เราเดินบนทางเท้าเลียบถนนหลานหลวง เมื่อปีที่แล้วเคยมาเดินเที่ยวแถวนี้อยู่บ้าง การจราจรยังพลุกพล่านเช่นเคยแม้กระทั่งในวันธรรมดา เราก้มมอง GPS ในมือพลางมองเบื้องหน้าไปด้วย

กระทั่งสายตาไปสบกับบ้านรั้วไม้สีขาวเขียวที่มีป้ายติดไว้บนประตูว่า ‘บ้านนราศิลป์’ รู้มาว่าที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้นาฏศิลป์และการปักเครื่องโขนของย่านนางเลิ้ง แต่จุดหมายในวันนี้ไม่ใช่ที่นี่

เพราะปลายทางของเราคือบ้านหลังเก่าที่อยู่ในซอยเล็ก ๆ ใกล้กันกับบ้านนราศิลป์ ย่านนางเลิ้ง ย่านทรงเสน่ห์ที่จัดเก็บวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้มากมาย เราเดินเข้าซอยเล็ก ๆ ไปนิดเดียวก็เห็นบ้านไม้ที่พอเดาออกว่าบ้านหลังนี้มีอายุไม่ต่ำกว่าหลักหลายสิบปี เราเดินขึ้นบันไดเข้าไปในตัวบ้าน สิ่งแรกที่เห็นคือชุดไทยตัวพระ-ตัวนาง ลักษณะชุดคล้าย ๆ ชุดแสดงโขน แต่เราว่านั่นน่าจะเป็นชุดละครชาตรี ที่เดาว่าเป็นชุดละครชาตรีเพราะตอนนี้เรากำลังนั่งอยู่ในบ้านของศิลปินระดับตำนาน ผู้สืบทอดศิลปะการร่ายรำที่หลายคนอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำ เรายกมือไหว้ทำความเคารพ คุณแม่กัญญา ทิพโยสถ หรือ ครูจ๋า นักแสดงละครชาตรีคนสุดท้ายของตระกูล และเป็นศิลปินละครชาตรีคนสุดท้ายที่แสดงละครชาตรีแบบดั้งเดิม

หากพูดถึงศิลปะการแสดงของไทย หลายคนคงนึกถึงลิเก โขน หรือรำไทยเป็นอันดับแรก ละครชาตรีกลายเป็นศิลปะที่มีคนส่วนน้อยรู้จักหรือนึกถึง แต่นั่นก็เป็นแค่ภาพจำในยุคสมัยของคนรุ่นเรา ๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ละครชาตรีเป็นอีกการแสดงที่คนไทยนิยมรับชมกันมาก

แน่นอนว่าครูจ๋าของพวกเราก็เป็นนางเอกละครชาตรีที่มีพ่อยกแม่ยกอยู่ไม่น้อย

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ละครชาตรีที่เคยรุ่งเรืองเมื่อ 100 ปีก่อน กลายเป็นศิลปะหายากที่ผู้คนไม่รู้จัก มาสู่จุดที่เหลือผู้สืบทอดละครชาตรีคนสุดท้ายในเมืองไทย บทความนี้เป็นเรื่องราวเล็ก ๆ ที่จัดเก็บเรื่องเล่าละครชาตรีตั้งแต่ยุคบุกเบิก ยุคเปลี่ยนผันของละครชาตรี จนมาถึงยุคสุดท้ายของละครชาตรีผ่านเสียงอันไพเราะของครูจ๋า ทายาทรุ่นสุดท้ายผู้ถวายดวงใจและชีวิตให้ละครแห่งการร้อง เล่น เต้น รำ

ครูกัญญา ทิพโยสถ ศิลปินละครชาตรีและทายาทรุ่น 4 ของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี

คณะกัญญา ลูกแม่แพน

“ปีนี้แม่ 77 แล้วนะ เพราะแม่เกิด พ.ศ. 2489 เด็ก ๆ ชอบเรียกแม่ว่าครูจ๋า”

เราตาลุกวาวหลังได้ยินจำนวนตัวเลขที่คาดไม่ถึง เพราะแม่กัญญายังดูสดใสและแข็งแรงมาก (ขอเรียกว่าแม่กัญญา เพราะตอนพูดคุยกับครูจ๋า เราอดไม่ได้ที่จะต้องเรียกครูจ๋าว่าแม่จริง ๆ ค่ะ)

“แม่เป็นนางเอกละครชาตรีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เพราะว่าครอบครัวเราดำรงชีวิตด้วยการแสดงละครชาตรีเป็นอาชีพเดียวเลย ละครชาตรีเป็นอาชีพร้อง ๆ รำ ๆ ตอนแรกครอบครัวเคยอยู่นครศรีธรรมราช หลังจากนั้นก็ย้ายมานางเลิ้งช่วง พ.ศ. 2535 สมัยก่อนเขาเรียกตรงนี้ว่าสนามควายนะ แล้วเราก็หากินด้วยการแสดงละครชาตรีกันตรงนี้แหละ” แม่กัญญาเล่าให้เราฟังตามประวัติที่คุณตาเล่าให้เธอฟังอีกที

ละครชาตรีเริ่มแสดงในพระมหาราชวังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงต่อหน้าประชาชน กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์เห็นว่าละครชาตรีมีความแปลกใหม่และมีเสน่ห์ เพราะคนแสดงต้องร้องเพลงและรำด้วยตัวเองทั้งหมด เรียกง่าย ๆ ว่าคน 1 คนทำได้ทุกตำแหน่ง รัชกาลที่ 6 จึงทรงอนุญาตให้ละครชาตรีได้แสดงออกสู่สายตาประชาชน และให้คณะละครชาตรีรับจ้างงานแสดงได้

“แม่คาดว่าเป็นข้าราชการในวังเป็นคนแรกที่จ้างคณะของคุณตานะ เขาให้คณะเราไปแสดงแก้บน เขาบนอะไรไม่ทราบ แต่คนสมัยก่อนส่วนใหญ่เขามักบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน ถ้าคำขอสำเร็จก็เอาละครชาตรีไปแก้บน จุดกำเนิดละครชาตรีจึงเป็นการแสดงแก้บน หลังจากแสดงแก้บน ละครชาตรีก็เริ่มรับแสดงในงานมงคล ตอนนั้นคุณตาตั้งชื่อคณะว่า ‘คณะนายพูน’ สมัยนั้นไทยยังไม่มีนามสกุล ในเวลาต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘คณะนายพูนเรืองนนท์’ เป็นชื่อของคุณพ่อและคุณปู่ของ ตาพูน ผสมกัน คุณปู่ของตาพูนชื่อ เรือง คุณพ่อของตาพูนชื่อ นนท์ รวมกันเป็นนามสกุลใหม่ที่ตั้งเองต่อ ๆ กันมาคือ นามสกุลเรืองนนท์”

ครูกัญญา ทิพโยสถ ศิลปินละครชาตรีและทายาทรุ่น 4 ของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี
ครูกัญญา ทิพโยสถ ศิลปินละครชาตรีและทายาทรุ่น 4 ของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี

คณะละครชาตรีของครอบครัวแม่กัญญาถูกส่งต่อมา 4 รุ่น 

รุ่นแรกคือ พูน เรืองนนท์ (ตา) รุ่นสอง คือคณะของครูทองใบ เรืองนนท์ (รุ่นอา) รุ่นสาม คือคณะแม่แพน เรืองนนท์ (รุ่นแม่) และรุ่นปัจจุบัน (ที่อาจจะเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว) คือคณะกัญญา ลูกแม่แพน 

เรียกได้ว่าบ้านเรืองนนท์คือนักแสดงละครชาตรีกันทั้งตระกูล จึงไม่แปลกใจที่แม่กัญญาจะรับช่วงต่อศาสตร์นั้นมาด้วย เพราะละครชาตรีซึมซับอยู่ในสายเลือดของแม่กัญญาในทุกช่วงของชีวิต

“ช่วงที่แม่อายุ 11 – 12 ปี ตอนนั้นแม่ยังไม่รู้ว่าตัวเองรักละครชาตรี เพราะตอนนั้นแม่ชอบการเป็นนักร้องมาก แล้วมีโอกาสไปร้องเพลงด้วย แม่รับงานร้องเพลงข้างนอก เป็นการแอบคุณตา (ตาพูน) ไปร้องเพลงกับพี่สาวตอนกลางคืน เพราะเราซ้อมละครชาตรีตอนกลางวัน ปรากฏว่าถูกจับได้ ตาบอกว่าเรามันผ่าเหล่าผ่ากอ มาทำแบบนี้ได้ยังไง เพราะนักร้องนักดนตรีสมัยนั้นมีแต่ผู้ชายทั้งนั้น แต่แม่ก็ยังแอบร้องไปจนถึงอายุ 18 สุดท้ายแล้วคุณตาบอกว่า ถ้ายังฝืนอยู่ก็ไม่ต้องกลับมาเล่นละครชาตรีอีกเลย เพราะคุณตามองว่าแม่เป็นที่พึ่งพาให้กับคณะของเราได้ เพราะไม่ว่าใครจะส่งบทอะไร แม่รับได้หมด เป็นนางเอกได้ดั่งใจของคุณตามาก ๆ ในวัยนั้นแม่เลยได้รู้ว่าแม่รักละครชาตรีมาก ชนิดที่ว่ายังไงก็ตัดขาดไม่ได้”

แม่กัญญาเป็นนางเอกที่หาตัวจับยาก ใช้ประโยคนี้คงไม่เกินจริงนัก! เพราะแม่กัญญาเล่าให้ฟังว่า ที่คุณตาพูนฝากความหวังไว้มากมายขนาดนั้น เพราะแม่กัญญาเป็นนางเอกตั้งแต่ 7 ขวบ ยิ่งไปกว่านั้น แม่กัญญาเป็นนางเอกที่น้ำตาสั่งได้ ดราม่าซีนก็เล่นได้ ซีนตลกก็ถนัด เล่นบทลูกก็เอาอยู่ แน่นอนว่ากว่าจะได้ทักษะเหล่านี้มา ไม่เพียงแค่มีพรสวรรค์ติดตัว แต่แม่กัญญาต้องฝึกฝนเป็นประจำทุกวันอย่างไม่ขาด 

“คณะเราใช้แค่คนในครอบครัวเล่น ไม่มีคนอื่นมาร่วมเล่นด้วย แม่แพน เป็นคนสอนละครให้คนในครอบครัว แม่เองก็ซึมซับมาจากทั้งแม่แพนและตาพูน เหตุผลที่ต้องเป็นคนในบ้านเดียวกันเท่านั้น เพราะคณะของเรามีกรอบการเล่นละครชาตรีอยู่ บทร้องเราก็แต่งเนื้อกันเอง เนื้อร้องและโครงเรื่องมักอ้างอิงจากบทพระราชนิพนธ์ แล้วเราก็มาแต่งวิธีเล่น วิธีร้อง บทพูดโต้เถียง หรือมุกตลกให้เป็นในสไตล์ของครอบครัวเรา ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่ได้เล่นตามบทเป๊ะ ๆ ต้องไหลไปตามสถานการณ์ความรู้สึกของตัวละคร

“นักแสดงละครชาตรีต้องมีไหวพริบมาก ๆ นอกจากไหลบทแล้ว ต้องร้องเพลงชาตรีให้ถูกด้วย ตรงไหนต้องร้องยังไง เพลงชาตรีมีอยู่ 3 เพลงใหญ่ คือเพลงโทน รำพัด และการร่าย ส่วนการรำ เราจะใช้เฉพาะดนตรีชุดละครชาตรีล้วน ๆ ไม่เอาดนตรีอื่นผสม ความดั้งเดิมของคณะแม่คือสิ่งเหล่านี้”

ครูกัญญา ทิพโยสถ ศิลปินละครชาตรีและทายาทรุ่น 4 ของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี
ครูกัญญา ทิพโยสถ ศิลปินละครชาตรีและทายาทรุ่น 4 ของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี

เพชรน้ำเอกแห่งศิลปะละครไทย

ระหว่างที่นั่งพูดคุยกัน เราไม่ได้ถามคุณแม่มากมาย ในทางกลับกัน แม่กัญญามีเรื่องราวมากมายที่อยากเล่าให้เราฟัง แววตาของหญิงวัย 77 ปีที่ยังคงสดใสและเปี่ยมแพสชันในละครชาตรี ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะถามว่า สำหรับคนที่สนใจเรียนละครชาตรี แต่รำไทยไม่เป็น มือไม้ก็ไม่อ่อนช้อย แถมยังร้องเพลงได้ไม่ดี จะเรียนละครชาตรีได้บ้างไหม แม่กัญญาหัวเราะเบา ๆ ก่อนจะตอบเราด้วยรอยยิ้ม 

“ถ้าคิดว่ายาก ก็ยากนะ เพราะจริง ๆ ละครชาตรีไม่ยากเลย หนูแค่ต้องท่องบทให้ได้ ถ้าหนูไม่ได้คำร้อง ก็จะต่อท่ารำไม่ได้ ฉะนั้นการเริ่มต้น ต้องได้ทำนองและเนื้อร้องก่อน ถ้าไม่ได้เนื้อ ก็ไม่รู้จะรำไปทางไหน แสดงออกสีหน้าท่าทางอย่างไร ทุกอย่างต้องมาพร้อม ๆ กัน แต่เนื้อร้องต้องมาอันดับแรก ละครชาตรีไม่เน้นความอ่อนช้อยขนาดนั้น ขอแค่ร้อง เล่นบท และรู้จักท่ารำในแบบตัวพระ-ตัวนางได้ก็พอแล้ว”

วัยรุ่นอย่างเราถึงกับกุมขมับ แม้อายุยังน้อยนัก แต่ความจำของเราช่างสั้น การจะท่องจำบทยาว ๆ ให้ได้อย่างไม่บกพร่อง ดูท่าจะเป็นไปไม่ได้สำหรับเรา แม่กัญญาหัวเราะกับข้อหนักใจของเราอีกครั้ง

“ตอนแม่เล่นละครสมัย 7 ขวบ แม่ท่องบทไม่นานเลยนะ อย่างที่บอกว่ามันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว น่าจะท่องได้ตั้งแต่ 3 – 4 ขวบด้วยซ้ำ แม่เล่นบทละครได้ทุกตัวละครเลย อย่างที่บ้านเล่น 10 เรื่อง แม่ต้องท่องบททั้ง 10 เรื่องในวัย 11 ขวบ แต่ที่แม่ทำได้ขนาดนี้ ไม่ใช่แค่มีสายเลือดละครชาตรีหรอก แต่มันคือพรแสวงและแม่ก็สนใจด้วย คุณตาพูนก็ชี้หน้าสอนทุกวันว่า ถ้าทำอะไรต้องทำให้จริง ต้องทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น สมมติคำพูดที่ต้องต่อบทเล่นมีทั้งหมด 10 คำ ถ้าเราพูด 10 – 11 คำ นั่นคือสิ่งที่ควรทำได้ แต่ถ้าขาดแม้แต่คำเดียวคือไม่ได้เลย ต้องฝึกจนกว่าจะทำให้ได้มากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ มีบางครั้งที่เหนื่อย แต่แม่ก็คิดแค่ว่าท้อได้นะแต่ห้ามถอย เหนื่อยก็ยืนนิ่ง ๆ อยู่กับที่ ถ้ายืนอยู่กับที่เรายังพอจะก้าวต่อได้ แต่ถ้าถอยไปเลย เราจะก้าวต่อไม่ได้อีก อย่างตอนนี้ที่แม่ยังอยู่กับละครชาตรีแบบสู้ไม่ถอย เพราะไม่อยากให้ละครชาตรีหายไป ไม่อยากให้ความสวยงามของละครชาตรีหายไปจากวงการละครไทยจริง ๆ”

ครูกัญญา ทิพโยสถ ศิลปินละครชาตรีและทายาทรุ่น 4 ของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี

แม่กัญญาอธิบายต่อถึงเรื่องการท่องจำบทว่า การท่องจำบทต้องจำไปด้วยและแสดงไปด้วย ช่วงที่ฝึกฝนการท่องบทละครครั้งแรก คุณตาพูนเป็นผู้คอยบอกบทอยู่ข้าง ๆ แม่กัญญาต้องฟังให้ทันแล้วร้องตามบทให้เข้ากับเสียงดนตรีให้ได้ ถ้าร้องผิดคำเดียวก็ร้องเริ่มต้นใหม่ และทำซ้ำอยู่แบบนั้น 

“สมัยก่อนคนมักพูดว่าจุดสำคัญของละครชาตรีมี 3 อย่าง คือการโหมโรง การรำซัดหน้าเตียง และการต่อบท ตอนเล่นแรก ๆ ยังจำบทไม่ได้ มีคุณตาเป็นคนบอกบทให้ แต่สุดท้ายคุณตาก็บังคับให้จำให้ได้ เพราะคุณตาบอกว่า ถ้าตาตายใครจะมานั่งบอกบท แม่ได้ยินแบบนั้นก็ตั้งใจจำบทยิ่งกว่าเดิมอีก”

ละครชาตรีมีบทละครค่อนข้างยาว และบางครั้งคน 1 คนต้องรับบทเป็นตัวละครหลายตัว เพราะคณะละครชาตรีเล่นกันแบบละครครอบครัว นักแสดงที่ชำนาญจริงมีน้อย โดยเฉพาะการแสดงแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้ความคุ้นชินกับบท และต้องเข้าใจจังหวะการต่อบทสนทนากับคู่รับด้วย ดังนั้น บางครั้งละครชาตรีจึงมีผู้บอกบทอยู่ข้าง ๆ นักแสดง เพื่อเตือนนักแสดงว่าต้องร้องเพลงไหนหรือใช้บทอะไร ซึ่งแม่กัญญาบอกเราว่าหน้าที่นี้ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ และแน่นอนว่าไม่มีใครบอกบทได้ดีเท่าคุณตาพูนอีกแล้ว

ครูกัญญา ทิพโยสถ ศิลปินละครชาตรีและทายาทรุ่น 4 ของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี
ครูกัญญา ทิพโยสถ ศิลปินละครชาตรีและทายาทรุ่น 4 ของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี

 “เราจำบทเองให้แม่นดีที่สุด เพราะคนรุ่นหลังไม่รู้จังหวะการบอกบท เขาอ่านบทตามแล้วก็บอกนักแสดง บางคนบอกบทไวไป บางคนช้าไป ฉะนั้นทุกอย่างต้องจำ อีกอย่างคือละครชาตรีมักมีตัวตายตัวแทน บางวันเล่นเป็นนางร้าย พอหมดฉากนางร้าย ก็ต้องเป็นนางเอก หรือเป็นผู้ช่วยตัวละครอื่น”

เห็นว่าคณะละครชาตรีมีคนน้อยและต้องสับเปลี่ยนบทกันแบบนี้ แต่ละครชาตรีไม่ได้เล่นกันสั้น ๆ นะ เพราะทุกครั้งที่ออกแสดงงาน ละครชาตรีแสดงกัน 1 วันเต็ม ๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเลยทีเดียว 

“เมื่อก่อนแม่เคยได้ยินบางคนบอกว่าไม่ชอบละครชาตรีเลยเพราะมีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น เล่นกันไม่กี่คน แต่ดันเล่นถึง 4 โมงเย็น แบบนี้จะสนุกได้ยังไง แต่คนที่ชอบดูก็มีอยู่มาก เพราะละครชาตรีเหมือนลิเกอย่างหนึ่ง คนมักชื่นชอบลิเกกับละครชาตรีที่ตัวละคร ผู้ชมชอบคนไหนก็มาดูคนนั้น ใครเล่นแล้วถูกใจก็ได้เงิน ถ้าแสดงดี เข้าบทดี นักแสดงคนนั้นก็เป็นที่นิยม แม่พูดได้เลยว่านักแสดงละครชาตรีมีคุณภาพ มีความสามารถ ถ้าไม่มีความสามารถทั้งรำ ร้อง และเล่นจริง ๆ ก็จะอยู่ในวงการละครได้ไม่นานแบบแม่”

นับตั้งแต่วันแรกที่คณะนายพูนเรืองนนท์เริ่มแสดงละครชาตรีครั้งแรก จนมาถึงวันนี้ที่เราได้รู้ถึงการมีอยู่ของละครชาตรี นับเป็นเวลาทั้งหมด 131 ปี แม้ว่าวันนี้ทั้งคณะจะเหลือเพียงแม่กัญญาเป็นผู้สืบทอดในฐานะครูสอนละคร แต่เราก็ยังนับว่าแม่ยังอยู่ในวงการละครชาตรีโดยไม่เคยทอดทิ้งมรดกนี้ไปไหน

“ตอนนี้แม่ก็สอนทุกคนที่สนใจ แม่สอนฟรี ขนาดคนญี่ปุ่นยังมาเรียน เราอยากให้เขารู้ว่าประเทศไทยมีสิ่งสวยงามกว่าที่คิด ให้เขาเป็นคนไปเผยแพร่ เล่าปากต่อปาก จะได้มีคนมาเที่ยวนางเลิ้งเยอะขึ้น ส่วนมากฝรั่งเขาก็สนใจมาเรียนรู้กับแม่อยู่แล้วนะ ต่างชาติหลายคนก็มาบันทึกท่ารำของแม่ไปเผยแพร่ และทำให้คนรู้จักเมืองไทยมากขึ้น ตอนนี้ก็เรียกได้ว่าแม่เป็นครูละครชาตรีจริง ๆ แล้ว”

ความรุ่งเรืองสู่การโรยรา

จากเมื่อก่อนที่ไม่ว่าจะงานมงคล งานแก้บน หรืองานศพก็ต้องมีละครชาตรีไปแสดง

แต่ท้ายที่สุด ยุครุ่งเรืองของละครชาตรีดั้งเดิมก็ถึงคราวต้องซาลง จุดเปลี่ยนผ่านใหญ่ที่ทำให้ละครชาตรีทุกวันนี้เปลี่ยนไป และละครชาตรีแท้ ๆ เหลือเพียงแต่แม่กัญญาที่นั่งคุยกับเราในวันนี้

“ครอบครัวเราแสดงละครชาตรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2435 แต่เลิกแสดงช่วง พ.ศ. 2500 ไม่มีใครมาทำให้เราเลิกแสดงกันหรอกนะ แต่ปัญหามันอยู่ที่ครอบครัวของแม่เอง น้าชายของแม่ไปเอาเครื่องดนตรีอื่นมาผสมในวงละครชาตรี แต่คุณตารู้สึกว่ามันไม่เข้ากัน จึงเกิดความขัดแย้งในครอบครัวขึ้นมา”

เครื่องดนตรีของละครชาตรีแท้ ๆ ได้แก่ โทน กลองชาตรี ปี่ กลองเล็ก ฉิ่ง ฉับ และฆ้อง 

“คุณอายังคงรบเร้าเรื่องเครื่องดนตรี สุดท้ายเลยตกลงกันว่า งั้นไม่ต้องเล่นละครชาตรีดั้งเดิมให้คนนอกดูแล้ว เล่นฉบับดั้งเดิมเฉพาะเวลาที่พระราชวังเรียกเข้าไปเล่นให้ดู ในยุคหลัง ๆ นี้ละครชาตรีเลยกลายเป็นละครชาตรีประยุกต์ ปัจจุบันเราเลยเห็นละครชาตรีหลายรูปแบบเลย” แม่กัญญาเล่า

ความไม่เข้ากันที่คุณตาพูนแย้งไว้ คือการลองใส่ระนาดเข้าไปในวงดนตรีละครชาตรี แต่เสียงระนาดมีความชัดและแหลม ทำให้กลบเสียงร้องของนักแสดง รวมถึงกลบเสียงเครื่องดนตรีอื่นในวง

ความเปลี่ยนแปลงในวันนั้นทำให้ละครชาตรีดั้งเดิมมีงานแสดงแบบประปราย คนสานต่อมรดกทางวัฒนธรรมของตระกูลก็น้อยลง ความโรยราลากยาวมาถึงช่วง พ.ศ. 2550 ละครชาตรีกลายเป็นการแสดงเฉพาะถิ่น เป็นละครหายากที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อสาธิตให้นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติชม

เรื่องราว 'ครูกัญญา ทิพโยสถ' กับการส่งต่อละครชาตรีดั้งเดิมของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี และอยู่รอดด้วยการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

“ต่างชาติเขาชมเรามากเลยนะ จริง ๆ มีนักบัลเลต์เคยมาดูแล้วเขาก็ขอเอาท่าละครชาตรีไปประยุกต์ให้เข้ากับการแสดงบัลเลต์ เพราะละครชาตรีสวยงามและน่าสนใจมาก สมัยนี้กลายเป็นสิ่งหายากไปแล้ว แม่ก็ไม่อยากให้ละครชาตรีหายไปนะ ยุคสมัยมันเปลี่ยน ละครชาตรีก็ต้องปรับตัวตาม”

“สาเหตุที่เริ่มสอนละครชาตรีในปีนั้น เกิดจาก น้องแดง (คุณแม่ของ น้ำมนต์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอีเลิ้ง) เดินเข้าก็มาถามว่า พี่ญาเล่นละครชาตรีได้ไหม แม่เลยตอบน้องแดงว่า แม่เป็นละครชาตรี แม่ไม่ได้บอกแค่ว่าแม่เล่นได้ แต่แม่ตอบว่าแม่เป็น เพราะใคร ๆ ก็เล่นละครชาตรีได้ แต่เล่นเป็นจริง ๆ น้องแดงเลยบอกว่า หนูจะจ้างมาสอนละครชาตรีให้เด็กในชุมชนได้ไหม แม่รีบตอบเลยว่าไม่ต้องจ้าง ใครจะเรียนก็มาเรียน แม่สอนให้ฟรี และไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่เด็กย่านนางเลิ้ง ใครอยากเรียนก็ให้เขามาเรียนฟรีได้เลย 

“แม่ดีใจมาก เพราะละครชาตรีหายไปตั้งแต่ พ.ศ. 2500 น้องแดงเลยบอกกับแม่ว่า หนูไม่อยากให้คนลืมละครชาตรี ซึ่งแม่เองก็คิดเช่นเดียวกัน แม่เลยปฏิญาณใจกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านว่า เราจะทำให้ดีที่สุด ทำให้คนไม่ลืมละครชาตรี ทำให้ดีเท่าที่เราได้เรียนรู้จากทุกคนในครอบครัวมาเลย”

แม่กัญญายังคงย้ำกับเราว่าทุกความดั้งเดิมย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับการอยู่รอดของละครชาตรีที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เราเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ละครชาตรีเป็นละครใน ถูกเปลี่ยนมาเป็นละครนอกที่รับงานแก้บน จนขยับขยายไปสู่งงานมงคลและงานไม่มงคล กระทั่งการเกิดขึ้นใหม่ของละครชาตรีประยุกต์ จนมาถึงปัจจุบันที่ละครชาตรีกลายเป็นบทเรียนให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา 

นอกจากเด็กๆ ในย่านนางเลิ้งจะมาเรียนรู้ละครชาตรีแล้ว บ้านไม้เก่าหลังนี้ยังเต็มไปด้วยนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่มักมาเก็บข้อมูลทุกกระเบียดนิ้วจากครูจ๋าเพื่อไปทำเป็นวิทยานิพนธ์ด้วย

“ล่าสุด น้ำมนต์ (ผู้ก่อตั้งกลุ่มอีเลิ้ง) เขาเอาท่ารำละครชาตรีไปทำ 3D แล้วเอาไปเผยแพร่ต่อ เขาให้แม่ไปยืนทำท่าทุกท่ารำ ทำเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวเอาไว้ แม่ดีใจที่เด็ก ๆ เอาเทคโนโลยีมาใช้เก็บท่ารำได้โดยไม่ทำให้ความดั้งเดิมของละครชาตรีหายไป เขาเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์แล้วก็เอาไปดัดแปลง ซึ่งแม่ก็ยินดีมากจริง ๆ เพราะของแบบนี้แม่รู้ว่าตัวแม่เองไม่มีโอกาสอยู่ได้นานถึงตอนสุดท้ายที่ได้เห็นการมีอยู่ของละครชาตรีไปเรื่อย ๆ แต่แม่เชื่อมั่นว่าความก้าวหน้าจะทำให้ละครชาตรียังคงอยู่ต่อไปได้”

เรื่องราว 'ครูกัญญา ทิพโยสถ' กับการส่งต่อละครชาตรีดั้งเดิมของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี และอยู่รอดด้วยการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย
เรื่องราว 'ครูกัญญา ทิพโยสถ' กับการส่งต่อละครชาตรีดั้งเดิมของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี และอยู่รอดด้วยการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

ที่บอกว่าแม่กัญญาคือผู้สืบทอดคนสุดท้ายของคณะละครชาตรีดั้งเดิม เพราะแม่กัญญาแอบกระซิบให้เราฟังว่า ลูกชายของแม่กัญญาก็ทำตามฝันและลงมือทำในสิ่งที่เขาชอบ นั่นคือการทำเครื่องดนตรี ซึ่งแม่กัญญาก็ยังเชื่อมั่นว่าละครชาตรีจะประจักษ์ในสายตาของคนในทุกยุคทุกสมัย

“ละครชาตรีเป็นทุกอย่างสำหรับแม่ เป็นเหมือนผู้มีพระคุณและผู้ให้กำเนิด ราวกับว่าละครชาตรีคือสิ่งที่คอยเชื่อมและบ่งบอกว่า เอ็งเป็นครอบครัวและเป็นลูกหลานของข้า (ละครชาตรี) เป็นความรู้สึกที่ถูกส่งต่อ เป็นชีวิตที่ถูกส่งทอดโดยพ่อแก่ ชีวิตเราเกิดมาจากพ่อกับแม่ แต่พ่อแก่คือต้นกำเนิดของชีวิต

“เวลาที่เราร้องรำละครชาตรีที่บ้าน ต้องไหว้ครู ต้องบูชาพ่อแก่ก่อนเป็นอันดับแรก พ่อแก่เปรียบเสมือนสิ่งหล่อเลี้ยงความรู้สึก บางครั้งที่ไม่มีงานแสดง เราก็ไปขอพรจากท่าน แต่ขอแล้วก็ต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด เสมอต้นเสมอปลายด้วย ครอบครัวเราเลยถือคติกันว่า ‘ร้องสุดคำ รำสุดเสียง’ บอกได้เลยว่าวันไหนที่เราหมดลมหายใจจริง ๆ ละครชาตรีคงไม่มีอีกแล้ว ถ้าเกิดใหม่ได้ เราไม่ขอเป็นอื่น ถึงใครจะว่าหากินลำบาก แต่เราไม่สนใจ เพราะเรารักละครชาตรีมาก ๆ ขอเกิดป็นลูกหลานพ่อแก่เหมือนเดิม”

ก่อนเราไหว้ขอบคุณแม่กัญญาที่เล่าเรื่องราวอันน่าจดจำให้เราฟัง แม่กัญญาย้ำกับเราว่า

“ละครชาตรีคือเพชรน้ำเอกในชีวิตของแม่”

เรื่องราว 'ครูกัญญา ทิพโยสถ' กับการส่งต่อละครชาตรีดั้งเดิมของตระกูลที่สืบทอดละครชาตรีมา 131 ปี และอยู่รอดด้วยการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ