ผลงานของ โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี เจ้าของสตูดิโอออกแบบสิ่งทอ Kaniit.Textile เป็นสีสันและลวดลายที่หลายคนผ่านตาคุ้นเคยกันมาแล้วแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับแบรนด์เสื่อ PDM ในคอลเลกชัน NANN เสื่อพับรุ่น NIK-NIK ที่หยิบเอาทิวเขาจากจังหวัดน่านมาเก็บไว้บนเสื่อ หรือคอลเลกชัน Aamu ที่สื่อสารสีสันและลวดลายจากความประทับใจในแสงเหนือ ขนิษฐายังมาพร้อมกับบทบาทการเป็นนักออกแบบสิ่งทอที่ทำงานประจำอยู่ที่โครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปภัมภ์ เธอหยิบจับลายผ้าไทยและเอกลักษณ์ของชาวชาติพันธุ์มาสร้างสรรค์ผลงานเข้ากับเทคนิคใหม่ๆ เป็นลายผ้าที่บาลานซ์และให้ความสำคัญกับ ‘ดีไซน์ได้ ขายดีด้วย’ 

นิยามคำว่า ‘ออกแบบ’ สำหรับขนิษฐา จึงเป็นการสร้างสมดุลระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ เกิดเป็นงานศิลปะที่ใช้งานได้จริง และเธอมีเส้นด้ายเป็นวัตถุดิบตั้งต้น

กระบวนการคิดไม่จำเป็นต้องถักทอเป็นแถวหรือเส้นตรงเช่นไร ลวดลายที่เธอสรรค์สร้างบนพื้นที่แห่งการทดลองและเล่นสนุกไปกับมันก็เป็นเช่นนั้น เจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Textile and Fabric ปลายสายรอให้เราเข้าไปค้นวิธีคิด ฟังเบื้องหลังการทำงานที่ส่งให้เธอได้รับเลือกเป็นหนึ่งในเจ้าของรางวัลสุดยอดนักออกแบบไทยอยู่นี่แล้ว

โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี Kaniit.Textile นักออกแบบสิ่งทอผู้เชื่อในการทดลองและลงมือทำ

กล้ากระโดดลงสนามที่ไม่คุ้นเคย

“ผิดก็ผิด ทำผิดก็โอเค กลายเป็นสิ่งที่ฝังเรามาจนถึงทุกวันนี้ว่า ทำเลย ลองเถอะ ผิดก็คือผิด ผิดก็รู้ว่าผิด แล้วค่อยเปลี่ยน มันก็ยังดี ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย” เธอเริ่มต้นเล่าวิธีการทำงานในแบบตัวเองอย่างออกรส

การเลือกไปเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขา Textile Art and Design ที่ Aalto University ประเทศฟินแลนด์ สิ่งที่พบเจอจนนำพาไปสู่อาการตกใจ ก็คือการได้เจอกับระบบวิธีการคิดใหม่ ที่ทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นต่างมาพร้อมกับมุมมองแบบ ‘ลองทำเลย’ กันทั้งหมด โดยไม่มีกรอบ ไม่มีความกลัว ไม่มีข้อจำกัดว่าสิ่งนั้นๆ จะถูกหรือผิด

“พอเราไปเรียน Textile Art and Design ที่มีทั้งงานดีไซน์ งานในเชิงพาณิชย์ งานทางด้านแบบศิลปะ Abstract เปิดกว้างว่าแต่ละคนอยากทำอะไรก็เลือก ผลงานก็หลากหลาย

“มีเพื่อนอยากทำภาพซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากแผล เรางงมาก แผลสดเนี่ยนะ แต่อาจารย์ก็สนับสนุนว่าถ้าอยากทำ ทำเลย เขาก็ไปทดลองทำขึ้นมา จนเราเห็นว่ามันทำได้จริงๆ”

โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี Kaniit.Textile นักออกแบบสิ่งทอผู้เชื่อในการทดลองและลงมือทำ
โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี Kaniit.Textile นักออกแบบสิ่งทอผู้เชื่อในการทดลองและลงมือทำ

ขนิษฐาย้อนมุมมองจากการได้เผชิญกับโลกคนละใบหลังเรียนปริญญาตรีจากภาควิชา Industrial Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผ่านหลักสูตรที่ติดตั้งวิธีคิดแบบเชิงพาณิชย์ และติดอาวุธวิธีคิดงานออกแบบที่ครอบคลุมหลายสาขา ตั้งแต่กราฟิก เซรามิก ตกแต่งภายใน จนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำให้ขนิษฐามีพื้นฐานและความเข้าใจถึงวิธีคิดของโลกทั้งสองใบที่แตกต่าง และนำมาปรับให้เขากับจริตการทำงานของตัวเองให้เหมาะสมที่สุด

ผลงานวิทยานิพนธ์ เธอจึงเลือกลงเล่นในสนามที่ไม่คุ้นเคย อย่างการทำศิลปะอินสตอลเลชัน แม้จะคาดเดาผลลัพธ์ปลายทางไม่ได้ เมื่อโจทย์คือการสื่อสารแนวคิดที่ตัวผู้สร้างต้องการสื่อ ซึ่งถือเป็นโลกคนละใบกับการทำงานเชิงพาณิชย์ที่เคยคุ้น แต่ด้วยความรู้สึกอยากทดลองและใจสู้ ขนิษฐาจึงเริ่มก้าวแรกด้วยการตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่า อยากจะสื่อ ‘สาร’ อะไร

ด้วยความโชคดีที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนชาวฟินแลนด์ตั้งคำถามว่า “มาจากเมืองไทย เป็นเมืองพุทธ มีความเชื่อในเรื่องเวียนว่ายตายเกิดหรือเปล่า” คำถามที่เป็นเหมือนสปริงบอร์ดในการต่อยอดและได้สาระสำคัญของคำว่า ‘แก่นพุทธ’ ให้เธอหยิบมานำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจ และต่อยอดเป็นการฉายภาพรูปธรรมของคำว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ ให้เห็นชัดเจนขึ้น 

โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี Kaniit.Textile นักออกแบบสิ่งทอผู้เชื่อในการทดลองและลงมือทำ

“ใจความของงานคือการแสดงให้เห็นประสบการณ์ง่ายๆ ว่า การมองสิ่งเดียวกัน ถ้ายืนอยู่ต่างมุมมันก็จะเปลี่ยน ใช้วิธีการขึงเส้นด้ายที่ย้อมสีธรรมชาติทีละเส้น ทั้งหมดสิบหกชั้น นับเป็นพันกว่าเส้น บอกได้เลยว่านี่คือการฝึกมือและฝึกความอดทนของเรา ทางมหาวิทยาลัยนำงานชิ้นนี้ไปเป็นหนึ่งในตัวแทนผลงานศึกษา จัดแสดงในงาน Milan Design Week” เธอเล่าถึงผลงานที่สื่อสาระว่า ไม่มีอะไรคงอยู่ถาวร และทุกอย่างคือการเปลี่ยนแปลง 

และเมื่อความกล้าลองผิดลองถูกบวกกับอิสระในการตัดสินใจ จึงได้ผลลัพธ์เป็นมุมมองใหม่ ที่ผลักฝีมือการสร้างสรรค์ให้ไปไกลกว่าเดิม

จริงอยู่ ในทุกงานออกแบบมีแรงบันดาลใจเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญ สำหรับขนิษฐา แรงบันดาลใจนั้นเปรียบเหมือน ‘จุดเปิดสวิตช์’ เท่านั้น เพราะตลอดทางของการสะสม สิ่งที่เห็นก็ได้ถูกพัฒนาต่อเนื่องมา ซึ่งในความเป็นจริง ตัวนักออกแบบไม่ได้เริ่มทำงานจากตรงนั้น แต่เป็นการต่อยอดที่เกิดจากการค้นหาแรงบันดาลใจอื่นๆ มาพัฒนากลายเป็นงาน

โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี Kaniit.Textile นักออกแบบสิ่งทอผู้เชื่อในการทดลองและลงมือทำ

“แรงบันดาลใจเป็นเหมือนถังข้อมูล (Database) ที่เกิดการจำเข้าไป เหมือนผ่านตาแล้วก็ถูกเก็บเข้าไปในหัว ไม่รู้ว่าจะดึงออกมาใช้เมื่อไหร่ สมมติถ้าทำงานตอนนี้ แล้วอยู่ๆ อาจไปจุดประกายแรงบันดาลใจที่เจอเมื่อสิบปีที่แล้วก็ได้ ทุกอย่างถูกเก็บเข้ามารอไว้ก่อน จนมีจังหวะที่เหมาะสม”

“แม้แต่กระทั่งตอนคิดงาน เราไม่สเก็ตช์เลยนะ เคยมีคนถามว่าวาดรูปบ้างไหม วาดโครงสร้างผ้าอันนี้ไหม ไม่ ไม่วาด ทุกอย่างมันเกิดขึ้นในหัว เหมือนเราดูเพ้อๆ นะ แต่เป็นการนึกภาพในหัวว่า งานน่าจะออกมาเป็นประมาณนี้ เมื่อคิดผสมๆ อยู่ในหัวแล้วก็ทำเลย พอทำก็พัฒนาไปเรื่อยๆ” เธออธิบายการทำงานที่ต่อยอดจากวิธีคิดลองทำเลยอีกครั้ง

เส้นสายคือสมดุล

จากการเรียนสาขา Industrial Design ที่แท้จริงแล้วเป็นการผสมผสานกันระหว่างความเป็นวิทยาศาสตร์กับศิลปะ นิยามคำว่า ‘การออกแบบ’ ของเธอจึงเป็นเรื่องของการหาสมดุลที่ลงตัวระหว่างสองฝั่ง และเธอทำได้อย่างดีเยี่ยม ดังที่เห็นในฝีมือการออกแบบสารพัดลวดลายผ้า

“เราก็เหมือนสถาปนิกคนหนึ่ง แต่วัตถุดิบตั้งต้นของเราคือเส้นด้าย วิธีการเหมือนกัน แค่เปลี่ยนตัววัสดุกับนำข้อมูลเชิงเทคนิคมาใช้คนละแบบ เช่น เวลาสถาปนิกจะทำบ้าน ต้องเลือกวัสดุ เขาเลือกหินกรวด เบอร์ 1 2 3 เราเลือกเส้นด้ายเบอร์ 1 2 3 เขาเลือกโครงสร้าง วางคาน เราก็เลือกโครงสร้างในการทอว่าเราจะใช้อะไรทำ”

โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี Kaniit.Textile นักออกแบบสิ่งทอผู้เชื่อในการทดลองและลงมือทำ

ที่น่าสนใจ มุมมองการออกแบบของเธอยังถูกหล่อหลอมให้ ‘ดีไซน์ได้ ขายดีด้วย’ ทำให้ขนิษฐานึกถึงปัจจัยสำคัญอย่างความสามารถและกำลังในการผลิตผลงานออกแบบอยู่เสมอ 

จากแบบร่างนามธรรมในหัว สู่การส่งต่อให้โรงงานและเครื่องจักรที่จะต้องผลิตได้จริง ขายได้จริง ไม่อย่างนั้นแล้วประโยชน์จากการออกแบบจะไม่เกิด ความท้าทายจึงเป็นเรื่องของการบาลานซ์ระหว่างความคิดกับวิธีการทำงาน

“เราอาจจะคิดขั้นสุดเลย คิดแบบศิลปะสุดโต่ง คิดดีไซน์ในฝันเลยว่าอยากได้แบบนี้ แล้วค่อยจับไอเดียนั้นมาเจอกับเทคนิคที่มีความเป็นไปได้ว่าทำได้มากสุด สุดท้ายแล้วสิ่งนั้นก็จะค่อยๆ กลายเป็นงานศิลปะที่ทำได้จริง

“การดีไซน์ที่ดีไม่ได้จำเป็นต้องใช้วัสดุแพงที่สุด ใช้เทคนิคยากที่สุด แต่ต้องหาทางเลือกที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้น หรือ ณ โจทย์นั้น” เธอย้ำ

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน คือผลงานที่หลายคนคุ้นตา อย่างลวดลายบนเสื่อ PDM คอลเลกชัน AAMU (อามู) มาจากคำศัพท์ว่า aamurusko (อามูรุสโกะ) ในภาษาฟินแลนด์ที่แปลว่าแสงเหนือ ขนิษฐาได้ทำงานร่วมกับนักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ PDM อย่าง ดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ และ แมน-แมนรัตน์ สวนศิลป์พงศ์ ด้วยการทดลองเพื่อตอบรับกับโจทย์ที่ได้มาอย่างเต็มที่

โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี Kaniit.Textile นักออกแบบสิ่งทอผู้เชื่อในการทดลองและลงมือทำ
คุยกับ โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี นักออกแบบสิ่งทอไร้กรอบที่เชื่อในการลงมือทำ และสร้างสมดุลให้งานดีไซน์ขายดี

สร้างลวดลายกราฟิกที่ดูธรรมชาติ สีสันที่ผสมกันอย่างน่าสนใจ แพทเทิร์นที่ซ่อนความเท่เอาไว้ไม่อยู่ ทั้งยังต้องคิดเรื่องการผลิตที่มีความท้าทาย คือทำให้ลอกเลียนแบบได้ยากไปพร้อมกัน

“เราทดลองในสิ่งที่ไม่เกินข้อจำกัดของแบรนด์ ซึ่งเป็นวิธีการของเราเหมือนกัน ถ้าบอกทำได้มากสุดสี่สี เราก็ทำที่สี่สี ขีดจำกัดถึงเท่าไหน เราก็ทำให้มันเต็มถึงเท่านั้น”

คุยกับ โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี นักออกแบบสิ่งทอไร้กรอบที่เชื่อในการลงมือทำ และสร้างสมดุลให้งานดีไซน์ขายดี

อัปเดตระบบปฏิบัติการ

“เราจะเลือกทำเฉพาะที่รู้สึกว่า อันนี้มันคือใจความสำคัญนะ แล้วเราจะประเมินได้เร็วขึ้น เหมือนอัปเดตระบบปฏิบัติการ iOS พออัปแล้วทุกอย่างจะเร็วขึ้น แล้วรู้เลยว่า อันนี้เป็น Bug (​​ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโปรแกรม) ไม่เอา”

นี่คือคำตอบเมื่อเราถามว่า ตลอดการทำงานกว่าสิบปี มีวิธีคิดส่วนไหนที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะที่จริงก็สงสัยอยู่ว่า นักออกแบบผู้ทำงานมาอย่างยาวนานจะมีอาการ ‘ชินมือ’ บ้างหรือไม่ อย่างการรู้สึกว่าทุกโจทย์จัดการได้ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสม และคิดกระบวนการลงมือทำตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างคล่องตัว 

คุยกับ โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี นักออกแบบสิ่งทอไร้กรอบที่เชื่อในการลงมือทำ และสร้างสมดุลให้งานดีไซน์ขายดี

“การมีประสบการณ์เยอะเป็นเรื่องดี แต่เราพยายามเป็น Beginner ในทุกๆ ขั้นตอน หรือเปิดกว้างมากขึ้น เราทำงานมาเยอะ ก็ต้องทำงานกับรุ่นน้องคนละเจเนอเรชัน สำคัญคือเราต้องฟังคนอื่นด้วย”

ความโชคดีอีกประการคือ ขนิษฐาได้ทำงานในโครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปภัมภ์ จึงมีโอกาสสร้างผลงานในพื้นที่ที่เปิดกว้าง และเปิดรับความเป็นไปได้ในการออกแบบ ไม่ว่าดีไซเนอร์จะมีโจทย์อยากทำผ้าแบบไหน ก็ยกมือเสนอได้โดยไม่มีข้อจำกัด เป็นพื้นที่แห่งการทดลองที่เรียกว่า ‘ทำงานไปด้วย ทดลองไปด้วย เล่นสนุกไปด้วย’

“เราเจอทีมที่ดี เจอ Creative Director ที่ส่งเสริมกัน พอเราสนุกปุ๊บ ก็อยากทำ อยากอัปเลเวลขึ้นไปอีก”

คุยกับ โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี นักออกแบบสิ่งทอไร้กรอบที่เชื่อในการลงมือทำ และสร้างสมดุลให้งานดีไซน์ขายดี
คุยกับ โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี นักออกแบบสิ่งทอไร้กรอบที่เชื่อในการลงมือทำ และสร้างสมดุลให้งานดีไซน์ขายดี
คุยกับ โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี นักออกแบบสิ่งทอไร้กรอบที่เชื่อในการลงมือทำ และสร้างสมดุลให้งานดีไซน์ขายดี

เมื่อความสามารถได้รับการรดน้ำ เติมปุ๋ยอย่างพอดี ผลงานก็เติบโตอย่างแข็งแรง ยิ่งเมื่อทำในนามขององค์กร ทุกชิ้นก็เป็นเหมือนหมุดหมายในการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงและแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง เป็นโอกาสที่คนอื่นๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนและพัฒนาวิธีการสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนไอเดียเพื่อพัฒนาและต่อยอดไปไม่สิ้นสุด

คุยกับ โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี นักออกแบบสิ่งทอไร้กรอบที่เชื่อในการลงมือทำ และสร้างสมดุลให้งานดีไซน์ขายดี

ความเป็นไทยในสายตานักออกแบบไทย

สิ่งที่มาพร้อมกับตำแหน่งสุดยอดรางวัลนักออกแบบไทยนั้น ทำให้เราสงสัยว่า คำว่า ‘ความเป็นไทย’ นี้ยังมีความหมายในฐานะต้นทุนทางความคิดสร้างสรรค์ บนบริบทความเป็นปัจจุบันบ้างหรือเปล่า 

ขนิษฐาตอบด้วยการยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่เธอมีโอกาสทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย โดยโจทย์คือหาจุดตัดที่ลงตัวในการร่วมมือกันนั้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยที่ยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบฝรั่งเศสกับนักออกแบบไทย

“ตอนนั้นเราคิดไม่ออกว่าจะโชว์ความเป็นไทยอย่างไร เลยใช้วิธีการพาเขาไปเที่ยว ไปดูเมือง ไปตลาด ไปปากคลองตลาด ไปสำเพ็ง ไปเยาวราช”

ผลึกที่ตกได้จากการสำรวจความเป็นไทยผ่านเมืองกรุงเทพฯ คือ “ความแตกต่างที่เชื่อมต่อกันได้อย่างไม่สิ้นสุด” เธอเล่าว่า ความเคลื่อนไหวที่ยุ่งเหยิงแบบสำเพ็งหรือปากคลองตลาด เมื่อนั่งรถต่อมาอีก 10 นาทีก็เจอห้างสรรพสินค้าหรูหราใจกลางเมือง นั่นทำให้ได้ข้อสรุปว่า

 “ความเป็นไทยที่เป็นต้นทุนไม่ใช่เรื่องของความหลากหลาย แต่เป็นการขมวดอะไรก็ตามที่เอามาทำเป็นเรื่องเดียวกันได้ เนื่องจากเราไม่เคยถูกกดดัน ดังนั้น มันเลยทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้หมด จะจับอันนี้มาผสมอันนี้ก็ได้ วิธีคิดตามความเชื่อแบบไทยๆ เหมือนเป็นวิถีชีวิต หรือวิถีกระบวนการคิดแบบคนไทย ซึ่งจริงๆ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นแบบ เป็นแถว เป็นเส้นตรง

“ในความเป็นไทยของเรา เราคิดว่ามันเป็นวิธีการจับมิกซ์แอนด์แมตช์ ที่บางทีไม่ต้องเข้ากันก็มีความเป็นไทย หมายถึงว่ามันเป็นระบบความเชื่อ ไม่ใช่สิ่งที่จับต้องยาก”

คุยกับ โน้ต-ขนิษฐา นวลตรณี นักออกแบบสิ่งทอไร้กรอบที่เชื่อในการลงมือทำ และสร้างสมดุลให้งานดีไซน์ขายดี

5 คำแนะนำถึงดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากนักออกแบบสิ่งทอรุ่นพี่

01 อยากให้หาตัวเองให้เจอ 

ความหมายคือคล้ายๆ กับจุดยืนของตัวเอง ถ้าเราไม่รู้ว่าจุดยืนเราเป็นอะไร ให้เราค่อยๆ ตัดสิ่งที่เราไม่ชอบออกก่อน ดังนั้น ส่วนผสมของตัวเอง หมายถึง เราชอบอะไร เจอก็เก็บเข้ามา ค่อยๆ นำมาผสมและปรับมาเป็นจุดของเรา 

02 อยากให้ทุกคนทำหลายๆ อย่าง ลองหลายๆ อย่าง 

อย่าเลือกทำงานแบบที่ตัวเองเก่งอย่างเดียว ให้ลองไปอยู่ในบริบทอื่นๆ ที่เราไม่เคยทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นงานออกแบบก็ได้ ทำอย่างอื่นเลย เพราะว่าทุกอย่างที่เราทำ สุดท้ายมันจะกลายเป็นไอเดียได้ 

03 อยากให้เล่นเยอะ ๆ อย่าเครียด 

การเล่นหรือการทดลองสำคัญพอๆ กับตัวเนื้องาน เหมือนเลี้ยงเด็กก็ต้องให้เด็กเล่นเพื่อให้เขามีประสบการณ์ เพราะว่าทำอะไรก็ตาม ไอเดียจะอยู่ในทุกที่ แม้แต่การคิดบางอย่าง เราก็อาจจะนำมาจากของเล่นก็ได้ ของเล่นที่ถูกพัฒนา เชื่อมโยง คิดใหม่ ถูกรีอินเตอร์เฟสมาเป็นของใหม่

04 เวลาคิดงานหรือเวลาทำงาน อยากให้คิดให้เยอะที่สุด ให้รอบที่สุด ให้ครอบคลุมที่สุด 

เพราะว่าการคิดเยอะเป็นสิ่งที่ไม่เสียทรัพยากร คิดให้ได้ในทุกๆ มุม ทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น เพื่อที่เราจะได้ทำงานให้น้อยที่สุด ความหมายคือ ในความคิดของเรามันกลั่นกรองได้ ตัดตัวเลือกที่เราคิดแล้วว่าไม่ได้ออกไป ทำให้เราเสียทรัพยากรน้อยที่สุดตอนลงมือทำ แล้วจะทำให้คนอื่นที่ทำต่อจากเราทำงานง่ายมากขึ้น

05 ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง 

ถ้าเราคิดมาเยอะแล้ว แต่พอเราทำปุ๊บ หน้างานไม่โอเค เราต้องปรับนะ ไม่ใช่ดื้อ ถ้าเขาทำไม่ได้ เราก็ต้องปรับ ดังนั้น ทุกอย่างจะถูกปรับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเวลา เหมือนเป็นการยอมรับตัวเองว่า ทุกอย่างที่เราคิดมันอาจไม่ได้ดีทั้งหมด แต่ทุกอย่างคือการที่เราต้องยืดหยุ่น ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นด้วย

Writer

Avatar

กมลกานต์ โกศลกาญจน์

นักเขียนอิสระที่สนใจเรื่องงานออกแบบ สังคม และวัฒนธรรม ชื่นชอบการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะอยากเรียนรู้ในความแตกต่างที่หลากหลายของโลกใบนี้

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล