21 กุมภาพันธ์ 2566
2 K

จวนบ่าย 2 สัญญาณออดเลิกคาบเรียนเพิ่งเงียบเสียงไปเมื่อไม่กี่นาทีก่อน หากเป็นโรงเรียนทั่วไปคงจะเห็นภาพขวักไขว่ของบรรดานักเรียนหญิงชายขณะย้ายเปลี่ยนห้อง หรือบ้างก็กำลังควักสมุดค้นตำราวิชาถัดไปขึ้นมาเตรียม แต่ที่ ‘โรงเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์’ แห่งนี้แตกต่าง เพราะหลังกรูออกจากประตูห้องนักเรียนทั้งหมดก็มารวมตัวอยู่ใต้อาคาร บรรยากาศเริ่มจอแจ ความสงบถูกแทนด้วยเสียงหัวเราะคิกคัก ปนกับเสียงฟึ่บฟั่บจากแรงสะบัดเสื่อม้วนใหญ่ซึ่งกลิ้งไถลพลันคลายเป็นแนว และเสียงทุ้ม ๆ ของกลองพื้นบ้านที่แว่วกังวานข้ามฟากสนามมาจากอีกหนึ่งอาคารที่จัดสรรให้เป็นห้องเรียนในชั่วโมง ‘ภูมิปัญญาคนเมือง’ 

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่

โรงเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์ เป็นโรงเรียนเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ แน่นอนว่าเมื่อเอ่ยถึงโรงเรียนเอกชน หลายคนคงตั้งมาตรฐานว่าจะต้องมีหลักสูตรการศึกษาที่เข้มข้นด้านวิชาการหรือทักษะภาษาต่างประเทศ ทว่าสำหรับที่นี่ สิ่งที่ทางโรงเรียนให้ความสำคัญเกินกว่ากลับเป็นการปลูกฝังทักษะด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้หลักสูตรภูมิปัญญาคนเมือง ที่เด็ก ๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมต้นจะได้ร่ำเรียนอย่างต่อเนื่องกับพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญาหลากแขนง ครอบคลุมทั้งการละเล่นพื้นบ้าน ศิลปะการแสดง และงานหัตถกรรมล้านนา

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่

การเลือกชูความโดดเด่นด้วยทักษะที่ดูเหมือนพาว่ายทวนเข็มยุคสมัยจะเป็นต่อโรงเรียนอื่น ๆ ได้อย่างไร ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่า ป้าเล็ก-จุรีภัทร์ ขาลสุวรรณ ผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่มีคำว่าการแข่งขันในพจนานุกรม ทั้งไม่เคยมองว่าเม็ดเงินเป็นดอกผล หากกำไรคือการได้ ‘สร้างคนให้เป็นคน’ โดยมีเพียงใจรักและความมุ่งมั่นเป็นส่วนประสมทางการตลาด ที่ทำให้โรงเรียนยืนหยัดมานานกว่า 3 ทศวรรษ เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นักสืบสานภูมิปัญญารุ่นใหม่ พร้อมเชื่อมร้อยเจตนารมณ์ของคุณปู่และคุณแม่ในการมอบโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม

 ป้าเล็ก-จุรีภัทร ขาลสุวรรณ ผู้บริหารโรงเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่

ลูกไม้ใต้ต้น

“ชุมชนเรามีคนลำบากยากจนเยอะ เด็กหลายคนเลยไม่มีโอกาสได้ร่ำเรียน ดังนั้น มาช่วยกันสร้างโรงเรียนดี ๆ เพื่อเด็ก ๆ กันดีกว่า แล้วก็อย่าไปเก็บสตางค์มาก แค่พออยู่พอกินนะลูก”

ถ้อยคำเรียบง่ายของปู่กับแม่ไม่เพียงเป็นเสมือนเสาเข็มมั่นคงที่ประคองอุดมการณ์ของโรงเรียน แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ป้าเล็กเลือกเดินตามรอยทางของคุณแม่ จันทร์ดี ขาลสุวรรณ หรือ แม่ครูจันทร์ดี ผู้เป็นทั้งแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและแรงบันดาลใจด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาแก่เธอ

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่

“แม่เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านอายุสักประมาณ 15 – 16 ปี มีโอกาสเข้าไปเรียนฟ้อนรำในคุ้มเจ้านายฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท่านได้ซึมซับเกี่ยวกับศิลปะการแสดงล้านนา และศรัทธาในการฟ้อนเล็บตำรับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี”

ป้าเล็กกล่าวต่อว่า คุณแม่รักการฟ้อนเล็บมากถึงขั้นสละเวลาพักผ่อนหลังจากสอนหนังสือเหน็ดเหนื่อยตลอดวัน ชวนนักเรียนมาหัดฟ้อนรำต่อที่บ้าน จากรุ่นสู่รุ่นจนมีช่างฟ้อนเล็บศิษย์แม่ครูจันทร์ดีเกิดขึ้นมาสืบสานศิลปะอันงดงามไม่น้อยกว่า 300 ชีวิต ในวันเวลานั้นเองที่ป้าเล็กต้องคอยรับหน้าที่หุงหาอาหาร รีดชุดเสื้อผ้าสำหรับการแสดง กระทั่งดูแลรับ-ส่งบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของแม่อย่างฝืนใจ

“อันที่จริงตอนนั้นเราไม่อินกับแม่ในเรื่องนี้เลย งอนแม่ด้วยซ้ำ” ป้าเล็กว่าไปพลางหัวเราะ “ก็ตามประสาวัยรุ่นอะเนอะ ต้องมาคอยบริการนู่นนี่ อยากไปเที่ยวไหนตามใจบ้างก็ไม่ได้ไป”

 ป้าเล็ก-จุรีภัทร ขาลสุวรรณ ผู้บริหารโรงเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่

วันวานสุดกล้ำกลืนมาวันนี้กลายเป็นความทรงจำละไม เมื่อมันมีส่วนหล่อหลอมให้ป้าเล็กกลายเป็นช่างฟ้อนพรสวรรค์ซึ่งเรียนรู้ผ่านการสังเกตและจดจำ พลันเป็นคู่ซ้อมได้ในวันที่คนขาด จวบจนออกงานแสดงกับคณะช่างฟ้อนที่แม่ไว้วางใจได้ในที่สุด

“เราเหมือนเป็นตัวสำรอง ที่พอคนซ้อมมาไม่ครบแม่จะเรียกไปเติมให้ครบคู่ พอเป็นแบบนี้บ่อยเข้าเราก็เหมือนได้ฝึกฝนไปในตัว ไม่นานก็กลายมาเป็นตัวจริงขึ้นแสดงบนเวที จำได้ว่าวันนั้นเราเห็นแม่มีความสุขมาก ทำให้เราก็รู้สึกดีมาก ๆ ด้วยเช่นกัน จากนั้นเราเลยเลิกงอนแม่ ช่วยแม่สอนลูกศิษย์และฟ้อนรำมาตลอด”

คำว่า ตลอด ของป้าเล็กกินความหมายตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ ทั้งในฐานะช่างฟ้อนสายประกวด ประชัน และประดับงานบุญประเพณีต่าง ๆ ในนามตัวแทนโรงเรียน คณะ มหาวิทยาลัย แม้กระทั่งเมื่อได้บรรจุเป็นคุณครูภาษาไทย ก็ยังไม่วายต้องปลีกมาช่วยสอนนาฏศิลป์

“ไปปีแรกก็ได้ครูดีเด่นเลย เพราะเราทำอะไรได้หลายอย่าง” ป้าเล็กแย้มยิ้ม “แต่พอสอนอยู่โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม จังหวัดพะเยา ได้ราว 3 ปี แม่ก็บอกว่า หลังเกษียณอายุราชการท่านอยากเปิดเนิร์สเซอรีที่บ้าน เราจึงตัดสินใจลาออกมาช่วยแม่ทำ ‘สถานรับเลี้ยงเด็กขาลสุวรรณ’ หัดเด็กตัวเล็ก ๆ ฟ้อนรำ แล้วพาเขาขึ้นเวทีงานประจำปีบ้าง งานวันเด็กบ้าง”

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่

ภายใน 10 ปี สถานรับเลี้ยงเด็กขาลสุวรรณที่มีจำนวนนักเรียนเนืองแน่น ก็ขยับขยายเป็นโรงเรียนอนุบาลพร้อมกับผุดความคิดสอนการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งถือเป็นย่างก้าวบุกเบิกของการเปิดหลักสูตรภูมิปัญญาคนเมือง เมื่อคราวเติบโตเป็นโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาในเวลาต่อมา

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่

สานงานศิลป์

หมากเก็บ ดีดลูกแก้ว ตีไก่คน ม้าก้านกล้วย หรือปั้นดินเหนียว เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของกิจกรรมการละเล่นที่เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลโรงเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์จะได้สนุกเพลิดเพลินและปลดปล่อยพลังงานเหลือล้น ก่อนพักรับประทานอาหารจนอิ่มหนำแล้วนอนกลางวันอย่างเต็มอิ่ม

“เราสังเกตว่าเด็ก ๆ วัยนี้ชอบวิ่งเล่นซุกซนกันตามประสา พอเรียนจบภาคเช้าเราเลยชวนคุณครูพาเด็กออกมาเล่นนอกห้องเรียนและสอนการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกฝนทักษะร่างกาย ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัยทั้งด้านจิตใจ อารมณ์ สติปัญญา สังคม รวมถึงสอดแทรกวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น” 

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่

ป้าเล็กเสริมต่อว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนในเครือข่ายที่นำเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้แล้วประมาณ 8 แห่ง และแต่ละปีทุกโรงเรียนก็จะร่วมกันจัดกิจกรรมการแข่งขันการละเล่นพื้นบ้านเชื่อมสัมพันธ์ด้วย

“ถ้าช่วงใกล้มีการจัดงานแข่งขัน เด็ก ๆ จะตื่นเต้นกันจนไม่ยอมหลับยอมนอน ชวนครูออกไปเล่นอย่างเดียวเลย” ป้าเล็กเล่ากลั้วหัวเราะ

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่
ขาลสุวรรณอนุสรณ์ โรงเรียนเอกชนที่ปลูกทักษะภูมิปัญญาสร้างคนเมืองล้านนารุ่นใหม่

เมื่อเด็กอนุบาลมีกิจกรรมนันทนาการของตัวเอง ป้าเล็กจึงจัดให้บรรดารุ่นพี่ได้มีชั่วโมงฟ้อนรำ แต่ครั้นจะเฉพาะเจาะจงเท่านี้ เด็กผู้ชายก็อาจไม่ถนัด กอปรกับลึก ๆ รู้สึกเสียดายศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่กำลังค่อย ๆ เลือนหาย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้ลูกหลานคนเมืองหรือแม้แต่ผู้ปกครองหลงลืมมรดกภูมิปัญญา กระทั่งสำเนียงภาษา ป้าเล็กจึงหมายใจสืบสานรักษา พลันลงมือร่างหลักสูตรภูมิปัญญาคนเมืองขึ้นมา โดยเริ่มทดลองครั้งแรกเมื่อเปิดทำการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา

“หลักสูตรภูมิปัญญาคนเมืองของเราเน้นสอนเกี่ยวกับภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนเมืองล้านนา เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้ความเป็นมาและสืบทอดเอกลักษณ์ของคนเมืองล้านนา โดยในหลักสูตรนี้แบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่ใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือศิลปะการแสดงพื้นบ้าน อาทิ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง หรือกลองพื้นเมือง และงานหัตถศิลป์ อย่างโคมและตุงล้านนา งานต้องลายนูน งานต้องลายผ้า งานจักสาน หรือทำเครื่องสักการะล้านนา นอกจากนี้ยังมีสอนเกี่ยวกับการทำอาหารพื้นเมือง นวดพื้นบ้าน และภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง) ด้วย”

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ รร.เอกชนที่ทวนเข็มยุคสมัย ให้เด็กอนุบาล-ม.ต้น ได้เรียนวิชาภูมิปัญญาคนเมื

สำหรับครูผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาสารพัดศาสตร์ ทางโรงเรียนได้เชิญพ่อครูแม่ครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากหลากหลายชุมชนทั่วเชียงใหม่มาช่วยสอน บ้างเป็นรุ่นใหญ่หาตัวจับยาก บ้างรุ่นใหม่ใฝ่สืบสาน หรือบางคนเคยคุ้นกับแม่ครูจันทร์ดี ซึ่งพร้อมสละเวลามาสอนฟรีไม่คิดค่าแรง 

“พ่อครูแม่ครูส่วนมากที่มาสอน เขาไม่ยอมรับค่าสอนนะ บางคนบอกตั้งอธิษฐานจิตไว้แล้วว่า ก่อนตายจะขอถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูกหลาน หรืออย่าง พ่อครูชาย-ชาย ชัยชนะ ท่านเป็นพ่อครูกลองพื้นเมืองที่โด่งดังมาก แต่เมื่อแก่ตัวลงก็ไม่ค่อยได้ออกงานสักเท่าไหร่ ครั้งหนึ่งเราเคยไปเยี่ยมท่านดูท่าทางท่านเบื่อเหงาเลยชวนมาสอนที่โรงเรียน พอท่านเอ่ยตกลงเราก็พากันไปหาซื้อกลองจนได้มาครบตำรับกลองพื้นเมืองล้านนา ไม่ว่าจะเป็นกลองถิ้งบ้อม กลองปู่เจ่ กลองปูจา กลองตึ่งโนง กลองมองเซิง กลองหลวง และกลองสะบัดชัย จึงได้พ่อครูชายมาช่วยสอนและอยู่ด้วยกันจนเหมือนพี่เหมือนน้อง ซึ่งท่านนี้ก็ไม่ยอมรับค่าสอน แต่เราขอไว้ว่าอย่างน้อย ๆ เป็นค่าเดินทางก็ยังดี”

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ รร.เอกชนที่ทวนเข็มยุคสมัย ให้เด็กอนุบาล-ม.ต้น ได้เรียนวิชาภูมิปัญญาคนเมื
ขาลสุวรรณอนุสรณ์ รร.เอกชนที่ทวนเข็มยุคสมัย ให้เด็กอนุบาล-ม.ต้น ได้เรียนวิชาภูมิปัญญาคนเมื

ทุกบ่ายวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 14.00 – 16.00 น. เราจึงพบเห็นบรรยากาศชวนแปลกตาทว่าน่ารัก ที่เด็กนักเรียนทุกช่วงชั้นในชุดผ้าฝ้ายพื้นเมืองมานั่งจับกลุ่มล้อมวงสานไม้ไผ่ ไขว้ใบมะพร้าว จับค้อนดุลโลหะ ละเมียดตัดกระดาษหลากสีสัน หรือนอนเหยียดให้เพื่อนนวดจับเส้นท่าทางสบายอกสบายใจ

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ รร.เอกชนที่ทวนเข็มยุคสมัย ให้เด็กอนุบาล-ม.ต้น ได้เรียนวิชาภูมิปัญญาคนเมื

“โรงเรียนอื่นก็มีชั่วโมงสอนศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นนะ แต่น้อย บ้างสอนแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง บางแห่งสอน 1 เทอมแล้วหาย เด็ก ๆ เลยไม่ค่อยรู้เรื่องหรือลืม แต่ของเราสอนต่อเนื่องยาวตั้งแต่ ป.1 – ม.3” ป้าเล็กกล่าวอย่างชื่นบาน “สอนให้เขาพอไปวัดไปวา ช่วยกันรักษาภาษาล้านนาและรากเหง้าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพียงเท่านี้เราก็ภูมิใจแล้ว”

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ รร.เอกชนที่ทวนเข็มยุคสมัย ให้เด็กอนุบาล-ม.ต้น ได้เรียนวิชาภูมิปัญญาคนเมื

ใจนำทาง

“เราอยากให้นักเรียนของเราได้ทั้งด้านวิชาการและสร้างวิชาชีพไปพร้อมกัน” 

ในแต่ละปีโรงเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์จะได้รับการติดต่อขอนักเรียนไปร่วมงานแสดงศิลปวัฒนธรรมอยู่หลายเวที ซึ่งป้าเล็กบอกว่าสิ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เด็กนักเรียนทุกคนเห็นว่า นานาศิลปะการแสดงและศาสตร์ภูมิปัญญาที่พวกเขาเคี่ยวกรำมานั้นมีคุณค่าและต่อยอดสร้างวิชาชีพได้

“ทุกงานที่เรามีโอกาสพานักเรียนไป เราจะสอนพวกเขาเสมอว่า เราไปแสดงความสามารถนะลูก ไม่ใช่ไปหากินเอาเงินเขา ถ้าเขาให้ก็ยิ้ม ไม่ให้ก็ต้องยิ้มเหมือนกัน เราพยายามใส่ใจเรื่องนี้มาก เพื่อเป็นการสอนวิชาชีพควบคู่กับพยายามปลูกฝังให้เขาอ่อนน้อม มีจิตโอบอ้อมอารีและกล้าแสดงออกในทางที่ดี” ป้าเล็กพูด 

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ รร.เอกชนที่ทวนเข็มยุคสมัย ให้เด็กอนุบาล-ม.ต้น ได้เรียนวิชาภูมิปัญญาคนเมื

นอกจากช่วยส่งเสริมวิชาชีพ หลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นยังมีส่วนเสริมสร้างทักษะความสามารถที่พาให้นักเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์โดดเด่นและเป็นต่อในการสมัครเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 

“ปัจจุบันมีโรงเรียนใหญ่ ๆ ที่หันมาส่งเสริมด้านวัฒนธรรมอย่างจริงจัง แต่หาเด็กไม่ได้ ทำให้เด็กของเราค่อนข้างมีภาษีดีในการสมัครเข้าเรียนต่อ อย่างเมื่อวานซืนก็มีไปสอบ 3 คน ซึ่งเขาโทรกลับมาบอกว่ารับลูก ๆ เราหมด และขอบคุณที่ส่งเด็กมา แถมชมด้วยว่าฟ้อนรำเก่งมาก ได้ฟังแบบนี้เราชื่นใจและภูมิใจนะที่เห็นเขาประสบความสำเร็จ แล้วก็ไม่ใช่แค่ด้านการศึกษา แต่ในด้านความสัมพันธ์กับชุมชนพวกเขาก็ทำได้ เด็กหลายคนนำทักษะตรงนี้ไปช่วยงานชุมชน บ้างตีกลองและฟ้อนรำยามมีงานบุญประเพณีของหมู่บ้าน พอพ่อแม่เห็นลูกมีความสามารถ มีจิตอาสาก็ภาคภูมิใจ และเริ่มมองเห็นคุณค่ารวมถึงให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้นด้วย”

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ รร.เอกชนที่ทวนเข็มยุคสมัย ให้เด็กอนุบาล-ม.ต้น ได้เรียนวิชาภูมิปัญญาคนเมื

กระนั้นก็ตาม เมื่อถูกถามถึงเรื่องความคาดหวังของผู้ปกครองยุคใหม่ที่มีต่อโรงเรียนเอกชนซึ่งมักมีค่าใช้จ่ายสูง ทว่ากลับเลือกเสริมทักษะด้านภูมิปัญญา แทนที่จะเป็นทักษะภาษาหรือวิชาการอันเข้มข้น ป้าเล็กจึงอธิบายว่า ความคาดหวังดังกล่าวแทบไม่เป็นปัญหาสำหรับที่นี่ เพราะทางโรงเรียนจะมีการปูความเข้าใจในแนวคิดและบริบทของโรงเรียนแก่ผู้ปกครองตั้งแต่วันแรกที่พาลูกมาสมัคร อีกทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนก็ไม่แพงอย่างที่ใครคิด เนื่องจากสิ่งนี้เป็นเงื่อนไขที่จะช่วยสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษา อันเป็นหมุดหมายหลักของการสร้างโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมา 

“ถ้าวางโรงเรียนเป็นธุรกิจ คิดเรื่องผลกำไร บอกเลยว่าเราขาดทุนย่อยยับ” ป้าเล็กหัวเราะร่วน “เพราะเราไม่มีกลยุทธ์การตลาด ไม่ไขว่คว้าผลประกอบการ หรือคิดว่าจะต้องไปแข่งกับใคร จะมีก็แต่กลยุทธ์การประหยัด แต่ไม่เคยเอาเปรียบใคร รวมถึงพลังใจที่อยากให้ลูกหลานบ้านเราได้มีโอกาสเรียนหนังสืออย่างมีคุณภาพ”

พลังใจที่จุดไฟให้ป้าเล็กและขับเคลื่อนโรงเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์ให้หยัดยืนมาตลอด 3 ทศวรรษ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากคุณครูและบุคลากรที่มีจิตใจรักและเอ็นดูเด็ก ๆ สิ่งนี้นับเป็นตัวแปรที่ป้าเล็กให้ความสำคัญมากที่สุดในการบริหารโรงเรียน

“หัวใจของการเป็นสถานศึกษา คือการสร้างคนให้เป็นคน ซึ่งจะทำได้อันดับแรกคุณต้องมีจิตใจรักเด็ก ไม่รังเกียจเด็ก อยู่กับเด็กแล้วมีความสุข ถ้าบุคลากรทางการศึกษามีจิตใจเช่นนี้ ทุกอย่างจะเป็นไปโดยธรรมชาติ แค่ทำตามหัวใจแล้วมีความสุขและอิ่มเอมใจไปกับความสำเร็จของลูก ๆ ของเรา”

ขาลสุวรรณอนุสรณ์ รร.เอกชนที่ทวนเข็มยุคสมัย ให้เด็กอนุบาล-ม.ต้น ได้เรียนวิชาภูมิปัญญาคนเมื

Lessons Learned

  • สร้างโอกาสด้วยการพัฒนาบนฐานความต้องการ
  • แตกต่างไม่ใช่ข้อด้อย ทุกความตั้งใจล้วนมีคุณค่าสำหรับคนที่เชื่อสิ่งเดียวกัน
  • บางความสำเร็จไม่ได้สร้างจากผลกำไร หากเป็นจิตใจที่รักในการทำงาน

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย