28 สิงหาคม 2024
7 K

Keen /kēn/ adjective ความหมาย Highly Developed, Having or Showing Eagerness or Enthusiasm. Excellent. เชี่ยวชาญอย่างสูง, แสดงความสนใจใคร่รู้อย่างมาก, ปราชญ์เปรื่อง

ตอนย้ายมาอยู่พอร์ตแลนด์เมื่อ 13 ปีก่อน สิ่งแรก ๆ ที่อุ้มทำนอกเหนือไปจากเรื่องหลัก ๆ ทั่วไปอย่างขอกรีนการ์ด ทำใบขับขี่ หรือขอ Social Security Number คืออะไรรู้ไหมคะ

คือไปซื้อรองเท้าเดินป่า หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hiking Boots ค่ะ

Hiking Boots ของ KEEN

พอร์ตแลนด์เป็นเมืองสีเขียว คนที่นี่รักธรรมชาติ ชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง เดินจากบ้าน หรือขับรถไม่กี่สิบนาทีก็ถึงป่า แถมฝนตกมากกว่าแดดออก เพราะฉะนั้น รองเท้าที่คนมีติดบ้านจึงเป็นรองเท้าเดินป่าที่กันน้ำ ทนทาน และใส่สบาย

แล้วมองไปทางไหน ใคร ๆ แถวนี้ก็ใส่รองเท้ายี่ห้อ KEEN กันทั้งนั้น ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดง ผู้ใหญ่วัยทำงาน ไปจนคุณลุงคุณป้าวัยเกษียณข้างบ้าน

อุ้มมารู้ทีหลังว่าแท้ที่จริงแล้ว KEEN เป็นนันยางแห่งบางเรา คือผลิตและมีสำนักงานใหญ่อยู่ในปอดแลนด์แดนต้นไม้เขียวของหมู่เฮานี่เอง

ประวัติความเป็นมาของเกิบแห่งชาติยี่ห้อคีนนี้ ต้อง ‘เดิน’ ทางย้อนไปไกลถึงเกือบ 20 ปีที่รัฐ Rhode Island ยามนั้นมีนักเรียน Industrial Design นายหนึ่ง นามว่า Martin Keen ที่นอกจากชอบออกแบบแล้ว ยังชอบแข่งเรือเป็นชีวิตจิตใจ ในเวลานั้นรองเท้าที่คนเรือชอบ (หรือมีให้เลือก) ใส่ ถ้าไม่เป็นบูตหนาหนัก ก็เป็นรองเท้าแตะรัดส้นยี่ห้อดัง ๆ อย่าง Teva ซึ่งมีปัญหาตรงที่ไม่ป้องกันนิ้วเท้าคนอยู่บนเรือที่เตะโน่นเตะนี่อยู่บ่อย ๆ มาร์ตินหงุดหงิด ไม่มีรองเท้าถูกใจให้ใส่ เลยเอา Duct Tape มาพันที่ปลายรองเท้า Teva ให้ใช้ได้ไปพลาง ๆ

รองเท้าแตะ Teva

พ่อของมาร์ตินเป็นคนอังกฤษ ทำงานตัดแพตเทิร์นให้รองเท้ายี่ห้อดังอย่าง Clarks มาร์ตินเลยได้คลุกคลีอยู่กับแวดวงคนทำรองเท้ามาตั้งแต่เด็ก จึงไม่น่าแปลกใจที่พอมาร์ตินเรียนจบ เขาก็ไปทำงานสั่งสมประสบการณ์กับบริษัทรองเท้าใหญ่ ๆ อย่าง Saucony และ K-SWISS อยู่หลายปี

สิ่งสำคัญที่มาร์ตินพบก็คือรองเท้าส่วนใหญ่ในท้องตลาดนั้น ‘แคบ’ เกินไป แต่คนซื้อไม่รู้เพราะตอนลองใส่ก็โอเคสบายดี แล้วคนจำนวนมากซื้อรองเท้าเพราะมัน ‘สวย’ ผลที่ตามมาคือนิ้วเท้าของคนเราเกิดอาการ Deformed หรือพัฒนาไปผิดรูป ทำให้คนเป็น Bunions หรือภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง มีกระดูกปูดบริเวณข้อต่อตรงโคนนิ้วหัวแม่เท้าเนื่องจากนิ้วหัวแม่เท้าเอนเข้าไปชิดกับนิ้วชี้ ทำให้ข้อต่อหัวแม่เท้าโตขึ้นและปูดออกมา บางคนเป็นมาก ๆ ต้องไปผ่าตัดก็มี

มาร์ตินชอบรองเท้าเยอรมันที่มีปลายกว้าง หรือที่เรียกว่า Wide Toe Box ประกอบกับงานวิจัยที่เขาทำสมัยยังอยู่กับบริษัทใหญ่ ทำให้เขาต้องเดินทางไปหมู่เกาะบอร์เนียวเพื่อศึกษารูปเท้าของชนเผ่าที่ทั้งชีวิตแทบไม่เคยใส่รองเท้า เขาพบว่าเท้าของคนเหล่านี้มีนิ้วเท้าแผ่กว้างไม่ต่างกับเท้าของทารก ผิดจากเท้าของคนสมัยใหม่ที่ใส่รองเท้าหัวแคบจนมีปัญหาทางสรีระหลายอย่างตามมา

อุ้มเองก็เพิ่งมารู้เมื่อไม่นานนี้เองค่ะ ตอนไปหารองเท้าสำหรับใส่วิ่งว่าตัวเองใส่รองเท้าหัวแคบไม่เหมาะกับเท้าตัวเองมาตลอดชีวิต HOKA ยังใส่ไม่ได้เลยค่ะ ต้องซื้อยี่ห้ออย่าง Altra หรือ KEEN นี่แหละ แล้วก็พบว่าตอนนี้รองเท้าหัวกว้างพื้นเรียบบางที่เรียกว่า Barefoot หรือ Minimalist Shoes กำลังเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจมาก มีคนอธิบายไว้ในเว็บนี้ เผื่อใครสนใจค่ะ

อธิบายง่าย ๆ ก็คือรองเท้าที่ดีต่อร่างกาย คือรองเท้าที่ใส่แล้วให้โอกาสเท้าทำงานได้เองตามธรรมชาติ หัวรองเท้ากว้าง ไม่บีบรัด พื้นรองเท้าบางเรียบแต่ยืดหยุ่นพับได้ประหนึ่งเดินด้วยเท้าเปล่า ไม่มีวัสดุรองพื้นหนาหนึบหรือบังคับรูปเท้า ตอนนี้อุ้มถึงกับต้องไปเอารองเท้าที่มีอยู่มาดู แล้วพบว่าปลายรองเท้าเรียวแทบทุกคู่ มิน่าเท้าถึงมีปัญหา น่าจะต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย รวมทั้งรองเท้าของลูก ๆ ด้วย เรื่องใหญ่เหมือนกันนะคะ แต่เปลี่ยนรองเท้าน่าจะดีกว่าต้องมีปัญหาด้านสรีระอื่น ๆ ให้ต้องแก้ตามมาอีก

กลับมาที่มาร์ตินกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเขา (และของคนอเมริกันนับล้าน) คือ 911 หรือวันที่เครื่องบินของผู้ก่อการณ์ร้ายพุ่งเข้าชนตึก World Trade Center จนถล่มลงมา มีผู้คนล้มตายและบาดเจ็บหลายพัน (สมคิดก็อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วยนะคะ ฮีเล่าว่าภาพที่เห็นแผ่นกระดาษและผู้คนร่วงลงมาจากฟ้าในวันนั้นยังฝังอยู่ในความทรงจำ และเปลี่ยนเส้นทางเดินชีวิตตัวเองไปเลย) มาร์ตินตัดสินใจว่าจะเป็นนายของตัวเอง และสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา

เขารู้จักกับ Rory Fuerst ซึ่งอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมรองเท้าตั้งแต่สมัยทำงาน ทั้งสองตัดสินใจร่วมกันสร้างแบรนด์รองเท้า KEEN ซึ่งเป็นทั้งนามสกุลของมาร์ติน และเป็นคำที่มีความหมายในตัวเองอย่างที่อุ้มจั่วหัวไว้ในตอนต้นเรื่อง Rory รับผิดชอบด้านการผลิตและการตลาด ส่วนมาร์ตินดูแลด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งสองมีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าจะทำรองเท้าที่ดีต่อคนใส่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

มาร์ตินสร้าง ‘Library of Footshapes’ ด้วยการพิมพ์เท้าของคนจริง ๆ มากมายหลายแบบ เพื่อศึกษาขนาดและรูปร่างที่ต่างกันของเท้าแต่ละคน แล้วออกแบบรองเท้ารุ่นแรก Newport Sandals ซึ่งมีลักษณะเด่นคือมียางหุ้มปลายเท้า (Toe Bumper) ที่หนาและกว้าง ทำให้ปกป้องนิ้วเท้าและใส่สบายด้วย แรก ๆ ที่ผลิตออกมา ตลาดใหญ่คือชาวเรือและคนที่ชอบกิจกรรมทางน้ำ แต่ต่อมาก็มีรองเท้าบูต ทำให้ตลาดขยายไปสู่คนชอบเดินป่าและคนทำงานที่ต้องสมบุกสมบัน แต่ก็ต้องการความสบาย ใส่ได้ทั้งวัน ไม่เจ็บเท้า

รุ่น Newport Sandals และ Tacoma Boots

1 ปีก่อนที่มาร์ตินจะเริ่มต้น KEEN มีเหตุการณ์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นกับเขา ระหว่างที่นั่งทำงานด้วยแล็ปท็อป Apple อยู่ใน Airport Lounge ที่ซานฟรานซิสโก อยู่ดี ๆ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งมาคุยด้วย บอกว่าตัวเองทำการตลาดให้ Apple เขาเห็นมาร์ตินกำลังเปิดไฟล์ออกแบบรองเท้าอยู่ หน้าตาแปลกใหม่น่าสนใจ เลยชวนให้เอาแบบนั้นไปให้เจ้านายดู เจ้านายคนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ Steve Jobs! ซึ่งนั่งอยู่ในเลานจ์นั้นพอดี

มาร์ตินสบช่องทางทำการตลาด จึงขอเบอร์รองเท้าจากสตีฟ (ฮีใส่เบอร์ 11.5) แล้วหลังจากนั้นก็ส่งรองเท้า KEEN ไปให้สตีฟใส่อยู่นานหลายปี แล้วฮีก็ชอบมาก ใส่ตลอดเวลา จนเป็นที่รู้กันว่าเจ้าพ่อ Apple นั้นเป็นแฟนเหนียวแน่นของ KEEN และคอยส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่าง iPod และ iMac รุ่นแรกมาให้มาร์ตินใช้ด้วยเช่นกัน ฟังดูเป็นความสัมพันธ์ที่น่ารักดี และทำให้ KEEN มีอภิมหาอินฟลูฯ แบบไม่ต้องเสียเงินจ้างตั้งแต่เปิดตัวเลยด้วยซ้ำ

เพียงปีแรกกับรองเท้ารุ่นเดียว KEEN ทำยอดขายไปได้ 1.5 ล้านเหรียญฯ มีออร์เดอร์ใหญ่จากร้านขวัญใจคนเดินป่าอย่าง REI และห้างดังอย่าง Nordstrom เรียกว่าขายดีจนฉุดไม่อยู่ เข้าปีที่ 2 ยอดขายเพิ่มขึ้น 10 เท่าเป็น 15 ล้านเหรียญฯ และผ่านไป 20 ปี ตอนนี้ยอดขายของ KEEN พุ่งทะลุ 330 ล้านเหรียญฯ หรือ 200 เท่าของปีแรกที่วางตลาดไปแล้ว มีพนักงานและสำนักงานทั่วโลก รวมทั้งมีโรงงานผลิตรองเท้าของตัวเอง 4 แห่ง อยู่ที่พอร์ตแลนด์ โดมินิกันรีพับลิก และชลบุรีกับพิมาย ไทยแลนด์!!

มาร์ตินบอกว่าเขาแน่ใจในรองเท้าที่ตัวเองออกแบบ จึงทั้งแปลกใจและไม่แปลกใจที่ KEEN เติบโตอย่างก้าวกระโดด แถม Timberland ยังให้เขาไปออกแบบรองเท้ารุ่น Mion (อ่านว่า มาย-ออน)

รองเท้า Mion ของ Timberland

แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง มาร์ตินก็ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดของ KEEN ให้กับหุ้นส่วน Rory Fuerst แล้วไปเปิดบริษัทใหม่ ชื่อ Focal Upright ออกแบบเก้าอี้ที่ ‘ยืน’ ทำงานได้ ขายดิบขายดีไปทั่วสหรัฐอเมริกา มาร์ตินบอกว่าเขาออกแบบไล่จากเท้าขึ้นมาถึงที่นั่ง (ต่อไปจะออกแบบหมวกกันน็อกอะไรงี้ไหมนะ)

เก้าอี้ทำงาน Focal Upright

แต่ทำอยู่ได้ 5 ปีฮีก็ขายหุ้นอีก คือชะรอยคุณมาร์ตินนี่แกจะมีความขี้เบื่อรวยแล้วเลิก ต้องหาอะไรใหม่ทำอยู่เรื่อย ๆ ล่าสุดใน LinkedIn เขาใส่คำบรรยายไว้สั้น ๆ ว่า เป็นดีไซเนอร์เจ้าของ KEEN Design Studio เราคงต้องดูกันต่อไปว่าจะมีผลิตภัณฑ์ยอดฮิตอะไรออกมาอีกหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ชื่อและวิสัยทัศน์ของเขา ยังคงประทับอยู่ในรองเท้า KEEN หลายร้อยล้านคู่ที่ผู้คนใส่กันทั่วโลก

สำหรับอุ้ม ข้อดีที่สุดของ KEEN ก็คือความทนค่ะ คู่แรกที่อุ้มซื้อมาเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ใส่เดินป่าแคมปิ้งมาอย่างเยอะมาก แต่ไม่สึกเลย หน้าตายังไม่ต่างจากคู่ใหม่ที่เพิ่งซื้อเมื่อไม่นานนี้ด้วยซ้ำ (ที่ต้องซื้อคู่ใหม่ เพราะพอมีลูกแล้วเท้าใหญ่ขึ้นแหละค่ะ ไม่รู้ใครเป็นบ้างไหม อุ้มนี่จากเบอร์ 6 ขึ้นมาเป็นเบอร์ 8 แหนะค่ะ) 

และนี่เป็นปณิธาณที่อยากให้คนซื้อแล้วใส่ไปได้นาน ๆ จะได้ไม่ต้องซื้อรองเท้าใหม่บ่อย ๆ ต่างจากแผนการตลาดทั่ว ๆ ไปที่อยากให้คนต้องซื้อของใหม่ทุกซีซัน นับว่าน่านิยมมาก

ข้อดีอย่างที่ 2 ก็คือความเป็นรองเท้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เป็นรองเท้าปลอด PFAS (อ่านว่า พีฟาส) มาตั้งแต่ปี 2018 คือก่อนหน้ารองเท้ายี่ห้อใด ๆ ทั้งหมดในโลก อันว่า PFAS นี้คือ Per- and polyfluoroalkyl Substances หรือสารประกอบทางเคมีหลากหลายชนิดที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม (แค่ชื่อยังอ่านไม่ออกเลย) คุณสมบัติหนึ่งคือช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความกันน้ำ แต่ผลร้ายที่สุดก็คือมันไม่ย่อยสลายหายไปจากโลกง่าย ๆ แต่จะกลายเป็นสารตกค้างในดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งมนุษย์ก็บริโภคกลับเข้าไปในร่างกาย

จากการวิจัยพบว่า 97% ของคนอเมริกันมีสาร PFAS ในกระแสเลือด (คนไทยก็น่าจะร่วมร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน) ในรายงานของ EPA (Environmental Protection Agency) ซึ่งเป็นองค์กรของสหรัฐอเมริกา บอกว่า PFAS อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพคนเราได้หลายอย่าง ทั้งทำให้ผู้หญิงมีลูกยาก เด็กมีพัฒนาการผิดปกติ โตเร็วเกินวัย ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งบางชนิดอย่างต่อมลูกหมาก ตับ หรือไต ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น อ้วนง่าย ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อได้น้อยลง ทำให้ตอบสนองต่อวัคซีนไม่ดีเท่าที่ควร เป็นต้น

ตอนนี้จึงมีการรณรงค์ให้ผู้ผลิตต่าง ๆ ลดการใช้ PFAS ในขณะที่ KEEN เลิกมานานหลายปี แถมยังทำคู่มือให้แบรนด์อื่น ๆ เอาไปใช้แบบไม่หวงไม่ห้ามอีกด้วย

ล่าสุด อุ้มพาลูก ๆ ไปงานฉายหนังที่ KEEN เป็นสปอนเซอร์ ชื่อว่า Footprints on Katmai ซึ่งพูดถึงผลกระทบของบริโภคนิยมต่อโลกที่แม้แต่ดินแดนธรรมชาติห่างไกลความเจริญอย่างอลาสกา ยังต้องรับขยะที่ล่องลอยจากทั่วโลกมาเกยฝั่ง ศิลปิน Max Romey กลับบ้านเกิดไปเดินตามรอยเท้าคุณย่าของตัวเอง เก็บขยะรองเท้าเอามาประทับรอยวาดเป็นภาพที่ทั้งสวยและชวนให้ฉุกคิด หนังความยาว 20 กว่านาที แต่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลและฟุตเทจที่สวยจนอ้าปากค้าง อุ้มขอแนะนำอย่างมากให้ดูกันค่ะ

อ้อ ตึกที่ฉายหนังคือ KEEN Garage และสำนักงานใหญ่ในเมืองพอร์ตแลนด์ ซึ่งอยู่ในย่าน Pearl District ซึ่งใครอยู่พอร์ตแลนด์ก็รู้ว่าเป็นย่านแวววาวไฉไล เป็นตำบลที่คนฮิป ๆ เขาอยู่กัน แล้วอาคารของ KEEN นี้ก็ไม่ใช่แค่เท่ธรรมดาด้วยนะคะ แต่ว่าเป็นตึกเก่าอายุ 100 กว่าปีที่ซื้อมาปรับปรุงด้วยความตั้งใจว่าจะเอาวัสดุต่าง ๆ มา Repurpose ให้มากที่สุดและเหลือทิ้งน้อยที่สุด จากที่คาดการณ์ว่าจะมีขยะก่อสร้างต้องเอาไปทิ้งประมาณ 25 คันรถบรรทุก สุดท้ายเหลือไปทิ้งจริง ๆ แค่ 1 คันรถเท่านั้นเอง! เก่งมาก ขอปรบมือย่ำเท้าด้วยรองเท้าบูตรุ่น TARGHEE ดัง ๆ เป็นการส่งท้าย

ตอนกลับไทย อุ้มเห็นว่า KEEN ก็ฮิตเหลือหลาย เลยเอาเรื่องที่คนใส่อาจจะยังไม่รู้มาเล่าให้ฟังกันค่ะ เพราะนอกจากจะใส่สบาย ใส่แล้วเหมือนอินฟลูฯ สายแคมปิ้งชงกาแฟริมหน้าผา ยังมีที่มาและความตั้งอกตั้งใจรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกิบที่ท่านสวม อยากรู้ว่า KEEN ทำอะไรดี ๆ ในโลกนี้อีกบ้าง เข้าไปอ่านต่อกันได้ที่นี่เลยค่ะ

Writer & Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์