ชิรีนจึงปลอมตัวเป็นชายแล้วควบม้าคู่ใจ ‘ชับดิส’ (ม้าตัวนี้ก็คือ 1 ใน 4 ของดีที่คอสโรวจะได้ครอบครอง) ออกจากวังไปตามหาคนรัก มั่นแท้! สมัยก่อนจะมีผู้หญิงสักกี่คนที่ออกจากบ้านไปตามหาเนื้อคู่ 

โรมิโอ-จูเลียต ฉบับเปอร์เซีย : ตำนานรักของคอสโรวกับชิรีน
คอสโรพบชิรีนระหว่างทางขณะที่ชิรินกำลังอาบน้ำในลำธาร 
ภาพ : The Metropolitan Museum of Art

บังเอิญว่าขณะนั้นคอสโรวมีเรื่องหมางใจกับพระราชบิดา จึงออกมาใช้ชีวิตนอกวังและมุ่งหน้าไปยังอาร์เมเนียเพื่อตามหานางในฝัน จึงสวนทางกับชิรีนที่กำลังเดินทางมายังเปอร์เซีย และก็เหมือนสวรรค์แกล้ง (หรือกล่าวคือผู้เขียนแกล้งผู้อ่าน) ที่ลิขิตให้เมื่อคอสโรวควบม้ามาถึงกลางป่าแห่งหนึ่ง ก็พบชิรีนกำลังอาบน้ำอยู่ในลำธารท่ามกลางแสงจันทร์ ทั้งสองสบตากันชั่วระยะหนึ่ง โดยที่ต่างก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายคือคนที่ตัวเองกำลังตามหา เพราะความมืดในยามราตรีบดบังใบหน้า แถมชิรีนก็ปลอมตัวเป็นชาย คอสโรวก็คงไม่สนไม้ป่าเดียวกันจึงควบม้าจากไปอย่างน่าเสียดาย ฉากนี้เป็นตอนที่กินใจที่สุดของเรื่อง และเป็นฉากที่จิตรกรอิหร่านนำไปวาดมากที่สุด

เมื่อชิรีนมาถึงเมืองมะดาอิน เมืองหลวงของเปอร์เซีย ก็พบว่าคอสโรวไม่ได้อยู่ที่วัง ขณะที่คอสโรวเมื่อไปถึงอาร์เมเนีย ก็พบว่าชิรีนออกไปตามหาตนเองถึงมะดาอิน คอสโรวจึงพักอยู่ที่อาร์เมเนียแล้วส่งชาปูร์ไปรับชิรีนกลับมา แต่ชะตาก็เล่นตลกอีกครั้ง เพราะก่อนที่ชิรีนจะมาถึงอาร์เมเนียได้ไม่นาน คอสโรวก็ต้องกลับเปอร์เซียด่วนเพราะพระเจ้าฮอร์มุซสวรรคต พระเอกกับนางเอกของเราจึงคลาดกันอีกครั้ง

คอสโรวขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งเปอร์เซียได้ไม่นาน ก็ถูกขุนพลที่หวังชิงบัลลังก์ใส่ร้ายว่าพระองค์เป็นผู้ปลงพระชนม์พระราชบิดา ไม่เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์ เหล่าทหารจึงบุกเข้ายึดอำนาจ คอสโรวลี้ภัยไปยังอาร์เมเนียและได้พบกับชิรีนในที่สุด วินาทีแรกที่ทั้งสองพบกันหลังจากที่คลาดกันมานานแสนนาน เป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่เกินบรรยาย ซึ่งนีซามีเขียนเล่าเอาไว้อย่างหวานซึ้ง

คอสโรวขอชิรีนแต่งงานทันที แต่ชิรีนขอให้คอสโรวนำบัลลังก์แห่งเปอร์เซียกลับคืนมาให้ได้ก่อนแล้วค่อยว่ากัน คอสโรวจึงเดินทางไปคอนสแตนติโนเปิล เพื่อขอพึ่งกำลังพลของจักรพรรดิไบแซนไทน์ และจำใจต้องอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรียม ธิดาของจักรพรรดิเพื่อกระชับสัมพันธ์ และด้วยความช่วยเหลือของไบแซนไทน์ คอสโรวจึงกู้ราชบัลลังก์ได้สำเร็จ 

โรมิโอ-จูเลียต ฉบับเปอร์เซีย : ตำนานรักของคอสโรวกับชิรีน
คอสโรวมาง้อชิรีนที่หน้าวัง ฉากนี้คล้ายในเรื่องโรมิโอกับจูเลียต 
ภาพ : The Metropolitan Museum of Art

ฝ่ายชิรีนเมื่อรู้ว่าคนรักที่ตนเฝ้ารอไปลงเอยกับหญิงอื่นเสียแล้ว ก็ชอกช้ำสุดแสน แม้คอสโรวจะมาตามง้อและอธิบายว่าเป็นการแต่งงานเพื่อการเมือง ในใจไม่เคยคิดถึงใครเลยนอกจากชิรีน แต่หญิงใดเล่าจะทำใจยอมรับได้ มาเรียมก็กีดกันทุกวิถีทางไม่ให้คอสโรวกลับไปหาถ่านไฟเก่า สัมพันธ์รักระหว่างคอสโรวกับชิรีนจึงดูเหมือนจะขาดสะบั้นลงเสียแล้ว

โรมิโอ-จูเลียต ฉบับเปอร์เซีย : ตำนานรักของคอสโรวกับชิรีน
ฟาฮัดแบกชิรีนข้ามภูเขาไปด้วยอานุภาพแห่งรัก 
ภาพ : Pinterest

ระหว่างนั้นเจ้าหญิงผู้ช้ำรักก็มีหนุ่มคนหนึ่งมาดามหัวใจ เป็นประติมากรและวิศวกรนามว่าฟาฮัด (Farhad) นายช่างหนุ่มรักและเทิดทูนชิรีนอย่างสุดซึ้งจนฝ่ายหญิงเริ่มหวั่นไหว คอสโรวเมื่อเห็นดังนั้นจึงวางแผนกำจัดศัตรูหัวใจ โดยสั่งให้ฟาฮัดสร้างถนนขนาดใหญ่ตัดผ่านช่องภูเขา หากทำสำเร็จจะยกชิรีนให้ คอสโรวคิดว่าฟาฮัดไม่มีทางทำงานช้างนี้ได้สำเร็จ แต่เมื่อมีเจ้าหญิงชิรีนเป็นรางวัล ทำให้เขามีแรงตัดถนนทั้งวันทั้งคืนจนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ คอสโรวกลัวจะต้องเสียชิรีนให้ฟาฮัด จึงใช้ไม้ตายสุดท้าย โดยโกหกฟาฮัดว่าชิรีนป่วยกะทันหันและเสียชีวิตลงแล้ว นายช่างหนุ่มจึงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย คอสโรวส่งสาส์นแสดงความเสียใจไปถึงชิรีนเรื่องการตายของฟาฮัด หลังจากนั้นไม่นานมาเรียมก็สิ้นพระชนม์ บางสำนวนเล่าว่าเพราะถูกชิรีนวางยาพิษ

โรมิโอ-จูเลียต ฉบับเปอร์เซีย : ตำนานรักของคอสโรวกับชิรีน
คืนวันแต่งงานของคอสโรวและชีรีน 
ภาพ : The Metropolitan Museum of Art

หลังจากผ่านอุปสรรคนานับปการและมือที่สามหมดไป คอสโรวกับชิรีนก็กลับมาปลูกต้นรักกันใหม่และแต่งงานกันในที่สุด แต่ผู้เขียนก็ยังไม่หยุดบีบหัวใจคนอ่าน โดยกำหนดให้ซีรูเย โอรสของมาเรียม เกิดหลงรักพระมารดาเลี้ยงเข้า คืนหนึ่งซีรูเยลอบเข้าไปในห้องบรรทมของทั้งสอง แล้วปักมีดลงกลางอกของพระบิดาจนสิ้นพระชนม์ 

ซีรูเยบังคับให้ชิรีนอภิเษกกับตน ชิรีนยอมรับโดยมีข้อแม้ว่าขอให้เธอได้ไว้ทุกข์ให้อดีตสวามี ซีรูเยอนุญาตโดยหารู้ไม่ว่าชิรีนมีแผนในใจ เธอบริจาคทรัพย์สินทั้งหมดให้ผู้ยากไร้แล้วไปที่หลุมศพของคอสโรว ดื่มยาพิษแล้วทอดร่างอันไร้ลมหายใจลงบนหลุมศพของคนรัก ตำนานรักของคอสโรวกับชิรีนก็เอวังลงด้วยประการฉะนี้ 

โรมิโอ-จูเลียต ฉบับเปอร์เซีย : ตำนานรักของคอสโรวกับชิรีน
ซีรูเยสังหารคอสโรว 
ภาพ : goodtimes
โรมิโอ-จูเลียต ฉบับเปอร์เซีย : ตำนานรักของคอสโรวกับชิรีน
ชิรีนฆ่าตัวตายเหนือหลุมศพของคอสโรว 
ภาพ : The Metropolitan Museum of Art

ดูจากเนื้อเรื่องแล้วอาจดูเหมือนนิยายน้ำเน่าเงาจันทร์ทั่วไป แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดีจะพบว่าผู้เขียนสอดแทรกข้อคิดไว้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลานุภาพของความรัก ความไม่แน่นอนของชีวิตคู่ ความหายนะจากการขาดสติ ความน่ากลัวของความอิจฉาริษยา การฆ่าตัวตายด้วยความเขลา และท้ายที่สุด คือความรักคือสิ่งสวยงามแต่จงรักอย่างมีสติ ไม่อย่างนั้น… ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์

สุขสันต์วันแห่งความรัก

*หมายเหตุ : ภาพประกอบเป็นภาพที่วาดขึ้นต่างยุคสมัยและต่างพื้นที่ จึงมีสไตล์การเขียนต่างกัน เพราะวรรณกรรมเรื่อง คอสโรวกับชิรีน แพร่หลายในหลายดินแดนนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา

ข้อมูลอ้างอิง

  • Peter J. Chelkowski, Mirror of The Invisible World: Tales from Kamseh of Nizami, New York: The Metropolitan Museum of Art, 1975.
  • Sheila R. Canby, Persian Painting, London: Trustees of the British Museum, 1993.

Writer

วสมน สาณะเสน

วสมน สาณะเสน

บัณฑิตตุรกี นักวิชาการด้านศิลปะอิสลาม อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง