บนเบาะแคบๆ ตัวผมกระดอนไปกระดอนมาตามแรงเหวี่ยงของรถย่างเข้าชั่วโมงที่ 16 ตอนนี้เป็นเวลา 2 ทุ่มตรง สองข้างทางมืดสนิทจนมองอะไรแทบไม่เห็น เว้นแต่แสงไฟของรถที่สวนมาเป็นระยะๆ ถนนเส้นนี้คุณภาพไม่ดีนัก แม้จะได้รับขนานนามว่า ‘ไฮเวย์’ ก็ตาม ถนนยังเป็นหลุมเป็นบ่ออยู่มาก ไม่มีไหล่ทาง ไม่มีแผงกั้นรถ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเบื้องล่างคือเหวลึกและกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก ถ้าคนขับรถพลาดแม้แต่วินาทีเดียว นั่นหมายถึงชีวิตของผู้โดยสารทั้งคัน

ผมกำลังเดินทางอยู่บนทางหลวงชื่อดังของโลกทางตอนเหนือของประเทศปากีสถาน ถนนเส้นนี้มีชื่อว่า ‘คาราโครัมไฮเวย์’ (The Karakoram Highway) หรือทางหลวงสายคาราโครัมในประเทศปากีสถาน 

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

รถยนต์จอดสนิทหน้าอาคารแห่งหนึ่ง ผมได้รับการอธิบายจากมัคคุเทศก์ว่า เราจะนั่งรถประมาณ 17 ชั่วโมงบนถนนที่คุณภาพเส้นทางไม่ค่อยดีนัก และบริษัททัวร์ได้จองโรงแรมที่ดีที่สุดของเมืองชีลาส (Chilas) ที่จะแวะพักคืนนี้ไว้แล้ว แต่โรงแรมที่ดีที่สุดก็อยู่ในระดับแค่พอซุกหัวนอนได้ เพราะเราไม่มีทางเลือกมากนักบนเส้นทางสายทรหดสายนี้ 

สมาชิกทุกคนบนรถถูกเรียกไปลงทะเบียนนักท่องเที่ยวทีละคน อัตราความเร็วในการทำงานของคนในประเทศแถบนี้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปราวกับทุกคนมีเวลาเหลือเฟือ เมื่อผมพลิกนาฬิกาดู พบว่าเวลาผ่านไปแล้วเกือบ 1 ชั่วโมง ผมรำพึงในใจว่าเมื่อไหร่จะได้ออกไปจากอาคารหลังนี้เสียทีหนอ จะได้ทิ้งตัวลงบนเตียงนอนเสียที

เส้นทางสู่คาราโครัม

ผมเลือกทางหลวงสายคาราโครัมเป็นทริปฉลองให้ตัวเองหลังจากผมรับปริญญา เพราะผมหลงใหลความแปลกใหม่ และต้องการรู้จักประเทศปากีสถานให้มากขึ้นกว่าสิ่งที่รับรู้จากสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนตะวันตก

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปากีสถานเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียใต้ (อันประกอบด้วยอินเดีย บังคลาเทศ เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา มัลดีฟส์ และปากีสถาน) ที่ผมยังไม่เคยเดินทางไป ผมจึงหมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างมากว่าจะต้องมาผจญภัยในประเทศนี้ให้ได้สักครั้ง

ก่อนหน้าที่ผมจะเริ่มต้นเดินทางบนเส้นทางสายนี้ ผมและคณะทัวร์เดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศปากีสถานแล้ว 3 วัน จึงคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในแถบนี้พอสมควร การเดินทางของเราเริ่มต้นจากการนั่งเครื่องบินของการบินไทยมาลงที่เมืองละฮอร์ (Lahore) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางตะวันออกของปากีสถาน เราอยู่ละฮอร์ 2 คืนก่อนเดินทางต่อมาที่กรุงอิสลามาบัด (Islamabad) เมืองหลวงของประเทศปากีสถานเพื่อพักผ่อนอีกคืนหนึ่ง ก่อนจะโดนปลุกตั้งแต่ตี 3 ของเช้าวันนี้ เพื่อเริ่มต้นผจญภัยไปด้วยกันบนทางหลวงสายคาราโครัม

“เสร็จแล้วค่ะ” มัคคุเทศก์ของเราปลุกทุกคนให้ฟื้นจากภวังค์ ได้เวลาเดินทางต่อเสียที ผมแบกร่างที่อ่อนล้าเต็มทีขึ้นไปนั่งจมอยู่กับเบาะใบเดิมบนรถมินิบัส พาหนะที่เราฝากชีวิตเอาไว้ ผมพอจะเข้าใจอยู่ว่าเพราะเหตุใดหนังสือเดินทางของพวกเราทุกคนต้องได้รับการลงทะเบียน เพราะประเทศปากีสถานเป็นประเทศที่ยังไม่สงบ ขนาดบนเส้นทางที่เรานั่งรถมาวันนี้ ยังต้องมีทหารในเครื่องแบบถืออาวุธขึ้นมานั่งประกบบนรถของเราเป็นช่วงๆ ผมรู้สึกว่าเป็นการเดินทางที่น่าตื่นเต้นพิลึก

รถยนต์แล่นฝ่าหุบเหวและความมืดมาอีกหนึ่งชั่วโมงก่อนจะถึงโรงแรม ผมแปรงฟันและอาบน้ำอย่างรวดเร็ว ก่อนทิ้งตัวลงบนเตียงเพื่อให้จบวันที่ยาวนานนี้ไปเสียที

วิถีคาราโครัม

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

คาราโครัมไฮเวย์หรือทางหลวงสายคาราโครัม เป็นทางหลวงที่ทอดยาวไปบนเทือกเขาคาราโครัม ซึ่งเป็นหนึ่งในเทือกเขาสำคัญตอนกลางของทวีปเอเชีย จัดเป็นเทือกเขาสูงในบริเวณเดียวกันกับเทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาฮินดูกูช และเทือกเขาเทียนชาน เส้นทางสายนี้เริ่มต้นที่เมืองแอบบอตตาบัด (Abbottabad) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมของประเทศปากีสถาน เมืองนี้เคยตกเป็นข่าวดังไปทั่วโลกครั้งหนึ่งในฐานะเมืองที่เป็นที่พำนักสุดท้ายของอาชญากรสงครามชื่อ โอซามา บิน ลาเดน (Osama bin Laden) 

ทางหลวงสายนี้ทอดยาวเป็นระยะทางมากกว่า 900 กิโลเมตรไปถึงพรมแดนระหว่างประเทศปากีสถานและจีน (เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) ตลอดทางที่เราเดินทางไปนั้น จะเห็นแคมป์ก่อสร้างขยายถนนของประเทศจีนอยู่เป็นระยะ หากจีนพัฒนาถนนเส้นนี้สำเร็จ จะสร้างเม็ดเงินที่เป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจีนอย่างมหาศาล

แม้ว่าเส้นทางสายคาราโครัมจะทรหด แต่ก็ถือว่าเป็นเส้นทางที่ทิวทัศน์สองข้างทางสวยที่สุดเส้นหนึ่งของโลก และสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ทัศนียภาพ คือวิถีชีวิตของผู้คนสองข้างทางที่มีให้เห็นไม่ซ้ำแบบ 

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

ประชากรปากีสถานส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ในแต่ละพื้นที่มีแนวทางปฏิบัติตามศาสนบัญญัติแตกต่างกันออกไป บางหมู่บ้านเราแทบไม่พบสุภาพสตรีบนท้องถนนเลย ยกเว้นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เท่านั้น สอบถามจากมัคคุเทศก์ท้องถิ่นได้ความว่า บริเวณนี้ถือแนวทางปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ผู้หญิงต้องอยู่แต่ในบ้าน ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นห้ามออกมา หน้าที่นอกบ้านทั้งหมดตกเป็นของผู้ชาย ตั้งแต่การเลือกซื้อกับข้าวกับปลา ไปจนถึงการเลือกซื้อชุดชั้นในกลับไปให้คุณภรรยาที่บ้าน ผมเห็นผู้ชายไว้เคราสามสี่คนกำลังเลือกซื้อบราลายลูกไม้สีชมพูหวานจ๋อยกับพนักงานที่เป็นผู้ชายเหมือนกัน แล้วก็รู้สึกว่าโลกนี้มีเรื่องน่าสนใจกว่าที่ผมเคยรู้จักมากนัก

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน
แม่น้ำสินธุ เมืองบัตกราม (Batgram) ตอนต้นของทางหลวงสายคาราโครัม

รถแล่นขึ้นบนที่สูงมากขึ้นทุกที ข้างๆ เราคือแม่น้ำสินธุ (Indus River) แม่น้ำสายสำคัญในประวัติศาสตร์ของโลก ต้นกำเนิดของอารยธรรมต่างๆ ในเอเชียใต้ล้วนเกิดขึ้นบนที่ราบลุ่มแม่น้ำสายนี้ ต้นไม้ที่เขียวขจีสองข้างทางเริ่มหายไป กลับกลายเป็นความแห้งแล้งเข้ามาแทนที่ ภูเขากลายเป็นหินโล้นๆ ไม่มีต้นไม้อยู่เลย ผมจำได้จากหนังสือเรียนวิชาภูมิศาสตร์ที่ผมใช้สอนนักเรียนอยู่เป็นประจำว่า ในพื้นที่สูงมากกว่า 3,000 – 3,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไปจะไม่ค่อยพบเจอต้นไม้ เนื่องจากความชื้นในอากาศน้อยเกินกว่าที่ต้นไม้จะดำรงชีวิตอยู่ได้

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

รถของเราจอดแวะพักที่ไฮไลต์สำคัญบนเส้นทางสายนี้ นั่นคือจุดบรรจบของเทือกเขา 3 เทือกที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในโลก คือเทือกเขาฮินดูกูช เทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาคาราโครัม และยังเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สาย คือแม่น้ำกิลกิต (Gilgit River) และแม่น้ำสินธุ

ผมรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กจริงๆ ก็จังหวะนั้น ธรรมชาติบนโลกของเราช่างยิ่งใหญ่เสียนี่กระไร

เส้นทางสู่ทะเลสาบพันเดอร์

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

เราแวะพักกันอีกคืนหนึ่ง ก่อนที่จะเดินทางสู่ทะเลพันเดอร์ (Phundur Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดไม่ใหญ่นักแต่ว่าสวยงาม ทะเลสาบแห่งนี้มีน้ำสีเข้มสนิท รายล้อมไปด้วยต้นไม้นานาชนิดแลดูเงียบสงบ แต่ต้นไม้ที่มีมากที่สุดเห็นจะเป็นต้นปอปลาร์ (Poplar Tree) ลำต้นสูงชะลูดตรง เนื่องจากเราเดินทางมาในเดือนตุลาคมอันเป็นฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ใบของต้นปอปลาร์จึงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้ม และแดง แลดูเพลินตามากเป็นพิเศษ

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

บนเส้นทางสายนี้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ได้รับการแกะสลักไว้บนหน้าผา ชื่อว่า Ghagar Buddha เป็นพระพุทธรูปในศิลปะสมัยหลังคุปตะ (หลังศตวรรษที่ 7) ผมกลับมาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ความว่า บริเวณทางตอนเหนือของประเทศปากีสถานเคยเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนานิกายมหายานมาก่อน เป็นศูนย์กลางการแปลคัมภีร์ภาษาสันสกฤตหลายเล่ม และยังปรากฏฐานสถูปเจดีย์หลายแห่งอยู่ท่ามกลางป่ารกทึบบนเส้นทางสายนี้ 

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

ในอดีตพระพุทธศาสนาคงมีความสัมพันธ์ไม่น้อยกับแคว้นคันธาระที่อยู่ทางตอนกลางของปากีสถาน และอาณาจักรทิเบตบนเทือกเขาหิมาลัย จนพระพุทธศาสนาได้เสื่อมลง ทำให้พื้นที่ทั้งหมดตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอิสลาม

ผมพบกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณสัก 17 – 18 ปีได้ ใบหน้าคล้ำแดด เดินอุ้มเด็กคนหนึ่งมาอ้อมแขน เด็กน้อยดูสนใจกล้องถ่ายรูปของผม ผมจึงอาศัยมัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้ช่วยอธิบายเรื่องกล้อง โดยแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาอูรดูร์ (Urdu) และถ่ายรูปกับเขารูปหนึ่ง 

ผมได้รับข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากเราขึ้นรถกันมาแล้วว่า เด็กผู้หญิงที่นี่บางคนโดนบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุ 12 – 13 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นเด็กอายุ 17 – 18 มีลูกโตถึงวัยที่ควรจะเข้าโรงเรียนอนุบาลได้ มัคคุเทศก์ท้องถิ่นแสดงความเห็นว่าเด็กโดนบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุน้อยเกินไป ไม่สมกับวุฒิภาวะ และเด็กควรได้รับการศึกษาที่ดีมากกว่า แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อพ่อแม่ไม่ได้ให้ความสำคัญ และเป็นกรอบปฏิบัติของวัฒนธรรมที่ต้องเป็นเช่นนั้น 

มัคคุเทศก์เสริมว่า ยังดีที่ผู้หญิงบนเทือกเขาคาราโครัมได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านได้ ไม่เหมือนกับผู้หญิงในเมืองข้างล่างที่จะต้องอยู่แต่ในบ้านอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านศาสนาอิสลามพยายามส่งเสริมสิทธิสตรีให้มากขึ้น ผมได้เห็นการรวมกลุ่มของแม่บ้านเพื่อทำกิจกรรมจิตอาสา เก็บขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มาพบปะกันเพื่อทำประโยชน์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้หญิงเหล่านั้นว่า แม้ไม่ได้มีบทบาทในสังคมวัฒนธรรมนี้มากนัก แต่ด้วยศักยภาพทั้งหมดที่มี ผู้หญิงก็เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ 

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน
ทะเลสาบพันเดอร์

ระหว่างขากลับจากทะเลสาบพันเดอร์ รถของเรากระแทกร่างเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่วิ่งตัดหน้ารถบริเวณทางลาดชันลงเขา เคราะห์ดีที่กระดูกเด็กคนนั้นไม่หัก มีการถามกันบนรถว่าใครเป็นบุคลากรทางการแพทย์บ้าง ปรากฏว่ามีคุณหมอท่านหนึ่งอายุ 80 ปี แต่ยังแข็งแรง อาสาลงไปช่วยเป็นคนแรก ผมเลยอาสาลงไปบ้าง เผื่อว่าจะช่วยอะไรคุณหมอได้ คุณพ่อของเด็กชายวิ่งออกมาดูลูกด้วยความเป็นห่วง แต่เมื่อเห็นคนไทยพยายามปฐมพยาบาลลูกชายอย่างเต็มที่ก็แสดงความขอบคุณด้วยความซาบซึ้งใจ เมื่อเด็กปลอดภัยในเบื้องต้นแล้ว พวกเราทุกคนบนรถก็โล่งใจ

ผมดีใจที่เห็นเด็กคนนั้นปลอดภัย และดีใจที่อย่างน้อยก็ได้หยิบจับช่วยเหลือคุณหมอบ้าง

ความสุขบนเหตุการณ์ไม่คาดฝันมีหน้าตาเช่นนี้เอง

ช่องเขาคุนจีราบ

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

ทะเลสาบ Attabad Lake ระหว่างทางไปช่องเขาคุนจีราบ (Khunjerab Pass)

เช้าวันรุ่งขึ้นเราเดินทางผ่านเมืองกิลกิต (Gilgit) เมืองเอกของเขตการปกครองกิลกิต-บัลติสถาน (Gilgit -Baltistan) เป็นพื้นที่ที่ทางหลวงสายคาราโครัมพาดผ่านเป็นส่วนใหญ่ แวะพักระหว่างทางอีกหนึ่งคืน เราก็มุ่งหน้าสู่ช่องเขาคุนจีราบ (Khunjerab Pass) เป็นปลายทางของทางหลวงสายคาราโครัมและเป็นพรมแดนระหว่างประเทศปากีสถาน-จีน ช่องเขาแห่งนี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 4,693 เมตร บนนั้นมีออกซิเจนเบาบาง เราจึงไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่บนนั้นนานนัก

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน
ช่องเขาคุนจีราบ 
พรมแดนระหว่างประเทศปากีสถาน-จีน
พรมแดนระหว่างประเทศปากีสถาน-จีน 

การเดินทางในแต่ละวันใช้เวลาอยู่บนรถยาวนาน 6 หรือ 7 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ และหาความสะดวกสบายแทบไม่ได้ โรงแรมก็มีสภาพอย่างที่ผมเล่าไป ส่วนอาหารท้องถิ่นก็เป็นเมนูซ้ำๆ ทว่าการเดินทางครั้งนี้ก็ถือว่าเพลินใจมาก เพราะผู้ร่วมทางของเรามีคุณภาพอย่างยิ่ง คณะของผมมีทั้งหมด 11 คน เป็นครูไปแล้ว 6 คน (รวมทั้งตัวผมด้วย) ผมเป็นน้องเล็กสุด (ตอนนั้นผมอายุ 24 ปี) และมีผู้สูงอายุคือคุณหมอที่อายุ 80 ปี แม้ว่าวัยต่างกันมาก ด้วยความที่เป็นคนชอบเดินทางเหมือนกัน (ถ้าไม่ชอบคงไม่เลือกเดินทางบนเส้นทางสายนี้) จึงละลายพฤติกรรมเข้ากันได้ไม่ยาก

ธารน้ำแข็งพาสสุ (Passu Glacier)
ธารน้ำแข็งพาสสุ (Passu Glacier)

คืนนั้นเราพักโรงแรมเล็กๆ พอให้ซุกหัวนอนได้ (อีกแล้ว) ในเมืองพาสสุ (Passu) ลมหุบเขาพัดแรงมากเป็นพิเศษ ห้องพักในโรงแรมที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ก็ยังไม่ได้มาตรฐาน บางห้องพิเศษหน่อยมีหน้าต่าง 4 บาน ห้องนั้นจึงหนาวสะท้านเป็นอันมาก ส่วนผมได้ห้องพักเล็กหน่อย มีหน้าต่างแค่บานเดียวจึงค่อยยังชั่ว เพราะผมไปเตี๊ยมกับพี่ไกด์คนไทย (ซึ่งผมรู้จักไกด์ท่านนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว) ว่าให้ถือว่าผมเป็นลูกค้าที่สำคัญน้อยที่สุด มีอะไรที่ดีๆ ก็ยกให้ผู้ร่วมทริปท่านอื่นไปก่อน แล้วค่อยเหลือของที่ดีน้อยหน่อยให้ผมก็ได้ ไม่ว่ากัน การเดินทางบนเส้นทางแบบนี้ต้องช่วยเหลือกันให้มากๆ พี่ไกด์จึงจัดห้องเล็กแคบหน้าต่างน้อยที่สุดมาให้ผม ซึ่งผมถูกใจมากในคืนนั้น

ด้วยความที่เดินทางร่วมกันมาถึง 9 วันแล้ว เสมือนสนิทสนมกันเต็มที่ ในคืนนั้นเราจึงต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบเด็กหอกินกันทั้งวง แถมด้วยอาหารอื่นๆ จากโรงแรม และมีของหวานเป็นฟักทองแกงบวดที่ทางบริษัททัวร์อุตส่าห์ห่อฟักทองและน้ำตาลปึกขึ้นมาให้เราปรุงรับประทานจากเมืองไทย

ลมหนาวจากที่ราบสูงคุนจีราบพัดลงมาปกคลุมทั่วทั้งหุบเขา แต่คืนนั้นกลับเป็นคืนที่แสนจะอบอุ่นใจของพวกเรา ในฐานะที่เดินทางร่วมกันบนเส้นทางสายคาราโครัม

มรดกของหุบเขาฮุนซา

หุบเขาฮุนซา (Hunza Valley)

ไฮไลต์สำคัญบนทางหลวงสายคาราโครัม นั่นคือหุบเขาฮุนซา (Hunza Valley) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทือกเขาที่ทัศนียภาพสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หุบเขารูปตัววี (V-shaped valley) มีสายธารใสสะอาดไหลอ้อยอิ่ง เมื่อแสงแดดตกกระทบลงมา ประกายน้ำจะผสานเข้ากับประกายแดดเป็นแสงระยิบระยับงามจับตา และเมื่อต้นปอปลาร์พากันผลัดใบเปลี่ยนสีเป็นโทนแดงเหลือง ก็ยิ่งขับเน้นความมีชีวิตชีวาของหุบเขาแห่งนี้ให้เปล่งปลั่งงดงามมากขึ้นไปอีก

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน
10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

ผู้คนในหุบเขาฮุนซาอายุยืน แม้ว่าสาธารณูปโภคจะไม่สะดวกนัก สัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์แทบจะใช้งานไม่ได้ แต่เราก็ยังเห็นรอยแย้มแต้มยิ้มประพิมพ์ประพายอยู่บนใบหน้าของชาวฮุนซา รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนหุบเขาแห่งนี้ด้วย

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

หุบเขาฮุนซามีความสำคัญมายาวนานนับพันปี ในสมัยโบราณหุบเขาแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมที่เชื่อมร้อยอารยธรรมจีนเข้ากับอารยธรรมอื่นๆ ของโลก พื้นที่แถบนี้คลาคล่ำไปด้วยกองคาราวานสินค้า พ่อค้าวาณิชหลากหลายเชื้อชาติได้อาศัยเส้นทางบนเทือกเขาคาราโครัม ลำเลียงสินค้าแลกเปลี่ยนระหว่างอาณาจักรจีนและดินแดนชมพูทวีป บนถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองกิลกิตเข้าสู่หุบเขาฮุนซา เราสังเกตเห็นร่องรอยเส้นทางการค้าในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี ชวนให้จินตนาการได้ไม่ยากว่า ในอดีต พื้นที่บริเวณนี้จะมีบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่คึกคักมากน้อยเพียงใด

เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้วในช่วงที่พระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ยังรุ่งเรือง ผู้คนในหุบเขาฮุนซานับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานควบคู่ไปกับลัทธิบอน (Bon) ซึ่งเป็นความเชื่อท้องถิ่นที่แพร่หลายอยู่ในทิเบต และส่งอิทธิพลมายังดินแดนข้างเคียงด้วย (ในวันนี้ทิเบตก็ยังมีคนนับถือลัทธินี้อยู่เช่นกัน) เมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมอิสลามก็ได้เจริญรุ่งเรืองเข้ามาแทนที่ ผู้คนในหุบเขาแห่งนี้จึงได้เปลี่ยนไปเป็นชาวมุสลิมทั้งหมด 

ในช่วงศตวรรษที่ 13 ฮุนซามีสถานะเป็นนครรัฐ (Princely State of Hunza) มีเจ้าผู้ปกครองเรียกว่ามีร์ (Mir) และมีเจ้าผู้ปกครองคงความเป็นเอกราชเรื่อยมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 900 ปี จนกระทั่งอังกฤษเข้ามายึดครองดินแดนเอเชียใต้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีร์ท่านสุดท้ายของนครรัฐฮุนซาพระนามว่าซัฟดาร์ ข่าน (Safdar Khan) จึงเสด็จลี้ภัยทางการเมืองไปประทับอยู่ที่เมืองคัชการ์ในเขตการปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน หลังจากที่ปากีสถานได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้วไม่นานนัก พื้นที่ฮุนซาจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถานโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน ค.ศ.1974

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน
ป้อมบัลติต
10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน
ป้อมอัลติต

ร่องรอยความยิ่งใหญ่ของนครรัฐฮุนซายังปรากฏอยู่บนป้อมปราการสองแห่งของเมือง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของมีร์แห่งฮุนซาด้วย คือป้อมบัลติต (Baltit Fort) และป้อมอัลติต (Altit Fort) ทัศนียภาพเมื่อมองจากป้อมทั้งสองแห่งลงมานั้นสวยงาม นักท่องเที่ยวส่วนมากจะพักอยู่ในหุบเขาแห่งนี้ 2 – 3 คืน และจะต้องขึ้นไปชื่นชมทัศนียภาพอันน่าตื่นตะลึงของหุบเขาแห่งนี้จากบนป้อมทั้งสองกันแทบทุกคน

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

คณะของเรามีโอกาสเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขต Upper Hunza ที่นั่นมีนักเรียนอยู่หลายสิบคน มีลักษณะคล้ายกับโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างหนาวเย็น จึงมีนักเรียนบางชั้นเรียนออกมาเรียนกลางแจ้ง ผมได้รับเชิญอย่างกะทันหันจากคุณครูผู้ดูแลโรงเรียนให้เข้าไปเล่าให้นักเรียนชั้นประถมฟังว่า ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศปากีสถานอย่างไร ผมต้องพยายามนึกเรื่องราวเท่าที่ผมทราบและทำให้เด็กประถมเข้าใจไม่ยาก ผมเลือกเล่าทั้งหมด 2 เรื่อง นั่นคือประเทศไทยเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา 

เรามีพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ ซึ่งคนไทยหลายคนไม่ทราบว่าพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้นั้นมีต้นกำเนิดอยู่ในหุบเขาสวัต (Swat Valley) ของประเทศปากีสถาน และพระมหากษัตริย์ของไทยรัชกาลก่อน (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9) เคยเสด็จฯ เยือนประเทศปากีสถาน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อ ค.ศ. 1962 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนในวันนั้นผมจัดให้อยู่ในเกณฑ์ดี นักเรียนสนใจฟังเรื่องที่ผมเล่า (โดยมีคุณครูช่วยแปลให้) บรรยากาศอบอวลไปด้วยมิตรภาพอย่างไม่น่าเชื่อ

ด้วยมนต์เสน่ห์ของเทือกเขาแห่งนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในหุบเขามากขึ้นทุกที ผลกระทบใหญ่หลวงไม่ใช่เรื่องความสูญหายทางวัฒนธรรม แต่กลับกลายเป็นเรื่องขยะที่เพิ่มประมาณอย่างรวดเร็วและยากจะกำจัด เราจึงเห็นขยะกองสุมอยู่ตามที่ต่างๆ ได้ทั่วไป ลดทอนความงดงามที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ขึ้นอย่างน่าเสียดาย

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

มัคคุเทศก์ท้องถิ่นของเราเป็นชาวฮุนซา ที่บ้านของเขาปลูกต้นแอปริคอต ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของที่นี่ไว้เป็นไร่ เราเห็นเขาก้มลงเก็บเศษขยะที่อยู่บนพื้นบ่อยครั้ง เขาบอกว่าถ้าคนฮุนซาเองไม่ช่วยกันรักษาความสะอาดของพื้นที่นี้ไว้แล้ว ธรรมชาติจะสร้างสรรค์หุบเขาแห่งนี้ไว้สวยงามขนาดไหนก็คงไม่มีความหมาย

เราพยักหน้าเห็นด้วย และเริ่มก้มลงเก็บเศษขยะบ้าง

คุณค่าของทางหลวงสายคาราโครัม

วันเวลาบนทางหลวงสายทรหดนี้หมดลงอย่างรวดเร็ว ระหว่างทางที่ผมนั่งอยู่บนรถกลับสู่กรุงอิสลามาบัด (ใช้เวลา 16 – 17 ชั่วโมงเหมือนกับขามา) ผมนั่งนึกย้อนไปว่าการเดินทางครั้งนี้ให้แง่คิดอะไรแก่ผมบ้าง แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การเดินทางที่สะดวกสบาย พรั่งพร้อมไปด้วยสาธารณูปโภคครบครัน และเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผมจัดว่านี่เป็นการเดินทางที่ใช้งบประมาณสูงทีเดียว แถมยังต้องพบกับอุปสรรคมากมายระหว่างทาง

ผมพบว่ามิตรภาพระหว่างทางเป็นเรื่องสำคัญมาก โชคดีที่คณะของเราประกอบไปด้วยผู้คนที่มีอัธยาศัยไมตรีดี เราไม่ได้ต้องการสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตมากนัก เพราะเราหันหน้าพูดคุยกันแทบจะตลอดเวลา เราพร้อมที่จะเจอกับอุปสรรคและรับมือกับข้อจำกัดระหว่างทางด้วยรอยยิ้ม และเปลี่ยนเรื่องเคร่งเครียดให้กลายเป็นเรื่องตลก เราแบ่งอาหารกันกิน มีความสุขกับผลไม้จากสวนของชาวบ้าน โอภาปราศรัยกับคนในพื้นที่ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในวันที่บางสิ่งบางอย่างไม่สมบูรณ์

10 วันทรหด ผ่าหุบเหวบนทางหลวงสายคาราโครัม ดูวิวที่สวยที่สุดของโลกที่ประเทศปากีสถาน

ผมพบว่าคณะของเราโชคดีจนถึงวินาทีสุดท้าย เมื่อทราบข่าวว่ารถของคณะทัวร์ชาวไทยอีกคณะหนึ่งต้องติดค้างอยู่บนภูเขาข้ามคืน ทั้งๆ ที่วิ่งตามหลังเรามาไม่กี่นาที เพราะในช่วงเวลาสั้นๆ ที่คลาดกันนั้นได้เกิดหินถล่มลงมาปิดทาง รถจึงข้ามผ่านกองหินไปไม่ได้ ต้องรอให้รถจากเมืองหลวงขึ้นมารับนักท่องเที่ยวกลับลงไปสู่ความเจริญเบื้องล่าง และคณะนั้นก็ต้องแบกสัมภาระข้ามกองหินกันอย่างทุลักทุเล

ความทรงจำของการเดินทางบนทางหลวงสายคาราโครัมของผมจึงกลายเป็นภาพความทรงจำที่งดงาม ปกติแล้วการเดินทางเป็นหมู่คณะ เราอาจจะไม่รู้สึกผูกพันกันมากนักเมื่อจบทริป แต่สำหรับการเดินทางครั้งนี้แตกต่างออกไป ผมยังรู้สึกอบอุ่นใจเสมอเมื่อได้นึกถึงการเดินทางครั้งนี้

และอยากจะกลับไปกอดเทือกเขาคาราโครัมอีกสักครั้งหนึ่งให้ชื่นใจ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐพงศ์​ ลาภบุญทรัพย์

วิทยากรและครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาฯ ผู้รักการเดินทางเพื่อรู้จักตนเองและรู้จักโลกเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางไปแล้วครบทุกจังหวัดในประเทศไทย และกว่า 50 ประเทศทั่วโลก