วิชาทำนา ห้องเรียนของคนทุกวัย

เสียงรถไถนาบอกเวลาฤดูปลูกข้าวกลับมาอีกเช่นเคย แต่ฤดูฝนไม่เหมือนเช่นเดิมอีกแล้ว ความไม่ปกตินี้เป็นเรื่องปกติมาหลายปีแล้ว ผมยังจำได้ว่าตอนเด็กๆ พอเข้าฤดูฝน ฝนจะเทลงมาและพักในนาจนเต็ม เราจะวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน เตะน้ำให้ลอยขึ้นฟ้า วิ่งไถลไปตามน้ำ เปรอะไปด้วยดินโคลน ภาพแบบนี้มีให้เห็นน้อยลงทุกที

หลังจากการเกิดขึ้นของ COVID-19 ที่เขย่าโลกทั้งใบด้วยความเป็นความตาย เราเห็นเพื่อนๆ หนุ่มสาวที่ทำงานในเมืองหลายคนกลับบ้านเพื่อรอเวลากลับเข้าไปทำงานในเมือง ระหว่างนี้พวกเขาได้กลับมาเหยียบโคลนในท้องนาปลูกข้าวอีกครั้ง หลังจากหลายคนห่างเหินวิชาปลูกข้าวมานาน 

ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ปกติต้องอยู่ในเมืองก็ได้อยู่ช่วยพ่อแม่ปลูกข้าว เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่ยังไม่ต้องไปเข้าแถวหน้าเสาธง ก็ได้มาช่วยอีกแรง หรือเด็กๆ บางคนก็กลับมาเรียนรู้การเป็นเด็กเลี้ยงควายตามรอยของปู่

พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนการปลูกข้าวใช้เวลานานกว่าปัจจุบันนี้มาก ไม่ใช่เพราะฟ้าฝนไม่เป็นใจ แต่เป็นเพราะข้อจำกัดของเครื่องมือ และแรงของควายเนื้อที่ไม่ได้กินน้ำมัน การทำงานจึงเป็นไปอย่างช้าๆ กว่าจะพลิกหน้าดินได้สักศอกสักวาต้องใช้เวลานานมาก 

การมาถึงของควายเหล็ก เร่งจังหวะเดินจนบ่อยครั้งที่เราหลงลืมคุณค่าของความช้า และลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังรีบไปไหน จนกระทั่งภาวะโลกร้อนที่เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง บวกกับ COVID-19 ที่มาบอกกล่าวบางอย่างกับเราอย่างจริงจัง

นักปลูกข้าวชนเผ่าชวนหนุ่มอังกฤษ ทำนาขั้นบันได และทฤษฎีใบไม้ทำมุม 137.5 องศา

คนกินข้าวต้องเห็นต้นข้าว 

หลังจากเราหว่านกล้าข้าวในเดือนพฤษภาคม พอถึงเดือนมิถุนายนก็ได้เวลาไถนาเตรียมดินปั้นคันนา เพื่อให้เมล็ดข้าวที่เราเก็บรักษาพันธ์ุมายาวนานรุ่นนี้ได้ออกเดินทางรอบใหม่ เพราะชาวบ้านใช้ชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น เรียนรู้ทดลอง จนแน่ใจได้ว่าข้าวพันธ์ุไหน ควรปลูกที่แม่น้ำสายใด หรือที่แบบไหน เป็นการวิจัยที่ใช้เวลาทั้งชีวิตและให้ชีวิตต่อผู้วิจัยมาอย่างยาวนานเช่นกัน

หลังจากฝนทิ้งช่วงในบางสัปดาห์ ฝนก็เทลงมาให้นักปลูกข้าวมีความหวัง เมล็ดข้าวเปลือก จอบ รถไถ ตอก กระสอบ มีด กระท่อม อาหาร รองเท้าบูต ชุดทำนา ถุงมือ หมวก และอื่นๆ อีกมากมายตามความจำเป็น เปรียบเสมือนปากกา พู่กัน และสี ส่วนผืนนาเป็นเหมือนกระดาษ หรือผ้าผืนใหญ่ นักปลูกข้าวเป็นจิตกรผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีลูกๆ หลานๆ เป็นผู้ช่วย งานศิลปะชิ้นนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 7 เดือน ยิ่งถ้าเป็นไร่หมุนเวียนต้องใช้เวลาเกือบทั้งปี ซึ่งนานพอที่จะเห็นคุณค่าของข้าว และเชื่อมั่นว่าข้าวให้ความมั่นคงกับพวกเขาได้

เมื่อได้เวลาปลูกข้าว นักปลูกข้าวจะแลกเปลี่ยนแรงงานกัน ช่วยเหลือกันเหมือนเช่นที่เป็นมาอย่างยาวนาน เสียงรถไถนาเดินตามดังตักๆๆ หลานชายที่โตเป็นหนุ่มกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้การทำงานของควายเหล็กที่ใช้ผสมดินและน้ำให้เข้ากัน ก่อนปลูกข้าวต้องพรวนดินให้มีความละเอียดพอดี ยิ่งนุ่มเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น นักปลูกข้าวจะได้ไม่เจ็บมือมากเกินไป ระดับของดินที่เรียบเสมอกันที่สุดจะช่วยให้น้ำที่ขังในนาหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ทุกต้นตลอดฤดูของมัน

นักปลูกข้าวชนเผ่าชวนหนุ่มอังกฤษ ทำนาขั้นบันได และทฤษฎีใบไม้ทำมุม 137.5 องศา
นักปลูกข้าวชนเผ่าชวนหนุ่มอังกฤษ ทำนาขั้นบันได และทฤษฎีใบไม้ทำมุม 137.5 องศา

การทำนาขั้นบันไดบนดอยเป็นความท้าทายของนักเดินตามควายเหล็กมือใหม่ เมื่อต้องเปลี่ยนแปลงข้าวที่บางทีต้องขึ้นลงบนคันนาที่สูงต่ำไม่เท่ากัน เคยมีควายเหล็กหกคะมำมาแล้วนักต่อนัก และนั่นจึงต้องมีผู้มากประสบการณ์มาคอยประกบหนุ่มน้อยเหล่านี้ในช่วงเริ่มต้น

ส่วนนักปลูกข้าวที่ยืนเรียงแถวหน้ากระดาน มือซ้ายถือกล้าข้าวที่มัดด้วยตอก มือขวาค่อยๆ แยกกล้าข้าวออกมาที่ละ 3 ต้น 5 ต้น แล้วบรรจงปักกล้าข้าวลงดิน ทีละนิดๆ จนหมดมัด แล้วหยิบกล้ามัดใหม่ มาเดินดำไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

นักปลูกข้าวชนเผ่าชวนหนุ่มอังกฤษ ทำนาขั้นบันได และทฤษฎีใบไม้ทำมุม 137.5 องศา

เด็กตัวน้อยโยนกล้าข้าวขึ้นฟ้าก่อนตกลงในนา เหมือนการเล่นสนุกของเด็ก หลานตัวน้อยยังไม่รู้ว่า เกษตรและวิถีชนบทเคยถูกทำให้เชื่อว่า เป็นความด้อยพัฒนา ล้าหลัง และต่ำต้อย โรงเรียนกระแสหลักผลิตซ้ำความเชื่อนี้มานาน นานพอที่ผู้คนมากมายจะหันหลังให้บ้านเกิดเพื่อออกไปตามหาฝันที่ดีกว่า หลายคนประสบสบความสำเร็จ แต่ก็มีมากมายที่ความฝันหล่นหายระหว่างทาง ความฝันอาจจะผุพังไป แต่ความจริงที่เติบโตบนผืนดินนั้นรอคอยให้ลูกหลานที่จากไปกลับมาเสมอ การกลับบ้านไม่มีความมั่งคั่ง ร่ำรวย มีเพียงความมั่นคงของชีวิตที่ฝากไว้ในเมล็ดข้าว

บ้านที่แท้จริงของโซได

โซได เป็นหนุ่มบางกอก-โตเกียว วัย 23 ขวบ ที่เคยมาเยี่ยมที่นี่เมื่อ 3 ปีก่อน วันนี้เขาพาตัวเองกลับมาอีกครั้ง หลังจากกักตัวร่วมเดือนที่กรุงเทพฯ ความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่กับที่เป็นเวลานาน ทำให้เขาตัดสินใจขับรถขึ้นเชียงใหม่ เพื่อมาปลูกข้าว ปลูกต้นไม้ และเล่าเรื่องชีววิทยาที่เขาไปร่ำเรียนไกลถึงเมืองลอนดอน

โซไดเคยเรียนที่บางกอกพัฒนา ก่อนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Imperial College ประเทศอังกฤษ เขาเชื่อว่าการศึกษาเรื่องชีววิทยาจะทำให้มองธรรมชาติด้วยความเข้าใจมากขึ้น เขาใช้เวลาเพียง 3 ปีก็จบปริญญาตรี เขาตั้งใจจะกลับไปเรียนต่อปริญญาโทที่นั่นพร้อมกับเป็นผู้ช่วยสอน เพื่อหาความรู้ที่จะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติต่อไป

นักปลูกข้าวชนเผ่าชวนหนุ่มอังกฤษ ทำนาขั้นบันได และทฤษฎีใบไม้ทำมุม 137.5 องศา

“ผมเลือกเรียนชีววิทยาเพราะอยากเข้าใจกลไกของธรรมชาติ เช่น ชีวิตสัตว์ที่อยู่บนโลกใบเดียวกับเรา”

ในขณะที่ผมชวนเขาขุดหลุมเพื่อปลูกต้นอาโวคาเป็นที่ระลึกให้ตัวเอง เขาชี้ไปที่ใบของอาโวคาโดซึ่งก้านแต่ละคู่ทำมุม 137.5 องศา เป็นการสังเกตที่เขาได้จากร่ำเรียนมา ผมอยากรู้ขึ้นมาเลยว่า องศาที่ห่างกันของใบไม้สำคัญอย่างไรกับเรา

“การที่ก้านใบของต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ทำมุมเป็น 137.5 องศานั้น เป็นลายที่ธรรมชาติจัดวางตัวเอง ธรรมชาติให้พื้นที่ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างสมดุล”

โซไดขุดหลุมและปลูกต้นอาโวคาโดของตัวเองอย่างทะมัดทะแมง ต่อด้วยขนฟางไปให้วัวกิน ปิดท้ายด้วยลงไปปลูกข้าวในนา

“สัตว์ก็เป็นบรรพบุรุษของเราในแง่ของความเกี่ยวข้องกันในการดำรงอยู่ในโลกใบนี้ ชีวิตของสัตว์และมนุษย์มีผลต่อกัน สมมติไก่ที่มาคุ้ยเขี่ยหาอาหารและถ่ายใต้ต้นไม้ มีส่วนให้ต้นไม้เจริญงอกงามมีผลให้เรากิน”

“ผมรู้สึกว่า เรากินทิ้งกินขว้าง และไม่เห็นคุณค่าของอาหารเท่าที่ควร เพราะเราไม่ได้สัมผัสการปลูกข้าวหรือผลิตอาหารเอง”

เราเห็นตรงกันว่า COVID-19 ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้นว่า อาหารสำคัญต่อเราแค่ไหน โซไดเล่าว่าที่อังกฤษ คนไร้บ้านถูกรังเกียจและถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะอาจเป็นคนที่แพร่เชื้อโรคได้ รัฐบาลจึงเอาคนไร้บ้านไปขังไว้ในโรงแรม เพื่อแก้ปัญหา

“ในอังกฤษ ภาษีที่ดินแพงมาก ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ได้รับมรดกจากพ่อแม่ จำเป็นต้องขายที่ดิน เพราะแบกรับภาษีที่ดินไม่ไหว การย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในเมือง ทำให้พวกเขาสูญเสียที่ดิน และเผลอๆ จะเป็นการสูญเสียอิสรภาพทั้งชีวิต เพราะค่าใช้จ่ายในเมืองนั้นแสนแพง คุณทำเงินได้เยอะก็จริง แต่ก็ต้องจ่ายออกไปมากเช่นเดียวกัน”

บางทีการทำมุมของใบไม้ที่ 137.5 องศา อาจเป็นกฎของความเท่าเทียมกันในสังคมที่ต้นไม้พยายามบอกเราว่า มนุษย์ทุกคนควรมีพื้นที่ชีวิตและสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

นักปลูกข้าวชนเผ่าชวนหนุ่มอังกฤษ ทำนาขั้นบันได และทฤษฎีใบไม้ทำมุม 137.5 องศา

“ความรู้มีพลังในการสร้างสรรค์มากมาย เช่นเดียวกับพลังในการทำลายธรรมชาติ การสังเกตอย่างเดียวไม่เคยคลายความสงสัยให้มนุษย์ การทดลองต่างๆ จึงเกิดขึ้น เมื่อผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ มนุษย์ก็ล้ำเส้น เอาเปรียบธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกัน ด้วยความรู้ที่เรามี ผมไม่คิดว่าผมจะแก้ปัญหาอะไรได้ในตอนนี้ ผมเพียงแค่อยากเข้าใจธรรมชาติ ที่เราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น”

พ่อของโซไดเป็นคนไทย ส่วนแม่เป็นชาวญี่ปุ่น เขาพูดได้ทั้งภาษาไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ ผมอยากรู้ว่าเขารู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ไหนกันแน่

“ผมรู้สึกดีที่ได้กลับมาเมืองไทย เพราะผมโตที่นี่ แต่ผมก็มียายและญาติที่โตเกียวด้วย ญี่ปุ่นจึงให้ความรู้สึกเหมือนบ้านเช่นกัน ส่วนการใช้ชีวิตและเดินทางทั่วสหราชอาณาจักร เช่น การไปเที่ยวสก็อตแลนด์หรือไอร์แลนด์ที่มีภูมิประเทศและธรรมชาติที่งดงามก็ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านเช่นกัน”

“ท้ายที่สุดแล้วความหมายของบ้านที่ควรจะเป็นสำหรับเรานั้น น่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อทุกๆ ที่ที่เราไป ดูแลเรื่องขยะเรื่องการบริโภค ปฏิบัติต่อที่นั่นเหมือนบ้านของเรา โลกจะดีขึ้นกว่านี้ เพราะโลกใบนี้ต่างหากคือบ้านที่แท้จริงของพวกเรา”

โซไดสนับสนุนการเรียนออนไลน์จากที่บ้าน เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง มีการลงทุนที่คิดถึงกำไรที่จะได้รับกลับมา

“เราควรได้ใช้เวลาเรียนในสิ่งที่อยากเรียน คุ้มค่ากับเงินที่เราเสียไป”

ลานหน้าเสาธงกำลังรอเด็กๆ กลับไปเข้าแถว ในวันที่เรากำลังพูดถึงความปกติใหม่ ในวันที่โลกเปลี่ยนไปมาก ไม่ใช่เด็กทุกคนต้องเรียนรู้การปลูกข้าว แต่มันสำคัญสำหรับลูกชาวนาที่มีความฝันว่าอยากอยู่ที่นี่ 

เราได้แต่หวังว่าโรงเรียนจะสอนให้เด็กชื่นชมข้าวจากใจมากกว่าปกติ ที่เคยเป็นมา

นักปลูกข้าวชนเผ่าชวนหนุ่มอังกฤษ ทำนาขั้นบันได และทฤษฎีใบไม้ทำมุม 137.5 องศา

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง