ไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

ไม่มีใครวางใจกับอนาคตและรายได้ของตัวเองในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญกับปัจจัยกดดันที่ท้าทายมากที่สุดตอนนี้คือการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่กระทบกับกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นับเป็นวิกฤตที่วัดใจผู้บริหารทุกคนอีกครั้ง

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหารที่เชื่อว่าการทำธุรกิจเหมือนการต่อยมวย ต้องสู้ให้ครบยก กลุ้มใจได้ แต่ไม่ร้องไห้ให้ปัญหาไหน ๆ ทั้งนั้น

ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA บอกกับ The Cloud ว่านี่คือความท้าทายครั้งใหญ่ที่ก้าวข้ามไม่ง่ายเลย เพราะที่อยู่อาศัยนั้นแม้จะเป็นสินทรัพย์ แต่ก็เป็นหนี้ระยะยาวของชีวิตจึงส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออย่างชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางบริษัทคำนึงมากกว่าผลกำไรคือความอยู่รอดของคนในองค์กรรวมทั้งทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้วยเชื่อว่าถ้าคนรอบข้างอยู่ได้ เราก็อยู่ได้

ไม่เพียงดูแลคุณชีวิตที่ของลูกบ้าน สิ่งที่เธอให้ความสำคัญคือความรับผิดชอบต่อสังคม

มาตรการ ‘SENA ZERO COVID’ เป็นความตั้งใจที่เกิดขึ้น จากความคิดของผู้บริหารหญิงเก่งคนนี้ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงรีบปรับแผนธุรกิจ จัดลำดับของปัญหาและแบ่งระดับของแนวทางในการรับมืออย่างชัดเจนเพื่อดูแลลูกบ้าน ลูกค้า พนักงานของบริษัท และคู่ค้าของเสนาในวิกฤตการณ์ที่ยากจะคาดเดานี้ 

ออกหมัดชกปัญหาแบบ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ บนสังเวียนวิกฤตที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

มีมาตรการใหม่ๆ จำนวนมากที่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และจับมือกันให้กระชับมากพอเพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปได้

เป็นธรรมดาที่ทุกคนจะกลุ้มในใจตอนนี้ แต่นี่ไม่ใช่เวลาที่จะร้องไห้คร่ำครวญ สิ่งที่ทำได้คือเดินต่อไปข้างหน้าและออกหมัดชกปัญหาที่มีตรงหน้าให้กระจุยเท่านั้น

ไปตามดูฟุตเวิร์กของเธอกันดีกว่า

ออกหมัดชกปัญหาแบบ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ บนสังเวียนวิกฤตที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

COVID-19 สร้างผลกระทบกับทุกคนอย่างชัดเจน แล้วธุรกิจของเสนาเป็นอย่างไรบ้าง

ถือว่าพอไปได้แต่ก็ไม่ได้ดีหรอกค่ะ เพราะว่าเศรษฐกิจของไทยเป็นช่วงขาลงอยู่แล้ว ทางเราปรับตัวตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา อุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยน้อยลงจากมาตรการของแบงก์ชาติรวมทั้งระบบเศรษฐกิจที่ชะลอจากสงครามการค้า จึงต้องปรับแผนให้รัดกุม สำหรับยอดโอนและยอดขายยังพอไปได้ แต่ก็ไม่ได้เข้าเป้าร้อยเปอร์เซ็นต์ น่าจะอยู่ช่วงเจ็ดสิบถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ นั่นคือตัวเลขสองเดือนแรกของปีนะคะ แต่เดือนมีนาคมน่าจะเริ่มแย่ลงชัดเจน ตอนนี้ก็เลยต้องทบทวนแผนกันใหม่

พอเราเห็นข่าวว่านี่คือประเด็นระดับโลกหรือ Global Crisis เริ่มมีข่าวปลดพนักงานของกลุ่มโรงแรมและสายการบิน และยังส่งผลกระทบทางกายภาพ คือผู้คนต้องอยู่กับบ้าน ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการเดินทางมีผลกับการซื้อขายที่อยู่อาศัยแน่นอน ตอนนี้ผลกระทบเกิดทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นด้านจิตวิทยา ด้านกายภาพ ซึ่งปกติเวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจะไม่มีเรื่องนี้ คนยังไปไหนมาไหนได้ และด้านเศรษฐกิจ วันนี้ทุกบริษัทคิดแต่เรื่องลดต้นทุน คนทำงานก็กลัวว่าจะถูกเลิกจ้าง ผู้บริหารตอนนี้ก็คิดกันเรื่องเงินเดือน โบนัสหรือลดคนลง แล้วใครจะอยากเป็นหนี้ยาวสามสิบปีเพื่อซื้อบ้านในตอนนี้กัน

ออกหมัดชกปัญหาแบบ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ บนสังเวียนวิกฤตที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วิกฤตครั้งนี้จะทำให้พฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยของคนเปลี่ยนไปอย่างไร

ตอนน้ำท่วมใหญ่ คิดว่าคนจะพากันย้ายไปอยู่คอนโดฯ และเปลี่ยนทำเลไปที่ที่น้ำไม่ท่วม ซึ่งไม่จริง คนส่วนใหญ่เลือกซื้อคอนโดฯ ในทำเลเดิมๆ อยู่ดี เพราะว่าอยู่ใกล้ครอบครัว แต่รอบนี้เป็นเหตุการณ์ระดับโลก จึงคิดว่าวิถีชีวิตของคนน่าจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเชิงสังคม แต่ในที่สุด ปัจจัยด้านเศรษฐกิจก็จะยังสำคัญที่สุดอยู่ดี ตัวอย่างคนที่เงินเดือนสองหมื่นบาท ถ้าซื้อที่อยู่ก็จะผ่อนได้อย่างมากที่สุดเก้าพันถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน ถ้าจะซื้อบ้านก็เป็นทาวน์เฮาส์อยู่ประมาณรังสิตคลอง 11 แต่ถ้าซื้อคอนโดฯ ก็อาจจะได้อยู่เส้นลาดพร้าวในซอยสักห้าร้อยเมตรที่มีสระว่ายน้ำก็ได้ สุดท้ายก็เลือกคอนโดฯ อยู่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคอนโดฯ ควรจะทำตัวเหมือนเดิมหรือทำรูปร่างหน้าตาแบบเดิมนะ 

แล้วตัวผู้บริหารเองต้องปรับตัวด้วยหรือไม่ ปรับอย่างไร

นี่คือเวลาที่ดีในการจัดการเรื่องประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้คิดว่าทุกคนคงกลุ้มใจนะ แต่ไม่ใช่กลุ้มใจแล้วร้องไห้ ต้องคิดว่าเราจะทำยังไงต่อไปดีต่างหาก สมัยก่อนเวลาผู้นำเปลี่ยนแปลงอะไรบ่อยๆ เรามักคิดว่าเขาไม่มีความมั่นใจในตัวเองจึงต้องเปลี่ยนเรื่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้ ผู้นำที่มั่นใจต่างหากที่จะกล้าพูดว่าเราต้องเปลี่ยนทุกสามเดือน วิธีคิดมันไม่เหมือนเดิมแล้วเพราะสิ่งแวดล้อมที่เราเจอเปลี่ยนไปเร็วมาก สิ่งสำคัญสำหรับผู้นำ คือต้องไม่ทำให้คลุมเครือ Unclear เราต้องเคลียร์ให้ชัดเจนกับลูกน้องว่า เรามองสามเดือนหน้าเป็นแบบนี้ อยากให้พวกเขาเดินตามวิธีนี้อย่างไรให้ได้

เรียนรู้อะไรจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และนำแนวคิดมาปรับใช้กับครั้งนี้อย่างไร

กับโรค COVID-19 เราต้องมองภาพให้ใหญ่กว่าตัวบริษัท ถ้าคนอื่นภายนอกองค์กรเราอยู่ไม่ได้ ก็ใช่ว่าเราจะอยู่ได้ต่อไป ทุกคนต้องรอดไปด้วยกันเราถึงจะรอดได้ อย่างตอนน้ำท่วม พ.ศ. 2554 ดิฉันก็ลงมาจัดการเองเป็นรายวันเลย วิกฤตมันมาจากไหนไม่รู้ กระทบเราทุกวัน ไม่รู้ด้วยว่าจะจบเมื่อไหร่ ค่าใช้จ่ายตอนนั้นเยอะมาก ประมาณห้าสิบล้านบาทได้ พนักงานจำนวนหนึ่งก็ไม่มีงานทำ ไม่รู้จะทำอะไร สำนักงานขายปิดหมดเหมือนกับที่เกิดขึ้นวันนี้ ก็พยายามมองย้อนไปว่าตอนนั้นเราผ่านได้ไปยังไง 

จำได้ มีคนบอกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะช่วยลูกบ้านหรอก น้ำท่วมขนาดนั้นก็ให้ทหารเข้าไปจัดการดีกว่า ตัวดิฉันเองก็ลองไปกับทีมทหารมารอบหนึ่งเพื่อดูว่าตัวเองยังมีประโยชน์อยู่หรือไม่ คือน้ำท่วมเต็มไปหมด คนต้องการความช่วยเหลือ เราก็ไปช่วยบอกทางดูพิกัดให้เจ้าหน้าที่เขาได้ ถ้าเราไม่ลงพื้นที่จะไม่รู้เลยว่าผู้พัฒนาอสังหาฯ แบบเราจะช่วยอะไรได้บ้าง

ออกหมัดชกปัญหาแบบ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ บนสังเวียนวิกฤตที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

มาตรการ SENA ZERO COVID คืออะไร

เป็นมาตรการที่เราต้องการทำเพื่อช่วยเหลือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา ซึ่งคนเหล่านี้สำคัญกับเราทั้งหมด เกิดไอเดียของมาตรการนี้ขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราแยกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเสนาออกเป็นกลุ่ม ได้แก่ พนักงานที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัว ลูกค้าที่สนใจโครงการแต่ยังไม่ตัดสินใจซื้อ และลูกบ้านทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้ทำเรื่องโอนและผู้ที่เข้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีคู่ค้าและสังคมด้วย จากนั้นก็ไปดูว่าเราพอไปทำอะไรได้บ้าง เริ่มจากพนักงานซึ่งพวกเขากังวลอยู่สองเรื่องคือ สุขภาพกับรายได้ เราต้องสื่อสารให้ชัดเจน บอกตรงๆ ว่าช่วงนี้จะลำบากกันนะเพราะว่ารายได้จะน้อยลง ดังนั้นขอให้ทุกคนช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ดิฉันบอกเลยว่าจะไม่เอาใครออก ทุกคนต้องช่วยกัน นอกจากนี้ก็ยังทำประกันให้กับพนักงานทุกคนด้วย

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหารที่เชื่อว่าการทำธุรกิจเหมือนการต่อยมวย ต้องสู้ให้ครบยก กลุ้มใจได้ แต่ไม่ร้องไห้ให้ปัญหาไหน ๆ ทั้งนั้น

ปรับใช้มาตรการ SENA ZERO COVID ให้เข้ากับสถานการณ์อย่างไร?

เราแยกมาตรการนี้ออกเป็น Code A B และ C เป็นแผนบริหารความต่อเนื่อง (Business Continuity Plan : BCP) นี่ล่ะ โดย Code A เราก็แบ่งแนวทางเป็นทีมหน้าบ้าน ทีมหลังบ้านและทีมสนับสนุน  อย่างทีมสนับสนุนเราก็ให้เวียนคนมาทำงานครึ่งหนึ่ง และให้ทำงานที่บ้านอีกครึ่งนึ่ง ส่วนทีมหน้าบ้านเราก็จะมีฝั่งก่อสร้างกับฝั่งขาย อย่างฝั่งก่อสร้าง ต้องคุยกับคู่ค้า ถ้าเราหยุด คู่ค้าก็แย่ก่อน เพราะเขาจ้างคนงานเป็นรายวัน ดังนั้นเขาจะกระทบหนัก เราก็คุยว่าถ้าเราสร้างต่อจะช่วยกันคนละครึ่งทางอย่างไร เขาสร้างแล้วจะต้องได้รับเงิน ขณะที่เราก็ต้องทำให้แน่ใจว่าคนตรวจงานและคนจ่ายเงินยังทำหน้าที่ได้

แต่ถ้าเป็น Code B นั่นคือเกิดการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ ก็ต้องสื่อสารกันว่าจะทำงานกันอย่างไร วิธีการติดต่อสื่อสารคืออะไร มีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน ส่วน Code C คือ หากมีคนใดคนหนึ่งในอออฟฟิศติดโรค COVID-19 เราก็ติดว่าจะทำอย่างไรต่อไป ต้องมีคำตอบและแนวทางให้กับทุกเหตุการณ์เสมอ

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหารที่เชื่อว่าการทำธุรกิจเหมือนการต่อยมวย ต้องสู้ให้ครบยก กลุ้มใจได้ แต่ไม่ร้องไห้ให้ปัญหาไหน ๆ ทั้งนั้น

ทางเสนาดูแลลูกบ้านอย่างไรในสถานการณ์ขณะนี้

ถ้าเกิดมีลูกบ้านในโครงการที่ติดเชื้อ เราก็ต้องเข้าไปดูแลเขา พาเขาไปโรงพยาบาล หรือบางโครงการที่ลูกบ้านเริ่มรวมตัวคุยกันว่าจะขอลดค่าส่วนกลางในตึกกันเองได้หรือไม่ เราก็เข้าไปช่วยวางแผนด้านการเงินให้พวกเขาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราก็ไม่คิดว่าจะต้องทำมาก่อน มีเรื่องที่ดิฉันภูมิใจก็คือการดูแลลูกบ้านในช่วงที่ผ่านมา ทีมงานเรานำการแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยไปให้ลูกบ้านโครงการต่างๆ ไปบอกด้วยว่าถ้าใครไม่สบายเราจะพาไปหาหมอหรือจัดส่งอาหารมาให้ เขาก็ไม่ได้คาดคิดหรอกค่ะว่าเราจะดูแลขนาดนี้ จึงมีลูกบ้านโครงการหนึ่งทำคลิปขอบคุณส่งมาให้เรา ดีใจที่เราได้เป็นประโยชน์กับคนอื่นในแนวทางที่เราทำได้

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหารที่เชื่อว่าการทำธุรกิจเหมือนการต่อยมวย ต้องสู้ให้ครบยก กลุ้มใจได้ แต่ไม่ร้องไห้ให้ปัญหาไหน ๆ ทั้งนั้น

ประเมินระยะเวลาของมาตรการ SENA ZERO COVID นี้นานเท่าไร

มาตรการนี้ก็เหมือนแผนธุรกิจ คือสามารถเปลี่ยนได้ทุกสามอาทิตย์ เราบอกไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้อีก แต่จากนี้น่าจะเห็นแผนระยะสั้นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนแผนระยะยาวจะรู้ชัดก็ต่อเมื่อเราคุมโรคระบาดได้แล้ว แต่ตอนนี้มีเรื่องที่ยังไม่รู้เต็มไปหมด ซึ่งถ้าเหตุการณ์ช่วงนี้ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเงินก็จะกระทบกับคนที่ทำธุรกิจปกติแบบเราด้วย ซึ่งดิฉันเป็นคนที่ทำธุรกิจแบบรัดกุม หรือมักมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน เป็นเพราะมุมมองของผู้หญิงที่ไม่ชอบความเสี่ยงซึ่งต่างจากผู้บริหารชาย ข้อดีคือในยามวิกฤตแบบนี้เราจะรัดกุมกับการวางแผนและลงทุน ละเอียดละออกับเรื่องที่กังวลยิ่งทำให้บริหารจัดการสิ่งต่างๆ ผ่านไปได้ คิดเสมอว่าเราควรจะกังวลกับอะไรบ้างเพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือกับกรณีที่เลวร้ายที่สุดได้ ตั้งแต่คิดว่าพนักงานเราจะเสี่ยงติดโรคมั้ย ลูกบ้านจะเป็นอย่างไร จะเกิดวิกฤตทางการเงินหรือเปล่า คิดแล้วเอามาเตรียมตัวเพื่อป้องกัน

ออกหมัดชกปัญหาแบบ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ บนสังเวียนวิกฤตที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ถ้ารัฐบาลประกาศห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมงเพื่อควบคุมโรค จะปรับแผนของมาตรการอย่างไร

ตามแนวคิดของ SENA ZERO COVID นี่คือ Code B ค่ะ มันห้ามเดินทาง อย่างถ้าเป็นแนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม) เราจะต้องสั่งของเตรียมเอาไว้ก่อนและอยู่ที่ไซต์งาน ซึ่งปกติเขาจะตั้งแคมป์ข้างๆ หมู่บ้านและเดินมาทำงานอยู่แล้ว ผู้รับเหมากลุ่มแนวราบมักจะเป็นรายเล็ก อาจจะไม่ได้มีทุนมากนัก เราก็ต้องเข้าไปช่วย ไปถ่ายทอดแนวคิดและแนะนำว่าเขาควรเตรียมตัวอย่างไร บางไซต์งานที่จำนวนคนเยอะไปก็อาจจะขอให้ลดคนลง เราซื้อปรอทไปให้เขาใช้เพื่อตรวจสอบกันได้ตลอด แต่ถ้าเป็นโครงการแนวดิ่งอย่างคอนโดมิเนียม น่าจะไม่ลำบากเพราะมักจะเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ เขามีระบบที่ดีในการดูแลอยู่แล้ว แต่จะติดตรงที่เดินทางลำบาก ขนคนงานมาที่ไซต์งานไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็จะเอาคนมาอยู่ที่ไซต์งานระดับหนึ่งและสร้างต่อเท่าที่ทำได้ ซึ่งก็ต้องดูว่าจะทำได้จริงแค่ไหน

คำว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) สำหรับ ดร.เกษรา คือใครบ้าง และเราต้องดูแลพวกเขาทั้งหมดอย่างที่โลกธุรกิจพยายามผลักดันหรือเปล่า

ถ้ามองอย่างตรงไปตรงมา คือเราต้องอยู่ให้ได้ก่อนไม่อย่างนั้นเราจะช่วยคนอื่นไม่ได้ คำว่า ‘อยู่ได้’ ของเราคือมันใหญ่กว่าตัวเราเองนะ ธุรกิจเราก็ขึ้นกับคนภายนอกด้วย เราก็ต้องทำให้คนรอบตัวแข็งแรงและก้าวต่อไปด้วยกัน มันก็ทำเพื่อตัวเองและทำให้คนอื่นไปด้วยพร้อมกันด้วยระบบที่ดี ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เราไม่ได้ก่อสร้างเอง ไม่ได้ผลิตอิฐมาใช้เอง เพียงแต่เราจัดการ บริหารเครือข่ายของห่วงโซ่อุปทานที่มี เอามาทำเป็นสินค้าคือที่อยู่อาศัยและขายให้คนที่เชื่อใจเราว่าเราดูแลเขาได้ดี หัวใจคือจัดการเรื่องความเชื่อมั่นระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคให้ดี นั่นคือสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น

ออกหมัดชกปัญหาแบบ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ บนสังเวียนวิกฤตที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

10 Questions answered by Vice Chairman of SENA Development

1. ทุกวันนี้ ดร.เกษรา ล้างมือวันละกี่รอบ

เจ็ดถึงแปดรอบค่ะ พอมีเจลแอลกอฮอล์มันก็ง่าย นั่งทำงานก็ล้างได้ แต่แย่อย่างตรงที่ดิฉันต่อยมวยทุกวัน ยิ่งช่วงนี้เครียดเลยต่อยใหญ่เลย แผลถลอกเต็มมือ พอเช็ดแอลกอฮอล์ก็แสบ นี่ยังแปะพลาสเตอร์อยู่เลย

2. ซื้ออะไรกักตุนไว้เยอะที่สุด

ที่บ้านมีเด็กอยู่สองคน ก็เลยซื้อของเกี่ยวกับเด็กหมดเลย ลูกคนเล็กเพิ่งจะห้าขวบ ก็จะซื้อนมไว้เยอะมาก คิดจากลูกเป็นหลักก่อนแล้วก็ของตัวเอง

ออกหมัดชกปัญหาแบบ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ บนสังเวียนวิกฤตที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

3. ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมในบ้านด้วยหรือเปล่า

เราก็ยังใกล้กันอยู่นะคะ เพราะคนในบ้านไม่ได้ออกจากบ้านมาหลายวันแล้ว มีดิฉันนี่แหละที่จะคอยอยู่ห่างๆ หน่อย เพราะยังต้องออกไปทำงานข้างนอก พอบ้านมีเด็กๆ ก็จะไม่เงียบ ลูกคนโตอายุสิบขวบ คนเล็กอายุห้าขวบ พวกเขาก็ทำให้คนในบ้านสดชื่น นี่ยังกอดลูกทั้งสองคนทุกวันเลยค่ะ ไม่รู้ผิดกฎหรือเปล่า แต่เด็กๆ เขาอาจจะเข้าใจเรื่องนี้ลำบาก เพราะพวกเขายังเล็กมาก จะไปอธิบายเรื่องระยะห่างทางสังคมนี่ไม่ง่ายเลย ตัวดิฉันก็พยายามป้องกันตัวเองมากที่สุด พอเข้าบ้านก็อาบน้ำสระผมก่อนเลย แล้วถึงจะเจอ กอดลูกได้และไม่นัวเนียไปก่อนในช่วงนี้

4. ช่วงที่ต้องทำงานที่บ้านนี้ มักจะขลุกอยู่มุมไหนของบ้าน

ห้องทำงานค่ะ เยอะที่สุดเลย ก็พยายามเปลี่ยนมุมบ้างนะ ลองทำงานที่ห้องนอนแล้วก็มาห้องทำงาน ช่วงนี้ก็ทำให้ได้ไอเดียว่า ทุกบ้านคงจะอยากมีฉากหลังที่เป็นตู้หนังสือ เพราะเวลาวิดีโอคอลเราก็อยากมีฉากหลังดีๆ ไง แฟนดิฉันเขาต้องประชุมบอร์ดกับผู้บริหารที่แบงก์ก็ต้องใส่สูทและหาฉากหลังที่ดีๆ หน่อย อะไรแบบนี้ (หัวเราะ) ก็อาจจะเป็นสีสันในการออกแบบบ้านในอนาคตนะคะ

5. ชื่อ ‘เสนา’ มาจากไหน มาจากซอยเสนานิคมหรือผู้ก่อตั้งเป็นเสนาบดีหรือเปล่า

เมื่อก่อนครอบครัวของเราจนมาก พ่อของดิฉันเป็นพ่อค้าขายลอดช่องอยู่ที่ตลาดบางรัก เก็บเงินมาเรื่อยๆ ต่อมาก็อยากทำหมู่บ้าน ปรากฏว่ามีคนเสนอบ้านเก่าห้าหลังเรียงติดกันมาให้ เขาก็ขึ้นป้ายแล้วว่า ‘เสนาวิลล่า’ พ่อเขาก็เอามาทำต่อ และคิดว่าเปลืองเงินถ้าต้องเปลี่ยนค่าป้าย เพราะเงินเราไม่มีเลยจริงๆ เรามาจากพ่อค้าขายลอดช่องถ้วยละหนึ่งสลึงในตลาด พ่อก็เลยใช้ชื่อตามป้ายเดิมนี่ล่ะ จากนั้นมาก็ใช้เสนาวิลล่ามาเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดโลโก้หรือชื่อใหม่ ไม่ได้ไปจ้างเอเจนซี่อะไร พอดิฉันมาทำต่อก็ใช้ชื่อนี้เหมือนเดิมเพราะเป็นของที่พ่อทำมา

6. สิ่งที่คุณพ่อสอนเสมอคืออะไร

พ่อสอนว่าถ้าชกไม่ครบสิบยกห้ามเลิก อันนี้สำคัญมากนะโดยเฉพาะกับคนรุ่นพ่อ คือจะให้ดิฉันทำธุรกิจให้ใหญ่กว่านี้อีกกี่เท่าก็ตาม ก็ไม่คิดว่าตัวเองเก่งกว่ายุคที่พ่อก่อร่างสร้างตัวจากคนขายลอดช่องได้เลย ดิฉันเริ่มจากจุดที่เราพอมีแล้ว แม้จะเล็กกว่านี้มากแต่ก็ยังได้เรียนหนังสือ มีกิจการให้ดูแลต่อ แต่จุดที่พ่อเริ่มคือติดลบมาก ดังนั้น ถ้าไม่ใช่คนสู้ขาดใจก็ยากมากนะที่จะทำธุรกิจมาถึงวันนี้ได้ ทุกวันนี้ที่ไซต์งานทุกแห่งเราจะแจกลอดช่องให้ลูกค้าเราได้ชิม เขาก็ถามนะว่าทำไม เราก็บอกว่า เป็นเพราะเราคิดว่าที่เสนามีทุกวันนี้ได้ ก็เพราะตอนขายลอดช่องเราดูแลลูกค้าอย่างดีที่สุด อีกอย่างคืออยากให้กำลังใจพนักงานว่าเราเริ่มจากติดลบก็ยังทำอะไรใหญ่ได้เลย

7. ดร.เกษรา ทำกับข้าวหรือเปล่า

ไม่ทำค่ะ มีพี่เลี้ยงทำให้ เมนูโปรดที่ชอบกินคือมาม่าผัดค่ะ

8. เลือกดื่มกาแฟหรือน้ำผลไม้

กาแฟค่ะ กินเยอะเหมือนกัน แต่เป็นคนที่ทำอะไรแล้วจะทำแบบเดิมตลอด คือเช้าจะกินน้ำผัก กินมาสิบปีทุกวัน สายๆ ก็จะกินกาแฟ แต่จะกินไม่เกินสี่โมงเย็น เป็นแบบนี้ทุกวันเลยค่ะ

9. มีคนบอกว่า พอเราอายุเยอะจะชอบต้นไม้มากขึ้น จริงหรือเปล่า 

ก็เห็นว่าคนส่วนใหญ่เป็นนะคะ นี่ก็แก่แล้วนะ แต่ก็ยังไม่อินเท่าไหร่ เพราะอยู่คอนโดฯ เลยไม่ได้ใกล้ชิดกับต้นไม้ แต่ต้นปีหน้าจะย้ายไปอยู่บ้าน ถึงตอนนั้นอาจจะเปลี่ยนก็ได้นะ มีอารมณ์สุนทรีย์กับสิ่งรอบตัวอย่างต้นไม้มากขึ้นทำนองนั้น

10. ถ้าเป็นนักกีฬา จะเลือกแข่งกีฬาอะไร

อยากต่อยมวยค่ะ เป็นกีฬาเดียวที่เล่นเพราะมันท้าทายตัวเองตลอด ต้องคอยดูว่าตัวเองดีขึ้นทุกวันหรือเปล่า

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass