ฆระอันแสนรื่นรมย์ เห็นจะเป็นชื่อเต็มอย่างไม่เป็นทางการของ ‘โรงแรมฆรารมณ์’ หรือ ‘Karaarom Hotel’ โรงแรมแนว City Hotel ที่มีทำเลตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 36 ถือเป็นโรงแรมที่มีแนวทางในการบริหารและบริการค่อนข้างเฉพาะตัว เพื่อความสะดวกสบายและสุขใจของแขกผู้เข้าพัก

โรงแรมแห่งนี้บริหาร คิดค้น ก่อตั้ง และอยู่อาศัยโดย จ็อบ-ณัฐธี วิโรจนาภิรมย์ และ กอ-กรพินธุ์ โตทับเที่ยง สองสามีภรรยาผู้ห่างไกลจากคำว่าคนโรงแรมในทีแรก ก่อนสั่งสมประสบการณ์ผ่านการเปิดโรงแรมถึง 3 แห่ง จนกลายมาเป็นผู้ที่มีลายเซ็นในการทำโรงแรมชนิดไม่ซ้ำใคร

ฆรารมณ์ : เปลี่ยนอะพาร์ตเมนต์เป็น City Hotel บรรยากาศบ้านแสนรื่นรมย์ในซอยสุขุมวิท 36

ไม่ใช่แค่เสิร์ฟความสุขให้แก่แขก แต่ยังคำนึงถึงและกอดคอเหล่าพนักงานให้เดินเคียงข้างไปด้วยกัน ในวันที่บ้านหลังที่ 4 อย่าง โรงแรมฆรารมณ์ ได้ถือกำเนิดขึ้นมา (แม้จะเพียงแค่ 4 เดือน)

Under Construction

แรกเริ่มเดิมที จ็อบและกอเป็นคนนอกสายงานโรงแรม มีลูกเสี้ยวมาบ้างจากการที่กอเคยทำโรงแรมซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ทว่าสิ่งนั้นทำให้เธอเข็ดกับงานบริหารโรงแรมใหญ่จนจำขึ้นใจ หากถามว่าทั้งสองคนอยู่นอกสายงานโรงแรมขนาดไหน ก็ชนิดที่ว่า จ็อบมาจากสายวิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineer) ในขณะที่กอเคยทำงานองค์กรระหว่างประเทศ

  “มาทำโรงแรมก็อาศัยความมั่วพอสมควร” กอเล่าด้วยท่าทีติดตลก

จ็อบเสริมต่อว่า อาคารโรงแรมแห่งนี้เคยมีสถานะเป็นบ้านสไตล์อะพาร์ตเมนต์ มักมีชาวต่างชาติมาเช่าอยู่อาศัยแบบรายเดือน ก่อนเจ้าโควิด-19 เข้ามาทำตัวกร่างเป็นเจ้าพ่อมาเฟีย ไล่ที่ลูกค้าออกนอกประเทศไปเกือบหมด ท้ายที่สุดพอเห็นแววว่า ลูกค้าระยะยาวคงยังไม่กลับมาแน่ ๆ ทั้งคู่จึงตัดสินใจรื้อ โละ สร้าง แล้วรีโนเวตอะพาร์ตเมนต์เป็นโรงแรมใจกลางสุขุมวิทเสียเลย

ฆรารมณ์ : เปลี่ยนอะพาร์ตเมนต์เป็น City Hotel บรรยากาศบ้านแสนรื่นรมย์ในซอยสุขุมวิท 36
ฆรารมณ์ : เปลี่ยนอะพาร์ตเมนต์เป็น City Hotel บรรยากาศบ้านแสนรื่นรมย์ในซอยสุขุมวิท 36

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของทั้งคู่ เพราะอันที่จริงพวกเขาเคยมีบทเรียนครั้งใหญ่จากการทำโรงแรมแห่งแรกมาก่อนหน้านี้ โรงแรมชื่อว่า Tints of Blue ตั้งอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 27 ปัจจุบันยังคงเปิดทำการ

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะเจ้าลูกคนโต ณ สุขุมวิท 27 ทำให้ทั้งสองคนพอจะรู้แนวทางการรับมือกับการเปิดโรงแรมชนิดพอเอาอยู่ เพราะในวันแรกจ็อบบอกว่า “เปิดเอามัน ก็มันเลย” 

ความมันที่ว่า คือ จ็อบต้องไปล้างห้องน้ำเอง ขับรถไปซื้อของเอง กอต้องไปนั่ง Front Desk แถมต้องลากแม่บ้านจากบ้านตัวเองมาช่วยอีกแรง เรียกได้ว่าโดนรับน้องไปเต็ม ๆ จนถึงกับต้องปิดระบบให้ตัวเองและแม่บ้านได้พักหายใจกันสักยกสองยก แล้วจึงค่อยขึ้นชกต่อด้วยกระบวนท่าที่พร้อมรับมือมากขึ้น แถมแขกก็เอ็นดูในความตั้งใจนี้ ให้คำแนะนำน้อยใหญ่กับทั้งสองเพื่อความสมบูรณ์พร้อมในอนาคต

“ยู ยูต้องขึ้นราคานะ ถ้ายูทำราคาเนี้ย มันไม่ได้! ห้องมันก็จะเต็มตลอดน่ะสิ” 

นี่คือคำแนะนำแรกที่แขกบอกกับกอ

My story and furniture are not for sale (for now)

หลังจาก Tints of Blue รับน้องจนรู้งาน จ็อบและกอก็เริ่มออกท่องยุทธจักรตะลุยยุทธภพ ด้วยการเปิดโรงแรมแห่งอื่นที่เชียงใหม่และหัวหินอย่างละ 1 ที่ แล้วจึงย้อนกลับมายังสุขุมวิทอีกครั้ง ณ ซอย 36 ด้วยชื่อ ‘ฆรารมณ์’ ซึ่งเราก็ได้บอกใบ้ถึงที่มาที่ไปของชื่อนี้ตั้งแต่ต้นบทความแล้ว แต่การได้รับรู้จากคำอธิบายของผู้คิดค้นและเลือกคัดจัดสรรความหมายเห็นจะเป็นการดีที่สุด

 “ฆรารมณ์ คำว่า ฆรา มาจาก ฆระ แปลว่า ‘เรือน’ อยากให้ที่นี่เป็นที่ที่มีความรื่นรมย์ เราพยายามทำให้เป็นบ้านค่ะ เป็นที่พักผ่อนท่ามกลางความวุ่นวายของสุขุมวิท นี่คือคอนเซ็ปต์หลัก” 

ฆรารมณ์ : เปลี่ยนอะพาร์ตเมนต์เป็น City Hotel บรรยากาศบ้านแสนรื่นรมย์ในซอยสุขุมวิท 36

กออธิบายที่มาที่ไปของชื่อ ซึ่งไม่ใช่แค่เอาไว้ใช้สำหรับค้นหาโรงแรมในเว็บไซต์ แต่ยังเป็นเครื่องบ่งบอกแนวทางในการรับแขกของโรงแรมแห่งนี้อีกด้วย และสิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นเหล่าของตกแต่งที่มาจากภาคเหนือ บรรดาเซรามิกตามความชอบส่วนตัวของกอ รูปวาดที่พยายามสนับสนุนศิลปินไทยให้ได้มากที่สุด และเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นของสะสมของจ็อบ

หากแขกถามถึงที่มาที่ไปของข้าวของแต่ละชิ้น รับรองว่าเขาและเธอจะบอกเล่าเรื่องราวของของสิ่งนั้นได้ทุกชิ้น ซึ่งทั้งสองคนต่างคัดเลือกกันอย่างประณีต พินิจพิเคราะห์จากความชอบของตน นำมาเพิ่มเสริมเติมแต่งเข้าไป เพื่อให้ภายในของบ้านของฆรารมณ์กลมกล่อมลงตัวมากยิ่งขึ้น 

แต่ใครจะไปนึกว่า วันดีคืนดีแขกผู้เข้าพักจะนึกคึก จนเกิดเป็นคอนเซ็ปต์อีกอย่างหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาทีหลัง 

ฆรารมณ์ : เปลี่ยนอะพาร์ตเมนต์เป็น City Hotel บรรยากาศบ้านแสนรื่นรมย์ในซอยสุขุมวิท 36

กอบอกกับเราว่า “พอของวางอยู่ทุกที่ ก็จะมีคนขอซื้อกันเยอะมาก อย่างร้านนี้ค่ะ (คาเฟ่ที่ชั้น 2) มีคนขอซื้อโซฟา” พอจะเข้าใจได้ถึงแขกที่มาท่องเที่ยวแล้วกำลังอยู่ในอารมณ์อยากจับจ่ายใช้สอย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศที่ไม่ค่อยจะดีนัก แต่เล่นมาขอซื้อโซฟากันแบบนี้ โรงแรมก็ลำบากสิครับ

กลับกัน จ็อบกับกอนั้นพึงใจที่จะขายของเหล่านี้ออกไปเพื่อเป็นการหมุนเวียนเฟอร์นิเจอร์ภายในพื้นที่ ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสองยังเปิดช็อปเล็ก ๆ ขายสินค้าที่พวกเขาคัดเลือกเข้ามาเอง ทั้งเสื้อผ้า เซรามิก ของกระจุกกระจิก จนถึงผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ใช้ในโรงแรม ปรุงสูตรและกลิ่นขึ้นมาเฉพาะ

พวกเขาจึงออกคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ว่า ‘ขายทุกอย่างยกเว้นตึก’ ก็นั่นแหละครับ ขนได้ก็เอาไปเลย

แต่ของบางชิ้นทั้งสองก็เลือกที่จะแจกแทน (ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์แน่นอน) โดยหวังว่าจะเป็นโมเมนต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แขกได้จดจำจากการเข้ามาพักที่โรงแรมแห่งนี้ ซึ่งถ้าใครไปเข้าพักที่ฆรารมณ์ในช่วงนี้ คุณอาจจะได้ข้าวของประดับบนต้นคริสต์มาสเป็นของติดไม้ติดมือกลับมาคนละอันสองอัน

My living room, but for you

ต่อจากคอนเซ็ปต์ความเป็นบ้านที่ถูกตั้งต้นเอาไว้ จึงพ่วงมาด้วยการเช็กอินที่อยากให้แขกรู้สึกเหมือนได้เข้ามาในห้องนั่งเล่น ซึ่งก็คือชั้น 2 ของโรงแรม เมื่อเดินเข้ามาจะพบกับเคาน์เตอร์สั่งเครื่องดื่มของ คาเฟ่มรีจิ (Mareeji) คาเฟ่ประจำโรงแรม

ถ้าหากผู้อ่านกำลังสงสัยว่า แล้วไหนล่ะคือเคาน์เตอร์เช็กอิน ใช่ครับ คุณกำลังเข้าใจความรู้สึกของแขกที่มาที่นี่เป็นครั้งแรกอย่างถูกต้องแล้ว เพราะคาเฟ่นี้เอง คือห้องนั่งเล่นและที่เช็กอินไปพร้อม ๆ กัน

 “เมื่อก่อนต้องมีป้ายตั้งค่ะ Reception นะจ๊ะ” กออธิบายถึงการใช้พื้นที่ต่าง ๆ ภายในโรงแรม

นอน Karaarom Hotel โรงแรมใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท 36 ของคู่รักคนทำโรงแรม ที่อยากให้แขกพักผ่อนสบายที่สุดใน 'บ้าน'

ชั้น 2 นอกจากเป็นคาเฟ่และร้านอาหาร ยังมีฟิตเนสกับออฟฟิศอยู่ทางด้านหลัง

ชั้น 3, 4, 5, 6 และ 7 เป็นห้องพักของลูกค้า

ชั้น 7 กับ 8 บางส่วนเป็นที่พักอาศัยของจ็อบกับกอ หรือบ้านของทั้งสองนั่นเอง

และท้ายที่สุด ชั้น 9 เป็นดาดฟ้า

“เมื่อก่อนดาดฟ้าไม่ได้เปิดให้ลูกค้าขึ้น เพราะใช้กันเอง แต่เราต้องการเพิ่มพื้นที่ให้แขก และเรารู้ว่าโรงแรมเราอยู่ในเมือง ห้องไม่ใหญ่มาก ก็เลยเปิดดาดฟ้าให้แขกเปลี่ยนบรรยากาศ ลูกค้าต่างชาติจะขึ้นไปนั่งอ่านหนังสือ อาบแดด เล่นชิงช้า ซึ่งแขกต่างชาติชอบการเจอแดดมากเลย” จ็อบกล่าว

สำหรับ City Hotel แล้ว นี่คงเป็นการจัดสรรพื้นที่ได้อย่างครบครันเพื่อเอื้อประโยชน์แก่แขกที่มาเข้าพัก เพราะคงมีแขกไม่น้อยที่อยากนั่งพักผ่อนหย่อนใจในร้านอาหาร ก่อนจะต้องแบกกระเป๋าขึ้นไปแล้วลงมาอีกรอบ หรือการมีดาดฟ้า คงเป็นจุดที่ซื้อใจใครหลาย ๆ คนได้อย่างไม่ยากเย็น

ถือได้ว่าการเสียสละที่ตากผ้านั้นไม่ได้เสียเปล่าแม้แต่น้อย

This room is not only for me, but for you too

สำหรับห้องพักของโรงแรมฆรารมณ์ จ็อบและกอต่างใช้ประสบการณ์ที่เคยทำโรงแรมทั้ง 3 ที่ก่อนหน้า ผนวกเข้ากับการไปท่องเที่ยวต่างประเทศบ่อยครั้ง และสถานการณ์มากมายของแขกที่เคยพบเจอมาเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบ ที่นี่จึงมีห้องพักถึง 7 ประเภท

1. Studio ห้องทั่วไป ขนาด 21 – 24 ตารางเมตร

2. Deluxe ห้องขนาด 27 ตารางเมตร มีอ่างอาบน้ำ

3. 1-Bedroom ห้องทั่วไป ขนาด 35 ตารางเมตร

4. Premiere 1-Bedroom ห้องทั่วไปขนาด 35 ตารางเมตร เพิ่มอ่างอาบน้ำเข้ามา

5. Duplex ห้องขนาด 41 ตารางเมตร มี 2 ชั้น ซึ่งมีห้องน้ำแบบฝักบัวและห้องนั่งเล่นอยู่ชั้นล่าง หากเดินขึ้นไปชั้นบนจะพบกับเตียงนอนและอ่างอาบน้ำ

6. Quadruple ห้องขนาด 44 ตารางเมตร มี 4 ที่นอนแบบฟูกยกสูง

7. Family ห้องใหญ่ขนาด 48 ตารางเมตร พร้อมด้วยเตียงคิงไซส์และเตียง 2 ชั้น (Bunk Bed)

นอน Karaarom Hotel โรงแรมใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท 36 ของคู่รักคนทำโรงแรม ที่อยากให้แขกพักผ่อนสบายที่สุดใน 'บ้าน'

ประเภทห้องของฆรามรมณ์มีหลากหลาย แน่นอนว่าเหมาะกับกลุ่มนักเดินทางเกือบทุกแบบ และทุกห้องพักของโรงแรมเพียบพร้อมไปด้วยครัวที่ประกอบอาหารได้อย่างถึงพริกถึงขิง ตั้งแต่เตาไฟฟ้า เครื่องดูดควัน ไมโครเวฟ จนถึงอุปกรณ์ทำครัวต่าง ๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้มากจากความคิดอยากให้แขกสะดวกสบายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับการกินอาหารและประกอบอาหารเอง

นอน Karaarom Hotel โรงแรมใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท 36 ของคู่รักคนทำโรงแรม ที่อยากให้แขกพักผ่อนสบายที่สุดใน 'บ้าน'
นอน Karaarom Hotel โรงแรมใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท 36 ของคู่รักคนทำโรงแรม ที่อยากให้แขกพักผ่อนสบายที่สุดใน 'บ้าน'

นอกจากอาหารเช้าสำหรับบริการแขก ลูกค้าทั่วไปยังใช้บริการห้องอาหารและคาเฟ่ เพื่ออิ่มอร่อยกับเมนูอาหารไทยพ่วงอาหารใต้ในราคาย่อมเยา เราลองลิ้มมาเผื่อแล้ว ถึงเครื่อง หรอยสุด ๆ 

This service is for you and them

ทว่าหลักใหญ่สำคัญของการทำงานโรงแรมนั้นอยู่ที่งานบริการ หรือการสร้างความพึงพอใจให้แขกรู้สึกเป็นสุขระหว่างที่กำลังทอดกาย คาดหวังความสงบ โดยมีเหล่าคนโรงแรมเป็นผู้รับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นภายใน จ็อบและกอเองก็ไม่ได้มองข้ามส่วนนี้แม้แต่น้อย พวกเขาต่างพยายามให้โรงแรมแห่งนี้บริการแขกได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าผ่านงานบริการที่เป็นกันเองในสถานที่ หรือนอกสถานที่ผ่าน Local Map ที่พวกเขาจัดทำขึ้นสำหรับลูกค้าที่ต้องการสำรวจย่านสุขุมวิท

จนถึงการบอกวิธีเดินทางที่ไม่ใช่แค่นั่งแท็กซี่ เพื่อซึมซับอรรถรสกรุงเทพฯ อย่างที่ควรรู้สึกจริง ๆ ซึ่งจ็อบย้ำเรื่องเดินทางด้วยเรือ เพราะเขาหลงมาแล้ว ถือเป็นการสำรวจเส้นทาง

นอน Karaarom Hotel โรงแรมใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท 36 ของคู่รักคนทำโรงแรม ที่อยากให้แขกพักผ่อนสบายที่สุดใน 'บ้าน'

ขณะเดียวกัน จ็อบและกอต่างไม่ลืมว่า การทำงานทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นและประสบผลสำเร็จเพียงเพราะพวกเขาแค่สองคน บรรดาพนักงานต่างต้องได้รับผลตอบแทนต่อความเหน็ดเหนื่อย ในฐานะสมาชิกที่ช่วยกันดูแลบ้านหลังนี้ที่มีแขกไม่ซ้ำหน้าเข้ามาพักกันแบบวันต่อวัน

ไม่ว่าจะเป็นวันหยุด ประกันอุบัติเหตุ การแบ่ง Service Charge อย่างเท่าเทียม และจ็อบก็ยังยินดีมาก ๆ ที่พนักงานจะนำลูกมาเลี้ยงที่โรงแรมมากกว่าไปฝากคนอื่น โดยพร้อมจะเปิดห้องว่างให้เด็ก ๆ นอนหรือวิ่งเล่นตามสบาย เพราะฉะนั้นแล้ว This service is for you and them จึงเป็นประโยคจำกัดความการบริการของโรงแรมแห่งนี้ ที่ไม่ได้ทิ้งพี่น้องพนักงานไว้ข้างหลัง เพราะแนวคิดการบริการของทั้งสองคนยังร่วมมาด้วยความสุขของคนทำงาน และประสบการณ์ที่พร้อมมอบให้ ชนิดที่ว่าบางทีพนักงานอาจต้องไปชงค็อกเทล ทั้ง ๆ ที่ชีวิตนี้เคยชงแต่โอวัลตินแบบ 3 in 1

This is my experience. You can have it. 

โดยปริยาย จ็อบและกอให้คำแนะนำในการทำโรงแรม 3 ข้อ โดยมีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์ของพวกเขาที่ไม่เคยคิดเอาตัวเองไปเทียบชั้นกับโรงแรมใหญ่ และนี่คือคำแนะนำจากพวกเขาทั้งคู่

ข้อแรก จ็อบเริ่มก่อนด้วยการบอกว่า ต้องรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำ ชอบหรือรักในสิ่งที่ทำ

ส่วนข้อที่สองนั้นค่อนข้างส่วนตัว จงอย่าหวังพึ่งคอนเนกชัน

เพราะจ็อบบอกว่า “มันยากมากกับการก้าวข้ามความเกรงใจ”

กอสรุปจบให้เราว่า ต้องรู้จักใส่ใจรายละเอียดและรักบริการ

“คิดเผื่อเยอะ ๆ เราต้องลองคิดไปว่า ถ้าเราเป็นลูกค้า เราเข้าพัก เราอยากได้อะไร แล้วลองดูว่า เราจะเสนออะไรให้ลูกค้าได้บ้าง ขณะเดียวกันสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นตัวตนที่ชัดเจนของเราด้วย”

สำหรับกอ การมีตัวตนที่ชัดเจนคือสิ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงจุดยืนในการทำโรงแรมของตัวเอง และจุดยืนบนสถานที่ที่โรงแรมตั้งอยู่ ซึ่งการใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่กลายเป็นประสบการณ์ให้แขกได้ เพราะคงไม่มีแขกคนไหนนึกคิดว่าโรงแรมเล็ก ๆ จะมีเตารีด หรือ Shoehorn (อุปกรณ์ช้อนรองเท้า) ให้ในทุก ๆ ห้อง การมีห้องครัวอำนวยความสะดวก ดาดฟ้าเพื่อสเปซที่มากขึ้น และความเป็นกันเองที่เหล่าพนักงานมอบให้ และไม่ใช่แค่สำหรับกอ แต่สำหรับคนทำโรงแรมแล้ว มันคงเป็นความรู้สึกดีไม่ใช่น้อยเมื่อลูกค้าสัมผัสได้ว่า คนทำโรงแรมตั้งใจมอบสิ่งนี้ให้แก่พวกเขา

นอน Karaarom Hotel โรงแรมใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท 36 ของคู่รักคนทำโรงแรม ที่อยากให้แขกพักผ่อนสบายที่สุดใน 'บ้าน'

ในท้ายที่สุด นี่คงเป็นคำยืนกรานเพื่อบ่งบอกความเป็นตัวของตัวเองที่กอได้บอกกับเรา

“เรายังยืนยันว่า เราจะทำแบบที่เราทำ เพื่อลองดูว่าจะมีที่ยืนในทองหล่อหรือเปล่า ตอนนี้ก็ยังพอมี ต่อไปไม่รู้นะ (หัวเราะ) เราเลยต้องหาจุดยืน ต้องทำให้ลูกค้าสัมผัสถึงสิ่งที่เราตั้งใจมอบให้ได้ เพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำ เพราะการที่ลูกค้ากลับมา มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากสำหรับคนทำโรงแรม พวกเราทำที่นี่เพื่อแบ่งปันความสุข เราอยากให้แขกได้ใช้เวลาดี ๆ และมีประสบการณ์ที่ดีกลับไป”

Karaarom Hotel

ที่ตั้ง : 8 นภาทรัพย์ 2, ซอยสุขุมวิท 36 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร (แผนที่)

โทรศัพท์ : 08 8867 4777

เว็บไซต์ : www.karaarom.com

Facebook : Karaarom Hotel

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ