6 กุมภาพันธ์ 2020
7 K

สำหรับผู้ชื่นชอบอาหารรสชาติเผ็ดแล้ว ต่างยอมรับกันว่าในบรรดาพริกขี้หนูหลากหลายสายพันธุ์ในประเทศไทย พริกที่ยิ่งเผ็ด ต้องยิ่งกิน คงหนีไม่พ้น ‘พริกกะเหรี่ยง’

หากใครได้ชิมพริกกะเหรี่ยง คงรับรู้ถึงรสชาติอันแสบลิ้นแบบเผ็ดหอม จึงกินได้เรื่อยๆ ไม่ได้เผ็ดร้อนอย่างเดียว

ยิ่งเห็นพริกกะเหรี่ยงตากแห้งสีแดงเข้ม ต่อมน้ำลายทำงานล่วงหน้าทันที

มื้อไหนไม่มีกับข้าวอะไร เอากระเทียม พริกกระเหรี่ยง ย่างไฟสักพัก แกะเปลือกนำมาใส่ครก โขลกพริก กระเทียม เหยาะน้ำปลา บีบมะนาวนิด กินกับข้าวร้อนๆ แค่นี้ก็อร่อยท้องแล้ว

ไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสเดินทางลึกเข้าไปในอุทยานแห่งชาติสาละวิน ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นเขาลงห้วยหลายชั่วโมง เพื่อตามหาสายพันธุ์พริกกะเหรี่ยงของชุมชนบ้านแม่กองคา

ชาวกะเหรี่ยงเรียกตนเองว่า ปกาเกอะญอ แปลว่าคนที่มีชีวิตเรียบง่ายสมถะ เป็นชนเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ชุมชนบ้านแม่กองคาน่าจะเป็นหนึ่งในชุมชนปกาเกอะญอที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุยาวนานกว่า 300 ปี หมู่บ้านกลางป่าใหญ่แห่งนี้ตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2245 ก่อนการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 80 ปี

ตามหาสายพันธุ์ พริกกะเหรี่ยง บ้านแม่กองคาในหมู่บ้านกลางป่าที่ตั้งมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 80 ปี

น่าแปลกใจที่ชาวบ้านแม่กองคายังรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชาวปกาเกอะญอ ได้เป็นอย่างดี แม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี

พวกเขาอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ก่อนที่ทางการจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติสาละวินใน พ.ศ. 2537 แต่พื้นที่บ้านแม่กองคาสองหมื่นสามพันกว่าไร่คาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติและป่าสงวน ทางการก็ยอมให้กันพื้นที่ส่วนนี้ออกมาจากอุทยาน เมื่อชาวบ้านพิสูจน์มานานแล้วว่าพวกเขารักษาป่าได้จริงจังมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี

“ใช้ป่ารักษาป่า ใช้น้ำรักษาน้ำ กินปลารักษาวัง กินกบรักษาผา” ผู้ใหญ่ปกาเกอะญอคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังถึงวัฒนธรรมการดูแลป่าง่ายๆ ที่บอกต่อกันมาถึงลูกหลาน แต่ทำให้ชุมชนแห่งนี้แข็งแรงมาก

ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าธรรมชาติสรรพสิ่งล้วนมีเจ้าของหรือผี พวกเขาจึงให้ความเคารพธรรมชาติอย่างยิ่ง ไม่ทำอะไรที่ผิดผีเด็ดขาด การจะใช้ประโยชน์จากป่าต้องทำพิธีขอผีด้วยความอ่อนน้อม เพราะพวกเขาเชื่อในความยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ มนุษย์ต่ำต้อยนักเมื่ออยู่ต่อหน้าผีเหล่านี้

ดังนั้น ความคิดในเรื่องธรรมชาติของพวกเขาจึงลึกซึ้ง อยู่ด้วยความเคารพ มากกว่าเป็นเพียง ‘ทรัพยากรธรรมชาติ’ อันมีความหมายเพียงแต่การใช้ประโยชน์

พวกเขาทำไร่หมุนเวียนในป่า เมื่อถางป่าปลูกข้าวไร่เสร็จก็จะปล่อยทิ้งไว้ 6 – 7 ปี เพื่อให้ธรรมชาติกลับคืนมา ไม่ได้ทำไร่เลื่อนลอยแบบทำลายป่าอย่างสิ้นเชิง

ผมถามพวกเขาว่า ทำไมไม่ปลูกข้าวโพดแบบที่คนแถบนี้ปลูกกัน

ตามหาสายพันธุ์พริกกะเหรี่ยงบ้านแม่กองคาในหมู่บ้านกลางป่าที่ตั้งมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 80 ปี

“ทางการเคยมาส่งเสริมเหมือนกัน แต่ชาวบ้านไม่มีใครปลูก เพราะหากปลูกข้าวโพดต้องใช้ยา ยิ่งใส่ดินยิ่งแข็ง และสารเคมีจะไหลลงไปสู่ลำน้ำ เราไม่เอาสารเคมีมานานแล้ว”

เมื่อไม่ปลูกข้าวโพด ก็ไม่ต้องเผาซากไร่ข้าวโพดให้เกิดควัน แต่อาจจะเผาซากไร่หมุนเวียนกำจัดวัชพืชไปพร้อมกับการทำแนวกันไฟ งานนี้ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจทำกันทั้งหมู่บ้าน การทำแนวกันไฟสำคัญต่อพวกเขามาก ต้องมีการประชุมวางแผน ก่อนการปลูกพืชไร่ต้องกำจัดวัชพืชและแปลงพืชไร่มักอยู่ติดป่าใหญ่ การเผาวัชพืชจึงต้องระวังไม่ให้ลุกลามเป็นไฟป่า แบ่งกลุ่มกันทำงาน ช่วยกันตัดกิ่งไม้กำจัดเชื้อเพลิง กวาดเศษใบไม้ให้แยกเป็นทาง จนป่าบริเวณนี้ไม่เคยมีไฟป่ามานานร่วม 50 ปีแล้ว

ผมถามพวกเขาว่า ทำไมไม่เชื่อประโยชน์ของยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือสารเคมี ในการทำพืชไร่

พวกเขาไม่ตอบ แต่พาผมเดินขึ้นเขาไปดูไร่พริกกะเหรี่ยง

บนพื้นที่ลาดชันที่ปลูกข้าวไร่ มีพืชนานาชนิดปลูกแซมอยู่ อาทิ เผือก มัน ข้าวโพด งา มะเขือ ผักกาด ฟักทอง โดยเฉพาะพริกกะเหรี่ยง และเห็นดอกไม้หลากสี เช่น หงอนไก่ ดาวเรือง ที่ชาวแม่กองคาปลูกดอกไม้เหล่านี้เพื่อช่วยล่อแมลงให้มาผสมพันธุ์

การปลูกพืชหลากหลายชนิดในแปลงเดียวกัน เป็นวิธีป้องกันแมลงตามธรรมชาติที่ได้ผลมากกว่าการปลูกพืชชนิดเดียวกันทั้งแปลง เพราะแมลงบางชนิดอาจจะแพ้พืชบางชนิดในแปลงเดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด

ผมสังเกตว่าในบรรดาพืชที่ปลูก พริกกะเหรี่ยงเรียวผอมยาวดูจะโดดเด่นมากที่สุด เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของชาวบ้านแม่กองคา

ตามหาสายพันธุ์ พริกกะเหรี่ยง บ้านแม่กองคาในหมู่บ้านกลางป่าที่ตั้งมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 80 ปี

ชาวบ้านจะหว่านเมล็ดพริกไปพร้อมกับตอนปลูกข้าวไร่ ผลผลิตพริกกะเหรี่ยงเริ่มเก็บในเดือนพฤศจิกายน พริกสดราคากิโลกรัมละ 60 – 80 บาท พริกแห้งราคากิโลกรัมละ 200 – 300 บาท สร้างรายได้ให้กับครอบครัวถึงปีละ 30,000 บาททีเดียว

“ปลูกเท่าไรก็ไม่พอขาย เพราะมีพ่อค้ามารับซื้อตลอด แต่เราก็ปลูกกันแค่นี้”

พริกกะเหรี่ยงของที่นี่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงปลูก และเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นเดิมไว้ปลูกในปีต่อๆ ไป

เดือนธันวาคมของทุกปี ชาวแม่กองคาจะเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ทุกชนิดที่ขึ้นในไร่หมุนเวียน วัฒนธรรมนี้สืบทอดกันมานาน เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ที่มีอายุสืบทอดมาเป็นร้อยๆ ปี

พืชผักเหล่านี้คืออาหารหลักของชาวปกาเกอะญอ พวกเขาจึงต้องเก็บเมล็ดพันธุ์สะสมไว้เพื่อเพาะปลูกปีถัดไป

พวกเขาจะคัดเลือกกอข้าวงามที่สุด ไม่กิน แต่เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์

ตามหาสายพันธุ์ พริกกะเหรี่ยง บ้านแม่กองคาในหมู่บ้านกลางป่าที่ตั้งมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 80 ปี

เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นจึงมีคุณสมบัติแข็งแรง ไม่ต้องดูแลมาก ต้านทานโรคสูง ทนแมลงได้ดี ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง และพันธุกรรมดั้งเดิมสามารถเจริญได้ดีในสภาพแวดล้อมท้องถิ่น เพราะปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมมานานแล้ว เปรียบว่าเมล็ดพันธุ์เติบโตในบ้านอันคุ้นเคยรู้จักมานาน จึงเจริญงอกงามได้เต็มที่ ไม่ต้องเร่งปุ๋ยเร่งยาให้เปลืองเงิน

ผมลองเอาเมล็ดพันธุ์พริกกะเหรี่ยงชนิดเดียวกันมาทดลองปลูกที่บ้าน ยอมรับว่ารสชาติสู้พริกกะเหรี่ยงที่ปลูกบ้านแม่กองคาไม่ได้ เพราะสภาพดิน อากาศ และความสูง มีส่วนกำหนดรสชาติด้วย

ครัวหลังบ้านของชาวปกาเกอะญอที่ผมขึ้นไปดูคือพื้นที่เก็บ จะเห็นเมล็ดพันธุ์ตากอยู่เหนือเตาถ่านให้แห้งสนิท 

ทุกวันนี้มีพี่น้องพื้นราบมาขอซื้อเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นหลากหลายชนิด รวมถึงนักเพาะพันธุ์เมล็ดท้องถิ่นทั่วประเทศต่างเดินทางมาขอดูงานที่นี่ เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นคืออาวุธสำคัญในการต่อกรกับเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในอนาคต และการไม่ใช้สารเคมีคือการรักษาเมล็ดพันธุ์ให้แข็งแรงได้

ไม่แปลกใจ พริกท้องถิ่นอย่างพริกกะเหรี่ยงจึงมีรสชาติเผ็ดหอม ยิ่งกินยิ่งอร่อยหยุดไม่ได้จริงๆ

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว