ชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงข่าวมากว่า 20 ปี

เธอเริ่มต้นทำงานหนังสือพิมพ์ที่ Bangkok Post จากนั้นได้ทุนรัฐบาลอังกฤษไปเรียนต่อด้าน Environmental Policy เพราะเธอสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม นโยบาย และประเด็นสังคมที่หลากหลาย 

หลังเรียนจบ เธอเบนเข็มมาสายโทรทัศน์และได้ทำงานกับสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ของประเทศออสเตรเลีย แต่สุดท้ายเธอเลือกที่จะลาออกเพื่อกลับมาทำงานกับสำนักข่าวไทย เพราะเธออยากสร้างผลงานให้คนไทยดู

ด้วยความเก่งกาจในการจับประเด็นและน้ำเสียงเฉียบคมเป็นเอกลักษณ์ ทำให้กรุณาเป็นทั้งผู้ประกาศข่าวและนักข่าวภาคสนามแถวหน้า​ ที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งของประเทศ 

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เธอตัดสินใจทิ้งอาชีพผู้ประกาศข่าวในสตูดิโอ และหวนคืนสู่เส้นทางการทำงานที่เธอรัก นั่นคือการทำงานภาคสนามที่ต้องบุกน้ำลุยไฟไปเก็บเรื่องราวในพื้นที่จริง

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

‘รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี’ คือรายการสารคดีข่าวที่กรุณาบอกว่า เป็นผลผลิตของประสบการณ์และทักษะที่เธอสั่งสมมาทั้งชีวิต 

รายการของเธอสนุกมาก เพราะทุกตอนมาจากการเดินทางไปถ่ายทำ ณ พื้นที่จริง ทำให้คนดูอย่างเราๆ รู้สึกเหมือนได้ไปอยู่ในเหตุการณ์กับเธอด้วย 

รายการ รอบโลกฯ นำเสนอประเด็นทางสังคมที่ซุกซ่อนอยู่ตามหลืบมุมต่างๆ ทั่วโลก ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวจากอีกซีกโลก แต่กรุณาก็บอกเล่าออกมาได้อย่างมีชีวิต เรื่องที่น่าตื่นตา เธอทำให้เราต้องกลั้นหายใจ ส่วนเรื่องที่น่าสะเทือนใจ เธอก็ทำให้เราเสียน้ำตาได้ง่ายๆ

ทุกวันนี้ รายการ รอบโลกฯ ดำเนินมาถึงตอนที่ 228 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กรุณาเดินทางไปทุกภูมิภาคทั่วโลก แต่ละที่ที่เธอไปไม่ธรรมดา ตั้งแต่ค่ายผู้ลี้ภัยโรฮีนจา ซ่องโสเภณีที่บังคลาเทศ ฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มไอเอสในอิรัก ไปจนถึงคุกที่แออัดที่สุดในโลกที่ฟิลิปปินส์

เราชวนคุณไปพูดคุยกับกรุณา บัวคำศรี ถึงเบื้องหลังการทำงานภาคสนามที่มีชีวิตเป็นเดิมพันในทุกย่างก้าว ความเปลี่ยนแปลงเมื่อนักข่าวที่เดินทางรอบโลกอย่างเธอเดินทางไม่ได้อีกต่อไป และโลกใบใหม่หลังสถานการณ์ COVID-19

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

สารคดีข่าวแตกต่างกับการนำเสนอข่าวทั่วไปอย่างไร

การนำเสนอข่าวทั่วไป เนื้อหาถูกจำกัดด้วยเวลาเต็มที่ไม่เกินห้านาที ในขณะที่สารคดีข่าวมีความยาวมากขึ้น ทำให้เนื้อหาที่บอกเล่าทำได้ลึกและครอบคลุมมากขึ้น หมายความว่าการที่เราจะนำเสนอเนื้อหาประเด็นใดก็ตาม เราไม่เพียงรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น แต่จะเชื่อมโยงไปถึงพื้นหลังทางประวัติศาสตร์และบริบทของสังคมในมิติต่างๆ ด้วย

ในขณะเดียวกันก็ต้องใส่สีสันอารมณ์ให้เนื้อหามีชีวิตชีวาเข้าไปด้วย ทำให้สารคดีเชิงข่าวเป็นเหมือนงานวิจัยที่มีชีวิต คือประกอบไปด้วยรายละเอียดที่ลึกซึ้ง แม่นยำ และเชื่อมโยงอารมณ์เข้ากับผู้ชมได้

คุณคิดว่าการนำเสนอประเด็นข่าวในโลกหลัง COVID-19 จะมีมิติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ประเด็นนี้น่าสนใจมาก คือตอนนี้เราอาจยังเห็นภาพไม่ชัดเจน เพราะฝุ่นยังไม่จาง แต่เราเชื่อว่าโลกหลัง COVID-19 จะเป็นโลกที่ไม่เหมือนกับที่เราเห็นตลอดการทำรายการสี่ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

รายการ รอบโลกฯ นำเสนอประเด็นเรื่องการเข้าถึงอาหาร สิทธิสตรี ความเท่าเทียมทางเพศ สงคราม ความขัดแย้ง สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและอีกหลากหลายประเด็นของโลก ปัญหาพวกนี้จะเกิดความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมที่คนบางกลุ่มยังถูกกดขี่ เช่น ผู้หญิงในประเทศอินเดีย คนจัณฑาลในประเทศเนปาล ถ้าเรากลับไปอีกครั้ง แน่นอนว่าผู้คนที่ทุกข์ยากอยู่แล้วจะยิ่งทุกข์และแก้ไขยากขึ้นตามไปด้วย

ในอีกแง่มุม บางปัญหาก็อาจคลี่คลายและมีทิศทางที่ดีขึ้น เช่น สังคมจะมีความกลมเกลียวและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น นิยามความหมายชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไป มนุษย์จะกลับมาหาตัวเอง ครอบครัว และสังคมมากขึ้น ไปพร้อมๆ กับความรุดหน้าของเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อต่อกรกับเหตุการณ์แบบนี้ต่อไปในอนาคต

มิติที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เราคิดว่าเป็นโลกที่น่าสนใจ

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก
ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

รูปแบบการเดินทางทั่วโลกที่เปลี่ยนโฉมหน้าไป กระทบการทำงานของคุณมากน้อยแค่ไหน

ปกติเวลาเดินทางเพื่อถ่ายทำรายการ รอบโลกฯ มันก็มีความไม่แน่นอนสูงอยู่แล้ว เพราะต้องนัดหมายบุคคล ขออนุญาตสถานที่ ทำเอกสารอะไรต่างๆ นานาล่วงหน้าเป็นปีๆ หลายครั้งเป็นการเดินทางไปในที่ที่ห่างไกลที่สุด บางทีเดินทางไปถึงแล้ว โดนเทไม่ให้เข้าถ่ายทำ ไม่ให้สัมภาษณ์ก็มี เราก็ต้องไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พูดได้ว่าในสถานการณ์ปกติมันก็ยากอยู่แล้ว

ทีนี้พอมี COVID-19 เรามั่นใจมากว่าความหินของงานจะมากขึ้นเป็นสามเท่าสี่เท่าแน่นอน เพราะธรรมชาติของไวรัสพวกนี้ ตราบใดที่เรายังไม่มีวีคซีนป้องกัน เราก็คาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย สมมติเราเดินทางไปทำงานที่ยุโรป แล้วเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา เราอาจกลับประเทศไม่ได้ หรือที่แย่กว่านั้นคือกลับมาพร้อมเชื้อด้วย 

ดังนั้นตอนนี้เราจึงงดการเดินทางไว้ จนกว่าจะคาดเดาสถานการณ์ได้มากขึ้น เพราะ Worst Case มันไม่ได้กระทบแค่การทำงานของเรา แต่มันสร้างความเสี่ยงให้คนรอบตัวและสังคม แถมยังจะเป็นภาระให้ทีมแพทย์อีก เราทุกคนต้องให้ความร่วมมือ 

แต่เห็นรายการคุณยังออกอากาศตามปกติเลย ทำงานกันอย่างไร

ก่อนจะเกิด COVID-19 เราเดาได้นิดๆ แล้วว่าจะมีความยากลำบากในการเดินทางเกิดขึ้น เราเลยอัดรายการสต็อกไว้พอสมควร แต่เท่านั้นยังไม่พอ เลยใช้วิธีใช้ข้อมูลจากคนในพื้นที่บ้าง เพราะเราเดินทางรอบโลกมาหลายปี จึงมีแหล่งข่าว มีคนรู้จักกระจายอยู่ทั่วโลก นอกจากนี้ก็ใช้ภาพในสต็อกบ้าง ซื้อภาพจากแหล่งอื่นบ้าง เพื่อให้เรายังทำงานได้ 

ซึ่งก็ยอมรับว่าการอาศัยคนอื่นหรือไม่ได้ไปด้วยตัวเองนั้นให้อารมณ์ที่แตกต่างไประดับหนึ่ง เพราะการลงพื้นที่ไปเองมันถึงลูกถึงคนและมี Personal Touch มากกว่า นอกเหนือจากนั้น รูปแบบการทำงานก็เหมือนเดิม วิธีคิดประเด็นก็คล้ายๆ เดิม

ตอนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต นักข่าวภาคสนามทำงานกันยังไง

จำได้แม่น Assignment แรกที่ถูกส่งไปคนเดียวกับช่างภาพ สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ต้องถ่ายทำด้วยเทปเบต้าหนาๆ เด็กรุ่นใหม่น่าจะไม่รู้จักแล้ว (หัวเราะ) ตอนนั้นมีแผ่นดินไหวใหญ่มากเกิดขึ้นที่เมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน ห่างจากกรุงไทเปไปประมาณสองสามชั่วโมง ที่นั่นมีคนไทยอยู่เกือบสองแสนคน การติดต่อประสานงานยากมาก เพราะไม่มีอินเทอร์เน็ต ตอนนั้นเราเป็นนักข่าวอยู่ ITV ที่น่าจะเป็นทีวีช่องเดียวที่ส่งนักข่าวไป

เมืองไถหนานพังราบเสียหายมาก เราก็พักโรงแรมเดียวกับพวกสำนักข่าวต่างประเทศ นักข่าว CNN ที่มาถึงก่อนมาบอกให้ระวัง เพราะตึกมันร้าวมาก โอ้โห บางวันมี Aftershock ตึกโยกเยกแรงมาก เราอยู่ชั้นห้า มองหน้ากันกับช่างภาพ ถ้าตึกถล่มนี่เราโดดทันไหมวะ (หัวเราะ) 

เราทำงานแบบมวยวัดเลย ไม่มีคนช่วย ก็ใช้วิธีลงไปล็อบบี้โรงแรม เขียนประโยคภาษาอังกฤษให้โรงแรมช่วยแปลเป็นภาษาจีนใส่กระดาษว่า “ฉันอยากไปเจอคนไทยที่ได้รับผลกระทบแถวนี้ ต้องไปที่ไหน” แล้วเราก็เอากระดาษนั้นยื่นให้แท็กซี่ ทำอย่างนั้นทุกวัน จนสุดท้ายได้ Exclusive เข้าไปในโรงพยาบาล ได้สัมภาษณ์คนไทยที่รักษาตัวอยู่

พอทำข่าวเสร็จ กลับมาโรงแรม เขียนบท ลงเสียง เสร็จแล้วจะส่งเทปยังไงล่ะ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็ต้องนั่งรถจากไถหนานมาไทเป ฝากเทปขึ้นเครื่องบินมากับการบินไทยทุกวัน เป็นเวลาสิบวัน อาศัยนอนเอาแรงบนรถแท็กซี่เอา จริงๆ สมัยนั้นมีจานดาวเทียม ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะส่งภาพกลับมาสถานีได้ แต่เราไม่มีเงินขนาดนั้นไง ก็ต้องอาศัยแบบมวยวัดเอา สนุกและมันไปอีกแบบ 

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก
ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

หัวใจของการทำงานภาคสนามคืออะไร

อย่างแรกคือทัศนคติ งานภาคสนามมีอะไรมากกว่าการแค่อยากจะทำให้งานเสร็จๆ ไป ถ้าคุณรักที่จะทำจริงๆ คุณจะมีทัศนคติที่อยากจะทำให้งานสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะระหว่างการทำงานจะมีอุปสรรคมากมายระหว่างทางให้ต้องเผชิญ

เราเคยไปค่ายผู้ลี้ภัยโรฮีนจา เพื่อไปตามหาเคสผู้หญิงที่ถูกข่มขืน เรากับช่างภาพต้องเดินเท้าเข้าไปในค่ายลึกเข้าไปเรื่อยๆ ฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขังอยู่ทุกที่ เดินไปเกือบชั่วโมง ถึงสะพานไม้ง่อนแง่นที่มีน้ำไหลเชี่ยวมาก เราก็ถามล่ามว่าอีกไกลไหม เขาบอกว่าต้องเดินต่อไปอีกชั่วโมงหนึ่ง โดยต้องข้ามสะพานไม้นั้นไปด้วย

มันไม่ง่ายและเสี่ยงอันตราย แต่ถ้าเราหันหลังกลับ การเดินทางครั้งนี้จะสูญเปล่าทันที แต่ถ้าข้ามไป เดินต่ออีกชั่วโมง และจะต้องเดินกลับอีกสองชั่วโมง เราก็จะได้ตัวแหล่งข่าว ถ้าคุณมีทัศนคติที่พร้อมสู้เพื่อตามหาจิ๊กซอว์ชิ้นนั้น คุณจะข้ามสะพานไม้นั้นไปเพื่อทำให้งานสมบูรณ์

หัวใจอย่างที่สองล่ะ

อย่างที่สองคือทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหามีทั้งที่คุณควบคุมได้และไม่ได้

มีครั้งหนึ่งเราไปทำเรื่องซ่องโสเภณีีที่ประเทศบังคลาเทศ ขากลับกลางดึก รถน้ำมันหมดกลางพายุที่แรงมาก ฟ้าร้องโครมคราม ทั้งลมทั้งฝนกระหน่ำกระแทกรถจนเกือบตกไหล่ทาง ตอนนั้นคือกลัวมาก ช่างภาพชาวอิตาลีที่ไปกับเรารีบบอกว่า “ยูห้ามลงจากรถเด็ดขาด ต่อให้น้ำพัดรถตกไปก็ห้ามออกจากรถ ไม่งั้นฟ้าจะผ่า ที่ที่ปลอดภัยที่สุดคือบนรถ” การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ที่อันตรายและสุ่มเสี่ยงคือการมีสติ 

ในขณะที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องคน ต้องอาศัยความซื่อสัตย์และความเข้าอกเข้าใจ เราทำสารคดีข่าวประเด็นสังคม มันมีความละเอียดอ่อน หลายครั้งแหล่งข่าวคือผู้ถูกกระทำ อย่างเรื่องคนถูกข่มขืนหรือโสเภณี เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์ โดยอธิบายเขาตรงๆ ว่า ที่เรามาทำข่าวเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะอยากขายดราม่า แต่เราสนใจประเด็นสิทธิสตรีที่ซุกซ่อนอยู่ 

เมื่อเขามาเปิดเผยเรื่องราวกับเรา ถึงแม้เขาถูกข่มขืน แต่เรื่องของเราจะต้องไม่ทำให้เขารู้สึกขมขื่นหรือรู้สึกถูกย่ำยี เพราะเราเข้าอกเข้าใจเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก
ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

ช่างภาพของคุณเป็นชาวอิตาลี ทำไมต้องใช้ทีมงานชาวต่างชาติ

หนึ่ง เป็นเรื่อง Logistic ในการเดินทาง เรามีพาสปอร์ตที่เดินทางเข้าออกหลายประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (คุณกรุณาแต่งงานกับสามีชาวเยอรมัน) สมมติมีอะไรเกิดขึ้นในยุโรป เราซื้อตั๋วแล้วถือพาสปอร์ตไปได้เลย ช่วยให้การทำงานมีความคล่องตัวสูง เราทำรายการรายสัปดาห์ ต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นช่างภาพที่จะไปกับเราต้องมีสถานะของพาสปอร์ตคล้ายๆ กัน ไม่อย่างนั้นกว่าจะได้ไปทำรายการต้องรอเป็นเดือนๆ กว่าจะได้วีซ่า

และสอง พอต้องไปทำงานกันสองคนในพื้นที่หรือสถานการณ์ที่อาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้ ก็เหมือนต้องไปช่วยเป็นหูเป็นตาให้กัน มีความรอบรู้และมีความสามารถในการเข้าสังคมต่างวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เขาไม่ได้แค่ไปถ่ายภาพ แต่ไปช่วยเราหน้างานในการวอร์มอัปและเอนเตอร์เทนคนก่อนการสัมภาษณ์ด้วย

มีเหตุการณ์ครั้งไหนที่คุณรู้สึกโชคดีที่มีช่างภาพคนนี้เป็นคู่หูในการทำงานไหม

เยอะมาก ด้วยความที่เขามีทั้งฝีมือและประสบการณ์ชีวิตในตะวันตก เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในตะวันออกกลาง ทำให้เขามีทักษะการเอาตัวรอด

ตอนนั้นเราไปเมืองอิซเมียร์ ประเทศตุรกี เพื่อทำเรื่องผู้ลี้ภัยที่จะหนีจากตะวันออกกลางไปที่ประเทศกรีซ เราต้องระมัดระวังมาก เพราะที่นั่นมีมาเฟีย มีพวกรีดไถหัวคิวกับผู้ลี้ภัยเยอะมาก เดินอยู่บนถนนคุณต้องหูตาไว เพราะนี่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่จะเดินชิลล์ๆ ได้ ช่างภาพกระซิบบอกเลย “ที่หกนาฬิกา แกระวังคนนั้นให้ดี อย่าไปใกล้เด็ดขาด” 

อีกครั้งเราไปทำเรื่องการประท้วงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีคนขว้างระเบิด เฮ้ย! เรากำลังเตรียมจะวิ่งแล้ว ช่างภาพหันมาบอกว่า “แกวิ่งไปก่อน เดี๋ยวฉันถ่ายก่อนแล้วจะวิ่งตามไป” 

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

ตอนนี้รายการ รอบโลกฯ ออกอากาศไป 200 กว่าตอนแล้ว คุณไปเอาพลังและเรี่ยวแรงมาจากไหน

นั่นสิ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังงงเหมือนกันว่าทำไปได้ยังไง (หัวเราะ)

รายการสารคดีข่าวหรือ News Documentary แบบนี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากรายการอย่าง Frontline ซึ่งเราอยากทำมานานมาก และในเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มีรายการลักษณะนี้ เราเคยช่วยทำโปรแกรมรายการ 101 East ของสำนักข่าว Al Jazeera ซึ่งมีลักษณะเดียวกัน ทำให้รู้ว่าความยากสาหัสคือ ในหนึ่งปี นักข่าวหนึ่งคนจะทำรายการได้เต็มที่สามถึงสี่ตอนเท่านั้น

เพราะแต่ละตอนต้องใช้เวลา Pre-post Production รวมกระบวนการอื่นๆ รวมแล้วสามถึงสี่เดือน เพื่อนที่เคยทำอยู่ Al Jazeera ด้วยกันยังอึ้ง คนอื่นทำปีละสี่เรื่อง เราทำเดือนละสี่เรื่อง (หัวเราะ)

เรากำลังพูดถึงการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งจำนวนทีมงาน ระยะเวลา และงบประมาณ ดังนั้นงานมันอาจจะไม่ได้ละเอียดและเพอร์เฟกต์ที่สุด แต่เราก็พยายามบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพื่อให้คุณภาพรายการไปถึงระดับนั้น

ย้อนกลับไปสี่ปีที่แล้ว ทริปแรกที่ถ่ายทำคือที่ประเทศอิรัก พอไปถึงก็นั่งมองหน้าช่างภาพ เฮ้ย! เรามาทำอะไรที่นี่กันวะ (หัวเราะ)

สิ่งสำคัญที่สุดในการทำรายการที่มีข้อจำกัดขนาดนี้คืออะไร

ทรัพยากรที่มีจำกัดไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างพร่ำเพรื่อในการสร้างงานที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญมากพอๆ กับเงินทุนและระยะเวลาในการทำงานคือจินตนาการ

คุณต้องมีจินตนาการในการต่อจิ๊กซอว์ให้ได้ว่า แก่นและหัวใจของประเด็นที่อยากนำเสนอคืออะไร ไม่ใช่เรามีข้อมูลเชิงลึก มีความรู้แน่นๆ แล้วจบ แต่ประเด็นมันต้องต่อยอด และเชื่อมโยงไปหาคนดูให้ได้ว่าเขาดูแล้วมันให้ประโยชน์อะไรกับเขา

ที่สนุกคือมุมในการบอกเล่าแต่ละประเด็นออกมา มันต้องแปลกใหม่ เฉียบคม และผสมผสานไปกับความเป็นตัวเรา อย่างช่วงการเลือกตั้งของประเทศสหรัฐอเมริกา เราไม่รายงานการเลือกตั้งเฉยๆ แต่เลือกที่จะบิดมุมมองเสนอเรื่องบทบาทของนักการเมืองหญิงในการเมืองสหรัฐฯ ที่กำลังเบ่งบานที่สุดในประวัติศาสตร์แทน ซึ่งต้องอาศัยทักษะในการจับประเด็นเพื่อร้อยเรียงเป็นสตอรี่

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก
ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

คุณคิดว่าสตอรี่เปลี่ยนโลกได้ไหม

ได้สิ สตอรี่ (Story) มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับอารยธรรมและการพัฒนาของมนุษย์ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โลกเปลี่ยนได้เพราะสตอรี่ทั้งนั้น

อย่างในประเทศไทย ย้อนกลับไปสมัยเราเรียนปริญญาตรี มีชายคนหนึ่งเอาชีวิตเข้าแลกกับความตาย เพื่อที่จะให้คนมาสนใจว่าป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพกำลังถูกคุกคาม คนคนนั้นคือ สืบ นาคะเสถียร การจากไปของพี่สืบทำให้สังคมไทยตื่นตัว ปัญหานี้ได้รับความสนใจทันที และสิ่งที่มาสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้คนยิ่งรู้สึกสะเทือนไปถึงหัวใจ คือกลอนของคุณจีรนันท์ พิตรปรีชา ที่เขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลอนที่เราอ่านแล้วร้องไห้ นั่นคือหนึ่งในรูปแบบของสตอรี่ที่ถูกบอกเล่า

เราทำรายการ รอบโลกฯ ทุกเรื่องราวมาจากที่แสนไกล แต่ทำไมคนไทยดูแล้วมีอารมณ์ร่วม เราเจ็บปวดที่เห็นแพทย์ต้องเลือกรักษาเฉพาะผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีโอกาสรอด เหล่านี้คือสตอรี่ที่เชื่อมโยงคนเข้าหากัน

วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) พาอังกฤษออกจาก Darkest Hour ได้เพราะสตอรี่ในคำพูดไม่กี่คำ

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมอเมริกาได้ เพราะความทรงพลังของเมสเสจ (Message)

สตอรี่จะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นบทกลอน บทความ ภาพยนตร์ ละคร ได้หมด แม้กระทั่งจะขายแตงโม คุณก็ต้องมีสตอรี่ วันก่อนเราเข้าไปดูในเฟซบุ๊กกรุ๊ปจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส เฮ้ย! ครัวซองต์สองหมื่นชั่วโมง ปกติไม่ซื้อของออนไลน์ แต่อันนี้ต้องทักไปขอซื้อเลย เพราะสตอรี่มันโดน (ยิ้ม)

คุณมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เยอะเลย การเป็นนักข่าวจำเป็นต้องรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไหม

แน่นอนว่านักข่าวควรมีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่มันต้องไม่เฉพาะแค่ในวันนี้ แต่ต้องย้อนกลับไปในอดีตด้วย เพราะประวัติศาสตร์มีคุณค่ามากกว่าแค่บันทึก แต่มันเป็นบทเรียน

มันสำคัญมากที่นักข่าวจะต้องรู้เรื่องราวในอดีตพอๆ กับเรื่องปัจจุบัน เพราะทุกเรื่องมีบริบท มีที่มาที่ไป มีเหตุและผล อย่างเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่ใช่แค่เพราะเหตุการณ์เมื่อวาน เมื่อเดือนที่แล้ว แต่มันคือผลของสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นสิบเป็นร้อยปี

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ We Wish To Inform You That Tomorrow Will Be Killed With Our Family เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนในประเทศรวันดาช่วง ค.ศ. 1994 อ่านแล้วน้ำตาไหลเป็นวรรคเป็นเวร เราถึงกับเขียนจดหมายไปหานักเขียนที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และตัดสินใจไปทำสารคดีข่าวเรื่องนี้ที่ประเทศรวันดา

เราชอบอ่านประวัติศาสตร์ผ่านอัตชีวประวัติของบุคคลที่น่าสนใจ มันไม่วิชาการเกินไป และได้เข้าใจบริบทสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายแง่มุมด้วย

แสดงว่าคุณเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ

(ยิ้ม) เราอาจจะอ่านน้อยกว่าพี่หนุ่ม (โตมร ศุขปรีชา) และนักคิดอีกหลายๆ คน แต่เราก็พยายามอ่านหนังสืออยู่เสมอ เพราะหนึ่ง มันทำให้เรามีความรู้ เข้าใจโลก ได้รับแรงบันดาลใจ และสอง ในยามที่เราถูกโบยตี ปั่นป่วน ด้วยชีวิตที่ต้องแบกรับอะไรหลายๆ อย่าง การอ่านหนังสือคือมุมที่ทำให้เราสงบขึ้น

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก
ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

ทำไมเด็กอักษรศาสตร์อย่างคุณถึงเลือกเรียนปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม

สมัยเรียนปริญญาตรี พี่ชาย (ธารา บัวคำศรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Greenpeace ประเทศไทย) เป็นคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่ไปทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องป่าไม้ด้วยกัน เวลาเราไปหาพี่ชาย เลยได้รู้จักเพื่อนๆ ในแวดวงของเขาไปด้วย อย่างพี่สืบ เราก็รู้จักผ่านพี่ชาย

แต่ก่อนคนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจปัญหานี้เท่าไหร่ จะมีก็แค่กลุ่มคนเล็กๆ อย่างกลุ่มของพี่ชายเราที่ทำงานด้านนี้อยู่ เราจำได้ว่าทันทีที่พี่สืบเสียชีวิต สังคมไทยตื่นและหันมาพูดเรื่องนี้ ประกอบกับตอนนั้น การเมืองบ้านเราก็กำลังมีพัฒนาการ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารมาสู่การเลือกตั้ง คนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กล้าพูดเรื่องเชิงนโยบาย ประเด็นสิ่งแวดล้อมจึงได้รับการพูดถึงมาก แม้จะขรุขระ แต่หลายคนก็มองว่าสิ่งเหล่งนี้เป็นสัญญาณแห่งการเบ่งบานของประชาธิปไตย

แต่เราไม่ได้ทำแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ช่วงนั้นเราทำกิจกรรมร่วมกับพี่ๆ มหาวิทยาลัยอื่นด้วย อย่างรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญปี 40 การเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ที่ทำให้เราได้เห็นและเข้าใจโครงสร้างการเมืองไทยในช่วงนั้น รวมถึงรู้จักคนในวงการการเมืองสมัยนั้นหลายคน

พอเข้าใจการเมืองมากขึ้น ก็เห็นปัญหาโครงสร้างที่ทับซ้อนกันมากมาย สำหรับเรา ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องพื้นที่สีเขียวหรือการปลูกต้นไม้ แต่มันคือการเพิ่มโอกาสที่เท่าเทียมให้มนุษย์ ถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้ยั่งยืน มันต้องทำในเชิงนโยบาย ทำให้ตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทสาขานโยบายสิ่งแวดล้อม

คุณเคยทำงานให้สำนักข่าวต่างประเทศมาก่อน ทั้งที่คุณไปได้ไกลในระดับอินเตอร์ ทำไมถึงเลือกกลับมาทำงานที่เมืองไทย

ตอนทำงานอยู่ ABC ซึ่งเป็นสำนักข่าวของประเทศออสเตรเลียเมื่อยี่สิบปีก่อน เราเป็นส่วนหนึ่งของทีม ทำสารคดีและอีกหลายๆ อย่างที่อยากทำนั่นแหละ แต่เพราะงานสำนักข่าวต่างประเทศ ผู้ชมไม่ใช่คนไทย พอทำไปถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่าอยากทำข่าวในเมืองไทยให้คนไทยได้ดู อาจเพราะพื้นฐานการเป็นเด็กกิจกรรม ที่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเราออกมาร่วมเคลื่อนไหวในฐานะสโมสรนิสิตจุฬาฯ ของเราด้วยมั้ง ที่ทำให้รู้สึกอยากทำอะไรที่สร้างอิมแพ็กในประเทศ

เพราะสำหรับเรา งานไม่ใช่แค่เรื่องหาเงินเพื่อมาดำรงชีวิตอย่างเดียว เราทำงานเพราะอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย

เข้าใจว่าคนยิ่งอายุเยอะขึ้นจะยิ่งอยากสบาย ทำไมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถึงเลือกลาออกจากการเป็นผู้ประกาศข่าวในสตูดิโอ มาตะลุยโลกอีกครั้งในวัยเลข 4

ไม่ใช่นะ (หัวเราะ) ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งต้องทำงานที่มีความสุขมากขึ้นต่างหาก การขุดตัวเองออกจากเตียงเพื่อไปแต่งหน้าอ่านข่าว สำหรับเราเหนื่อยกว่าการแพ็กของ เดินทางตะลอนๆ โดยไม่ได้หลับได้นอนเสียอีก บางครั้งมันอยู่ที่เราอยากทำอะไร ถ้าคุณไม่อยากทำ ต่อให้ไปนั่งเฉยๆ ยังเหนื่อยเลย

ช่วงที่เกิดสึนามิ เรามีโอกาสได้ทำงานกับ แดน ราเธอร์ (Dan Rather) นักข่าวชื่อดังของ CBS สถานีข่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นทีมข่าวใหญ่ๆ ทั่วโลกมากันหมด หลังจากลงไปทำข่าวที่จังหวัดภูเก็ต เราและแดนก็บินจากอู่ตะเภาไปอาเจะ ประเทศอินโดนีเซีย อีกหนึ่งพื้นที่ที่โดนคลื่นยักษ์ซัดสร้างความเสียหายรุนแรง

เมื่อไปถึงก็ไปลงเรืออับราฮัม ลินคอร์นของกองทัพสหรัฐฯ ที่มาลอยลำอยู่เพื่อช่วยเหลือ โดยแดนนั่งเฮลิคอปเตอร์ต่อไปยังอาเจะ ส่วนเรารออยู่บนเรือ 

รู้ไหมว่าตอนแดนปีนขึ้นเฮลิปคอปเตอร์วันนั้น เขาน่าจะอายุเกือบแปดสิบปีแล้ว เรานั่งมองแล้วเผลออุทาน “What the…” พอกลับจากพื้นที่ เขาก็มาทำรายการสดต่อ เราอ้าปากค้างอีก เพราะการรายงานข่าวของเขา So Natural และ So Professional มาก

นักข่าวระดับนี้ที่ยังออกภาคสนามอยู่ เพราะมันคือจิตวิญญาณและเป็นสิ่งที่เขารัก

ก่อนกลับ เขาถามเราว่า “ความฝันของยูคืออะไร” เราก็ตอบไปว่าอยากเป็นอย่างเขา “Don’t stop dreaming.” เขาบอกเราแบบนั้น

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

ทุกวันนี้ถือว่าความฝันของคุณได้รับการเติมเต็มหรือยัง

ชีวิตคนเราไม่มีคำว่าถูกเติมจนเต็ม เคยคิดว่าถ้าเข้าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ ชีวิตฉันจะแฮปปี้ตลอดกาล แล้วก็พบว่ามันไม่จริง เพราะพอเรียนจบออกมาแล้วมันก็ต้องไปต่อ เคยอยากไปเรียนต่อเมืองนอกมาก ดั้นด้นขอทุนจนได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ สุดท้ายเรียนจบกลับมาก็ต้องไปต่อ ทุกครั้งที่เราอยากทำอะไรมากๆ พอทำสำเร็จไปถึงจุดหนึ่ง เราจะต้องหาภูเขาลูกใหม่ปีนอีก สันดานเราเป็นแบบนั้น (หัวเราะ)

เรายังมีอะไรอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทำ และอยากลงมือทำให้สำเร็จในวันหนึ่ง แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะทุกวันนี้บริบทต่างๆ เปลี่ยนไป อะไรๆ ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน สรุปคือยังไม่หมดฝัน ยังไม่หมดไฟง่ายๆ

คนส่วนใหญ่ต้องหยุดงานไปเดินทาง คุณที่ทำงานด้วยการเดินทางอยู่แล้ว ทำอะไรในวันหยุด

อยู่บ้าน เล่นกับหมา (ยิ้ม) เพอร์เฟกต์เดย์ของเราคือวันที่ไม่มีอะไรค้างในหัว ได้นอนหลับสนิท ตื่นมาดริปกาแฟ นั่งริมบ่อปลา ฟังเสียงน้ำ โห โรแมนติกมาก เราชอบเดินไปซื้อลาเต้เย็นที่ร้านแถวบ้าน จากนั้นไปนั่งอ่านหนังสือที่สวนสาธารณะ ตอนเย็นนั่งดูทีวีกับสามี วันว่างที่เพอร์เฟกต์ของเราคือวันแบบนี้

ผลผลิตจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสารคดีผู้เดินทางไปรอบโลก

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล