สถานการณ์ในบ้านหลังเดียวของเราเต็มไปด้วยอณูสารเคมีทุกตารางเมตร ทั้งในอากาศ น้ำดื่ม รวมไปถึงอาหาร ส่งผลต่อสุขภาพผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เทรนด์การกินอาหารออร์แกนิกเพื่อเสริมสุขภาพจึงเริ่มเป็นที่จับตามากขึ้น แต่ด้วยราคาที่สูงกว่าอาหารทั่วไป ทำให้ยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายในทุกกลุ่ม

อีกด้านหนึ่ง เกษตรกรไทยก็มีข่าวราคาพืชผลตกต่ำ รายได้น้อยมาตลอดหลายปี เป็นปัญหาเรื้อรังระดับชาติเพราะการกดราคาจากพ่อคนกลาง ทำให้กลุ่มคนที่เปรียบเสมือนแหล่งอาหารของโลกยังอยู่ภายใต้เส้นความยากจนนับล้านคน

จะดีกว่าไหมหากมีการแก้ปัญหาทั้งสองสิ่งได้ภายในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทานอาหารออร์แกนิกราคาถูกลงและเข้าถึงง่าย ขณะเดียวกันเกษตรกรก็เพิ่มมูลค่าสินค้าของตนเองได้ ช่วยขยับฐานะทางการเงินให้ดีขึ้น 

แอปพลิเคชัน ‘Kaspy’ ของ อั๋น-รังสิ ทุวิรัตน์ ตั้งขึ้นมาเพื่ออาสาแก้ปัญหานี้ โดยทำงานเป็นมาร์เก็ตเพลสให้แก่ผู้ขายอย่างเกษตรกรไทย ผู้ตั้งใจส่งมอบวัตถุดิบออร์แกนิกคุณภาพดี และผู้ซื้อที่มองหาผลผลิตคุณภาพเยี่ยม

ใครจะเชื่อว่าจุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดจากการพูดคุยกับเพื่อนรุ่นพี่ ว่าอยากมีสวนป่าเป็นของตัวเอง สู่การพลิกงานประจำจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อทำแอปพลิเคชันที่ทำให้ ‘ผู้บริโภคกินได้ เกษตรกรยิ้มด้วย’

Kaspy แพลตฟอร์มขายผลผลิตที่รวมเกษตรกร 700 คน เพื่อให้คนกิน-คนปลูกเติบโตไปด้วยกัน

01

ชีวิตของหนุ่มไทยผู้ใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ เกือบ 20 ปี ทั้งยังมีประสบการณ์ด้านแบรนดิ้งจากการทำงานกับแบรนด์ Oakley ที่สำนักงานใหญ่ Foothill Ranch, California นานถึง 10 ปี เขาตัดสินใจกลับเมืองไทยเพื่อปลุกปั้นบริษัทแบรนดิ้งเอเจนซี่ชื่อ Mad Arai-D ก่อนจะได้พบเจอบางอย่างที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

“3 สิ่งที่ว่านี้คือสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจเลยว่า เราต้องทำอะไรเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น”

สิ่งแรกคือการได้พูดคุยกับ ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับภาพยนต์โฆษณาชื่อดัง ขณะนั้นต่อกำลังจัดเตรียมสวนป่าขนาดใหญ่บนเนื้อที่ 6 ไร่ที่สะสมเงินซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงตนเอง เขาให้เหตุผลว่าโลกกำลังตกอยู่ในวิกฤตโลกร้อน ป่าไม้กำลังถูกทำลาย การสร้างสวนนี้คือความพยายามเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

สิ่งที่สองคือพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 “ผมเห็นพระองค์ทรงช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรมาตลอดระยะเวลาการครองราชย์ พระองค์ทรงเห็นว่าเกษตรกรไทยยังคงมีความยากลำบากด้านฐานะการเงิน น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ลืมตาอ้าปากได้” 

สิ่งที่สามคืออาการป่วยของคุณแม่ ซึ่งขณะนั้นป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ปัจจัยไม่มากก็น้อยมาจากสารเคมีตกค้างในร่างกาย ทั้งครอบครัวจึงใส่ใจเรื่องอาหารการกินและสินค้าอุปโภคบริโภคปลอดภัยสำหรับดูแลผู้ป่วย

ด้วย 3 เหตุผลนี้ทำให้อั๋นตั้งใจสร้างแพลตฟอร์มขายสินค้าออร์แกนิกที่ไร้สารเคมีตกค้าง เพื่อให้ผู้คนมีสุขภาพดี แข็งแรง และหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน 

Kaspy จึงเกิดขึ้น

Kaspy แพลตฟอร์มขายผลผลิตที่รวมเกษตรกร 700 คน เพื่อให้คนกิน-คนปลูกเติบโตไปด้วยกัน
Kaspy แพลตฟอร์มขายผลผลิตที่รวมเกษตรกร 700 คน เพื่อให้คนกิน-คนปลูกเติบโตไปด้วยกัน

02

“เราต้องการให้ Kaspy เป็นตลาดสินค้าออร์แกนิกที่ถูกและดี ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีสุขภาพดี มีอาหารดี มีรายได้และค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ช่วยให้พวกเขายิ้มได้มากขึ้น” เขาว่าอย่างนั้น “เกษตรกรเข้ามาขายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อสร้างสังคมออร์แกนิกให้เติบโตยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าใช้สารเคมีก็ขายในพื้นที่แห่งนี้ได้ นี่คือสังคมแห่งการแบ่งปันที่จะทำให้เกษตรกรและผู้คนได้รับแต่สิ่งดี ๆ”

ปัจจุบัน Kaspy แบ่งแพลตฟอร์มสินค้าออกเป็น 2 ประเภทคือ สินค้าออร์แกนิกและสินค้าที่ยังคงใช้สารเคมี 

ประเภทสินค้าออร์แกนิก สินค้าที่จำหน่ายในหมวดนี้ต้องมีหลักฐานรับรองจึงอยู่บนแพลตฟอร์มของเขาได้ โดยต้องส่งใบรับรองให้อนุมัติก่อน จึงจะได้ตราออร์แกนิกจาก Kaspy ซึ่งโปร่งใสและตรวจสอบคุณภาพได้

ส่วนหมวดย่อยของสินค้าออร์แกนิกคือ Kaspy Kudsan หมวดสินค้าที่รับประกันว่าเป็นสินค้าออร์แกนิก ปลอดภัยไร้สารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยรับประกันคุณภาพสินค้าจากที่ Kaspy รู้จักเหล่าเกษตรกรตัวจริง จากการเข้าไปคลุกลี ตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำด้วยมาตรฐานสินค้าออร์แกนิกที่กำหนด โดยวางขายในราคาเป็นมิตรที่จะทำให้วงการออร์แกนิกเติบโตต่อไปในแนวราบ

“ผักบางชนิดต้นทุนไม่แพงขนาดนั้น อาจจะต้นทุน 220 แต่เสนอขาย 600 บาท คนที่ซื้อไหวมีไม่มาก ถ้าอยากให้สังคมออร์แกนิกเติบโต เราต้องหาวัตถุดิบที่ดีแต่ราคาเข้าถึงได้ มานำเสนอให้เข้าถึงกลุ่มผู้มีรายได้กลุ่มอื่น ๆ”

แพลตฟอร์มส่วนที่สองคือตลาดสินค้าเกษตรที่ยังใช้สารเคมี

อั๋นเปิดพื้นที่ส่วนนี้ให้กับเกษตรกรที่ยังใช้สารเคมีอยู่ แต่ขณะเดียวกันต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้าน GMP (Good Manufacturing Practice) เพราะเข้าใจว่าการทำการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์ให้เป็นแบบออร์แกนิกมีต้นทุน ทั้งเรื่ององค์ความรู้ การปรับตัว ดังนั้น ไม่ใช่เกษตรกรทุกกลุ่มที่จะทำได้ 

แล้วใครจะอยากมาทำ หากต้นทุนการเปลี่ยนแปลงมันใหญ่ขนาดนี้ – พวกเรายิงคำถามไปหาอั๋นด้วยความสงสัย

“เมื่อมีอุปสงค์ผู้บริโภคและผู้รับซื้อสินค้าออร์แกนิกในราคาที่สูงกว่าสินค้าเคมีทั่วไป เกษตรกรจะเริ่มหันมาทำรูปแบบออร์แกนิกตามความต้องการและคอมมูนิตี้ที่เพิ่มมากขึ้นเอง ส่วนเรื่องราคา เมื่อมีคนทำแบบเดียวกันจำนวนมาก ราคาสินค้าจะปรับตัวลดลงอยู่ในจุดที่ทุกคนเอื้อมถึง” 

ท้ายที่สุด เป้าหมายที่ตั้งไว้คือเกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมและเป็นธรรม ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็เข้าถึงสินค้าคุณภาพได้

Kaspy แพลตฟอร์มขายผลผลิตที่รวมเกษตรกร 700 คน เพื่อให้คนกิน-คนปลูกเติบโตไปด้วยกัน
Kaspy แพลตฟอร์มขายผลผลิตที่รวมเกษตรกร 700 คน เพื่อให้คนกิน-คนปลูกเติบโตไปด้วยกัน

03

นอกจากพัฒนาวงการสินค้าเกษตรอินทรีย์ อั๋นยังหวังให้เกษตรกรไทยทำธุรกิจด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน เท่าทันต่อโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไป

“เกษตรบ้านเราถนัดเพาะปลูก แต่ไม่ถนัดค้าขาย” อั๋นเว้นจังหวะให้คิดตาม 

“สมมติเวลาซื้อถั่วแระ เราไม่มีทางรู้ว่าเจ้าไหนดีกว่ากันเพราะเราไม่ใช่เกษตรกร ดังนั้นแบรนดิ้งที่สื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจได้ดีที่สุด จะทำให้เขาเชื่อถือและซื้อสินค้าของเรา” ผู้คร่ำหวอดในวงการแบรนดิ้งมาหลายสิบปียืนยันหนักแน่น

Kaspy อบรมทักษะเหล่านี้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้พวกเขาสื่อสารตรงถึงผู้บริโภคให้เข้าใจถึงความตั้งใจดี โดยเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ทันสมัย ช่วยกระตุ้นยอดขายให้ทะลุเป้าเกินกว่าที่นักพยากรณ์คนไหนจะทำนายถูก

อีกปัญหาคือพ่อค้าคนกลางและค่า GP ซึ่งเป็นข้อกำจัดของวงการนี้มายาวนาน อาหารที่ต้นทุนไม่แพงกลับมีราคาแพงขึ้นเมื่อผ่านการซื้อหลายต่อ มีการกดราคารับซื้อหรือหักค่า GP ที่อาจมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงอย่างไม่เป็นธรรม Kaspy จึงขออาสาเข้ามาขันน็อตในจุดนี้

ไม่มีพ่อค้าคนกลาง มีเพียงค่า GP 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคยิ้มกว้างมากขึ้น

สิ่งที่ Kaspy ทำ เป็นโมเดลที่ทำให้ทุกฝ่ายยินดีโอบรับไว้

แม้แต่การพัฒนาแพลตฟอร์ม เขาก็ยังใส่ใจเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทุกปุ่ม ทุกฟังก์ชันของแอปพลิเคชัน Kaspy พัฒนาผ่านการสอบถามเกษตรกรตัวจริงถึงความยากง่ายในการใช้งาน 

ปุ่มเป็นยังไง สีแบบนี้มองชัดไหม

“Kaspy เป็นแพลตฟอร์มที่ทำงานกับ 2 ฝ่าย หากเกษตรกรใช้ไม่ได้คือพังตั้งแต่ต้นน้ำ”

Kaspy แพลตฟอร์มขายผลผลิตที่รวมเกษตรกร 700 คน เพื่อให้คนกิน-คนปลูกเติบโตไปด้วยกัน

04

Kaspy อยู่รอดได้อย่างไรในสมรภูมินี้ที่มีคู่แข่งมากมาย

‘ความหลากหลายของสินค้าและผู้ค้ากว่า 700 ราย รวมถึง 14 หมวดสินค้าตั้งแต่อาหารไปจนถึงพันธุ์ไม้และสัตว์เกษตรกรรม’ คือหมัดน็อกแรก

แม้จะเป็นผู้เล่นรายใหม่ แต่การเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายบนมือถือเจ้าแรก ๆ ทำให้ได้เปรียบกว่าเจ้าเก่าที่ทำบนเว็บไซต์ และตอบสนองผู้บริโภคใหม่ ๆ นอกเหนือกลุ่มคนรักสุขภาพที่อาจเข้าถึงแหล่งสินค้าอาหารออร์แกนิกอยู่แล้ว ยังมีผู้คนที่คุ้นเคยกับ Mobile Application อีกมากมายที่พร้อมเปิดใจให้สินค้าออร์แกนิก 

หมัดน็อกที่สองคือ ระบบสมาชิก (Subscription) สำหรับลูกค้าที่สั่งอาหารออร์แกนิกเป็นประจำ โดยกำหนดได้ว่า ใน 1 สัปดาห์ต้องการหมู ปลา ผัก หรือธัญพืชจำนวนเท่าไหร่ อีกทั้งยังกำหนดรอบความถี่ในการส่งได้ เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้าประจำและผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง

“คนที่ซื้อวัตถุดิบจะได้ไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทาง เจอมลพิษ เขาควรได้มีเวลาไปทำในสิ่งที่เขารัก เราจึงอาสามาช่วยดูแลกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครอบครัวในจุดนี้

“อีกกลุ่มเป้าหมายคือร้านอาหารระดับ A และ B ซึ่งเป็นกลุ่มที่เหมาะสมที่สุดกับระบบนี้ ร้านอาหารระดับนี้กลุ่มลูกค้ามักมีกำลังจ่ายในระดับหนึ่ง การได้ใช้วัตถุดิบจากระบบ Subscribtion แลกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วน ไม่ได้มีผลกระทบต่อลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งมีกำลังซื้อและใส่ใจสุขภาพเป็นทุนเดิม ดังนั้น การใช้สินค้าออร์แกนิกที่ดีทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ เพิ่มมูลค่าให้ร้านค้า เกิดเป็น Customer Loyalty ต่อร้านอาหารในระยะยาว”

Kaspy แพลตฟอร์มขายผลผลิตที่รวมเกษตรกร 700 คน เพื่อให้คนกิน-คนปลูกเติบโตไปด้วยกัน
Kaspy แพลตฟอร์มขายผลผลิตที่รวมเกษตรกร 700 คน เพื่อให้คนกิน-คนปลูกเติบโตไปด้วยกัน

ชุด Kit ตรวจสารเคมีจะส่งไปพร้อมกับสินค้าระบบ Subscribtion เพื่อให้ลูกค้าทดสอบสารเคมีในอาหาร ดังนั้น ก่อนส่งมอบอาหารต้องมั่นใจว่าปลอดภัย มีคุณภาพ และเป็นออร์แกนิกไร้สารเคมีจริง ๆ ตามที่ Kaspy กำหนดมาตรฐานไว้ 

หมัดน็อกที่สามคือ การขยายตลาดแบบออฟไลน์

อั๋นกระซิบบอกพวกเราว่า ขณะนี้กำลังซุ่มศึกษาโมเดลการขายสินค้าออฟไลน์ โดยกระจายไปตามกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นการเสริมสร้างคอมมูนิตี้สินค้าออร์แกนิกให้แพร่หลาย ผู้บริโภคจะเข้าถึงและตรวจสอบสินค้าจริง ๆ ได้ด้วยตัวเอง และยังเป็นการส่งเสริมช่องทางการตลาดสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่สันทัดการสั่งสินค้าออนไลน์ โมเดลนี้จึงเป็นหนึ่งในช่องทางขยายกลุ่มลูกค้า และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้าในละแวกที่ตั้งร้านค้าออฟไลน์ได้เป็นอย่างดี 

อั๋นยอมรับว่าตนเป็นเพียงคนตัวเล็กในวงการนี้ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด รายได้จากค่า GP 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่เพียงพอต่อการดูแลธุรกิจในระยะยาว การตลาดแบบ Subscribtion และออฟไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้บริษัทและทีมงานดำเนินต่อไปได้ 

แม้ไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเม็ดเงินมหาศาล พร้อม Burn Cash ด้วยสารพัดโปรโมชัน แต่ Kaspy เป็นแอปพลิเคชันสัญชาติไทยที่สนับสนุนสินค้าออร์แกนิกแบบ E-Commerce จริง ๆ ซึ่งทำให้ ‘การซื้อขายสินค้าเป็นเรื่องง่าย’ ผู้ซื้อตรวจสอบได้ว่า สิ่งที่กินคืออะไร ผลิตยังไง มาจากจังหวัดไหน มีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือและคุณภาพสินค้าให้โปร่งใสเสมอ จึงมั่นใจได้ว่า ‘ผู้ซื้อได้สินค้าที่ดี ผู้ขายได้รับเงินชัวร์’ และเงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะนำไปพัฒนาทักษะดิจิทัล ทักษะการแปรรูปสินค้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย 

การเป็นแพลตฟอร์มขนาดเล็ก ทำให้ Kaspy เข้าถึงผู้ซื้อและเกษตรกรได้ในระดับที่ใกล้ชิดกว่าแพลตฟอร์มใหญ่ เข้าใจทั้งคุณภาพ แหล่งที่มาสินของค้า และช่วยพัฒนาแบรนดิ้งของเกษตรกรเพื่ออุดรอยรั่วได้ตรงจุด อีกทั้ง Kaspy ยังเป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายให้มาเจอกัน จากบรรยากาศที่เป็นกันเองระหว่าง 2 ฝั่ง เกิดเป็นคอมมูนิตี้แฟนคลับของเกษตรกร

Kaspy แพลตฟอร์มขายผลผลิตที่รวมเกษตรกร 700 คน เพื่อให้คนกิน-คนปลูกเติบโตไปด้วยกัน

05

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในวงการนี้ – เราถาม 

“ยากทุกอย่างครับ” ทั้งเขาและเราหัวเราะกับคำตอบนี้ 

ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้

ยุคตั้งไข่ของสตาร์ทอัพมักไม่มีนายทุนหรือภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนด้านการเงิน ทีมงานสตาร์ทอัพจึงต้องใช้เงินของตัวเองและครอบครัวในการพัฒนาแอปฯ จ่ายเงินค่าเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

อย่างที่สอง คือการวางแผนที่เกินตัว เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่นิยามว่า เป็นประสบการณ์แห่งความโง่เขลาของตัวเอง

“เราคิดว่าองค์กรเราใหญ่ เลยวางตำแหน่งพนักงานหลายตำแหน่ง ที่จริงต้องเริ่มจากคนให้น้อยที่สุด ถ้ายังไม่จำเป็นอย่าไปหน้าใหญ่” 

อย่างที่สาม ความไม่รู้และการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไป เนื่องจากผู้เล่นใหม่มักคิดว่าตนรู้ทุกอย่าง เมื่อเจอสถานการณ์จริง มักเจอปัญหามากกว่าที่ได้ประเมินไว้

ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่อั๋นและทีมงานพบเจอ ตั้งแต่การทำงานวันแรกจนถึงวันเปิดตัวแอปพลิเคชัน ซึ่งในการเปิดตัว ระบบการทำงานยังไม่สมบูรณ์ด้วยซ้ำ ข้อตำหนิที่มาจากความหวังดีของคนรอบตัวที่อยากให้ Kaspy ดีขึ้น เป็นมีดทิ่มแทงอั๋นจนแทบหมดกำลังใจ 

“เราได้รับความไว้วางใจจากเกษตรกรว่าเราคือความหวังของเขา หากวันหนึ่งเราเลิกทำธุรกิจนี้ไป มันไม่ใช่เพียงเป็นการทำลายความฝันของเรา แต่เป็นการทำลายความหวังและความฝันของเกษตรกรจำนวนมาก ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเราตั้งแต่ยังไม่เริ่ม นี่จึงไม่ใช่เหตุผลที่เราจะล้มเลิกความฝัน เราพร้อมสู้ต่อ” 

06

การได้ช่วยเหลือเกษตรกรและช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าออร์แกนิกที่มีคุณภาพ คือความสุขในปัจจุบันของชายคนนี้ 

ไม่ใช่การขายฝัน แต่ Kaspy แน่วแน่ในอุดมการณ์สินค้าที่ยั่งยืนในระยะยาว เแล้วหากวันหนึ่งมีข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้เข้ามา ธุรกิจนี้จะทำอย่างไร เขาให้คำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้

“หากปลายทางเหมือนกับเราก็ไม่ผิด แต่หากเป็นกลุ่มทุนที่เข้ามาซื้อ แล้วบอกว่าเป้าหมายคือต้องทำสินค้าชนกับเกษตรกร เหมือนที่ทุนใหญ่หลายเจ้าทำ Kaspy จะไม่ทำ” 

ก่อนจากกัน เขาได้ทิ้งข้อคิดเอาไว้

“ต้นทุนที่แพงที่สุดสำหรับการทำสตาร์ทอัพไม่ใช่เงิน แต่คือ Cost of Delay หากมีความฝันจะทำอะไรให้ตั้งใจเริ่มทำทันที เพราะเมื่อมีคำว่า ‘ถ้า’ นั่นแปลว่าคนอื่นที่มีความฝันเหมือนกันเขาเริ่มไปหมดแล้ว จงพยายามที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ปรับตัว ลองผิดลองถูกอยู่เสมอ”

Writer

Avatar

สตางค์ พูลสวัสดิ์

วัยรุ่นผู้ชื่นชอบอาหารเวียดนาม ภาษาเวียดนาม ชอบสะสมรองเท้าและหนังสือพิมพ์เก่า ฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์และมาดริด

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์