30 มกราคม 2019
16 K

Haute Couture ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า เครื่องแต่งกายชั้นสูง

บ้านหลังเล็กประตูสีน้ำเงินสุดตรอกเขียนนิวาสน์ มีสตูดิโอปักผ้าไทยที่เลอค่าจนอยากมอบฐานะ  Haute Couture Master แห่งเมืองไทยให้

ผู้ที่ออกมาต้อนรับเราพร้อมแมวจำนวนโหลครึ่งคือ แม่เปี๊ยก-สมคิด หลาวทอง ช่างปักและตัดชุดโขนมือเก่าแก่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ แกเป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลัง ‘โขนสมเด็จฯ’ หรือการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่จัดทุกปีเพื่อให้คนได้มีโอกาสลิ้มรสความงดงามของโขน

ในบ้านมีผ้าตัดชุดโขนพับอยู่ในกล่องซ้อนกันหลายชั้น บนกล่องบางกล่องมีหัวโขนวางอยู่ และตามฝาผนังก็มีรูปของคนในครอบครัวที่แสดงโขนตามงานต่างๆ แปะอยู่ทั่วบริเวณ

ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง

เมื่อคิดว่า นี่คือที่ที่ทำให้ชุดโขนเปล่งประกายภายใต้แสงไฟของโรงละคร ก็ตื่นเต้นขึ้นมา

แม่เปี๊ยกนั่งลงที่ตั่ง กดเปิดพัดลม เธอเป็นผู้หญิงสูงอายุตัวเล็กๆ ที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย รอบตัวมีข้าวของไม่กี่อย่าง หัวเราะเสียงดัง และไม่ชวนให้นึกถึงเลยว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชุดโขนที่ระยับแวววาวเหล่านั้น

แต่เรื่องราวของเธอ ทำให้เราเชื่อว่า นี่คือปรมาจารย์ตัวจริง

ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง

วัยเด็กที่ผูกพันกับโขน

ชีวิตของแม่เปี๊ยกเหมือนถูกกำหนดให้ต้องรับหน้าที่นี้

การเติบโตมาในบ้านที่ทุกคนทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตั้งแต่ลุงที่อยู่ในกองโบราณคดี พ่อที่ทำงานแผนกนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ทำให้แม่เปี๊ยกและพี่น้องใช้ชีวิตวัยเด็กในโรงละคร และได้มีโอกาสดูโขนตั้งแต่เล็กๆ

“เวลามีโขนกลางแปลงเขาก็อุ้มเราไปดูด้วย เราก็ไม่ได้ดูเท่าไรหรอก ยังเด็กอยู่ หรือสมัยที่โรงละครเก่ายังไม่ไฟไหม้ เราก็ใช้ชีวิตอยู่ในนั้น วิ่งขึ้นวิ่งลงไปมาในโรง” แม่เปี๊ยกในอายุ 80 เล่าย้อนกลับไปถึงครั้งตัวเองยังเยาว์ ตอนที่กรมศิลปากรยังอายุน้อยๆ และโรงละครหลักสำหรับการแสดงโขนยังเป็นโรงละคอนศิลปากร ก่อนจะเกิดเพลิงไหม้ในปี 2503

เธอใช้ชีวิตผูกพันกับโขนมาตลอด จนไม่อาจเข้าใจได้ว่าทำไมจะต้องไม่รักศิลปะชนิดนี้

ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง

ตลอดชีวิตในวงการ

เมื่อมาถึงวัยที่เริ่มเรียนรู้ได้ ที่บ้านก็ส่งต่อความรู้ด้านศิลปะไทยให้ลูกแต่ละคน ทำให้พี่ชายได้โอกาสเล่นโขนเป็นตัวพระ น้องชายได้เล่นเป็นตัวยักษ์ ส่วนแม่เปี๊ยก แม้จะฝึกงานเบื้องหน้าด้วย แต่งานแบบที่แม่ชอบอยู่เบื้องหลังมากกว่า

“แม่ชอบงานฝีมือทุกอย่าง งานถัก งานปัก งานอะไร แม้แต่การทำกับข้าวก็ชอบ” แม่เปี๊ยกบอกด้วยรอยยิ้ม

เราถามแม่ถึงครั้งแรกที่เริ่มปักชุดโขน แม่นิ่งคิดสักพัก ก่อนส่ายหัวว่าตนจำไม่ได้แล้ว เพราะกว่าจะได้เป็นนักปักชุดโขน จะต้องเริ่มจากการฝึกฝีมือบนผ้าผืนเล็กๆ และลวดลายที่เรียบง่ายกว่าก่อน แล้วจึงพัฒนามาเรื่อยๆ จนได้รับผิดชอบชุดโขนทั้งชุดในที่สุด

ชุดโขนของกรมศิลปากรได้มาจากการจ้างช่างทำชุดโขนสำนักต่างๆ โดยกรมจะเลือกจ้างคนที่กรมไว้ใจ แม่เปี๊ยกเล่าให้เราฟังอย่างรู้ดี เพราะเธอเองก็ทำงานอยู่ในกรมตั้งแต่ พ.ศ. 2505 โดยรับหน้าที่ทั้งจัดเครื่องโขน เตรียมการแสดง และช่วยเป็นกองหนุนให้งานแสดงโขนของกรม

ตลอดชีวิตในกรมศิลปากร แม่ไม่เคยห่างจากโขน

เมื่อถึงยามเกษียณ แต่ยังไม่อาจทิ้งโอกาสรับใช้ศิลปะชั้นสูงนี้ไปเฉยๆ ได้ แม่เลยผันตัวไปเป็นช่างรับจ้างปักและตัดชุดโขนให้กรมศิลปากร และทำงานที่ตัวเองถนัดที่สุด

นั่นคือการปักผ้า

ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง

เคล็ดลับที่ทำให้โขนเปล่งประกาย

กระบวนการทำลวดลายชุดโขนนั้นซับซ้อน

ก่อนจะปัก ผ้าต้องผ่านการลอกลาย กรมศิลปากรมีออร์เดอร์มาว่าให้ทำชุดของตัวละครไหน แม่ก็เลือกลายตามตัวละครนั้น เช่น ตัวยักษ์ก็เป็นลายหน้ายักษ์ ตัวลิงก็เป็นลายกลมๆ เป็นต้น ลวดลายเหล่านี้ได้ เอ๋-ธนะชัย รุ่งแจ้งศรี หลานแม่เปี๊ยก คอยเป็นกำลังเสริมช่วยลอกให้

เมื่อลอกลายเสร็จแล้วจึงนำผ้าไปขึงขึ้นสะดึงเพื่อปัก โดยถ้าไม่ปักลายหนุนก็ปักลายเลื่อม

ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง

ถ้าเป็นลายหนุนจะเริ่มต้นจากการปักดิ้นข้อเพื่อตัดเส้นลวดลาย ก่อนจะปักเชือกหนุนลายให้นูนขึ้นมา โดยเชือกก็ต้องผ่านการรูดกาวและตากแดดเพื่อให้เหนียวด้วย เมื่อได้ลวดลายเป็นนูนๆ แล้วจึงค่อยถมให้เกิดความระยิบระยับด้วยการปักดิ้นโปร่ง ดิ้นลักษณะคล้ายสปริงที่ต้องตัดให้เป็นชิ้นสั้นๆ พอดีช่อง แล้วร้อยใส่ด้ายเพื่อปักทับคลุมชั้นเชือกไว้

ส่วนอีกแบบหนึ่งคือลายเลื่อม จะเริ่มด้วยการปักเลื่อมหรือแผ่นบางกลมขนาดเล็กลงไปรองเป็นพื้นแทนเชือกหนุนก่อนปักดิ้นโปร่ง เทคนิคนี้จะใช้ปักลำตัวของชุดลิงเป็นหลัก

ไม่ว่าจะแบบหนุนหรือแบบเลื่อม ก็ต้องปักซ้ำ 2 ครั้งเหมือนกัน

ยังไม่นับว่าผ้าแต่ละส่วนของชุดจะต้องปักต่างแบบกันอีกนะ

กระบวนการทำชุดโขนที่บ้านหลังนี้ไม่ได้จบแค่ที่การปักชุดโขน แม่เปี๊ยกยังรับหน้าที่ตัดเย็บผ้าจนออกมาเป็นชุดพร้อมใส่ด้วย แต่ขั้นตอนที่ใช้ทั้งเวลาและความสามารถที่สุด ก็คือขั้นตอนการปักลวดลายนี่เอง

ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง

รอยปักระดับครู

แม่นั่งลงที่สะดึง แล้วลงมือปักลวดลายบนชุดหนุมานให้ดู

ความเชี่ยวชาญระดับแม่เปี๊ยกคือการเงยหน้าขึ้นมาคุยกับเรา พร้อมขยับมือทำไปด้วย โดยงานไม่สะดุดแม้แต่น้อย และลายปักที่ออกมาก็ได้คุณภาพตามมาตรฐานด้วย

จุดวัดความสามารถในการปักชุดโขนคือการเรียงตัวของดิ้นโปร่งที่ต้องสวยเนี้ยบ เวลาดูไกลก็ระยิบระยับ เวลาดูใกล้ก็สวยงามเป็นระเบียบ ผู้ปักต้องค่อยๆ ตัดดิ้นโปร่งให้พอดีกับช่องที่จะปัก แล้วปักทีละเส้น ทีละเส้นให้แน่นเต็มช่อง

“หาวัสดุน่ะไม่ยาก แต่พอมีวัสดุเครื่องมือแล้ว จะเอามาทำได้สวยหรือเปล่าต่างหาก” แม่เปี๊ยกพูดถึงความสำคัญของการปักผ้าด้วยมือ “หลายคนปักเร็ว ขอให้มันเสร็จ แต่ความละเอียดอ่อนมันไม่มี”

ความละเอียดอ่อนนี่เองที่เพิ่มเสน่ห์ลับๆ ให้กับโขน

ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง

แต่งองค์ทรงเครื่องโขน

เดี๋ยวนี้ยังดูโขนอยู่หรือไม่ เราถามแม่

แม่ตอบว่าไม่ได้ดูแล้ว โดยเฉพาะโขนสมเด็จฯ ที่เวลาจัดแสดงทีไรแม่ต้องไปขลุกทำงานอยู่แต่ในห้องเครื่องหรือห้องจัดเสื้อผ้าโขนทุกที

ปรมาจารย์ระดับแม่เปี๊ยกหมายความว่างานไม่ได้จบแค่ที่การปักหรือตัดเย็บชุดโขน แต่รวมไปถึงการแต่งองค์ทรงเครื่องให้นักแสดงแต่ละคนก่อนขึ้นแสดงด้วย

การแต่งชุดโขนมีรายละเอียดมากมาย แต่ละชุดต้องแต่งตัวแตกต่างกันไป หากทำไม่เป็น อาจใช้เวลาจัดการแค่เรื่องแต่งตัวได้นานเป็นชั่วโมง ส่วนแม่ใช้เวลานุ่งแค่ 15 นาทีต่อตัวก็เสร็จแล้ว

จะยังหาคนที่เชี่ยวชาญจนทำงานได้รวดเร็วขนาดนี้ได้อีกสักกี่คน

ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว

แม้วงการชุดโขนจะยังมีช่างซ่อนอยู่อีกหลายสำนัก แต่สิ่งที่ทำให้แม่โดดเด่นและน่านับถือ คือความใจดีที่เปิดให้วิชาฟรีๆ ทั้งที่น่าจะหาเงินเข้าตัวได้อีกมากมาย

ในตรอกเขียนนิวาสน์ นอกจากแม่แล้ว ก็มี แม่โต่ง-วรรณา นิ่มประเสริฐ และ แม่ต้อย-วิลาภ ช่วงจันทร์ ที่มาช่วยปักเป็นครั้งคราว และยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ แวะเวียนกันมาเพื่อเรียนวิชา ด้วยความหวังว่าจะสืบทอดศาสตร์การปักผ้าต่อไป แม้คนเหล่านี้ยังต้องฝึกอีกมากกว่าจะเก่งอย่างแม่ แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ชุดโขน, เปี๊ยก สมคิด หลาวทอง

“แม่สอนหมด ใครอยากเรียนมาเลย เราตายเราก็เอาติดตัวไปไม่ได้ เราก็ถ่ายทอดให้คนอื่นเขา” แม่เปี๊ยกพูด น้ำเสียงแสดงถึงความเชื่อมั่น

แม่ไม่ได้คิดว่าเป็นวิชาของตัวเอง แต่เป็นของชาติ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องมีคนสืบต่อไป

การปักผ้าอันระยิบระยับเปลี่ยนผ้าผืนธรรมดาให้กลายเป็นเครื่องแต่งกายชั้นสูง ยิ่งเมื่อผนวกกับท่วงท่ารำและแสงสีเสียงบนเวที ก็ขับเน้นคุณค่าของชุดโขนจนสู้กับชุด Haute Couture บนรันเวย์ได้อย่างสูสี

หวังว่า Haute Couture แบบไทยๆ นี้จะอยู่ต่อจากแม่เปี๊ยกไปอีกหลายรุ่น

ถ้าอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรมชั้นสูงนี้ เข้าไปเรียนได้กับแม่ได้เลยฟรีๆ ที่สุดซอยเขียนนิวาสน์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ หรือโทรไปบอกแม่ก่อนได้ที่ 081-889-2524

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ