27 มีนาคม 2023
4 K

การประชุม APEC 2022 เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจัดในประเทศไทยตลอดทั้ง พ.ศ. 2565 โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

อีกการประชุมที่เป็นที่พูดถึงไม่แพ้กันก็คือ การจัดประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ ประจำ พ.ศ. 2565 และการประชุมสุดยอดผู้นำทางธุรกิจของภาคเอกชนอย่างงาน APEC CEO Summit 2022 จัดในวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยมีสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ประจำ พ.ศ. 2565 (ABAC 2022) และตัวแทนของภาคเอกชนอย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. รับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพในการจัดประชุม

CEO KBank กับการทำธุรกิจธนาคารเป็น Net Zero และยั่งยืนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
CEO KBank กับการทำธุรกิจธนาคารเป็น Net Zero และยั่งยืนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค คือหน่วยงานเอกชนที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคเอกชนส่งมอบข้อเสนอแนะต่อผู้นำเอเปคในการเจรจาประจำปี และให้คำแนะนำต่อภาคธุรกิจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ

หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคงไม่พ้นเรื่องการเงินและการธนาคารที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เอแบคมีคำแนะนำสำหรับธุรกิจในภาคการเงินการธนาคาร 5 เรื่อง ได้แก่

  1. Facilitating Cross-border Digital Financial Services (บริการการเงินแบบดิจิทัลข้ามพรมแดน)
  2. Supporting Just and Affordable Transition (การเปลี่ยนผ่านที่มีความเป็นธรรม)
  3. Financing Sustainable Innovation (นวัตกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืน)
  4. Promoting Interoperable Central Bank Digital Currencies (การทำงานร่วมกับระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง)
  5. Facilitating Cross-border Data Flows in Financial Services (การบริการการเงินที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดน)

การประชุมผ่านพ้นไปแล้ว น่าสนใจว่าธนาคารต่าง ๆ มีมุมมองต่อคำแนะนำนี้อย่างไร นำไปปรับใช้รูปแบบใดบ้าง เราก็เลยขอสนทนากับ คุณขัตติยา อินทรวิชัย CEO ของธนาคารกสิกรไทย กรรมการสมาคมธนาคารไทย และวิทยากรบนเวที APEC CEO Summit 2022 ถึงมุมมองที่มีต่อคำแนะนำเหล่านี้ รวมไปถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนที่มีการพูดถึงอย่างมากในเวทีเอเปคที่ผ่านมา ว่าธนาคารกสิกรไทยมีการปรับตัวอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะไปถึงเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารผู้นำเรื่องความยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเด็น ESG ในการดำเนินงานของธนาคาร ต่างจากภาคธุรกิจอื่น ๆ ไหม

ในการทำงานธนาคารเราต้องมี Bank License ถ้าไม่มีใบอนุญาตก็ทำไม่ได้ สอง ต้องมี Social License หรือใบอนุญาตที่จะทำธุรกิจในสังคมใดสังคมหนึ่ง หรือในโลกนี้ คุณต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ต้องได้รับการยอมรับจากสังคม ถ้าไม่ทำตามกฎนี้ก็อยู่ในสังคมไม่ได้ มุมหนึ่งเราเป็นบริษัทที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เราตั้งเป้าว่าใน พ.ศ. 2573 การดำเนินงานภายในของธนาคาร เราจะเป็น Net Zero ยานพาหนะเป็นพัน ๆ คันของเราต้องทยอยเปลี่ยนเป็น EV (Electric Vehicle) ส่วนอาคารและสาขาก็จะทยอยติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่มีศักยภาพในการติดตั้งได้ แล้วเอาพลังงานมาใช้บ้าง ที่เหลือก็ไปซื้อคาร์บอนเครดิตมา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลา

อีกมุมหนึ่ง เราเป็นธนาคาร เป็น Financial Enabler คอยสนับสนุนเงินทุน สินเชื่อ ข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการ ให้เขานำทุนไปปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต วิธีขาย วัตถุดิบ หรือพาร์ตเนอร์ที่ดี เพื่อให้เข้าเกณฑ์ บทบาทนี้สำคัญในการเป็นธนาคารที่ยั่งยืน เรามีพอร์ตสินเชื่ออยู่ 2 ล้านล้านบาท เราตั้งเป้าให้ส่วนนี้เป็น Net Zero สอดคล้องตามเป้าหมายของประเทศไทย และจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เป็นไปได้ให้เร็วขึ้น ดูเหมือนอีกนาน แต่ยากมาก เราต้องทำเป็นเฟส ๆ กลุ่มแรก คือโรงงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กลุ่มนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43 เปอร์เซ็นต์ของทั้งพอร์ตเรา ถ้าอยากไปเร็วต้องเริ่มจากกลุ่มนี้ก่อน เราต้องคุยกับลูกค้าว่าเราจะหยุดปล่อยเงินกู้สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วนะ คุณต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของคุณ ไม่งั้นเราจะไม่ปล่อย แล้วค่อย ๆ ขยับไปกลุ่มถัดไป

Financial Enabler สำคัญกับวงการการเงินในอนาคตยังไง

มันคือหน้าที่ของทุกธนาคาร ยังไม่ต้องพูดเรื่องความยั่งยืนนะ ลูกค้าอยากได้เงินทุนไปขยายกิจการ แต่เราพยายามมองตัวเองให้ไกลกว่าเรื่องเงิน เช่น ให้ความรู้เรื่องวินัยในการใช้เงิน โดยเฉพาะคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินได้ยาก ต้องไปกู้นอกระบบ ต้องทำให้เขากลับมาอยู่ในระบบ ก็ต้องทำให้เขามีเงินออมอยู่พอสมควร หรือถ้าติดเครดิตบูโรอยู่จะผ่อนคืนยังไง 3 ปี 5 ปีก็หมดแล้ว

แล้วถ้ามอง Financial Enabler ในมุมของความยั่งยืนล่ะ

เราต้องทำให้ลูกค้าตระหนักเรื่องนี้ ถ้าลูกค้าไม่ปรับตัว เขาก็ไม่รอด เราก็ไม่รอดด้วย แล้วทำไมเขาถึงไม่รอด เพราะวันหนึ่งในไม่ช้า ยุโรป อเมริกา หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามจากไทย จะตั้งเกณฑ์เรื่องความยั่งยืน ต้องมีการปล่อยคาร์บอนแบบนี้ ต้องไม่ใช้แรงงานเด็ก หรือคณะผู้บริหารของคุณประกอบไปด้วยผู้หญิงกี่คน หรือความหลากหลายทางเพศอื่น ถ้าไม่เข้าเกณฑ์นี้ ไม่ต้องส่งออก วันนี้เราส่งออกไปสหภาพยุโรป 6 เปอร์เซ็นต์ ไปอเมริกา 9 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าการส่งออกไปอเมริกาคือ 1.2 แสนล้านบาท ถ้าผู้ส่งออกโดนก็โดนกันทั้งซัพพลายเชน คนที่ขายวัตถุดิบให้ก็โดนกันหมด อันตรายมากถ้าเราไม่ปรับตัว

ถ้าผู้ส่งออกไม่ปรับตัวตามมาตรฐานก็จะถูกประเทศปลายทางปฏิเสธสินค้า แล้วถ้าธนาคารไม่ปรับตัว ยังปล่อยสินเชื่อแบบเดิม จะมีปัญหาไหม

ถ้าเราปล่อยสินเชื่อให้ผู้ผลิตที่ไม่คิดจะเปลี่ยน แปลว่าเขาไม่ต้องคิดเรื่องส่งออกแล้ว สินค้าของเขาไม่ผ่านเกณฑ์ตั้งแต่คิดจะขายแล้ว เมื่อเกิดเกณฑ์นี้เขาก็จะขายของไม่ได้ ก็จะชำระหนี้เราไม่ได้ เราจึงไม่ควรปล่อยสินเชื่อให้เขาตั้งแต่แรก

ธนาคารกสิกรไทยปรับตัวอย่างไรบ้างเพื่อให้เป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยั่งยืนหรือสิทธิมนุษยชน มันคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด ตอนนี้แค่รวบมาให้เป็นเรื่องเดียวกัน ในเรื่องการปล่อยเงินกู้ พนักงานของเราต้องปฏิบัติอย่างมีจรรยาบรรณ ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ต้องช่วยกันดูแลคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน แล้วลูกค้ารายไหนไม่เคารพสิทธิมนุษยชนหรือทำธุรกิจที่เป็นอบายมุข เราก็ไม่ปล่อยเงินกู้ให้เพราะผิดนโยบายของเรา

ธนาคารจะรู้ได้ยังไงว่าเขาทำธุรกิจสีเทา

ถ้าจะมากู้ก็ต้องเคยมีเงินฝากกับเราอยู่บ้าง เราก็ใช้ข้อมูลพวกนี้เช็กว่ารับเงินมาจากไหน รูปแบบเงินเข้าเงินออกเป็นอย่างไร ถ้าเงินเข้าเยอะวันที่ 1 กับ 16 ก็แปลกแล้ว เราเห็นข่าวตำรวจจับธุรกิจสีเทาโน่นนี่ เรารู้บัญชีของทางนั้น ก็เช็กได้ว่าใครโอนเงินไปบัญชีนั้นบ้าง

ต้องยอมเฉือนเค้กก้อนนี้ทิ้ง

ต้องอดทนกันนิดหนึ่ง มันเป็น Short-term Pain เพื่อ Long-term Gain เราต้องสื่อสารให้ผู้บริหารภายในธนาคารเห็นความสำคัญ บอร์ดก็ต้องเข้าใจและเห็นภาพเดียวกับเรา ไม่อย่างนั้นจะทำงานยากมาก ได้นโยบายจากบอร์ดก็คุยกับผู้ถือหุ้นให้เข้าใจ พอเป้าเราชัดว่าไม่ไปทางเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ไปอบายมุข ก็ตัดพวกนี้ออกไปเลย ว่าเราจะไม่ข้องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลแล้ว

บอร์ดเข้าใจสิ่งนี้ไหม

เข้าใจ และอยากให้เราไปเร็วมาก แต่เราอาจจะไปเร็วมากไม่ได้ เพราะต้องรอให้ผู้ประกอบการตื่นตัวด้วย เรื่องความยั่งยืนไม่ใช่กระทบแค่ส่งออกนะ แต่กระทบยอดขายในประเทศด้วย จากการสำรวจของหลาย ๆ ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรด้วย ผลออกมาเหมือนกันว่าลูกค้า 76 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะไม่เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่กรีน เราตั้งเป้า Net Zero ในการดำเนินงานของเราไว้ที่ พ.ศ. 2573 แต่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ วันนี้องค์กรใหญ่ ๆ ต้องเริ่มก่อน เพราะองค์กรเล็ก ๆ ยังไม่พร้อม แต่สุดท้ายประเทศไทยก็จะ Net Zero ไม่ได้เลยถ้าใช้วิธีทำเผื่อเพื่อน ทุกคนต้องช่วยกัน

เวทีเสวนาเรื่องความยั่งยืนแทบทุกเวทีมักจะพูดถึงเรื่อง Green Finance ภาคธุรกิจต้องการอะไร และธนาคารจะช่วยสนับสนุนอะไรได้บ้าง

ถ้าผู้ประกอบการตื่นตัวแล้วอยากปรับเปลี่ยน มาตรฐานไหนล่ะที่เรียกว่ากรีน ในไทยยังไม่มีการกำหนด แล้วใครบ้างที่ต้องทำ Taxonomy ตรงนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมก็ใช่ ถ้าเป็นเรื่อง EV กระทรวงคมนาคมก็ใช่ แล้วก็มีอีกหลายหน่วยงานเลย ในมุมของธนาคาร เราต้องดูว่าจะให้การสนับสนุนเงินทุนยังไงไม่ให้เกิดการฟอกเขียว คือปล่อยสินเชื่อให้บริษัทที่เคลมว่าเขียว แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ สเป็กนี้ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย ถ้ามีการปล่อยเงินกู้ก่อน แล้ววันหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรฐานมาแล้วพบว่าที่ทำไปไม่ผ่าน มันจะมีความเสี่ยง

ธนาคารกสิกรไทยมีเงินก้อนนี้แล้ว เราตั้งเป้าไว้ที่ 1 – 2 แสนล้านบาท ผู้ประกอบการพร้อมหรือยัง แล้วจะไปมาตรฐานไหน ถ้าผู้ประกอบการกู้เงินไปปรับปรุงโรงงานให้กรีนขึ้น มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เขาต้องจ่ายดอกเบี้ย ผลตอบแทนก็จะลดลง กำไรก็น้อยลง ผู้ถือหุ้นต้องเข้าใจ ถ้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ยิ่งต้องเข้าใจ ผู้ถือหุ้นของธนาคารก็ต้องเข้าใจว่าถ้าเราอยากให้โลกเขียวขึ้น ดูแลคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการเงินมากขึ้น ก็จะมี Short-term Pain

อัตราดอกเบี้ยของเงินกู้สีเขียวถูกกว่าเงินกู้ทั่วไปไหม

ไม่ค่ะ เป็นไปได้ยาก เพราะต้นทุนที่เราได้มามันเท่ากับสินเชื่อปกติ ธนาคารเราออกพันธบัตรระดมทุนสำหรับเงินก้อนนี้มาหลายฉบับแล้ว ดอกเบี้ยก็เท่ากับพันธบัตรปกติ มันขึ้นกับผู้ลงทุน ข้อมูลจากงานวิจัยบอกว่านักลงทุน 86 เปอร์เซ็นต์ไม่อยากลงทุนในสิ่งที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความยั่งยืน แต่นั่นไม่เกี่ยวกับเรื่องราคา นักลงทุนยังต้องการผลตอบแทนเท่าเดิม แต่จากสถิติก็น่าสนใจ ทั้งโลกนี้มีการออกพันธบัตรประเภท Green Social Sustainable Bond รวมกัน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โตขึ้น 15 เท่าจาก พ.ศ. 2558 แต่ยังมีสัดส่วนแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ของพันธบัตรที่ออกทั้งโลก แล้วก็ออกแค่ในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก เอเชียตะวันออก และแปซิฟิกก็มีจีนเป็นหลัก ในอาเซียนมีแค่บรูไนกับสิงคโปร์ เงินทั้งหมดที่ได้มาก็ใช้แค่ในประเทศตัวเอง มันจึงมีโอกาสอีกมาก

CEO KBank กับการทำธุรกิจธนาคารเป็น Net Zero และยั่งยืนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคไทยมีคำแนะนำให้ภาคการธนาคาร 5 เรื่อง ธนาคารกสิกรมองคำแนะนำนี้อย่างไร

ตัวแรก Facilitating Cross-border Digital Financial Services (บริการการเงินแบบดิจิทัลข้ามพรมแดน) โจทย์คือทำยังไงให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินข้ามประเทศได้ พวกการโอนเงินข้ามประเทศ ตอนนี้ทุกธนาคารทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ เราก็ทำร่วมกับ DBS โอนเงินไปสิงคโปร์จะมีค่าธรรมเนียมถูกมาก หรือโอนผ่าน K PLUS ราคาก็โอเคอยู่ โจทย์คือทำให้เข้าถึง สะดวก ทำที่ไหนก็ได้

สอง Supporting Just and Affortable Transition (การเปลี่ยนผ่านที่มีความเป็นธรรม) การเปลี่ยนผ่านต้องสมเหตุสมผลนะ ถ้าประเทศเราอยาก Net Zero เร็ว ๆ ภาคการเกษตรจะไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินเลยนะ เพราะนาข้าวปล่อยมีเทนเยอะที่สุด ถ้าจะ Net Zero จริง เราไม่ต้องส่งออกข้าวแล้ว เราต้องเข้าใจบริบทของประเทศด้วย ต้องค่อย ๆ ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่าน หรือการปล่อยเงินกู้ให้คนตัวเล็ก ก็ต้องค่อย ๆ ทำ เพราะหนี้เสียเยอะเหมือนกัน มันต้องไปพร้อมกับการให้ความรู้เรื่องการเงินกับประชาชน เขาต้องเข้าใจ มีวินัยทางการเงิน ต้องใช้เวลา

สาม Financing Sustainable Innovation (นวัตกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืน) เป็นเรื่องที่เราพยายามมาก ทั้งเรื่องการชำระเงิน การปล่อยสินเชื่อคนตัวเล็กซึ่งต้องใช้ข้อมูลอย่างมาก รวมถึงเราเข้าไปช่วยทำแอปพลิเคชันให้มหาวิทยาลัย อย่าง จุฬาฯ เช่น แอป CU NEX และแอปพลิเคชันของโรงพยาบาล อย่าง จุฬาฯ ตำรวจ ราชวิถี ธรรมศาสตร์ สถาบันประสาท ชลบุรี รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานคร

2 เรื่องสุดท้าย Promoting Interoperable Central Bank Digital Currencies (การทำงานร่วมกับระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง) และ Facilitation Cross-border Data Flows in Financial Services (การบริการการเงินที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดน) เรายังไม่ได้ทำอะไรมากนัก

ตลอด 3 ปีที่คุณรับบทบาท CEO มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เป็นช่วงเวลาที่ยากสำหรับคุณไหม

ต้องบอกว่าสนุกมาก ก่อนโควิดธนาคารทำแผนธุรกิจปีละครั้ง ช่วงโควิดเราต้องปรับตัวเลขตลอดทุกไตรมาส การบริหารจัดการไม่ต้องคิดเกินพรุ่งนี้เลย ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่หมด เราต้องอยู่กับปัจจุบัน รักษาสติให้ดี พอโควิดเริ่มซาเราก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่าโลกจะเป็นยังไงต่อไป เราต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมปรับตัวมาก ๆ ตามองเป้าหมาย ระหว่างทางก็พร้อมปรับเปลี่ยน

คุณกำลังพาทีมวิ่งไปไหน

เราอยากเป็นธนาคารผู้ให้บริการด้านการเงินที่มีความหมายกับเศรษฐกิจระดับภูมิภาค AEC เป็นอย่างน้อย แล้วเราก็มีเป้าว่าจะเป็นธนาคารที่เป็นผู้นำเรื่องความยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันมีตัวชี้วัดของมันอยู่ แต่เรามองแค่เป้าตัวเองไม่ได้ ต้องเทียบกับเป้าของธนาคารอื่นด้วยว่าเขาจะไปทางไหน เป้าที่เราตั้งไว้เทียบกับคนอื่นแล้วเราจะเป็นผู้นำได้ไหม เราก็เหมือนรถยนต์ที่วิ่งอยู่ในถนนในประเทศไทย ถึงรถดีแค่ไหน แต่ถนนไม่พร้อมเราก็เป็นผู้นำไม่ได้ มันจึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนความคิด ต้องสร้างมาตรฐานใหม่ ผู้ถือหุ้น นักลงทุนต้องเข้าใจ เราต้องพาไปด้วยกัน ถึงจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงได้

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ