ต้นพลับที่กลับมาออกดอกผลัดใบอีกครั้งหลังถูกฤดูหนาวลักพาตัวไปกว่าสองเดือน มีนกบินมาหลบแก๊งเด็กๆ ที่ชอบมายิงนกเล่นตอนเย็นเป็นประจำ จักจั่นบินมาส่งเสียงตามต้นไม้มีใจความว่า ฤดูร้อนมาถึงแล้ว ให้เรากักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง อากาศร้อนในตอนกลางวันยังชวนให้คิดถึงพื้นที่ชีวิตอย่างแม่น้ำ ที่รอให้เราไปเยี่ยมเสมอ

ห้องเรียนใหญ่ๆ ของเด็กตัวน้อยๆ
แอ มึ ชิ เป็นน้องสาวคนเล็กของครอบครัว วันนี้เธอติดตามพี่โบ้ แม่ และพ่อ ไปนาเหมือนเช่นเคย ที่นาซึ่งอยู่ไกลออกไปอีกหมู่บ้านหนึ่งกว่า 10 กิโลเมตร เราจึงต้องนั่งรถไปและเพื่อให้คุ้มค่าน้ำมันรถที่สุด การบรรทุกขี้ควายให้เต็มจึงเกิดขึ้น หลังเก็บเกี่ยวเมื่อปีที่แล้ว พ่อของแอ มึ ชิ ตกลงแลกเปลี่ยนฟางข้าวกับขี้ควายของเพื่อนบ้าน วันนี้ได้เวลามาขนขี้ควายแห้งไปเทที่นา หลานสาวตัวเล็กช่วยถือปากกระสอบที่แม่คอยตักขี้ควายแห้งใส่ ส่วนโบ้กับพ่อคอยมัดปากถุงและขนกระสอบปุ๋ยคอกขึ้นรถจนเต็ม แดดร้อนเหงื่อไหลเป็นทาง แต่เด็กๆ ไม่บ่นให้ได้ยินสักคำ
ได้เวลาล้อหมุน เราออกเดินทางต่อ โครงการถนนคอนกรีตสายห้วยยาว โป่งน้อย ถูกระงับอย่างงุนงง ทั้งๆ ที่เดินหน้าไปแล้วกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หน้าฝนทางคงลื่นและลำบากต่อการสัญจรแน่นอน โดยเฉพาะช่วงขึ้นเขา ฝุ่นคลุ้งกำลังดี ใครที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ตามหลังรถยนต์คงมีหวังถูกสีฝุ่นละเลงทั่วทั้งตัว เหมือนต้นไม้ข้างทางที่กลายเป็นต้นไม้สองสี ฟากหนึ่งสีส้มๆ อีกฟากหนึ่งสีน้ำตาล เราใช้เวลาเดินทางไม่นานก็ถึงที่หมาย ขี้ควายในกระสอบได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระลงดิน
พูดถึงขี้ควายแล้วก็อดนึกถึงเจ้าของผู้ผลิตปุ๋ยคอกสี่ขาไม่ได้ ในยุคเมื่อครั้งข้าวยากหมากแพง มีเทวดาบนสวรรค์รู้สึกสงสารมนุษย์ จึงได้รับคำสั่งให้ควายของเขานำพรไปให้มนุษย์บนโลก
“เจ้าไปบอกพวกมนุษย์นะว่าเราขอมอบพรกับพวกเขาหนึ่งข้อ จงไปบอกพวกเขาว่าในหนึ่งสัปดาห์ ให้พวกเขากินข้าวเพียงมื้อเดียวพอ เพราะพวกเขาจะอิ่มไปตลอดถึงเจ็ดวัน พวกเขาจะได้ไม่ต้องทำงานหนัก” เจ้าควายรับทราบและรีบไปหามนุษย์ทันที
“สหายของข้า จงฟังให้ดีนะ นี่คือพรจากเทวดาบนสวรรค์ ท่านฝากให้ข้ามาบอกกับพวกท่านว่า ในหนึ่งวันขอให้เจ้ากินข้าวเจ็ดมื้อ” หนึ่งในมนุษย์ตาดำๆ ที่คาดว่าจะเป็นท่านผู้นำแสดงอาการฉุนเฉียวออกมา ชี้นิ้วไปที่ควาย ”ข้าว่ามันต้องมีอะไรคลาดเคลื่อนแน่ๆ เราจะเอาอะไรมากินตั้งเจ็ดมื้อต่อวัน เศรษฐกิจยิ่งแย่อยู่”
“นั่นสินะ” เจ้าควายพูดกับตัวเองในใจ ว่าแล้วคาราบาวตัวเดิมรีบกลับไปหาเทวดาเพื่อสอบถามเทวดาให้แน่ใจ พอรายงานผลการปฏิบัติงานเท่านั้น เทวดาถึงกับโมโหไล่เจ้าควายลงไปบอกมนุษย์ใหม่อีกครั้ง แต่ผลก็เหมือนเดิม ที่ต่างจากตอนแรกเห็นจะเป็นตัวเลขที่ค่อยๆ ลดลงจาก 7 มื้อต่อวัน เหลือ 5 มื้อต่อวัน
จนท้ายที่สุด มนุษย์ได้รับพรให้กินข้าววันละ 3 มื้อ พอเดินทางขึ้นลงระหว่างสวรรค์และโลกจนครบ 3 ครั้ง เทวดาจึงหมดความอดทน เทวดาได้เตะฟรีคิกเข้าไปที่หน้าของควายเต็มๆ จนฟันหน้าด้านบนของควายร่วงหมดทั้ง 8 ซี่ เหลือเพียงฟันกราม 12 ซี่และฟันล่างอีก 20 ซี่จวบจนปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับมนุษย์อย่างสูงสุด เทวดายังสั่งให้ควายไปช่วยมนุษย์ทำงานตลอดชีวิตของมัน
ทุกวันนี้ควายส่วนใหญ่ที่พลิกผืนดินในสวน นา ไร่ สำหรับการเพาะปลูกได้กลายร่างเป็นควายเหล็กไปเกือบหมด ปล่อยให้ควายตัวเป็นๆ ตกงานกันเป็นแถว ได้แต่เดินเล็มหญ้า ทอดน่องไปมา อาบสปาโคลนอย่างสบายอุรา หรือไม่ก็วิ่งไล่ขวิดกันในสภาท้องทุ่งอย่างเพลิดเพลิน
นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมควายถึงไม่มีฟันหน้าด้านบน และทำไมเราถึงต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ นี่ถ้าควายไม่สลับตัวเลขกับวันผิด เราคงกินข้าวแค่อาทิตย์ละมื้อ เราคงมีเวลาทำอะไรอย่างอื่นมากมาย ทรัพยากรบนโลกก็คงยังมีเหลือมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ทฤษฎีนี้ก็อาจไม่มีใครรับรองได้ เพราะนอกจากมนุษย์กินเยอะ ใช้เยอะแล้ว เรายังผลิตเยอะเกินจำเป็น จึงมีผลผลิตส่วนเกินที่ถูกทิ้งขว้างอย่างไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
นิทานเรื่องควายเกือบจะยาวเกินไป โชคดีที่พวกเราหิวเสียก่อน โบ้จัดการก่อไฟตามที่พ่อเคยทำให้ดู ไฟติดแล้ว แอ มึ ชิ เอาพริกหวานออกมาเผา พร้อมกับย่างปลาแห้งเหมือนที่แม่เคยสอน มื้อเที่ยงที่ล่วงเลยเวลาไปเยอะทำให้สรรพสิ่งที่เตรียมมาในกระเป๋าย่ามถูกมนุษย์กินเรียบจนหมด
กินข้าวเสร็จก็พัก นอนพิงเสามองไปบนเขาซึ่งปีนี้ยังไม่มีไฟป่า ชาวบ้านช่วยกันทำแนวกันไฟเหมือนทุกปี หลายๆ หมู่บ้านทำเสร็จกันไปเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงเฝ้าระวังไฟจนกว่าจะถึงหน้าฝน


เสียงแม่น้ำไหลกำลังเรียกเราให้ลงไปดับร้อน พอเดินไปถึงแม่น้ำเท่านั้น แอ มึ ชิ กับโบ้ ก็รีบวิ่งไปสำรวจความเย็นอย่างไม่รีรอ ไม่นานมากนักก็มีเพื่อนๆ จากโรงเรียนเดียวกันตามมาสมทบโดยไม่ได้นัดหมาย การเล่นน้ำยิ่งสนุกขึ้นไปอีกเท่าตัว เด็กๆ กำลังสนุกกับการเล่นสไลเดอร์ธรรมชาติ ว่ายน้ำ เข้าไปนั่งในอุโมงค์น้ำเล็กๆ ถ้าหนาวก็ขึ้นไปนอนราบกับลานหินกว้างที่ดูดซับความร้อนเก็บไว้ให้เรา เมื่อรู้สึกอุ่นขึ้นมาแล้วค่อยกลับลงไปในน้ำอีกหลายๆ ครั้งจนอิ่มใจ
ห้องเรียนของเด็กๆ ห้องขนาดใหญ่นี้ สนุก ร่มเย็น และคงไม่มีเด็กคนไหนไม่อยากมาเรียนที่นี่ เพราะไม่มีการบ้านให้เอากลับไปทำที่บ้าน มีแต่ความคิดถึงที่ต้องพาตัวเองกลับมาทุกครั้ง เมื่อถึงฤดูร้อนมาถึง
มีเยอะให้หยิบกินทีละน้อย มีน้อยแบ่งปันให้เท่ากัน
“พรุ่งนี้เราไปหาปลา ไปผ่อนคลายกันนะ”
ถัดจากไปเล่นน้ำกับเด็กๆ ไม่กี่วัน ลุงดีก็ชวนผมไปหาปลากับแกพร้อมกับชาวบ้านอีกกว่าสิบชีวิต เรามีนัดกันที่ห้วยแม่เตียน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำวางอีกสายหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

เกือบ 50 ปีที่แล้วมีการทำสัมปทานเหมืองแร่ ดีบุก และวูลแฟรม ในแถบชุมชนห้วยอีค่าง ทุ่งหลวง ชุมชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ทั้งน้ำในแม่น้ำตื้นเขินและเหือดแห้ง มีการตัดไม้จำนวนมากเพื่อใช้ประกอบการทำเหมือง
เพราะด้วยความห่วงใหญ่ต่ออนาคตของลูกหลานและความอยู่รอดของชุมชนคนรุ่นก่อน ผู้เฒ่ากลุ่มหนึ่งจึงตัดสินใจเดินเท้าจากบ้านบนดอยลงไปอำเภอสันป่าตอง เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านเหมืองแร่ต่อทางการ อย่างไรก็ตาม กิจการเหมืองแร่ก็ยังคงดำเนินต่อไปอีกถึง 2 ปี แต่ท้ายที่สุดด้วยแรงกายแรงใจของชาวบ้านบวกกับพลังธรรมชาติที่ชาวบ้านนับถือ ในที่สุดแม่น้ำสายเล็กๆ ที่ชื่อว่าแม่เตียนก็ได้รับชนะ ทำให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำเพาะปลูกตามปกติสุข และยังมีปลาให้เราได้จับกินจนถึงวันนี้

นักหาปลาที่น่าจะเรียกว่านักปิกนิกมากกว่าเดินทางมาถึงกระท่อมในนา พร้อมเครื่องมือจับปลาอย่าง เจาะ (สะดุ้ง จ๋ำ) เซว (สวิง) จา (แห) หรือแม้แต่ผ้าสแลนเก่าๆ ก็เอามาประยุกต์ใช้ในการหาปลาในวันนี้ ไม่มีการวางหมากตายตัวในการจับปลาในครั้งนี้ เอาผ้าสแลนผืนเก่ามาล้อมบริเวณทางโค้งของแม่น้ำที่คาดว่าจะเป็นแหล่งชุมชนของปลา บ่อน้ำเล็กเกินไปสำหรับสะดุ้งและแห สองสหายจึงต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกบ่อแทน
ส่วนสวิงอันเล็กที่ลากไปมาในน้ำได้รวดเร็ว จับปลาได้ไม่น้อยทีเดียว ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาม่อน ปลานิล ปลาตัวเล็กตัวน้อยนำมาทำอาหารได้หมด เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งชั่วโมง ปลาบางตัวหลุดรอดออกไปบ้าง ซึ่งไม่ได้เป็นข่าวร้ายอะไร เราจะได้มีปลาให้จับในปีต่อๆ ไปแน่นอน เมื่อได้ปลามากพอแล้ว สมาชิกของเราคนหนึ่งได้เอ่ยออกมาแทนปลาว่า “พอแค่นี้ก่อน ให้ปลาได้อยู่รอดบ้าง”



เราจึงเดินกลับกระท่อม ระหว่างทางมีผักกูดให้เก็บติดมือ วันนี้มีเมนูลาบปลาที่ใส่เปลือกต้นเพกาลงไปด้วย ส่วนอีกเมนูเป็นแกงปลาใส่ผักกูดแบบง่ายๆ ส่วนปลาปิ้งมีรสชาติที่สุด เราเห็นตรงกันว่าปลาที่อร่อยคือปลาที่เราได้กินที่ริมห้วย รสชาติที่ไม้หวือหวา แต่บรรยากาศท่ามกลางหมู่เพื่อน จะทำให้มื้อเที่ยงมื้อธรรมดาที่พิเศษให้จดจำไปอีกนาน ก่อนกลับเราทุกคนได้ปลากลับบ้านคนละนิดเท่าๆ กัน ก่อนจะแยกย้ายกลับไปพักผ่อนจากการพักผ่อน เหนือสิ่งอื่นใด เราคงขอบคุณแม่น้ำไม่เคยพอ ผู้คนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และท้ายน้ำ จากหลากหลายสาขาอาชีพ คนทุกวัย ที่มีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการช่วยให้แม่น้ำวางยังคงมีชีวิตและให้เราได้พึ่งพาต่อไป
ต่าบลึ๊ทุกคนครับ
ข้อมูลอ้างอิง
ลักคณา พบร่มเย็น บ้านห้วยอีค่าง โครงการสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางและมาตรการรับรองสิทธิชุมชนที่เป็นการปกป้องสุขภาวะของประชาชน, 2554