24 กันยายน 2022
7 K

เมื่อนานมาแล้วในสมัยที่เส้นทางสายไหมโบราณยังรุ่งเรือง มีเส้นทางแห่งหนึ่งเชื่อมโยงดินแดนที่มีนามว่า ‘คันธาระ’ ศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในชมพูทวีปเข้ากับจักรวรรดิจีนโบราณ เหล่านักเดินทางที่เดินเท้าผ่านเส้นทางนี้ ล้วนจดจําความยากลําบากของสภาพภูมิประเทศ ความงดงามของธรรมชาติ ตื่นตากับการเดินทางไปสู่ดินแดนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติโดยสิ้นเชิง

การติดต่อกันระหว่างสองดินแดนถูกทําให้ห่างไกลกันโดยธรรมชาติ จําเป็นต้องอาศัยเส้นทางตัดผ่านกลุ่มเทือกเขาที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายช่วงอายุคนผ่านไป กาลเวลาล้วนเปลี่ยนแปลงสถานะของดินแดนต่าง ๆ ลักษณะผู้คน รวมถึงบริบทการเมืองโลกที่เข้าสู่ยุคของการเกิดรัฐชาติและพัฒนาในรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เส้นทางแห่งนี้ยังคงธํารงสถานะพื้นฐานเดิมของตนในการเป็นประตูเชื่อมสองดินแดน มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันระหว่างปากีสถานและจีน ภายใต้ ‘คาราโครัม ไฮเวย์ (Karakoram Highway)’

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway

สัมผัสแรกของปากีสถาน ประวัติศาสตร์และอารยธรรม จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

การเดินทางของผมเริ่มต้นในเวลาเช้าตรู่ ท่ามกลางความวุ่นวายของกรุงอิสลามาบัด (Islamabad) เมืองหลวงและศูนย์กลางการปกครองของประเทศปากีสถาน ปัจจุบันปากีสถานเป็นประเทศขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้ เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 200 ล้านคน เป็นดินแดนที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภายใต้ความเจริญของอิสลามาบัดซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่นั้น มีประวัติศาสตร์ที่เลือนหายไปตามกาลเวลาซ่อนอยู่ 

กว่า 1,000 ปีก่อนหน้า พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถานรวมถึงกรุงอิสลามาบัด เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโบราณที่ได้รับการขนานนามว่า ‘คันธาระ (Gandhara)’ ดินแดนที่เปรียบเหมือนจุดตัดของอารยธรรมอินเดีย เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง เป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา

แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไป ศาสนาอิสลามได้กําเนิดขึ้นและแผ่ขยายเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันนําไปสู่วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของประเทศปากีสถานที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักในปัจจุบัน 

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
มัสยิดไฟซอล (Faisal Mosque) หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงอิสลามาบัด
สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
ร่องรอยพุทธศาสนาที่หลงเหลือในปากีสถาน พบระหว่างเส้นทางคาราโครัม ไฮเวย์

แม้กาลเวลาผ่านไป แต่มรดกที่คงเหลือจากตําแหน่งที่ตั้งของคันธาระยังคงประจักษ์ในรูปแบบของเส้นทางที่มีความสําคัญต่อการค้าขาย ปัจจุบันเส้นทางต่าง ๆ สร้างขึ้นในรูปแบบทางหลวง เช่นเดียวกับเส้นทางที่ผมจะเดินทางในครั้งนี้ การเดินทางตามเส้นทางคาราโครัมวันแรกของผม มีเป้าหมายสิ้นสุดที่เมือง ชีลาส (Chilas) ประตูสู่แคว้นกิลกิต-บัลติสถาน (Gilgit-Baltistan) เป็นเขตการปกครองทางตอนเหนือ และเป็นทางผ่านหลักของเส้นทางคาราโครัม ไฮเวย์ ฝั่งประเทศปากีสถาน

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
หุบเขาเขียวขจีของจังหวัด Khyber Pakhtunkhwa และแม่นํ้าสินธุ

หลายชั่วโมงหลังจากออกเดินทางจากอิสลามาบัด รถขับเข้าสู่เขตหุบเขาของจังหวัด Khyber Pakhtunkhwa ภูมิประเทศรอบข้างเปลี่ยนจากทุ่งหญ้าแห้งแล้งสู่หุบเขาสีเขียว เริ่มพบเห็นภูเขาหิมะมาทักทายเป็นครั้งแรก รถขับโค้งไปตามภูเขาหิมาลัย ทางหลวงที่ขนานนามว่าไฮเวย์นั้นเริ่มแคบลง เหลือเพียงแค่ความกว้างของรถสองคันและคดเคี้ยวตามลักษณะภูมิประเทศ เบื้องล่างหุบเขาสูงปรากฏแม่นํ้าสายหนึ่งซึ่งคดเคี้ยวควบคู่ไปกับเส้นทางคาราโครัมไฮเวย์ นามว่า ‘สินธุ’ สายนํ้าแห่งนี้เปรียบเหมือนสายนํ้าที่หล่อเลี้ยงชาวปากีสถาน เป็นบ่อเกิดของอารยธรรมในภูมิภาคเอเชียใต้ และแม่นํ้าสายนี้เองก็มีต้นกําเนิดจากเหล่าเทือกเขาสูงที่ผมจะเดินทางผ่านในอีกหลายวันหลังจากนี้ 

รถจอดแวะพักในเมืองเบชาม (Besham) อยู่ในเขตจังหวัด Khyber Pakhtunkhwa ภายในเมืองมีชุมชนและตลาด มีผู้คนออกมาค้าขายและซื้อของอย่างคึกคักถึงแม้จะเป็นช่วงถือศีลอด ด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาของคนในพื้นที่แห่งนี้ ผู้หญิงจะไม่ออกมาภายนอกบ้าน จึงเป็นสาเหตุให้ผมไม่พบเห็นผู้หญิงมาจับจ่ายซื้อของในตลาด และผมทราบจากไกด์ท้องถิ่นว่า ในบางพื้นที่ของปากีสถาน หน้าที่ทุกอย่างในการออกมาข้างนอกเป็นของเพศชาย 

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
ความคึกคักของตลาดที่ใจกลางหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลจากเบชาม

ณ เมืองแห่งนี้ ผมพบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางแวะมาเที่ยวชมตลาดในเมือง พวกเขาถูกประกบด้วยเจ้าหน้าที่ตํารวจตลอดการเดินเที่ยวชมเมืองเพื่อความปลอดภัย 

ทั่วโลกรู้จักและจดจําประเทศปากีสถานเรื่องความรุนแรงผ่านข่าว ซึ่งนําเสนอเหตุการณ์ความไม่สงบและการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นในปากีสถานสูงขึ้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผลพวงของภาวะสงครามในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างอัฟกานิสถาน ก่อให้เกิดการขยายวงกว้างของความรุนแรง รวมถึงการมีอยู่ของกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนและกลุ่มที่มีความคิดสุดโต่งทางศาสนาภายในประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่นี่ ล้วนส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศและกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีการจัดการและควบคุม ส่งผลให้สถิติการก่อการร้ายในประเทศลดลงอย่างมาก นักท่องเที่ยวจึงท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยในบางบริเวณ รวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของเส้นทางคาราโครัม ไฮเวย์ ด้วย

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
รอยยิ้มที่เป็นมิตรของชาวปากีสถาน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัด Khyber Pakhtunkhwa

เมื่อออกจากเบชาม เราต้องเดินทางไกลอีกราว 8 ชั่วโมงเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ลักษณะภูมิประเทศรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง จากหุบเขาเขียวขจีเริ่มกลายเป็นภูเขาหินสีนํ้าตาล แม่นํ้าสินธุยังคงตีคู่ขนานไปด้วยกัน เส้นทางคุณภาพแย่ลง ในส่วนของคาราโครัมไฮเวย์ ผมพบกับถนนที่เสียหายจากดินถล่มหลายจุด ถ้าโชคร้ายเจอดินถล่ม (ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง) จะทําให้การเดินทางล่าช้าไปหลายชั่วโมง แถมถนนยังขรุขระ คดเคี้ยว คับแคบมากขึ้น ทําให้การเดินทางนั้นยาวนานจนเหมือนไร้การสิ้นสุด

ดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า ร่างกายที่อดนอนของผมเหนื่อยล้าเต็มทีจากการเดินทางไกล รถกระเด็นไปมาตามสภาพถนน การหักโค้งซํ้าแล้วซํ้าเล่า ประกอบเสียงเพลงท้องถิ่นที่บรรเลงเป็นจังหวะเดียวกัน ทําให้ผมรู้สึกราวกับถูกมนตราของเส้นทางแห่งนี้สะกดใจไว้ตั้งแต่วันแรกที่มาเยือน แต่แล้วในที่สุดผมก็เดินทางเข้าสู่ชีลาส ในแคว้นกิลกิต-บัลติสถาน หลังจากเดินทางอย่างยาวนานกว่า 15 ชั่วโมง เพื่อพักผ่อนและเดินทางต่อในวันถัดไป

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway

มุ่งสู่ดินแดนในฝัน มองขุนเขาเคล้าการเมืองผ่านเส้นทาง 

เริ่มต้นเช้าวันใหม่ วันนี้ผมเดินทางต่อตามเส้นทางคาราโครัม ไฮเวย์ เข้าไปในใจกลางเทือกเขาคาราโครัม มีจุดหมายที่หุบเขาฮุนซา (Hunza Valley) รถเคลื่อนลัดเลาะตามแนวภูเขาทรายควบคู่กับแม่นํ้าสินธุ 

“นั่นคือเส้นทางสายไหม” คนขับรถชี้ให้ผมดูเส้นทางเดินเท้า ณ ฝั่งตรงข้ามของแม่นํ้า ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ยุคโบราณก่อนจะมีไฮเวย์สําหรับรถยนต์ 

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
ขบวนรถบรรทุกสีฉูดฉาด สัญจรไปมาบนคาราโครัม ไฮเวย์

ปัจจุบันคาราโครัมไฮเวย์ เป็นทางหลวงที่เชื่อมระหว่างเมืองแอบบอตาบาด (Abbotabad) ประเทศปากีสถาน กับเมืองคัชการ์ (Kashgar) ประเทศจีน ทั้งสองชาติร่วมมือกันสร้างทางหลวงแห่งนี้ขึ้น 

นอกเหนือจากการเป็นเส้นทางค้าขายซึ่งเจริญรอยตามเหล่าเส้นทางเดินเท้ามีมาก่อนหน้านับพันปี คาราโครัม ไฮเวย์ เปรียบเหมือนสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปากีสถานกับจีน ซึ่งมีความแน่นแฟ้นอย่างมาก ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้เป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ เพราะหากมองในแผนที่โลก จะพบว่าทั้งสองชาติมีพรมแดนติดต่อกันเพียงเล็กน้อย เป็นพรมแดนบริเวณเทือกเขาสูงที่แทบไม่มีมนุษย์อาศัย มีวัฒนธรรมและเชื้อชาติที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

แต่เมื่อมองในเชิงภูมิรัฐศาสตร์รวมถึงประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันของภูมิภาคเอเชียใต้ ทําให้เกิดการอธิบายหนึ่งในปัจจัยสําคัญของความสัมพันธ์นี้ โดยทั้งประเทศปากีสถานและจีนต่างมีพรมแดนติดต่อกับประเทศอินเดีย ทั้งสองชาติล้วนมีกรณีพิพาทกับประเทศอินเดียในเรื่องดินแดนมายาวนาน 

การพยายามก่อสร้างทางหลวงแห่งนี้เพื่อเชื่อมโยงปากีสถานและจีนขึ้นท่ามกลางความยากลําบากที่ธรรมชาติขวางไว้ จึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการให้ความสําคัญในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เช่นเดียวกับการมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้น ทั้งปากีสถานและจีนต่างมองเห็นประโยชน์ของการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกันในฐานะพันธมิตร

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
ป้ายสัญลักษณ์มิตรภาพระหว่างประเทศปากีสถานและจีน พบได้ตลอดเส้นทางคาราโครัม ไฮเวย์

ปัจจุบันจีนมองเห็นโอกาสในการเชื่อมโยงโลกผ่านเส้นทางสายไหมใหม่ หรือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt-Road Initiative) ซึ่งในปากีสถานนั้นเกิดขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือ China–Pakistan Economic Corridor (CPEC) ส่งผลให้ในอนาคต นอกเหนือจากเส้นทางแห่งนี้ ปากีสถานจะได้รับโครงการหลายโครงการที่สร้างขึ้นโดยทุนจีน ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือนํ้าลึก เขื่อน โรงไฟฟ้า จนถึงทางรถไฟ ซึ่งที่สุดแล้วอภิมหาโครงการเหล่านี้จะประสบความสําเร็จและนําพาความเจริญรุ่งเรืองสู่ประเทศ อีกทั้งประชาชนชาวปากีสถานจะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงหรือไม่ ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
ความยิ่งใหญ่ของยอดเขา Nanga Parbat (8,126 เมตร) ปรากฏขึ้น

ภายใต้ฉากการเมืองระหว่างประเทศ ทางหลวงแห่งนี้ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นเส้นทางที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวมากมาย

ทันใดนั้น ยอดเขา Nanga Parbat ยอดเขาที่สูงอันดับ 9 ของโลกก็เผยโฉมความยิ่งใหญ่ออกมา นับเป็นภูเขาสูงลูกแรกที่ต้อนรับผู้เดินทางมาเยือนเส้นทางแห่งนี้ หลังจากทักทายยอดขุนเขาลูกแรก รถหยุดตรงจุดชมวิวแห่งหนึ่ง สถานที่แห่งนี้เป็นจุดที่แนวเทือกเขาที่สูงที่สุดของโลกสามแห่งมาบรรจบกัน ‘ฮินดูกุช’ ‘คาราโครัม’ และ ‘หิมาลัย’ ชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นที่รู้จักของเหล่าผู้หลงใหลภูเขา และปากีสถานก็เป็นเหมือนบ้านของยอดขุนเขาเหล่านี้ 

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
จุดเชื่อมต่อของสามเทือกเขา ฮินดูกุช คาราโครัม และหิมาลัย (จากซ้ายไปขวา) 

เดินทางต่อไปตามคาราโครัม ไฮเวย์ ระดับความสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไปสู่เขตเทือกเขาสูง ทิวทัศน์สองข้างทางนั้นยิ่งใหญ่และงดงามเกินกว่าคําบรรยาย เป็นเทือกเขาสูงเหล่านี้เองเป็นที่มาของชื่อทางหลวงแห่งนี้ คําว่าคาราโครัม ตั้งมาจาก ‘เทือกเขาคาราโครัม’ แนวเทือกเขาที่เป็นที่ตั้งของเทือกเขาที่สูงที่สุดอันดับสองของโลกอย่าง K2 ในการเดินทางตามเส้นทางวันนี้ ยอดเขามีความสูงไม่ตํ่ากว่า 7,000 เมตร เผยความงดงามให้ผมเห็นตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น Rakaposhi Peak, Diran Peak, Ultar Sar และยอดเขาสูงอื่น ๆ ลูกแล้วลูกเล่า บ้างก็มีชื่อเสียง บ้างก็เป็นภูเขาไร้นาม 

“มันช่างเป็นความทรงจําที่มีค่าเหลือเกิน” ผมบอกกับตัวเองในขณะยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูป หลังจากตื่นตากับความตระการตาของเทือกเขาคาราโครัมตลอดทางราวกับเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมก็เดินทางมาถึงฮุนซา (Hunza Valley) หุบเขาใจกลางเทือกเขาสูงที่งดงามราวกับเทพนิยาย

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
ยอดเขา Rakaposhi (7,788 เมตร) ที่สูงตระหง่านขึ้นเหนือคาราโครัม ไฮเวย์

ฮุนซา – เทือกเขา รอยยิ้ม และสัญญาณเตือน

ยามเช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ แสงตะวันทอดลงมาบนยอดเขาหิมะขาวจนเปลี่ยนเป็นสีทอง หุบเขาอันน่าเกรงขามที่เคยมืดมิดค่อย ๆ เผยโฉมให้เห็นถึงความงดงาม ‘ฮุนซา’ หุบเขาแห่งนี้หลายคนเปรียบราวกับเป็นสวรรค์บนพื้นโลก ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างชัดเจนภายใต้แสงอาทิตย์แรกของวัน 

กว่าพันปีมาแล้วที่มนุษย์มาตั้งรกรากอาศัยยังหุบเขาที่ตั้งอยู่บนตีนยอดเขาสูงอันดับต้น ๆ ของโลก และเกิดเป็นแคว้นเล็ก ๆ ตั้งอยู่ระหว่างจีน ชมพูทวีป และเอเชียกลาง ด้วยตําแหน่งที่ตั้งนี้เอง ทําให้ฮุนซามีการติดต่อและเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมกับดินแดนต่าง ๆ รอบข้างจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของตน 

สัมผัสวิถีชีวิตชาวปากีสถาน ชมวิวเทือกเขาสูงระดับโลกบนเส้นทางสายไหมที่ Karakoram Highway
แสงอาทิตย์แรกของวันที่ฮุนซา

ป้อมปราการ Altit Fort และ Baltit Fort ตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์บอกเล่าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผสมผสาน ที่ Baltit fort ป้อมปราการและพระราชวังของผู้ปกครองเมืองในอดีตมีอายุราว 700 ปี ภายนอกเห็นสถาปัตกรรมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่เล่าความเป็นฮุนซาได้อย่างดี ป้อมปราการสีขาวสร้างขึ้นจากดิน ไม่มีหลังคา ทําให้ผู้มาเยือนนึกถึงสถาปัตกรรมของทิเบตอย่างพระราชวังโปตาลา ภายในมีห้องต่าง ๆ แสดงถึงความเรียบง่ายแบบชาวฮุนซา ธนบัตรและชุดผ้าไหมจากจีน กระจกหลากสีสันซึ่งเป็นมรดกจากจักรวรรดิอังกฤษ สิ่งเหล่านี้เล่าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของฮุนซา

ป้อม Baltit Fort (อาคารสีขาวด้านขวา) มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของเทือกเขาคาราคอรัม
ด้านหลัง
ป้อม Baltit Fort (อาคารสีขาวด้านขวา) มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของเทือกเขาคาราโครัม
ด้านหลัง

ฮุนซาเป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่เป็นมิตรและยิ้มแย้ม เมื่อกล่าวถึงชาวฮุนซา ต้องกล่าวถึงเอกลักษณ์และวิถีชีวิตดั้งเดิมที่โดดเด่นของพวกเขา รูปร่างหน้าตาของชาวฮุนซาแตกต่างจากส่วนอื่น ๆ ของปากีสถาน หลายคนมีจมูกโด่ง บางคนมีดวงตากลมโต บางคนมีนัยน์ตาสีฟ้าสด บางคนมีผมสีทอง บางคนผมสีดํา หลายคนมีใบหน้าคล้ายชาวยุโรป มีสมมติฐานกล่าวไว้ว่า พวกเขามีพันธุกรรมของกองทัพชาวกรีกโบราณที่เคยยึดครองดินแดนนี้เมื่อหลายพันปีก่อน

ไม่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก วัฒนธรรมของชาวฮุนซาก็มีความแตกต่างจากส่วนอื่น ๆ ของปากีสถานเช่นกัน วัฒนธรรมของพวกเขาเกี่ยวโยงใกล้ชิดกับธรรมชาติที่อยู่อาศัย โดยแสดงออกผ่านหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเต้นรํา ลักษณะเครื่องดนตรี รวมถึงความเชื่อในเรื่องภูตผีวิญญาณของขุนเขา นอกจากการมีความเชื่อท้องถิ่นที่แตกต่าง ปัจจุบันชาวฮุนซานับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ อิสมาอีลียะฮ์ แตกต่างจากส่วนอื่นของประเทศ พวกเขานับถือ อากา ข่าน (Aga Khan) เป็นผู้นําทางศาสนา ซึ่งอากา ข่าน เป็นผู้ที่ให้ความสําคัญกับการศึกษา จึงอุปถัมภ์ก่อสร้างสถานศึกษาหลายแห่งในพื้นที่ฮุนซา ส่งผลให้ชาวฮุนซามีอัตราการศึกษาที่สูงกว่าส่วนอื่น ๆ ของปากีสถาน

ชาวฮุนซามีวิถีชีวิตที่ไม่เร่งรีบ อาศัยการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูก (สําหรับผู้ที่ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม) มีผลไม้หลายชนิด เช่น แอพริคอต แอปเปิล และอื่น ๆ ที่ล้วนเป็นเหมือนชีวิตของพวกเขา ผลแอพริคอตหนึ่งลูกนํามาใช้ประโยชน์ได้มากมายสําหรับชาวฮุนซา ในฤดูร้อนก็นำผลไม้สดมาบริโภคและส่งขายทั่วประเทศ อีกส่วนหนึ่งนํามาตากแห้งไว้สําหรับรับประทานในช่วงฤดูอื่น ส่วนที่เหลือจะนํามาแปรรูปเป็นแยม

ชาวฮุนซามีชื่อเสียงที่เป็นที่เล่าขานเรื่องอายุยืน หลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะวิถีชีวิตของพวกเขาที่บริโภคผักผลไม้ อาศัยในที่ที่มีสภาพอากาศดี หรืออาจเป็นเพราะได้รับพรให้อยู่ในที่ที่มีทิวทัศน์งดงามราวกับสรวงสวรรค์ก็เป็นได้ เคล็ดลับที่ทําให้พวกเขาอายุยืนยังคงเป็นความลับของชาวฮุนซาที่มนุษย์ทั่วโลกยังคงค้นหา

สวนแอพริคอตภายในบ้านของชาวฮุนซา

วันต่อมา ผมเดินทางต่อไปตามเส้นทางคาราโครัม ไฮเวย์ เพื่อเข้าสู่เขต Gojal เป็นเขตที่อยู่ตอนเหนือสุดของฮุนซา เป็นพรมแดนติดกับประเทศจีน เมื่อออกมาจากฮุนซา ยอดเขาแหลม รูปทรงคล้ายนิ้วมือ ปรากฏตัวให้เห็นอย่างชัดเจน Lady Finger Peak มีความสูงกว่า 6,000 เมตร เป็นยอดเขาที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่จดจําที่สุดของฮุนซา มีตํานานโบราณกล่าวถึงเจ้าหญิงที่รอคอยเจ้าชายอันเป็นที่รักบนยอดเขา แต่วันแล้ววันเล่าเขาก็ยังไม่กลับมา เมื่อเวลาผ่านไป ยอดเขา Lady Finger Peak ที่งดงามแห่งนี้เองคือเจ้าหญิงที่ยังคงเฝ้ารอการกลับมาของเจ้าชาย

ยอดเขา Lady Finger Peak (6,000 เมตร)

เมื่อรถเดินทางเข้าสู่เขต Gojal ผมพบอีกหนึ่งสถานที่แห่งความงาม ทะเลสาบอัตตาบาด (Attabad Lake) ทะเลสาบสีฟ้าสดตัดกับยอดเขาสีเทาที่ดูดุดันปรากฏอยู่เบื้องหน้าผม ตรงข้ามกับความงดงาม ทะเลสาบแห่งนี้เกิดขึ้นจากภัยพิบัติธรรมชาติที่ร้ายแรง เมื่อ ค.ศ. 2010 เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ทําให้หินถล่มลงมาทับเส้นทางของแม่นํ้าฮุนซา ส่งผลให้นํ้าท่วมหมู่บ้านที่มีชื่อว่า Attabad ทั้งหมู่บ้านต้องจมอยู่ใต้นํ้า ชาวบ้านจํานวนไม่น้อยต่างได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ หลายคนอพยพหาที่อยู่ใหม่ หลายคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เส้นทางคาราโครัม ไฮเวย์ ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน หินที่ถล่มลงมาทําให้ทางหลวงแห่งนี้ขาดออกจากกัน เป็นเวลากว่า 5 ปีที่ผู้สัญจรบนคาราโครัม ไฮเวย์ ต้องขึ้นเรือเพื่อเชื่อมกับเส้นทางอีกส่วนอย่างยากลําบาก 

ความงดงามของทะเลสาบอัตตาบาด
ความงดงามของทะเลสาบอัตตาบาด

ณ คาราโครัม ไฮเวย์ ได้แสดงอย่างประจักษ์ว่า “หลายครั้งที่ธรรมชาติยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์จะเอาชนะได้ และหลายครั้งที่มนุษย์เองก็ท้าทายธรรมชาติด้วยการทําลาย”

แคว้นกิลกิต-บัลติสถาน เป็นบ้านของเครือข่ายธารนําแข็งที่ใหญ่ที่สุดของโลก เขต Gojal เองก็เป็นที่ตั้งของธารนํ้าแข็งขนาดมหึมาหลายแห่ง ปัจจุบันในฤดูใบไม้ผลิ ต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 2022 ความรุนแรงของคลื่นความร้อน (Heat Wave) จากภาวะโลกร้อนแสดงผลชัดเจนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดอกแอพริคอตสีชมพูสดใสที่เคยบานสะพรั่งตลอดฤดูกาลกลับร่วงโรยอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิสูงขึ้นราวกับช่วงฤดูร้อน ธารนํ้าแข็งที่เสี่ยงต่อการละลายกําลังอยู่ในขั้นวิกฤตและอาจนําไปสู่ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ไม่อาจจินตนาการได้ ธรรมชาติกําลังส่งสัญญาณเตือนแก่มนุษย์อย่างชัดเจนที่สุดแบบไม่เคยมีมาก่อนที่ปากีสถาน 

สํานักข่าว Aljazeera นําเสนอเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวว่า ในช่วงต้น ค.ศ. 2022 ปากีสถานได้เผชิญเหตุการณ์นํ้าท่วมเฉียบพลัน มีสาเหตุมาจากการละลายของธารนํ้าแข็งมาแล้วกว่า 16 ครั้ง และในปีนี้ปากีสถานจะได้รับกับผลกระทบของคลื่นความร้อนอย่างรุนแรง ส่งผลให้ฤดูร้อนมาถึงเร็วขึ้น และอาจมีอุณหภูมิสูงเกิน 50 องศาเซลเซียสในหลายส่วนของประเทศ สัญญาณเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณวิกฤตที่ไม่เพียงอันตรายต่อชีวิตของชาวปากีสถาน แต่เป็นอันตรายต่อทุกชีวิตบนโลก

Passu Cones (6,106 เมตร) ยอดเขาฟันเลื่อยแห่งหมู่บ้าน Passu
Passu Cones (6,106 เมตร) ยอดเขาฟันเลื่อยแห่งหมู่บ้าน Passu
ธารนํ้าแข็ง Passu Glacier ที่น่าเกรงขามแต่เปราะบาง
ธารนํ้าแข็ง Passu Glacier ที่น่าเกรงขามแต่เปราะบาง

มุ่งหน้าสู่จุดหมายสุดท้าย ผมแวะที่หมู่บ้าน พาสสุ (Passu) หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเส้นทางคาราโครัม ไฮเวย์ หมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องความงามจากความอลังการของยอดเขาฟันเลื่อย Passu Cones และธารน้ำแข็ง Passu Glacier ที่ยิ่งใหญ่ ธารนํ้าแข็งแห่งนี้มีความยาวกว่า 21 กิโลเมตร ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มก้อนนํ้าแข็งสีขาวอมเทาขนาดมหึมาที่ซ้อนตัวกันเป็นชั้นภายใต้หุบเขาที่ผมยืนอยู่นั้นทําให้ไม่อาจจินตนาการได้ว่า ถ้าหากธารนํ้าแข็งเพียงแค่บางส่วนในบริเวณนี้เกิดการละลายขึ้นจะส่งผลให้เกิดนํ้าท่วมมหาศาลเพียงใด และคงเป็นสถานที่ที่งดงามเหล่านี้ รวมถึงชาวฮุนซาที่จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างแรก

บทสุดท้ายของการเดินทางตามคาราโครัม ไฮเวย์ ทิ้งข้อตระหนักข้อนี้ไว้กับผม จากนี้ไปตามเส้นทางคาราโครัม ไฮเวย์ราว 65 กิโลเมตร จะถึงพรมแดนประเทศจีนหรือช่องเขาคุนจีราบ (Khunjerab Pass) ซึ่งบรรจบกับการเดินทางของผมที่เคยเดินทางใน คาราโครัม ไฮเวย์ ฝั่งประเทศจีนเมื่อ 2 ปีก่อน น่าเสียดายที่ตอนนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิ ทําให้รถฝ่ากองหิมะไปยัง Khunjerab Pass ไม่ได้

การเดินทางของผมจึงสิ้นสุดที่หมู่บ้าน Passu แห่งนี้

รอยยิ้มของเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นที่วิวสวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
รอยยิ้มของเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นที่วิวสวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

“ถนนทุกสายถูกสร้างขึ้นเพื่อนําผู้คนไปยังสถานที่ต่าง ๆ และมักพาผู้เดินทางไปพบกับหลายสิ่งระหว่างทาง”

เช่นเดียวกับ ‘คาราคอรัม ไฮเวย์’ เส้นทางที่มีคุณค่ามากกว่าการเป็นถนนที่ถูกรายล้อมด้วยความงดงามอลังการของธรรมชาติ เส้นทางที่เป็นมากกว่าสัญลักษณ์ของการเมืองระหว่างประเทศ เส้นทางมหัศจรรย์เส้นนี้มอบประสบการณ์และนําผมไปพบเจอกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย

ระหว่างรอเวลาเช็กอินเที่ยวบินกลับบ้านที่ด้านหน้าสนามบิน ผมนั่งคิดถึงความทรงจําของตัวเองบนคาราโครัม ไฮเวย์ ตลอดการเดินทางตามเส้นทางแห่งนี้ ที่นี่นําผมไปพบกับ ‘อดีต’ ของดินแดนแห่งความเจริญรุ่งเรืองและประวัติศาสตร์ของเส้นทางการค้าที่เชื่อมวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันเส้นทางแห่งนี้ก็พาผมไปรู้จัก ‘ปัจจุบัน’ ของประเทศปากีสถานผ่านสถานที่และผู้คนที่ได้สัมผัส และภาพผลกระทบอย่างรุนแรงของภาวะโลกร้อนใน ‘อนาคต’ ที่อาจเกิดขึ้น สะท้อนออกมาผ่านคาราโครัม ไฮเวย์ ก็ได้ทิ้งข้อตระหนักไว้กับผมเช่นเดียวกัน 

เสียงอาซานซึ่งเป็นสัญญาณของการละหมาดเย็นของชาวมุสลิมดังก้องกังวานทั่วโถงสนามบินทําให้ผมตื่นขึ้น ผมลากกระเป๋าเข้าอาคารสนามบิน ที่ปากีสถานทุกคนที่เข้าไปในอาคารสนามบินจะกลับออกมาข้างนอกไม่ได้ คงเป็นเวลาที่จะบอกลาประเทศนี้และสิ้นสุดการเดินทางครั้งนี้จริง ๆ

การเดินทางบทที่สามของการตามรอยเส้นทางสายไหมให้อะไรกับผมไม่มากก็น้อย ผมยิ้มพร้อมบอกกับตัวเองว่าคงมีหลายสิ่งที่คาราโครัม ไฮเวย์ ทําให้ผมเติบโตขึ้นกว่าการเดินทางครั้งก่อนโดยไม่รู้ตัว 

หวังว่าเมื่อมีโอกาสกลับมาอีกครั้ง ฮุนซาในฤดูใบไม้ผลิจะยังคงแต่งแต้มด้วยสีชมพูสดใสของดอกแอพริคอตเช่นเดิม

หุบเขานาการ์ ฮุนซา หนึ่งสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงมี กลุ่มดอกไม้สีชมพูบานสะพรั่งหลงเหลือให้ได้ชมในตอนที่ไปเยือน
หุบเขานาการ์ ฮุนซา หนึ่งสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงมี
กลุ่มดอกไม้สีชมพูบานสะพรั่งหลงเหลือให้ได้ชมในตอนที่ไปเยือน

ขอบคุณ คุณฟาติมะ อะตีค ไกด์นําเที่ยวที่คอยดูแลให้การเดินทางในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น

ข้อมูลอ้างอิง

www.worldhistory.org/Gandhara_Civilization

www.cambridge.org/core/books/abs/cambridge-history-of-terrorism/history-of-terrorism-in-pakistan/C91EC2FD3A183B8D0BA7B561DC34F8E2

www.cfr.org/backgrounder/china-pakistan-relations

www.isas.nus.edu.sg/papers/pakistan-china-relations-in-a-changing-geopolitical-environment

www.bbc.com/news/world-asia-32400091

thediplomat.com/2018/10/gwadar-emerging-port-city-or-chinese-colony

historypak.com/hunza/

tribune.com.pk/story/58900/shamanism-spirits-in-the-valley

www.aljazeera.com/gallery/2022/7/14/photos-concerns-as-pakistan-glaciers-melt

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ปฏิภาณ จินดาประเสริฐ

นักศึกษาทันตแพทย์ ผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเดินทาง ได้พยายามแบ่งเวลาจากการเรียนเพื่อเดินทางตามความฝัน