เพื่อจะไปยังจุดหมายของคอลัมน์ Share Location ในวันนี้ เรานั่งรถตรงไปที่ท่าเรือท่าดินแดง สองข้างทางคือการประกอบสร้างทางวัฒนธรรมที่หลากหลายแต่ลงตัว มีตลาดท่าดินแดงซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตการจับจ่ายใช้สอยของคนไทย ความเชื่อแบบจีนที่ถูกแสดงออกผ่านศาลเจ้าซำไนเก็ง ไปจนถึงสถานที่อันเป็นจุดหมายปลายทางอย่างคาเฟ่แห่งใหม่ที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมอินเดีย
สุดถนนท่าดินแดง เราได้พบป้ายสีน้ำตาลขนาดใหญ่ ภายในประกอบไปด้วยภาพเมล็ดกาแฟ ม้วนผ้า รถมอเตอร์ไซค์เวสป้า และข้อความเขียนว่า ‘KAPPRA CAFFE’ (กัปปร้า คาเฟ่) ไม่รอช้า เราเดินเลี้ยวซ้ายตามเครื่องหมายที่ป้ายบอก ระหว่างทางเต็มไปด้วยภาพวาดฝาผนังเป็นแนวยาว ทำเอาอดใจไม่ไหวจนต้องแวะถ่ายรูป ถ่ายไปถ่ายมา รู้ตัวอีกทีก็มาถึงร้านกาแฟหน้าตาน่ารักที่กำลังตามหา Kappra Cafe

อาคารขนาดเล็กกะทัดรัด ตกแต่งด้วยสีขาวและโรสโกลด์ เหมือนกำลังส่งเสียงกระซิบชวนให้เราเข้าไปชม ที่เห็นอยู่ด้านหน้าคือชั้นวางที่มีเค้กกับขนมน่ารับประทาน และที่ยืนอยู่สองคนตรงกลางร้าน คนหนึ่งคือชายวัยกลางคนท่าทางใจดีในเสื้อยืดสีเข้ม ผ้าโพกศีรษะสีขาว อีกคนคือสาวในเสื้อเชิ้ตแขนกุดสีดำเข้ากับแว่นสายตาของเธอ ทั้งคู่ใส่หน้ากากอนามัย แต่หากมองทะลุผ่านได้ คงเห็นรอยยิ้มต้อนรับจากสองพ่อลูกเจ้าของร้านเป็นแน่

แปลงโฉมห้องเก็บผ้าเป็นคาเฟ่เสน่ห์ล้น
“Kappra ในภาษาฮินดี แปลว่าผ้า”
กุลินนา สิริกุลธาดา ลูกสาวคนโตวัย 22 เริ่มต้นอธิบายที่มาของชื่อคาเฟ่อันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งก็ดูเป็นชื่อที่อธิบายตัวตนของสถานที่แห่งนี้ได้อย่างหมดจด
เดิมทีที่ตั้งของกัปปร้าเป็นออฟฟิศและห้องเก็บผ้า เพราะต้นตระกูลของกุลินนาทำธุรกิจเส้นด้ายมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ก่อนส่งต่อมายังรุ่นพ่ออย่าง โกบิน-โกวิทัตย์ สิริกุลธาดา ที่พากิจการสำเร็จไปอีกขั้นผ่านการทอผ้านานาชนิดขายส่งทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผ้าไทยทั้งสิ้น

ธุรกิจสิ่งทอดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 30 ปี แต่เมื่อวิกฤตโรคระบาดย่างกราย ธุรกิจขายส่งเริ่มชะลอตัว เจ้าของกิจการที่มีประสบการณ์ตั้งแต่เด็กจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ลดการขายส่ง แล้วเพิ่มการขายปลีก โดยใช้โซเชียลมีเดียช่วยส่งเสริมการขาย กลายเป็นว่าโดนใจกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่เข้าอย่างจัง
“เมื่อก่อนตรงนี้เป็นที่เก็บผ้า ด้านบนเป็นออฟฟิศ แต่พอลูกค้าเยอะขึ้น ก็เริ่มไม่มีที่ให้ลูกค้านั่ง ก็เลยเกิดไอเดียว่า เรามาเปลี่ยนชั้นล่างเป็นร้านกาแฟเถอะ ส่วนด้านบนก็ทำเป็นโชว์รูมแสดงงานผ้าซะเลย” โกบินเล่าด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน
จากห้องเก็บผ้าที่คาดว่าอัดแน่นไปด้วยสิ่งทอนับร้อยนับพันหลา ถูกแปรสภาพเป็นคาเฟ่สุดชิค ให้คนทั่วไปแวะเวียนมาชิมอาหารและกาแฟ แต่สำหรับลูกค้าที่สนใจงานผ้าและสิ่งทอก็เลือกชมได้ตามใจที่สตูดิโอด้านบน ถึงตรงนี้เรากระจ่างแล้วว่า เหตุใดโลโก้ของร้านจึงมีทั้งม้วนผ้าและเมล็ดกาแฟ แต่ที่ยังคิดไม่ตกคือรถมอเตอร์ไซค์ในภาพ
“ในโลโก้ร้านจะเห็นเป็นรูปรถเวสป้า เพราะในวงการสิ่งทอจะใช้รถประเภทนี้ขนส่งผ้า ใช้มาห้าสิบ หกสิบ ปีแล้ว การขนผ้ากับเวสป้าเป็นอะไรที่คู่กัน” คุณพ่อไขข้อข้องใจ
และในเมื่อจะทำร้านกาแฟทั้งที ก็คงดีไม่น้อยหากได้ไอเดียของคนรุ่นใหม่มาเติมเต็ม กุลินนาที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก จึงตัดสินใจพักการเรียนมาช่วยพ่อทำร้านกาแฟเต็มตัว เพราะในช่วงโควิดที่ต้องเรียนออนไลน์ ต่อให้ตั้งใจเรียนแค่ไหนก็คงไม่มีทางได้รับวิชาที่ควรได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว เธอจึงขอใช้เวลาตรงนี้ นำความรู้ด้านความยั่งยืนที่มีมาเติมแต่ง KAPPRA CAFE ให้เก๋ไก๋ไม่มีใครเหมือน


ชิมอาหารวีแกนแสนอร่อย
“ช่วงนี้มีกระแสเรื่องการรักษ์โลก รักสุขภาพ บวกกับครอบครัวเรากินเจมาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าจะต้องเสิร์ฟอาหาร เราก็อยากเสิร์ฟสิ่งที่ตัวเองกินได้”
ลูกสาวครอบครัวที่นับถือศาสนาซิกข์ นิกายนามธารี ซึ่งเป็นมังสวิรัติเคร่งครัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่อยากให้กัปปร้าเป็นคาเฟ่ที่จำหน่ายเฉพาะอาหารวีแกน ซึ่งเป็นอาหารที่ปราศจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดง่าย ๆ ว่าทุกเมนู ทั้งอาหาร ขนม ชา หรือกาแฟ ต้องไม่มีชีส ไข่ และห้ามใช้นมเป็นวัตถุดิบ ด้านพ่อของกุลินนาที่ก่อนหน้านี้ แม้จะกินมังสวิรัติแต่ก็ชอบดื่มนม จึงต้องปรับตัวยกใหญ่เพื่อใช้ชีวิตแบบวีแกน เขาเริ่มต้นขีดเส้นอย่างจริงจังว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไม่ได้เป็นของมนุษย์
“วัวผลิตนมเพื่อลูกวัว ไม่ใช่ลูกคน ผึ้งผลิตน้ำผึ้งเพื่อผึ้ง ไม่ใช่เพื่อคน ตอนแรกก็กลัวนะ ไม่รู้ว่าจะทำได้มั้ย ก็ขอลองสิบห้าวัน สุดท้ายลองมาจะครบปีแล้ว ก็ทำได้นะ” โกบินเล่าอย่างภูมิใจเหนือโต๊ะกระจกทรงกลมที่มีอาหารเรียงราย

ดูเหมือนว่าการช่วยโลกที่ง่ายที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้อาจเริ่มต้นจากการงดบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะเนื้อสัตว์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมหาศาลในกระบวนการผลิต ซึ่งนับวันก็ยิ่งทำลายสิ่งแวดล้อมไปเรื่อย ๆ คาเฟ่แห่งนี้จึงเป็นเหมือนแรงผลักดันเล็ก ๆ ที่อยากช่วยให้คนหันมาตระหนักถึงปัญหานี้มากยิ่งขึ้น และต่อให้ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาไม่รู้จักวีแกนนี้มาก่อน หนึ่งมื้อที่มาที่นี่ เขาก็จะมีส่วนช่วยโลก ทั้งยังอาจจะได้รับความรู้เรื่องอาหารวีแกนติดตัวกลับไป
“หลายคนก็ไม่รู้หรอกว่าที่นี่เป็นคาเฟ่วีแกน ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นศิลปินที่เข้ามาวาด เขียน หรือดูผ้า ระหว่างคิดไอเดียสร้างสรรค์ เขาอาจจะอยากกินอะไรอร่อย ๆ ก็เลยสั่งโดยที่ไม่รู้ พอกินเสร็จถึงจะถามว่านี่คือเมนูอะไร นมอะไร เราก็ได้โอกาสเล่าเรื่อง Veganism ให้เขาฟัง ไม่มีนม ไม่มีเนย แต่คุกกี้ก็อร่อยและหวานได้ แค่นี้ก็ดีใจมากแล้ว เพราะนี่เป็นหนึ่งมื้อที่เขาได้ลดมลพิษให้โลก ไม่ว่าเขาจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่มันก็เป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ดีและมีคุณค่า”
หลังพกความตั้งใจอันเต็มเปี่ยม เธอและพ่อก็จัดแจงสร้างสรรค์เมนูวีแกนแสนอร่อย ไม่เพียงงดใช้เนื้อสัตว์ แต่ส่วนผสมที่นำมาทดแทนต้องมีคุณภาพ ที่สำคัญต้องถูกปากลูกค้า ทั้งคู่ปรึกษาเชฟอาหารวีแกนอย่าง Tida Wei ก่อนร่วมกันวางคอนเซ็ปต์เมนู Plant-based ที่ผสมผสานวัฒนธรรมอินเดียเข้ากับอัตลักษณ์ของท่าดินแดง จนได้เป็นเมนูสุดสร้างสรรค์ที่เสิร์ฟในขนาดพอเหมาะ หั่นเป็นชิ้น กินกับมื้อได้ เลือกผ้าไปกินไปก็หายห่วง
และนี่คือ 5 เมนูที่เราอยากชวนให้คุณลองเมื่อแวะไปกัปปร้า คาเฟ่

- น้ำตกหมูย่าง ที่ใช้เห็ดและขนุนแทนเนื้อหมู ก่อนชูรสด้วยซอสน้ำจิ้มแจ่วสูตรโฮมเมด เสิร์ฟบนขนมปังซาวโดวจ์ที่เหนียว นุ่ม ย่อยง่าย ถึงขนาดที่ว่า ตอนเขียนยังน้ำลายสอ อยากขอกินอีกหลาย ๆ รอบ
- สโมค 24 แครอท แครอทรมควันที่ถูกสร้างสรรค์ดั่งงานศิลปะจนคนกินได้กลิ่นท้องทะเล คลุกเคล้ากำลังดีกับวาซาบิซูพรีมครีม ตบท้ายด้วยการโรยคาเวียร์สูตรวีแกน อร่อยเพลินจนลืมว่าเมนูนี้ไม่มีเนื้อ
- ‘เอนเจล’ อาซาอิ เบอร์รี่ โบว์ล ชุ่มฉ่ำกับเนื้อผลไม้นานาชนิด ทั้งสตรอว์เบอร์รี่ เมลอน อัลมอนด์ ไปจนถึงอาซาอิ เบอร์รี่ ผลไม้มากคุณประโยชน์จากบราซิลที่กำลังมาแรงสุด ๆ ในแวดวงคนรักสุขภาพ

- คลาสสิก ช็อกชิพ คุกกี้ ไม่ใช้นม ไม่ใส่เนย แต่ เฮ้ย! หอม กรอบ อร่อย แบบที่สาวกคุกกี้และช็อกโกแลตจะติดใจตั้งแต่คำแรก
- ซิกเนเจอร์ เดอร์ตี้ หนึ่งในกาแฟวีแกนสูตรแรก ๆ ของกรุงเทพฯ ที่ขมอมหวานกำลังดี เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบดื่มกาแฟเบา ๆ และก่อนดื่มก็แชะภาพลงอินสตาแกรมได้ด้วยเพราะกาแฟสวยมาก
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเมนูชวนลองคงหนีไม่พ้นชาอินเดีย ที่สองพ่อลูกย้ำแล้วย้ำอีกว่า ยากมากกว่าจะได้สูตรที่ลงตัว
“เครียดมากตอนที่คิดว่าต้องทำชาอินเดียแบบไม่มีนม กว่าจะได้สูตรนี้มาต้องให้ยายเขาที่อายุเจ็ดสิบกว่าลองชิม เขาดื่มจนจะหมด เราถึงเฉลยว่าแก้วนี้ไม่มีนม เขางงมาก พูดเป็นเล่น เรายืนยันกับเขาว่าเรื่องจริง ยายก็ว่า งั้นโอเค ผ่าน!” โกบินเล่าอย่างออกรส
เคล็ดลับที่แท้จริงของชาอินเดียแบบฉบับกัปปร้า คือการใช้นมถั่วเหลือง Bonsoy แทนนมวัว จนได้รสสัมผัสที่แม้แต่คุณยายที่ทำชามาทั้งชีวิตยังติดใจ ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนผสมในทุกคำของกัปปร้ายังไม่ได้นำเข้ามาจากที่ไหน แต่หาได้จากในไทยทั้งสิ้น ช็อกโกแลตที่กินมาจากชุมพร เมล็ดกาแฟมาจากภาคเหนือ หรือน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารก็เป็นน้ำมันมะพร้าวของไทย แม้การใช้ส่วนผสมในท้องถิ่น โดยเฉพาะเมื่อนำมาปรุงเป็นเมนูวีแกนจะมีต้นทุนสูง แต่กัปปร้า คาเฟ่ก็เชื่อว่า สิ่งที่พวกเขาทำคือก้าวเล็ก ๆ ที่สำคัญ และเมื่อถึงวันหนึ่งที่มีคนนิยมทานวีแกนมากพอ ต้นทุนของวัตถุดิบก็จะถูกลง และแนวโน้มต่าง ๆ ในสังคมก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
เมื่อทั้งครอบครัวรวมตัวผลักดันเรื่องความยั่งยืน
เมื่อเหตุผลในการเนรมิตเมนู Plant-based ของสองพ่อลูกตั้งต้นจากแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainable) เราจึงขอถามทั้งคู่ต่อในประเด็นนี้
กุลินนาเดินไปหยิบบางอย่างที่หลังร้าน ในขณะที่โกบินเริ่มเล่า ชายเชื้อสายอินเดียบอกว่า ความตั้งใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมาจากลูกสาว ก่อนถูกต่อยอดเป็นคอนเซ็ปต์หลักของร้านที่ต้องการลดการทำลายโลกในทุกองค์ประกอบ แพ็กเกจจิ้งทั้งหมดของร้านพยายามเลี่ยงการใช้พลาสติกให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ ยอมจ่ายแพงกว่าแลกกับการแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า ธุรกิจและความยั่งยืนไปด้วยกันรอด
“เราอยากให้องค์กรต่าง ๆ ทำเหมือนกัน หรือในวงการผ้าเอง ทุกวันนี้เราก็ให้ความสำคัญกับผ้ารีไซเคิลมากขึ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ๆ จากเด็กรุ่นใหม่” คุณพ่อสรุป ก่อนที่ลูกสาวจะเดินออกมาพร้อมกล่องใส่อาหารจากเส้นใยพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการเคมีในขั้นตอนผลิต กัปปร้าใช้วัสดุชนิดนี้ทุกทีที่ลูกค้าสั่งอาหารกลับไปทานที่บ้าน กล่องขนาดเท่าฝ่ามือตรงหน้าใช้ต้นทุนมากกว่ากล่องโฟมหรือพลาสติกเกือบสิบเท่า
“เราตั้งเป้าไว้แต่แรกว่าจะไม่ให้กัปปร้าเป็นแบรนด์ที่ทิ้งพลาสติกไว้บนโลกอีกหลายร้อยปี ลูกหลานเราตายแล้ว แต่สิ่งที่ทิ้งจากร้านเรายังอยู่ เราไม่เอาแบบนั้น”
เธอพูดอย่างมั่นใจ และเราก็เชื่อ เพราะตอนจัดงานเปิดตัวร้านเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กัปปร้าก็เชิญชวนให้ทุกคนร่วมสนับสนุนโครงการ Big Tree โดยแทนที่ลูกค้าจะจ่ายเงินซื้ออาหารใน 5 วันแรก ทางร้านกลับนำเงินทั้งหมด รวมกับเงินสดส่วนตัวในจำนวนเท่ากัน บริจาคให้โครงการเพื่อนำไปใช้ดูแลต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศ กุลินนาเชื่อว่า จริง ๆ แล้ว ต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุกว่า 50 ปีคือสิ่งที่ดูแลและเป็นร่มเงาให้กับมนุษย์ แต่วันนี้คนไทยกลับนิยมปลูกต้นไม้ต้นใหม่มากกว่าดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ที่เก่าแก่

ปัจจุบัน ปรีตี สิริกุลธาดา คุณแม่ของกุลินนารักต้นไม้มากถึงขึ้นมีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเป็นของตนเอง คุณพ่อก็เป็นเจ้าแรก ๆ ของไทยที่ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลผ้าโพลีเอสเตอร์ ส่วนน้องสาวของเธอก็ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นเหมือนการผลักดันซึ่งกันและกันของสมาชิกในครอบครัว และอีกไม่นาน หากกิจการคาเฟ่เริ่มเข้าที่และสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น เธอจะกลับไปเรียนที่นิวยอร์กอีกครั้ง แนวคิดเรื่องความยั่งยืนในอีกซีกโลกก้าวหน้ากว่าไทยมาก จนเธออยากนำสารพัดไอเดียมาปรับใช้ในประเทศบ้านเกิด
“เราชอบไอเดียคอมมูนิตี้การ์เด้นมาก ๆ เมื่อก่อนนิวยอร์กเต็มไปด้วยมลพิษ คนป่วยเยอะมาก จนมีกลุ่มผู้หญิงผิวดำสูงอายุช่วยกันเอาปุ๋ย เอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูก จนทำให้สังคมเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้นิวยอร์กมีพื้นที่สีเขียวเยอะขึ้นมาก กลุ่มที่ริเริ่มก็ดีใจกันมาก เราซาบซึ้งกับสิ่งที่เขาทำและอยากเอาความรู้ตรงนั้นกลับมาทำที่นี่”
และอีกไม่นาน ที่ชั้น 5 ซึ่งเป็นดาดฟ้าของคาเฟ่ก็จะเริ่มปลูกต้นไม้เช่นกัน เราเริ่มอดใจไม่ไหว อยากเห็นสวยลอยฟ้าของที่นี่บ้างจัง
KAPPRA Graffiti และวิถีชุมชนท่าดินแดง
อีกหนึ่งสิ่งที่สอดแทรกอยู่แทบทุกองค์ประกอบของกัปปร้า คาเฟ่ คือร่องรอยของชุมชนท่าดินแดง สองพ่อลูกแสดงออกอย่างแรงกล้าว่า ต้องการให้ร้านเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งคู่แบ่งปันข้อมูลกับร้านกาแฟในย่าน เพื่อสร้างเป็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงและอบอุ่น ถัดไปจากกัปปร้าก็ยังมี Deep Root Cafe, บ้านอากง อาม่า และร้านน่าสนใจอีกมากมาย
“วันหน้าถ้าคนมาเดินเที่ยวที่นี่มากขึ้นก็ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสังคม ในซอยก็อาจจะค้าขายดีขึ้น สร้างงานสร้างอาชีพมากขึ้น เราอยากให้คนที่มาเห็นถึงความหลากหลายของท่าดินแดง ที่นี่ไม่ได้มีแค่ร้านกาแฟอย่างเดียว ถ้าคุณเป็นคอกาแฟก็มาได้ ชอบศิลปะก็มี รักผ้าก็มี เราอยากชวนยังไงก็ได้ให้คุณมาชุมชนนี้ โดยไม่จำเป็นต้องจบที่ร้านเรา” ผู้เป็นพ่อเล่าให้ฟัง

เพราะเหตุนี้ กำไรของกัปปร้าแทบทั้งหมดจึงย้อนกลับไปที่ชุมชน ตั้งแต่ทำธุรกิจทอผ้า เจ้าของกิจการก็รังสรรค์กิจกรรมเพื่อชุมชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกไปทำความสะอาด แจกอาหารให้คนในละแวก ไปจนถึงการให้ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานของมอเตอร์ไซค์วินท่าดินแดง แลกกับการดูแลต้นไม้ในสวนของแม่ปรีตี
มากไปกว่านั้น เราก็เพิ่งได้รู้ความจริงว่า คาเฟ่ที่นั่งอยู่เป็นฝีมือการออกแบบของนักเรียนและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในละแวก องค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกถูกออกแบบโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนภาพวาดบนกำแพงเป็นจินตนาการของนักเรียนจากวิทยาลัยเพาะช่าง
“เรากับคุณพ่อเดินเข้ามหาลัย ตรงไปหาอาจารย์แล้วถามเขาว่า มีเด็กที่พอมีฝีมือมั้ย เรามีโปรเจกต์แบบนี้ อยากให้นักเรียนนักศึกษาในชุมชนท่าดินแดงได้แสดงฝีมือ เรามีทุนการศึกษาเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เป็นการตอบแทน เขาอาจจะไม่มีพอร์ตงานมาโชว์ แต่เราเชื่อมั่นในตัวเขา บอกเขาว่านี่คือชุมชนของคุณ คุณอยากให้คนที่มาได้เห็น ได้รู้อะไร ก็วาดได้เต็มที่”

กุลินนานำไอเดียการออกแบบของนักศึกษาครึ่งหนึ่ง ผสมกับรสนิยมของตัวเองอีกครึ่งหนึ่ง จนได้เป็นหน้าตาของร้านแบบที่ใครเห็นเป็นต้องแวะมอง ด้านกราฟฟิตี้ด้านหน้าที่เราแวะถ่ายรูปตั้งแต่ตอนมาถึงก็สะท้อนธรรมชาติ ลวดลายของผ้า ตลอดจนอารยธรรมอินเดียได้อย่างลงตัว โกบินเล่าคอนเซ็ปต์ให้นักเรียนฟังทั้งเรื่องความยั่งยืน อาหารวีแกน ตลอดจนสิ่งทอ ก่อนพวกเขาจะต่อยอดเป็นกำแพงที่มีลวดลายน่าประทับใจ
“เหลือกำแพงอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าอยากใส่ประวัติศาสตร์ของท่าดินแดงเข้าไป วันหน้าใครมาตรงนี้จะได้รู้ว่าที่นี่มีความเป็นมาอย่างไร ตรงข้ามเป็นสำเพ็ง เยาวราช แต่ก่อนมีถนนน้อย ต้องขนส่งทางแม่น้ำ เราอยากให้คนรุ่นหลังได้รู้เรื่องราวเหล่านี้” หัวหน้าครอบครัวแห่งท่าดินแดงเอ่ยอย่างภาคภูมิ
Fabric Studio โชว์รูมผ้าที่เข้าใจลูกค้ามากกว่าใคร
เมื่อเหลือบไปมองขวามือของร้าน จะเห็นลานขนาดย่อมที่มีม้วนผ้านานาชนิดตั้งอยู่ ป้ายไฟเขียนว่าบริเวณที่เรากำลังดูคือ Cutting Studio โซนที่พร้อมตัดแต่งผ้าสำหรับลูกค้าที่มาพร้อมความตั้งใจส่วนตัว แต่ก่อนจะทำการตัด ผู้ที่มาก็ควรได้เลือกก่อนว่าตนเองต้องการอะไร จึงถึงเวลาที่เราจะไปสำรวจชั้นสองของที่นี่

หน้าบันไดมีหลอดไฟชมพูเหลืองส่งแสงเรือง ๆ ขดเป็นคำว่า Fabric Studio พ่อลูกนำทางเราขึ้นไปชั้นบน สู่ดินแดนที่เป็นดังสรวงสวรรค์ของบรรดาคนรักผ้าทั้งปวง
ในโชว์รูมแห่งนี้มีงานผ้าหลากสี หลายประเภท ตั้งแต่ผ้าแฟชั่น กันเปื้อน กันไฟ ผ้าที่ทำจากพืชอย่างกันชง ไปจนถึงสิ่งทอที่ใช้ในครัวเรือนอย่างผ้าม่าน โซฟา ตลอดจนผ้าสำหรับทำที่นั่งติดรถยนต์สำหรับเด็ก ทางซ้ายมือเต็มไปด้วยสมุดเล่มหนารวมลายผ้านานาชนิดเท่าที่มีอยู่ในคลัง ซึ่งสมุดทุกเล่มทำจากกระดาษรีไซเคิล ตรงกลางห้องคือตัวอย่างผ้ากองพะเนิน ที่เตะตาที่สุดเห็นจะเป็นผ้าแคนวาสพิมพ์ลาย ซึ่งทุกหลาทำมาจากผ้ารีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ และสุดท้ายทางขวามือคือบริเวณสำหรับนั่งคิด นั่งคุย ที่สองพ่อลูกจะนัดที่ปรึกษามาโยนไอเดียกับลูกค้าเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด ด้านหลังจึงเห็นเป็นกระดาษโพสต์อิทแผงใหญ่ที่ลูกค้าใช้บรรยายความรู้สึกที่ได้ทำงานร่วมกับพนักงานขายแต่ละคน


“ที่นี่เป็นสตูดิโอที่มีลูกค้าหลากหลายมาก จะดีไซน์เนอร์หรือคนทั่วไปก็เข้ามารู้ มาฟังนวัตกรรมการทำผ้าได้ เขาไปพาหุรัด อาจจะไม่มีคนให้คำปรึกษา แต่ถ้ามาที่นี่ ใครเข้ามาก็คุยกับเราได้ฟรี เราช่วยบอก ช่วยสอน บางทีไม่ใช่แค่สอนเรื่องผ้า แต่คุณพ่อสอนถึงขั้นว่า ถ้าอยากเปิดบริษัทต้องทำยังไง” ลูกสาวเริ่มเล่า ก่อนคุณพ่อเล่าต่อ
“เคยเจอเด็กเดินเข้ามาแล้วบอกว่า พี่ หนูไม่รู้อะไรเรื่องผ้าเลยนะ แต่อยากมีแบรนด์ เราก็เลยเริ่มรวบรวมรายชื่อช่างตัดผ้า พอเจอเด็กแบบนี้อีกก็จะบอกเขาได้ว่า ถ้าจะตัดแนวนี้ควรไปหาช่างคนไหน ก็ช่วยจับคู่ให้เขา เราไม่จำเป็นต้องได้ขายทุกครั้ง คิดแค่ว่า ถ้าช่วยอะไรได้นิดหน่อย เราก็ช่วย ที่นี่จึงเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน”
เรื่องราวที่เราประทับใจคือครั้งหนึ่ง โกบินสนใจอยากซื้อรองเท้าผ้าใบที่ทำจากผ้ารีไซเคิลของแบรนด์ Maddy Hopper แต่กลายเป็นว่าสีที่ต้องการหมด ต้องรอผลิตเป็นเวลานาน เจ้าของกิจการทอผ้าจึงไม่รอช้า ชวนธุรกิจรองเท้ามาพูดคุย เพราะอยากช่วยให้เขาขายสินค้าได้โดยที่ของไม่หมดสต็อก จากที่เคยดีไซน์ผ้าจำหน่ายอย่างน้อยครั้งละหมื่นหลา โกบินก็ยอมลดอัตราการผลิตเหลือเพียงห้าร้อยหลาเพื่อให้ตรงกับทุนการผลิตของ Maddy Hopper พร้อมเสนอไอเดียผ้ารีไซเคิลกันเปื้อนเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเผื่อแบรนด์รองเท้าจะสนใจ
พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นของทุกคนที่อยากสร้างสรรค์งานผ้าอย่างแท้จริง เพราะสองพ่อลูกรู้ดีว่าการเลือกสิ่งทอเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว ดังนั้น สิ่งสำคัญคือทุกคนบนชั้นนี้ต้องรู้สึกผ่อนคลายและมีอิสระเต็มที่ที่จะใช้จินตนาการแต่งแต้มลงบนผ้าทุกผืน และควรได้เลือกเส้นใยที่ตรงกับความต้องการในจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่สุด หากลูกค้าต้องการผ้าแค่หลาเดียว ที่นี่ก็ยินดีจำหน่าย ถ้าอยากออกแบบลายเอง ทางร้านก็เต็มใจนั่งคุย เพื่อนำไปสู่การถักทอที่ตรงใจ หรือถ้ามากับแก๊งเพื่อนเพื่อเลือกผ้าตัดเป็นชุดเข้าธีมก็ทำได้

“เราช่วยลูกค้าคิด คุณจะขายยังไง ขายทางไหน ถ้าผ่านอินสตาแกรมก็น่าจะราคาประมาณนี้ สีประมาณนี้ ที่ปรึกษาของที่นี่จะช่วยคิด บางทีเราก็ขายหลาเดียวกัน ให้เขาลองตัดชุดเดียวเพื่อถ่ายรูป ถ้าขายได้ ค่อยมาซื้อจากเราในปริมาณมากขึ้น เราอยากให้เขาเริ่มต้นธุรกิจโดยเสียหายน้อยที่สุด อยากให้เขามารู้จักผ้าได้ง่ายที่สุด เพราะจริงๆ แล้วงานผ้าไม่ใช่สิ่งน่ากลัว” สองพ่อลูกร่วมกันสรุป
เกร็ดความรู้จากสตูดิโอสิ่งทอ
“เวลาไปเปิดบูธที่เยอรมนี ผ้าของเราจะมีคำว่า Made in Thailand ซึ่งคนทั่วโลกให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มาก เขาเชื่อมั่นในฝีมือของไทย แต่ปัญหาคือทุกวันนี้เราไม่ได้แข็งแกร่งเท่าเมื่อก่อน”
ในวันที่กิจการทอผ้าถูกท้าทายโดยมหาอำนาจที่มีเทคโนโลยีการผลิตครบมือ คำถามคือโกบินมีกลยุทธ์ในเส้นทางสายนี้อย่างไร ไหนๆ ก็อยู่ที่ Fabric Studio เราจึงอดไม่ได้ที่จะขอความรู้จากผู้ที่คร่ำหวอดในวงการเสียหน่อย
“ถ้าผมสู้กับจีน ผมก็แพ้วันยังค่ำ ต่อให้ยอมขายขาดทุนก็ยังแพงกว่าผ้าจากจีน เพราะต้นทุนเขาถูกกว่า ฐานการผลิตเมืองไทยสู้จีนไม่ได้ ตอนปี 94-95 โรงทอผ้าในไทยปิดไปเกือบพันแห่ง สิ่งเดียวที่เราจะสู้เขาได้คือการออกแบบ เราจึงต้องมีลวดลายหรือผ้าแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ”
ประสบการณ์กว่า 20 ปี ทำให้วันนี้โกบินเลือกที่จะปรับตัวเพื่อต่อสู้กับฐานการผลิตยักษ์ใหญ่ วันนี้เขาอยากเรียกตัวเองว่าดีไซน์เนอร์ ที่แม้หลายครั้งจะออกแบบแล้วไม่มีคนซื้อ แต่เขาก็ยืนยันจะไม่หยุดออกแบบ เพราะนี่คือธุรกิจเดียวของครอบครัว ไม่มีธุรกิจสำรอง จึงขอออกแบบและทอต่อไปเรื่อย ๆ และถ้าหากลวดลายไหนต้องย้อมหรือพิมพ์ก็จะส่งต่อให้บริษัทที่ทำธุรกิจร่วมกันมาตลอดช่วยต่อยอดผลงาน


ผู้เป็นพ่อยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสิ่งทอเพิ่มเติมว่า จากที่สมัยก่อนประเทศไทยผลิตผ้าซาตินหรือผ้าต่วนใช้เองทั้งหมด มาวันนี้กลับเหลือผ้าซาตินไทยไม่ถึงห้าเปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นสินค้าจากจีน แม้จะเหลือเพียงน้อยนิด ผ้าซาตินไทยก็ยังเป็นที่ต้องการในตลาดเฉพาะกลุ่มอยู่ เพราะสินค้าจากแดนมังกรไม่สามารถใช้วิธีการผลิตที่จำเพาะต่อความต้องการของลูกค้าทุกรายได้
“เขาต้องการต่วน 110 กรัม ทั้งที่ทั่วไปของต่วนคือแค่ 95 กรัม เราก็ผลิตให้เขาเอาไปทำกางเกงมวยที่สีไม่ตก จุดแข็งอย่างหนึ่งที่เรามีคือเราควบคุมกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้ารายย่อยแบบที่จีนทำไม่ได้”
ทั้งนี้ โกบินยังหันมาพัฒนาผ้าที่ทอจากพืชอย่างกัญชง เพราะเป็นวัสดุที่ใช้น้ำเพียงหนึ่งในสามของการผลิตผ้าฝ้าย อายุการใช้งานมากกว่า ผิวสัมผัสนิ่มกว่า ดูดซับน้ำได้ดีกว่า อีกทั้งยังเป็นพืชที่ดูแลได้ง่ายเพราะทนต่อแมลงศัตรูพืช
แล้วทำไมคนไทยไม่ใช้ผ้ากัญชงตั้งนานแล้ว เราสงสัย
“ก็เพราะกัญชงนำไปทำยาเสพติดได้ ทุกรัฐบาลสมัยก่อนจึงห้ามปลูกกัญชงในประเทศ แต่ทุกวันนี้ก็เริ่มมีแล้ว” เจ้าของกิจการตอบทุกคำถามจนเรามั่นใจว่า ใครก็ตามที่เข้ามาใน Fabric Studio จะต้องได้ความรู้เรื่องผ้ากลับไปไม่มากก็น้อย

ไม่ใช่คู่แข่ง แต่คือคนที่มีความตั้งใจเดียวกัน
หลังทัวร์จนทั่วโชว์รูมจัดแสดงผ้า เราก็ลงบันไดกลับมายังคาเฟ่อีกครั้ง พร้อมโยนคำถามสุดท้ายให้สองพ่อลูก “อะไรทำให้เชื่อว่าร้านที่ขายอาหารวีแกนจะไปรอด โดยเฉพาะในช่วงโควิดแบบนี้”
“เราว่ายิ่งกว่าไปรอด มันจะไปได้ไกล เพราะเราทำทั้งหมดนี้ด้วยใจ ทุกคนที่เข้ามามีแต่คำชมเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ เขามาครั้งหนึ่งแล้วก็กลับมาใหม่ พาแฟน พาแม่ พาเพื่อนมา คอมมูนีตี้ของคนที่กินวีแกน คนรักผ้า และคนที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมีแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หรือหลายครั้ง คนในชุมชนนี้ก็แวะเวียนเข้ามาเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเรายังทำตามความตั้งใจของเราอยู่ ลูกค้าก็จะวนกลับมา ธุรกิจก็จะไปต่อได้” กุลินนาตอบทันควัน
ใต้ไฟสีเหลืองนวลในร้านสีขาว ลูกสาวและคุณพ่ออยากส่งต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อผ่านคาเฟ่อายุไม่ถึงเดือน ทั้งคู่ตั้งใจเปิดเผยข้อมูลทุกมุมของร้านอย่างเต็มที่ หากใครถามว่าวัตถุดิบนี้ได้จากที่ไหน พวกเขาก็ยินดีตอบ เพราะความตั้งใจเริ่มแรกคือ หากกัปปร้าประสบความสำเร็จ กิจการที่จัดสรรวัตถุดิบมาให้ก็ควรประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน กุลินนาและโกบินพร้อมช่วยโฆษณาให้คนไปอุดหนุนธุรกิจพันธมิตรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
แล้วถ้ามีคนทำตามแล้วทำได้ดีกว่าล่ะ
“จะยิ่งดีเลย นี่แหละจะตอบคำถามที่ว่าร้านจะไปรอดได้ยังไง ร้านจะไปรอดเพราะคนอื่นที่ทำได้ดีกว่าจะช่วยเรา กลุ่มที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยให้ธุรกิจทั้งหมดไปต่อได้” คุณพ่อตอบ
“ใช่ ถ้าเขาทำได้ดี เราไม่มีทางโกรธเลยนะ เพราะเราเองก็ได้บุญด้วย ยิ่งร้านวีแกนเติบโต เรายิ่งแฮปปี้ เราไม่คิดว่าเขาเป็นคู่แข่ง เพราะพวกเขาคือคนที่มีความตั้งใจแบบเดียวกัน สุดท้ายนี่คือคอมมูนี้ตี้ของวีแกนที่ทุกคนช่วยเหลือกัน” ลูกสาวตอบด้วยรอยยิ้ม

KAPPRA CAFE
ที่ตั้ง : 437/22 ถนนท่าดินแดง แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ 10600 (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : จันทร์ – ศุกร์ 9.00 – 18.00 น. เสาร์ – อาทิตย์ 9.00 – 17.00 น.
โทรศัพท์ : 080-080-4061
Facebook : Kappra Cafe
Website: Kappra Cafe