เขาหลัก
ถ้าใครรู้จักผมคงแปลกใจ ว่าทำไมคนที่ไม่ชอบเที่ยวทะเล ไม่เล่นเซิร์ฟ ไม่ดำน้ำ และว่ายน้ำไม่เป็นอย่างผม ถึงหยิบวันหยุดยาวมาใช้ที่ ‘เขาหลักเมอร์ลินรีสอร์ท’ จังหวัดพังงา
แต่ถ้าใครรู้จักรีสอร์ตแห่งนี้คงไม่แปลกใจ
3 ปีก่อน ผมเคยคุยกับ คุณแชมป์-ชานน วงศ์สัตยนนท์ ผู้อำนวยการเครือโรงแรมเมอร์ลิน ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตอนนั้นคุณแชมป์คือวัยรุ่นไฟแรงที่เพิ่งกลับมาดูแลธุรกิจโรงแรมของครอบครัว เขาชวน BIG Trees มาช่วยตรวจสุขภาพต้นไม้ใหญ่มากมายในโรงแรม เขาว่ามีต้นไม้ใหญ่เยอะเหมือนอยู่ในป่า แต่ประโยคที่ยังติดหูผมอยู่ถึงวันนี้คือ ในโรงแรมมีสัตว์ป่าหลายชนิด ถ้าผมไปพัก เขาจะพาไปดูนางอาย
ผมมาตามสัญญา แต่ช้าไป 3 ปี

ต้นไม้
ผมส่ายหน้าบอกพนักงานว่า ไม่ต้องเดินไปส่ง แค่ชี้ทางก็พอ ไม่ว่าโรงแรมไหน ๆ ผมชอบหาทางเดินไปห้องพักเอง แต่รอบนี้พนักงานของเขาหลักเมอร์ลินส่ายหน้ากลับ เขาหยิบกุญแจแล้วเดินนำผมจากล็อบบี้ซึ่งอยู่ติดถนนด้านหน้าโรงแรม ลงไปทางชายหาดที่อยู่ต่ำกว่ามาก เราก็เลยต้องเดินลงบันได วกไป วนมา ผ่านอาคารนั้น ออกทางนี้ ถึงมีแผนที่ก็ยังงง
รีสอร์ตแห่งนี้สร้างเมื่อปี 2000 อาก๋งของคุณแชมป์ คุณวีระ จิรายุส ประธานบริษัทและกรรมการผู้จัดการ และลูก ๆ หลาน ๆ เห็นว่าควรขยายกิจการโรงแรมออกนอกจังหวัดภูเก็ตบ้าง จึงเลือกสร้างโรงแรมแห่งที่ 4 ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ซึ่งตอนนั้นมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก และบริเวณเขาหลัก-ลำรู่ ตรงนี้ก็ยังไม่มีที่พัก

ครอบครัวคุณแชมป์เลือกที่ดินมีโฉนดขนาด 30 ไร่ผืนนี้ เพราะติดทะเลและมีต้นไม้ใหญ่เยอะมาก ทุกคนรักต้นไม้ เลยเห็นตรงกันว่าควรทำที่พักแค่ 200 ห้อง จะได้มีพื้นที่สีเขียวเยอะ ๆ อาคารก็ต้องสร้างหลบต้นไม้ใหญ่ จึงกลายมาเป็นผังโรงแรมแบบเขาวงกต ให้ความรู้สึกเหมือนได้พักกลางป่า
จำนวนห้องที่น้อยถูกชดเชยด้วยการสร้างวิลล่าริมหาด 3 หลัง และตั้งราคาค่าห้องทั่วไปที่สูงกว่าปกติ เพราะนี่คือความหรูหราที่ลูกค้าชาวยุโรปกำลังตามหา ไม่ใช่หรูหราเพราะการออกแบบห้องพัก แต่หรูหราเพราะอยู่กลางธรรมชาติ ความคิดนี้เมื่อ 20 ปีก่อน ต้องถือว่าล้ำหน้ามาก


พนักงานโรงแรมที่เดินนำทางผมบอกว่า วันนี้มีแขกพักเต็มทุกห้อง แต่กลับไม่รู้สึกว่าแออัด หรือมองไปทางไหนก็เห็นแต่คน เพราะต้นไม้ครึ้มทั่วรีสอร์ตช่วยบังสายตาไม่ให้แขกมองเห็นกัน
ที่นี่มีต้นไม้ใหญ่ราว 270 ต้น แบ่งได้ 40 ชนิด อายุอย่างต่ำคือ 50 ปี หลายต้นน่าจะถึง 70 ปีหรือแก่กว่านั้น
ต้นไม้เด่น ๆ ของที่นี่มีหลายต้น เริ่มจากต้นเหรียง ไม้ทรงพุ่มใหญ่ด้านหลังล็อบบี้ ซึ่งมีโอกาสจะได้เห็นนางอายและค้างคาวแม่ไก่ ตรงห้องอาหารเช้ามีต้นเทพทาโรอยู่หลายต้น จัดเป็นต้นไม้ประจำถิ่นพังงาที่เปลือกมีกลิ่นหอม นิยมนำมาแกะสลักเป็นเทพตามศาลเจ้าในภาคใต้ ช่วงเทศกาลกินเจจะมีการนำไม้เทพทาโรไปเผาไฟ ซึ่งจะได้กลิ่นหอมเหมือนธูป

มองเลยไปทางหาดจะเห็นต้นไข่เขียว ซึ่งเป็นตะเคียนชนิดหนึ่ง สูงชะลูด มองเห็นได้แต่ไกล เป็นต้นไม้ที่สูงที่สุดในโรงแรม ส่วนต้นไม้หายากที่สุดคือ ยางมันหมู เป็นไม้ประจำถิ่นของภาคใต้ที่น้อยคนจะรู้จัก หายากขนาดพนักงานโรงแรมยังไม่รู้เลยว่าคือต้นไหน
ส่วนต้นไม้ที่มีเอกลักษณ์ที่สุดในโรงแรมคือ ต้นนิโครธ ซึ่งเป็นไทรชนิดหนึ่ง คนที่นี่เรียกว่า ต้นยีราฟ เพราะมีรูปทรงเหมือนยีราฟ เป็นต้นที่หาง่ายที่สุด และน่าจะถูกถ่ายรูปมากที่สุด

น้ำ
พอเปิดประตูเข้ามาในห้องพัก ผมก็สะดุดตากับหนังสือชื่อ A Compact Guide to Wildlife ที่ตั้งใจวางรับแขกอยู่บนโต๊ะ ในเล่มมีภาพสัตว์มากมายที่พบได้ในโรงแรม แยกตามโซนต่าง ๆ เช่น นกแขกเต้า นางอาย กิ้งก่าบินหัวสีฟ้า บ่าง นกตะขาบทุ่ง เหยี่ยวแดง นกกระเต็นอกขาว แมลงปอนานาชนิด ปาดบ้าน เขียดบัว นกเด้าลมหลังเทา เหี้ย และผีเสื้อมากมาย

ที่ผมแปลกใจคือ แต่ละพื้นที่ในโรงแรมพบสัตว์ที่แตกต่างกันได้ขนาดนี้เลย
พอเปิดโทรทัศน์ในห้อง จะเจอคลิปวิดีโอเล่าเรื่องสัตว์ป่าทั้งหมดในโรงแรม ราวกับที่นี่คือรีสอร์ตในซาฟารี ดูแล้วเลือดลมสูบฉีด นั่งในห้องต่อไม่ไหว ต้องรีบเปิดประตูออกไปดูของจริง


ใกล้ ๆ ห้องพักของผมมีลำธารเล็ก ๆ ที่ไหลจากด้านบนแถว ๆ ล็อบบี้ ลงไปที่บ่อมรกตทางด้านล่าง ในนั้นมีปลานิล สัตว์น้ำเล็ก ๆ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหลายชนิด ลำธารแห่งนี้สร้างมาพร้อมรีสอร์ต ด้วยความคิดว่า ที่นี่มีต้นไม้เยอะ ถ้าต้องซื้อน้ำมารดต้นไม้ก็เปลือง เลยออกแบบระบบให้ส่งน้ำเสียจากทั้งโรงแรมมาบำบัดรวมกันในถังใต้ดินด้วยจุลินทรีย์ เมื่อสะอาดก็ปั๊มขึ้นไปปล่อยบนต้นกำเนิดลำธารด้านบน เพื่อให้น้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่สีเขียวทั่วโรงแรมผ่านระบบสปริงเกิล

น้ำเสียทุกหยดในเขาหลักเมอร์ลินจึงถูกบำบัดและนำกลับมาคืนสู่ธรรมชาติ สะอาดขนาดมีสัตว์น้ำอยู่แบบเป็นระบบนิเวศ
อีกแนวคิดที่มีมาแต่แรกคือ การนำขยะจากเศษอาหารและเศษใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก เหตุผลคือ เรือนเพาะชำกล้าไม้ต้องการปุ๋ยจำนวนมาก แน่นอนว่าไม่มีวิธีไหนจะประหยัดไปกว่าการทำเอง
แนวคิดเรื่องความยั่งยืนอีกอย่างที่ผมว่าน่าสนใจ คือระบบเซ็นเซอร์ที่หน้าต่างซึ่งเพิ่มมาภายหลัง ถ้าแขกห้องไหนเปิดหน้าต่างเพื่อสัมผัสอากาศบริสุทธิ์จากธรรมชาติ เครื่องปรับอากาศในห้องจะปิดทันทีแบบอัตโนมัติ จะได้ไม่เปลืองไฟโดยใช่เหตุ
แขก
วันนี้สายตาตี่ ๆ ของผม ได้สบตากับชาวต่างชาติไม่มากนัก แต่ช่วงก่อนโควิด-19 ลูกค้าเกือบทั้งหมดของเขาหลักเมอร์ลินคือชาวต่างชาติ ลูกค้าหลักคือ ชาวเยอรมัน นอร์ดิก และอังกฤษ เป็นกลุ่มที่อยากมาสัมผัสธรรมชาติแท้ ๆ อยากเห็นทั้งป่า ทั้งทะเล และเห็นสัตว์ป่าในโรงแรม พอมาถึงก็นั่งริมระเบียงห้องดื่มด่ำกับธรรมชาติได้เป็นวัน ๆ ลูกค้ากลุ่มนี้จองมาเต็มตั้งแต่เปิดให้บริการ ทางโรงแรมจึงไม่ได้เน้นทำการตลาดกับลูกค้าชาวไทยหรือกลุ่มอื่น ๆ มากนัก ที่นี่เลยไม่คุ้นหูของคนไทย
ลูกค้าประจำชาวเยอรมันรักที่นี่ถึงขนาดเปิดเฟซบุ๊กกรุ๊ป Freunde des Merlin Khao Lak / Friends of Merlin Khao Lak ไว้พูดคุยกันว่า พักห้องไหนเด็ดสุด แถวนั้นมีร้านอาหารไหม ต้องเตรียมอะไรมาบ้าง ยุงเยอะไหม มีสมาชิกอยู่ 2,000 กว่าคน แอดมินเป็นคู่สามีภรรยาชาวเยอรมันที่มาพักที่นี่ทุกปี


แล้วในกรุ๊ปนี้ก็ยังถ่ายภาพสัตว์ที่พบในโรงแรมมาอวดกัน จนทำให้ทีมงานรู้ว่าในโรงแรมของพวกเขามีสัตว์มากมายแค่ไหน
เขา (เป็น) หลัก
ก่อนพระอาทิตย์จะมุดเมฆไปแตะน้ำทะเล ผมออกไปเดินเล่นบนชายหาดทั้งด้านซ้ายและขวาของโรงแรมซึ่งขนาบด้วยที่พักขนาดใหญ่ มีอาคารที่ออกแบบสวยเตะตาแบบต้องยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป ถัดออกไปเป็นร้านอาหารและบาร์ที่กวักมือเรียกเราจากระยะไกลด้วยเสียงเพลง
ขากลับเมื่อมาถึงโรงแรม สิ่งที่ดึงดูดสายตาที่สุดของที่นี่คือต้นไม้ใหญ่ แบบที่เราแทบจะไม่เห็นหรือไม่สนใจอาคารของโรงแรมเลยด้วยซ้ำ
คุณแชมป์ยืนรอผมอยู่ที่หน้าร้านอาหารเย็นของโรงแรมบริเวณหาด
ชีวิตของเขาน่าสนใจ ชายวัย 30 ปีคนนี้เรียนจบปริญญาตรีด้านปรัชญาและจิตวิทยาจากออกซ์ฟอร์ด แล้วต่อโทด้านบริหารธุรกิจที่อิมพีเรียลคอลเลจ กลับจากลอนดอนมาก็เริ่มงานที่ The Nation ช่วยคุณสุทธิชัย หยุ่น ทำเรื่อง Transformation องค์กรสู่ดิจิทัล จากนั้นก็ย้ายไปบุกเบิกการทำวิดีโอให้นิตยสาร BK แล้วก็ข้ามสายไปทำงานกับ Iris บริษัทโฆษณาจากลอนดอน สุดท้ายก็กลับมาทำธุรกิจโรงแรมของที่บ้านเมื่อปี 2018
“ผมเป็นห่วงพ่อแม่ ตอนนั้นท่านอายุ 65 แล้ว เลยกลับมาช่วย เครือเรามีโรงแรมหลายแห่ง ทำกันแบบกงสี ผมเข้ามาพร้อมลูกพี่ลูกน้อง 3 คน ผมได้รับหน้าที่ให้ดูการตลาดออนไลน์ ประชาสัมพันธ์ กับอาหารและเครื่องดื่ม” คุณแชมป์เล่าระหว่างที่รอไลน์บุฟเฟต์เปิด

พอเริ่มงานเขาก็พบว่า ที่ผ่านมาโรงแรมทำการตลาดแต่กับบริษัททัวร์ ไม่เน้นโปรโมตตรงกับลูกค้ามากนัก พอบริษัททัวร์ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Thomas Cook ปิดตัวลงเมื่อปี 2019 โรงแรมก็ได้รับผลกระทบ เพราะลูกค้า 20 เปอร์เซ็นต์มาจากที่นี่ คุณแชมป์มองว่าถึงเวลาที่ต้องปรับตัวแล้ว แต่การที่คนหนุ่มไร้ประสบการณ์โรงแรมวัย 27 ปี จะโน้มน้าวผู้ใหญ่ที่ทำโรงแรมมาทั้งชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย
“โชคดีมากที่ผมเคยทำงานบริษัทโฆษณา เลยมีทักษะโน้มน้าวผู้บริหาร มีวิธีการทำพรีเซนเทชันที่ดี เข้าใจเรื่องการทำ Brand Personality ผมก็จัดเต็มครับ ทำเวิร์กชอปชวนทุกคนมาคิดร่วมกันว่า เราอยากเป็นอะไร ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน และเราจะไปถึงตรงนั้นได้ยังไง ทุกคนเห็นตรงกันว่าเขาหลักเมอร์ลินต้องเน้นเรื่องธรรมชาติ ทุกคนปักธงแบบนี้ร่วมกัน ผมก็บอกว่า เราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย ถ้าจะไปให้ถึงตรงนั้นเราต้องทำกับมูลนิธินะ เขาก็โอเค เพราะถ้าเราบอกว่าจะทำงานกับมูลนิธิตั้งแต่วันแรก เขาคงเบรก แล้วบอกว่า เราทำโรงแรมนะ ไม่ใช่กรมอุทยานฯ”
สัตว์
บาร์ตรงริมหาดเริ่มคึกคัก ใคร ๆ ก็เดินมาสั่งเครื่องดื่มแกล้มวิวพระอาทิตย์ตก
“เราเลือกทำงานกับมูลนิธิ Love Wildlife เพราะเขามีนางอายอยู่ในโลโก้” คุณแชมป์หัวเราะ เมื่อก่อนนางอายหรือลิงลมพบได้ไม่ยากในภาคใต้ แต่พอมีการล่าไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง ก็มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ “วันหนึ่งมีแขกถ่ายรูปนางอายส่งมาให้พนักงานดู เราถึงรู้ว่าในโรงแรมเรามี ซึ่งมันพิเศษมาก โดยปกติถ้าอยากดูนางอายต้องไปดูในอุทยานฯ ซึ่งหลบเก่งมาก แต่ในโรงแรมเรามีอยู่ 4 ตัว พ่อ แม่ กับลูก 2 ตัว เรารู้ว่าต้องไปส่องที่ต้นไหนถึงจะมีโอกาสเจอ”
เมื่อ Love Wildlife เข้ามาสำรวจก็ให้คำแนะนำว่า นางอายเข้ามาอาศัยในโรงแรมเพราะมีอาหารพวกยางไม้ ลูกเหรียง เบอร์รี และเกสรดอกไม้ จึงดึงดูดนางอายรอบ ๆ โรงแรมให้เข้ามาด้วย แต่บางจุดยอดไม้ไม่เชื่อมกัน นางอายจึงต้องเดินข้ามถนน ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ จึงควรทำสะพานเชือกให้นางอายไต่ข้ามยอดไม้มาเลย

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังสำรวจพบสัตว์ราว 150 ชนิด มีทั้งนกเงือก กิ้งก่าบิน กระรอกบิน นกเค้าป่าหลังจุด นกฮูก และอีกมากมาย

“ที่นี่เลยกลายเป็นพื้นที่ทำวิจัย สังเกตพฤติกรรมนางอายในธรรมชาติ เพิ่งมีนักวิจัยจากต่างประเทศมาอยู่ที่นี่ 2 เดือนเพื่อทำวิจัย เราก็ให้พักฟรี เขามาติดตั้งกล้อง Camera Trap ตามกิ่งไม้ในโรงแรม แล้วจะบริจาคกล้องนี้ให้ Love Wildlife ซึ่งจะติดตั้งในโรงแรมต่อ ที่นี่ก็จะกลายเป็นพื้นที่ซึ่งมาศึกษาพฤติกรรมสัตว์ได้ ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเรื่องนางอายจากทั่วโลกที่นี่ด้วย”
คุณแชมป์บอกว่า ที่นี่ไม่มีผับโต้รุ่ง หน้าหาดตรงที่เรายืนอยู่ตอนนี้เต็มไปด้วยคนมากมาย แต่ประมาณ 3 ทุ่มก็จะเงียบ เพราะคนแยกย้ายเข้าห้องพัก สงบขนาดเรามาส่องดูนกหลับได้
อาหารเย็นพร้อมแล้ว คุณแชมป์เชิญผมรับประทานอาหารเย็น ส่วนตัวเขาขอแยกไปดูแลเพื่อนที่มาจากอังกฤษ ซึ่งจะมาเดินดูสัตว์ด้วยกันในคืนนี้
ธรรมชาติ
หลังอาหารเย็น ผมมายืนรอที่จุดนัดพบ ชาวคณะเกือบทั้งหมดเป็นชาวไทย
“ช่วงนี้ลูกค้าหลักเป็นคนไทยครับ แต่ก็ถือว่ายังมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ เรารู้ว่าโควิด-19 ไม่ได้อยู่ตลอดไป การเน้นตลาดคนไทยเพิ่ม เราต้องมองในระยะยาวด้วย เราไม่ได้อยากเปลี่ยนให้ที่นี่เป็นสวนสนุกหรือเต็มไปด้วยจุดถ่ายรูป เราอยากเลือกลูกค้าชาวไทยที่ใช่ คือไม่ใช่พอเกาหลี ญี่ปุ่นเปิดประเทศแล้วเขาไม่กลับมาอีกเลย เราอยากหากลุ่มที่อินกับธรรมชาติจริง ๆ ให้คุณค่ากับสิ่งที่เราทำ บางคนมาเดินดูสัตว์แล้วก็คุยกับลูกว่า ตอนไปค่ายกับที่โรงเรียนได้เจอสัตว์แบบนี้ไหม หรือเด็กบางคนก็สอนพ่อว่า นางอายที่ผมเห็นในหนังสือเป็นแบบนั้นแบบนี้ ได้ยินแล้วเราก็ชื่นใจมาก” คุณแชมป์ยิ้มกว้าง
คุณแชมป์ยังมีความคิดสนุก ๆ อีกหลายเรื่องที่อยากทำให้ที่นี่เป็นหมุดหมายของคนรักธรรมชาติ เช่น ชวนนักวิชาการ นักอนุรักษ์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง มาจัดทริปเดินดูต้นไม้ดูสัตว์ในโรงแรม เพราะคนกลุ่มนี้เคยมาพักที่นี่แล้ว และชอบมาก
เขาคิดไปถึงการทำทริปไปเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติด้านนอกโรงแรม โปรแกรมที่ผมชอบที่สุดคือ การเดินป่าแบบครึ่งวันครึ่งคืน ศึกษาธรรมชาติทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วกลับมาค้างที่โรงแรม
นางอาย
ชาวคณะมาพร้อมแล้ว ทุกคนได้รับแจกไฟฉาย คนที่มานำชมเป็นพนักงานจากแผนกต่าง ๆ ที่ชอบเรื่องนี้เลยอาสามาทำ ทั้งดูนกตอนเช้าและส่องสัตว์ตอนค่ำ ทุกคนผ่านการอบรมจาก Love Wildlife มาเรียบร้อย หัวหน้าทัวร์ของเราเป็นแม่บ้าน เขาออกตัวหลายรอบว่า ไม่ได้รู้เรื่องสัตว์มากนัก แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม เพราะเขาพาพวกเราเดินเหมือนพาเที่ยวบ้าน เขารู้สึกว่าโรงแรมแห่งนี้คือบ้านของเขา และสัตว์ในโรงแรมก็เหมือนสัตว์เลี้ยงเพื่อนรัก

เราเดินจากริมสนามหญ้าริมหาดย้อนขึ้นไปทางล็อบบี้ด้านบน ระหว่างทางก็ส่องไฟไล่หานางอายทีละต้น จะบอกแบบนั้นก็ไม่ถูก เพราะพี่แม่บ้านพอจะรู้ว่า โดยปกตินางอายอยู่ที่ต้นไหน และต้นไหนไม่น่าจะเจอ รู้แม้กระทั่งเมื่อวานเจอตัวไหนที่ต้นไหน
หลังจากวนหานางอายทั่วโรงแรม ก็เดินกลับไปดูนกหลับใกล้ ๆ ร้านอาหาร แล้วลงหาดไปดูปูเสฉวน ปิดท้ายด้วยดูจักจั่นลอกคราบที่ต้นสนริมหาด ซึ่งพิเศษตรงที่เราจะได้เห็นตัวของมันด้วย ไม่ได้มีแค่คราบ


เราเดินมาครึ่งทาง และยังไม่เจอนางอาย พี่แม่บ้านดูกดดันมาก เพราะรอบนี้มีทั้งเจ้านาย เพื่อนเจ้านายจากต่างประเทศ และแขกจากกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจมาดูนางอายโดยเฉพาะ
ผมไม่ได้รู้สึกผิดหวังอะไรเลยที่ยังไม่เจอนางอาย เพราะบรรยากาศรอบตัวตอนนี้ดีมาก ได้เดินเงียบ ๆ ท่ามกลางธรรมชาติแบบแสงสลัว ๆ ฟังพนักงานโรงแรมเล่าว่า เขาผูกพันกับสัตว์ในโรงแรมยังไง เป็นเนื้อหาที่ไม่เหมือนฟังจากนักวิชาการหรือผู้พิทักษ์ป่า
ความรู้หาที่ไหนก็ได้ แต่ความรู้สึกนี่สิหาฟังยาก
การได้เดินใต้ร่มต้นไม้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมาย ไม่ว่าเราจะเห็นหรือไม่ก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ แต่รายล้อมไปด้วยคนที่ให้คุณค่าในสิ่งเดียวกัน มันอาจจะหายากพอ ๆ กับนางอาย
ตอนนี้การเจอนางอายหรือไม่ ไม่ได้สำคัญสำหรับผมเลย เพราะผมได้สัมผัสสิ่งที่มีคุณค่าไม่แพ้กัน
นั่นทำให้ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมถึงมีนักท่องเที่ยวมากมายเดินทางข้ามโลกกลับมาที่นี่ทุกปี


Khaolak Merlin Resort
ที่ตั้ง : 7 ถนนเพชรเกษม ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา (แผนที่)
โทรศัพท์ : 0 7642 8300
Facebook : Khaolak Merlin Resort
เว็บไซต์ : www.merlinkhaolak.com