“เราจะรู้สึกเป็นอิสระเมื่ออยู่กลางสายน้ำ”

พี่วรรณ บอกกับผมในคืนก่อนวันจริงที่พวกเรากำลังจะเตรียมตัวลงเรือ พี่วรรณคือคู่ชีวิตของ พี่หมู เรื่องราวของพี่หมูและพี่วรรณ (เจริญ และ อรวรรณ โอทอง) น่าสนใจมาก เพราะพี่หมูกับพี่วรรณเคยปั่นจักรยานรอบโลกด้วยกันมาแล้ว โดยใช้เวลายาวนานถึง 2,000 กว่าวัน แถมยังเคยพายเรือตลอดสายแม่น้ำตาปีที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วย เพราะฉะนั้นพี่หมูและพี่วรรณจึงได้เอาตัวเองไปสัมผัสกับประสบการณ์มากมายนับไม่ถ้วน 

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

ผมตื่นเต้นมากที่ได้ฟังความเห็นของพี่วรรณ เมื่อนำมาเทียบกับประสบการณ์ของตัวเอง (ที่มีอยู่บ้างนิดหน่อย) ผมจึงเห็นคล้อยตามได้ไม่ยาก นั่นเป็นเพราะเวลาอยู่บนเรือแล้วเกลียวคลื่นของสายน้ำโอบอุ้มเรา เป็นช่วงเวลาที่เราได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง อย่างน้อยที่สุด ผมมั่นใจว่าไม่มีใครพายเรือไปด้วย และกดมือถือไปด้วยได้แน่ๆ

พรุ่งนี้ผมจะพายคายัคบนเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติสายใหม่ของจังหวัดสมุทรสงคราม อาบแสงแรกของวันพร้อมกับลัดเลาะริมชายฝั่งทะเล เข้าสู่อ้อมกอดของอุโมงค์ต้นโกงกาง ห้อมล้อมด้วยวิถีชีวิตอันงดงามของชาวบ้าน

แค่คิดก็อดใจไม่ไหวแล้วครับ

จุดเริ่มต้น

ลำน้ำแม่กลองเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวสมุทรสงครามมาตั้งแต่สมัยโบราณ สมัยก่อนเรายังไม่ได้สัญจรบนถนน สายน้ำจึงกลายเป็นเส้นทางสัญจรหลักของผู้คน พี่หมูเล่าให้ผมฟังว่า ลำคลองสาขาของแม่น้ำแม่กลองมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 366 สาย คลองที่มีชื่อเสียงอย่างคลองอัมพวาก็เป็นหนึ่งในลำคลองสาขานั้น 

พี่หมูเสริมว่า เป้าหมายใหม่ที่ต้องการจะทำร่วมกับพี่วรรณคือพายเรือสำรวจคลองให้ครบ 366 สาย

แค่ฟังผมก็เมื่อยแขนเมื่อยไหล่ไปหมดแล้วครับ (หัวเราะแห้งๆ)

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

เส้นทางพายเรือของเราเช้าวันนี้ เริ่มต้นจากริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านลำคลองน้อยใหญ่ประมาณ 2 – 3 สาย ผ่านต้นโกงกาง ต้นแสม แวะชมนาเกลือ ผ่านชุมชนริมคลอง และออกสู่ทะเลอ่าวไทยเป็นวงกลม ระยะทางรวมกันทั้งหมด 7 กิโลเมตร และเราถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสพายเรือบนเส้นทางสายธรรมชาติแห่งนี้ การพายเรือที่นี่ทำไม่ได้ทุกเวลา เพราะเราควรพายเรือเฉพาะช่วงเวลาที่น้ำขึ้นเต็มที่เท่านั้น 

นั่นหมายความว่าเราจะมีเวลาพายเรือให้ครบ 7 กิโลเมตร ได้เพียง 3 – 4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น แม้ว่าจะไม่ยากนักสำหรับมือใหม่ แต่ก็ประมาทไม่ได้ ผมได้แต่บอกตัวเองว่าผมมีประสบการณ์พายคายัคมาบ้าง อย่างน้อยก็ปีละครั้งสองครั้ง ในคลองบ้าง ในทะเลบ้าง แถมยังเป็นคนออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้น วันนี้ผมน่าจะพอเอาตัวรอดได้

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

แต่สิ่งที่จะทำให้ผมเอาตัวไม่ค่อยรอดคือ ช่วงเวลาน้ำขึ้นเต็มที่ของวันนี้ (6 เมษายน พ.ศ.​ 2564) อยู่ที่ตอนเช้าตรู่ ผมเลยต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อขึ้นรถตู้ออกจาก ณ ทรีธารา รีสอร์ท (เจ้าภาพและโต้โผคนสำคัญของเรา) ที่อำเภอบางคนที และลงเรือที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม

อะไรก็ไม่ยากเท่ากับการตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นครับ

แต่ทันทีที่เห็นแสงอาทิตย์สีเหลืองทองค่อยๆ ฉายทับเส้นขอบฟ้า ผมก็บอกกับตัวเองว่าผมจะได้รับประสบการณ์ที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม วันนี้คลื่นลมสงบ มีเพียงสายลมอ่อนๆ พัดมาคลายร้อนเท่านั้น นับเป็นการเริ่มต้นวันที่ดีมากทีเดียว

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

ชายฝั่งบริเวณนี้มีเสาไม้ไผ่ปักเรียงกันเป็นแนวยาว ผู้ใหญ่แดง (วิสูตร นวมศิริ) มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ของเราวันนี้อธิบายว่าเอาไว้กันคลื่น เมื่อคลื่นซัดเข้ามาบริเวณชายฝั่ง แนวไม้ไผ่ที่ปักไว้เป็นจำนวนมาก จะช่วยชะลอความแรงของคลื่นได้ โดยการแยกคลื่นออกเป็นสองทาง (ซ้าย-ขวา) เมื่อคลื่นเคลื่อนตัวผ่านไม้ไผ่เข้าไปเป็นชั้นๆ ความแรงของคลื่นก็จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อซัดเข้าหาฝั่งก็จะไม่กัดเซาะชายฝั่งมากนัก

ได้ฟังอย่างนั้นแล้ว ผมก็หวนคิดถึงปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนบน ที่คนพื้นที่เรียกติดปากกันว่า ‘อ่าวรูป ก’ เนื่องจากอ่าวไทยตอนบนมีลักษณะเหมือนส่วนโค้งมนของอักษร ก พอดี ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งที่ว่านี้รุนแรงมาก

ผมเคยทำรายการโทรทัศน์ครั้งหนึ่งที่บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อได้เห็นกับตาว่าชายฝั่งถูกกัดเซาะเข้ามา จนเราต้องสูญเสียแผ่นดินลึกเข้ามาหลายกิโลเมตร ชาวบ้านต้องถอยร่นย้ายบ้านกันคนละไม่ต่ำกว่า 4 – 5 ครั้ง ผมก็ประจักษ์แก่ใจตนเองเลยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เราจะมองข้ามไม่ได้ และผมภาวนาอย่าให้จังหวัดสมุทรสงครามได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะของชายฝั่งเหมือนกับที่ผมเคยเห็นมา

คายัคทุกลำถูกหย่อนลงน้ำเรียบร้อยแล้ว ฝีพายของทุกลำทั้งที่เป็นมืออาชีพและมือสมัครเล่น (อย่างหลังมีมากกว่า) ต่างก็พร้อมแล้ว จึงสมควรแก่เวลาที่เราจะออกเดินทางกันเสียที

ผมจ้วงพายลงในน้ำอย่างช้าๆ และรับความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ที่ผืนน้ำแห่งนี้จะมอบให้กับผม

ชายเลนคือชีวิต

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

ผมในฐานะครูสอนวิชาสังคมศึกษาฯ จะมีประโยคหนึ่งที่ผมพูดในห้องเรียนกับนักเรียนของผมเสมอว่า ป่าชายเลนคือชีวิตของพวกเราอย่างแท้จริง

ลำดับแรก ป่าชายเลนคือพื้นที่การอนุบาลสัตว์น้ำอย่างยอดเยี่ยม ถ้าไม่มีป่าชายเลน เราจะสูญเสียพื้นที่ในการเพาะพันธุ์ลูกกุ้ง ลูกปลาตามธรรมชาติไป นั่นย่อมหมายถึงการสูญเสียทั้งระบบนิเวศและมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ การรักษาป่าชายเลนจึงไม่ใช่เพียงแค่การรักษาธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาเงินในกระเป๋าของเราเอาไว้ด้วย

นอกจากป่าชายเลนจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำแล้ว ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งกำเนิดของพืชมากมายหลายชนิดที่มีประโยชน์สารพัดในชีวิตประจำวัน ต้นจากที่เราเอามามุงหลังคาบ้านกันตั้งแต่โบราณกาลก็เป็นพืชชายเลน ไม้โกงกางก็เป็นวัตถุดิบสำคัญที่เราจะเอาไปทำถ่านไม้สำหรับใช้ พืชชายเลนหลายชนิดเป็นสมุนไพรชั้นเลิศ เช่น เหงือกปลาหมอ ใช้รักษาโรคผิวหนัง และผลของตะบูนขาวใช้รักษาโรคบิดและโรคท้องร่วง เป็นต้น

ลำดับถัดมาที่สำคัญและคนอาจจะไม่ค่อยได้นึกถึงกันก็คือ ป่าชายเลนเป็นแหล่งดูดซับสารพิษอันยอดเยี่ยมตามธรรมชาติ เพราะว่ารากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดิน จะทำหน้าที่คล้ายตะแกรงธรรมชาติ คอยดักกรองสิ่งปฏิกูลและสารพิษ ซึ่งเกิดจากการดำรงชีวิตของมนุษย์ไม่ให้ลงสู่ทะเล โลหะหนักหลายชนิดเมื่อถูกพัดพามาตามกระแสน้ำก็จะตกตะกอนลงในป่าชายเลนนั้นเอง นอกจากนั้น บรรดาขยะทั้งหลายหรือคราบน้ำมันก็จะถูกดักกรองเอาไว้ที่ป่าชายเลนไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลด้วย

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าป่าชายเลนมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากความมักง่ายของมนุษย์ เพราะต้องคอยตามล้างตามเช็ดสิ่งปนเปื้อนทั้งหลายที่เกิดจากการดำรงชีวิตของผู้คนอยู่ทุกวี่วัน แล้วถ้าป่าชายเลนมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ห่วงโซ่ของระบบนิเวศจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร

ลำดับสุดท้ายซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมสมัยของป่าชายเลน นั่นคือการทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนภายในชุมชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่พาให้คนเมืองและคนต่างถิ่นทั้งหลายได้มาสัมผัสและรู้คุณค่าของป่าชายเลน อย่างที่พวกเรากำลังได้สัมผัสอยู่ตอนนี้

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล
พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

“พืชชายเลนทุกอย่างมีประโยชน์ในตัวเองด้วยกันทั้งนั้น โกงกาง แสม อะไรต่อมิอะไร ถ้าสูญเสียต้นไม้พวกนี้ไป ลูกหลานเราจะเดือดร้อน ผมพยายามให้ชาวบ้านที่นี่ช่วยกันรักษาป่าชายเลน เพราะป่าชายเลนคือชีวิตของเรา

“ถ้าเราไม่ช่วยกันตั้งแต่วันนี้ ป่าก็หมด ถ้าป่าหมด ชีวิตของพวกเราก็ไม่มีเหลือ” 

ผู้ใหญ่แดงเล่าให้ฟัง เมื่อขบวนเรือจอดแวะพักในลำคลองสายหนึ่ง หลังจากพายเรือกันมาพอเมื่อยแขน 

พอหายเหนื่อยแล้ว พวกเราพายเรือกันต่อ แสงแดดเริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยๆ มีหลายคนเร่งฝีพายให้เร็วขึ้น แต่ผู้ใหญ่แดงบอกว่าเรายังพอมีเวลา หลายคนจึงค่อยๆ ผ่อนความเร็วในการจ้วงพายลง

ผมเคยพายคายัคอยู่บ้าง เมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสพายเรือคายักระยะไกลหน่อยเป็นครั้งแรก ที่อ่าวท่าเลน จังหวัดกระบี่ การพายเรือครั้งนั้นทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า การพายเรือที่ดีนั้นไม่ควรใช้แขนพาย เพราะถ้าใช้กล้ามเนื้อที่แขนออกแรง เราจะทุกข์ทรมานกับการพายเรืออย่างไม่รู้จบ การใช้แขนพายเรืออย่างเดียวนั้นทำให้ปวดเมื่อยระหว่างกำลังพาย และยังเสี่ยงต่อการต้องไปนอนแขนระบมหลังจากพายเรือเสร็จแล้วด้วย การพายเรือที่ดีเราควรใช้กล้ามเนื้อส่วนอกในการช่วยออกแรงพาย จะช่วยทำให้ร่างกายของเราอยู่ในภาวะสมดุลและพายเรือได้ไกล

ทฤษฎีผมก็แม่นอย่างนี้แหละครับ แต่พอปฏิบัติจริง ก็เผลอฟอร์มหลุดจนปวดแขนไปบ้างเหมือนกัน

อุโมงค์โกงกาง-ขยะทะเล 

เรือของเราค่อยๆ เลี้ยวเข้าสู่ลำน้ำสาขาขนาดเล็กตรงจุดที่เรียกว่า ‘แพรกด้วน’ คำว่าแพรกนี้เป็นภาษาโบราณที่คนเมืองไม่สู้จะรู้จักกันแล้ว หมายถึงทางแยกระหว่างสายน้ำ ทำนองเดียวกับที่การสัญจรทางบกมีคำว่า แพร่ง เช่น ทางสองแพร่ง หรือ ทางสามแพร่ง นั่นเอง

แพรกด้วนเป็นส่วนที่สวยที่สุดส่วนหนึ่งบนเส้นทางพายเรือสายนี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีต้นโกงกางขึ้นหนาแน่นตลอดสองฝั่ง ด้วยลำน้ำที่แคบเล็ก ร่มเงาของต้นโกงกางก็คลุมลำน้ำสายนี้สนิท ยามแสงอาทิตย์ส่องแสงแรงขึ้น ลำน้ำสายนี้จึงคงความร่มเย็นเอาไว้ได้ และทำให้นักท่องเที่ยวดื่มด่ำเพลิดเพลินตลอดลำน้ำสายนี้ได้เป็นอย่างดี

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

แต่ทว่าความเพลิดเพลินของเราก็ถูกขัดจังหวะ เมื่อพบเศษพลาสติกและกล่องโฟมมากมายในลำน้ำ

ผมเคยคุยกับผู้คนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งเกี่ยวกับขยะในเขตป่าโกงกางอยู่บ้าง และพบว่าไม่ใช่เรื่องยุติธรรมนักที่เราจะโทษชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตรงบริเวณนั้น เพราะขยะหลายชิ้นพัดพามาจากที่อื่น หลายชิ้นพัดผ่านน่านน้ำหลายจังหวัดมาจากทางภาคใต้ และสุดท้ายก็มาลงเอยเกยตื้นอยู่ที่อ่าวรูป ก ในขณะที่ขยะบางชิ้นเดินทางมาไกลกว่านั้น คือเดินทางมาจากต่างประเทศ เมื่อเวลาน้ำขึ้น ขยะก็จะถูกกระแสน้ำพัดพาให้ลอยมาติดอยู่บริเวณชายฝั่งหรือตามลำคลองสาขา

และเมื่อน้ำลงจนบางแห่งคลองตื้นเขินกลายเป็นเลน ขยะเหล่านั้นก็จะสุมกองอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน จึงอาจถือเป็นหน้าที่ขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออันที่จริงก็ควรถือเป็นหน้าที่ของชาวบ้านทุกคนในบริเวณนั้น ที่จะต้องช่วยกันเก็บขยะเหล่านี้ให้เรียบร้อย แต่ความท้าทายก็คือ ขยะเหล่านี้ถูกซัดเข้ามาทุกวัน เมื่อขยะต่างถิ่นเข้ามาผสมกับขยะที่เกิดขึ้นจากคนในพื้นที่ จึงทำให้บางมุมของลำน้ำถูกลดทอนความสวยงามไปอย่างน่าเสียดาย

“ขยะทะเลเป็นเรื่องของคนทั้งโลก” ผมได้ยินเพื่อนร่วมคณะคนหนึ่งพึมพำกับคู่พายของตนเอง 

“ต่อให้คนที่นี่ไม่ทิ้ง แต่ถ้าคนที่อื่นทิ้ง ขยะทะเลก็พัดไปพัดมาอยู่ดี คนที่เป็นจิตอาสาจะไล่ตามเก็บ ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ถ้าคนไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต สถานการณ์ขยะทะเลจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย”

ผมฟังแล้วก็เห็นจริงตามนั้น ในช่วงกลางปีที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดแรง แรงลมดึงเอาขยะทะเลจากจังหวัดต่างๆ เข้ามายังอ่าวไทยตอนบน หลายครั้งเราเห็นขยะจากจังหวัดอื่นพัดเข้ามาเกยฝั่งในจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร หรือสมุทรปราการ ความมักง่ายของผู้คนจากพื้นที่หนึ่ง ได้นำหายนะมาสู่อีกพื้นที่หนึ่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนในพื้นที่ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมของตนเองด้วย แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะช่วยกันรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง แต่ถ้ามีคนมักง่ายแม้แต่คนเดียว ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้ พี่หมูและพี่วรรณเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่พายเรืออยู่เคยเจอฟูกที่นอนขนาดใหญ่ลอยอยู่กลางคลองด้วย เรื่องเหล่านี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มันก็เกิดขึ้นจริง

“ผมให้ทายว่าเราเจอขยะเป็นรองเท้าข้างซ้ายหรือข้างขวามากกว่ากัน” พี่หมูถามคนในวงสนทนาตอนที่เราอยู่กันบนบก หลายคนก็ตอบว่าซ้ายบ้าง ขวาบ้าง สลับกันไป

“เฉลยก็คือข้างซ้าย” พี่หมูบอก “เพราะเวลาเราขึ้นจากเรือ คนส่วนมากใช้ขาขวาเหยียบขึ้นบนท่าก่อน แล้วค่อยดันตัวขึ้นไป ทำให้รองเท้ามีโอกาสเลื่อนหลุดจากเท้าซ้ายได้ง่ายกว่านั่นเอง”

คนที่ฟังอยู่ก็ถึงบางอ้อ

ผมอดนึกไม่ได้ว่า ขยะนี่เกิดขึ้นในทุกจังหวะของการดำรงชีวิตของเราจริงๆ 

ใครจะไปนึกว่าความไม่ระมัดระวังเพียงแค่ตอนขึ้นหรือลงเรือก็ก่อให้เกิดขยะได้ ผมเชื่อว่าหลายคนต้องเคยพลั้งเผลอ ก่อให้เกิดขยะในแม่น้ำลำคลองหรือทะเลมาบ้างไม่มากก็น้อย ตัวผมเองก็เคย ผมเคยทำถุงพลาสติกใสๆ ปลิวตกลงในแม่น้ำระหว่างที่เรือกำลังแล่นฉิว จะตามไปคว้าคืนมาก็เป็นเรื่องพ้นกำลังเสียแล้ว ผมคิดว่าการเพิ่มความระมัดระวังในทุกๆ จังหวะของชีวิต เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งเหมือนกัน

ร่มเงาของอุโมงค์โกงกางทอดยาวมาถึงปลายทาง คายัคทุกลำจอดเรียงกันเป็นแถว นี่คือจุดแวะพักของเรา จุดนี้คือนาเกลือผืนใหญ่ที่ พี่แก้ว เจ้าของนาเกลือผืนนี้เรียกว่ามรดกอันล้ำค่าของแผ่นดิน

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

นาเกลือของแผ่นดิน

“เกลืออยู่เบื้องหลังทุกอุตสาหกรรมเลยนะคะ แต่พี่รู้สึกว่าไม่ค่อยจะมีใครสนใจเกลือกันเลย” พี่แก้วเจ้าของนาเกลือเปิดบทสนทนากับพวกเรา ระหว่างพวกเรากำลังย่ำบนนาเกลือที่กำลังมีการโกยเกลือมาไว้เป็นกองๆ 

นี่คือเกลือสมุทรขนานแท้ เรากำลังยืนอยู่บนนาเกลือผืนสำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม 

“ลองคิดดูสิคะว่าอุตสาหกรรมอาหารก็ต้องใช้เกลือเป็นส่วนผสม ยาหลายขนานก็มีเกลือเป็นส่วนผสม ในปุ๋ยก็ต้องเติมเกลือ เกลือเข้าไปแทรกอยู่นิดหน่อยในวงการต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วเกลือก็มลายหายไป 

“ทุกคนเห็นแต่ผลผลิตที่เกลือสร้างขึ้น แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญกับเกลือ”

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล
พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

ผมจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์มา เมื่อได้ยินพี่แก้วพูดก็นึกถึงสมัยที่ตัวผมเองเป็นนักศึกษา โลกของเราขับเคลื่อนและขัดแย้งกันด้วยเรื่องเกลือมามากมายนับไม่ถ้วน ไม่ใช่เฉพาะซีกโลกตะวันออกของเรานี้ แต่ทางฝั่งอเมริกาก็เช่นกัน เกลือเคยเป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งในช่วงสงครามกลางเมือง (Civil War) ของสหรัฐอเมริกามาแล้ว 

รัฐทางตอนเหนือเคยพยายามสกัดกั้นไม่ให้เรือสินค้าจากต่างชาติเข้ามาเทียบท่าที่รัฐทางตอนใต้ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามของตนขาดแคลนเกลือที่บรรทุกมากับเรือสินค้าเหล่านั้น ในที่สุดรัฐทางตอนใต้ก็ถึงกับอลหม่าน เพราะว่าขาดแคลนเกลือในการถนอมอาหาร ไม่รู้ว่าจะผลิตอาหารไปเลี้ยงกองทัพได้อย่างไร

“เมืองไทยเราเกลือก็สำคัญ ทุกวันนี้อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของประเทศเติบโตมากขึ้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้เกลือมากขึ้นเท่านั้น แต่คนทำนาเกลือน้อยลงทุกวันๆ เพราะขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐ จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่นาเกลือมากเป็นอันดับสามของประเทศไทย รองจากเพชรบุรีและสมุทรสาคร แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกหลานเราไม่ค่อยมีใครอยากทำนาเกลือ หลายคนเลยที่ขายนาเกลือเอาเงินก้อนแล้วไปทำอย่างอื่น”

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

แววตาของทุกคนในที่นั้นเปี่ยมไปด้วยความใคร่รู้และความห่วงใยในสถานการณ์ในขณะเดียวกัน

“ไปดูเอาเถอะค่ะ ใต้ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ริมถนนพระรามสองน่ะ ข้างล่างเป็นเกลือทั้งนั้น ทุกวันนี้เราสูญเสียพื้นที่การทำนาเกลือไปมาก” พี่แก้วเล่าให้เราฟัง

ผมมาลองนึกดูว่า ถ้าเกลือเป็นเบื้องหลังของสารพัดอุตสาหกรรมที่กำลังเดินสายพานการผลิตอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ การขาดแคลนเกลือภายในประเทศ ย่อมหมายถึงการหยุดชะงักลงของสายพานเหล่านั้น แน่นอนว่าถ้าเราผลิตเกลือได้เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ เราก็จะประหยัดต้นทุนในการผลิตไปได้มาก 

แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เราต้องนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีจังหวัดที่อยู่ติดทะเลมากถึง 23 จังหวัด (แม้ว่าอาจจะทำนาเกลือไม่ได้ทุกจังหวัด) นั่นย่อมหมายถึงหายนะทางต้นทุนของอุตสาหกรรมหลายประเภท เพราะเกลือที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ย่อมมีราคาแพงกว่าเกลือที่ผลิตได้ในประเทศอย่างแน่นอน

ในศตวรรษที่ 21 ไม่มีใครปฏิเสธปรัชญาแห่งการพึ่งพาตนเองทางด้านเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด ประเทศใดก็ตามที่กระจายความเสี่ยงในเรื่องการผลิตสินค้าจำเป็นภายในประเทศให้ได้มากที่สุด ประเทศนั้นย่อมได้เปรียบ

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

“พี่อยากให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะน้องรุ่นใหม่ๆ เห็นคุณค่าของเกลือ”

ผมเคยลงมาย่ำในนาเกลือครั้งหนึ่งตอนเรียนวิชาเลือกในชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัย วิชานั้นมีชื่อว่าการพัฒนาชุมชนชายฝั่งทะเล ตอนนั้นผมนึกเสียดายที่ผมติดเพื่อน พอฟังวิทยากรบรรยายจบก็เลยมัวแต่จับกลุ่มไปหาที่ร่มยืนพูดคุยกัน ไม่ได้สนใจจะซักถามหรือพูดคุยอะไรกับวิทยากรต่อ ไม่แน่ว่าถ้าผมสนใจอะไรรอบตัวเพิ่มขึ้นสักหน่อยในวันนั้น ผมอาจจะได้รู้อะไรดีๆ เกี่ยวกับนาเกลือมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วก็เป็นได้

จากการสังเกตสิ่งรอบตัว และจากที่ผมได้ฟังในสิ่งที่พี่แก้วพูด ผมรู้สึกว่าคนทำนาเกลือนี้ช่างน่าอัศจรรย์ และเสมือนว่าจบปริญญาเอกด้านชีวิตการทำเกลือไปด้วยในตัว เพราะคนทำเกลือจะต้องมีความเข้าใจศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวกับเกลืออย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับผม จำพวกเรื่องราคาเกลือจะขึ้นลงอย่างไรเท่าไหร่ สถานการณ์ตลาดเกลือเป็นอย่างไร หรืออาจจะเป็นเรื่องเชิงภูมิศาสตร์ เช่น ฝนจะตกหรือไม่ตก ฝนตกแล้วจะทำอย่างไร ค่าความเค็มของน้ำในนาเกลือขึ้นลงหรือไม่ จนถึงเรื่องการบริหารจัดการเชิงธุรกิจอีกมากมายมหาศาล 

แน่นอนว่าเรื่องเกี่ยวกับเกลือนี้ผมแทบจะไม่มีความรู้เลย 

ผมฟังเรื่องราวของพี่แก้วจนเพลิน ทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว น้ำในลำคลองที่เราพายเรือมาเริ่มลดระดับลงเพราะได้เวลาน้ำลงตามธรรมชาติ ถ้าน้ำลง แปลว่าเราจะพายเรือยากขึ้น

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

พี่แก้วฝากคำพูดไว้ประโยคหนึ่งก่อนเราจะกลับว่า

“ที่พี่ยืนทำนาเกลืออยู่ตอนนี้ พี่ถือว่าพี่ทำเพื่อแผ่นดินนะคะ ที่ดินผืนนี้พี่ไม่ใช่เจ้าของ พี่เป็นแค่ผู้ครอบครองเท่านั้น เจ้าของตัวจริงของผืนนาเกลือทั้งหมดคือคนไทยทุกคน พี่จะรักษาผืนนาเกลือนี้เอาไว้ให้คนไทย เรามีเกลือสมุทรที่ดี แล้วทำไมเราจะไม่รักษาเอาไว้ล่ะคะ”

พวกเราทุกคนในที่นั้นเงียบไป แต่เสียงแห่งความภาคภูมิใจกลับดังกึกก้องอยู่ในห้วงคำนึงของทุกคน

บทส่งท้าย

ทุกการเดินทางมีข้อคิดในตัวเองเสมอ

ผมเชื่อในประโยคนี้ การเดินทางในวันนี้ก็เช่นกัน ผมสารภาพแต่แรกว่าผมแทบไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เพราะผมเคยพายคายัคมาหลายรอบแล้ว และผมก็ไม่ได้คิดว่าการพายเรือครั้งนี้ผมจะได้อะไรไปมากกว่าการพายเรือในครั้งก่อนๆ ยิ่งต้องหอบสังขารมาลงเรือตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ผมก็ต้องยอมรับเลยว่าสภาพร่างกายผมไม่ค่อยพร้อม 

แต่ไม่น่าเชื่อว่า นี่กลับกลายเป็นทริปพายเรือที่มีคุณค่ามากที่สุดในชีวิตของผม

หลายครั้งเวลาที่ผมไปร่วมทริปพายเรือ ผมจะเพลิดเพลินกับทัศนียภาพรอบตัว พร้อมกับมัคคุเทศก์นำทางที่คอยชี้บอกเราว่าตรงนั้นสวย ตรงนี้สวย แล้วเราก็ถ่ายรูปเท่ๆ กับเรือและความสวยงามเหล่านั้น โดยที่เราก็ไม่ได้สนใจคุณค่าหรือที่มาของสิ่งที่มีอยู่ตรงนั้นเลย ในทางกลับกัน ทริปพายเรือนี้กลับได้พาผมไปรู้จักกับป่าชายเลนอีกมุมหนึ่งของอ่าวไทยตอนบน ได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาขยะทะเล ได้กลับไปทบทวนถึงคุณค่าของเกลือซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเรา แต่เรากลับมองข้ามเกลือมาโดยตลอด

แทนที่หลังจากจบทริปผมจะหมดแรง เพราะต้องตื่นเช้าและทุ่มเทพลังงานมากมายไปกับการพายเรือ ผมกลับรู้สึกว่าหัวใจของผมมีพลังขึ้นมาอีกครั้งหลังจากได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจของพี่แก้ว คนทำเกลือ

แผ่นดินของเรา โลกของเรา มีทรัพยากรที่มีค่าอยู่ทุกที่ และทรัพยากรที่มีอยู่เหล่านั้นนั่นแหละ คือปัจจัยพื้นฐานแห่งการหล่อเลี้ยงชีวิต บางครั้งการดำเนินชีวิตที่รวดเร็วของเราในแต่ละวัน เราสนุกสนานและเพลิดเพลินกับการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค จนเราลืมไปว่าความสะดวกสบายที่เราได้รับอยู่ในแต่ละวันนั้นมีที่มาจากอะไร เราหลงลืมคุณค่าของหลายสิ่งหลายอย่างที่โอบอุ้มประคับประคองชีวิตของเราอยู่อย่างเงียบๆ และสิ่งเหล่านั้นก็ยังทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปโดยไม่ปริปากบ่น ท่ามกลางภัยคุกคามจากน้ำมือมนุษย์ที่ไม่เคยลดละการกระทำต่อสิ่งเหล่านั้น

ต้นไม้ สายน้ำ ขยะทะเล และเกลือ เป็นคุณครูของผมในวันนี้

เราเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เราไม่ใช่เจ้าของระบบนิเวศ 

ถ้าวันใดที่เราใช้ชีวิตเพื่อเบียดเบียนสมดุลแห่งระบบนิเวศนี้ ก็เท่ากับว่าเราก็กำลังทำลายตัวเอง

พายคายัคเส้นทางใหม่ของสมุทรสงคราม ล่องป่าชายเลน แวะนาเกลือและเข้าใจปัญหาขยะทะเล

The Cloud เคยทำวีดิโอเล่าเรื่องเที่ยวตามน้ำสมุทรสงคราม เข้าไปชมเรื่องราวของเมืองสามน้ำมากขึ้นได้ที่นี่

ขอขอบพระคุณ
พี่หมู-พี่วรรณ คู่รักนักปั่น
คุณเดือน-คุณยุ้ย จาก ณ ทรีธารา รีสอร์ท โต้โผใหญ่ของกิจกรรมครั้งนี้
ภาพสวยๆ จากช่างยอดและกล้องของคณะเดินทางทุกท่าน
เรื่องเล่าอันทรงคุณค่าจากผู้ใหญ่แดงและพี่แก้ว
แม่-น้องพวงหยก-น้องทับทิม ที่ไปพายเรือด้วยกัน

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐพงศ์​ ลาภบุญทรัพย์

วิทยากรและครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาฯ ผู้รักการเดินทางเพื่อรู้จักตนเองและรู้จักโลกเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางไปแล้วครบทุกจังหวัดในประเทศไทย และกว่า 50 ประเทศทั่วโลก