COVID-19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก ประเทศต่างๆ ปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อแก้ปัญหา เราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่า การปิดบ้านปิดเมืองเกิดขึ้นมานานแล้ว 

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มีทหารญี่ปุ่นบางส่วนถอยทัพ เดินเท้ากลับมาจากพม่า ผ่านหมู่บ้าน ป่าเขา ตามดอยต่างๆ ผู้เฒ่าที่เกิดทันเหตุการณ์ครั้งนั้นเล่าว่า ทหารญี่ปุ่นอ่อนล้า หิวโหย จนต้องเอาปืนแลกกับอาหารประทังชีวิต เพื่อพยุงตัวเองให้ถึงจุดหมาย หลายคนหมดแรงและสิ้นลมระหว่างทาง 

พิธีปิดกั้นโรคระบาด ภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่กลับมามีชีวิตในวัน COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก

ระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเกิดโรคระบาด (อหิวาตกโรค) คร่าชีวิตผู้คนบริเวณนี้มากมาย จนทำให้ต้องย้ายหมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงมีการทำพิธีปิดหมู่บ้านทุกครั้งที่เกิดโรคระบาด 

เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไปแล้วเกือบ 80 ปี ‘พิธีเกร๊าะหยี่ เกร๊าะแกล๊ะ’ (ปิดบ้าน ปิดทาง) ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 ที่กำลังลุกลามในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ หมู่บ้านต่างๆ ของชาวปกาเกอะญอจึงทยอยทำพิธีปิดหมู่บ้านกันอย่างต่อเนื่อง

ที่ชุมชนบ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดให้ วันที่ 24 และ 25 มีนาคม เป็นวันปิดหมู่บ้าน โดยปิดทุกทางเข้าออก ห้ามคนในออก ห้ามคนนอกเข้า ระหว่างที่มีการปิดหมู่บ้านจะมีการผลัดเปลี่ยนเฝ้าเวรยามที่ทางเข้าออก จนกว่าทางจะเปิดใช้อีกครั้ง

พิธีเริ่มขึ้นตอนเย็นของวันที่ 24 ผู้เฒ่าพ่อบ้านและหนุ่มๆ ไปรวมตัวกันที่ทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งแยกเป็น 3 กลุ่ม เพราะมีทางเข้ามี 3 ทาง ไม้ไผ่ถูกนำมากั้นทาง มีอาวุธจำลองที่ทำจากเศษไม้และไม้ไผ่ เช่น ดาบ หอก ธนู ปืน ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าโรคระบาดครั้งนี้อันตราย 

พิธีปิดกั้นโรคระบาด ภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่กลับมามีชีวิตในวัน COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก

ต๋าแหลวตัวผู้ที่สานด้วยไม้ไผ่เป็นรูปสามแฉก เป็นสัญลักษณ์ห้ามผ่านหรือห้ามเข้าถูกติดไว้ด้านบน เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาเห็นได้ชัดเจน 

พิธีปิดกั้นโรคระบาด ภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่กลับมามีชีวิตในวัน COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก
พิธีปิดกั้นโรคระบาด ภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่กลับมามีชีวิตในวัน COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก

ผู้เฒ่าที่นำพิธีท่องบทสวดฉบับป้องกันภัย มีเนื้อหากล่าวเตือนผู้บุกรุกว่าไม่ให้รุกล้ำ และอวยพรให้ขวัญกำลังใจกับผู้เข้าร่วมพิธี จากนั้นผู้เฒ่าพรมน้ำขมิ้น ส้มป่อย ก่อนให้ทุกคนล้างมือให้เรียบร้อย หลังเสร็จพิธี ผู้เฒ่าจึงเดินทางกลับเข้าไปในหมู่บ้าน ปล่อยให้คนหนุ่มผลัดเปลี่ยนกันเฝ้ายาม และเมื่อครบกำหนดผู้เฒ่าคนเดิมก็ไปทำพิธีเปิดทาง ด้วยการจุดเทียนหนึ่งเล่มบอกกล่าวกับเจ้าที่เจ้าทาง และทางก็เปิดใช้เป็นปกติอีกครั้ง

การปิดหมู่บ้าน นอกจากช่วยป้องกันโรคระบาดแล้ว ยังเป็นการกลับมาตรวจสอบทรัพยากรของครัวเรือนและชุมชนว่า เราขาดเหลืออะไรในการดำรงชีวิต สิ่งสำคัญที่เราต้องมี เช่น ข้าว อาหาร พืชผัก สัตว์เลี้ยง ที่จะเป็นเสบียง หากเราต้องเผชิญกับวิกฤตขั้นรุนแรง เรามีวิชาความรู้ในการอยู่กับป่าหลงเหลือแค่ไหน สอดคล้องกับคำกล่าวที่เตือนเราว่า “หากเกิดพายุใหญ่จะไม่มีอะไรที่เรายึดไว้ได้ นอกจากตอข้าวและเทียนไขขี้ผึ้ง” สองสิ่งนี้จะพาเราให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

การทิ้งระยะห่างจากคนรอบกาย เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้กลับมาอยู่กับตัวเอง ฟังเสียงตัวเอง ทบทวนชีวิตที่ผ่านมาว่ามีอะไรที่ดีแล้ว และต้องแก้ไขตัวเองในเรื่องใดบ้าง วิถีชีวิตในท้องถิ่นชนบทหรือของชนเผ่าต่างๆ ในแต่ละฤดู วิถีชีวิตของผู้คนจะออกแบบให้แตกต่างกันโดยธรรมชาติ เช่น ฤดูฝนเราต้องเพาะปลูก สร้างอาหารเตรียมไว้สำหรับฤดูถัดไป ฤดูหนาวเราต้องเตรียมฟืนไว้ให้พอ ส่วนฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาทอผ้า-จักสานไว้ใช้ เป็นต้น วิถีที่ไม่ได้ซ้ำเดิมของแต่ละฤดูทำให้พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ซ้ำที่จุดเดิมเช่นกัน จึงเกิดเป็นช่วงเวลาที่ให้ดินพักฟื้น ตอไม้แตกกอ น้ำไหลกลับคืนสู่ห้วย

แต่ในความเป็นจริงของยุคสมัยปัจจุบันที่มนุษย์แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ธรรมชาติจึงกลายเป็นผู้รับเคราะห์ จนเกิดเป็นภาวะโลกร้อนบวกกับโรคระบาดอย่างที่เป็น การปิดหรือผ่อนพักจังหวะชีวิตของมนุษย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดของระบบนิเวศและตัวมนุษย์เอง 

พิธีปิดบ้าน เป็นผลจากประสบการณ์ตรงของผู้คนในอดีต การปิดบ้าน ปิดทาง ปิดเมือง ปิดประเทศ จึงเป็นแบบฝึกหัดที่ดี แต่คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ภาครัฐเห็นความสำคัญต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้มีพื้นที่ขององค์ความรู้เหล่านี้ในระดับกว้าง และนำมาปรับใช้แก้ปัญหาในระดับนโยบาย เพื่อให้องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ในบ้านเรายังมีลมหายใจ เพราะความรู้เหล่านี้ยังทันสมัยเสมอ

พิธีปิดกั้นโรคระบาด ภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่กลับมามีชีวิตในวัน COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก

โลก พระจันทร์ มนุษย์ กับพื้นที่ว่างที่จำเป็น

ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนนั้นโลกและพระจันทร์เคยอยู่แนบชิดติดกัน เหมือนเป็นดาวดวงเดียวกันที่เลี้ยงดูมนุษย์และสรรพสิ่งอื่นๆ ทุกครั้งที่มนุษย์รู้สึกหิว มนุษย์จะไปขอเนื้อพระจันทร์มาประทังชีวิต และพระจันทร์ก็ยินดีที่จะแบ่งเนื้อของตัวเองให้มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นไปแบบนั้นมาช้านาน จนเมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์เริ่มขอมากขึ้น ขอเกินความจำเป็น เก็บสะสม จนพระจันทร์ต้องหนีจากโลกไป นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระจันทร์ไม่กลับมาหามนุษย์อีกเลย

อย่างไรก็ตาม พระจันทร์ยังคงห่วงใยมนุษย์ด้วยการโคจรรอบโลก คอยบอกกล่าวให้สัญญาณกับมนุษย์ ให้มีชีวิตหมุนไปอย่างสอดคล้องกับจังหวะข้างขึ้น ข้างแรม การบอกให้รู้จักหยุดเก็บหน่อไม้ เพื่อให้หน่อไม้ได้แทงลำเพื่อให้เราได้ใช้ในวันข้างหน้า หยุดหาปลาเพื่อให้ปลาในลำห้วยขยายพันธุ์ หยุดตำข้าวเพื่อให้เราได้ยินเสียงของตัวเอง 

ทุกๆ วันพระก็เป็นการปิดตัวเองที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน และถ้าบวกกับวันอาทิตย์ที่หลายๆ คนเข้าโบสถ์แล้ว ปีปีหนึ่งเราแบ่งเบาภาระของโลกได้มากทีเดียว

พิธีปิดกั้นโรคระบาด ภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่กลับมามีชีวิตในวัน COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก

‘ต่า เต๊ะ เซ ต่า กว่า เซ’ สรรพสิ่งถูกสร้าง สรรพสิ่งจะได้รับการดูแล

คนปกาเกอะญอเชื่อว่า เมื่อทุกสิ่งบนโลกนี้ถูกสร้างขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นจึงได้รับการดูแล ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลย การปิดบ้าน ปิดเมือง ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีได้ แต่การกลับมาเชื่อและวางใจในธรรมชาติอีกครั้งนั้น เป็นสิ่งที่เราควรได้บ่มเพาะให้กับลูกหลานของเรา ที่กำลังเติบโตในวันที่พวกเขาถูกพรากออกจากธรรมชาติมากขึ้นทุกๆ วัน 

เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถึงแม้มนุษย์จะเก่งกาจกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่เราก็มีอานุภาพทำลายล้างมากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เช่นกัน การปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดทาง ป้องกันสิ่งชั่วร้ายเหล่านั้น ไม่ใช่กับภูตผีตามความเชื่อ ตามจินตนาการเท่านั้น หากแต่เป็นภูตผีที่อยู่ในร่างของมนุษย์อย่างเราๆ ที่สร้างสิ่งชั่วร้าย อย่างสงคราม การแบ่งแยก ชนชั้นวรรณะ ถูกสอนให้รดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความโลภครั้งแล้วครั้งเล่า จนใครบางคนเชื่ออย่างสนิทใจว่า ทรัพยากรบนโลกไม่มีวันหมด และพวกเขากำลังตักตวงจากโลกอย่างบ้าคลั่ง ราวกับยักษ์ผู้หิวโหยที่กินทุกอย่างที่ขวางหน้า

ผู้เฒ่าจึงเรียกโลกใบนี้ว่า ‘ห่อโข่’ ที่ไม่ได้มีความหมายแค่โลกหรือแผ่นดิน แต่ยังมีความหมายว่า ที่ร้องไห้ ที่ที่มนุษย์ทุกคนต้องร้องไห้ ต้องพบเจอกับความทุกข์ ความยากลำบาก ความเศร้าโศกเสียใจ ความไม่สะดวกสบาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เราต่างรู้กันดี ทุกครั้งที่แม่ให้กำเนิดชีวิตใหม่ ทารกคนนั้นจะต้องร้องไห้ เพื่อเป็นการนับหนึ่งของการมีชีวิตบนโลก และเมื่อเติบโตไป อาจจะมีการร้องไห้อีกหลายครั้งหลายหน หลายเหตุผล หลายสถานที่ แต่ที่แน่นอนคือ เมื่อถึงวาระที่ใครคนใดคนหนึ่งต้องจากเราไป จะมีน้ำตารสเค็มไหลออกมาบอกลาผู้เป็นที่รัก ที่เดินทางบนโลกนี้จนถึงนาทีสุดท้าย ส่วนคนที่ยังมีชีวิตก็แค่ต้องเดินทางต่อไปตามทางที่ถูกสร้างไว้

พิธีปิดกั้นโรคระบาด ภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่กลับมามีชีวิตในวัน COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก

การปิดพื้นที่ชีวิตของเรา บางช่วงบางตอน บางฤดู เคยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในอดีต และการถอยกลับมาอยู่กับตัวเองเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับธรรมชาติได้มีเวลาเยียวยา ฟื้นฟูชีวิตตัวเอง ก่อนที่ธรรมชาติจะมีแรงดูแลเราต่อไป

อย่าได้กังวลมากเกินไปจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เรามีโอกาสแล้วที่จะได้ฝึกกลับไปวางใจในตัวเองในธรรมชาติ สิ่งที่เราทำได้ที่บ้านในตอนนี้ คือการขุดดิน อ่านหนังสือ ปลูกผัก เล่นดนตรี ฝึกโยคะ รดน้ำต้นไม้ เรียนทำอาหาร ทำขนม ทำกาแฟกิน เก็บเมล็ดพันธุ์ ทอผ้า กวาดบ้าน ทำงานฝีมือ และกิจกรรมอื่นๆ มากมาย หรือถ้าง่วงมากก็นอนขี้เกียจเฉยๆ ก็ไม่ได้เป็นภัยกับใคร 

สิ่งเล็กๆ เหล่านี้น่าจะพอช่วยให้พี่น้องของเราที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในเมืองหลวง ต่างจังหวัด ทุกอำเภอ ตำบล ชุมชน ได้บ้าง พวกเขาจะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป 

มีภาพข่าวภาพหนึ่งกับคำบรรยายใต้ภาพจากประเทศอิตาลีที่กำลังเผชิญกับโรคระบาด COVID-19 นี้อย่างหนัก ภาพหมอกำลังเข็นคนไข้สูงวัยเพื่อไปสแกนปอด ในขณะที่กำลังจะถึงทางเข้าห้องสแกน
พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า หมอถามคนป่วยว่าอยากชมพระอาทิตย์ตกดินไหม คนไข้ยิ้มตอบ และพวกเขาสองคนก็ได้ใช้เวลาสั้นๆ ชื่นชมกับสิ่งที่พวกเราหลายคนรู้ดีว่าปรากฏการณ์ของธรรมชาติมันมีค่าต่อจิตใจเพียงใด 

จะว่าไปการปิดบ้าน ปิดเมือง เป็นการใช้เทคโนโลยีเก่าแก่ที่เหมาะสมแล้วกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2563

ต่าบลึ๊ครับ

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง