5 มิถุนายน 2019
14 K
The Cloud X สารคดีสัญชาติไทย

เมื่อพูดถึงเขาใหญ่ คนส่วนมากมักจะนึกถึงรีสอร์ทหรู ร้านอาหารดีๆ และแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบที่ตั้งเรียงรายริมถนนธนะรัชต์ยาวไปจนถึงวังน้ำเขียว ที่จำลองบรรยากาศต่างๆ จากทั่วโลกไว้มากมาย แต่หากพูดถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแห่งแรกในเมืองไทยที่เป็นเสมือนกับโรงเรียนทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าบนเขาใหญ่มีแค่ทุ่งหญ้าและน้ำตกสวยๆ อีก 2 – 3 แห่งเพียงเท่านั้นที่น่าสนใจ ขึ้นไปเที่ยวแค่ 2 – 3 ครั้งก็เที่ยวครบหมดแล้ว

ผมเองก็เคยคิดเช่นนั้น…

จนกระทั่งผมได้มีโอกาสพาเพื่อนชาวต่างชาติมาเที่ยวเขาใหญ่เมื่อ 2 วันก่อน ผมจึงได้พบว่าอะไรที่ทำให้คนทั่วโลกตั้งใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่นี่ เพราะอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก

จากรูปแบบการจัดการอุทยานแห่งชาติที่ถอดแบบมาจากต้นแบบของอุทยานแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ในเบื้องต้น เขาใหญ่ถูกออกแบบให้มีโรงแรม ที่พัก มีร้านอาหาร มีโซนแคมปิ้ง รวมไปถึงสนามกอล์ฟที่จัดการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการจัดการอุทยานนั้นดำเนินงานโดยกรมป่าไม้ ก่อนที่จะมีการยกเลิกโรงแรม ที่พัก และสนามกอล์ฟไปเมื่อราวๆ 25 ปีก่อนนี้​ โดยโอนพื้นที่ทั้งหมดกลับมาให้กรมป่าไม้ ที่ในปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นผู้ดูแล

เขาใหญ่

ฝูงช้างป่าลงมากินโป่งในบริเวณข้างทางริมถนนในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในช่วงเวลาพลบค่ำ

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับคนที่เริ่มต้นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในเมืองไทยอย่างหนึ่งก็คือ การหาคนที่สามารถสื่อความหมายและความสำคัญของธรรมชาติให้กับเรา แม้ว่าเราจะมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ดีเยี่ยม ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากเข้าไปสัมผัสธรรมชาติ หากแต่เมื่อเราอยากเห็นอะไรที่มากไปกว่าทุ่งหญ้า หรือน้ำตก ถ้าเราไม่เข้าไปร่วมเป็นสมาชิกของชมรมหรือกลุ่มต่างๆ ที่มักจัดกิจกรรมไม่ว่าจะไปดูนก ดูแมลง เดินป่า หรือแม้กระทั่งถ่ายภาพธรรมชาติ

การเริ่มต้นด้วยตนเองแบบคนที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรมาก่อนเลยนั้นดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก ว่าจะต้องไปตรงไหน เมื่อไร อย่างไร แม้กระทั่งคนที่อาจนับได้ว่าอยู่ในแวดวงการถ่ายภาพธรรมชาติแบบตัวผมเองที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสมาเที่ยวเขาใหญ่บ่อยนัก ในบางครั้งก็เรียกได้ว่ามืดแปดด้าน ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน เมื่อมีเพื่อนชาวต่างชาติอยากจะมาถ่ายภาพนก สัตว์ป่า และธรรมชาติ ในอุทยานแห่งชาติในเมืองไทย ในเวลาที่มีจำกัดอยู่เพียงแค่ 2 – 3 วันเพียงเท่านั้น

ผมนึกถึงตอนที่ไปถ่ายภาพนกกระเรียนที่ญี่ปุ่นเมื่อตอนต้นปี เมื่อผมได้มีโอกาสใช้บริการของไกด์ถ่ายภาพมืออาชีพในพื้นที่ที่คอยมาช่วยจัดการบริหารเวลาที่มีจำกัดของเราให้คุ้มค่ากับการเดินทาง โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลางมหาและลองผิดลองถูกด้วยตนเองแล้วพบว่า เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มไปกับเวลาที่เราต้องเสียไปแล้วถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก

ชะนีมือขาวโหนตัวไปตามเรือนยอดของต้นไม้ เหนือทางเดินในเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ในบริเวณกิโลเมตรที่ 33 เขาใหญ่
ฝูงกระทิงในยามเย็นเหนือทุ่งหญ้าบริเวณจุดสกัดเขาแผงม้า ในช่วงเย็นวันธรรมดาที่ไม่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน ฝูงกระทิงจะเคลื่อนตัวเข้ามาในบริเวณสันเขาไม่ห่างไปจากจุดกางเต็นท์เท่าไรนัก

บารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่าที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของเมืองไทย ให้เบอร์ติดต่อไกด์ธรรมชาติมืออาชีพที่นำชาวต่างชาติขึ้นไปถ่ายภาพสัตว์ในธรรมชาติบนเขาใหญ่แทบทุกวัน ติดต่อกันมานานกว่า 20 ปีให้กับผมมา 2 – 3 คน แต่ละคนนั้นล้วนเป็นเพื่อนของเขา เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ได้มีโอกาสไปถ่ายภาพบนเขาใหญ่กับไกด์มืออาชีพที่ปกติแล้วมักจะนำทางให้กับลูกค้าชาวต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่

ผมพบว่าช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2 – 3 วันที่ผ่านมา ผมเห็นเขาใหญ่ในมุมมองที่เปลี่ยนไปมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกเล็กๆ ที่ร้องอยู่ริมข้างทาง แมลงตัวเล็กๆ ที่เกาะอยู่บนต้นไม้ ไปจนถึงฝูงชะนีที่ห้อยโหนตัวอยู่บนเรือนยอดไม้บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่เราไม่เคยเข้าใจความหมายของมันนั้น มีความหมายมากขึ้นเมื่อเราได้มีโอกาสเดินทางไปกับคนที่สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ในผืนป่าให้เราฟังอย่างเข้าใจ

ไม่ใช่เพียงแค่พาเราไปถ่ายภาพเพียงเพื่อจะได้ภาพสวยๆ มาอวดกันเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญที่สุดก็คือ การพาคนกลับเข้าไปหาและชื่นชมกับธรรมชาติ เห็นความงามของฤดูกาลที่ผันเปลี่ยนไปตามวันและคืนในธรรมชาติ ที่ทำให้เราสามารถกลับมาเขาใหญ่ได้เสมอตลอดทั้งปี

เขาใหญ่

นกพญาปากกว้างหางยาว (Longtail Broadbill) เริ่มต้นจับคู่และสร้างรังบริเวณริมถนน  ในช่วงปลายฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นกป่าหลายชนิดเริ่มจับคู่และทำรัง เขาใหญ่
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (Austen’s Brown Hornbill) เป็นนกเงือกขนาดกลาง มีขนสีน้ำตาล  และเป็นนกเงือกที่หายากที่สุดในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะพบเห็นนกเงือกชนิดนี้คือช่วงเวลาทำรัง แต่การเฝ้าชมนกเงือกชนิดนี้จะต้องขออนุญาตเข้าไปใช้พื้นที่ศึกษาวิจัย โดยการเข้าไปลงชื่อในบริเวณที่ทำการก่อนทุกครั้ง

เหรียญย่อมมี 2 ด้าน เมื่อคนสนใจในการถ่ายภาพธรรมชาติ หรือเข้ามาใช้พื้นที่มากขึ้น มีความคาดหวังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย หรือเพียงแค่ว่าฉันต้องได้เห็นให้คุ้มค่ากับที่เดินทางมาไกล ในบางมุม การศึกษาธรรมชาติจึงควรอยู่บนพื้นฐานของความรักและความเข้าใจในธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงการแข่งขันเพื่อครอบครองเป็นเจ้าของ การจัดการที่ดีของอุทยานแห่งชาติในการออกกฎระเบียบและการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด จึงจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ได้

ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ออกกฎมากมายเพิ่มเติมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้เหยื่อและการใช้เสียงเพื่อล่อนกที่ไปรบกวนการใช้ชีวิตของนกและสัตว์อื่น รวมถึงการห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ในบริเวณริมถนนที่อาจทำให้สัตว์เกิดอุบัติเหตุจากรถที่วิ่งไปวิ่งมาเป็นจำนวนมาก การจัดชุดลาดตระเวนคอยดูแลช้างป่าเมื่อมีช้างออกมาบริเวณถนน เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปรบกวนและอาจจะเป็นอันตรายได้

รวมไปถึงกฎเดิมที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น การจำกัดความเร็วของรถยนต์ที่ใช้เส้นทางในอุทยานแห่งชาติ การจำกัดความดังของท่อไอเสียจากรถจักรยานยนต์ การห้ามนักท่องเที่ยวนำเครื่องดนตรีหรือเครื่องเสียงขนาดใหญ่เข้าไปในบริเวณลานกางเต็นท์หรืองดใช้เสียงในยามค่ำคืน และห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาตินั้น ล้วนแต่มีความหมายที่เราควรจะเข้าใจและปฏิบัติตามเมื่อเราเดินทางเข้าไปในธรรมชาติ

เขาใหญ่

เก้งเป็นสัตว์ป่าที่เรามักจะพบเห็นได้บ่อยมากที่สุดบนเขาใหญ่นอกเหนือไปจากกวาง ที่มักจะอาศัยอยู่ในบริเวณทุ่งหญ้าหรือในบริเวณใกล้กับที่ทำการอุทยานฯเขาใหญ่
จักจั่นงวงบริเวณทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกเหวสุวัต

ในขณะที่ผมนั่งรถสองแถวลงมาจากเขาใหญ่ สวนทางกับรถที่กำลังวิ่งสวนขึ้นไป ผมเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่งแต่งตัวในชุดที่พร้อมจะเดินป่า ใส่ถุงเท้ากันทาก พากันเดินเข้าไปในเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติริมข้างทาง ในขณะที่คนไทยส่วนมากรวมทั้งผมเองมักจะขับรถส่วนตัว วนไปวนมาบนถนน 2 – 3 รอบ แล้วก็กลับลงไปพร้อมกับคำพูดที่ติดปากว่า “เขาใหญ่ไม่เห็นมีอะไรเลย”

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม