19 กรกฎาคม 2024
2 K

เพียง โอเล่-ชิษณุชา สุขสร้อย รับสาย เสียงธรรมชาติของสกลนครและจิตวิญญาณแห่งความเป็นบ้านเกิดก็คล้ายจะไหลเข้าสู่หัวใจ เสียงไก่ขันยามบ่ายส่งสัญญาณเริ่มบทสนทนา เสียงใบไม้ไหวตามสายลมอ่อน ๆ ที่พัดผ่านให้ความรู้สึกสงบเย็น เหล่านี้ไม่ใช่แค่เสียงธรรมดา แต่คือเสียงแห่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่สอดคล้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรมของบ้านเกิด 

สำหรับโอเล่ ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ ‘ขอ’ ผ้าทอแห่งสกลนครที่นำเสนอการย้อมครามและเทคนิคการกั้นสีด้วยข้าว 3 ชนิดจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขายังคิดทำ ‘ผ้าอักกะ’ ที่สะท้อนคุณค่าของงานฝีมือผ่านทุกกระบวนการที่ใช้แสงอาทิตย์ รวมถึงอนุรักษ์การเย็บแบบอีสานอย่าง ‘การแส่วมือ’ ผสานความงดงามและภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างลงตัว เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่ดีที่สุดในทุกชิ้นงาน

ผ้าทอหลากสีสันแขวนเรียงรายในบ้านหลังน้อยที่อำเภอวาริชภูมิ ทุกผืนบอกเล่าถึงฝีมือและความรักที่โอเล่มีต่อ คุณยายขอ หญิงที่เขารักและคิดถึงสุดหัวใจ จนนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ และต่อจากนี้คือการถักทอและร้อยเรียงเรื่องราวภูมิปัญญาให้คงอยู่อย่างร่วมสมัยผ่านฝีมือของโอเล่ – คนสกลฯ รุ่นใหม่

โหยหายเมืองกรุงสู่การกลับบ้าน

สำหรับโอเล่ หลานชายคนเล็กของคุณยายขอ ความทรงจำเหล่านั้นชัดเจนอยู่ในใจเสมอ ตั้งแต่ยังเด็กเขามักจะติดตามคุณยายไปทุกที่ ไม่ว่าจะไปวัด ไปเก็บใบหม่อน ไปทอผ้าไหม ไปย้อมผ้าคราม ก็ติดสอยห้อยตามคุณยายไปด้วย ความรักและความผูกพันระหว่างโอเล่กับคุณยายทำให้เขาซึมซับวิถีชีวิตและความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า ย้อมผ้า และภูมิปัญญางานหัตถกรรมมามากกว่าหลานคนอื่น ๆ

เมื่อคุณยายขอจากไป ภาพความทรงจำเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะหายไปชั่วขณะ

เขาเลือกเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปตามหาความฝัน หลังเรียนจบจากวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เขาทำงานในโรงงานไก่ที่สมุทรปราการ 3 เดือน ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามที่คิด จึงตัดสินใจกลับสกลนครเพื่อพักผ่อน เนื่องจากเบื่อหน่ายชีวิตในกรุงเทพฯ ที่วุ่นวายและรถติด

โอเล่พบว่าสหกรณ์โคนมในบ้านเกิดกำลังรับสมัครงานตำแหน่งการตลาด จึงตัดสินใจสมัครและทำงานอยู่ 4 ปี และมีโอกาสไปขายนมกล่องในงาน OTOP ที่กรุงเทพฯ เขาพบคนในจังหวัดสกลนครที่มีชื่อเสียงด้านผ้าย้อมคราม เมื่อได้เห็นดังนั้นก็ทำให้นึกถึงสมัยเด็กที่คุณยายเคยย้อมและทอผ้า

“บ้านเรายังมีใครทำได้อยู่ไหม” ความทรงจำวัยเด็กที่เขาซึมซับจากคุณยายกลับมาอีกครั้ง

โอเล่กลับไปถามคุณแม่ และทราบว่ามีคุณยายเพียงคนเดียวในหมู่บ้านที่ยังทำผ้าย้อมครามอยู่ จึงเริ่มไปศึกษาทักษะต่าง ๆ และเก็บผ้าที่ท่านทอไปขายเอาไว้กับตัว แม้ตอนนี้คุณยายเสียชีวิตไป 2 ปีแล้ว แต่ลมหายใจของภูมิปัญญาดั้งเดิมยังคงอยู่ ผ่านการสืบสานและต่อยอดของลูกหลานสกลฯ คนนี้

ความบังเอิญที่มีความหมาย

หลังตัดสินใจลาออกจากสหกรณ์โคนม โอเล่ก็รับจ้างย้อมครามให้แบรนด์เสื้อผ้าเด็ก บังเอิญว่า หลังจากย้อมผ้าเสร็จ ดันเห็นว่ามีข้าวเหนียวติดเสื้อ เลยทำให้เสื้อเด็กตัวน้อย ๆ เป็นรอยเมล็ดข้าว

เขาปิ๊งไอเดียว่าเมล็ดข้าวก็ใช้กั้นสีได้นี่นา เขาทดลองและศึกษาวิธีสร้างลวดลายจากเมล็ดข้าวอย่างจริงจัง จนกลายเป็นเทคนิคเฉพาะของแบรนด์ขอ ซึ่งที่มาที่ไปสุดบังเอิญนี้เปี่ยมด้วยความมานะอุตสาหะของโอเล่ เพราะกว่าจะลงตัวก็ใช้เวลาแรมปี เทคนิคกั้นสีด้วยข้าว มีส่วนผสมของข้าว 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว และข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวแต่ละชนิดเอื้อประโยชน์ต่อลวดลายผ้าทั้งสิ้น เช่น ข้าวเจ้าช่วยให้ลายคมชัด ส่วนข้าวเหนียวให้ความเหนียวเหมาะกับการสร้างลวดลาย และยังมีส่วนผสมอื่น ๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อย เมื่อผสมรวมกันแล้วจะได้เนื้อครีมข้นหนืดสีเขียวคล้ำ สำหรับปาดลงบนเนื้อผ้า

โอเล่เสริมว่า ข้อดีของการใช้ข้าวกั้นสี คือเนื้อครีมจะแนบสนิทกับเนื้อผ้า เมื่อล้างออกทำให้ได้ลวดลายสวยงาม ต่างกับการพิมพ์ด้วยเทียน ที่เนื้อผ้าจะแข็ง ๆ และอาจทำให้ลวดลายแตกได้

เริ่มแรกเขาทำลวดลายธรรมชาติใกล้ตัวอย่างนกหรือดอกไม้ แต่ก็ยังไม่เข้าท่าดั่งใจปรารถนา จึงปรับปรุงเรื่อยมา จนเกิดความท้อถอยและต้องหยุดทำงานทุกอย่าง แต่ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป 

โอเล่เจอกับพี่คนหนึ่งที่ทำงานคราฟต์ในศรีสะเกษ เธอส่งกำลังใจจนกลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้ง เจ้าของแบรนด์ขอย้อนเล่าถึงผ้าผืนแรกให้เราฟังว่า เขาเอาผ้าไหมมาปูบนพื้นไม้กระดานที่ชั้น 2 ของบ้าน การทำงานเป็นไปอย่างทุลักทุเล เพราะพื้นไม้เก่า มีซี่ร่อง ชิ้นงานไม่เรียบสวย ต้องใช้หมุดตอกริมผ้าให้ตึง แล้วลงมือสร้างงานฝีมือในบ้านไม้หลังเล็ก ๆ เมื่อเสร็จกระบวนการย้อม เขาถึงกับทึ่งในผลลัพธ์ที่ได้

“สวย!” คำชมสั้น ๆ ของพี่ท่านนั้นที่ศรีสะเกษทำให้เขาตื่นเต้นและมั่นใจมากขึ้น

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โอเล่เริ่มพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานมาเรื่อย ๆ  จากทำเพียงแค่ 2 สี คือสีครามและสีมะเกลือ (ตามฤดู) แต่เขาไม่หยุดแค่ตรงนั้น เขาท้าทายตัวเองด้วยการลองทำสีใหม่ ๆ เช่น สีเพกา สีประดู่ และอีกมากมายเท่าที่จะหาและทำได้ เพราะเขาสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นคนชอบทดลอง ไม่ชอบความจำเจน่าเบื่อ จึงไม่หยุดเรียนรู้และค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้กับงาน

การสร้างลวดลายบนผ้าก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โอเล่ทดลองฉลุแม่พิมพ์จากแผ่นพลาสติก แต่ก็ยังไม่ถูกใจ เพราะพอใช้ไปสักพัก ความแหลมคมของแผ่นฉลุก็ค่อย ๆ งอ ลวดลายที่ได้จึงไม่สมบูรณ์

โอเล่จึงศึกษาหาข้อมูลเพิ่ม จนพบกระดาษชนิดหนึ่งซึ่งนำเข้าจากญี่ปุ่น ชื่อว่า ‘Katagami’ เป็นกระดาษเคลือบด้วยน้ำลูกพลับ คงทนคล้ายพลาสติก กันน้ำ และง่ายต่อการฉลุ ส่วนลวดลาย เขาได้แรงบันดาลใจจากลวดลายไทย ๆ และลายมงคลของจีน เช่น เครื่องลายคราม เหรียญจีน บางทีก็เป็นลายพญานาค สิงห์ และลายจากสัตว์หิมพานต์ เมื่อแกะฉลุลายลงบนกระดาษ ก็ปาดเนื้อครีมข้าวกั้นสีลงบนผืนผ้าไหม จากนั้นนำไปย้อมสีธรรมชาติ แล้วทำความสะอาดด้วยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านผ้า

‘ผ้าอักกะ’ เป็นคำที่เขาคิดขึ้นมาเอง แปลว่า ‘แสงอาทิตย์’ สะท้อนถึงกระบวนการผลิตที่ต้องพึ่งพาแสงอาทิตย์เป็นหลัก เริ่มจากทำให้ลายแห้งไปจนถึงย้อมสีธรรมชาติ การใช้คำนี้แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์และการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ อันเป็นหัวใจของงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์และมีคุณค่า

สินค้าของแบรนด์ขอมีหลากหลาย เช่น ผ้าซิ่น ผ้านุ่ง ผ้าคลุมไหล่ ย่าม และเสื้อยืด แต่สิ่งที่ได้รับความนิยมจนทำไม่ทัน คือ ‘ย่าม’ สุดน่ารัก ทำย่ามไม่ใช่เรื่องง่าย กระบวนการซับซ้อนและต้องใช้เวลามาก  และผ้าที่ใช้ทำย่ามก็เป็นผ้าส่วนที่เหลือจากม้วนผ้า (เพราะเขาเห็นคุณค่า จึงอยากให้ผ้าทุกชิ้นใช้ประโยชน์ได้คุ้มที่สุด) แต่เพราะความยุ่งยากของกระบวนการ และช่างฝีมือหลายคนต้องไปทำนา-ทำไร่ ทำให้งานล่าช้า แต่โอเล่ไม่ได้มองว่านั่นคือปัญหา กลับกัน นั่นเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ต้องดำเนินไป

และความพิเศษของย่ามใบน้อย คือเทคนิคแส่วมือ เป็นการเย็บมือแบบอีสาน ลายคล้ายตะขาบ เป็นเทคนิคที่โอเล่ไปเรียนรู้จากพี่ที่ศรีสะเกษ ซึ่งผ้าทุกผืนของแบรนด์ขอเป็นการแส่วมือทั้งหมด

“สวยดีนะ มันยิ่งเพิ่มมูลค่าของสินค้าเข้าไปอีก” เหตุผลเรียบง่ายของโอเล่ทำเราประทับใจ

ถึงแม้ว่ากระบวนการผลิตของโอเล่ยังคงใช้วิธีดั้งเดิม แต่การออกแบบกลับมีความทันสมัย สะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างความเป็นไทยแบบดั้งเดิม และความร่วมสมัยที่สอดคล้องกับปัจจุบัน

เห็นได้ว่าทุกชิ้นงานที่ผลิตออกมาไม่เพียงเป็นสินค้าคุณภาพ แต่ยังเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตและความรู้สึกที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของคนในชุมชน การเดินทางครั้งนี้ของโอเล่ไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัญหามากมายเข้ามาท้าทาย เขาทดลอง ปรับปรุง และไม่หยุดเรียนรู้ในทุก ๆ ก้าวของการทำงาน ทำให้ผ้าไหมย้อมครามของโอเล่กลายเป็นศิลปะ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นและความพยายามของเขากับชุมชนอย่างแท้จริง

หวนวิถีชีวิตชุมชนงานฝีมือกลับมาอีกครั้ง

“มันดูเรียบง่ายและมีความสุข ทำไปคุยกันไป ดูอบอุ่นดีนะครับ” เขาพูดถึงอดีตพลางอมยิ้ม

ในอดีต คนในหมู่บ้านจะมารวมตัวกัน ทอผ้าและทำจักสานในเวลาว่างหลังจากการทำนา เสียงกระสวยที่เคลื่อนไหวผ่านฟืมสะท้อนความขยันและมุ่งมั่นของชาวบ้าน แต่วิถีชีวิตแบบนี้เริ่มหายไปแล้ว ส่งผลให้คนรุ่นใหม่แทบไม่มีความรู้หรือความสนใจในงานหัตถกรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษอีกเลย

การสูญเสียส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง การสืบทอดงานฝีมือเหล่านี้เป็นเสมือนการเก็บรักษาเสน่ห์และความงดงามของวิถีชีวิต สำหรับโอเล่ เขามองว่าการทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาเห็นคุณค่าของหัตถกรรมถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกันเขาก็เชื่อว่าเราบังคับหรือเปลี่ยนจิตใจใครไม่ได้ หากคนรุ่นใหม่สนใจหรือหลงใหลจริง ๆ นั่นถึงจะเกิดการพัฒนาต่อยอด

หน้าที่ของเขาในวันนี้ คือนำเสนอผ้าไทยให้น่าสนใจและเข้ากับยุคสมัย ถ้าทำสำเร็จ จนคนรุ่นใหม่ชื่นชอบ และอยากอนุรักษ์งานฝีมือด้วยใจรักอย่างแท้จริง นั่นก็เท่ากับว่าความตั้งใจของเขาสัมฤทธิ์ผล

ก่อนจบบทสนทนา เราถามโอเล่สั้น ๆ ว่า การทำแบรนด์ขอมีความหมายยังไงกับเขา

“แบรนด์ขอมีคุณค่าและความหมายกับผมมาก เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างครับ จุดเริ่มต้นของอาชีพ จุดเริ่มต้นของกำลังใจในการทำงาน จุดเริ่มต้นของความคิดริเริ่มต่าง ๆ และใช่ครับ เป็นแรงผลักดันให้ผมอยากทำงาน อยากคิดและทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้คนรู้จักแบรนด์ขอของผมมากขึ้น 

“ยิ่งเวลาผมเห็นลูกค้านุ่งผ้าของแบรนด์ขอแล้วมีความสุข ผมก็มีความสุขตามไปด้วย”

จดหมายถึงคุณยาย

ถึง

ยายขอ

ผมยังคิดถึงยายเสมอ ผ้าซิ่นสมัยยายนุ่งตอนมีชีวิต หลานเอามาบูชาเก็บไว้ทุกผืน

หลานคนนี้ทำผ้าย้อมคราม ก่อหม้อครามได้แล้วนะ ทำผ้าไหมขายได้เป็นหมื่นเลยนะยาย 

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากยายทำให้ครอบครัวเรามีทุกอย่าง ผมมีเงินมาดูแลครอบครัว มีอาชีพที่ผมรู้สึกภูมิใจมาก ๆ และทุกวันนี้ หลานกล้าบอกกับทุกคนว่า หลานเป็นเจ้าของกิจการ หลานขายผ้าไหม

หลานอยากให้ยายเห็นจัง ว่าหลานคนนี้ทำได้ 

ด้วยรักและคิดถึง
โอเล่

Writer

ปณิตา เตชะรุ่งเรือง

ปณิตา เตชะรุ่งเรือง

คิดว่าไม่ได้ชอบอ่านหนังสือ แต่เสียเชิงอาจารย์ท่านหนึ่งที่กล่าวว่า “นักศึกษาอย่าหยุดเขียนงานนะคะ”

Photographer

Avatar

จิราภรณ์ ล้อมหามงคล

ช่างภาพฟรีแลนซ์ตัวไม่เล็กจากแดนอีสาน ผู้ชื่นชอบในประวัติศาสตร์