เกือบ 2 ปีที่แล้ว Tencent Video แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงจากประเทศจีนที่มียอดผู้ใช้ถึง 900 ล้านคน ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นพื้นที่แรก ในชื่อใหม่ WeTV ภายใต้บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด

ท่ามกลางสนามรบวิดีโอสตรีมมิงมากมาย ยังไม่นับรวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ ยอดผู้ใช้งานของ WeTV แพลตฟอร์มรายเดียวที่นำเสนอคอนเทนต์จีนอย่างถูกลิขสิทธิ์ เติบโตขึ้นถึง 7 เท่า ในเวลาไม่ถึง 2 ปี

กลยุทธ์หลักได้แก่ ออริจินัล คอนเทนต์ นวัตกรรม และคอมมูนิตี้ 3 สิ่งที่ทำให้ WeTV แตกต่างจากวิดีโอสตรีมมิงอื่นๆ ในตลาดเดียวกัน แต่ไม่ใช่แค่การนำเข้าคอนเทนต์จากจีนที่ทำให้แบรนด์นี้ประสบความสำเร็จ WeTV ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายด้วยการทำงานกับผู้ผลิตในประเทศเพื่อผลิตคอนเทนต์ส่งออกและสร้างวัฒนธรรมใหม่ร่วมกัน  เช่นเดียวกับการนำคอนเทนต์คุณภาพจากประเทศข้างเคียง อาทิ เกาหลี และญี่ปุ่น มาออกอากาศ เพื่อเป้าหมายสุดท้ายที่จะเป็นศูนย์รวมความบันเทิงของเอเชียอย่างสมบูรณ์

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ Country Manager เบื้องหลัง WeTV แพลตฟอร์มที่เป็นมากกว่าผู้สร้างคอนเทนต์

คุณเจี๊ยบ-กนกพร ปรัชญาเศรษฐ คือ Country Manager ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ เธออยู่ในวงการดิจิทัลมีเดียมา 10 ปี ก่อนผันตัวมาดูแลเรื่องดิจิทัลคอนเทนต์มากขึ้น 

เธอเชื่อในการเปลี่ยนแปลงจึงทำงานแบบธุรกิจสตาร์ทอัพ เพราะการปรับตัวให้เร็วในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ ทีมของเธอคล่องตัวและมีิวิธีการทำงานแบบ Cross Functional คือการให้คนที่มีหน้าที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียว

WeTV เป็นเจ้าของคอนเทนต์ดังอย่าง ปรมาจารย์ลัทธิมาร (The Untamed), สามชาติสามภพ ลิขิตเหนือเขนย (Eternal Love of Dream) และยังเป็นผู้ริเริ่มโปรเจกต์ละคร ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius The Series) ที่ทำร่วมกับ GDH 

WeTV ในวันนี้ ไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มนำเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ทางเดียว คุณเจี๊ยบเห็นภาพแบรนด์เป็นคอมมูนิตี้ของคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันมาตั้งแต่วันแรก ซึ่งอธิบายกลยุทธ์และวิธีการทำงานหลายอย่างของเธอได้ดีที่สุด

ว่าแล้วก็กดเพลย์ฟังแนวคิดของเธอไปพร้อมๆ กัน

สิ่งที่ยากที่สุดของการพา WeTV เข้ามาในไทยคืออะไร

สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้บริการ ในฐานะแพลตฟอร์ม เรารู้อยู่แล้วว่าจุดแข็งเราคือคอนเทนต์จีน เพราะเรานำดีเอ็นเอของ Tencent Video มาใช้ คอนเทนต์จีนเคยป๊อปปูลาร์มากในสมัย 80s ถึง 90s แล้วก็ค่อยๆ ห่างหายไป เรื่องแรกที่ต้องทำจึงเป็นการบ่งชี้กลุ่มทาร์เก็ตในไทย ซึ่งท้าทายมากนะ เราต้องหาว่ากลุ่มคนที่ดูคอนเทนต์จีนเขาอยู่ที่ไหน พอหาเจอก็ต้องแนะนำตัวเอง ทำความรู้จักเขา ซึ่งจริงๆ แล้วในไทยเอง คอนเทนต์จีนอาจจะแค่ไม่มีคนพูดถึง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีคนดู ถ้าเราลองไปเสิร์ช Google Trend ‘หนังจีนพากย์ไทย’ ยังมีคนหาค่อนข้างเยอะ และเป็นอะไรที่คนไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว 

 ในฐานะ Country Manager คุณทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยังไง

หน้าที่ของเราคือกำหนดทิศทางของธุรกิจว่าเราจะเดินไปทางไหน วางกลยุทธ์ของโปรดักต์ การวางแผนในการดำเนินงาน เราต้องดูภาพรวมทั้งหมด นอกเหนือจากนี้ เราเองต้องหาโอกาสในการขยายธุรกิจกับพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเชิงคอนเทนต์ เชิงคู่ค้า หรือผู้ให้บริการอื่นๆ ที่เราสามารถจับมือกันทางธุรกิจได้ด้วย

ไทยเป็นที่แรกที่ Tencent Video มาเปิดธุรกิจนอกประเทศ เราจึงต้องทำงานร่วมกับทีมภูมิภาค สร้างความเข้าใจตรงกัน ทิศทางของโปรดักต์จากจีนมาไทยต้องทำการ Localize อย่างแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งาน 900 ล้านคน เราไม่จำเป็นต้องรับมาทุกฟีเจอร์ หรือเรื่อง Content Strategy ก็สำคัญ เราต้องหาคอนเทนต์ที่ดูได้พร้อมกันทั้งจีนและพื้นให้บริการอื่นๆ ที่ WeTV มีให้บริการ 

ในทางกลับกันก็จะมีคอนเทนต์ไทยที่จะได้ไปฉายในพื้นที่อื่นๆ เราต้องคุยกับ Country Manager ในแต่ละพื้นที่ด้วย สมมติเราจะทำเรื่องนี้ ทางฝั่งโน้นสนใจที่จะนำคอนเทนต์เราไปฉายพร้อมกันไหม 

และอีกหน้าที่หลักของ Country Manager ที่สำคัญมากๆ คือการคัดเลือก Talent ของทีม เป็นเรื่องยาก หายาก แต่หาได้ (หัวเราะ)

ทีมที่ WeTV มองหาเป็นแบบไหน

ทีม WeTV ทำงานเหมือนสตาร์ทอัพ อย่างแรกต้องมีแพสชันในฝั่งของคอนเทนต์ ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องชอบคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจง เพียงแต่ต้องเปิดใจกว้างๆ ในเรื่องของการเสพ ที่สำคัญ เรามองหา Talent ที่เป็นได้ทั้งสองขั้วคือ Service Provider และ User บางคนชอบดูซีรีส์มากๆ ดูเยอะ แต่มองแค่ในมุมของผู้ใช้งานอย่างเดียว เราต้องการคนที่มีบาลานซ์ในการดูคอนเทนต์กับคนที่อยากเติบโตในธุรกิจที่เป็น Fast Moving 

ทีมเราไม่ใหญ่เพราะฉะนั้น Multi-Task Skills เป็นเรื่องสำคัญ ลำดับชั้นของทีมมีค่อนข้างน้อย ทีมมีโอกาสทำงานหลายๆ อย่าง แบบ Cross Functional สิ่งที่เราสื่อสารกับทีมตลอดคือการถือเป้าหมายเดียวกัน พอคนเราน้อย เราจะมองหาความคิดเห็นระหว่างทีมเสมอ เช่น การตลาดทำการสื่อสารแบบนี้ เราเดินไปถามทุกทีมเลยว่า ชอบไหม เข้าใจไหม ซื้อไหม เหมือนที่เราต้องพยายามบาลานซ์มุม Service Provider กับ User บางคอนเทนต์เราอยากทำ แต่พอสลับหัวเป็นผู้ใช้งาน บางทีไม่เข้าใจ ไม่เวิร์ก

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ Country Manager เบื้องหลัง WeTV แพลตฟอร์มที่เป็นมากกว่าผู้สร้างคอนเทนต์

อะไรคือทักษะของผู้บริหารแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงที่ต้องนำทีมที่มีส่วนร่วมในการทำงานทั้งกระบวนการแบบนี้

สำหรับเรามีสี่อย่าง หนึ่ง ความไม่อยากตกเทรนด์ ในการเดินทางแต่ละปี จะมีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ หนึ่งไตรมาสความนิยมก็เปลี่ยนไป คอนเทนต์มีขึ้นมีลง ซึ่งเราต้องหาให้เจอ บางทีมันอาจไม่ใช่เทรนด์ของคอนเทนต์ แต่เป็นเทรนด์ของพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งหลาย เช่น ในช่วง COVID-19 คนมีเวลาเยอะขึ้น เป็นช่วง Golden Time ที่เขาจะอยู่กับเรานานขึ้น หรือบางช่วงเวลาเสพสื่อของเขาสั้นลง เราก็ต้องปรับตัว สอง การบริหารการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องสำคัญ เราสื่อสารกับทีมตลอดว่า “ไม่มีอะไรตายตัวนะ” วันนี้เราอาจจะรับคนนี้เข้ามาเป็น Digital Marketing แต่หนูจะไม่ได้ทำดิจิทัลตลอด มันอาจจะมีบางช่วงที่เราต้องปรับเปลี่ยนไปทางอื่น พอเรามีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงแล้ว เราและทีมต้องมีอย่างที่สาม คือความคล่องตัว ไม่ใช่ว่า “เปลี่ยนได้ค่ะ แต่อีกสามอาทิตย์ได้ไหมคะพี่” บางทีของเรามันต้องเปลี่ยนในข้ามคืน 

ท้ายที่สุดเลย Country Manager ต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด ลังเลไม่ได้ นั่นแปลว่าเราต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย เพราะเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะถูกหรือผิด แต่ถ้าไม่ทำสิ่งนี้ตอนนี้ มันอาจจะสายเกินไปก็ได้

ท่ามกลางสมรภูมิวิดีโอสตรีมมิงที่แข่งขันกันดุเดือดมาก กลยุทธ์ที่ WeTV ใช้สู้ในศึกนี้คืออะไร

เรายึดหลักอยู่สามแกน แกนแรกคือ ออริจินัล คอนเทนต์ อาจเป็นเอ็กซ์คลูซีฟที่หาดูที่ไหนไม่ได้ หลักๆ จะเป็นของจีน และก็มีของไทยด้วย ต่อมาเราก็เติมคอนเทนต์ของเกาหลี ญี่ปุ่น เพื่อที่จะทำให้เราเป็นศูนย์รวมความบันเทิงของเอเชียที่แท้จริง แกนที่สองคือนวัตกรรม ข้อนี้ต่อยอดมาจากโปรดักต์หลัก Tencent Video เช่น ฟีเจอร์ที่ช่วยสร้าง Engagement อย่าง Flying Comment (คอมเมนต์วิ่ง) หรือการโหวต ซึ่งน่าจะยังไม่มีใครทำมาก่อน 

นอกจากนี้เราพยายามเข้าใจ Pain Point ของลูกค้า ซีรีส์จีนความยาวหลายตอน พอติดแล้วก็อยากดูตอนต่อไปให้เร็วกว่าเดิม เราจึงมีฟังก์ชัน Fast Track ที่ผู้ใช้สามารถซื้อตอนได้ล่วงหน้า ตอนแรกที่จะปล่อยฟีเจอร์นี้ก็ค่อนข้างเครียดเพราะไม่รู้ว่าเสียงตอบรับจะดีไหม พอปล่อยไปแล้วกลายเป็นว่าอยากให้ทุกเรื่องมีฟีเจอร์นี้  

แกนสุดท้ายคือคอมมูนิตี้ เราพยายามสร้างคอมมูนิตี้ทั้ง Internal และ External ให้แข็งแรง จน WeTV ในทุกช่องทางโตเร็วมาก ยกตัวอย่างเช่น Twitter ใครๆ จะทราบว่ามันยาก มีผู้ติดตามหนึ่งหมื่นก็ถือว่ายอดเยี่ยมแล้ว วันนี้เรามีผู้ติดตามเกือบๆ แสนเจ็ด สำหรับผู้บริโภค ถ้าอยากหาข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อมูลความบันเทิงโดยเฉพาะจากจีน วันนี้เราเป็น Top of Mind 

การทำงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรม ความรู้ความเข้าใจเรื่องคอนเทนต์สำคัญแค่ไหน

เราว่าเป็นข้อดีของธุรกิจฝั่ง Tech Entertainment ยิ่งเราเป็นแพลตฟอร์มด้วย ทำให้มีดาต้าอยู่ในมือเยอะ ดาต้าทำให้เราอุ่นใจระดับหนึ่งเพราะเราเห็นทิศทาง ในเรื่องของการตัดสินใจจึงง่ายและแม่นยำยิ่งขึ้น มันต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เซนส์อย่างเดียวไม่น่ารอด (หัวเราะ) แต่ถามว่าต้องมีไหม ก็ต้องมีด้วย

คุณมีหลักในการเลือกคอนเทนต์มาลงใน WeTV อย่างไร

เรามองในเรื่องของ Tier ของคอนเทนต์เป็นหลักเพราะว่าเรามีของเยอะ เช่น คอนเทนต์ระดับ S+ จะต้องฉายพร้อมกันทุกประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ตอนต้นปีเรามีเรื่อง สามชาติสามภพ ลิขิตเหนือเขนย โปรดักชันใหญ่ ดาราเบอร์ใหญ่ กลุ่มฐานแฟนก็ใหญ่ เวลาลงก็จะลงพร้อมพื้นที่ให้บริการอื่นๆ ซึ่งช่วยแก้ Pain Point ให้ผู้บริโภคด้วย พอฉายพร้อมกันก็แปลว่าคุณจะได้ดูซีรีส์เบอร์ใหญ่ ด้วยแพลตฟอร์มคุณภาพระดับโลก ด้วยประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม ซับไตเติ้ลก็เตรียมไว้เรียบร้อย ไม่ใช่ถูกๆ ผิดๆ

ส่วน Local Content เรามีสิทธิ์ในการตัดสินใจสูง ปีนี้เรามีคอนเทนต์รีรันจากช่อง 3 ซึ่งเป็นไอเดียของทีมที่เสนอไปว่าอยากทำงานร่วมกับ Content Provider ในประเทศ รวมไปถึงการผลิต ออริจินัล คอนเทนต์ ด้วยเช่นกัน อย่าง ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius The Series) ที่ทำร่วมกับ GDH สมมติฐานคนดูซีรีส์จีนมีประมาณหนึ่ง แต่เราเห็นโอกาสว่าคนอยากเสพคอนเทนต์ที่หาดูที่ไหนไม่ได้ นี่ก็เป็นโอกาสที่ได้ขยายฐานกลุ่มผู้ชม พอเราทำแบบนี้ ก็ต้องดูดาต้าว่ากลุ่มผู้ชมที่ได้มาใหม่นั้นเชื่อมกับสิ่งที่เรามีอยู่แล้วบ้างไหม โชคดีที่เราทำงานเกี่ยวกับดิจิทัลมาตลอด เลยได้เห็นการใช้ดาต้าที่ไม่เหมือนกันเลยนำมาปรับใช้ได้

อะไรคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ WeTV ประสบความสำเร็จได้เร็วขนาดนี้

แกนแรกคือ โปรดักต์ เราเป็น Service Provider ที่มีโปรดักต์ใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ตอบโจทย์ลูกค้า อีกอย่างคือโมเดล Freemium ที่ให้ประโยชน์กับผู้ใช้ในการลองดูคอนเทนต์ใหม่ๆ แต่ยังไม่อยากสมัครสมาชิก เมื่อเขาเปิดใจและเจอกับคอนเทนต์ที่ใช่ เขาก็ยินดีที่จะสมัคร

พอเรามีแพลตฟอร์มที่ดี แต่ไม่มีคอนเทนต์ที่คนอยากดูบางทีก็ยาก นำเข้ามาสู่แกนที่สองเรื่องคอนเทนต์ คอนเทนต์ที่ผลิตจาก Tencent Video เป็นคุณภาพระดับโลก พอเรามีที่ทางที่ถูกลิขสิทธิ์ให้คนดูได้ชม เขาก็แฮปปี้ มันลดขั้นตอนของเขาไปเยอะ เช่น การไปเสิร์ชดู ไปมุด VPN บ้าง ไปหาดูจากแหล่งที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์บ้าง ประสบการณ์ที่ไม่ดีทำให้เขารำคาญใจ พอเรามีแพลตฟอร์มที่ดี คอนเทนต์ที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของเขา เราเองก็ค่อยๆ ประสบความสำเร็จไปด้วย

อย่างที่คุณบอกไปเมื่อตอนต้น คอนเทนต์จีนเคยได้รับความนิยมมากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว การโปรโมตป๊อปคัลเจอร์จากจีนให้เข้าถึงใจคนไทยในวันนี้มีความยากง่ายยังไง

คอนเทนต์จีนที่ห่างหายไปทำให้เราต้องแนะนำตัวกับคนไทยใหม่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยเปิดกว้างหลากหลาย พอเราแนะนำคอนเทนต์จีนไปทำให้เกิดกระแสใหญ่กลับมา การขยายเสียงเพื่อบอกต่อของเขาดังกว่าเรามาก ในขณะเดียวกัน พลังแฟนคลับก็จะช่วยเข้ามาสนับสนุนตรงนี้ได้ดี อย่างกรณีของนักแสดงชื่อ เซียวจ้าน (Xiao Zhan) ปีที่แล้วได้เป็นดาราเอเชียที่หล่อที่สุดจากการโหวตของแฟนคลับทั่วเอเชีย เขาเป็นนักแสดงในซีรีส์ ปรมาจารย์ลัทธิมาร ส่วนปีนี้เรามี หวัง อี้ป๋อ (Wang-Yibo) เข้ามาเสริม ซึ่งช่วยให้คนรู้จักป๊อปคัลเจอร์ในฝั่งจีนมากขึ้น สร้างความแมสให้กับซีรีส์จีนมากขึ้น ทำให้สาวกเกาหลีข้ามฝั่งมาอินกับซีรีส์จีนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน เราก็มีคนไทยที่ไปอยู่ในป๊อปคัลเจอร์ฝั่งโน้นอย่าง เนเน่-พรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์ ที่เหมือนเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปเปิดตลาด ให้ชาติอื่นเห็นศักยภาพของศิลปินไทย และศักยภาพของการโหวตของแฟนๆ ชาวไทย อีกหน่อยมันอาจจะไม่ได้แยกเป็นป๊อปคัลเจอร์ของที่ใดที่หนึ่งแล้ว แต่มันจะเชื่อมกันด้วยซ้ำ

หรือปีที่แล้วเราทำ Fan Meeting ศิลปินจีนที่เป็นนักแสดงนำของซีรีส์ ปรมาจารย์ลัทธิมาร การตอบรับเหนือความคาดหมายมากๆ มีแฟนๆ ต่อคิวหน้าห้าง พอเปิดห้างปุ๊บวิ่งเข้าไปเลย เป็นปรากฏการณ์ เขาดังทั้งในจีนและพื้นที่ให้บริการอื่นๆ ในแถบเอเชีย การจัด Fan Meeting ที่บ้านเราเลยเรียกผู้ชมจากทั้งในประเทศและนอกประเทศ คิวซื้อบัตรเป็นแสนคิวแต่มีบัตรแค่ห้าพันใบ 

ทำไมซีรีส์ ปรมาจารย์ลัทธิมาร ถึงดังถล่มทลาย

เดิมที่ต้นกำเนิดของ ปรมาจารย์ลัทธิมาร คือนิยายออนไลน์จีน ดังมากที่จีน แล้วก็มีการแปลเป็นเวอร์ชันภาษาไทย จากนั้นมีคนนำนิยายมาสร้างเป็น Anime ก็ดังอีก ด้วยตัวเนื้อเรื่องเองมีรายละเอียดเยอะ เลยตัดสินใจสร้างเป็นซีรีส์ขึ้นมา เพราะมันมีโอกาสสร้างแฟนได้ในหลายมิติ อ่านแล้ว ดู Anime แล้ว พอเป็นซีรีส์ที่แสดงเป็นคนก็อยากดูอีก แล้วในเรื่องมันมีหลายสำนัก บางคนอาจจะไม่ต้องชอบตัวหลักก็ได้ แต่ชอบบ้านข้างเคียง 

เรื่องนี้มีการพูดถึงที่ฝั่งจีนก่อนว่า จะมีซีรีส์เรื่องนี้นะ เป็นอย่างนี้นะ พอเขารอกันนานก็เกิดการอั้น มีการบอกต่อเยอะ พอวันที่จะปล่อยจริงๆ เหมือนเขื่อนแตกเลย ซีรีส์นี้มีห้าสิบตอน มีคนเอาสีหน้าของนักแสดงไปทำมีมเยอะมาก ซึ่งอาจจะเป็นความโชคดีของเรา หลายๆ คนที่ไม่เคยรู้จัก WeTV ก็ได้รู้จักเราผ่านแฮชแท็ก ปรมาจารย์ลัทธิมาร เลยเป็นโอกาสให้เราขยายฐานกลุ่มคนดูด้วย การตลาดเราทำเต็มที่ แต่ต้องขอบคุณพลังของแฟนๆ ณ ที่นี่ด้วยเช่นกัน ขนาดเราไปไหว้พระที่พม่า ยังเห็นคนไทยติดเข็มกลัดเซียวจ้านไว้ที่กระเป๋าเลย ตายแล้ว นี่ฉันมาขอพร หรือเขามาขอพรให้ฉัน (หัวเราะ)

แล้วปรากฏการณ์ที่แฟนชาวไทยโหวตข้ามประเทศให้เนเน่ ในรายการ CHUANG 2020 กว่า 400,000 บัญชี เกิดขึ้นได้ยังไง

มันเหมือนเราเชียร์ทีมชาติไทย และรูปแบบของรายการก็เปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้าไปมีพื้นที่ในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก บวกกับความสามารถของศิลปินที่เจิดจรัสจริงๆ เมนเทอร์ก็ชื่นชมอย่างมาก พัฒนาการของเนเน่ในแต่ละอีพีก็โดดเด่น พอได้เห็นศักยภาพของคนไทยในต่างประเทศ กองเชียร์ชาติไทยก็มาเลย ทีมมอนิเตอร์เขาจะมีกลยุทธ์ในการโหวตด้วยนะ ในหนึ่งวันโหวตได้เจ็ดคน ถ้าทุกคนโหวตทั้งเจ็ดคน คะแนนก็จะเฉลี่ย เขาบอกว่าขอให้ชนะขาดเลย ห้ามใช้อีกหกเสียง ให้คุณใช้เสียงเดียวเพื่อคนคนเดียว 

แฟนๆ ของ WeTV มีพฤติกรรมและความคาดหวังต่างจากผู้ชมที่ชมโทรทัศน์ช่องปกติ และแพลตฟอร์มสตรีมมิงอื่นๆ ยังไง

ที่ชัดที่สุดคือต้องเป็นคนที่ชื่นชอบความบันเทิงจากฝั่งเอเชีย หลักการไม่น่าจะแตกต่างกันมาก คอนเทนต์คือสิ่งที่ทำให้แตกต่าง เราว่าสิ่งที่เด่นสุดของแฟน WeTV คือคอมมูนิตี้ที่น่ารักมากๆ เขาจะช่วยเหลือกันเอง อย่างการที่จะซื้อ Fast Track ได้คุณต้องสมัคร VIP ก่อน มันเป็นสิทธิพิเศษของ VIP User ในวันที่เราปล่อยฟีเจอร์นี้ เราให้ข้อมูลในส่วนของเราอยู่แล้ว แต่ผู้ใช้บางคนยังมีคำถาม ก็จะมี Top Fan หลายๆ คนเข้าไปช่วยตอบ มันเกิด Brand Love 

สมมติมีซีรีส์เรื่องหนึ่งดังมากๆ ยังไม่มีใครนำเข้ามาเมืองไทย คนก็จะบอกว่า “WeTV เอาเข้ามาเถอะค่ะ รอแล้วนะ” เป็นที่พึ่งให้กับเขา อย่างในฟีเจอร์ Flying Comment ที่ User สามารถคุยกันระหว่างที่ดูคอนเทนต์ จะมีคนเมนต์ว่า “มีใครมาหรือยัง” “มาแล้วๆ” หรือบางทีเขามีปัญหาก็จะถามกันเองเลย “เธอรู้ไหมว่าปิดคอมเมนต์ยังไง” ฟีเจอร์มันเอื้อให้เขาพูดคุยกันได้ ในทวิตเตอร์จะเจอ “ขอตอบแทนแอด” บ่อยมาก บางทีมีคนมาคอมเมนต์ว่า “ซับไม่ขึ้น” ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต แล้วมีอีกคนมาเมนต์ว่า “ขึ้นจ้า” โดยที่เราไม่ต้องตอบเลย แต่มันทำให้เราเห็นว่ามันยังมีปัญหาจากโปรดักต์ ซึ่งมันอาจไม่ได้มาจากทางฝั่งเรา อาจเป็นทางฝั่งผู้ใช้บริการก็ได้ พอเห็นอย่างนี้เราจะส่งต่อไปยังทีมโปรดักต์ให้ช่วยเช็ก มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ครั้งหนึ่งเราเคยไปตอบทวิตของแอคเคาต์ข้างเคียงอย่าง JOOX แฟนคลับก็จะมีการบอกว่า “เขาคุยกันอะแม่ จิ้น” (หัวเราะ) กลายเป็นแอคเคาต์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ไปแล้ว เพราะเราไม่อยากและไม่เคยเป็นแค่พื้นที่ในการให้ข้อมูล เราจึงพยายามสร้างบทสนทนาและการมีส่วนร่วมตลอดมา

คุณมีหลักในการลงทุนทำออริจินัล คอนเทนต์ ของไทยอย่างไร

หลักการต้องกลับไปที่คนดู ตอนนี้กลุ่มผู้ใช้งานเราเป็นใคร กลุ่มผู้ใช้งานเราชอบเสพอะไร มีคอนเทนต์ประเภทไหนที่เขาอยากดู ในขณะเดียวกันต้องดูถึงกลุ่มที่เราจะขยายไปด้วย ขอยกตัวอย่างเรื่องเดิม ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius The Series) มันยากมากๆ เพราะแฟนฝั่ง GDH เขาเหนียวแน่น แต่เราจะทำอะไรเพื่อให้ได้ฐานแฟนกลุ่มนี้มา พอดูฐานคนดูที่เราอยากขยายแล้วก็กลับมาที่ดาต้าว่าเราเคยชิมลางกลุ่มนี้หรือยัง พอเห็นไหมว่าถ้าทำออกมาแล้วจำนวนน่าจะประมาณไหน รวมไปถึงเนื้อเรื่อง เนื้อหา สดใหม่ไหม พอเราเป็นหน้าใหม่ โอกาสที่จะลองทำก็มีเยอะ ยกตัวอย่างซีรีส์เรื่อง อาทิตย์อัสดง ที่เพิ่งปล่อยไปเมื่อเดือนตุลาคม ยังไม่มีใครเคยทำแนวสยองขวัญแบบนี้ใน OTT (Over-the-top Content) เราพยายามทำ Cinematography สวยๆ การถ่ายทำที่คุณภาพฝรั่งแต่กลิ่นเป็นคนไทย เราอยากลองแล้วก็มีโอกาสได้ทำ

สำหรับคุณ การจัดอันดับแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงอันดับหนึ่ง ควรวัดจากอะไร

เราจะกลับไปดูว่าโจทย์แรกของเราคืออะไร ไม่มี OTT เจ้าไหนที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก มันจะแตกต่างกันไป จุดยืนของสิ่งที่เราจะให้ผู้ใช้ต่างหากที่จะเป็นตัวจัดอันดับได้ดี ซึ่งถ้ามองตัวเองว่าเป็นศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย เราตอบโจทย์สุด

แล้ว WeTV มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จจากจุดยืนที่ตั้งไว้แล้วหรือยัง

ถ้า ณ วันนี้ บอกว่าเราเดินมาถูกทางดีกว่า เส้นทางนี้ยังอีกยาวไกล (ยิ้ม)

ตอนนี้เรามีทั้งโทรทัศน์ โรงหนัง เคเบิลทีวี ยูทูบ วิดีโอสั้นบนเฟซบุ๊ก TikTok Instagram และแพลตฟอร์มสตรีมมิง ช่วยคาดการณ์ให้หน่อยว่าในอนาคตอันใกล้นี้ พฤติกรรมการชมวิดีโอของคนจะเปลี่ยนไปอย่างไร

พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปตามเวลาที่เขามี ถามว่าทุกวันนี้คอนเทนต์ที่ฮิต คือคอนเทนต์เต้นหรือเปล่า หรือคอนเทนต์ร้องเพลง จริงๆ แล้วเราตอบไม่ได้เลย ถ้าลองดูพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ในแต่ละแพลตฟอร์มจะเห็นชัด จะดูซีรีส์ต้องมีเวลา สมมติเรามี Quality Time ก่อนนอนสองชั่วโมง เราอาจจะอยากเสพคอนเทนต์ยาวที่มีคุณภาพ ในทางกลับกัน ช่วงเช้าระหว่างดื่มกาแฟหรือระหว่างเดินทาง มีเวลาไม่มาก การดูคอนเทนต์สั้นน่าจะตอบโจทย์มากกว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเรามีคอนเทนต์ประเภทไหน แล้วมันตอบโจทย์เวลาที่ผู้บริโภคมีได้หรือเปล่าต่างหาก

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ Country Manager เบื้องหลัง WeTV แพลตฟอร์มที่เป็นมากกว่าผู้สร้างคอนเทนต์

Questions answered by Country Manager of WeTV Thailand

1. พูดภาษาจีนได้ไหม

Yi dian dian (นิดหน่อย)

2. ในฐานะผู้ชม รายการที่ชอบที่สุดใน WeTV คืออะไร

ตำนานหมิงหลัน ซีรีส์ที่มีมากกว่าหมื่นล้านวิวในจีน เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงในครอบครัวที่ลำบาก แต่มีอาม่าเป็นกุนซือสอนวิชาการใช้ชีวิต แม้จะเป็นเรื่องราวในสมัยโบราณ แต่หลายข้อนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ ที่กล้าพูดว่าชอบดูมาก เพราะหกสิบสามตอนดูไปแล้วสามรอบ ครั้งแรกดูซับ สองครั้งหลังดูพากษ์ (หัวเราะ)

3. รายการไหนใน WeTV ที่คิดว่าเดี๋ยวต้องดังแน่นอน

นี่ก็ปักหมุดมาหลายควอเตอร์แล้ว รอการจุดพลุ​ (หัวเราะ) แต่มีสองเรื่อง หนึ่ง The Oath of Love นำแสดงโดยเซียวจ้าน สอง นางโจร โดยหวัง อี้ป๋อ 

4. ทุกวันนี้ดูวิดีโอวันละกี่ชั่วโมง

เฉลี่ยวันละสอง ตอนนี้แยกไม่ออกแล้วว่าดูทำงานหรือดูเพื่อความบันเทิง เวลาอยู่กับเพื่อนแล้วนั่งดู เพื่อนจะชอบถามว่า อันนี้ทำงานหรืออยากดูเอง การดูของเราอาจจะเริ่มต้นที่ความอยากรู้ว่ามันดียังไง อีกแป๊บหนึ่ง อ้าวติด ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว (หัวเราะ) 

5. ในการทำงานกับคนจีน มี Culture Shock ไหนที่เซอร์ไพรส์ที่สุด

ไม่เรียกว่า Culture Shock แต่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ คือความเร็วในการทำงาน การได้ทำงานกับทีมงานระดับโลก เราได้รู้ว่าเขามองหา Milestone ใหม่ๆ ตลอดเวลา และเขาทำงานเร็ว ปรับตัวเร็ว ซึ่งเราก็ได้นำกลับมาใช้ในทีม

6. ถ้าต้องเอาชีวิตคุณไปทำซีรีส์ น่าจะเป็นพล็อตเรื่องประมาณไหน

เป็นได้หลาย Genre มากเลย เป็นดราม่าก็ได้ เป็นคอเมดี้ก็ได้ คิดว่าน่าจะเป็นซิตคอมได้ เป็นเรื่องในครอบครัว ในที่ทำงาน

7. วิธีแก้เครียดของ Country Manager WeTV คืออะไร

ถ้าอยู่ในออฟฟิศก็จะเดินไปเกาะเก้าอี้ น้องๆ ทำอะไรกัน เป็นยังไงบ้าง สเต็ปถัดไปก็กินอะไรไหม เราอยากซื้อของกิน แต่อยากกินนิดเดียว คือเราพยายามปรับอารมณ์ตัวเองด้วยการคุยกับทีม หรือถ้าวันหยุด จะใช้เวลาอยู่กับตัวเองเยอะ อยู่กับที่บ้าน แต่เน้นกินเหมือนเดิม (หัวเราะ)

8. ดาราจีนในดวงใจคือใคร

ตัวเราไม่ได้มี Preference ของดาราขนาดนั้น ซึ่งเราอาจเป็นตัวแทนของผู้บริโภคยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ เช่น เรื่องนี้ดี เราก็อินกับคนนี้ แต่พอได้ดูเรื่องใหม่ เราก็เปลี่ยนไปชอบอีกคนโดยทันที แต่ถ้าในแพลตฟอร์มของเราก็ต้องเป็นเซียวจ้านกับหวัง อี้ป๋อ หรือในรายการวาไรตี้ที่เราทำจะเป็น แจ็กสัน หวัง (Jackson Wang) ซึ่งมาดูๆ แล้ว เหมือนเราจะชอบไปทางเด็ก แนววัยรุ่นๆ เสียมากกว่า (หัวเราะ)

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล