ถ้าเริ่มหยดแรก ด้วยการบอกว่าเรากำลังจะเล่าเรื่องของบัณฑิตนิติศาสตร์ ก็คงเป็นกลิ่นธรรมดาทั่วไป 

ถ้าเพิ่มหยดสอง ว่าจะเล่าเรื่องบัณฑิตนิติศาสตร์ ที่ผันตัวไปเป็นแอร์โฮสเตส จะทำให้กลิ่นน่าสนใจขึ้นมาไหม

แต่เราเชื่อว่าถ้าเติมส่วนผสมสุดท้าย อย่างการเป็นบัณฑิตนิติศาสตร์ ที่ผันตัวไปเป็นแอร์ฯ และมีอาชีพปัจจุบันเป็นครูสอนเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหย ไม่มากก็น้อย คงมีคนอยากรู้ว่ากลิ่นนี้จะออกมาเป็นอย่างไร

เรากำลังพูดถึง น้ำ-กันต์นที นีระพล ลิ้มวิรัตน์ ชื่อคุ้นหูที่อาจได้ยินบ่อยในระยะหลัง เพราะเธอเป็นเจ้าของหนังสือ ‘Nose Note บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูก ฝนตกข้างบ้าน ถึงจักรวาลอันไกลโพ้น’ หนังสือที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนต้องพิมพ์ซ้ำรอบสอง 

วันนี้เราเดินทางมาเยี่ยมเยือนเธอถึงสตูดิโอ เพื่อฟังเธอเล่าเรื่องสิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา และดมกลิ่นที่เกิดจากการหมักบ่มตลอด 30 กว่าปีของเธอ

บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูกของ น้ำ กันต์นที กูรูน้ำมันหอมระเหยคนเดียวในประเทศ

ซ่อนกลิ่น

‘กลิ่นหอม’ เพียงเปิดประตูเข้ามา นั่นเป็นอย่างแรกที่เราทักทาย ก่อนจะพบกับหญิงสาวที่ไม่ได้เล่าเรื่องเก่งแค่บนกระดาษ แต่เธอยังพูดถึงกลิ่นได้เห็นภาพไม่ต่างกัน

“เรื่องกลิ่นอยู่กับเรามาตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านขายดอกไม้ เราจะรู้ว่ากลิ่นนี้ชอบ กลิ่นนี้ไม่ชอบ กลิ่นนี้เป็นของอะไร แต่ไม่เคยหาคำตอบในตัวมัน” กันต์นทีเริ่มต้นเล่าเรื่องด้วยวัยเด็กของเธอ

บอกตามตรงว่าไม่แปลกใจเท่าไรนัก หากกูรูด้านกลิ่นผู้นี้มีความเกี่ยวโยงกับกลิ่นหอมมาตั้งแต่เด็ก เพียงแต่กลิ่นของดอกไม้คงกรุ่นได้แค่ในใจเท่านั้น เพราะเมื่อเติบใหญ่ เธอเลือกเดินทางออกจากบ้านเกิด จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยการเรียนนิติศาสตร์ ตามรอยคุณพ่อที่ทำงานด้านกฎหมาย แม้เรียนได้ดีจนมีตำแหน่งงานในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา น้ำก็ยังเป็นตัวเองไม่ได้เต็มที่ ความสนใจด้านภาษาคือสิ่งที่เธอนึกถึง น้ำสานฝันวัยเด็ก ติดปีกบินเป็นแอร์โฮสเตสในวัย 24 ปี หลังผ่านการสมัครมากว่า 10 ครั้ง

ตลอด 6 ปีในการเป็นแอร์ฯ ฝ่าลม ฟ้า อากาศ ผ่านการท่องเที่ยวมาแล้วทั่วโลก สิ่งที่เธอได้มากกว่าความสุขสันต์คือน้ำมันหอมระเหยขวดเล็กจิ๋วที่นอนแอ้งแม้งอยู่ในกระเป๋าเดินทาง ด้วยความเชื่อว่าแต่ละสถานที่มีบรรยากาศแตกต่างกัน น้ำมันหอมระเหยเลยกลายเป็นของสะสมอย่างเดียวที่นานวันเข้าก็เยอะมากพอจนมีมุมส่วนตัวเป็นของมันเอง

บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูกของ น้ำ กันต์นที กูรูน้ำมันหอมระเหยคนเดียวในประเทศ

น้ำอาจดูเหมือนคนรู้ตัวช้า เธอใช้เวลาเรียนนิติศาสตร์กว่า 4 ปีเพื่อค้นพบว่า ‘ไม่ชอบ’ และมีอาชีพบนเครื่องบินจนเจอกับวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ เพื่อให้แน่ใจว่ากลิ่นร้านดอกไม้ของแม่ไม่เคยจางหายไปไหน แม้ชีวิตจะพลิกผันมาสักกี่ครั้ง เธอยังคงเป็นน้ำคนเดิมที่หลงใหลในกลิ่นไม่เปลี่ยน และมีการดมเป็นสัญชาตญาณพิเศษติดตัวมา

“ตอนเด็ก ๆ มีคนเรอในรถเราก็รู้ หรือตอนทำงานเราได้จับเงินต่างประเทศบ่อย เรารู้ว่าเงินสกุลไหนมีกลิ่น เคยพูดว่าเงินประเทศนี้เหม็นมาก เพื่อนยังไม่รู้เลย ตอนแรกคิดว่าเราน่ารำคาญ ใส่รายละเอียดเยอะเกินไปรึเปล่า แต่เรื่องอื่นก็ไม่ได้ใส่ใจมาก พอเป็นเรื่องกลิ่น รู้สึกว่าเราชอบ เราแยกแยะได้ คนเริ่มทักเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าจมูกดี”

ชวนให้สงสัยว่าอะไรทำให้ ‘กลิ่น’ สิ่งที่ลอยล่องอยู่ในอากาศ ถูกใจเธอนัก

“กลิ่นมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ชอบมาก ๆ อยากเก็บไว้ก็ยังทำไม่ได้ เลยน่าสนใจมากว่าทำไมกลิ่นทำให้คนรู้สึกแบบนี้” น้ำให้ความสงสัยคืนมาเป็นคำตอบ

ด้วยความเป็นคนที่อยากรู้อะไรต้องได้รู้ เธอหาโอกาสไปเวิร์ปช็อปเรื่อง Essential Oil ระหว่างไปบินที่ลอนดอน เป็นเวลาสั้นเพียง 2 – 3 ชั่วโมง แต่เหมือนเธอต้องมนตร์สะกด ยิ่งเปิดประสบการณ์ ยิ่งเห็นว่าเธอชอบดมกลิ่นมากเพียงไร บวกกับการตระเวนซื้อหนังสือภาษาอังกฤษมาศึกษาด้วยตนเอง ในตอนนั้น ประเทศไทยไม่ให้ความสนใจกับน้ำมันหอมระเหยเท่าที่ควร ทั้งที่สกัดจากจากธรรมชาติ น้ำให้ความเห็นว่าชาวไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าน้ำมันหอมระเหยเป็นเรื่องของสมุนไพร มีราคาสูง นอกจากนี้ การเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่ไม่ค่อยน่าตื่นตาตื่นใจ ก็ทำให้กลิ่นสำคัญน้อยลงมาด้วย

บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูกของ น้ำ กันต์นที กูรูน้ำมันหอมระเหยคนเดียวในประเทศ

“ในประสาทสัมผัสทั้ง 5 กลิ่นเป็นตัวที่เบาที่สุด คนแทบไม่ใส่ใจ ถ้าตามองไม่เห็น เรื่องใหญ่นะ แตะต้องไม่ได้ก็เรื่องใหญ่ แต่เรารู้สึกว่าถ้าไม่ได้กลิ่นขึ้นมา รสชาติของชีวิตหายไปเยอะมาก เช่น กลิ่นอาหาร ดมแล้วหอมก็อยากกิน กลิ่นดอกไม้ กลิ่นตัวเอง ทุกคนคงเหมือน ๆ กันไปหมด ไม่มีลักษณะพิเศษออกมา เราพยายามไม่ติดโควิด เพราะกลัวว่าจะดมกลิ่นไม่ได้ สมมติเราได้กลิ่นไม่เหมือนเดิม คงแย่มาก กินข้าวไม่อร่อย ไม่อยากไปดมชา กาแฟที่ชอบ หลายคนค่อยมาเห็นความสำคัญของกลิ่นตอนที่เป็นโควิดแล้ว

“เราว่าไม่มีอะไรทดแทนกลิ่นได้ กลิ่นสัมผัสได้ทางเดียวคือจมูก แล้วจมูกก็ทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากดม”

เธออาศัยช่วงเวลาปรับตัวยุควิกฤต หยิบเอาความหลงใหลและนิสัยส่วนตัว ที่หากเริ่มพูดเมื่อไร คนก็จะให้ความสนใจเมื่อนั้น มาพัฒนาเป็นงานที่หล่อเลี้ยงชีพ เกิดเป็น Qraft by AQUA สตูดิโอสอนเรื่องกลิ่นจากธรรมชาติ ด้วย Essential Oil กว่า 60 กลิ่นทั่วโลก หลังผ่านการเรียนรู้และกินอยู่กับกลิ่นหอมจนเชี่ยวชาญ เธอแบ่งปันความรู้ความชำนาญด้วยสถิติการสอน 100 คลาสใน 6 เดือน

ปรุงกลิ่น

Qraft by AQUA เป็นสตูดิโอขนาดเล็ก แน่นอนว่ามีกลิ่นหอมโชย เราจึงขออนุญาตถามว่าเธอใช้กลิ่นอะไรในการปรุงบรรยากาศให้หอมชื่นขนาดนี้ แต่คำตอบที่ได้คือไม่มี ความหอมที่เราได้กลิ่นอยู่นี้เล็ดลอดออกมาจากน้ำมันหอมระเหยทั้ง 60 ขวดที่วางเรียงรายอยู่บนชั้นโชว์ เป็นความรู้ใหม่อย่างแรกที่เราประทับใจ ก่อนจะฝากตัวเป็นลูกศิษย์อีกคนของเธอในวันนี้

บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูกของ น้ำ กันต์นที กูรูน้ำมันหอมระเหยคนเดียวในประเทศ

Essential Oil แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มกลิ่น ประกอบด้วย 

Citrus เป็นกลิ่นที่ให้ความรู้สึกสดชื่น เปรี้ยว กระปรี้กระเปร่า เช่น เบอร์กามอต ส้ม มะนาว

Floral กลิ่นนี้ให้ความรู้สึกหอมหวานเหมือนดอกไม้ นวลเหมือนแป้ง จะพบมากในน้ำหอม เช่น กลิ่นดอกกุหลาบ กลิ่นดอกกระดังงา

Spice กลิ่นเครื่องเทศเผ็ดร้อน ให้ลองนึกถึงกลิ่นพริกไทยดำ ผักชีล้อม หรือเบนไปทางอบเชย

Woody เป็นกลิ่นของเปลือกไม้ กลิ่นควัน กลิ่นหนัง ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นแต่หนักแน่น

Earthy ไม่ใกล้ไม่ไกลจาก Woody นัก เพียงแต่เย็นและชื้นมากกว่า เช่น กลิ่นป่า กลิ่นดิน กลิ่นทะเล

Mint รู้จักกันดีในส่วนผสมของยาดม ยาหม่อง ให้ความรู้สึกเย็นแสบ เช่น เปปเปอร์มินต์ วินเทอร์กรีน

Herb ตรงตามชื่อคือสมุนไพรที่มีความเขียว คล้ายเครื่องเทศแต่เย็นกว่า เช่น กลิ่นใบกระวาน

หากแบ่งตามระดับของกลิ่น มี 3 ระดับด้วยกัน คือ

Top Note เป็นกลิ่นที่เมื่อดมจะพุ่งออกมาก่อน แต่ก็จางหายไวกว่าใครเพื่อน เนื่องจากมีโมเลกุลที่เล็กและเบามาก 

Middle Note เป็นกลิ่นที่ใส่ปริมาณเยอะที่สุดในการทำน้ำหอม เพราะเป็นกลิ่นที่ไม่พุ่งแรง หอมโดยไม่รบกวนกลิ่นระดับอื่น

Base Note เป็นกลิ่นที่หนัก ลุ่มลึก มีโมเลกุลใหญ่และระเหยช้า เราจึงได้กลิ่นนี้ช้าที่สุด 

แต่หากถามถึงลูกศิษย์ของเธอ น้ำแบ่งได้เป็น 3 ประเภท

หนึ่ง ต่อยอด เป็นจำนวนมากที่สุดกว่าครึ่งเลยก็ว่าได้ นักเรียนของเธอส่วนมากมีธุรกิจเป็นของตนเอง เช่น ทำร้านเทียนหอม ทำสปา อยากมาเรียนรู้เรื่องกลิ่นเพิ่มเติม เพื่อออกแบบกิจการให้น่าสนใจและมีเรื่องราวมากยิ่งขึ้น แต่บางครั้งก็เป็นธุรกิจที่เธอไม่คาดฝัน

“เราเซอร์ไพรส์มาก มีหมอดูอยากเรียนกับเรา เพราะจะเอาไปทำน้ำมันเจิมที่หอมกว่าน้ำมันโบราณ หรือคลินิกศัลยกรรมก็มีมาถามว่ามีกลิ่นไหนที่กลบกลิ่นเลือดได้บ้าง เพราะทุกครั้งที่มีดกรีด กลิ่นเลือดทำให้หัวใจคนไข้ใจเต้นเร็วมาก และกลิ่นคาวก็ทำให้คนข้างนอกกลัว”

สอง หาแรงบันดาลใจ กลุ่มนี้รวมคนมีใจรักแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ทำให้มองภาพสิ่งที่อยู่ในจินตนาการ เป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น 

“มีคู่รักสถาปนิก-มันฑนากร อยากออกแบบกลิ่นให้บ้านตัวเอง พวกเขารู้สึกว่ากลิ่นช่วยเปลี่ยนบรรยากาศได้ เหมือนกับที่เราไปดูบ้านตัวอย่างแล้วอยากซื้อเพราะมีกลิ่นช่วย”

สาม เพื่อความสนุกสนาน ไม่ต้องการมากไปกว่าการใช้เวลาว่างไปกับการดมกลิ่นหอม น้ำพบว่าเธอมีหมอเป็นลูกศิษย์มากพอสมควร ทำให้เห็นว่ากลิ่นช่วยบรรเทาความเครียดและอาการเหนื่อยล้าได้จริง 

บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูกของ น้ำ กันต์นที กูรูน้ำมันหอมระเหยคนเดียวในประเทศ

ดมกลิ่น

น้ำนำความมหัศจรรย์ของกลิ่นมาประยุกต์ใช้กับการสอน เธอไม่มีสูตรตายตัว ไม่เคยบอกว่าผิดหรือไม่ได้ การเรียนรู้ไปกับเธอคือการหยิบเอาประสบการณ์และความทรงจำมาใช้ 

“พูดถึงทะเล ทุกคนนึกถึงไม่เหมือนกัน คนนี้นึกถึงความเค็ม คนนี้นึกถึงใต้น้ำ คนนี้นึกถึงชายหาด หรือปาร์ตี้ริมทะเล กลิ่นเดียวกัน คนสามคนยังดมแล้วรู้สึกไม่เหมือนกันเลย คนเดิม ดมกลิ่นเดิม ก็ยังรู้สึกไม่เหมือนเดิม วันนี้เหม็น พรุ่งนี้หอม”

เราเองเชื่อว่ากลิ่นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ กลิ่นทำให้เราสนิทสนมกับคนไม่คุ้นหน้าได้ง่าย ๆ เพียงเพราะมันพาเราย้อนกลับไปยังความทรงจำที่คุ้นเคย กลิ่นทำให้เราพูดภาษาเดียวกัน ไปที่เดียวกัน เห็นภาพเดียวกัน ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ได้ทำร่วมกัน แต่บังเอิญมีเหมือนกัน เราว่าหากพูดถึงกลิ่นถุงมือของหมอฟัน คงมีหลายคนทำหน้าเหยเกไม่ต่างกันเท่าไร 

น้ำอธิบายว่าเพราะกลิ่นทำงานกับ Limbic System ระบบควบคุมอารมณ์ในสมองที่บรรจุความทรงจำระยะยาวของเราเอาไว้ เมื่อสูดกลิ่นเข้าจมูกจะถูกส่งต่อไปยังลิมบิก กุญแจห้องแห่งความลับขนาดมหึมาจึงถูกไข บางกลิ่นทำให้นึกย้อนอดีต บางกลิ่นทำให้คิดถึงคนที่นานมาแล้วไม่ได้เจอ เราทุกคนจึงเชื่อมโยงถึงกันได้ไม่ยาก เธอบอกว่าสิ่งที่น่าสนใจของกลิ่นคือการจับคู่ น้ำหนักของโมเลกุล เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่ผสมออกมาแล้วจะชอบหรือไม่ นับเป็นศิลปะที่ต้องใช้ความรู้สึกตัดสิน

บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูกของ น้ำ กันต์นที กูรูน้ำมันหอมระเหยคนเดียวในประเทศ

“แม่ที่ชอบกลิ่นของลูกตัวเองมาก ๆ ทั้งที่บางทีเป็นกลิ่นอ้วก กลิ่นแพมเพิส แต่กลิ่นลูกแท้จริงแล้วคือกลิ่นน้ำคร่ำของตัวเขาเอง ส่งผลให้แม่อยากเลี้ยงลูกตัวเอง เพราะเป็นกลิ่นของเขา หรือกลิ่นของคนรัก ทำไมเราชอบดม ชอบหอมแฟน ผู้หญิงถ้าได้กลิ่นหรือสัมผัสแฟนเวลาเครียด ฮอร์โมนแห่งความเครียด ‘คอร์ติซอล’ จะลดลง หรือเราเป็นคนคลั่งรัก (หัวเราะ)

“นอกจากตัวบุคคล สมาธิก็ด้วย เช่น ทำไมต้องจุดกำยาน เพราะฤทธิ์ของกลิ่นกำยานทำให้รู้สึก Slow Down หัวใจเต้นช้าลง หายใจลึกขึ้น ศาสนาจึงเอาเข้าไปใช้” เธอยกตัวอย่างการทำงานของกลิ่นกับความรู้สึกให้เข้าใจ 

มีกลิ่นหอมแล้วก็ต้องมีกลิ่นเหม็น คราวนี้จำเลยเป็นต้นตีนเป็ด ที่บางคนส่ายหน้า บางคนยิ้มหวาน เพราะห้องแห่งความลับของทุกคนบรรจุเรื่องราวแตกต่างกันไป การเรียนรู้และเข้าใจกลิ่น จึงทำให้เข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้มากขึ้น น้ำบอกกับเราว่าเธอรู้จักตัวตนของลูกศิษย์ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ผ่านกลิ่นที่พวกเขาผสม เพราะทุกคนมักจะเลือกกลิ่นตามบุคลิกที่แสดงออก อีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเว้นไว้ให้คนมีกำแพงที่อาจไม่สะดวกใจเปิดเผยตัวตนให้เห็นในกลิ่นแรก แต่เมื่อได้ลองดมเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มเข้าใจเขา บางคนชอบกลิ่น Floral แต่เลือกโซนที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงก็มี บทสรุปคือดมอย่างไรก็ไม่ถูกใจเสียที น้ำคิดว่าคงเป็นจิตใต้สำนึกส่วนลึกที่แสวงหาความหลากหลาย พยายามหนีออกจากการเป็นตัวเอง 

“ความชอบของเราจะไม่ได้แตกแถวออกไปได้เยอะหรอก ถ้าคนชอบกลิ่นหวาน ทำยังไงก็ออกมาหวาน เพราะความชอบไม่ได้เปลี่ยนได้ภายใน 10 นาที ถ้าชอบแล้ว แปลว่าโอเคแล้ว อาจจะไม่ดีสำหรับคนอื่น แต่ดีสำหรับเรา ความชอบกับความถูกต้องอาจจะไปคนละทาง” 

เป็นอีกครั้งที่เธอไม่ได้พูดถึงการเป็นลูกผสมของศิลปะกับวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่คงไม่มีอะไรอธิบายได้ชัดเท่านี้ นักเรียนส่วนมากมาเรียนด้วยความไม่รู้ น้ำยืนยันว่าไม่ต้องกลัวว่าจะไม่หอม สูตรในการผสมจะทำให้ออกมาหอม แต่ทำเสร็จแล้วจะชอบไหม อาจต้องใช้หัวใจ เหมือนที่เรากำลังประสบอยู่ตอนนี้

แค่ขวดแรกที่น้ำหยิบยื่นให้เราดม เธอก็รู้ได้ทันทีว่าเราชอบกลิ่นโซนไหน ไม่ต้องใช้เวลาไตร่ตรอง เพียงเสี้ยววินาที กลิ่นต่อไปที่เข้าคู่กันแล้วหอมอย่างประหลาดก็ถูกหยิบยื่นมาขวดแล้วขวดเล่า น้ำจะทวนถามเสมอว่า เราดมแล้วชอบไหม รู้สึกอย่างไร เป็นไปในทางบวกหรือลบ

กลิ่นรอบตัว กลิ่นรอบโลก และกลิ่นชีวิต ของ กันต์นที นีระพล ลิ้มวิรัตน์ ครูสอนปรุงน้ำหอมที่เชื่อว่ากลิ่นทำให้ชีวิตละเอียดขึ้น

สำหรับเธอ การสอนคนไม่มีพื้นฐานไม่ยากเท่าคนที่ไม่ตัดสินใจ เคยมีนักเรียนที่นั่งตั้งแต่บ่ายยันเย็นก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าชอบหรือไม่ สิ่งที่ครูสอนเรื่องกลิ่นหอมต้องการคือการสื่อสารอธิบาย เพราะเราต่างก็รู้กันดีว่ากลิ่นสัมผัสไม่ได้ 

“กลิ่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ปุบปับตัดสินใจได้ทันทีหรอก แต่เราให้เลือกจากการเอากลิ่นที่ชอบมารวมกัน ดมแล้วถ้าใช่มันคือใช่ ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะอะไร คนที่ไม่ตัดสินใจคือไม่รู้ชอบรึเปล่า เราก็ไม่รู้ไง (หัวเราะ) ถ้าลังเลเราจะถามว่ารู้สึกอะไร พูดออกมาเลย เปรี้ยวไป หวานไป เราช่วยได้ แต่ต้องลงดีเทลนะ อาจจะดูยาก แต่ทุกคนมีคำตอบอยู่แล้วแหละ”

จริงที่เธอแยกแยะกลิ่นได้ทันที ขณะที่คนอื่นรู้จักแค่คำว่า เหม็นกับหอม แต่ความสนุกที่เธอค้นพบระหว่างทางคือการเรียนรู้ร่วมกันกับลูกศิษย์ ค้นพบกลิ่นใหม่ ๆ นิยามใหม่ ๆ เสมอ จาก 60 ขวดที่ตั้งตรงอยู่บนโต๊ะที่เดิมเกือบทุกวัน นอกเสียจากจะมีใครแก้สมการการผสมกลิ่นได้ครบ จนเธอค้นพบสิ่งใหม่ไม่ได้อีกนั่นแหละ

จากที่เราคิดว่าตัวเองจัดอยู่ในหมวดสาม เป็นลูกศิษย์จำเป็น ที่เรียนรู้วิชาน้ำมันหอมระเหยฉบับเร่งรัดเพื่อความสนุก หลังประกอบร่างน้ำหอมประจำกายออกมาได้สำเร็จ ก็คิดว่าคงต้องย้ายตัวเองไปหมวดสองทันที น้ำส่งมอบแรงบันดาลใจให้เราโดยไม่รู้ การชอบเล่าเรื่อง นิสัยช่างพูดช่างเจรจาของเธอคล้ายกับการแสดงตัวตนไม่ผิดแน่ แต่กลิ่นเองก็เป็นการแสดงออกถึงตัวตนของผู้ฉีดมันเช่นกัน 

เราขอยืนยันว่าเธอจมูกไวเหลือเชื่อ และทายลักษณะนิสัยเราถูกเผงจากน้ำหอมเพียง 8 กลิ่น 30 หยดเท่านั้น

กลิ่นรอบตัว กลิ่นรอบโลก และกลิ่นชีวิต ของ กันต์นที นีระพล ลิ้มวิรัตน์ ครูสอนปรุงน้ำหอมที่เชื่อว่ากลิ่นทำให้ชีวิตละเอียดขึ้น

ตามกลิ่น

เมื่อพูดถึง The Cloud แม้จะนึกถึงก้อนเมฆเป็นอย่างแรก แต่ไม่มีใครรู้ว่าเมฆมีกลิ่นอะไร น้ำจึงนึกถึงกลิ่นเย็น ๆ ของมินท์ ความกระปรี้กระเปร่า ผสมกับความ Earthy ที่ดูนิ่ง สุขุม ด้วยความเป็นสีน้ำเงิน 

เมื่อพูดถึงตัวเอง น้ำบอกว่ากลิ่นของเธอไม่หวานมาก อยู่ด้วยแล้วสบายใจ แต่ก็มีความจุกจิกซ่อนอยู่ตามประสา สำคัญคือกลิ่นของเธอต้องเพิ่มพลังงานดี ๆ ให้คนอื่นได้ 

เสียงกลั้วหัวเราะตลอดการสนทนาในวันนี้ คงหนุนเสริมได้อีกทางว่ากลิ่นของน้ำเป็นจริงอย่างที่เธอคิด

เราถามเธอถึงสิ่งที่ได้หลังจากตัดสินใจตามกลิ่นมา 

“กลิ่นทำให้เรารู้จักตัวเองเยอะขึ้นมาก ค้นพบศักยภาพที่เราทำได้ เจอคนเยอะขึ้น เข้าใจผู้คน เข้าใจโลกที่เรามองเห็นในมุมแตกต่างไป มีหลาย ๆ อย่างเข้ามาในชีวิต ได้สอน ได้เขียนหนังสือ ซึ่งต่อยอดให้คนอ่านได้อีก ต่อยอดชีวิตเรา ตอนนี้กลายเป็นลังเลว่าจะกลับไปบินดีไหม 

“กลิ่นทำให้เรามีจุดยืนของตัวเองโดยที่เราไม่ต้องกลัวเรื่องความไม่แน่นอน ได้สร้างตัวตนของเราขึ้นมาจากสิ่งนี้ กลิ่นพาเรามาเจอประสบการณ์ชีวิต จากคน จากการตัดสินใจของเราเอง”

กลิ่นรอบตัว กลิ่นรอบโลก และกลิ่นชีวิต ของ กันต์นที นีระพล ลิ้มวิรัตน์ ครูสอนปรุงน้ำหอมที่เชื่อว่ากลิ่นทำให้ชีวิตละเอียดขึ้น

หนังสือ ‘Nose Note บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูก ฝนตกข้างบ้าน ถึงจักรวาลอันไกลโพ้น’ หากใครได้อ่านก็คงต้องรู้สึกเหมือนกัน ว่านอกจากจะเป็นตัวอักษรที่มีกลิ่น น้ำยังเขียนสนุกราวกับมีเสียงของเธอเล่าให้ฟัง เอกลักษณ์ของเธอคือการถ่ายทอดที่เรียบง่าย เป็นกันเอง ดึงเอาความทรงจำและประสบการณ์ที่คล้ายกันของผู้คนมาอธิบายสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น กลิ่นของฝน ใบเตยในรถแท็กซี่ จนถึงกลิ่นของนักบินในอวกาศ นับเป็นก้าวใหญ่ ๆ ที่พลิกผันชีวิตน้ำอีกครั้ง 

เธอเองเคยฝันอยากมีหนังสือของตัวเอง เพียงแต่ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร สิ่งที่เธอทำได้คือการเขียนสเตตัสบนเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยความยาวระดับกำแพงวัด จนเพื่อน ๆ ออกปากว่าถ้าวันไหนอยากอ่านไดอารี่ของเธอ คงต้องแคปเก็บไว้เพราะเปลืองเน็ต มาถึงวันนี้ที่เธอมีความรู้มากมายเต็มกระบุง จากทั้งการศึกษา เติบโตไปพร้อม ๆ กับนักเรียนที่เธอสอน หนังสือเปิดตัวด้วยยอดขายเกินกว่าที่เธอหวังไว้ กระแสตอบรับก็ดีเสียจนยิ้มแก้มปริ ส่งผลให้เธอต้องพยายามสร้างตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงแท้ เพื่อตอบคำถามคนอ่านและคนในชีวิตหลายร้อยพันให้ได้ว่ากลิ่นนั้น ๆ หมายความว่ายังไง ในอนาคตน้ำจึงอยากพากลิ่นไปให้ไกลกว่าแค่โพ้นจักรวาล

“เรากำลังจะเรียน Aroma Therapist เป็นกลิ่นที่เน้นเรื่องการบำบัด เราอยากให้กลิ่นเข้าไปอยู่ในสุขภาพ ในชีวิตผู้ป่วย ในโรงพยาบาล แล้วเราสนใจเรื่องจิตวิทยามาก ๆ ถ้ามีโอกาสก็อยากไปเรียนเป็นนักจิตบำบัด มองไปถึงการเปิดศูนย์ที่ใช้กลิ่นในการบำบัด มีนักจิตวิทยามานั่งคุย กลิ่นไหนช่วยเขาได้บ้าง ถ้าเราเป็นนักออกแบบกลิ่นเพื่อผู้ป่วยได้จริง มันคงเวิร์กกับประเทศเรามากนะ แล้วก็เป็นอีกสเต็ปในชีวิตของเรา

“เราคิดแค่อยากทำของเราให้ดี แต่ก็มีในใจว่าอยากเป็นอันดับหนึ่งเรื่องน้ำมันหอมระเหยในไทย ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้ยังไม่มีใคร เราเลยยังเป็นที่หนึ่ง (หัวเราะ) เราเป็นคนทะเยอทะยานตั้งแต่เด็กแล้ว แต่หนึ่งอย่างที่ขอบคุณมาก ๆ คือคนรอบข้าง เพราะครอบครัว แฟน เพื่อน เขาสนับสนุนเรามาก ๆ”

เป็นอย่างที่น้ำว่าไว้ในตอนต้น ถ้าเราใส่ใจกลิ่นมากขึ้น ความละเอียดในชีวิตก็จะมีมากขึ้นตาม เหมือนที่เธอย้อนกลับมาสำรวจตัวเองก่อนจะสาย กลิ่นร้านดอกไม้ของแม่ยังคงหอมกรุ่นไม่ว่าอยู่ที่ใด กลิ่นของป่าเขาเมืองกาญจน์ กลิ่นของร้านหนังสือร้านประจำที่บ้านเกิด กลิ่นของแอร์เย็น ๆ บนเครื่องบิน มีทั้งวันที่หอมจนสูดดมได้เต็มปอด มีทั้งวันที่เหม็นหืนจนไม่อยากหายใจ ผสมกันเป็นน้ำมันหอมระเหยของชีวิตที่ใช้เวลาหยด 30 กว่าปี เป็นกลิ่นที่คนรอบข้างดมแล้วมีความสุข เธอเองก็มองเห็นตัวเองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง 

น้ำทำให้เราเข้าใจกลิ่นในแง่มุมใหม่ ว่ามันไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ของส่วนผสมทางเคมีใด ๆ และความเหม็นหอมที่แตกต่างกันทุกขวด ก็คงไม่ต่างอะไรกับรอยยิ้มและน้ำตา

นั่นคือความมหัศจรรย์

กลิ่นรอบตัว กลิ่นรอบโลก และกลิ่นชีวิต ของ กันต์นที นีระพล ลิ้มวิรัตน์ ครูสอนปรุงน้ำหอมที่เชื่อว่ากลิ่นทำให้ชีวิตละเอียดขึ้น

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน