10 พฤศจิกายน 2021
2 K

ตั้งแต่เด็ก ผมเคยเห็นภาพของฝูงหมีสีน้ำตาล หรือ Alaskan Brown Bear ตัวใหญ่หลายสิบตัว ยืนคอยตะครุบปลาแซลมอนที่กำลังกระโดดข้ามน้ำตกทวนน้ำ เพื่อขึ้นไปวางไข่ในบริเวณที่เรียกว่า Brooks Falls ที่ตั้งอยู่ใน Katmai National Park and Preserve ในดินแดนห่างไกลของอลาสก้า ผ่านจากจอโทรทัศน์ในรายการสารคดีชีวิตสัตว์ของต่างประเทศ

ผ่านไปเกือบ 40 ปี ความฝันวัยเด็กคนหนึ่งจากประเทศอันห่างไกลนั้นก็เป็นจริงขึ้นมา

Katmai อุทยานในอลาสก้าที่เราจะได้ดูหมีสีน้ำตาลจับปลาแซลมอนแบบใกล้ชิด
Alaskan Brown Bear เคยถูกแยกสายพันธุ์ออกจากหมี Grizzlie เมื่อหลายทศวรรษก่อน หากในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่ามันเป็นสายพันธุ์เดียวกัน โดยที่หมี Kodiak ที่พบบนเกาะ Kodiak นั้นเป็น Subspecies ของ Alaskan Brown Bear อีกทีหนึ่ง

จากเมือง Anchorage ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอลาสก้า ผมต้องนั่งเครื่องบินต่อมาลงเมือง King Salmon เมืองที่น่าจะเล็กที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา มีประชากรเพียง 300 กว่าคนเท่านั้นเอง ในช่วงฤดูร้อนที่ท่าอากาศยานเล็กๆ สร้างจากเมทัลชีทแห่งนี้จะคราคร่ำไปด้วยคนอเมริกันแต่งตัวแปลกๆ ถ้าไม่ถือกล่องใส่ปืนยาวเพื่อมาล่าสัตว์ ก็จะต้องถือกล่องใส่คันเบ็ดเพื่อมาตกปลา

จาก King Salmon เราต้องขึ้นเครื่องบินน้ำของ Katmai Air เพื่อข้ามทะเลสาบ Naknek ไปยังปากทางเข้าทะเลสาบ Brooks ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Brooks Lodge ที่พักเพียงแห่งเดียวในบริเวณนี้ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1950 เพื่อเป็นแคมป์สำหรับนักตกปลา ก่อนจะจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ Katmai ขึ้นมาภายหลังใน ค.ศ. 1980

Brooks Lodge เป็นที่พักแบบ Log Cabin ง่ายๆ ขนาดเล็กๆ มีจำนวนเพียงแค่ 16 หลัง เรียงรายกันอยู่ในพื้นที่เล็กๆ กลางป่า ฝูงแซลมอนจะเดินทางมาถึงน้ำตก และหมีสีน้ำตาลจะมายืนรอดักตะครุบปลาแซลมอนกินในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 2 สัปดาห์ ในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม การจองห้องพักที่ Brooks Lodge ในช่วงเวลานั้นใช้ระบบ Lottery จับฉลากที่พักซึ่งมีจำกัด และให้พักแค่คนละไม่เกิน 3 คืนเท่านั้น (ผมลองเข้าไปดูสถานะปัจจุบันตอนเขียนบทความนี้ คือ วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2021 จะเปิดให้สมัคร สำหรับการจองที่พักใน ค.ศ. 2023 ส่วนใน ค.ศ. 2022 นั้นเต็มหมดแล้ว) 

มีอีกทางเลือกหนึ่งก็คือ ไปตั้งแคมป์ในพื้นที่ของอุทยานที่เรียกว่า Brooks Camp ที่จำกัดคนไว้เพียง 60 คนต่อวันเท่านั้น (ส่วนใหญ่จะเต็มตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เปิดจองในวันที่ 5 มกราคมของทุกปี ) การจัดการอุทยานแห่งชาติของอเมริกาส่วนใหญ่ใช้ระบบนี้ คือไม่เพิ่ม Capacity เพื่อรับนักท่องเที่ยวเกินไปกว่าจำนวนพื้นที่ที่ธรรมชาติจะรองรับได้ แต่การเดินทางนั้นจะต้องวางแผนการเดินทางกันข้ามปี เราจึงไม่มีโอกาสเห็นสภาพของค่ายผู้อพยพที่กางเต็นท์ชิดติดกันในแหล่งท่องเที่ยวในธรรมชาติของอเมริกา เนื่องมาจากระบบในการบริหารและการจัดการที่ดี

ผมได้ที่พักที่ Brooks Lodge ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แซลมอนส่วนใหญ่จะเดินทางข้ามน้ำตกขึ้นไปแล้วแม้จะไม่ใช่ช่วงพีก ที่มีหมีสีน้ำตาลหลายสิบตัวมายืนบนน้ำตก แต่ก็ยังคงมีหมีหลายตัวเดินวนเวียนอยู่ในบริเวณลำธารและรอบๆ ที่พัก

Katmai อุทยานในอลาสก้าที่เราจะได้ดูหมีสีน้ำตาลจับปลาแซลมอนแบบใกล้ชิด
เนื่องจากไม่มีถนน พาหนะอย่างเดียวที่จะนำเรามาที่ Katmai ได้ก็คือเครื่องบินน้ำที่บินออกมาจาก King Salmon

สิ่งแรกที่เราต้องทำเมื่อก้าวลงจากเครื่องบินน้ำก็คือ เจ้าหน้าที่อุทยานจะเดินมารับเราที่ประตูเครื่องบิน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ของ Lodge และพาเราตรงไปยังห้องที่ทำการของอุทยาน เพื่อให้เรานั่งฟังกฎ กติกา มารยาท ที่เราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ตลอดช่วงเวลาที่เราพักและทำกิจกรรมในบริเวณนี้ 

Katmai อุทยานในอลาสก้าที่เราจะได้ดูหมีสีน้ำตาลจับปลาแซลมอนแบบใกล้ชิด
เมื่อเดินทางมาถึง นักท่องเที่ยวทุกคนต้องเข้าไปนั่งฟังกฎเกณฑ์และข้อปฏิบัติตัว เพื่อความปลอดภัยในการเผชิญหน้ากับหมีนานกว่าครึ่งชั่วโมง และทุกคนจะได้รับแจกเข็มไว้ติดเสื้อ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ผ่านการอบรมแล้ว

รวมถึงการปฏิบัติตัวเมื่อเผชิญหน้ากับหมีสีน้ำตาลว่าเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น การแขวนกระดิ่งไว้ที่กระเป๋า เพื่อเตือนให้หมีรู้ว่าเรากำลังเดินมา การตะโกนทักทายหมีว่า Hey bear! ก่อนจะเดินผ่านโค้งที่ลับตา หรือเวลาเจอหมีบนเส้นทางเดินจะต้องทำตัวอย่างไร กฎ กติกา มารยาท เวลาเดินบนสะพานหรือบนแพลตฟอร์มที่ดูหมีในบริเวณน้ำตก เราจะต้องปิดประตูรั้วทุกครั้งเมื่อเข้าไปใช้พื้นที่ หรือแม้แต่การเผชิญหน้ากับหมีในระหว่างตกปลาในลำธาร แล้วหมีจะเดินเข้ามาหาเราเพื่อแย่งปลาที่ติดเบ็ดไปกิน เขาก็จะให้ดึงสายเบ็ดให้ขาดไปก่อนหมีจะเข้ามาแย่งปลาเรา เพราะถ้าหากมันเรียนรู้ว่าหาปลากินง่ายๆ มันจะคอยเฝ้าเดินตามนักตกปลาซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

Katmai อุทยานในอลาสก้าที่เราจะได้ดูหมีสีน้ำตาลจับปลาแซลมอนแบบใกล้ชิด
Alaskan Brown Bear ในขณะยืนขึ้นด้วยขาหลังตอนเดินข้ามน้ำลึก เมื่อยืนขึ้นสองขาจะมีความสูงถึง 3 เมตร ทำให้มันเป็นนักล่าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 บนผืนแผ่นดินของโลก มีขนาดไล่เลี่ยกับหมีขาว (ส่วนนักล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือ Sperm Whale)

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบของการจัดการอุทยานแห่งชาติ การตกปลาเพื่อการกีฬาในอุทยานแห่งชาติเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ โดยแต่ละอุทยานแห่งชาตินั้นจะมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม และรายละเอียดในการจัดการแตกต่างกันไป บางแห่งก็ใช้ Fishing License ทั่วไปของรัฐที่ออกโดย Fish and Wildlife ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการจัดการออกใบอนุญาตควบคุมการตกปลาและล่าสัตว์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า Warden คอยดูแล หรือในบางอุทยานแห่งชาติก็จะออก License พิเศษเฉพาะของตนเองขึ้นมา เช่นที่ Yellowstone National Park การออก License นี้จะกำหนดสายพันธุ์ ขนาด และจำนวนของปลาที่เราเก็บได้ ในขณะที่บางสายพันธุ์ซึ่งเป็น Alien Species จะไม่มีการกำหนด แต่แนะนำให้เก็บมาทำอาหาร หรือแม้กระทั่งกำจัดออกไปไม่ให้มารบกวนสายพันธุ์ท้องถิ่น

สื่งที่น่าสนใจที่สุดในเรื่องการจัดการอุทยานแห่งชาติของอเมริกา คือกฎทุกอย่างมีพื้นฐานมาจากการวิจัย และมีเหตุผลที่อธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์รองรับทุกอย่าง บางปีอาจจะมีการปรับเพิ่มหรือลดตัวเลข Bag Limit หรืออาจประกาศห้ามจับปลาบางสายพันธุ์ที่พบว่ามีจำนวนลดน้อยลง โดยไม่ใช้ความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงานหรือผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายเพียงอย่างเดียวในการตัดสินใจ

สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ในแต่ละพื้นที่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ไม่ได้มีคำตอบว่าห้ามหรือปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ แต่การจัดการก็คือการหาพื้นที่ตรงกลางที่เป็นหัวใจของคำว่า การอนุรักษ์ ซึ่งแปลว่าการนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ

หลังจากเก็บของเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว ผมก็แบกกล้องเดินไปตามเส้นทางเดินป่า ข้ามลำธารไปตามเส้นทางเดินป่า เพื่อไปเฝ้ารอดูหมีสีน้ำตาลในบริเวณ Viewing Platform ที่อยู่ห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตรจากที่พัก ในช่วงเย็นวันนั้นหมีสีน้ำตาลตัวใหญ่ตัวหนึ่งพยายามวนเวียนไล่จับปลา Sockeye Salmon สีแดงสดที่ลอยตัวอยู่ในลำธารน้ำอยู่นานนับชั่วโมง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อลาสก้าในช่วงฤดูร้อนพระอาทิตย์จะตกในช่วงราวๆ 4 – 5 ทุ่ม 

เราเฝ้ารอลุ้นให้หมีจับปลาแซลมอน จนลืมไปว่าอาหารเย็นที่ Lodge นั้นจะเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงเวลา 5 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม ผมลืมดูเวลา กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เกือบ 3 ทุ่มเข้าไปแล้ว เป็นอันว่าวันแรกเราอดข้าวเย็นไปตามระเบียบ เพราะหลัง 2 ทุ่มเขาจะเก็บอาหารทุกอย่างตามกฎที่วางไว้อย่างเคร่งครัด

Katmai อุทยานในอลาสก้าที่เราจะได้ดูหมีสีน้ำตาลจับปลาแซลมอนแบบใกล้ชิด
บรรยากาศก่อนพลบค่ำ ในช่วงเวลาประมาณ 4 ทุ่ม จากบนสะพานในบริเวณปากอ่าวของ Brooks Lake

เข้าวันที่สอง ผมเดินเข้าไปยังที่ทำการของ Lodge เพื่อติดต่อจ้างไกด์ตกปลาที่จะพาเราเดินตกปลาในลำธาร สำหรับที่ Katmai National Park and Preserve มีกฎเกณฑ์ในการตกปลาว่า จะต้องใช้อุปกรณ์ Fly Fishing เพื่อตกปลาเท่านั้น ห้ามใช้อุปกรณ์ในรูปแบบอื่น และปลาที่ตกได้ทุกตัวในเขตเหนือสะพานที่เข้ามาจากปากแม่น้ำขึ้นไปถึงต้นน้ำ จะต้องปล่อยกลับลงไปในน้ำทุกตัว

Katmai National Park and Preserve อุทยานแห่งชาติที่มี 2 สัปดาห์ทองให้เราได้ดูหมีสีน้ำตาล นักล่าใหญ่อันดับ 2 ของโลกจับปลาแซลมอน
Fly Fishing เป็นกิจกรรมที่นิยมมากที่สุด รองลงไปจากการไปเฝ้าชมและถ่ายภาพพฤติกรรมของ Alaskan Brown Bear ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ Katmai

การออกเดินท่องลำน้ำตกปลาในลำธารกับไกด์เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นสำหรับผม เพราะระหว่างที่เดินตกปลาในลำธารนั้น เราจะพบกับหมีสีน้ำตาลตัวใหญ่เดินท่องน้ำเพื่อหาปลาเป็นปกติ บางครั้งไกด์ก็จะพาเราเดินผ่านหมีไปแบบหน้าตาเฉย ในระยะที่ห่างออกไปเพียงไม่ถึง 10 เมตรเพียงเท่านั้น ก่อนที่จะเดินเข้าไป ไกด์กำชับว่าให้ทำตัวปกติ เดินตามหลังเขาไว้ และที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่าวิ่งเป็นอันขาด

Katmai National Park and Preserve อุทยานแห่งชาติที่มี 2 สัปดาห์ทองให้เราได้ดูหมีสีน้ำตาล นักล่าใหญ่อันดับ 2 ของโลกจับปลาแซลมอน
ลูกหมีสีน้ำตาลเดินสวนมาบนทางเดิน ลูกหมีที่น่ารักมักจะขี้เล่นและขี้สงสัย ในบางครั้งอาจจะเดินเข้ามาหาคน และบางครั้งตัวแม่ก็มักจะวนเวียนอยู่ไม่ห่าง จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ให้พยายามหลีกเลี่ยงหมีแม่ลูกอ่อน แม้ว่าลูกหมีจะดูน่ารักแค่ไหนก็ตาม

ในลำธารแห่งนี้เต็มไปด้วยปลาแซลมอนหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น Sockeye Salmon Pink Salmon และ Rainbow Trout แต่ปลาที่น่าสนใจมากที่สุดชนิดหนึ่งก็คือ Arctic Grayling ที่มีครีบหลังสวยงาม

Katmai National Park and Preserve อุทยานแห่งชาติที่มี 2 สัปดาห์ทองให้เราได้ดูหมีสีน้ำตาล นักล่าใหญ่อันดับ 2 ของโลกจับปลาแซลมอน
Sockeye Salmon ในขณะที่กระโดดขึ้นมาบน Brooks Fall ในช่วงฤดูอพยพ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี

ช่วงเวลาที่ประทับใจผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมใช้เวลาช่วงเช้าในการตกปลา ช่วงบ่ายก็เดินไปเฝ้าหมีในบริเวณ Viewing Platform รับประทานอาหารเย็น ก่อนลงไปตกปลาจนมืดค่ำในเวลาประมาณ 4 ทุ่มจึงกลับมาที่ห้องพัก

สำหรับคนที่รักธรรมชาติแล้ว ผมคิดว่า Katmai ในช่วงฤดูร้อนนั้นคือประสบการณ์และความทรงจำ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตของผมเลยทีเดียว

สารคดีสัญชาติไทย

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม