The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

“…Let me go home…I’m Just too far from where you are…I want to come home…”

ที่ร้าน ‘Coffee เขาไม้แก้ว’ เพลง Home ของ Michael Buble กำลังเล่นอยู่

ถ้าได้ยินเพลงนี้ที่อื่นเราคงไม่อินเท่าไหร่ แต่การได้ยินเพลงนี้ที่ร้านกาแฟซึ่งตั้งอยู่ใน ‘เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว’ จังหวัดระยอง ทำให้เราอินจับใจ เพราะภาพที่เราได้เห็นขณะฟังเพลง Home คือพี่ๆ นักโทษชายที่กำลังทำงานอย่างขะมักเขม้น พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เราคิดว่าน่าจะอินกับเนื้อร้องท่อน “I want to come home” มากที่สุด

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณไปเยี่ยมชมเรือนจำกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาไร้รั้วกั้น ที่ผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 16 Peace, Justice and Strong Institutions ส่งเสริมหลักนิติธรรมและสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบ รวมถึงสร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วมและมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ

เรือนจำแห่งนี้ ด้านหน้าติดถนน ด้านหนึ่งติดวัด ด้านหนึ่งติดป่า บริเวณทางเข้ามีสวนสัตว์ ถัดจากสวนสัตว์เป็นโรงอาหารซึ่งเอาไว้เยี่ยมญาติอย่างใกล้ชิด ถัดจากโรงอาหารเป็นส่วนควบคุมที่มีรั้วหนาม ฝั่งตรงข้ามคือแปลงเกษตรจากศาสตร์พระราชาที่ใหญ่เอาการ 

ขณะที่เรากำลังสะดุดตากับป้าย ‘เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เราจะทำทุกวิธีเพื่อคืนคนดีกลับสู่ครอบครัว’ สุกฤตา เพชรหนองชุม ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง ก็เข้ามาทักทายเราอย่างเป็นกันเอง

สุกฤตา เพชรหนองชุม ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง

“รอนานมั้ยน้อง ทานอะไรแล้วยัง อาหารได้ช้านิดหนึ่งนะ เพราะช่วงนี้นักท่องเที่ยวเยอะมาก ไม่น่าเชื่อนะว่าแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของระยองจะอยู่ในเรือนจำ” พี่สาวผู้อำนวยการหัวเราะอารมณ์ดี

เธออธิบายให้เราฟังว่า ที่นี่ตั้งใจกำหนดนโยบายที่จะช่วยพัฒนาคนหนึ่งคนได้อย่างครอบคลุม โดยสร้างบรรยากาศของสถานที่ให้เหมาะสมแก่การฟื้นฟูและพัฒนา เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการเตรียมพวกเขาให้กลับเข้าสู่สังคมอย่างเป็นสุข รวมถึงมีงานสุจริตทำอย่างยั่งยืน

มองไปรอบๆ เราเห็นต้นไม้เขียวขจี ท้องฟ้ากว้างไกลและบรรยากาศแห่งความเข้าอกเข้าใจและให้โอกาส และนี่คือเรื่องราวการขับเคลื่อนและผลักดันการคืนผู้ที่เคยเลือกเส้นทางสายผิด กลับสู่สังคมอย่างยั่งยืน

01

ล้อมรั้วด้วยใจ

“ร้านนี้นักโทษชายของเราสร้างขึ้นมานะ สวยเลยใช่มั้ย พนักงานที่นี่เป็นนักโทษหญิงที่มาฝึกงานทั้งนั้น ตรงนั้นเป็นเบาะนวดสำหรับคนฝึกงานนวด ตรงนี้เป็นจุดให้อาหารปลา ส่วนอาหารนี่พ่อครัวที่ทำเป็นนักโทษชายหมดเลย” สุกฤตาเล่าเรื่องจิปาถะเกี่ยวกับร้านกาแฟแห่งนี้ด้วยน้ำเสียงของความภาคภูมิใจ เหมือนพี่สาวใจดีที่กำลังเฝ้ามองน้องๆ เติบโต ก่อนจะนำเราเดินชมส่วนต่างๆ ของเรือนจำแห่งนี้

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วเป็นเรือนจำในสังกัดเรือนจำกลางระยอง เปิดเมื่อ พ.ศ. 2506 เพื่อดำเนินภารกิจหลักคือฟื้นฟูและแก้ไขพฤติกรรมผู้กระทำผิด 

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

ปัจจุบันมีนักโทษจำนวน 162 คน โดยผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในนี้ได้ต้องเป็นนักโทษชั้นกลางและชั้นดี กล่าวคือมีโทษเหลือไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องผ่านการทดสอบและการประเมินต่างๆ เพื่อย้ายเข้ามาอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ 

สุกฤตาชี้ให้เราดูขอบเขตของพื้นที่รอบๆ ก่อนกล่าวว่า “พื้นที่ 1,661 ไร่ ของเรามีไว้เพื่อเป้าหมายเดียว คือคืนคนใหม่ที่ดีกว่ากลับสู่อ้อมกอดของคนในครอบครัว”

ผู้อำนวยการหญิงแกร่งแห่งเรือนจำชวนเราเดินไปนั่งพัก ที่อาคารยาวเปิดโล่งซึ่งใช้เป็นจุดเยี่ยมญาติอย่างใกล้ชิด โต๊ะทุกตัวในเวลานี้ถูกจับจองโดยบรรดาญาติๆ ที่มารอพบปะพูดคุยกับคนที่เขารักซึ่งอยู่ข้างในนี้ 

เรานั่งลงที่โต๊ะยาวตัวหนึ่ง บรรยากาศเวลานี้อบอวลไปด้วยความรัก ความคิดถึง และความใส่ใจซึ่งกันและกัน จากทุกผู้คน โดยเฉพาะบรรดาเจ้าหน้าที่ที่ต้อนรับทุกคนอย่างเป็นมิตร   

“ที่นี่บรรยากาศดีเลยใช่มั้ย เจ้าหน้าที่เราตั้งใจให้เป็นแบบนี้ เนื่องจากภารกิจหลักของเราคือทำทุกวิธีเพื่อคืนคนดีกลับสู่ครอบครัว เราก็ต้องพัฒนาเขาอย่างครอบคลุม 

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

“เริ่มตั้งแต่สร้างบรรยากาศให้เหมือนข้างนอกที่สุด จะเห็นว่าเรือนจำเราแทบไม่มีรั้ว เราล้อมรั้วด้วยใจ คืออยู่ด้วยความเชื่อใจกันว่าเขาจะไม่หนี โดยมีมาตรการจับคู่บัดดี้ให้เขาช่วยดูแลซึ่งกันและกัน เพราะเราอยากให้เขารู้จักรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ให้เขารู้ตัวเองว่าถ้าเขาหนีโทษอาจจะหนักกว่าเดิม ที่นี่มีคนเข้ามาเที่ยว มาเซลฟี่กันทุกวัน ชิลล์มาก เพราะเราอยากให้นักโทษเราคุ้นชินกับโลกภายนอกมากที่สุด”

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

นอกจากการสร้างบรรยากาศของสถานที่ให้เหมาะสมแก่การฟื้นฟูและพัฒนาแล้ว หัวใจสำคัญในการเตรียมพวกเขาให้กลับเข้าสู่สังคมอย่างเป็นสุข คือการกำหนดนโยบายที่จะช่วยพัฒนาคนหนึ่งคนได้อย่างครอบคลุม โดยสุกฤตาจะประชุมและทบทวนการทำงานของตนเองและเจ้าหน้าที่เสมอ เพื่อให้ทัศนคติและการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ทัศนคติการทำงานนี้ไม่ได้มาจากพี่นะ เป็นนโยบายท่านอธิบดีเลย ว่าให้เราทำเรือนจำที่ผู้ต้องขังใช้ชีวิตใกล้เคียงคนข้างนอก ท่านมองว่ามันเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และท่านบอกเสมอว่า จะไม่คืนคนเดิมกลับสู่สังคม จะคืนคนดีกลับสู่สังคม จะไม่มีคนที่มาแล้วมาเสียชีวิตในเรือนจำ เช่น พิษสุราเรื้อรังเข้ามาแล้วตาย 

“เราจะต้องดูแลเขาแบบให้เขากลับไปอยู่ในครอบครัวอย่างคนใหม่ที่ปรับและแก้ไขแล้ว เพราะเรามองว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับโอกาสในการแก้ตัว บางคนเขากระทำผิดด้วยเหตุจำเป็น บางคนอาจจะไม่รู้ว่าต้องทำยังไงจริงๆ เราก็พยายามทำทุกทางให้เขาไม่ต้องมีชีวิตแบบนั้นอีก

“ดังนั้น เวลาทำงาน พี่กับเจ้าหน้าที่ทุกคนจะทำงานโดยคิดว่าคนเหล่านี้เป็นเพื่อนมนุษย์ที่พลาดไปแล้ว และต้องการโอกาสอีกครั้ง”

02

ฟื้นฟูหัวใจอย่างครอบคลุม

สุกฤตาหยิบหนังสือรายงานของเรือนจำมาวางตรงหน้า ก่อนจะเริ่มต้นเล่าถึงนโยบายการฟื้นฟูและพัฒนาแก้ไขผู้กระทำผิดอย่างครอบคลุม โดยเน้นให้เขาสามารถออกไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน 

นโยบายนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การฝึกวิชาชีพ การฟื้นฟูพัฒนาจิตใจ และการสร้างการยอมรับจากสังคม

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำจนผ่านระยะปรับตัว ผู้ต้องขังทุกคนจะได้ฝึกวิชาชีพต่างๆ ที่พวกเขาสนใจตั้งแต่อาชีพพ่อครัว ช่างซ่อม ช่างตัดผม ควบคู่ไปกับการฝึกอาชีพด้านการเกษตร ทั้งการทำปศุสัตว์ ปุ๋ย และปลูกพืชผลต่างๆ อีกทั้งยังเลือกฝึกวิชาชีพภายนอกเรือนจำได้อีกด้วย 

โดยประสานความร่วมมือ (MOU) กับสถานประกอบการภายนอก เช่น สวนสุภัทราแลนด์ เพื่อฝึกทักษะวิชาชีพอื่นๆ เช่น ไกด์ ผู้จำหน่ายอาหาร ซึ่งเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพแก่พวกเขาภายหลังพ้นโทษ    

เมื่อผู้ต้องขังมีความชำนาญด้านทักษะอาชีพและมีการวางแผนชีวิตที่ชัดเจน ต่อมาคือการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ เปลี่ยนใจที่เคยผิดพลาดและเป็นทุกข์ให้กลับมามีความสุขอีกครั้ง ด้วยการอบรมด้านศาสนา ครอบครัวสัมพันธ์ และการเตรียมความพร้อมในการกลับสู่สังคมอย่างเป็นสุข ผ่านนโยบายการสร้างการยอมรับจากสังคมด้วยการให้บริการ 

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

ผู้ต้องขังจะได้ออกไปช่วยเหลือสังคมในหลากหลายด้าน เช่น กวาดลานวัด พูดสร้างแรงบันดาลใจ ซ่อมแซมถนน เป็นต้น ทั้งหมดจะช่วยให้พวกเขาไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ เป็นการคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน

 “จะเห็นว่าการฟื้นฟูของเราต้องครอบคลุมทุกด้าน แต่เหตุผลที่เราเน้นเรื่องการฝึกทักษะอาชีพ เพราะเราพบว่านักโทษที่เข้ามาส่วนหนึ่งอาจจะมาด้วยเหตุที่เขาว่างงาน รับจ้างไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง เหตุนี้มีส่วนผลักดันให้เขาไปทำสิ่งไม่ดีแล้วต้องโทษเข้ามา 

“เราจึงอยากจะสร้างอาชีพให้เขา เริ่มตั้งแต่ให้เขาเป็นคนเลือกว่าอยากฝึกอะไร เพราะพี่คิดว่าคนเราถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบเขาก็จะทำได้ดี แล้วเราก็สอนให้เขาทำจนออกไปใช้ได้จริง เช่น ฝึกวิชาชีพช่างยนต์ก็จะทำจนเป็น จนใช้ในชีวิตได้ และสุดท้ายต้องมีการวางแผนชีวิตชัดเจนก่อนออกไป 

“ใครที่ชีวิตลำบาก จำเป็นต้องขอทุนประกอบอาชีพ เราก็จะดำเนินเรื่องขอทุนให้ แถมเรายังติดตามและประเมินผลสำหรับคนที่ให้ยอมติดตามว่าเขามีชีวิตที่ดีจริงๆ หรือเปล่า เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรปรับปรุงแก้ไขตรงไหนในการทำงานของเรา” 

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

เนื่องจากที่นี่เน้นคืนคนดีสู่ครอบครัวผ่านการฝึกทักษะอาชีพจนชำนาญ พื้นที่สวนใหญ่ของเรือนจำแห่งนี้จึงกลายเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ บ่อปลา สวนยางพารา สวนมะม่วงหิมพานต์ และโซนฝึกอาชีพต่างๆ เช่น ช่างตัดผม ช่างซ่อม 

ภารกิจประจำวันของทุกคนหลังจากตื่นนอน สวดมนต์ ดูแลความสะอาด ทานข้าว เคารพธงชาติ คือประชุมการทำงานในแต่ละวัน และแยกกันไปฝึกทักษะอาชีพจนเชี่ยวชาญ  

“ที่นี่เน้นให้ทุกคนเลือกทำในสิ่งที่ชอบ แต่ทักษะที่ทุกคนต้องฝึกก่อนปล่อยตัวหกเดือน คือการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา เดี๋ยวพี่จะพาไปดูว่ามันดียังไง”

03

เปลี่ยนใจที่เคยผิดพลาดด้วยศาสตร์พระราชา

‘ให้เราดูแลผัก ให้ผักดูแลคุณ’

ป้ายทางเข้าหน้าศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาช่างน่ารัก ภายในบริเวณมีแปลงผักหลากหลายชนิดสลับกับเล้าสัตว์ต่างๆ เราเดินชมพืชผักเขียวๆ ทักทายสัตว์เล็กสัตว์น้อยในบรรยากาศที่สะอาดตา มีเสียงหัวเราะพูดคุยสบายๆ ของนักโทษที่กำลังพรวนดินและให้อาหารสัตว์อย่างตั้งใจ ทำให้ที่นี่ยิ่งเหมือนที่ศึกษาดูงานมากกว่าเรือนจำ 

“เราทำงานฟื้นฟูพัฒนามาสักพัก ตอนนั้นเราคิดว่าทำยังไงที่จะช่วยให้นักโทษออกไปแล้วไม่ต้องกลับมาอีก คือทำยังไงให้เขามีงานทำ มีชีวิตที่เติบโตยั่งยืน เราเลยคิดว่าเขาต้องรู้จักการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง พูดง่ายๆ คือรู้กินรู้ใช้ เขาจะต้องรู้ว่าตัวเองมีเท่าไหร่ ใช้ได้เท่าไหร่ ทำยังไงให้ไม่ต้องเป็นหนี้สิน พอไม่เป็นหนี้ โอกาสที่จะทำผิดมันก็น้อย 

“ดังนั้น เราเลยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เพราะเชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ทำได้จริงและเอาเข้าไปอยู่ในชีวิตได้เลย มี อาจารย์สมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์ด้านการเกษตรที่พวกเราเคารพมาวางผังต่างๆ และมาสอนเจ้าหน้าที่ด้วยตนเองเลย”

ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชานั้นแบ่งเป็น 4 ฐานหลัก 

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา
เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

ฐานที่ 1 คือ ฐานปศุสัตว์และประมงน้ำจืด ซึ่งพี่ๆ นักโทษจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะการเลี้ยงสัตว์เพื่อประกอบอาชีพ ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะพันธุ์ไปจนถึงการขาย มีสัตว์หลากหลายชนิดให้ฝึกเลี้ยงตามความชอบและความถนัดตั้งแต่หมูหลุม เป็ด ไก่ วัว ควาย แพะ และบรรดาปลาต่างๆ 

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

นอกจากการฝึกเลี้ยงสัตว์ 1 ตัว ให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด ทุกคนยังได้เรียนรู้การบริหารจัดการฟาร์มให้มีต้นทุนน้อยที่สุด ตั้งแต่การลดค่าอาหารสัตว์โดยใช้เศษอาหารที่เหลือจากการจัดเลี้ยงผู้ต้องขังมาผสมกับหัวอาหาร รวมถึงการนำมูลสัตว์มาแปรรูปเป็นแก๊สและปุ๋ยเพื่อหมุนเวียนใช้ในแปลงเกษตรต่อไป

ฐานที่ 2 เป็นฐานสาธิตเกษตรอินทรีย์ซึ่งเน้นการทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำส้มควันไม้ ในแต่ละวันพวกเขาจะรวบรวมเศษอาหาร มูลสัตว์ วัชพืช และผักตบชวา มาหมักเป็นปุ๋ย รวมถึงแบ่งกำลังกันออกตระเวนหาไม้บริเวณรอบๆ เรือนจำเพื่อเผาและทำเป็นน้ำส้มควันไม้กำจัดศัตรูพืช ผลผลิตที่ได้ในฐานนี้จะถูกส่งต่อให้ฐานต่อไป 

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา
เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

ฐานที่ 3 คือ ฐานผักปลอดสารพิษ ภายในมีผักสารพัดชนิดที่ปลูกหมุนเวียนกันตามฤดูกาล ตั้งแต่ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ถั่วพู ฟักทอง ผู้ต้องขังจะได้เรียนรู้วิธีดูแลพืชผักให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด รวมถึงการบริหารจัดการแปลงผักให้มีผลผลิตทั้งปี กล่าวคือปลูกพืชที่ให้ผลผลิตในระยะเวลาที่ไม่ตรงกัน เพื่อสร้างรายได้จากแปลงผักได้ตลอดปี  

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา
เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

ส่วนฐานที่ 4 เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ในฐานที่ 1 ถึง 3 ไว้ในพื้นที่ 1 ไร่ ผ่านแนวคิด ‘ศาสตร์พระราชา เกษตรทฤษฎีใหม่ 1 ไร่ 1 แสน’ โดยเป้าหมายหลักคือทำให้ผู้ต้องขังเห็นแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่ที่ตนเองมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดรายได้ตลอดปี  

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา
เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา
เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

มีการจำลองพื้นที่ 1 ไร่ ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัย แปลงเกษตร และการทำปศุสัตว์ ภายในขุดบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ปลา กบ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงหมูหลุมและการปลูกผัก โดยใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มี เช่น เศษอาหาร มูลสัตว์ มาหมุนเวียนทำเป็นปุ๋ย สิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเขารู้ว่าพื้นที่บ้านของตนเองนั้นสร้างมูลค่าได้มากกว่าที่คิด  

04

ยืนขึ้นใหม่อย่างยั่งยืน

เราเดินออกจากฐานศาสตร์พระราชาและเห็นว่าที่ฐานสาธิตเกษตรอินทรีย์มีพี่นักโทษ 2 คนกำลังดูแลการทำน้ำส้มควันไม้และการทำปุ๋ยอินทรีย์ เราจึงขอนุญาตพูดคุยกับพี่จ๋าและพี่วันถึงชีวิตและประสบการณ์ในเรือนจำแห่งนี้ พี่ชายใจดีเล่าถึงชีวิตของพวกเขาอย่างจริงใจ

“ตื่นมาอย่างแรกผมก็อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แล้วก็ทำภารกิจเช้า หน้าที่หลักของผมคือดูแลกล้วยไม้ ดูแลต้นไม้ เสร็จภารกิจก็กลับมาอาบน้ำ รอเข้าแถว แล้วแยกย้ายไปทำ ภารกิจหลักของผมคือดูแลการทำปุ๋ยและน้ำส้มควันไม้ 

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

“ถ้าให้ผมพูดตรงๆ ตอนแรกที่ต้องมาเรียนฐานศาสตร์พระราชาผมไม่ชอบเลย เหนื่อยมาก มันเปื้อน สกปรก มีมูลวัว มูลไก่ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามันเป็นอาชีพได้ ต่อให้ไม่เป็นอาชีพหลักก็เป็นอาชีพเสริมได้ ผมวางแผนชีวิตแล้วนะว่าออกไปผมอยากไปสมัครงานประจำ ทำแคบหมูขาย เพราะผมทำเป็น และปลูกอะไรเล็กๆ น้อยๆ เป็นรายได้เสริมในพื้นที่ที่เรามี ปุ๋ยราคาแพงก็ไม่เป็นไร เพราะตอนนี้เราทำเองได้” พี่จ๋าเล่าให้ฟัง พี่วันเลยเสริมว่าตนเองเห็นด้วยอย่างยิ่ง

“ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่ามันจะได้ประโยชน์อะไรนะ การเรียนรู้เกษตรกรรมมันหนักแล้วก็เหนื่อย อย่างผมโดนคดียา อันนั้นผมอาจจะเคยได้เงินง่าย แต่พอทำไปๆ ผมก็คิดขึ้นมาได้เองว่าอันนี้มันบริสุทธิ์กว่า ปลูกผักเราไม่ได้ทำร้ายใคร ผมก็วางแผนแล้วนะว่าบ้านผมขายข้าวแกงและที่บ้านมีพื้นที่ พอได้เรียนรู้เรื่องปุ๋ยเรื่องการเกษตร ผมก็จะออกไปปลูกผัก ทำปุ๋ยเอง ผักที่เราได้มาก็ใช้ในร้านข้าวแกงเราได้ ผมว่าศาสตร์พระราชามันเอาไปใช้ได้จริงนะ คิดง่ายๆ แค่เราปลูกผักได้ เราเอาไว้กินเอง เราก็ไม่ต้องไปซื้อ มันลดเงินที่ต้องใช้แล้ว ถ้าเหลือก็ขายเป็นรายได้ได้อีก อย่างน้ำส้มควันไม้ก็ขายได้ ถ้าเงินเหลือเราก็ไม่ต้องเป็นหนี้อะไร ก็ไม่ต้องพาตัวเองไปวนเวียนกับอะไรที่ไม่ดีอีก”

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

สุกฤตาเสริมว่า นอกจากองค์ความรู้ที่พวกเขาจะได้เมื่อปล่อยตัวไป ทั้งเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายด้วยการปลูกผักกินเอง เลี้ยงสัตว์ต่างๆ พวกเขายังมีส่วนในรายได้จากโครงการศาสตร์พระราชาและโครงการต่างๆ ในเรือนจำ โดยผลผลิตที่ได้ทั้งหมดจะจัดจำหน่ายผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง และจำหน่ายในโครงการตลาดนัดเรือนจำวันพุธ ซึ่งประชาชนทั่วไปให้ความสนใจจำนวนมาก

“ในเรือนจำของเรา พวกเขาทุกคนจะมีส่วนในรายได้ต่างๆ ไปด้วยกัน เรานำผลผลิตไปจัดจำหน่ายแล้วนำรายได้มาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายและส่งกองทุนเงินผลพลอยได้ เราปันผลให้ผู้ต้องขัง 50 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่ 15 เปอร์เซ็นต์ และ 35 เปอร์เซ็นต์ เป็นทุนหมุนเวียนของเรือนจำ”

รายได้เหล่านี้จะกลายเป็นเงินตั้งต้นในการประกอบอาชีพต่างๆ เมื่อพวกเขาออกไป เป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขายืนขึ้นใหม่ด้วยการวางแผนชีวิตบนหลักความพอเพียง เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

05

คืนคนดีสู่อ้อมกอดของครอบครัว

ผลผลิตที่ได้จากแปลงเกษตรศาสตร์พระราชานั้นไม่ใช่แค่พืชผักและรายได้ แต่ยังออกดอกออกผลเป็นชีวิตที่เติบโตงดงามของนักโทษหลังการปล่อยตัว 

จากโครงการติดตามความสำเร็จของผู้พ้นโทษ พบว่านักโทษที่ถูกปล่อยตัวจากที่นี่มีสถิติการกระทำผิดซ้ำ 0 เปอร์เซ็นต์ และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลังการปล่อยตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากอดีตที่เคยไม่มีอาชีพหรือทำอาชีพรับจ้างทั่วไป เริ่มขยับขยายมาสู่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย ลูกจ้างตามสถานประกอบการต่างๆ รวมถึงทำธุรกิจส่วนตัว  

“สังคมจะให้โอกาสพวกเขาขนาดไหนพี่ไม่รู้ แต่พี่จะบอกพวกเขาเสมอนะว่าต้องให้โอกาสตัวเอง พิสูจน์ตัวเองให้เขารู้ว่าเราปรับตัวได้แล้ว เราเป็นคนใหม่แล้ว ช่วงแรกๆ ออกไปเราอาจจะเจอสิ่งกระทบจิตใจบ้าง เรายิ่งต้องเข้มแข็งและวางแผนอาชีพให้ดี ปรึกษาครอบครัว ให้โอกาสตัวเองได้เป็นคนใหม่ พี่ทำงานที่นี่มาประมาณสามปี พี่รู้สึกภาคภูมิใจนะที่ได้ช่วยสร้างอาชีพ ได้เห็นว่าทุกคนที่มาอยู่มีความสุขขึ้น ได้เห็นว่าเขาไม่ต้องมาวนเวียนในเรือนจำอีก”

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

พี่วันกับพี่จ๋ายิ้มและเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของตนเองที่พวกเขาสังเกตเห็นตั้งแต่มาอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ พวกเขาพบว่าตัวเองไม่ใช่คนเดิม แต่เป็นคนที่ดีกว่าเดิม 

 “ผมก็แปลกใจตัวเองนะ พออยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆ ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น ผมเห็นว่าตัวเองเริ่มเป็นคนอดทน ขยัน ใช้เงินประหยัด ประหยัดมาก สามร้อยนี่อยู่ได้นานเลย จะใช้เงินต้องคิดก่อน มีความรับผิดชอบ และไม่เหนื่อยหน่ายกับงาน เมื่อก่อนอยู่ข้างนอกผมเป็นคนขี้เกียจมาก แต่อยู่ในนี้ผมอดทนมาก อยู่ข้างนอกชอบอะไรที่หามาง่าย ขายยาก็ขาย ผมไม่ค่อยสนใจใคร ไม่แคร์คน แต่มาอยู่ในนี้เรารับรู้ถึงชีวิตแต่ละคน ได้รู้จักที่จะเอื้ออาทรกัน เราเลยเห็นชีวิตที่ผ่านมาและไม่อยากเป็นคนเห็นแก่ตัวอีก” พี่วันเล่าอย่างจริงใจ

 “อยู่ที่นี่มันเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ นะน้อง ตอนอยู่ข้างนอกผมดื้อด้าน ไม่ฟังใคร ทำอะไรตามใจตัวเอง กินเหล้าก็กิน ทุกอย่างที่เป็นสิ่งมัวเมาผมเอาหมด ตอนนั้นจะสามสิบแล้วผมก็ยังไม่โต ผมไม่เคยเห็นตัวเองโตสักที แต่พอติดคุกเรามองเห็นว่าแม่ลำบาก ลูกลำบาก เมียแยกทางไป มีปัญหาหลายอย่าง 

“จนมาอยู่ที่นี่ ผมเห็นจริงๆ นะว่าตอนนี้ผมโตแล้ว ผมพร้อมแล้ว มีศักยภาพที่จะออกไปใช้ชีวิตอย่างคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้จากเรือนจำแห่งนี้ คือเขาสอนให้คนเรามีความรับผิดชอบ ตอนนี้ผมวางแผนชีวิตแล้วว่าออกไปจะทำอะไร ผมว่าผมพร้อมแล้วนะ” พี่จ๋าเล่าพร้อมรอยยิ้ม

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว เรือนจำไร้รั้วบนพื้นที่เกษตรพันไร่ที่คืนคนใหม่สู่สังคมด้วยศาสตร์พระราชา

เรากล่าวลาพี่ทั้งสองด้วยความเชื่อมั่นว่าพี่จะกลับบ้านอย่างมีความสุขที่สุด เรากล่าวขอบคุณพี่สุกฤตาและเจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจทำทุกวิธีเพื่อคืนคนดีกลับสู่ครอบครัว ทั้งการสร้างอาชีพที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการฟื้นฟูพวกเขาให้มีหัวใจที่แข็งแกร่งขึ้น ด้วยการทำงานที่เปี่ยมไปด้วยความหวังในมนุษย์

และหวังว่าเรื่องราวการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 16 Peace, Justice and Strong Institutions ณ เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว จะช่วยให้คุณตระหนักถึงเส้นทางที่จะเลือกเดินในแต่ละทางแยกของชีวิต แม้อยู่ในสถานการณ์บีบคั้นแค่ไหน เราต้องเลือกเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง 

ในทางกลับกัน ในฐานะเพื่อนร่วมสังคม การให้โอกาสครั้งที่ 2 แก่คนที่เคยทำผิดพลาดให้สามารถเดินกลับสู่บ้านหลังใหญ่หลังนี้ เพื่อเปลี่ยนใจที่เคยผิดพลาดและเป็นทุกข์ให้กลับมามีความสุขอีกครั้ง จะช่วยสร้างสังคมที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

Writer

Avatar

วิภาดา แหวนเพชร

ขึ้นรถไฟฟ้าหรือไปไหนจะชอบสังเกตคน ชอบคุยกับคนแปลกหน้าโดยเฉพาะ homeless ชีวิตมนุษย์นี่มหัศจรรย์มากๆ เลย ชอบจัง

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู