เข้าสู่เดือนมีนาคมแล้ว อากาศบนดอยตอนเช้ายังคงหนาวเย็น ดอกฝ้ายสีขาวในสวนที่ได้เมล็ดจากไร่หมุนเวียนของเพื่อนเมื่อ 2 ปีก่อนออกดอกให้ชื่นใจ ต้นไม้ที่ผลัดใบเมื่อต้นหนาว กลับมาผลิใบให้ร่มเงาร่มรื่นให้ได้หลบแดดร้อนในตอนกลางวัน

ลือ หล่า ธรรมนูญชีวิตชาวปกากะญอ ที่ย้ำเตือนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

เสียงตีไม้ตอนสายๆ ดังมาจากหลายทิศทาง เสียงที่ทำให้หลังคาบ้านผลิบานกลายเป็นที่หลบฝนหลบแดด ปีนี้มีหลายครอบครัวที่กำลังสร้างบ้านใหม่แทนหลังเก่าที่ได้ทำหน้าที่มายาวนาน หลังคาได้เวลารื้อ ผนังผุพังได้เวลาเปลี่ยน ไม้และเสาที่ยังใช้งานได้ ก็พร้อมแปลงร่างไปเป็นบ้านหลังใหม่ต่อไป

ส่วนชิ้นไม้ที่แตกหัก ยังมีคุณค่า สามารถเอาไปทำเล้าหมู เล้าไก่ หรือเอาไปทำแคร่ไว้นอนเล่นใต้ต้นไม้ได้ กว่าจะเป็นบ้านหลังหนึ่งต้องใช้เวลาในการเก็บสะสมไม้หลายปี บ้านไม้ที่อายุเก่า 30 ปีขึ้นไม้ เป็นไม้ที่เลื่อยด้วยมือและแบกออกมาด้วยกำลังคนอย่างยากลำบาก ไม้เก่าจึงถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แม่เป็นใย ใบคือพ่อ

มีเรื่องเล่าว่ามีผู้หญิงและผู้ชายฝั่งละ 30 ชีวิต ได้ท้าประลองสร้างบ้านแข่งกัน ผู้ชายนั้นคิดว่าตัวเองแข็งแรงจึงตัดไม้ใหญ่มาทำเสาบ้าน และเอาไม้ทั้งท่อนมาเป็นหลังคา ส่วนผู้หญิงนั้นใช้เพียงต้นไม้เล็กๆ เป็นเสาและนำใบไม้มาทำหลังคา ผู้ชายทั้งหลายต่างเฝ้ามองผลงานของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ และมั่นใจเหลือเกินว่าพวกเขาจะชนะการประลอง และได้แต่งงานกับผู้หญิงเหล่านั้น

กระทั่งฤดูฝนเดินทางมาถึง บ้านหลังเล็กและยืดหยุ่นกว่าของผู้หญิงที่มีหลังคาจากหญ้าคา สามารถป้องกันฝนได้เป็นอย่างดี ทำให้พวกเขาได้พักผ่อนอย่างสบายใจ ส่วนบ้านที่แข็งแรงของผู้ชายกลับมีน้ำฝนหยดทะลุหลังคาลงมาในบ้าน ตอนแรกๆ ก็ยังอดทนได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า พวกเขาเริ่มทนไม่ไหว ร่างกายกำยำแข็งแรงเริ่มหนาวสั่นจนต้องสยบให้กับเม็ดฝนเม็ดเล็กๆ คนแล้วคนเล่าวิ่งเข้ามาหลบฝนในบ้านของผู้หญิงจนหมดครบทุกคน

การประลองครั้งนั้นผู้ชายเป็นฝ่ายปราชัยอย่างเป็นเอกฉันท์ แม่หญิงจึงเป็นเจ้าของบ้านตราบจนทุกวันนี้ ผู้ชายจึงแต่งเข้าบ้านผู้หญิง และต้องรออย่างน้อย 3 ปีจึงย้ายออกไปสร้างบ้านของตัวเองกับภรรยาได้ ถ้าวันหนึ่งหากภรรยาที่เป็นเจ้าบ้านวายชนม์ บ้านจะถูกรื้อทั้งหลัง หากเป็นสามี แค่รื้อเตาไฟก็เพียงพอแล้วในฐานะได้เพียงรองแชมป์

ลือ หล่า ธรรมนูญชีวิตชาวปกากะญอ ที่ย้ำเตือนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

เราขานชื่อโลกใบนี้ว่า ‘ห่อโข่ แม่ธรณี ปาจามามา กายา’ หรืออื่นๆ เพื่อระลึกถึงพระคุณของแม่ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ แม่น้ำ แผ่นดิน ที่มอบความรัก ความเมตตาต่อเราอย่างเหนียวแน่นเหมือนเส้นใยที่ยึดใบไม้ให้มั่นคง เช่นเดียวกับป่าดิบชื้นก็ถูกเรียกว่าป่าแม่หญิงที่เกอ เนอ หมื่อ ซึ่งมีความหลายหลาย ชุ่มชื่นตลอดทั้งปี ต่างจากเกอ เนอ พา ป่าผู้ชายที่แห้งแล้งเมื่อถึงหน้าร้อน

พิธีกรรมสำคัญในชุมชนหลายพิธีต้องใช้เหล้า และต้องต้มโดยผู้หญิงเท่านั้น ใช้เหล้าตามท้องตลาดไม่ได้ ไม่เคยมีพ่อบ้านคนไหนกล้าต้มเหล้าพิธี ถ้าวันหนึ่งแม่บ้านเกิดอยากงอนขึ้นมา ไม่ยอมต้มเหล้าสักปี เท่ากับว่าพิธีกรรมบางอย่างจะต้องเป็นหมันไปเลย

ทุกครั้งที่มีการสร้างบ้าน คนหนุ่มและพ่อบ้านจะช่วยกันสร้างบ้าน แม่และพี่สาวจะคอยทำกับข้าว ผู้เป็นแม่จะเป็นคนคอยเสนอความคิดว่าอะไรส่วนไหนของบ้านควรอยู่ตรงไหน เพราะความเป็นแม่เกี่ยวข้องกับตัวบ้านโดยตรง แม่จะรู้ว่าตรงไหนเหมาะสำหรับทอผ้า เก็บเมล็ดพันธ์ุ ตั้งครัวและข้าวของต่างๆ

ลือ หล่า ธรรมนูญชีวิตชาวปกากะญอ ที่ย้ำเตือนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

  นอกจากนี้แม่จะรู้อีกว่ามีแม่ไก่กี่ตัว แต่ละตัวมีลูกอีกกี่ตัว พวกมันนอนตรงไหน แม่รู้จักบ้านและรอบบ้านทุกซอกทุกมุม แม่จึงเป็นแม่ของบ้านที่แท้จริง

ส่วนผู้เป็นพ่อมีหน้าที่เข้าป่าไปหาไม้มาสร้างบ้าน ฝึกฝนการสร้างบ้าน การหาสมุนไพรไว้ใช้ยามเจ็บป่วย การหาอาหารจากป่า ตลอดจนพาฝูงวัวฝูงควายเข้าป่า พ่อจึงมีความรู้มากเรื่องป่าและเส้นทางของภูเขา ผู้เป็นพ่อสำคัญเหมือนพระจันทร์ที่คอยดูแลงานตามฤดู คอยดูแลความเป็นอยู่ในวงรอบที่กว้างออกไป                         

ใบไม้เติบโต เดินทาง และผลัดใบ

ทุกๆ ปีใบไม้จะทำหน้าที่สำคัญหลายครั้ง เช่นช่วงปีใหม่ จะมีการนำใบของ แฆะหล่า หรือ ตองกง มาห่อขนมพื้นบ้านที่เรียกว่า เมตอ ส่วนดอกและลำต้นนั้นของตองกงยังนิยมนำมาทำไม้กวาดเช่นกัน มันจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ต้นไม้กวาด

การทำเมตอเริ่มจากการไปเก็บใบตองกงมาล้างหรือเช็ด แล้วม้วนเป็นทรงกรวยเทข้าวเหนียวที่ผสมถั่วลงไป แล้วพับส่วนที่เหลือปิดปากแล้วมัดด้วยตอก น้ำไปต้มในหม้อสักหนึ่งชั่วโมงก็สุกพอดี และเมตอทรงกรวยก็พร้อมแล้วสำหรับการต้อนรับแขกในโอกาสพิเศษ

นอกจากตองกง ยังมีใบตองสาดที่ใช้ห่อข้าวเช่นเดียวกับใบตองจากกล้วย รักษาความหอมความอร่อยของข้าวไว้ได้มากกว่าถุงพลาสติกหลายเท่า เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ใบไม้เหล่านี้ได้ยังถูกเลือกใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงแม้จะน้อยลงไปก็ตาม

ลือ หล่า ธรรมนูญชีวิตชาวปกากะญอ ที่ย้ำเตือนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

การมีอยู่ของใยและใบ เป็นการอยู่รอดพื้นเพและรากเหง้า แบบแผนชีวิตที่ได้รับการสืบทอดส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สำหรับคนสมัยก่อน ลือ หล่า คือธรรมนูญชีวิตที่จะคอยดูแลชีวิต ครอบครัว ชุมชน จนเกิดเป็นวิถีปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสงบสุข เพราะถ้ามนุษย์คิดว่าตัวเองเล็กและธรรมชาติเป็นสิ่งที่เหนือกว่า เมื่อนั้นมนุษย์จะปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ 

เราสังเกตได้จากวิถีชีวิตคนสมัยก่อนที่สอดคล้อง เลื่อนไหลไปกับที่ต่างกันไป การเพาะปลูกหน้าฝน พักผ่อนหน้าหนาว สร้างบ้านหน้าร้อน ทำให้กลไกของธรรมชาติหมุนไปอย่างอิสระไม่ขัดข้อง

ทุกๆ วันจะมีภาษาใดภาษาหนึ่งตายลง อาจจะเป็นคำพูดหรือความหมาย เพราะเมื่อเด็กไปโรงเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ และถ้าอีก 2 วันที่หยุดเรียนเด็กๆ ไม่ได้ไปสวนกับพ่อแม่ ไม่ได้ขุดดิน ปีนต้นไม้ จับมีด หรือกิจกรรมอื่นที่มีคำศัพท์เฉพาะเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นไปได้มากที่คำเหล่านั้นในภาษาแม่จะถูกหลงลืมไป 

ลือ หล่า ธรรมนูญชีวิตชาวปกากะญอ ที่ย้ำเตือนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ลือ หล่า ธรรมนูญชีวิตชาวปกากะญอ ที่ย้ำเตือนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ลือ หล่า ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่เคยมีวัฒนธรรมใดถูกแช่แข็งได้ ผู้เฒ่าหลายคนเฝ้าดูความเป็นไปของชุมชน บ้างถอนหายใจ บ้างส่ายหัว บ้างบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นไม่เคยเป็นสิ่งใหม่ มันแค่เปลี่ยนรูปร่างเท่านั้นเอง  คนสมัยก่อนเคยไปถึงดวงดาวดวงอื่นมาแล้วเช่นกัน แต่หาใช่การพาเท้าสองข้างลงไปเหยียบสัมผัสดวงดาวอื่นจริงๆ เหมือนนักบินอวกาศ แต่มันคือการเดินทางด้วยจินตนาการ ร้อยเรียงเป็นบทเพลงคิดถึงคนรักที่อยู่แสนไกล การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่ยาวนาน มักมีจินตนาการร่วมของผู้คนที่แน่นแฟ้นและเต็มไปด้วยความศรัทธา ความเปลี่ยนแปลงมีข้อดีอยู่บ้าง ตรงที่มันพูดความจริงกับเราบ่อยๆ ว่าเราต่างต้องร่วงโรยเหมือนใบไม้ที่ผลัดใบ ทิ้งตัวลงดินไปในที่สุดไม่วันใดก็วันหนึ่ง ธรรมนูญนี้เป็นครรลอง เป็นหนทางของโลกใบนี้ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกยาวนาน

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง