กาบมณี พลกุล เป็นคุณยายร่างท้วม อัธยาศัยดี และพูดจาไพเราะ ซึ่งขัดกับรสชาติจัดจ้านของน้ำแกงข้าวซอยที่เธอปรุงอย่างยิ่ง แต่นั่นเป็นคอนทราสต์ที่ดี ผมไม่เคยนับจำนวนครั้งที่ได้ไปกินข้าวซอยฝีมือคุณยายตลอดหลายปีที่อยู่เชียงใหม่ กระนั้นมีอยู่ครั้งหนึ่งจำได้แม่น แกเล่าขำๆ ว่า การได้มากินข้าวซอยจริงๆ ต้องเข้ามาในซอยถึงจะได้กิน และใช่ ร้านข้าวซอยของคุณยายกาบมณีที่ชื่อ ‘ข้าวซอยแม่มณี’ อยู่ในซอย

แม้ข้าวซอยจะเป็นหนึ่งในของกินอันดับต้นๆ เมื่อใครสักคนคิดถึงเชียงใหม่ แต่ความจริงคือ ข้าวซอยไม่ใช่เมนูหลักในชีวิตประจำวันของคนเมือง คนเชียงใหม่น้อยคนเหลือเกินที่จะเข้าคิวไปกินข้าวซอยเจ้าดังที่ได้รับการแนะนำในไกด์บุ๊กหรือในโซเชียลมีเดีย โดยร้านที่คนเมืองกินจริงๆ เกือบทั้งหมดเป็นคนละร้านกับนักท่องเที่ยว 

กระนั้นข้าวซอยแม่มณีเป็นข้อยกเว้น 

ขึ้นเชียงใหม่ เข้าซอย ไปย้อนรอย ‘ข้าวซอยแม่มณี’ รสเข้มที่ได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลิน

ข้าวซอยแม่มณีเปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ตั้งอยู่ในซอยเล็กๆ ที่เชื่อมกับซอยเล็กๆ อีกซอยที่ใหญ่กว่า (โชตนา 24) ริมถนนโชตนา ตรงข้ามศาลากลางเชียงใหม่ ร้านของคุณยายกาบมณีอยู่มาก่อนที่เชียงใหม่จะย้ายศูนย์ราชการจากในเมืองมาไว้ตรงนี้ด้วยซ้ำ 

นั่นล่ะ จนวันนั้นถึงวันนี้ หากใครขับรถผ่านอย่างไม่ตั้งใจ ก็อาจไม่รู้ว่าร้านเล็กๆ ในซอยแคบๆ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารที่ดูเหมือนหอพักร้างร้านนี้ ขายข้าวซอยที่คนเชียงใหม่หลายคนยกเป็นขวัญใจ และอยู่ในลิสต์ มิชลิน บิบ กูร์มองด์ (Michelin Bib Gourmand) ของ พ.ศ. 2562 ซึ่งว่าไปแล้ว หากเทียบกับอีก 16 ร้านที่เหลือในลิสต์ กล่าวได้ว่าร้านของแม่มณีดูบ้านๆ หรือเซอร์สุดๆ กระนั้นในทางกลับกัน ไม่อาจปฏิเสธว่านี่เป็นหนึ่งในร้านที่ควรค่าแก่รางวัลมากที่สุด 

“แม่ย้ำเสมอว่า ห้ามเสิร์ฟเครื่องเคียงพร้อมกันในชาม ทุกอย่างต้องแยกออกเป็นถ้วยๆ กินหอมแดงไทยเปล่าๆ เมื่อรู้สึกเผ็ด ตามด้วยผักดองตัดเลี่ยน ถ้าเสิร์ฟสิ่งเหล่านี้ในชาม น้ำแกงจะซึมเข้าไปในเครื่องเคียง เครื่องเคียงจะเสียรส 

“เมื่อก่อนเราทำเส้นข้าวซอยเอง ตั้งแต่แม่อายุมากแล้วและเราก็มากตามด้วย ก็ทำกันไม่ไหว แต่ผักกาดดอง พริกแกง และพริกเผา ยังทำเองเหมือนเดิม” แม่แน่งน้อย ฉัตรทอง ผู้สืบทอดกิจการร้านข้าวซอยแม่มณีกล่าว 

ขึ้นเชียงใหม่ เข้าซอย ไปย้อนรอย ‘ข้าวซอยแม่มณี’ รสเข้มที่ได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลิน

ในทุกเช้า แม่แน่งน้อยจะตั้งไฟเตาถ่านอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลของร้าน ตำพริกข้าวซอยเพื่อทำเครื่องแกง จัดเตรียมวัตถุดิบ หมู เนื้อ และเนื้อสัตว์อื่นๆ ถูกตุ๋นเครื่องแกงรอไว้จนเปื่อย ฝานมะนาว ซอยหอมแดงไทย และผักกาดดองใส่ชามพร้อม พริกแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผงกะหรี่ ฯลฯ 

ทุกอย่างเสร็จสรรพก่อนเวลา 9 โมงซึ่งเป็นเวลาเปิดร้าน เส้นข้าวซอยจะลวกเมื่อลูกค้าเขียนใบสั่งอาหารมาส่ง หัวกะทิจะหยอดลงน้ำแกงในตอนท้าย และโรยด้วยหมี่กรอบก่อนนำไปเสิร์ฟ ความระอุของเตาถ่านทำให้กลิ่นของน้ำแกงหอมเด่น หัวกะทิทำให้แกงกลมกล่อมเข้มข้น หมี่กรอบให้รสสัมผัสที่ต่างออกไปจากความละมุนของเส้นและเนื้อสัตว์ และเช่นที่คุณยายกาบมณีกำชับ เครื่องเคียงต้องเสิร์ฟแยกออกมาจากชามหลัก 

ขึ้นเชียงใหม่ เข้าซอย ไปย้อนรอย ‘ข้าวซอยแม่มณี’ รสเข้มที่ได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลิน
ขึ้นเชียงใหม่ เข้าซอย ไปย้อนรอย ‘ข้าวซอยแม่มณี’ รสเข้มที่ได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลิน

แม่แน่งน้อยบอกว่า กิจวัตรแทบทุกเช้าที่บ้านเป็นเช่นนี้มาเกือบ 40 ปีแล้ว เธอเป็นลูกสาวคนกลางจากพี่น้อง 3 คน ก่อนหน้าจะเปิดร้าน คุณยายกาบมณีทำงานหลากหลาย เป็นแม่บ้านในบ้านฝรั่ง ขายกล้วยปิ้งและกล้วยฉาบ ก่อนเปิดร้านอาหารที่บ้าน ขายข้าวซอย ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน และของหวาน คุณยายกาบมณีและสามีเก็บหอมรอมริบ จนสามารถสร้างหอพักให้เช่าอยู่ชั้นบนของร้าน และพร้อมกันนั้นก็ได้พัฒนาสูตรข้าวซอยแบบฉบับของคนเมืองจนเข้าที่ และกลายเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน

“มีคนชอบถามว่า แม่เอาสูตรข้าวซอยมาจากไหน แม่บอกก็สูตรที่คนเมืองทำกินกันที่บ้านนี่แหละ น้ำแกงต้องข้น เครื่องต้องถึง ซึ่งมันจะพอดีกับกะทิและเครื่องเคียง แม่ก็เรียนจากเขามาอีกที และค่อยๆ พัฒนาทำน้ำพริกข้าวซอยสูตรของตัวเองจนอยู่มือ” 

แม่แน่งน้อยเล่าถึงที่มาของตำรับอาหารอย่างเรียบง่าย กระนั้นสิ่งที่ผมสังเกตเมื่อเทียบกับข้าวซอยร้านดังเจ้าอื่นๆ คือความไม่ประนีประนอม ในขณะที่ร้านข้าวซอยส่วนใหญ่จะคำนึงถึงคนกินต่างถิ่นหรือชาวต่างชาติ จึงอาจลดความข้นของเครื่องแกงลงมา แต่ตำรับของแม่มณีคือความข้นคลั่ก ที่อีกนิดแกงข้าวซอยจะเป็นน้ำพริก เผ็ดร้อนกำลังดีในแบบที่คนไม่กินเผ็ดอาจมีเหงื่อซึมนิดๆ (ซึ่งเครื่องเคียงที่ทำสดใหม่ทุกวันช่วยบรรเทาได้ดี) และที่สำคัญ ถ้ารู้ว่าวันไหนจะมากินข้าวซอยร้านนี้ อย่าสวมเสื้อสีขาวมาเป็นอันขาด เปื้อนมาทีนี่ซักออกยากมาก 

“แม่เป็นคนรักการบริการมาก ก่อนจะเปลี่ยนมาขายข้าวซอยอย่างเดียว ก็ขายอาหารหลากหลาย ลูกค้ามีทั้งขาจรและขาประจำ ซึ่งคุณแม่จำได้หมดเลยนะว่าใครชอบกินอะไร” คุณแม่แน่งน้อยกล่าว 

ขึ้นเชียงใหม่ เข้าซอย ไปย้อนรอย ‘ข้าวซอยแม่มณี’ รสเข้มที่ได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลิน

“ส่วนข้าวซอยนี่มาดังทีหลัง ถ้าจำไม่ผิดมาจากเด็กนักเรียนโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพฯ ค่ะ ความที่ร้านเราอยู่ใกล้โรงเรียน ตอนนั้นโรงเรียนยังไม่ทำรั้ว เด็กนักเรียนเขาก็มักจะออกมากินข้าวซอยที่ร้านในตอนพักเที่ยง มาบ่อยเข้าจนคุณครูต้องตามมาดู เพราะคิดว่าร้านเราเป็นแหล่งมั่วสุม (หัวเราะ) 

“แต่นั่นล่ะ กลายเป็นว่าต่อมาคุณครูเหล่านี้ก็เป็นลูกค้าประจำเราไปเลย”

แม้จะเติบโตมาในร้านอาหาร แต่เดิมแม่แน่งน้อยไม่ได้มีความคิดจะสานต่อกิจการของคุณแม่ เธอเริ่มต้นอาชีพจากการทำงานโรงงาน ก่อนหันมาเปิดโรงงานเย็บผ้าเล็กๆ ของตัวเอง ราว พ.ศ. 2546 คุณยายกาบมณีล้มป่วย จึงจำต้องหยุดร้านเพื่อเข้าพักรักษาตัวนานกว่า 7 เดือน แม้จะหายกลับมา อาการก็เรื้อรังจนทำให้ร้านเปิดได้ไม่ต่อเนื่อง นั่นทำให้ผู้เป็นแม่ปรึกษากับลูกสาวคนกลางถึงการสานต่อกิจการอย่างจริงจัง 

หลังจากใช้เวลาตัดสินใจอยู่นาน คุณแม่แน่งน้อยก็รับปาก โดยวางเงื่อนไขว่าให้ตัดเมนูอื่นๆ ออก เหลือแต่ข้าวซอยที่เป็นเมนูยอดนิยมเพียงเมนูเดียว จากร้านอาหารอร่อยที่ไม่มีชื่อ แต่คนจดจำได้ว่าเป็นร้านข้าวซอยของแม่กาบมณี ราว พ.ศ. 2547 คนที่มาเยือนเชียงใหม่ต่างจดจำร้านอาหารที่เสิร์ฟแต่ข้าวซอยรสชาติเข้มข้นว่า ‘ข้าวซอยแม่มณี’ มาตั้งแต่นั้น

ขึ้นเชียงใหม่ เข้าซอย ไปย้อนรอย ‘ข้าวซอยแม่มณี’ รสเข้มที่ได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลิน

“ตอนที่เรามาสานต่อกิจการ แม่เราอายุหกสิบกว่าแล้ว ป่วยออดๆ แอดๆ แต่แกก็ช่วยเราเตรียมร้านตลอด บางวันก็ลวกเส้นเอง ไปคัดวัตถุดิบที่ตลาดเอง พวกเครื่องเคียงแกก็หั่นเองกับมือ คือแกรักงานนี้มากๆ เลยนะ อย่างมีดที่แกหั่นหอมเนี่ย เราเห็นตั้งแต่มีดยังหนาๆ แกใช้จนบางเหลือนิดเดียว แม้เราจะบอกว่าไม่ต้องทำก็ได้ แต่แกก็ยังอยากทำเองจนนิ้วล็อก” แม่แน่งน้อยกล่าว

“เวลายกมือ ลูกค้าคิดว่าแกชูมือแสดงความรัก แต่จริงๆ ไม่ แกนิ้วล็อก! (หัวเราะ) แต่ก็กลายเป็นภาพจำของคนส่วนใหญ่ไปแล้ว” แม่แน่งน้อยชี้ให้ดูรูปแม่มณีที่กำลังชูสัญลักษณ์มินิฮาร์ทบนบอร์ดเมนูอาหารบนผนัง 

ยังมีรายละเอียดอีกหลากหลายที่คุณแม่แน่งน้อยได้รับการปลูกฝังจากคุณยายกาบมณี จนเกิดเป็นคาแรกเตอร์ของร้าน “อย่างการเลือกใช้เนื้อไก่ ของเราก็ต่างจากร้านอื่นๆ ที่มักเสิร์ฟน่องไก่ แต่เราเสิร์ฟอกไก่ อันนี้มาจากช่วงไข้หวัดนกระบาด แม่บอกว่าลูกค้าไม่กล้าสั่งเมนูไก่เพราะเสิร์ฟน่อง ซึ่งมันมีทั้งกระดูกและเลือด เลยหันมาใช้เนื้ออกแทน ซึ่งก็ตอบโจทย์กับร้านเราด้วย เพราะแกงของเราค่อนข้างข้นอยู่แล้ว ใช้เนื้ออกทำให้กินง่ายขึ้น และเราก็ใช้มาตั้งแต่นั้น แต่ปัจจุบันก็กลับมาเสิร์ฟน่องไก่แล้ว

ขึ้นเชียงใหม่ เข้าซอย ไปย้อนรอย ‘ข้าวซอยแม่มณี’ รสเข้มที่ได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลิน
ขึ้นเชียงใหม่ เข้าซอย ไปย้อนรอย ‘ข้าวซอยแม่มณี’ รสเข้มที่ได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลิน

“หรืออย่างการมีเมนูข้าวซอยที่หลากหลาย มาจากความกังวลของแม่ว่าลูกค้าจะเบื่อ หลังจากที่เราลดเมนูอื่นจนเหลือแค่ข้าวซอย แม่ก็คิดว่า งั้นควรมีเส้นและเนื้อสัตว์ให้เลือก เราเลยมีตั้งแต่เส้นข้าวซอย เส้นกรอบ เกี๊ยว ไปจนถึงมาม่า รวมถึงเนื้อหมู ไก่ เนื้อวัว ไส้ หมูยอ ปลา ปูอัด ไปจนถึงหูหมู รวมถึงข้าวซอยแบบไม่เสิร์ฟเนื้อสัตว์ ซึ่งถ้าเป็นลูกค้าประจำ แม่ก็ยังคงจำได้ว่าใครชอบกินแบบไหน” 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งจากรสมือและแพสชันเช่นนี้ จะทำให้ร้านข้าวซอยแม่มณีกวาดรางวัลทางอาหารมาหลากหลาย ตั้งแต่ได้รับการโหวตให้เป็นร้านข้าวซอยที่รสชาติดีที่สุดในเชียงใหม่ จากรายการวิทยุ ดนตรีสีสัน ใน พ.ศ. 2544 ถูกแนะนำในนิตยสารและรายการทีวีชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เป็นจุดหมายของนักกินหลากหลาย บล็อกเกอร์ และยูทูเบอร์ด้านอาหารบิ๊กเนมระดับโลก และแน่นอน เมื่อมิชลินจัดทำเนียบสตรีทฟู้ดที่อร่อยคุ้มค่าในราคาย่อมเยาของเมืองเชียงใหม่ ข้าวซอยแม่มณีก็ได้เข้าไปอยู่ในลิสต์ตั้งแต่ปีแรก

ขึ้นเชียงใหม่ เข้าซอย ไปย้อนรอย ‘ข้าวซอยแม่มณี’ รสเข้มที่ได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลิน

“แม่ทำงานจนวันสุดท้ายของชีวิตเลยนะ ตอนกลาง พ.ศ. 2561 แกล้มป่วยจากโรคหัวใจ ก็นอนรักษาตัวอยู่บ้าน สองวันก่อนแกจะเสีย แกเรียกเรามาถามว่า เครื่องครัวอยู่ครบไหม พร้อมเปิดร้านหรือยัง แกรักร้านนี้มากๆ ไม่อยากให้มีข้อบกพร่อง ไม่อยากให้ลูกค้าผิดหวัง” คุณแม่แน่งน้อยเล่าย้อนถึงคำสั่งเสียสุดท้ายของคุณยายกาบมณี 

“เสียดายที่แกอยู่ไม่ทันตอนร้านได้รางวัลจากมิชลิน แกคงดีใจมาก แต่ถึงร้านไม่ได้ การที่แม่ทำข้าวซอยออกมาแล้วมีคนชอบ แม่ก็ดีใจมากๆ แล้ว” คุณแม่แน่งน้อยทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม 

ปัจจุบันข้าวซอยแม่มณีได้เปิดสาขาที่ 2 บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง โดยได้หลานสาวของคุณยายกาบมณีมาดูแลกิจการ ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งลูกสาว (คุณแม่แน่งน้อย) และหลานสาว ยังคงเคร่งครัดกับตำรับข้าวซอยเตาถ่านที่คุณยายริเริ่มไว้ 

ข้าวซอยแม่มณี

ที่ตั้ง : 18 ซอยโชตนา 24 เทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50300 (แผนที่)
เปิดบริการทุกวัน เวลา 9.00 – 15.00 น. (หยุดทุกวันพระ)

โทรศัพท์ : 081 961 2235

ข้าวซอยแม่มณีสาขา 2

ที่ตั้ง ​: 45/9 ถนน เชียงใหม่-ลำปาง ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50300 (แผนที่)

เปิดให้บริการทุกวัน 9.00 -17.00 น.

โทรศัพท์ 089 955 1178

Facebook : ข้าวซอยแม่มณี

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

ประกอบอาชีพรับจ้างทำหนังสือ แปลหนังสือ และผลิตสื่อ ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีงานอดิเรกคือเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ