สโตอิก เป็นแมวขี้สงสัยข้างบ้านที่แอบมองเราผ่านทางริมหน้าต่างแทบทุกวัน จะเอื้อมมือไปเกาคางทักทายก็ไม่เคยทันความว่องไวของเจ้าเหมียวสีดำตัวเล็กเลยสักครั้ง ช่วงกลางวันเรามักจะเห็นสโตอิกขึ้นไปนอนหลับตาพริ้มอยู่บนต้นไม้ใหญ่หลังบ้าน แสงอาทิตย์รำไรที่ลอดผ่านใบไม้หนาครึ้มทำให้หางสีดำยาวที่พาดอยู่บนกิ่งไม้ดูคล้ายงูจนเราเผลอสะดุ้งอยู่บ่อยๆ

สวนสาธารณะ

เจ้าของสโตอิกเป็นคุณลุงชาวเบลีซที่ใช้ชีวิตวัยเกษียณเดินทางท่องเที่ยวทวีปอเมริกาใต้อยู่หลายปี ก่อนจะตัดสินใจมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นประเทศที่เราอาศัยอยู่ในตอนนั้น นอกจากสโตอิกที่คุณลุงเลี้ยงอยู่แล้ว เราก็สังเกตเห็นว่าคุณลุงมักจะถืออาหารเม็ดถุงใหญ่ออกไปแจกจ่ายให้แมวจรที่วนเวียนอยู่แถวนั้นไม่เคยขาด

สวนสาธารณะ
©barb howe,Flickr (CCBY2.0)

คุณลุงเล่าให้เราฟังว่า เจอกับสโตอิกครั้งแรกที่ Cat Park หรือสวนสาธารณะแมวในลิมา เมืองหลวงของประเทศเปรู เมื่อ 5 ปีก่อน จากที่ตั้งใจแค่อยากจะหาสวนสาธารณะเล็กๆ เงียบๆ ใกล้ที่พักเพื่อเอาไว้ไปนั่งอ่านหนังสือยามว่าง แต่โชคชะตาพาให้เดินไปเจอสวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยแมวซึ่งคุณลุงบอกว่าจะเรียก ‘แมวจร’ หรือ ‘แมวไร้บ้าน’ ก็คงไม่ถูกสักเท่าไหร่ เพราะแมวพวกนี้มีสวนสาธารณะเป็นบ้านมา 20 กว่าปีแล้ว

สวนสาธารณะ

‘แคทพาร์ก’ ที่คุณลุงพูดถึงมีชื่อเป็นทางการว่า เคนเนดีพาร์ก (Parque Kennedy, Kenedy Park) หรือสวนสาธารณะเคนเนดี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ได้รับการตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประเทศเปรูเป็นอย่างมากในช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง สวนแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 240,000 ตารางเมตร และตั้งอยู่ใจกลางย่านมิราฟลอเรส (Miraflores) ซึ่งเป็นย่านเมืองใหม่ของลิมา มีทั้งร้านค้าชั้นนำ ร้านอาหาร และโรงแรมที่พักมากมายให้เลือก

สวนสาธารณะ

ตอนที่ได้ยินคุณลุงพูดถึงแคทพาร์คเราอดรู้สึกตื่นเต้นไม่ได้ เพราะก่อนหน้าที่จะย้ายมาอยู่บัวโนสไอเรสเราเดินทางอยู่ในประเทศเปรูประมาณ 4 เดือน และมีโอกาสได้แวะไปที่ลิมาประมาณ 5 วัน ส่วนหนึ่งเพื่อหยุดพักจากการนั่งอยู่บนหลังมอเตอร์ไซค์และเพื่อเคลียร์งาน แต่เหตุผลหลักของการยอมฝ่ารถติดอันหฤโหดเข้าไปในเมืองหลวง ก็คือการไปเล่นกับแมวที่สวนเคนเนดี เพราะเราได้ยินมาจากเพื่อนหลายต่อหลายคนว่าเป็น ‘สวรรค์ของคนรักแมว’ ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลยแม้แต่นิดเดียว เรียกว่าถ้าอยู่ลิมาได้นานกว่านั้น เราคงโผล่หน้าไปเล่นกับแมวในสวนทุกวัน พอได้รู้ว่าคุณลุงรับสโตอิกมาจากที่นั่น เราก็เลยหาโอกาสนั่งคุยกับคุณลุงเป็นเรื่องเป็นราว

สวนสาธารณะ
©Mike, Flickr CCBY-SA2.0

ที่มาของประชากรแมวในสวนเคนเนดี

แมวในเคนเนดีพาร์คมีมากกว่าร้อยตัวและว่ากันว่าเป็นแบบนี้มากว่า 20 ปีแล้ว คุณลุงบอกกับเราว่าไม่มีใครรู้ที่มาจริงๆ ของแมวพวกนี้ แต่มีข้อสันนิษฐานว่าแมวตัวแรกน่าจะเป็นแมวที่บาทหลวงในโบสถ์เลี้ยงดูเอาไว้เพื่อให้จัดการกับหนู และแมวตัวนั้นก็น่าจะออกมาเตร็ดเตร่อยู่ในสวนเคนเนดีซึ่งตั้งอยู่ติดกับโบสถ์ และคงไม่คิดอยากจะย้ายไปไหนอีกเพราะทั้งหนูและแมลงอยู่ชุกชุมไปทั่ว เรียกว่ามีอาหารการกินอิ่มหนำสำราญแล้วก็ออกลูกออกหลานมามากมาย

อีกกรณีที่มีการคาดเดากันคือน่าจะมีคนจับแม่แมวท้องแก่มาปล่อยทิ้งไว้ในสวน เพราะการทำคุมกำเนิดสัตว์เลี้ยงไม่ใช่สิ่งที่นิยมทำกันในสมัยนั้น เมื่อแมวกลุ่มแรกรอดชีวิต ก็มีลูกมีหลานตามมาอีกหลายรุ่น รวมทั้งที่มีคนเอามาปล่อยเพิ่มอีกเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ประชากรแมวในสวนเคนเดนีอยู่ที่ประมาณ 80 – 120 ตัว

“มันก็ตายบ้าง ป่วยบ้าง มีคนเอาเลี้ยงบ้าง จับไปกินบ้างก็มี”

สวนสาธารณะ
สวนสาธารณะ
สวนสาธารณะ

องครักษ์พิทักษ์เหมียว

คุณลุงเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครระยะสั้นที่คอยดูแลแมวในสวน มีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันเอาอาหารไปให้แมว โดยใช้วิธีแบ่งใส่ภาชนะเล็กๆ และวางไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่แต่ละต้น และคอยจนแมวกินอาหารหมดแล้วจึงเก็บภาชนะทั้งหมดกลับมาด้วย นอกจากนี้เหล่าอาสาสมัครยังดูแลเรื่องการฉีดวัคซีน ฉีดยาคุมกำเนิด และเอาแมวออกมารักษาที่คลินิกเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเงินที่ใช้ก็ทั้งจากการควักกระเป๋าตัวเอง จากการเปิดรับบริจาคและการทำสินค้าเล็กๆ น้อยๆ มาวางขายให้แก่นักท่องเที่ยว

อาสาสมัครประจำส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมบ้างเป็นครั้งคราวโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ งานเหล่านี้ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ นอกจากการได้เห็นแมวกินอิ่ม นอนหลับ จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างก็ตรงที่อาจจะสร้างความไม่พอใจให้คนที่ไม่เห็นด้วย จนบางครั้งถึงขั้นมีปากเสียงกันในขณะเดินให้อาหาร หรือที่แย่หน่อยก็อาจจะโดนลอบรุมทำร้ายตอนกลางคืน

“บางทีก็ต้องแอบทำเอา แอบให้อาหาร แอบเอาแมวไปฉีดยา บางคนเขาไม่ชอบ ไม่อยากให้มีแมวอยู่ในสวนสาธารณะกลางเมืองแบบนี้เพราะมันสกปรก”

สวนสาธารณะ
สวนสาธารณะ

เรานึกถึงภาพของสวนเคนเนดีที่มีทั้งสวนดอกไม้ สนามหญ้า สนามเด็กเล่น ลานอัฒจันทร์กลางแจ้งขนาดใหญ่ สวนสาธารณะแห่งนี้มีพื้นที่ให้คนทุกเพศทุกวัยออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอดวัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักถ้าจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเห็นแมวที่ไม่ใช่แค่ตัวสองตัว แต่มากถึง 80 ถึง 100 ตัวที่ใช้ชีวิตอยู่ตามมุมต่างๆ ของสวนเคนเนดี ทั้งที่นอนเกลือกกลิ้งอยู่บนพื้นหญ้า บางตัวก็หลับอยู่บนต้นไม้ บางตัวก็วิ่งไล่กันอยู่ในดงดอกไม้ หรือไม่ก็ออกมานอนหงายท้องให้คนนู้นคนนี้เกาพุงเล่น ถ้าเราเป็นคนไม่ชอบแมว เราอาจจะไม่ได้มองสวนแห่งนี้เป็นสวนสวรรค์ก็ได้

สวนสาธารณะ

ช่วงที่เราอยู่ในลิมาเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทั้งศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เราจึงได้เห็นกลุ่มอาสาสมัครที่มาตั้งซุ้มเพื่อช่วยหาบ้านให้เจ้าเหมียวในสวน โดยตัวที่ได้รับเลือกมาประกาศหาบ้านจะได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนหมดแล้ว และคนที่สนใจก็สามารถรับแมวไปเลี้ยงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จะต้องผ่านการสัมภาษณ์พูดคุยกับกลุ่มอาสาสมัครและให้ที่อยู่ที่ติดต่อได้ เพื่อให้กลุ่มอาสาสมัครสามารถตามไปเยี่ยมแมวถึงที่บ้าน ที่ผ่านมาโครงการนี้สามารถหาบ้านใหม่ให้แมวได้กว่า 900 ตัว

“ตอนลุงไปใหม่ๆ มีแมวเกิน 150 ตัวในสวน แต่ตอนที่ลุงกับสโตอิกออกมา ก็เหลือแมวไม่ถึง 90 ตัวแล้ว ถ้าไม่มีคนเอาแมวมาทิ้งเพิ่มก็คงจะลดลงไปอีกเรื่อยๆ”

สวนสาธารณะ

“ช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ วันชาติ อาสาสมัครก็ต้องไปช่วยกันจับแมวมาใส่กรงแล้วเก็บรวมๆ กันไว้ในรถบรรทุก เพราะคนในเมืองพากันมาจัดงานรื่นเริงในสวนและจุดพลุ จุดประทัดกันสนุก พอจบงานก็ช่วยกันเอาแมวมาปล่อยกลับที่สวนเหมือนเดิม”

คุณลุงพูดไปก็ลูบหัวกลมๆ ของสโตอิกไปด้วยอย่างรักใคร่

สวนสาธารณะ
สวนสาธารณะ

เทศกาลกินแมวในเปรู
La Festival Gastronomico del Gato

สวนเคนเนดีไม่ได้เป็นสวรรค์สำหรับคนรักแมวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นสวรรค์ของคนรัก ‘เนื้อ’ แมวอีกด้วย โดยในเดือนกันยายนของทุกปี เมืองลา เกบราดา (La Quebrada) ซึ่งอยู่ห่างจากลิมาประมาณ 2 ชั่วโมง จะจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลการกินเนื้อแมว ซึ่งนอกเหนือจากการที่คนในหมู่บ้านจะมีแมวที่เลี้ยงเอาไว้เพื่อกินเนื้อโดยเฉพาะแล้ว ก็ยังมีการจับแมวจรจากที่อื่นๆ มาใส่กรงขังเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงช่วงเทศกาลก็เอาประทัดไปผูกติดไว้กับแมว และจุดเพื่อให้แมววิ่งแข่งกัน ก่อนจะปิดงานด้วยการฆ่าและกินเนื้อแมวเหล่านั้น

เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในแถบนั้น และจำเป็นต้องกินแมวเพื่อเอาชีวิตรอด แต่เหตุผลนี้ได้รับการต่อต้านในวงกว้างเพราะเทศกาลที่จัดอยู่ในปัจจุบันดูจะมุ่งเน้นไปที่ความสนุกสนานของการทารุณกรรมสัตว์ และเนื้อแมวที่ถูกฆ่าก็ถูกนำมาปรุงเป็นอาหารหรูหราหลากชนิด ซึ่งไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของการจัดงาน

ไม่เพียงแค่ชาวลา เกบราดา แต่นอกจากนี้ก็ยังมีชาวท้องถิ่นบางกลุ่มที่กินเนื้อแมวเป็นปกติในชีวิตประจำอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าเป็นยาที่ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

สวนสาธารณะ
สวนสาธารณะ

ใน ค.ศ. 2013 มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเปรูได้ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกเทศกาลนี้ โดยให้เหตุผลทั้งเรื่องการทารุณกรรมสัตว์และเรื่องความปลอดภัยของการกินเนื้อแมวที่อาจไม่ถูกสุขลักษณะ แต่ก็ถูกตอบโต้จากกลุ่มผู้นิยมกินเนื้อแมวว่าแมวที่กินกันส่วนใหญ่เป็นแมวที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารโดยเฉพาะ ไม่ต่างกับหมูหรือไก่ และวัฒนธรรมการกินเนื้อแมวก็ไม่ได้มีเพียงแค่ที่เปรู แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายแห่งทั่วโลกอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ในช่วงใกล้เทศกาลกินแมว กลุ่มอาสาสมัครจึงมักจะคอยจับดูตาความปลอดภัยของเจ้าเหมียวในสวนเคนเนดีในช่วงกลางคืนอย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกรณีที่แมวกว่าครึ่งสูญหายไปในช่วงใกล้เทศกาลอย่างไร้ร่องรอยหลายต่อหลายครั้ง

เราฟังคุณลุงเล่าไปและก็มองหน้าสโตอิกที่นอนตาแป๋วอยู่บนตักคุณลุงไปด้วย เจ้าแสบนี่จะฟังรู้เรื่องรึเปล่านะว่าเราสองคนกำลังคุยเรื่องอะไรกันอยู่

สวนสาธารณะ
สวนสาธารณะ

หลายคนมองว่าแมวทำให้สวนเคนเนดีกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยว ทั้งยังรู้สึกดีใจที่มีกลุ่มอาสาสมัครคอยช่วยเหลือดูแล และอยากให้ทางการลิมายื่นมือมาช่วยสนับสนุนเรื่องของอาหารและยารักษาโรคให้แก่แมวเหล่านี้บ้าง เพราะอย่างน้อยที่สุดเจ้าเหมียวก็ทำหน้าที่กำจัดหนูในสวนได้เป็นอย่างดี นอกเหนือไปจากนี้ ลิมาก็เหมือนเมืองหลวงอื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่เช่าห้องหรือเช่าบ้านอยู่ และมีส่วนน้อยที่จะอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้ การมีแมวในสวนสาธารณะให้ไปเล่นด้วยได้ตลอดจึงช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี

แต่ก็มีคนไม่น้อยที่เห็นว่าแมวเป็นพาหะนำโรคหลากหลายชนิดและมีเขี้ยวเล็บแหลมคม ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับเด็กๆ ที่ไปวิ่งเล่นอยู่ในสวน จึงมีการร้องเรียนต่อเทศบาลลิมาให้มีมาตรการจัดการกับแมวอยู่หลายครั้งหลายครา เช่น ให้กำจัดแมวทั้งหมดทิ้งและมีบทลงโทษคนที่มีให้อาหารแมว เป็นต้น

สวนสาธารณะ

ด้วยข้อเรียกร้องจากทั้งสองฝ่ายนี้ เทศบาลลิมาเลือกที่จะเดินสายกลางด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการให้อาหารหรือยาใดๆ แก่แมวในสวน และในขณะเดียวกันก็กำหนดให้มีการทำความสะอาดสวนวันละ 2 ครั้ง และฉีดยาฆ่าเชื้อที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนและแมวตามจุดต่างๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นการช่วยลดความกังวลที่ว่าแมวจะทำให้สวนสาธารณะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุเชื้อโรคต่อคนในชุมชน

สวนสาธารณะ
สวนสาธารณะ

ถึงแม้ประเด็นแมวในสวนเคนเนดีจะเป็นหัวข้อที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้ง และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปหรือแนวปฏิบัติที่แน่ชัด แต่สิ่งที่คนทั้งสองกลุ่มเห็นตรงกันคือจำนวนประชากรของแมวในสวนไม่ควรจะมีเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่ลักลอบเอาแมวเข้ามาทิ้ง และทางเทศบาลก็รับรู้ปัญหาในข้อนี้ดี จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คอยตรวจตราดูแลรอบๆ สวนในตอนกลางคืนเพื่อป้องกัน แต่จะได้ผลในระยะยาวหรือไม่อย่างไรนั้นอาจจะต้องคอยดูกันต่อไปในอนาคต

“ถ้าลุงรับแมวทุกตัวมาเลี้ยงได้ก็คงดี แต่แค่สโตอิกตัวเดียวก็ปวดหัวจะแย่แล้ว”