กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน้ำ

วิถีชีวิตชาวกรุงผูกพันกับสายน้ำมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะคลอง ซึ่งขุดลอกขึ้นเพื่อใช้ในการเกษตร ใช้ขนส่งผลผลิต ค้าขาย และใช้สัญจรเพื่อย่นระยะการเดินทาง จนได้ชื่อว่าเป็นเวนิสตะวันออก

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีคลองนับพันเส้น เมื่อเมืองพัฒนา คลอง หนึ่งในสาธารณูปโภคซึ่งใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพกลายเป็นที่ระบายน้ำเสียและรองรับน้ำฝน

ในวันที่โลกหมุนไปข้างหน้า การพลิกฟื้นคลองระบายน้ำให้กลับมาเป็นคลองระบบธรรมชาติ และใช้คลองช่วยให้พื้นที่มีชีวิต เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคน คลอง เมือง อย่างที่ควรจะเป็น บนความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จึงน่าสนใจมาก

ติดตามโปรเจกต์ที่กรุงเทพมหานคร ริเริ่มพัฒนาเมืองบนฐานความคิด ‘Regenerative Bangkok : ฟื้นเมืองเชื่อมย่าน สานอนาคต’ ซึ่งเน้นเรื่องการจัดการน้ำ โครงข่ายคลอง ถนน ทางเท้า พื้นที่สีเขียว โดยมี 5 โครงการนำร่อง ได้แก่ คลองผดุงกรุงเกษม ถนนพระราม 1 ถนนสีลม สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี และสวนลุมพินีกับสะพานเขียว มาหลักปี นี่เป็นอีกครั้งที่เราจะได้เห็นหนึ่งใน 5 โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างและเข้าไปใช้งานได้จริง

คลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองเส้นสําคัญตั้งแต่สมัย ร.4 ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกละเลย เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งาน เมื่อมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เกิดขึ้น ทำให้ที่ริมคลองแห่งนี้กำลังจะมีบทบาทใหม่ เป็นพื้นที่สาธารณะให้แก่เมืองและผู้คนได้กลับมาใช้อย่างเสรีเต็มที่

เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร คอลัมน์ Public Space ได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ริเริ่มแนวคิดฟื้นเมืองกรุงด้วย Blue-Green Infrastructure มาเล่าให้ฟังด้วยตัวเอง

คลองผดุงกรุงเกษม พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่ทำให้คนและคลองได้กลับมาใกล้ชิดกัน
ภาพ : กรุงเทพมหานคร

ต่อไปนี้คือเมืองที่กำลังจะมีสุขภาวะ (Healthy City) และมีความยืดหยุ่น (Urban Resilience) พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต

เชื่อมพื้นที่ เชื่อมประวัติศาสตร์

ในอดีต คลองผดุงกรุงเกษมขุดสร้างขึ้นเพื่อการขยายเมืองชั้นที่ 3 ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เชื่อมจากย่านค้าขายปากคลองเทเวศร์ หัวลำโพง ไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฟาก รวมถึงเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้า เกิดถนนเส้นสำคัญ กลายเป็นย่านเศรษฐกิจและการเมืองที่มีทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในตัวเอง เช่น นางเลิ้ง เยาวราช สี่พระยา

ปัจจุบันยังเป็นคลองกลางเมืองที่เชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ ได้ (การสัญจรทางรถ รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร) แต่พื้นที่รองรับการเดินเท้ากลับไม่เอื้อต่อการสัญจร อีกทั้งยังไม่มีทางจักรยานที่เอื้อต่อการสร้างโครงข่ายเส้นทางจักรยาน และยังคล้ายเป็นคลองที่ถูกลืม แม้ว่ามีชุมชนตลอดจนบริบทของพื้นที่ที่น่าสนใจ

“วิถีชีวิตของคนกับคลองผูกพันกันมาตั้งแต่อดีต ใช้สัญจร ติดต่อค้าขาย กรุงเทพฯ มีคลองอยู่ 1,682 คลอง เมื่อการเดินทางทางบกเจริญขึ้น ชีวิตคนกับน้ำก็เริ่มเลือนหายไป ผมอยากฟื้นวิถีชีวิตริมคลองขึ้นมา และช่วยระบายการจราจร รถติดปุ๊บ ลงเรือ ไปขึ้นรถไฟฟ้า ด้วยระบบ ล้อ-ราง-เรือ” ผู้ว่าฯ อัศวิน เกริ่นถึงแนวคิดของโครงการ

การจะพลิกฟื้นเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาได้จึงต้องปรับพื้นที่ใหม่ทั้งหมด คลองที่ยาวกว่า 5.5 เมตร แบ่งเป็น 6 โซน เพื่อดําเนินงานเป็นช่วง ๆ โดยอิงตามแนวถนนหลักสําคัญที่ตัดผ่านแนวคลอง และอิงกับย่านต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับคลองผดุงกรุงเกษม

ช่วงที่ 1 ย่านตลาดน้อย-เจริญกรุง ความยาวประมาณ 680 เมตร ช่วงที่ 2 ย่านหัวลําโพง 1,250 เมตร ช่วงที่ 3 ย่านโบ๊เบ๊ 650 เมตร ช่วงที่ 4 ย่านนางเลิ้ง 1,000 เมตร ช่วงที่ 5 ย่านสถานที่ราชการ 700 เมตร และช่วงที่ 6 ย่านเทเวศร์ ราว 700 เมตร

ช่วงแรกที่มีการปรับภูมิทัศน์นี้ เป็นช่วงที่ 2 ย่านหัวลำโพง จากสะพานเจริญสวัสดิ์ ถึงสะพานกษัตริย์ศึก และการมองคลองในหลายมิติ ทั้งการเป็นพื้นที่สาธารณะ ประวัติศาสตร์เชื่อมโยงเมือง แหล่งชุมชน และเชิงนิเวศวิทยาคลอง (Ecology) นี้เอง ทำให้เกิดแนวคิดพัฒนาและการจัดการพื้นที่เชิงกายภาพอย่างไร้รอยต่อ

คลองผดุงกรุงเกษม พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่ทำให้คนและคลองได้กลับมาใกล้ชิดกัน

พื้นที่สาธารณะเลียบคลอง

การฟื้นฟูพัฒนาเกิดขึ้นพร้อมกับการอนุรักษ์ ด้วยตัวพื้นที่มีสะพานต่าง ๆ ที่เป็นโบราณสถาน สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองจึงทำหนังสือถึงกรมศิลปากร เพื่อขออนุญาตปรับปรุงคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งกรมศิลปากรอนุญาตและแนะนำแนวทางว่า ควรปรับทางเท้าให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับทางจักรยานและการเดินที่ไม่เป็นอันตราย ทั้งนี้ต้องไม่ล้ำแนวสะพาน สำหรับการออกแบบภูมิทัศน์มี อาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกเป็นที่ปรึกษาโครงการ

คลองผดุงกรุงเกษม พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่ทำให้คนและคลองได้กลับมาใกล้ชิดกัน

“เมื่อไม่ได้ใช้งานนาน คลองผดุงกรุงเกษมก็ตื้นเขินขึ้น ดินเลน ดินโคลนนอนอยู่ก้นคลอง ถมขึ้นมาประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร การเดินทางของน้ำก็ไม่สะดวก นอกจากการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม จึงต้องลอกคลองใหม่ เพื่อให้ใช้สัญจรได้ ขณะเดียวกันที่นี่ก็เป็นทั้งแก้มลิงเก็บน้ำและระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ ซึ่งคลองมีระบบแยกน้ำดีและน้ำเสียชัดเจนอยู่แล้ว มีการวางท่อระบายน้ำลึกลงไปกว่าท้องคลองอีก 4 เมตร แยกน้ำเสียออกไปเพื่อผันไปสู่โรงบำบัดน้ำ แต่ที่ผ่านมามีเป็นบางที่ เราจึงจะวางระบบเพิ่มตั้งแต่หัวลำโพงถึงวัดเทวราชกุญชรฯ”

หลังเริ่มจากลอกคลอง ปรับคุณภาพ และแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โจทย์ใหญ่ต่อมาคือการสร้างพื้นที่สาธารณะควบคู่กับความเป็นคลอง สิ่งแรกที่ได้เห็นจึงเป็นการรื้อราวกันตก และย้ายแนวไม้พุ่มตกแต่งที่กั้นเดิมออก ซึ่งการทำเช่นนี้ช่วยขยายพื้นที่ทางเดินริมคลองได้มากสุดถึง 2 เมตร

หลายคนอาจกังวลว่าเมื่อไม่มีราวกันตก อาจก่อให้เกิดอันตราย สิ่งนี้ทั้งท่านผู้ว่าฯ และผู้ออกแบบ ให้เหตุผลว่า จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง คน-คลอง-ชีวิตริมตลิ่ง กลับมาใกล้ชิดเฉกเช่นในอดีต ลดความห่างเหินและความหวาดกลัวของผู้คนที่มีต่อน้ำ

“ราวกั้นจะแยกคนกับน้ำออกไปชัดเจน แต่วิถีชีวิตของมนุษย์กับน้ำผูกพันกันมาตลอด สมัยเด็กผมก็ว่ายน้ำในลำคลอง ทอดแห จับกุ้งได้หมด เราอยากฟื้นวิถีชีวิตตรงนี้ขึ้นมาควบคู่กับการพัฒนาสมัยใหม่ เลยเอาราวกันตกออกและปรับพื้นลงมาให้คนเข้าถึงน้ำได้ ซึ่งต่อไปก็ไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะเหม็น เพราะเราทำสะอาด ลงไปเดินเล่นริมน้ำได้ และไม่ต้องกลัวตก”

ขณะเดียวกันก็ใช้การออกแบบแนวขอบถนนสูง 10 เซนติเมตร และกว้างถึง 30 เซนติเมตร เพื่อเตือนและแบ่งแนวเขตการรับรู้ระหว่างพื้นกับคลอง มีสเต็ปบันไดลดหลั่นก่อนถึงพื้นที่ริมตลิ่ง รวมถึงใช้แนวกระบะไม้พุ่มวางริมคลองช่วยกั้นอีกทาง

คลองผดุงกรุงเกษม พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่ทำให้คนและคลองได้กลับมาใกล้ชิดกัน
คลองผดุงกรุงเกษม พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่ทำให้คนและคลองได้กลับมาใกล้ชิดกัน

การมีราวกันตกที่ทำให้เข้าไม่ถึงคลอง เรื่องนี้แหละที่บางทีเราอาจทำตกหล่นไปในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ เพราะเกิดจากการคิดโจทย์แล้วก็ตอบโจทย์อันเดียวนั้น อย่างเช่นเรื่องความปลอดภัย สำหรับบางพื้นที่เป็นเรื่องที่ดี แต่หลายพื้นที่ไม่ได้มองในมิติว่าคนจะอยู่อย่างไร จะใช้อย่างไร ประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นแบบไหน ซึ่งหากในอนาคตคุณภาพของน้ำดีขึ้นจนเราสัมผัสน้ำได้ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย หรือเกิดกิจกรรมตลาดน้ำก็ไม่ต้องมีราวมาขวางกั้น

คลองผดุงกรุงเกษม พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่ทำให้คนและคลองได้กลับมาใกล้ชิดกัน

ต่อมาเป็นการขยายทางเดินเท้าและลดการกีดขวางพื้นที่ เมื่อไม่มีราวกันตกกับจัดระเบียบสาธารณูปโภคให้รวบอยู่ในแนวเดียวกันและอยู่ในแนวพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด ทำให้ทางเท้ากว้างขึ้น 5 – 9.5 เมตร ใช้งานได้ทั้งการเดิน ออกกำลังกาย และยังออกแบบอย่าง Universal Design รองรับการใช้งานของผู้ใช้วีลแชร์ด้วย

คลองผดุงกรุงเกษม พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่ทำให้คนและคลองได้กลับมาใกล้ชิดกัน
คลองผดุงกรุงเกษม พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่ทำให้คนและคลองได้กลับมาใกล้ชิดกัน

ในขณะที่ปัญหาเรื่องการกลายเป็นที่จอดรถ มีซอกหลืบเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ถูกขจัดด้วยการการรวบแนวเลนจอดรถ (Pocket Lane) ที่มีอยู่ในบางช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อลดกิจกรรมส่วนบุคคลบางอย่างที่ก่อให้เกิดมุมอับ สร้างความสกปรก และกีดขวางการใช้งาน สำหรับอิสระชนที่เคยอยู่ เคยนอนตรงนั้น ท่านผู้ว่าฯ ก็เล่าให้ฟังว่า ได้เข้าไปทำความเข้าใจ รวมถึงจัดหาที่พักพิงให้

ส่วนที่เชื่อมต่อกับแหล่งชุมชน มีการปรับปรุงทางลาดที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ และเพิ่มจุดทางข้ามทางม้าลาย รวมถึงทำทางเดินลอดใต้สะพานกษัตริย์ศึก มีทางเดินข้ามไปฝั่งโบ๊เบ๊ได้ ช่วยเชื่อมคนเข้ากับคลองได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น

โฉมใหม่พื้นที่สาธารณะเลียบสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ที่เชื่อมการสัญจรทางเท้า ต่อล้อ-ราง-เรือ เพื่อผู้คนและเมือง

นิเวศวิทยาคลอง

ที่ขาดไม่ได้คือนิเวศวิทยาคลอง (Ecology) การสร้างแนวพื้นที่สีเขียวริมถนนขนาดใหญ่ ช่วยรองรับน้ำฝนตก หน่วงและกรองสิ่งสกปรกก่อนระบายน้ำฝนที่มีคุณภาพดีลงคลองอีกทาง

สำหรับคุณปู่คุณย่าต้นหางนกยูงฝรั่งที่ปลูกขนาบข้างคลองมานาน สุขภาพย่อมเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา พื้นที่หลุมปลูกเดิมคับแคบ ทำให้ระบบรากต้นไม้อ่อนแอลง อีกทั้งรากยังงัดพื้นทางเดินเสียหาย กรุงเทพมหานครและทีมงานสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับ กลุ่ม BIG Trees และรุกขกรผู้เชี่ยวชาญ ทำการประเมินสภาพและรักษาฟื้นฟูสุขภาพต้นไม้ทุกต้น บางต้นที่สภาพไม่สมบูรณ์ เป็นรู ได้ให้ แม็ค-พงษ์พิพัฒน์ เขตบุญไสย์ ศิลปินผู้เคยฝากผลงานกราฟฟิตี้ไว้ที่ริมคลองโอ่งอ่าง มาสร้างสรรค์ภาพวาดเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับต้นไม้ต้นเดิมนั้น ส่วนต้นไหนที่รื้อย้ายออกไป ก็จะได้รับการอนุบาลตามหลักวิชาการ และนำไปปลูกในพื้นที่อื่นที่เหมาะสมต่อไป

โฉมใหม่พื้นที่สาธารณะเลียบสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ที่เชื่อมการสัญจรทางเท้า ต่อล้อ-ราง-เรือ เพื่อผู้คนและเมือง

โครงข่ายการสัญจรสีเขียว

นอกจากการปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งคลอง ทางเท้า ตลอดจนระบบไฟฟ้าแสงสว่างแล้ว ยังสร้างพื้นที่ให้สะดวกต่อการเชื่อมโยงการสัญจรทางน้ำและทางบกเป็นโครงข่าย ล้อ-ราง-เรือ ที่เป็นมิตรทั้งกับผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่าอย่างย่านเทเวศร์ ย่านนางเลิ้ง ย่านเยาวราช-ตลาดน้อยได้ด้วย

ที่ท่านผู้ว่าฯ เล่าถึงอีกอย่างคือ เรือพลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง 8 ลำ ใน ‘เส้นทางเดินเรือสีเขียว’ สายแรกของไทย ในระยะทางตลอดเส้นคลองผดุงกรุงเกษม 11 สถานี ตั้งแต่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง จนถึงท่าเรือเทวราช เปลี่ยนสายการเดินทางไปรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟชานเมือง เรือแสนแสบ และเรือด่วนเจ้าพระยาได้ถึง 4 สถานี

โฉมใหม่พื้นที่สาธารณะเลียบสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ที่เชื่อมการสัญจรทางเท้า ต่อล้อ-ราง-เรือ เพื่อผู้คนและเมือง

เรือไฟฟ้าลำนี้ใช้พลังงานสะอาดจากการชาร์จไฟฟ้าและติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา แถมยังไม่ก่อมลภาวะทางเสียง หนึ่งลำนั่งได้ 30 คน รองรับวีลแชร์ได้ 1 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังทยอยปรับปรุงท่าเรือให้รองรับการใช้งานที่สะดวกขึ้น และปรับปรุงท่าน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจด้วย

“เราปรับปรุงซ่อมแซมท่าเรือตั้งแต่หัวลำโพงถึงวัดเทวราชกุญชรฯ ทั้ง 11 ท่า ให้ไม่มีอันตรายในการขึ้นลงเรือ รวมถึงทางลาดชันสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ มีที่จอดให้ และมีที่แขวนจักรยานในเรือให้ด้วย ซึ่งช่วงนี้มีผู้ใช้งาน 800 – 1,000 คนต่อวัน โดยเรือแต่ละลำใช้เวลาเดินทางตลอดสายประมาณ 20 นาที” ผู้ว่าฯ อัศวินเล่าพร้อมยืนว่าให้ไปลองนั่ง พร้อมพิสูจน์ว่าน้ำในคลองสะอาดไร้กลิ่น

โฉมใหม่พื้นที่สาธารณะเลียบสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ที่เชื่อมการสัญจรทางเท้า ต่อล้อ-ราง-เรือ เพื่อผู้คนและเมือง
โฉมใหม่พื้นที่สาธารณะเลียบสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ที่เชื่อมการสัญจรทางเท้า ต่อล้อ-ราง-เรือ เพื่อผู้คนและเมือง

ผดุงศิลป์

ในระยะนำร่องโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองผดุงกรุงเกษม โซนที่ 2 หัวลำโพง นอกจากการมอบพื้นที่สาธารณะให้กับชาวเมืองแล้ว กรุงเทพมหานครยังตั้งใจจัดกิจกรรมแรกเพื่อค้นหาศักยภาพใหม่ ๆ ในการใช้พื้นที่ เปิดพื้นที่กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ อย่างตลาดนัดผดุงศิลป์ Art Market ที่มีคอนเซ็ปต์กิ๊บเก๋ว่า อยากช่วยผดุงและส่งเสริมแวดวงศิลปะร่วมสมัยให้กับศิลปิน นักออกแบบ และผู้คนในวงการสร้างสรรค์ทุกแขนง 

งานนี้ เราจะได้พบกับร้านค้านับ 100 ทั้งงานศิลปะ ดีไซน์ สินค้าชุมชน และอาหารพร้อมกับกิจกรรมสนุกในยามค่ำคืน ฟื้นวัฒนธรรมอันหลากหลายในอดีตกลับมา อย่างการฉายหนังกลางแปลงแบบ ‘ข้ามคลอง’ ให้ชมหนังนักศึกษา หนังรางวัล และหนังในดวงใจ มี ‘มินิคอนเสิร์ตท่าน้ำ’ และดนตรีเปิดหมวกแนวอะคูสติกฟังสบาย รวมทั้งเวิร์กชอปต่าง ๆ ให้เลือกสรร

ช่วงแรกตลาดนัดผดุงศิลป์จะจัดขึ้นใน 3 สุดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 18 – 20 มีนาคม 2565 25 – 27 มีนาคม 2565 และ 1 – 3 เมษายน 2565 เวลา 16.00 – 22.00 น.

ฟังแล้วก็ใจชื้น นี่เรากำลังจะมีพื้นที่ดี ๆ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง

โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองผดุงกรุงเกษมยังดำเนินการต่อในระยะอื่น ๆ และพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

ท่านผู้ว่าฯ ปิดท้ายบทสนทนาว่า “ในอนาคตเราจะปรับปรุงทุกคลองใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ และวางแผนไว้ว่าอยากทำให้ได้มากและดีที่สุด ตรงไหนที่พี่น้องประชาชนเห็นว่าต้องปรับปรุงแก้ไข เรายินดีรับฟังข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อนำไปแก้ไขให้เป็นที่พึงพอใจ ติเพื่อก่อ บอกมาได้เลยทุกอย่าง เราจะสานต่อให้”

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ