10 กรกฎาคม 2021
5 K

The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

กิจกรรมกลางแจ้งอย่างแคมปิ้งไม่ได้จำกัดว่าต้องไปทำในพื้นที่ป่าเขาเท่านั้น ริมทะเลที่มีเสียงคลื่นซัด เท้าสัมผัสทรายนุ่ม ก็เป็นพื้นที่ที่ไปเอ็นจอยชีวิตกลางแจ้งได้ ประเทศไทยมีทะเลขนาบทั้งสองด้าน เรามีเกาะเล็กน้อยมากมาย แถมยังมีชายหาดหลายแห่งที่เข้าถึงได้เฉพาะทางน้ำเท่านั้น

หลังจากซื้อเรือคายัคเมื่อ 3 ปีที่แล้ว กิจกรรมการพายเรือของพวกเราก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในแม่น้ำลำคลอง เรือคายัคลำที่ซื้อมามีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการแพ็กของออกเดินทางไปค้างคืน เรือคู่ใจจึงเปลี่ยนเป็นพาหนะหลักในเดินทางออกไปแคมปิ้ง

สำหรับเรา การแคมปิ้งไม่ได้จำกัดอยู่แต่บนบกอีกต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิม คือการออกไปชื่นชมสิ่งที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ตัดเทคโนโลยีรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกออกไปให้เหลือแค่สิ่งที่จำเป็น และจากไปโดยทิ้งร่องรอยของตัวเราไว้ให้น้อยที่สุด

วิธีพายคายัคออกทะเลไปตั้งแคมป์ริมหาด เที่ยวธรรมชาติแบบรับผิดชอบต่อโลก
พื้นที่ทะเลของไทยมีเกาะน้อยใหญ่ให้รอสำรวจและผจญภัยอีกมาก 
ภาพ : พลพิชญ์ คมสัน

เลือกหาดเข้าตี

ตามกฎหมายแล้ว พื้นที่ชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนเข้าใช้งานได้ร่วมกัน แต่ชายหาดส่วนใหญ่ติดกับที่ดินที่มีเจ้าของ การเข้าใช้พื้นที่อาจจะล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่มีเจ้าของ สร้างความไม่สบายใจให้ซึ่งกันและกัน

ทางออกที่ละมุนละม่อมและปลอดภัย คือบอกกล่าวขออนุญาตจากเจ้าของที่ก่อนเดินทางไปถึง ถ้าไม่แน่ใจว่าพื้นที่นี้เป็นของใคร ให้เริ่มต้นโทรหาสำนักงาน อบต. หรือสำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัดก็ได้ เจ้าหน้าที่ที่ปลายสายจะช่วยชี้ทางให้เราไปพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ได้ถูกต้อง บางครั้งอาจจะเจอเจ้าของใจดีให้ขึ้นไปใช้ห้องน้ำหรือน้ำจืดบนอาคารได้อีกด้วย

กลเม็ด พายคายัค และตั้งแคมป์กลางแจ้งริมทะเลแบบผู้เชี่ยวชาญ อิ่มเอมกับธรรมชาติ และทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
การออกไปแคมปิ้งด้วยเรือ ทำให้เรามีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติยามเย็นของทะเลแบบพิเศษสุด 
ภาพ : วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

น้ำคือชีวิต

ถ้าหากจุดแคมป์เป็นริมทะเล สิ่งสำคัญคือต้องพกน้ำจืดไปให้เพียงพอสำหรับการดื่มและกิน ส่วนตัวเราอย่างน้อยจะมีน้ำจืดสำรองใช้คนละ 5 ลิตรต่อวัน อย่าลืมว่าแสงแดดริมน้ำรุนแรงกว่าบนบก เราต้องดื่มน้ำให้พอเพียง และเหลือใช้สำหรับทำอาหารด้วย

ถ้าหากเป็นการพายริมน้ำจืดเช่นเขื่อน เราสามารถนำเครื่องกรองน้ำพกพา และลดน้ำหนักของน้ำเปล่าที่จะต้องพกลงเรือได้

น้ำขึ้นน้ำลง

หาดสวยๆ บางแห่งหายลับไปใต้น้ำเมื่อเวลาน้ำขึ้น

พี่ชายนักพายเรือคนหนึ่งในกลุ่มของเราชอบผูกเปลนอน ตอนที่ผูกเปลก็ไม่ได้คิดถึงระดับน้ำขึ้นสูงสุดที่หาดนี้ มีอยู่คืนหนึ่งเขานอนไม่หลับ คอยฟังเสียงคลื่นเกือบทั้งคืน เพราะกังวลว่าระดับน้ำกำลังจะท่วมถึงก้นเปลที่หย่อนลงมา

ชายหาดส่วนใหญ่จะมีร่องรอยระดับน้ำให้เราพอมองเห็น การเที่ยวแบบนี้ฝึกให้เรากลายเป็นคนช่างสังเกตเพิ่มขึ้น สิ่งที่บ่งบอกระดับน้ำสูงสุดได้มีหลายอย่าง บางครั้งอาจจะต้องดูประกอบกัน แนวทรายโซนที่เปียก คราบระดับน้ำที่ลำต้นของต้นไม้ คราบระดับน้ำบนหิน ถ้าหากยังเห็นหอยนางรมหรือเพรียงหินอยู่ ก็ให้เดาว่าความสูงตรงนั้นมีโอกาสที่น้ำจะขึ้นมาถึง

ถ้าอ่านตารางน้ำขึ้น-น้ำลงเป็น ก็พอจะช่วยให้รู้ว่าพื้นที่ที่เราตั้งแคมป์จะมีน้ำขึ้นตอนกี่โมง ซึ่งทุกวันนี้มีแอปพลิเคชันอย่าง Tides ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

กลเม็ด พายคายัค และตั้งแคมป์กลางแจ้งริมทะเลแบบผู้เชี่ยวชาญ อิ่มเอมกับธรรมชาติ และทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ไม่จำเป็นต้องกางเต็นท์นอนเสมอไป แต่ที่จำเป็นคือต้องเช็กระดับน้ำขึ้นสูงสุดของคืนนั้นให้ดี 
ภาพ : ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน

หาดทรายและสายลม

พื้นทรายเป็นศัตรูกับสมอบกยึดเต็นท์แบบเรียบทรงมาตรฐาน สมอแบบก้านตรงมักจะยึดเกาะกับพื้นทรายไม่อยู่ และเมื่อลมแรงจากหน้าหาดพัดมา เราอาจจะได้วิ่งไล่เก็บว่าวที่ทำจากเต็นท์ของเรา 

สมอทรายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการกางเต็นท์ริมหาด หากจะไปตั้งเต็นท์ในพื้นที่หาดทรายแน่นอนแล้ว ก็ควรจะเตรียมหาซื้อให้พร้อมก่อนเดินทาง

กลเม็ด พายคายัค และตั้งแคมป์กลางแจ้งริมทะเลแบบผู้เชี่ยวชาญ อิ่มเอมกับธรรมชาติ และทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ถ้าหากไม่มีสมอทราย ก็ต้องถ่วงน้ำหนักของเต็นท์ให้ดีเพื่อรับลมทะเลที่พัดรุนแรงได้ 
ภาพ : วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

ร่มเงา

แม้ว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน แต่แค่ยืนใต้ร่มเงาไม้ก็ทำให้เย็นสบายขึ้นมาก ชายหาดและริมน้ำเป็นพื้นที่ที่หาต้นไม้แผ่คลุมให้ร่มเงายากมาก เราตัดปัญหานี้ด้วยการพกทาร์ปเพิ่มไปอีกชุดหนึ่ง กางขึ้นมาเป็นพื้นที่ร่มเงาอเนกประสงค์ เป็นห้องนั่งเล่น และห้องอาหาร ให้กับกลุ่มเพื่อนร่วมแคมป์

กลเม็ด พายคายัค และตั้งแคมป์กลางแจ้งริมทะเลแบบผู้เชี่ยวชาญ อิ่มเอมกับธรรมชาติ และทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ภาพ : ชุตินันท์ โมรา
กลเม็ด พายคายัค และตั้งแคมป์กลางแจ้งริมทะเลแบบผู้เชี่ยวชาญ อิ่มเอมกับธรรมชาติ และทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ภาพ : ชุตินันท์ โมรา

กองไฟใต้แสงดาว

หนึ่งในโมเมนต์ที่น่าจดจำของการแคมปิ้ง คือการนั่งล้อมวงพูดคุยกันรอบกองไฟตอนกลางคืน แต่สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือกฎของพื้นที่ที่เราอยู่ ในบางพื้นที่ห้ามก่อกองไฟโดยเด็ดขาด ก็เปลี่ยนเป็นการนั่งพูดคุยกันรอบแสงตะเกียงแทน ส่วนการทำอาหารก็ต้องใช้เตาแบบพกพา

ที่จริงแล้วพื้นทรายเหมาะสมกับการเป็นฐานกองไฟอย่างยิ่ง เราขุดหลุมลงไปเพื่อให้สันทรายช่วยบังลมให้ไม่พัดกองไฟดับ และไม่ต้องกังวลเรื่องเปลวไฟจะไปติดเศษใบไม้เหมือนอย่างเวลาอยู่ในป่า

แต่การก่อกองไฟของแคมเปอร์ที่ดีต้องทำด้วยความรับผิดชอบ ต้องมีฐานหรือแผ่นสำหรับรองรับขี้เถ้าและถ่านไม้หลังจากไฟมอดลง ขี้เถ้าเป็นชิ้นส่วนแปลกปลอมในระบบนิเวศหาดทราย การฝังกลบขี้เถ้าลงไปในพื้นทรายไม่ได้เป็นการจัดการขยะที่ดีเพียงพอ เพราะขี้เถ้าอาจจะทำให้สุขภาพของชายหาดเสื่อมลง เราต้องจัดเก็บเอากลับไปทิ้งหลังจากเก็บแคมป์เรียบร้อยแล้ว

กลเม็ด พายคายัค และตั้งแคมป์กลางแจ้งริมทะเลแบบผู้เชี่ยวชาญ อิ่มเอมกับธรรมชาติ และทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ภาพ : วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

กินเพื่ออยู่

ส่วนใหญ่การตั้งแคมป์แบบนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ การพกของสดไปทำอาหารต้องเลือกสิ่งที่พอจะพกไปได้ในกล่องเก็บความเย็น อุปกรณ์เครื่องปรุงต้องแบ่งใส่ขวดเล็กและพกไปเท่าที่จำเป็น เนื่องจากพื้นที่บนเรือมีจำกัด อาหารในแพ็กที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตมักมีปริมาณใหญ่เกินพอสำหรับหนึ่งมื้อ เราจึงควรแบ่งวัตถุดิบในการทำอาหารใส่ภาชนะเล็กที่พกพาสะดวก ซึ่งช่วยลดขยะที่ต้องจัดการลงไปได้อีกหนึ่งชิ้น

เรามักจะวางแผนนับมื้อและคิดถึงวิธีการปรุงอาหารสำหรับตลอดทั้งทริปล่วงหน้า ถ้าเป็นวันที่ต้องพายไกล อาหารสำเร็จรูปที่แค่ใส่น้ำร้อนแล้วพร้อมกินจะสะดวกและประหยัดแรงในการทำครัว ถ้าเป็นวันที่มีเวลาได้นั่งชิลล์ที่แคมป์ ก็อาจจะหุงข้าวอบกุนเชียงสับในหม้อสนาม

เทคนิคหนึ่งที่เราทำคือเตรียมตัวทำอาหารอย่างมีลำดับ เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่คุ้มที่สุดในการใช้วัตถุดิบแต่ละอย่าง เช่น เอาเบคอนไปทอด เพื่อให้ได้น้ำมันสำหรับใช้ทอดไข่ดาวต่อ หรือต้มน้ำพร้อมกับต้มไข่ แล้วเอาน้ำนั้นมาลวกเส้นมักกะโรนีต่อ น้ำร้อนจากการลวกเส้นก็เอามาล้างจานต่ออีกรอบ

กลเม็ด พายคายัค และตั้งแคมป์กลางแจ้งริมทะเลแบบผู้เชี่ยวชาญ อิ่มเอมกับธรรมชาติ และทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ภาพ : ชุตินันท์ โมรา

เศษอาหารที่กินเหลือเป็นขยะที่กำจัดยากที่สุด จะฝังกลบริมหาดก็ทำไม่ได้ เพราะหาดทรายไม่เหมาะกับการย่อยสลายเศษซากเหมือนอย่างพื้นดิน ทุกมื้อเราจะกินกันจนเกลี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากเลยหลังจากออกแรงพายกลางแดดมาตลอดวัน

ขยะของเรา อย่าให้ใครเอาไป

เมื่อตอนที่ไปเดินป่าที่ญี่ปุ่น เราแปลกใจมากที่ตลอดทางเดินไม่มีถังขยะให้ใช้เลยสักใบ แต่ตลอดเส้นทางกลับไม่มีความสกปรกให้เห็นสักนิดเดียว

ในพื้นที่เกาะหลายแห่ง การกำจัดขยะไม่ได้จบลงที่การเอาขยะไปทิ้งให้ลงถัง เกาะหลายแห่งไม่มีระบบกำจัดขยะในพื้นที่ของตัวเอง ต้องมีเรือจากฝั่งวิ่งไปรับขยะที่สะสมมาตลอดอาทิตย์กลับมาแยกและจัดการต่อ

การพายเรือผ่านพื้นที่น้ำทำให้เราได้เห็นขยะที่หลุดลอยอยู่กลางน้ำบ่อยมาก ขยะส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกทิ้งลงน้ำอย่างจงใจ แต่หลุดออกมาจากฝั่งพร้อมกับกระแสน้ำ

ทุกครั้งที่เราเก็บแคมป์ เราเก็บขยะที่เราสร้างขึ้นจากแคมป์ของเราด้วย และเราตกใจทุกรอบที่ถึงแม้เราจะพยายามระวังแค่ไหน แต่ก็ยังมีขยะที่ต้องขนกลับไปกับเรือของเรามากอยู่ดี การทำให้ชีวิตเป็น Zero Waste นั้นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากเราไม่เริ่มพยายาม ก็คงไม่มีวันที่จะไปถึงได้สักที

กลเม็ดพายคายัคและตั้งแคมป์กลางแจ้งริมทะเลแบบผู้เชี่ยวชาญ อิ่มเอมกับธรรมชาติ และทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ถุงท้ายเรือบรรจุขยะจากการแคมปิ้งเมื่อเดินทางออกจากพื้นที่ นำกลับไปจัดการแยกทิ้งให้ถูกต้องต่อไป
ภาพ : ชุตินันท์ โมรา

ตอนนี้สถานการณ์อาจจะยังไม่เหมาะกับการเดินทาง แต่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ท้องทะเลและธรรมชาติได้รักษาตัว ส่วนเราก็เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรอวันออกเดินทางอีกครั้ง ถึงวันนั้นลองพายคายัคไปแคมปิ้งริมทะเล และทิ้งผลกระทบจากตัวเราไว้ให้สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดกันนะ

Writer & Photographer

Avatar

ชุตินันท์ โมรา

ช่างภาพ/วิดีโอใต้น้ำมือรางวัลระดับเอเชีย ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใต้น้ำทั้งในและนอกประเทศมากว่า 17 ปี ทำหนังสือดำน้ำระดับนานาชาติหลายเล่ม เป็นทีมวิดีโอใต้น้ำและคนเบื้องหลังสารคดีและโฆษณาหลายตัว นอกจากนี้ยังเป็นแอดมินเพจ digitalay