ชุมชนแออัดคลองเตยตั้งอยู่บนที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ มีชุมชนแออัดอยู่ถึง 26 ชุมชน และมีผู้อยู่อาศัยอยู่มากกว่า 60,000 คนหรือราว 12,000 ครัวเรือน นั่นทำให้คลองเตยเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจุบัน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพจำของชุมชนแออัดคลองเตยที่มีมาอย่างยาวนาน คือการเป็นแหล่งรวมปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องเยาวชน ยาเสพติด และการเป็นแหล่งซ่อมสุมในทางที่ไม่ดีนัก ทำให้คนภายนอกมักตัดสินด้วยสายตาที่มองมาจากที่ไกลๆ ว่าที่นี่ไร้ซึ่งหนทางพัฒนา

ทว่าแท้จริงแล้ว ตลอดหลายปีที่ผ่านมากล้าต้นเล็กแห่งความหวังค่อยๆ เติบโตขึ้นที่ใจกลางชุมชนแออัดแห่งนี้

เมื่อปีที่แล้วเรามีโอกาสได้ไปคอนเสิร์ตเล็กๆ งานหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นในโรงฆ่าสัตว์เก่ากลางชุมชนโรงหมู หนึ่งใน 26 ชุมชนแออัดคลองเตย งานนี้มีชื่อว่า คลองเตยดีจัง จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีติดต่อกันมากว่า 5 ปีแล้ว ไลน์อัพศิลปินมีทั้งวงดนตรีมีชื่อเสียงที่อาสามามอบเสียงเพลงให้แบบฟรีๆ ไม่มีค่าตัว และวงสมัครเล่นของเด็กๆ ในชุมชนที่ซุ่มฝึกซ้อมกันอย่างแข็งขันมาตลอดทั้งปี

คลองเตยดีจัง คลองเตยดีจัง

เมื่อเดินตามเสียงดนตรีไปตามตรอกซอยซอย เราก็พบว่างานคลองเตยดีจังมีลักษณะคล้าย Open House ที่ชวนคนนอกเข้ามาเยี่ยมคนในชุมชน พร้อมชมงานศิลปะและการแสดงดนตรีจากเยาวชนในชุมชน

งานเล็ก เรียบง่าย และสนุกมาก เพราะคลองเตยดีจังจัดโดยเด็กๆ เราจึงได้เห็นมุมมองซนๆ แต่สร้างสรรค์กระจัดกระจายอยู่ตามมุมนั้นมุมมนี้ของงานเต็มไปหมด ความประทับใจหลังกลับจากงานในวันนั้น ทำให้เราตั้งใจว่าจะต้องชวนคนไปงานคลองเตยดีจังในครั้งหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ไม่นานหลังจากนั้นเราก็ได้พบกับ พี่แอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ก่อตั้ง ‘Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาที่ทำงานพัฒนาสังคมในพื้นที่คลองเตยมากว่า 7 ปี และเป็นผู้ผลักดันให้งานคลองเตยดีจังเกิดขึ้น บทสนทนากับพี่แอ๋มทำให้เราได้รู้ว่าดนตรีทำให้เด็กๆ ในชุมชนแออัดมีอนาคตที่กว้างไกลขึ้น เพราะเขาได้เห็นและเรียนรู้ว่าชีวิตมีเส้นทางมากมายให้เดินได้โดยไม่เป็นปัญหาของสังคม

ดนตรี ทำให้โรงฆ่าสัตว์เก่า พื้นที่รกร้างเสื่อมโทรม แหล่งซ่องสุมของผู้ติดยาเสพติด กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และเรียนรู้ให้กับชุมชม

ดนตรี ทำให้คนในชุมชนแออัดอยากร่วมกันพัฒนาบ้านของเขาให้ดีขึ้น สะอาดขึ้น น่าอยู่ขึ้น เพราะไม่อยากให้คนภายนอกมองเข้ามาแล้วเห็นแค่ปัญหาอย่างที่ผ่านๆ มา

และเหนือสิ่งอื่นใด ‘ดนตรี’ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะในซอกมุมที่เล็กที่สุดของสังคมก็ตาม

คลองเตยดีจัง

ทำไมต้อง ‘ดนตรี’

ดนตรีเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงเด็กและวัยรุ่นได้ง่าย ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะชีวิตในหลายด้านถ้าเขามีเวลาอยู่กับมันมากพอ

คลองเตยมีปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนหลายๆ อย่างที่เราได้ยินข่าวกัน ทั้งปัญหายาเสพติด ทะเลาะวิวาท จากการทำงานในชุมชนมาหลายปี ทำให้เราเห็นเลยว่าดนตรีเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาเด็กในพื้นที่ได้จริงๆ

เมื่อเด็กมีกลุ่มเพื่อนที่สนใจอะไรคล้ายๆ กัน อย่างดนตรีหรือศิลปะ งานอดิเรกพวกนี้แหละที่จะเป็นตัวดึงความสนใจให้เขาออกห่างจากสิ่งไม่ดีพวกนั้น

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า Music Sharing เกิดขึ้นได้ยังไง

Music Sharing คือกลุ่มคนที่อาสาไปเป็นครูสอนดนตรีให้เด็กๆ ที่ไม่มีหรืออาจจะมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น เพราะเราคิดว่าเด็กจำนวนไม่น้อยในสังคมอยากเรียนดนตรี แต่ครอบครัวไม่มีเงินมากพอที่จะส่งเสีย หรือบางครอบครัวอาจก็ไม่สนับสนุนในจุดนี้

อย่างเราเองก็ชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แต่ครอบครัวไม่คิดว่าการเรียนดนตรี จะช่วยให้เรามีชีวิตรอดในเรื่องการเลี้ยงชีพได้ เราเลยอาศัยฝึกฝน เรียนเอง หัดเล่นเองมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้เล่นเก่งอะไรขนาดนั้นนะ (ยิ้ม)

ซึ่งจุดเริ่มต้นจริงๆ มันเล็กมาก เราแค่รับบริจาคเครื่องดนตรี เพื่อนำไปมอบให้พื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ชุนชนชาติพันธุ์บนดอยตามจังหวัดต่างๆ มาจนถึงชุมชนคลองเตย เพราะเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ราคาแพง หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น

คำว่า Music Sharing ที่ต่อมากลายเป็นชื่อกลุ่ม ก็มาจากเฮดไลน์บนโปสเตอร์ที่เราทำกันง่ายๆ เพื่อโพสกระจายข่าวรับบริจาคบนเฟซบุ๊ก ปรากฏว่ามีคนแชร์โปสเตอร์ออกไปเยอะมาก แชร์เป็นพัน ออกไปไกลจนเราตกใจ เพราะจริงๆ ตอนนั้นเราต้องการแค่เครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น หลังจากนั้นก็มีคนติดต่อเข้ามา โทรเข้ามาขอบริจาคเยอะแยะมากมายเลย

คลองเตยดีจัง

คนที่บริจาคส่วนใหญ่เป็นใครมาจากไหน แล้วเขาบริจาคอะไรกันบ้าง

เป็นใครก็ไม่รู้จากโซเชียลมีเดียทั้งนั้นเลย (ยิ้ม) คือโปสเตอร์มันถูกแชร์ออกไปไกลจนหลุดออกไปจากสังคมรอบตัว ตอนหลังเราเริ่มรับสมัครครูสอนดนตรีอาสา หลายคนก็สมัครมาเพราะเห็นโพสรับสมัครบนเฟซบุ๊กนี่แหละ

เป็นพลังของโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราทึ่งมาก เพราะเมื่อก่อนงานเชิงสังคม งานจิตอาสา พวกนี้มันเป็นงานเฉพาะกลุ่ม รู้กันแค่วงแคบๆ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าช่องทางในการพูดคุย แลกเปลี่ยนกันมันขยายขึ้นแบบไร้ขอบเขต

เครื่องดนตรีที่รับบริจาคมีตั้งแต่กีต้าร์ เบส กลอง คีร์บอร์ด ไปจนถึงเครื่องเล็กๆ อย่างอูคูเลเล่หรือเมโลเดี้ยน จริงๆ เรารับบริจาคเครื่องดนตรีแทบจะทุกประเภทอยู่แล้ว เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนที่ได้รับบริจาค ได้ทดลองเล่นเครื่องดนตรีแต่ละประเภท เพราะตอนแรกเด็กยังไม่รู้หรอกว่าเขาชอบอะไร หรือมีทักษะทางดนตรีที่ดีในด้านไหน

คุณนำเครื่องดนตรีที่ได้รับบริจาคมา ไปต่อยอดเป็นการพัฒนาเด็กในชุมชนแออัดยังไง

เราเริ่มเข้าไปสอนดนตรีให้เด็กๆ ในชุมชนคลองเตยทุกวันเสาร์ พร้อมกับรับสมัครครูดนตรีอาสาไปด้วย จนถึงตอนนี้ก็สอนต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 แล้ว แต่เนื่องจากมันเป็นกิจกรรมแบบอาสาสมัคร แต่ละคนที่มาช่วยเขาก็จะไม่ได้อยู่นานมาก ส่วนใหญ่จะทยอยเข้าๆ ออกๆ โดยเราเป็นตัวยืนหลัก

เราเริ่มจัดคลองเตยดีจังครั้งที่ 1 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังเป็นงานเล็ก จัดกันง่ายๆ ภายในชุมชน เพราะอยากให้เด็กๆ ที่เรียนดนตรีมีเวทีแสดงผลงาน เขาจะได้กล้าแสดงออกและมีกำลังใจที่จะฝึกฝนต่อไป  

เราไม่ได้สอนแค่การใช้เครื่องดนตรี การอ่านโน้ต แต่เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสอนและสื่อสารกับเด็ก อาจเพราะเรามีพื้นฐานมาจากกลุ่ม ‘สลึง’ สมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้กระบวนการเพลงทำงานกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว มันเลยมีทั้งเรื่องดนตรีและการพัฒนาสังคมผสมผสานอยู่ด้วยกัน

เมื่อกิจกรรมอาสาสมัครมันใหญ่ขึ้น เราจึงเริ่มขอทุนจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และขยายเรื่องกระบวนการดนตรีในการพัฒนาเด็กออกไปอีกหลายพื้นที่ จากเด็กในชุมชนแออัดคลองเตย สู่เด็กไร้สัญชาติ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีฐานะค่อนข้างยากจน

จนทุกวันนี้ Music Sharing มีพื้นที่ในเครือข่ายอยู่ประมาณ 30 พื้นที่ สิ่งที่เราทำคือการนำเครื่องดนตรีที่ได้รับบริจาคไปให้ เวิร์กช็อปและสอนกระบวนการ รวมถึงให้ทุนสนับสนุนตามความเหมาะสม เพื่อให้แต่ละพื้นที่รันกระบวนการต่อไปได้

พื้นที่ต้นแบบที่เราทำงานหลักๆ ยังคงเป็นที่ชุมชนคลองเตย มีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งภาคประชาชนอย่างชุมชน ภาครัฐอย่างสำนักงานเขต และภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนเงินทุนให้

เราทำงานกับเด็กและเยาวชนที่นี่มา 7 ปี แล้วตอนนี้เราก็ให้เด็กที่เคยอยู่ในกระบวนการมาเป็นครูสอนรุ่นน้องในชุมชนของเขาต่อ

คลองเตยดีจัง คลองเตยดีจัง

โรงฆ่าสัตว์เก่ากลางชุมชนคลองเตยถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ศิลปะได้ยังไง

เมื่อก่อนเวลาเราไปทำกระบวนการดนตรีกับเด็กในชุมชน เราก็ไปขอใช้พื้นที่บ้านนู้น บ้านนี้ หลังๆ ก็เริ่มเริ่มเช่าห้องแถวเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดการสอน เวลาสอนเด็กเสร็จ เราพาเด็กเดินมาส่งตามบ้าน ก็จะได้ยินเสียงหมูร้องโอดโอยอยู่ตลอดเวลา

โรงฆ่าสัตว์แห่งนี้ใหญ่มาก พื้นที่ประมาณ 2 – 3 ไร่ มีตึกด้านในอยู่หลายตึก ต่อมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วถูกสั่งปิด เพราะเจ้าของติดหนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย และดำเนินการอย่างไม่ถูกสุขอนามัย

เมื่อถูกปิดกิจการไป มันก็กลายเป็นแหล่งมั่วสุม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกคนจรจัด คนที่ติดยาเสพติด เข้าไปอาศัยอยู่

กลายเป็นพื้นที่เปลี่ยวที่คนในชุมชนไม่กล้าเข้า แค่เด็กเดินเฉียดๆ เข้าไปผู้ปกครองก็จะรีบดึงเด็กออกมาเลย เพราะกลัวอันตราย

เราเลยเริ่มจากการนำศิลปะเข้าไปก่อน พาเด็กเข้าไปเรียนศิลปะในพื้นที่โรงหมูทุกเย็นวันอาทิตย์ จากนั้นจึงเกิดเป็นโครงการปรับปรุงพื้นที่โดยกลุ่มอาสาสมัคร เราก็ค่อยๆ ทำไปทีละเล็กทีละน้อย โดยมีภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาช่วยด้วยทั้งภาคเอกชนอย่าง Allianz Ayudhya และภาคสังคมอย่างกลุ่มจิตอาสาพลังแผ่นดิน  

คลองเตยดีจัง คลองเตยดีจัง

เราเริ่มพาศิลปินเข้าไปเพ้นท์ผนังตึก เพื่อให้บรรยากาศเป็นมิตรมากขึ้น รวมถึงสร้างสนามเด็กเล่นและซ่อมแซมพื้นที่บางส่วน ตอนนี้พื้นที่โรงหมูเลยไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะมีชาวบ้านเข้าไปใช้งานอยู่ตลอด กลายเป็น Community Space สำหรับชุมชน และถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานคลองเตยดีจังเมื่อปีที่แล้ว ที่เราได้ไปร่วมงานมานั่นเอง

คลองเตยดีจัง คลองเตยดีจัง

ตอนนี้มีกองทุนคลองเตยดีจังเกิดขึ้นด้วย เพื่อใช้เป็นทุนในการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ในชุมชน และนำมาบริหารจัดการค่าน้ำค่าไฟในพื้นที่โรงหมู โดยเงินจะมาจากการระดมทุนด้วยการเปิดหมวกเล่นดนตรีของเด็กๆ ในชุมชน ไปจนถึงการขายสินค้ามือสองของคนในชุมชนและการรับบริจาค

คลองเตยดีจัง คลองเตยดีจัง

งาน ‘คลองเตยดีจัง’ มีที่มาที่ไปยังไง

ปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว จากที่เมื่อก่อนเป็นงานเล็กๆ ใช้พื้นที่แค่สนามบาส ตอนนี้เป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะที่แทบจะเรียกได้ว่าปิดชุมชนจัดงาน คนมาร่วมงานเป็นพันคน ปกติจะจัด 2 ครั้งต่อปี คืองานใหญ่เดือนเมษายนและงานย่อยเดือนตุลาคม

คนจัดงานคือคนในชุมชน ไม่ใช่แค่เฉพาะเด็กๆ ที่เรียนดนตรีกับ Music Sharing แต่รวมถึงพ่อแม่พี่น้องที่มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ตอนแรกผู้ปกครองเขารู้สึกประหลาดใจมาก เพราะไม่คิดว่าเด็กๆ ในชุมชนจะทำได้ขนาดนี้ เขาไม่คิดว่าลูกหลานจะประสานงาน จัดการนั่นนี่ได้ เราก็ใช้วิธีคือให้เด็กทำงานประกบคู่กับเรา เราทำ เด็กทำ เป็นทีมเดียวกัน และมี Reflection กันตลอด

ทุกวันนี้ คลองเตยดีจังเลยกลายเป็นงานใหญ่ประจำคลองเตยไปเลย (ยิ้ม)

คุณสามารถทำให้เยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ๆ เคยเต็มไปด้วยปัญหาหันมาฟังคุณได้ยังไง

จริงๆ การสื่อสารกับเด็กมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เครื่องมืออะไร อย่าง Music Sharing เราใช้ดนตรี แต่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมืออะไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพึงมีไม่ต่างกันมีอยู่ 3 ข้อคือ

อย่างแรกคือ ความเคารพ ไม่ได้หมายความว่าให้เด็กเคารพเราอย่างเดียวนะ เราเองต้องเคารพเขาด้วย แม้ว่าเขาจะเคยเกเรมาก่อนก็ตาม เด็กที่เราเจอบางกลุ่มเป็นพวก Drop Off คือเด็กที่ออกมาจากระบบการศึกษา เพราะเขารู้สึกไม่ Fit in กับรูปแบบการศึกษาไปจนถึงสภาพสังคมในสถานศึกษา บางคนถูกครอบครัวกดดัน ดังนั้นถ้าจะทำความเข้าใจพวกเขา เราต้องเริ่มจากการเคารพในความแตกต่างของเขา

ต่อมาคือการให้อิสระอย่างมีขอบเขต ทุกคนมีอิสระในการเป็นตัวของตัวเอง ในการทำสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่ก็ต้องมีขอบเขต เช่น ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การตรงต่อเวลา การเคารพผู้อื่น ขอบเขตเหล่านั้นจะต้องเกิดจากการวางกติการ่วมกันระหว่างเราและเด็ก

และสุดท้ายคือสิ่งที่เรียกว่า Reflection หรือการสะท้อนความคิดเห็นผ่านการตั้งวงคุยกัน เมื่อเราทำกระบวนการใดไปแล้วก็ตาม เราจะไป Reflect ต่อเสมอว่าเด็กเขาคิดเห็นยังไง เป็นการส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าพูดสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาอย่างไม่ถูกตัดสินจากผู้ใหญ่

คลองเตยดีจัง คลองเตยดีจัง คลองเตยดีจัง

คุณอยู่กับเด็กๆ ในคลองเตยมานานกว่า 7 ปี คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

หลักๆ เราคิดว่าเขามีทักษะชีวิตที่มากขึ้น สามารถเอาตัวรอดได้ รอดในทีนี้คือรอดพ้นจากปัญหายาเสพติด การท้องก่อนวัย เรื่องทะเลาะวิวาท และอีกหลายๆ ปัญหาสังคม ตั้งแต่วันที่เราลาออกจากการเป็นพยาบาลวิชาชีพ เราตั้งปณิธานว่าอยากจะทำเรื่องการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเด็ก กระบวนการใดๆ ก็ตาม มันต้องมีอยู่นานพอที่จะวัดผลได้ว่ากระบวนการนั้นสร้างผลที่เปลี่ยนแปลงไปจริงไหม

ตั้งแต่สมัยเรียน เราเป็นเด็กค่าย ขึ้นค่ายอาสาตลอด ทำโปรเจกต์ค่ายพัฒนาเด็กปีละ 2 ครั้ง แม้จะมีความสุข รู้สึกอิ่มเอม แต่ก็รู้สึกว่ามันพิสูจน์อะไรไม่ได้เลย เพราะเราไม่ได้อยู่สร้างกระบวนการนานพอที่จะวัดผลได้ แต่ 7 ปีที่คลองเตย เราว่ามันนานพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เรานั้นมันสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ

เด็กมีภูมิต้านทาน มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น มีแรงบันดาลใจในการเติบโตและใช้ชีวิต เพราะเขาได้ออกไปเห็นอะไรที่มากกว่าโลกของตัวเองในชุมชนแออัดคลองเตย

พอโลกที่เขาเห็นมันกว้างขึ้น เขาก็จะเห็นว่าอนาคตที่ดีกว่ามันเป็นยังไง แม้ชีวิตและครอบครัวจะมีข้อจำกัดมากมายทั้งเรื่องการเงิน ฐานะเศรษฐกิจ ความรู้การศึกษา การที่เขาจะพาตัวเองให้ไปอยู่อีกระดับของสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็มีแรงบันดาลใจที่อยากจะสู้กับมัน

คลองเตยดีจัง

ภาพ : Music Sharing

ชวนทุกคนมาเล่นและเรียนรู้ในงาน คลองเตยดีจังปี 5 ตอน PLAY&LEARN

ชมการแสดงจากเยาวชนในคลองเตย วงดนตรีอาสา และศิลปิน อาทิเช่น YENA, Stoondio, Alyn, ละไมหรรษา, นนนท์และน้องแพร The Voice พร้อมชิมอาหารอร่อยๆ จากชุมชน

วันที่ 6-7 เมษายน 2562 เวลา 17.00 – 21.00 น. ณ ชุมชนโรงหมู สำนักงานเขตตลองเตย

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ คลองเตยดีจัง

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน