พอออกพรรษาแล้วก็ถึงเทศกาลทอดกฐิน ชาวพุทธจะรู้ว่าสำคัญอย่างไร จะต้องทำอะไร ผมเองเป็นชาวพุทธที่ไม่ได้เรื่อง เรื่องที่ควรรู้กลับไม่รู้ ที่ไหนทอดกฐินก็ไปกินกฐินอย่างเดียว กินตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร ก็เก็บเอามาเล่า

เอาตั้งแต่เด็กที่ยังไม่ประสีประสา ผู้ใหญ่หอบหิ้วไปงานทอดกฐินทางน้ำ สนุกตื่นเต้นเพราะได้นั่งเรือใหญ่ๆ ไปไกลๆ ถึงวัดริมน้ำที่ทอดกฐิน ซึ่งเป็นปกติของวัดภาคกลาง คนจัดจะเช่าเรือโดยสารเหมาลำขนาดใหญ่ที่ปกติวิ่งขึ้นล่องกรุงเทพฯ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี จุคนได้เป็นร้อย ตอนจะลงเรือก็ตื่นเต้น จากที่เรือประดับไฟสว่างไสวทั่วลำ ทั้งสีเหลือง แดง เขียว ดูเหมือนกำลังนั่งศาลเจ้าลอยน้ำ เรือออกจากท่าเรือที่ท่าเตียน วิ่งไปทั้งคืน กว่าจะไปถึงวัดเช้า จำไม่ได้ว่าวัดไหน แต่รู้ว่าอยู่ในเขตอยุธยา 

พอขึ้นศาลาท่าน้ำวัด เห็นคนเยอะแยะ และครึกครื้นด้วยเสียงวงปี่พาทย์ดนตรีไทย มีของกินเพียบ ขนมไทยเยอะแยะ กล้วย ส้ม อ้อย มะพร้าวอ่อน มีเป็นกุรุส ข้าวปลาอาหารใส่กระทง ใช้ใบตาลตัดแทนช้อน แล้วกินกันไม่อั้น

พวกผู้ใหญ่ขึ้นบนศาลาการเปรียญไปทำพิธีทอดกฐิน เราเป็นเด็กก็เดินเล่นรอบๆ วัด ไปเจอผู้ใหญ่นั่งล้อมวงกินอะไรอยู่ก็แถไปดู ก็ได้เรื่อง เพราะวงผู้ใหญ่นั้นกำลังเล่นกระแช่กับเหล้าอุอยู่ เขาเห็นเป็นเด็กกรุงเทพฯ เลยแกล้งให้กินเหล้าอุที่อยู่ในไห ต้องใช้หลอดไม้ซางดูด ตอนกินก็อร่อยดี หวานๆ แต่พอลุกยืนเท่านั้น เป๋ซ้ายเป๋ขวา ทอดกฐินครั้งนั้นจำได้ว่าได้นั่งเรือโดยสาร ได้เที่ยวงานวัด และจำเหล้าอุได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต

น้ำพริก ขนมจีนแกงไก่ ขนมไทย ผลไม้ และสารพัดของกิน จากครัวสามัคคีงานกฐินในความทรงจำ
น้ำพริก ขนมจีนแกงไก่ ขนมไทย ผลไม้ และสารพัดของกิน จากครัวสามัคคีงานกฐินในความทรงจำ

พอโตเป็นหนุ่ม ไปงานทอดกฐินอยู่บ้าง ส่วนใหญ่มีคนบอกบุญแล้วชวนให้ไปร่วมงาน สนุกตอนแห่ผ้าพระกฐินรอบพระอุโบสถ มันสุดเหวี่ยงจากเสียงแตรวง คนที่จัดพิธีทอดผ้าพระกฐินก็ว่ากันไป แต่ผมมาสนใจเอาที่โรงครัว ซึ่งเหล่าแม่บ้านอาสาสมัครช่วยกันทำอาหารกันเป็นทีมเวิร์ก ทำเสร็จจัดใส่สำรับ เราเป็นแขกก็จัดให้นั่งกิน ที่นั่งกินเป็นโต๊ะและม้ายาวอยู่ใต้ถุนศาลาการเปรียญนั่นเอง สำหรับอาหารคาวหวาน ผลไม้มีครบ เรื่องอร่อยนั้นแน่นอนอยู่แล้ว เพราะเหล่าแม่บ้านแต่ละคนฝีมือเฉียบขาด แล้วยังอิ่มบุญปากที่กินของวัด นี่เป็นการกินกฐินแบบหนึ่ง

เคยรู้จัก ผู้ใหญ่ทองหยิบ แก้วนิลกุล ผู้ใหญ่บ้านผู้หญิงที่บ้านหัวหาด อัมพวา สมุทรสงคราม ผู้ใหญ่ทองหยิบเป็นผู้ใหญ่ผู้หญิงแรกๆ ของเมืองไทย ชาวบ้านนับถือมาก เรื่องการดูแลท้องถิ่นได้ใจชาวบ้าน บุคลิกคล่องแคล่ว พูดจาฉะฉาน อัชฌาสัยเป็นเลิศ เป็นนักอนุรักษ์นิยมและหัวก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน ผู้ใหญ่จึงได้รางวัลแหนบทองคำฐานะผู้นำชุมชนยอดเยี่ยม แต่ที่เด็ดดวงที่สุดที่ผมรู้จัก เป็นแม่ครัวมีฝีมือหาใครเทียบยาก

ผมได้สูตรน้ำพริกกะปิ น้ำพริกมะขามสด ปลาทูสดย่างกาบมะพร้าวกับน้ำปลาพริกแบบมอญ แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย จากผู้ใหญ่ทองหยิบนี่แหละ ผู้ใหญ่เป็นผู้บุกเบิกโฮมเสตย์ในแถบคลองอัมพวา ที่พ่วงสอนทำอาหารไทยให้อีกด้วย 

ญี่ปุ่น ฝรั่งหลายชาติ ชอบมาพักมาบ้านผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จับเดินเข้าสวนเก็บผลหมากรากไม้ในสวนเอามาทำกิน เรื่องภาษาไม่มีปัญหา พูดกันรู้เรื่องจนได้ ความฉลาดและจี้เส้นของผู้ใหญ่ชอบตั้งชื่อใหม่ให้แขก คนนั้นชื่อแตงกวา ลิ้นจี่ ส้มโอ กล้วย มะม่วง เพราะว่าชื่อติดตัวคนพวกนั้นเรียกยาก ตั้งใหม่จำง่ายว่าใครเป็นใคร

น้ำพริก ขนมจีนแกงไก่ ขนมไทย ผลไม้ และสารพัดของกิน จากครัวสามัคคีงานกฐินในความทรงจำ
เล่าเรื่องบรรยากาศและของกินประจำงานกฐิน ความอิ่มบุญและอิ่มท้องในงานบุญสมัยก่อน

ผมไปงานทอดกฐินวัดใกล้บ้านผู้ใหญ่ สนุกมาก ถามว่าทำไมกับข้าวเลี้ยงแขกมีแต่ขนมจีนน้ำยา กับขนมจีนแกงไก่เท่านั้น ผู้ใหญ่บอกว่าง่าย สะดวก และอิ่ม ดั้งเดิมตั้งแต่โบราณทำกันมาอย่างนั้น สมัยก่อนชาวบ้านมาช่วยกันตั้งโรงทำขนมจีน ตั้งแต่หมักข้าวเจ้า โม่เป็นแป้ง ปั้นก้อนแป้ง นวด และเอามาโรยในน้ำร้อนเป็นเส้นขนมจีน ส่วนน้ำยานั้น ปลากับมะพร้าวทำกะทินั้นอัมพวามีเหลือเฟือ พอมาสมัยนี้ขนมจีนก็ซื้อเอา ทำแกงเขียวหวานไก่เพิ่ม นี่ทำให้รู้ว่าขนมจีนน้ำยา เป็นอาหารของสังคมประเพณีใช้ได้ทุกงาน รวมทั้งงานทอดกฐิน

มาเป็นทอดกฐินแบบเหนือบ้าง สมัยก่อนผมขึ้นดอยอินทนนท์เป็นนิจ แล้วลงไปอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งดั้งเดิมอำเภอนี้เหมือนเป็นเมืองลับแลของเชียงใหม่ จะเข้า-ออก ต้องไปทางออบหลวง ชายขอบระหว่างอำเภอจอมทอง เชียงใหม่ กับแม่ฮ่องสอน พอมีถนนบนดอยอินทนนท์ก็ตัดลงไปอีกเส้นหนึ่ง สะดวกขึ้น แต่ค่อนข้างชันและคดเคี้ยว จำแม่นว่าพอโค้งสุดท้ายจะเห็นแม่แจ่มแบบพาโนรามาเต็มตา ตื่นตาตื่นใจกับความงามบริสุทธิ์เหมือนรักแรกพบ แล้วไม่ใช่เป็นแต่ผมคนเดียว เผ่าทอง ทองเจือ เพื่อนเก่าแก่ผมก็ตกอยู่ในอาการเดียวกัน จะหนักกว่าด้วยซ้ำไป ไปหลายๆ ครั้งสุดท้ายก็ซื้อบ้านเก่า ที่เคยเป็นคุ้มหมอเมืองเก่า ที่ปล่อยรกร้างอยู่นาน สวยตามแบบบ้านเรือนล้านนาแท้ๆ แต่เฮี้ยนน่าดู

แม่แจ่มมีวัดป่าแดดเก่าแก่ที่มาก อุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณย่อเก็จสามชั้น อาจารย์สน สีมาตรัง ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนังล้านนา ยกย่องวัดป่าแดดเป็น 1 ใน 12 วัดที่จิตรกรรมฝาผนังยอดเยี่ยมของล้านนา แต่สมัยก่อนทรุดโทรมไปเยอะ เผ่าทองมีจิตกุศลไปทำโครงการบูรณะซ่อมแซมวัดป่าแดดจนเรียบร้อย 

เสร็จงานวัดป่าแดดแล้ว หาเรื่องมาทำงานจุลกฐินที่วัดยางหลวง เมื่อ พ.ศ. 2548 บอกบุญกับเหล่าไฮโซกระเป๋าหนักให้ไปทอดกฐิน งานเท่มาก จับเหล่าไฮโซพักตามบ้านชาวบ้าน ให้กินง่ายอยู่ง่าย ตอนค่ำมีมื้อสุดซึ้งกับกับบรรยากาศล้านนาหรือกาดมั่ว นั่งกินกับเสื่อ ข้าวปลา อาหารเป็นพื้นถิ่นตัวจริง เป็นกาดมั่วที่ไม่ดัดจริต ง่ายๆ ชาวบ้านมานั่งจัดสำรับให้กิน ยังมีสะล้อ ซอ ซึง ฟังเสนาะหู แถมมีชาวบ้านเอาผ้าทอมือ ผ้าผวยห่มนอน ผ้าคลุมไหล่กันหนาว ผ้าซิ่นตีนจก มาวางขายยั่วกิเลส อะไรๆ ลงตัวไปหมด โดยเฉพาะตอนนั้นแม่แจ่มเหมือนเปิดแอร์ทั้งอำเภอ

จุลกฐินเป็นประเพณีโบราณ มีขบวนการขั้นตอนการทำผ้าไตรจีวรสำหรับพระ เริ่มตั้งแต่เก็บดอกฝ้ายมาหีบ ปั่นเป็นเส้นด้าย ทอเป็นผืน ตัดเย็บ ย้อมสี รีดจนเป็นจีวร จะต้องเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง เรียกว่าเสร็จหมาดๆ ก็ถวายเป็นผ้าพระกฐินได้เลย ที่สำคัญที่สุดการเก็บดอกฝ้าย มาหีบปั่นเป็นเส้นด้ายนั้น ต้องเป็นเด็กสาวพรหมจรรย์ แม่แจ่มเหมาะกับทำจุลกฐินเพราะเป็นเมืองปลูกฝ้าย สำหรับทอผ้าอยู่แล้ว 

ที่เผ่าทองทำจุลกฐินครั้งนั้น อยากให้ชาวเมืองกรุงให้เห็นจุลกฐิน ซึ่งที่อื่นๆ หายไปเกือบหมดแล้ว

เล่าเรื่องบรรยากาศและของกินประจำงานกฐิน ความอิ่มบุญและอิ่มท้องในงานบุญสมัยก่อน

ตอนทอดกฐินนั้นอลังการ แต่เป็นธรรมชาติสุดๆ ชาวบ้านตั้งแต่แม่อุ้ยถึงเด็กสาวเล็กๆ นุ่งผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มทุกคน ผ้าซิ่นตีนจกที่ยอดเยี่ยมที่สุดในเมืองไทยมีที่หาดเสี้ยว ศรีสัชนาลัย บ้านน้ำอ่าง อุตรดิตถ์ และแม่แจ่มเชียงใหม่ ถ้าอยากเห็นผ้าซิ่นตีนจกหาดเสี้ยวกับบ้านน้ำอ่าง ต้องไปงัดจากตู้ที่ร้านขายผ้า แต่สำหรับแม่แจ่มนั้นพอมีงานบุญทีไรจะใส่กันทั้งเมือง เห็นผ้าซิ่นสวยๆ ละลานตา นี่เป็นประเพณีที่งดงามหมดจด ใครเห็นก็ต้องหลงเสน่ห์เมืองแม่แจ่ม

การทอดกฐินปรับตัวมาเรื่อยๆ ตามสภาพสังคม บางทีก็งงๆ อยู่เหมือนกันว่าวัดเยอะแยะไปหมด บางวัดห่างกันแค่ 100 – 200 เมตร แล้วญาติโยมอุปัฏฐากวัดจะทอดกฐินวัดไหน เดี๋ยวนี้ถึงมีการหลีกทางกัน วัดนั้นทอดวันเสาร์ วัดนี้ทอดวันอาทิตย์ อีกอย่างเพื่อความสะดวกต่อคนทำงาน พนักงานต่างๆ ที่หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย

วัดเองก็ต้องมีศรัทธาวัดที่จะมาเป็นเจ้าภาพในการทอดกฐิน คนนั้นต้องไประดมปัจจัยมาทำบุญ ให้ได้เงินเข้าวัดมากๆ ยิ่งดี นอกจากศรัทธาหาเงินแล้วต้องมีศรัทธาเอาอาหาร เครื่องดื่ม ขนม มาตั้งซุ้มให้คนมาร่วมงานกินกัน จะมีอยู่ 2 อย่าง มีทั้งร้านค้าขายอาหารอยู่แล้ว เอาของที่ขายมาร่วมทำบุญ อีกอย่างมีคนไปเหมาร้านอาหารที่ดังๆ มีฝีมือมาออกร้าน วัดไหนใหญ่โต ศรัทธาวัดเยอะ อาหารการกินก็สมบรูณ์ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง กวยจั๊บ กระเพาะปลา ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ส่วนใหญ่เน้นสะดวกทำมาเรียบร้อยแล้วมาตั้งเลย ประเภทมาทำหน้างานจานต่อจานจะยุ่งยาก ไม่ค่อยนิยม

ชาวบ้านรวมทั้งผมเองด้วยชอบ ไปทำบุญถวายปัจจัยให้วัดแล้วถือโอกาสกินกฐิน วันเสาร์ไปกินวัดนั้น วันอาทิตย์ไปกินวัดนั้น ร้านไหนถูกปากขึ้นทะเบียนไว้ ตามไปกินที่ร้านที่เขาขายอยู่ หรือบ้านไหนทำอะไรอร่อยก็ถามสูตรมา แต่การกินกฐินปีนี้อาจจะทำไม่ได้ เพราะคนเยอะเสี่ยงกับโควิด-19 ต้องยกยอดไปปีหน้า

Writer & Photographer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ