29 พฤศจิกายน 2022
2 K

“เรื่องนี้เราจะไม่รอ”

เป็นคำพูดที่ นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการของธนาคารกสิกรไทยเน้นย้ำกับ The Cloud เพื่อแสดงเจตนาที่แน่วแน่ในการร่วมเปลี่ยนผ่านสังคมธุรกิจของประเทศไทยไปสู่กระบวนการที่ยั่งยืน แม้เรื่องนี้จะไม่ง่าย แต่ธนาคารยักษ์ใหญ่ก็ยินดีที่จะก้าวออกมาข้างหน้าเพื่อชวนทุกคนเดินไปด้วยกัน

เป้าหมายที่ทุกองค์กรทั่วโลกตั้งใจทำให้สำเร็จ คือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งครอบคลุมทุกมิติของมนุษยชาติ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด แนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี หรือ ESG ถูกหยิบยกมาใช้บ่อยขึ้น และกำลังจะกลายเป็นขอบเส้นของมาตรฐานการทำธุรกิจในบริบทใหม่ที่ทุกคนต้องเดินตาม

เปลี่ยนวันนี้ ก่อนจะไม่มีโอกาสได้เปลี่ยน และธนาคารกสิกรไทยก็เริ่มต้นมาได้สักพักแล้ว

"ถ้าทำไม่ได้ เราจะไม่พูด” วิถีความยั่งยืนแบบ Walk the Talk ของธนาคารกสิกรไทย

เริ่มต้นที่ตัวเรา

สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน คือการชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรมของผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เริ่มจากกระบวนการทำงานภายในองค์กรที่ทำได้ทันที จากนั้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ ส่วนที่ยากที่สุดคือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยู่ปลายทาง ซึ่งต้องนำมาพิจารณาด้วย

การจัดการภายในจึงเป็นสิ่งที่เริ่มได้เร็วกว่าทางอื่น

“เรามองมาที่การทำงานของเรา ว่าอะไรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะบ้าง นั่นก็คือรถยนต์ที่เราใช้ เรามีรถเป็นพันคัน สองคือการใช้ไฟฟ้า แม้เราจะไม่ใช่โรงงาน แต่ก็มีสาขา มีสำนักงานขนาดใหญ่ทั่วประเทศถึง 7 อาคาร ซึ่งใช้ไฟฟ้าพอสมควร

“ถามว่าจะไม่ใช้รถหรือไฟฟ้าได้ไหม ก็ไม่ได้ เราพยายามปรับไปใช้น้ำมัน E85 ก็ช่วยลดคาร์บอนได้บ้าง สุดท้ายเราจะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในอนาคต ดังนั้น รถหมดสัญญาแล้วก็จะทยอยเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าครับ ส่วนเรื่องการใช้ไฟฟ้า เราติดโซลาร์เซลล์ตามสาขาต่าง ๆ คิดว่าน่าจะประมาณ 200 – 300 สาขาที่ธนาคารเป็นเจ้าของพื้นที่และมีศักยภาพในการติดตั้งได้ จากทั้งหมด 800 สาขาที่มี ก็ช่วยลดค่าไฟได้ 10 – 20% ที่เหลือก็ต้องหักล้างเรื่องคาร์บอนเครดิตเอาอีกที” 

ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีร่องรอยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น

"ถ้าทำไม่ได้ เราจะไม่พูด” วิถีความยั่งยืนแบบ Walk the Talk ของธนาคารกสิกรไทย

Green Transition การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่เป็นไปได้

เป้าหมายที่สำคัญของธนาคารกสิกรไทยในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย โดยธนาคารมีความตั้งใจจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคาร ใน พ.ศ. 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารตามทิศทางของประเทศ ด้วยชุดความคิดที่เป็นไปได้และทำได้จริงมากกว่าการประกาศเป้าหมายเท่ ๆ

“สิ่งที่ท้าทายคือ พอร์ตสินเชื่อของเรามีถึง 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่มาก เราต้องดูว่าจะเริ่มตรงไหน จบตรงไหน ทำได้จริงแค่ไหน ซึ่งเราทำคนเดียวไม่ได้ ขึ้นกับว่าลูกค้าเอากับเราด้วยไหม เราก็ต้องไปเฟ้นหาว่าลูกค้ากลุ่มไหนจะไปด้วยกันต่อ เราเพิ่งจ้างที่ปรึกษาระดับโลกมาวิเคราะห์พอร์ตสินเชื่อของเรา ดูเป็นรายอุตสาหกรรมเลย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มที่เราจะเน้น โดยประเมินออกมาเป็น 3 เซกเตอร์ที่มีบทบาทมากที่สุดคือ 27% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งพอร์ตของเรา ส่วนอีก 2 อันคิดเป็นสัดส่วน 13% ถ้าทำทั้งหมด 5 กลุ่มนี้ ก็จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งพอร์ตของเรา อย่างธุรกิจพลังงาน โรงไฟฟ้าเป็นพอร์ตที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายภาครัฐทั้งเรื่องพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าด้วย เรื่องนี้เราจับตามองอยู่ แต่เราก็ไม่รอนะ เราคุยกับลูกค้าไปเลยว่าพอจะเปลี่ยนตรงไหน อย่างไรได้บ้าง”

บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่างเข้าใจและรู้ถึงความสำคัญของ ESG รวมทั้งรายงานต่าง ๆ ที่ต้องจัดทำเพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับดูแล คุณกฤษณ์มองว่านี่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“สุดท้ายเราต้องพูดเป็นตัวเลขออกมาให้ได้ อย่างพวกถ่านหิน เราก็ไม่ปล่อยกู้ให้โรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ เราทำแบบนี้มาได้สักปีหนึ่งแล้ว คือของเดิมที่มีอยู่ แต่ถ้าเขาจะปรับปรุงเพื่อลดการใช้ถ่านหินลง เราก็พร้อมคุย เพราะว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถึงยังไงผมก็ไม่คิดว่าเราจะตัดพวกเขาออกไปได้ เพราะว่าเวลาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าไปแล้ว เราก็ต้องอยู่กับเขาไปอีก 20 ปี สมมติสร้างโรงงานมา 5 พันล้านแล้ว จะมีใครมาปิดมันง่าย ๆ ดังนั้น ต้องช่วยกันคิดที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง

“ช่วงที่ผ่านมามีประชุมกับกลุ่มนักลงทุนตลอด ล่าสุดมีกลุ่มที่เข้ามาขอคุยเรื่อง ESG อย่างเดียวเลย ดูว่าเราเป็นอย่างไร อันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ เราก็รู้สึกดี ผมเองไม่ได้มีคำตอบให้เขาทุกอย่าง แต่เราบอกเขาเรื่อง KBank Way คือ Walk the Talk พูดแล้วก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ เราจะไม่พูด”

เรียบง่ายแต่หนักแน่นเอาเรื่อง สำคัญวิถีของธนาคารกสิกรไทย

ความยั่งยืนทำคนเดียวไม่ได้

สิ่งที่เป็นอุปสรรคและความท้าทายของธนาคารคือ การชวนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กมาร่วมเปลี่ยนผ่านกระบวนการทางธุรกิจไปด้วยกัน ซึ่งกลุ่มนี้อาจต้องใช้ทั้งแรงผลักและแรงจูงใจมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่

“ความท้าทายของเราคือลูกค้าขนาดที่เล็กลงมา ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เขาจะมองว่าพอต้องใช้เงินลงทุนที่มากขึ้น แต่ผลตอบแทนหรือกำไรที่ได้อาจจะลดลง แล้วแบบนี้แรงจูงใจที่จะให้เขาทำคืออะไร อย่างลงทุนทำโรงงานสีเขียว 100 ล้านบาท ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการก็จะคิดว่าทำไปทำไม อย่างแรกเราต้องมีแรงจูงใจ เราเองต้องไปชวนลูกค้าคุย เอาตัวเลขไปเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจ อันที่สองผมว่าภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วยด้วย ผมคิดว่าภาครัฐควรทำเป็นรายอุตสาหกรรมไป ไม่ต้องทำผ่านระบบธนาคาร บอกไปเลยว่าถ้าใครเดินมาทางนี้ จะได้แบบนี้ ถ้าใครไม่ทำตามนี้ ก็จะเกิดผลแบบนี้ ภาครัฐก็ต้องเล่น 2 บทด้วย” 

ล่าสุด ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand Taxonomy) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำนิยามและหมวดหมู่ เพื่อให้ภาครัฐ ธนาคาร และกลุ่มธุรกิจ มีความเข้าใจตรงกันและมีจุดที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดแผนและนโยบายต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งสถาบันการเงินต้องประเมินความเสี่ยง รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกก้าวของการร่วมมือกันในวงที่กว้างขึ้น

“ในต่างประเทศเขาบังคับผ่านกฎหมายเป็นรายอุตสาหกรรมเลยนะ เริ่มจากการวัดคาร์บอนก่อน พิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมไป ซึ่งปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีเรื่องพวกนั้น ตอนนี้เริ่มแล้วแต่ยังเป็นภาพกว้าง ๆ อยู่ ผมว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ เราเอาสิ่งนั้นมาเชื่อมกับธุรกิจเยอะขึ้น ผมเป็นกรรมการผู้จัดการที่ดูแลด้านเป้าหมายสินเชื่อและด้านความเสี่ยง ดูว่าเป็นอย่างไร รายได้มาจากทางไหน เสี่ยงอย่างไร ผมก็เอาเรื่อง ESG ใส่ไปด้วย มันยากขึ้นคือเป้าสินเชื่อก็ต้องทำให้ได้ เรื่อง ESG ก็ต้องทำให้ชัดว่าพอร์ตสินเชื่อเราจะวิ่งไปทางไหน และทำไมต้องเป็นทางนั้น นี่เป็นโจทย์ทางธุรกิจไปแล้ว

“เรามี Climate Pillar เป็นเสาหลักอันใหม่ขึ้นมา คือรวมโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาไว้ด้วยกัน แล้วทางนี้ก็จะเอามาตั้งเป็นเป้า เราอยากเป็นผู้นำด้าน ESG ของภูมิภาคก็ต้องออกมาทำก่อน ทั้งการตั้งเป้าหมาย มีคำมั่นสัญญา ผู้นำในความหมายของเราไม่ใช่ผู้นำที่ทิ้งคนอื่นนะ แต่เป็นผู้นำที่ชวนคนอื่นเข้ามาทำด้วย มีคนถามว่ากลัวคนอื่นมาแข่งมั้ย ผมตอบว่าผมชอบเลย มาแข่งเรื่อง ESG ถือว่าดี ใครมีวิธีดี ๆ หรือเทคโนโลยีอย่างไรก็มาแชร์กัน เรื่องนี้อยากชวนมาแข่งนะ เพื่อทำให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้มากขึ้น ตอนนี้เราพยายามสร้างมาตรฐานใหม่และคุยกับแบงก์ชาติ แต่ต้องบอกว่าเรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกัน ถ้าลูกค้าไม่เอาด้วยก็จะเกิดช้าครับ”

การเปลี่ยนแปลงที่มีผลในวงกว้าง จะฉายเดี่ยวไม่ได้

เป้าหมายความยั่งยืนที่ชี้วัดได้

แล้วตอนนี้ธนาคารกสิกรไทยมีสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านและความยั่งยืนอยู่เท่าไหร่ 

นี่คือคำตอบ

“ประมาณ 1 – 2 % ของสินเชื่อทั้งหมดครับ เมื่อก่อนมีความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวว่าวัดยังไง ปีนี้เราเริ่มนับแล้ว ตอนนี้จะชัดขึ้นว่าอันไหนได้หรือไม่ได้ อาคารสร้างขึ้นมาแบบประหยัดพลังงานหรือเปล่า สร้างอย่างไร เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกอันที่เราเน้น เนื่องจากปล่อยคาร์บอนเยอะ ต้องมีกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนการพิจารณาเครดิต เราทำมาหลายปีแล้ว อย่างเช่น ลูกค้าอยากทำโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ ฟังดูน่าจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน เราก็ดูว่าเขากู้เงินไปแล้วจะใช้ทำอะไรบ้าง คืนอะไร อย่างไร มาตรฐานสากลของสิ่งนั้นคืออะไร ปล่อยมลพิษไปแล้วกระทบอะไรมั้ย เทคโนโลยีที่ใช้คืออะไร ถ้าผ่านตามมาตรฐานหมด ก็จะเข้าไปคณะกรรมการของธนาคาร ถ้าเขาไฟเขียวถึงจะเอามาดูต่อ แปลว่าถ้าไม่ได้ตามมาตรฐาน เราก็จะไปคุยถึงปัญหา หา Solution ให้ลูกค้า แต่ถ้ายังทำไม่ได้เราไม่คุยด้วย

“ตอนนี้เราตั้งเป้าเพิ่มสินเชื่อและการลงทุนสีเขียวเข้าไปในระบบอีกสัก 2 แสนล้านบาท เราอยากชวนธุรกิจมาทำกันเพิ่ม เรื่องความยั่งยืนนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ยังไงก็จุดติด แต่ว่าสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กและขนาดกลางจะยากหน่อย ส่วนประชาชนทั่วไปก็เป็นเรื่องวิถีชีวิต อย่างรถหรือบ้านที่ประหยัดพลังงาน ก็ต้องปรับเปลี่ยน เราอยากเป็นต้นแบบเรื่องความยั่งยืนให้พวกเขา

"ถ้าทำไม่ได้ เราจะไม่พูด” วิถีความยั่งยืนแบบ Walk the Talk ของธนาคารกสิกรไทย

“ส่วนการตรวจสอบมันก็จะมีกระบวนการอยู่ เราดูว่าเครื่องจักรเขาเป็นไปตามที่กำหนดมั้ย มีทีมลงไปดู มีกระบวนการทบทวนวงเงิน เวลาเราให้เงินใครไป เราก็ต้องไปติดตามและดูแล ถือเป็นความท้าทายเวลาที่เราจะทำเรื่องความยั่งยืนให้ใหญ่ขึ้น บางอย่างอาจต้องมีองค์กรภายนอกเข้ามาช่วย สุดท้ายก็จะเกิดการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามมาด้วย” 

ธนาคารกสิกรไทยประกาศตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนที่ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมเป็นวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ภายใน พ.ศ. 2573 แม้ใน 3 ไตรมาสแรกของ พ.ศ. 2565 ตัวเลขจะยังไปไม่ถึงจุดที่หวัง ซึ่งธนาคารได้ให้สินเชื่อไปแล้วกว่า1.6 หมื่นล้านบาท แต่ก็ยังคงผลักดันต่อและคาดว่าขนาดของสินเชื่อใน พ.ศ. 2566 น่าจะโตได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

“ตัวเลขพวกนี้จะสะท้อนว่าเราทำได้และทำจริงมั้ย ปล่อยไปแล้วเป็นไง ติดข้อจำกัดอะไรบ้าง อีกเรื่องคือแผนที่วางไว้ ลูกค้าเดินด้วยกับเราหรือเปล่า เรามีองค์ความรู้ที่จะขยายไปอุตสาหกรรมอื่นมั้ย ซึ่งโจทย์พวกนี้ต้องรวมไว้ใน Climate Pillar ซึ่งกลายเป็นเป้าหมายของทีมขายไปแล้ว พวกเขาก็รับโจทย์ไป ผมเองก็ถูกคาดหวังให้รายงานตัวเลขพวกนี้ตลอดกับบอร์ดและสื่อมวลชน ผมเชื่อว่าการที่เราแชร์เรื่องพวกนี้ได้ เป็นการตอกย้ำว่าเราทำตามที่สัญญาและเห็นว่ามันสำคัญ”

เมื่อ The Cloud ถามคุณกฤษณ์ว่าเป้าหมายที่ประกาศออกมาดูจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวา ถือว่าธนาคารระวังตัวไปหน่อยหรือไม่ คำตอบที่ได้น่าสนใจทีเดียว

“ผมว่าบางเรื่องเราทำคนเดียวไม่ได้ จะมาประกาศว่าจะไม่ปล่อยกู้ให้พวกธุรกิจพลังงานเลย หยุดปล่อยกู้หมดถ้าไม่ใช่ธุรกิจสีเขียว ทำแบบนี้เท่ากับเราทิ้งลูกค้านะ ซึ่งไม่ใช่การตัดสินใจที่มีเหตุผล เพราะว่าลูกค้ากับเราต้องไปด้วยกันต่างหาก ผมว่าเราต้องคำนวณเป็นตัวเลขออกมาให้ได้ ถ้าเหมาะสมเราก็จะทำ ถ้าอันไหนทำได้เราก็จะให้คำมั่นสัญญา สิ่งที่เราทำคือ Walk the Talk อันไหนเราสัญญาจะทำ เราทำ แต่สิ่งที่เราจะไม่ทำคือเราจะไม่รอ บางคนบอกว่าเรื่องนี้รอได้ รอคนอื่นทำไปก่อน แต่ที่กสิกรไทยเราไม่รอครับ”

พูดแล้วทำ อันไหนไม่ทำก็ไม่พูด

KBank กับการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืนระดับภูมิภาค บนพื้นฐานของการทำธุรกิจที่คำนึงถึง ESG

ยั่งยืนที่วิถีชีวิตและโอกาสเติบโต

สิ่งที่แยกจากกันไม่ได้สำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ คือการพาทุกคนไปข้างหน้าด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนก็เช่นกัน สิ่งที่ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยเป็นห่วงคือภาคเกษตรกรรม ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนทางออกสำหรับเกษตรกรที่อยู่ในระบบนับล้านรายจะยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งเกษตรกรเองอาจจะยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ รวมทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก็ยังมีราคาสูง บทบาทของภาครัฐจึงสำคัญมากในการออกนโยบายและมาตรการจูงใจเพื่อสร้างจุดเริ่มต้นให้เกิดขึ้น

ชุดความคิดใหม่ ๆ นอกกรอบจึงต้องนำมาใช้กับกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งที่ดีให้ผู้บริโภคปรับตัวได้เร็วขึ้น

“เรามีโครงการ SolarPlus คือคิดว่าถ้าเราสามารถคุยกับลูกบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ ให้พวกเขาอนุญาตให้ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน โดยที่เราออกเงินให้ เขาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ลูกบ้านได้ประหยัดค่าไฟ โดยที่ธนาคารปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่ติดตั้ง สุดท้ายแล้วลูกบ้านไม่ต้องใช้เงินลงทุน บริษัทติดตั้งก็ได้ธุรกิจเพิ่ม ธนาคารเราได้เรื่องคาร์บอนเครดิต แต่จะยากตรงการขออนุญาตและกระบวนการนี่ล่ะครับที่ต้องผลักดันกันต่อไป นี่เป็นวิธีคิดที่ออกมานอกกรอบ หรืออย่างโครงการส่งเสริมการเช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้าแล้วให้มาเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สาขาธนาคารได้ นี่ก็เริ่มแล้วและจะขยายต่อไป

KBank กับการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืนระดับภูมิภาค บนพื้นฐานของการทำธุรกิจที่คำนึงถึง ESG

“นอกจากมิติของสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ธนาคารเราทำได้มากคือมิติด้านสังคม ผ่านโจทย์สำคัญเรื่องความครอบคลุมทางการเงิน ปัจจุบันคนใช้ K PLUS มีประมาณ 20 ล้านรายแล้ว แต่ก็ยังมีรายย่อยที่เข้าถึงบริการสินเชื่อยากลำบาก เราก็พยายามทำให้พวกเขาเข้าถึงเงินได้มากขึ้น ปีที่ผ่านมาเราทำให้รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มได้ 5 – 6 แสนราย ปีหน้าก็จะไปต่อ เรื่องนี้ต้องดูควบคู่กับปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยนะ ถ้าดันให้สินเชื่อโตมากเกินไป ก็เหมือนธนาคารทำบาป เพราะต้องดูเรื่องความสามารถในการชำระด้วย หนี้กับรายได้ต้องโตคู่กัน หน้าที่เราคือต้องให้กู้กับคนที่เขาชำระหนี้คืนได้ ไม่ใช่ปล่อยให้กับคนที่เขาใช้หนี้แล้วไม่เหลือเงินกินใช้เลย การไปไล่เติมหนี้ฝั่งเดียวมันทำได้ชั่วครั้งชั่วคราว ต้องทำให้เขาเติบโตขึ้นด้วย การทำให้เข้าถึงแหล่งเงินเป็นแค่การเปิดประตู แต่การทำให้เขาเติบโตต่างหากคือสิ่งที่ยั่งยืน”

ปรับที่วิธีคิด เปลี่ยนที่กระบวนการ 

นี่คือก้าวใหม่ที่น่าจับตาของธนาคารกสิกรไทย

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ