เช้าตรู่ของวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ณ สนามบินคันไซ หญิงสองวัยกับเป้ใบเขื่องที่ตั้งใจจะตะลุยกิน เที่ยว และเสพวัฒนธรรมญี่ปุ่นฉบับแบกแพกเกอร์ ที่มาเยือนดินแดนอาทิตย์อุทัยเป็นครั้งแรก เมื่อคนหนึ่งเกิดในยุคดิจิทัลและอีกคนเกิดในยุคแอนะล็อก ความมั่นใจต่างสมัยส่งผลให้พวกเราเชื่อใจในไกด์นำทางที่ต่างกัน เมื่อเธอมั่นใจใน Google Maps ต่างกับฉันที่โตมากับยุคเฟื่องฟูของหนังสือไกด์บุ๊ก ในมือของเธอจึงเป็นสมาร์ทโฟน ส่วนฉันอุ่นใจกับหนังสือนำทาง 

สองไกด์นำเรามาถึงทางออกสถานีรถไฟเพื่อไปตั้งหลักยังเมืองเก่าเกียวโต

แต่ก่อนตะลุยเที่ยวตามแผนการที่วางไว้ เราก็สะดุดตากับไกด์นำทางใหม่ที่สถานีรถไฟ ซึ่งเป็นแผนที่ที่ทำไว้อย่างละเอียดจนแทบรู้สึกเหมือนกับว่า ‘ได้พกเพื่อนชาวญี่ปุ่นติดตัวไปด้วยทุกแห่ง’

สองสาวแบกเป้ตะลุยเกียวโต โกเบ โอซาก้า กินเที่ยวตามรอยร้านอาหารใน Netflix

มุ่งหน้าสู่เกียวโต : อาราชิยาม่า (Arashiyama) ป่าไผ่และชาเขียวแสนอร่อย

สองสาวแบกเป้ตะลุยเกียวโต โกเบ โอซาก้า กินเที่ยวตามรอยร้านอาหารใน Netflix

เมื่อไกด์ในมือ 3 สไตล์มีความเห็นพ้องกัน การเดินทางจากที่พักจึงเป็นไปด้วยความราบรื่น

ภาพใบไผ่ลู่ลมพัดปลิวไหว เหมือนที่เห็นจากโปสการ์ดวัยเด็ก คืออาราชิยาม่าที่เราตั้งใจมาในวันนี้ สัมผัสของความหนาวเย็นและกลิ่นของความสดชื่น คือสิ่งยืนยันว่าเรามาถึงที่นี่แล้ว 

ผู้คนมากมายยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพเก็บความทรงจำอันประทับใจ เราอยากเต็มอิ่มกับสถานที่ให้มากที่สุด จึงค่อย ๆ เดินจนทั่ว หยุดดูความงามจากสีสันของดอกไม้ จนมาถึงริมแม่น้ำโฮซุกาวะ (Hozugawa River) เรานั่งละเลียดมองดูเรือที่พายผ่านไปอย่างช้า ๆ

สองสาวแบกเป้ตะลุยเกียวโต โกเบ โอซาก้า กินเที่ยวตามรอยร้านอาหารใน Netflix

เก็บแรง เติมพลัง พักขา แล้วค่อยออกเดินมาถึงถนนใหญ่ สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านรวงมากมายที่แวะลิ้มชิมอาหารได้ตลอดแนว และที่ยอดฮิตคงหนีไม่พ้นขนมหลากประเภทจากชาเชียว ทั้งเค้กขอนไม้ ช็อกโกแลต โมจิ แซนด์วิชคุกกี้ แต่ที่ทำให้เรากล้าฝ่าความหนาวเย็นเพื่อแลกกับประสบการณ์แห่งรสชาติในครั้งนี้ คือ ไอศกรีมแสนนุ่มละมุนทว่าหนักแน่นด้วยชาเขียวที่แทรกผ่านทุกอณูของเนื้อสัมผัส จนเกือบสำลักผงชาเชียวที่ออนทอปมา  

ความเข้มข้นของชาเชียว ทำให้เราต้องไปถึงเมืองอุจิ (Uji) จากสถานีรถไฟอุจิ เดินตรงไปไม่ไกลนักจะพบร้าน Nakamura Tokichi ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สามแยก บรรยากาศภายในมีลูกค้ามากมายตั้งตารอคอยมื้ออาหารแสนพิเศษ ภายใต้อากาศหนาวเย็นท่ามกลางละอองหิมะโปรย เมื่อถึงคิวสั่งอาหาร เราเลือกที่นั่งด้านในเพราะมีไออุ่น หลังจากดูเมนูซึ่งแน่นอนว่าเราเลือกจากรูปภาพตามเคมีที่ต้องกัน จนได้โซบะชาเขียวเส้นเหนียวนุ่มในน้ำซุปร้อนกลมกล่อม พร้อมเรียกความสดชื่นด้วยไอศกรีมชาเขียว โมจิ ถั่วแดงกวนที่เสิร์ฟมาในถ้วยไม้ไผ่เป็นของหวานตบท้าย

สองสาวแบกเป้ตะลุยเกียวโต โกเบ โอซาก้า กินเที่ยวตามรอยร้านอาหารใน Netflix

แสงในฤดูหนาวที่เข้ากันกับเรื่องเล่าจากไกด์บุ๊กถึงเมืองอุจิ ในฐานะต้นกำเนิดวรรณกรรมสุดแสนคลาสสิกของญี่ปุ่น เรียกร้องให้เดินทอดน่องไปชื่นชมประติมากรรมตามจุดต่าง ๆ ของเมือง น่าเสียดายที่เรามีเวลาเพียงได้ชมรูปปั้นหินของมุระซะกิ ชิกิบุ (Murasaki Shikibu) ผู้ประพันธ์นวนิยายระดับโลก ณ ริมน้ำอุจิ ก่อนลาเมืองเล็ก ๆ ที่งดงาม  

สองสาวแบกเป้ตะลุยเกียวโต โกเบ โอซาก้า กินเที่ยวตามรอยร้านอาหารใน Netflix

โกเบ : เยือนปราสาทนกกระยางขาว

ภายใต้ชื่อเสียงของจังหวัดเฮียวโงะที่เลื่องลือในความอร่อยของเนื้ออย่างโกเบ ยังมีปราสาทที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ปราสาทซึ่งงดงามที่สุดของญี่ปุ่น ความงามที่เย้ายวนของประสาทนกกระยางขาว หรือ ฮิเมจิ แม้ต้องเดินทางจากเกียวโตกว่า 2 ชั่วโมง ก็สร้างแรงดึงดูดให้เราต้องก้าวเท้าไปชื่นชม จากสถานีรถไฟฮิเมจิยังต้องเดินเท้าไปตามรอยของ Google Maps เป็นระยะทางถึง 1.4 กิโลเมตร

สองสาวแบกเป้ตะลุยเกียวโต โกเบ โอซาก้า กินเที่ยวตามรอยร้านอาหารใน Netflix

ปราสาทสีขาวสูงใหญ่ขนาดแหงนหน้าจนคอตั้งบ่า คล้ายกล่าวถ้อยคำเชื้อเชิญให้ขึ้นไปสำรวจโครงสร้างภายในที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้แบบดั้งเดิม มีทั้งชั้นวางอาวุธอย่างปืนและหอก ช่องขนาดเล็กสำหรับยิงปืนและธนู ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แถมบริเวณกำแพงปราสาทยังมีช่องสำหรับปล่อยหินก้อนใหญ่ใส่ข้าศึกด้วย 

ความสูง 32 เมตรกับขั้นบันไดที่แสนชัน ทำให้กล้ามเนื้อขาถึงขั้นสั่นเกร็ง แต่การได้ลงมานั่งรับลมเย็นดูผู้คนพาสุนัขมาเดินเล่น โดยมีปราสาทฮิเมจิเป็นฉากหลังสลับกับมองเหรียญที่ระลึกในมือ อันเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งผู้พิชิตปราสาทฮิเมจิ พร้อม ๆ กับนั่งกินไอศกรีมหลากรสหลายแบบจากตู้กด ก็ทำให้ความล้าหดหายไป ก่อนท้องจะร้องเรียกให้ไปชิมสเต๊กชั้นเลิศแห่งเมืองโกเบ 

สองสาวแบกเป้ตะลุยเกียวโต โกเบ โอซาก้า กินเที่ยวตามรอยร้านอาหารใน Netflix

แม้การเดินทางจากฮิเมจิไปยังโกเบจะไม่ราบรื่นอย่างใจหวัง เพราะขณะที่เราตั้งใจอ่านจอแสดงเส้นทางในขบวนรถไฟ กลับพบว่ากำลังมุ่งหน้าไปผิดจุดหมาย จึงต้องตัดสินใจลงอย่างกระทันหัน Kasumigaoka สถานีขนาดเล็กไร้ผู้คน จึงมีความเงียบและที่นั่งอย่างเหลือเฟือให้เราได้ตั้งสติเปิด Google Maps ค้นหาเที่ยวรถไฟขบวนถัดไป 

โกเบยามเย็นคึกคักด้วยผู้คน ร้านอาหารและแสงไฟพร้อมความอร่อยชุ่มฉ่ำจากเนื้อสเต๊กชั้นดี แต่ก็ยังอดเสียดายไม่ได้ เมื่อเวลาอันจำกัดทำให้เราไม่ได้เลาะเล่นแถวอ่าวโกเบ เพราะแสงสีน้ำเงินเวิ้งว้างจากท้องฟ้ายามค่ำเป็นสีสันที่บอกเวลาว่า ‘แบกแพกเกอร์มือใหม่จงรุดหน้ากลับเกียวโตเถิดหนา’

โอซาก้า : รสชาติที่หลากหลาย

บ้านเรือนหนาแน่น เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึง ‘โอซาก้า’ เมืองปลายทางที่เป็นตัวแทนแหล่งอาหาร จนได้รับการขนานนามให้เป็น ‘ครัวแห่งญี่ปุ่น’ ที่นำเราไปค้นหารสของอาหารและความเป็นชาติผ่านเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์  

  • ตามรอย Netflix 

‘นักมายากลผู้ควบคุมไฟได้ดั่งใจ’ นิยามสั้น ๆ สุดประทับใจของ คุณลุงโทโย จากสารคดี Street Food : Asia (Osaka Episode) ของ Netflix ที่ทำให้เราตกหลุมรักทั้งอาหารและแนวคิดในการใช้ชีวิต จึงหมุดหมายให้เป็นหนึ่งในร้านที่จะทักทายทำความรู้จักกับลิ้นสัมผัสและกระเพาะอาหารของพวกเรา

ท่องเที่ยวภูมิภาคคันไซกับไกด์ 3 สไตล์ แผนที่ท้องถิ่นญี่ปุ่น หนังสือนำทาง และ Google Maps

เมื่อ Google สร้างเส้นทางคู่ขนานให้ชีวิตต้องมีทางเลือก เราทั้งคู่ตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ไม่พลุกพล่าน ทำให้พบกับบรรยากาศที่ต่างออกไป ทั้งลัดเลาะคูคลองระบายน้ำ ลอดใต้สะพาน ผ่านร้านคาเฟ่แนวตะวันตก จนมาพบกับร้านอาหารเล็ก ๆ ข้างทาง แต่แน่นขนัดด้วยผู้คนที่ต่อแถวเรียงราย ทำให้เรามั่นใจว่าต้องเป็นที่นี่แน่ ๆ Izakaya Toyo 

กว่าชั่วโมงหลังต่อแถวริมถนน คิวค่อย ๆ ร่นเข้ามา เริ่มได้ยินเสียงคุณลุงโทโยสร้างสีสันให้ลูกค้าผ่านเสียงทักทายและรอยยิ้ม ทุกเปลวไฟที่โชนแสง ทุกเสียงเชียร์ที่กึกก้อง ทุกการเคลื่อนไหวด้วยมือเปล่าในการทำอาหาร จากลีลาอันเป็นธรรมชาติและใบหน้าแสนสุขของลุงโทโย ช่วยเสริมรสชาติวัตถุดิบที่สดใหม่ให้อร่อยล้ำมากยิ่งขึ้น

ท่องเที่ยวภูมิภาคคันไซกับไกด์ 3 สไตล์ แผนที่ท้องถิ่นญี่ปุ่น หนังสือนำทาง และ Google Maps

Uni Ikura Maguro ที่ได้กินในวันนี้จึงไม่ใช่แค่อาหาร หากแต่เป็นประตูเปิดไปสู่ร้าน Izakaya อันเป็นเสมือนโลกทั้งใบของชายสูงวัยที่ชื่อโทโย โลกที่เก็บรวบรวมทักษะเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่น มาถ่ายทอดให้เหล่านักชิมได้อิ่มและเพลิดเพลินไปกับความธรรมดาที่สุดแสนอร่อย

  • พิพิธภัณฑ์ที่ถูกสร้างให้มีชีวิต

ละเอียดอ่อน ซ่อนความหมาย พิพิธภัณฑ์สไตล์ญี่ปุ่นใน Osaka Museum of Housing and Living ที่ซุกซ่อนตัวอยู่ภายในตึก Tenjimbashi-suji Shotengai  

บันไดพาเรามาสู่หน้าลิฟต์ของอาคารที่เงียบและอ้างว้าง ไม่มีความน่าดึงดูดใด ๆ จนเกิดท้อใจว่าจะได้อะไรกลับไปบ้าง ทว่าเมื่อลิฟต์เปิดขึ้นที่ชั้น 8 พนักงานสาวหน้าตาจิ้มลิ้มสวมชุดกิโมโนประจำชาติ รอต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม รอบตัวมีผู้คนคึกคักหลากหลายช่วงวัยทั้งชายและหญิง ทำให้ใจพองโตจนเกิดมั่นใจเดินไปซื้อตั๋ว

ท่องเที่ยวภูมิภาคคันไซกับไกด์ 3 สไตล์ แผนที่ท้องถิ่นญี่ปุ่น หนังสือนำทาง และ Google Maps

จุดเริ่มต้นเปิดรับเพื่อนใหม่ในนามของพิพิธภัณฑ์ต่างแดน สัมผัสการจำลองเมืองโอซาก้า พื้นที่จัดแสดงแบ่งเป็นตรอกซอกซอยที่มี 2 ซอยหลัก ต่างนำเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตมาเล่าผ่านข้าวของเครื่องใช้ ร้านค้า ของขายและบ้านเรือนที่จำลองจากของจริง ผู้ชมจึงสนุกไปกับการทดลองเล่น หยิบ จับ สัมผัสบ้านยุคเก่าของญี่ปุ่น ดูห้องครัว ชมชุดหุ่นฟางสำหรับกันหนาว แต่นี่กลับไม่ใช่ไฮไลต์ เพราะความละเอียดอ่อนถูกซ่อนไว้ผ่านการล้อเล่นกับผัสสะอื่น ๆ อย่างแสงสีที่ค่อย ๆ เคลื่อนคล้อยไปตามช่วงวัน 

ท่องเที่ยวภูมิภาคคันไซกับไกด์ 3 สไตล์ แผนที่ท้องถิ่นญี่ปุ่น หนังสือนำทาง และ Google Maps

ขณะเพลิดเพลินกับสิ่งจำลองต่าง ๆ กลับไม่รู้เลยว่า แสงค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไป จากยามเช้าสดใส กลางวันเจิดจ้า จนความมืดค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา สำหรับผู้ที่เคยมาเป็นครั้งแรกย่อมงุนงง มองตากันและเริ่มคิดหาทางกลับที่พัก ก่อนรีบออกจากห้องจัดแสดงได้ยินเสียงไก่ขันจึงฉุกคิดได้ว่า ‘เราโดนหลอกเข้าแล้ว’ จากความพลาดท่าเสียทีที่ไกด์บุ๊กไม่มีโอกาสส่งเสียงเตือน กลายเป็นเสียงหัวเราะและความครื้นเครง 

ก่อนพระจันทร์ขึ้นบนท้องฟ้า ฝูงนกน้อยบินผ่าน กลุ่มดาวเปล่งประกาย เมื่อตั้งหลักได้เราจึงคิดหาที่นั่งพร้อมเข้าไปในบ้านที่มีแสงไฟอบอุ่น สำรวจบรรยากาศภายใต้ความมืดสลัว ทุกอย่างรอบตัวนิ่งสนิท เสียงฝีเท้านักท่องเที่ยวจางหายไป กระทั่งเวลาผ่านไปสักระยะกว่าแสงสว่างจะมาเยือน พร้อมไก่ขันให้สัญญาณว่าวันใหม่มาถึงแล้ว เมื่อนั้นไฟในบ้านเริ่มดับลง นักท่องเที่ยวออกจากชายคาส่งเสียงพูดคุยส่งสัญญาณแห่งชีวิตให้กลับมาสู่ห้องจัดแสดงอีกครั้ง

ท่องเที่ยวภูมิภาคคันไซกับไกด์ 3 สไตล์ แผนที่ท้องถิ่นญี่ปุ่น หนังสือนำทาง และ Google Maps

เมื่อเสี้ยวหนึ่งของคันไซ ได้กลายมาเป็นเสี้ยวแห่งความทรงจำของเรา หลังไม่ได้ท่องเที่ยวนับแรมปี ความกระหายในการเดินทางทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงเพื่อนนำเที่ยวต่างสมัย ทั้งเพื่อนรุ่นคลาสสิกอย่างไกด์บุ๊ก เพื่อนเรียลไทม์อย่าง Google Maps หรือเพื่อนพื้นถิ่นอย่างแผนที่แจกฟรีจากญี่ปุ่น ที่ร่วมตะลุยกันทุกที่จนกระดาษแทบละลาย และสุดท้ายเพื่อนร่วมแชร์ห้องพัก Angleli สาวนักบัญชีชาวฟิลิปปินส์ ผู้ชื่นชอบการเดินทางแบบลำพังที่มาพร้อมกระเป๋าลากใบโต เข้ามาเติมเต็มการท่องเที่ยวของเราให้ครบรส และความชื่นชอบในเมืองไทยของเธอ ทำให้หวังว่าเราจะมีโอกาสได้ต้อนรับเพื่อนจากต่างแดนสักครั้งที่ Bangkok

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writers

โสภา ศรีสำราญ

โสภา ศรีสำราญ

ลูกหลานลาวครั่งที่พันพัวอยู่กับวงการอาหารและงานเขียนหลากแนว ชื่นชอบงานศิลปะ วัฒนธรรม รักการท่องเที่ยวและการตีสนิทกับผู้คนในทุกที่ที่ไปเยือน

Avatar

สุธาสินี บุญเกิด

ชาวตะกั่วป่า จบประวัติศาสตร์ ไม่เคยสนใจดาราศาสตร์จนรู้จักพลูโต เข้าร้านกาแฟแต่สั่งโกโก้ ชอบเดินโต๋เต๋แวะชิมริมทาง ริอ่านปลูกผักกระถางสไตล์คนเมือง

Photographer

โสภา ศรีสำราญ

โสภา ศรีสำราญ

ลูกหลานลาวครั่งที่พันพัวอยู่กับวงการอาหารและงานเขียนหลากแนว ชื่นชอบงานศิลปะ วัฒนธรรม รักการท่องเที่ยวและการตีสนิทกับผู้คนในทุกที่ที่ไปเยือน