จิงโจ้บกกับจิงโจ้น้ำต่างกันอย่างไร

อันดับแรก จิงโจ้บกเป็นสัตว์เดิน 2 ขา ขณะที่จิงโจ้น้ำมี 6 ขา อันดับต่อมา จิงโจ้บกมีกระเป๋าหน้าท้อง ส่วนจิงโจ้น้ำไม่มี และอันดับที่ 3 สำคัญมาก จิงโจ้บกอาศัยบนบก ส่วนจิงโจ้น้ำอาศัยในน้ำ

นี่คือความรู้สุดยอดจากผู้เขียนซึ่งจบดอกเตอร์ทางชีววิทยา

อืมม… ลองเขียนส่งไปแค่นี้ ดูซิท่าน บ.ก. จะว่ายังไง

เดี๋ยวสิฟระ! เป็นถึงขั้นดอกเตอร์จะเขียนแค่นี้ได้ไง ไม่เอา ขยำ ๆๆๆ ต้นฉบับ เอาให้แพะกิน จากนั้นรอแพะขี้ แล้วเก็บขี้แพะไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นยูคาลิปตุส รอต้นยูคาลิปตุสโตแล้วโค่นมาทำกระดาษ A4 เอาล่ะ ได้กระดาษขาวแผ่นใหม่แล้ว

การตีท้ายครัวของจิงโจ้หนุ่ม เซ็กส์ประหลาดของจิงโจ้น้ำ และทำไมจิงโจ้ต้องโล้สำเภา
จิงโจ้น้ำระหว่างจับคู่ผสมพันธุ์
ภาพ : wikipedia.org

เริ่มต้นจากอย่างงี้ก็แล้วกัน คือวันก่อนผมไปอ่านเจอมาถึงพฤติกรรมที่น่าทึ่งของแมลงจิงโจ้น้ำ 

หากเราได้มีโอกาสเฝ้าดูจิงโจ้น้ำพลอดรักกัน เราจะเห็นตัวผู้ขึ้นไปขี่หลังตัวเมียแล้วเอาปลายขาทั้งหกดีดผิวน้ำเป็นจังหวะ ก่อเกิดวงคลื่นแผ่กระจายออกไปอย่างสวยงาม ผนวกรวมกับการโล้ไปข้างหน้าข้างหลังบนผิวน้ำของทั้งคู่ราวกับลีลาของนักสเก็ตน้ำแข็ง เราอาจจะมองแล้วคิดว่า โอ้ นี่มันระบำเริงรักที่แสนโรแมนติกอะไรเช่นนี้หนอ

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่จิงโจ้น้ำตัวผู้กำลังทำอยู่ คือมันกำลังข่มขู่ตัวเมียด้วยการดีดน้ำเรียกศัตรู “จะยอมให้ข้าปล้ำดี ๆ มั้ย ถ้าไม่ยอมข้าจะเรียกไอ้มวนกรรเชียงมาแล้วนะ!”

มวนกรรเชียงคือผู้ล่าใต้ผิวน้ำที่เซอเรียลมาก ลองจินตนาการว่าใต้ผิวน้ำนั้นเป็นโลกกระจกเงา จิงโจ้น้ำที่เกาะอยู่ฝั่งหนึ่ง มองลงไปเห็นท้องแมลงอีกตัวที่เกาะสลับด้านกับมันเหมือนเป็นเงาสะท้อนของตัวเอง แต่หาใช่ไม่ จริง ๆ แล้วเงานั้นเป็นปีศาจที่อาศัยอยู่อีกฝั่งหนึ่งของโลกกระจก มันเป็นแมลงที่สเก็ตช์ผิวน้ำจากอีกด้านในท่านอนหงาย (สาเหตุให้เรียกมวนกรรเชียง หรือภาษาอังกฤษ Backswimmer) 

เมื่อเจอเหยื่อ มวนกรรเชียงจะตะครุบแล้วดึงพรวดลงไปใต้น้ำเหมือนผีดึงเราเข้ากระจก จากนั้นก็ใช้ปากแหลมเจาะดูดเลือดเราจนหมดตัว และแน่นอน ตามสูตรสัตว์ประหลาดในหนังเป๊ะ สิ่งที่ดึงดูดให้มันตามมาหาเหยื่อจนเจอก็คือ ความสั่นสะเทือน 

เพราะฉะนั้นแล้ว จังหวะการดีดน้ำของแมลงจิงโจ้ตัวผู้จึงไม่ใช่บทเพลงบรรเลงพิณที่เอาไว้ขับกล่อมตัวเมียแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างความสั่นที่ล่อมวนกรรเชียงให้รู้ตำแหน่ง แน่นอน เจ้ามวนร้ายอาจจะไม่ได้อยู่แถวนั้นแต่แรก แต่อาจใช้เวลาสักพักกว่าจะเดินทางมาถึง (นึกดนตรีประกอบแบบหนัง Jaws) ระหว่างนั้นตัวเมียก็อาจจะเริ่มใจไม่ดี รีบยอมให้มันปล้ำให้เร็วที่สุดแล้วเผ่นดีกว่า ขืนมวนมานี่กูโดนก่อนเลยเพราะกูอยู่ข้างล่าง ส่วนมึงขี่หลังกูอยู่สบายจัด พูดง่าย ๆ ว่าเหมือนตัวผู้เอามีดจี้คอให้ยอมมีอะไรกับมัน ตัวเมียที่โดนข่มขู่ในที่สุดก็ต้องจำใจโดนข่มขืน อนิจจามนต์รักจิงโจ้น้ำมาถึงจุดขื่นขมนี้ได้อย่างไร

การตีท้ายครัวของจิงโจ้หนุ่ม เซ็กส์ประหลาดของจิงโจ้น้ำ และทำไมจิงโจ้ต้องโล้สำเภา
คู่จิงโจ้น้ำที่กำลังผสมพันธุ์ กับมวนกรรเชียงที่กำลังมาตามความสั่นสะเทือน
ภาพ : www.discovermagazine.com

ปกติจิงโจ้น้ำเพศเมียไม่ใช่สัตว์ที่จะยอมตัวผู้ง่าย ๆ ตัวเมียผสมพันธุ์ครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้งก็เก็บสเปิร์มไว้ใช้ได้ตลอดชีวิต ผสมเพิ่มไปอีกก็ไม่ได้อะไรนอกจากเสียเวลาเสียพลังงาน 

ขณะที่ตัวผู้นั้นมีแรงขับดันทางวิวัฒนาการให้ผสมกับตัวเมียตัวใหม่เพิ่มเรื่อย ๆ เพราะยิ่งผสมได้มากก็ยิ่งทิ้งลูกไว้มาก และตัวมันเองก็เป็นลูกที่สืบทอดพันธุกรรมมาจากพ่อหื่นที่ประสบความสำเร็จทางด้านนี้นั่นแหละ ความต้องการที่ไม่เท่ากันของตัวผู้กับตัวเมีย คือความขัดแย้งขั้นรากฐานระหว่างเพศ ซึ่งคลาสสิกมากในโลกของสัตว์ 

ในกรณีของจิงโจ้น้ำ เมื่อสงครามระหว่างเพศดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ตัวเมียก็เริ่มมีวิวัฒนาการแก้เกมตัวผู้หื่นด้วยการเกิดอวัยวะปิดฝาโยนีขึ้นมา ซึ่งผมจะเรียกฝาปิดนี้ว่า ‘จะปิ้ง’ ตามชื่อแผ่นปิดจุดซ่อนเร้นของคนโบราณก็แล้วกัน ปกติแผ่นจะปิ้งปิดโยนีจิงโจ้น้ำจะอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตัวเมียเท่านั้นว่าวันนี้จะเปิดหรือจะปิดร้าน หากตัวเมียไม่ยอม ตัวผู้ก็หมดสิทธิจะทำอะไรทั้งสิ้น ต่อให้ลึงค์แข็งแรงแค่ไหนก็ไม่สามารถใช้กำลังทะลุทะลวงปราการเหล็กด่านสุดท้ายของอิสตรีเข้าไปได้

นั่นจึงเป็นที่มาของวิธีสกปรก 

วิวัฒนาการแก้เกมของตัวผู้ก็คือกลยุทธ์ข่มขู่ดังที่เล่าไป “ถ้ากลัวก็รีบเปิดจะปิ้งเสียดี ๆ ไม่อย่างนั้นเจอไอ้มวนกุนเชียงจกพุงไม่รู้ด้วยนะ!”

แน่นอน ในทางวิทยาศาสตร์เราเล่าเป็นตุเป็นตะอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องพยายามทดลองด้วยว่ามีหลักฐานสนับสนุนคำอธิบายของเราหรือไม่ ซึ่งงานวิจัยหลักในหัวข้อนี้ทำไว้โดยทีมจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) ประเทศเกาหลีใต้ (ตามไปอ่านได้ที่ www.nature.com/articles/ncomms1051

ผลวิจัยพบว่ากลยุทธ์การใช้ความกลัวได้ผลดีมาก หลังจากตัวผู้เริ่มดีดน้ำขู่ไม่กี่นาที ตัวเมียก็ยอมเปิดจะปิ้งให้เลย ขณะที่ถ้านักวิจัยทดลองบล็อกตัวผู้ไม่ให้ดีดถึงน้ำ ตัวผู้จะต้องขี่หลังตัวเมียนานเฉลี่ยถึง 20 นาทีหรือบางครั้งนานเป็นชั่วโมง ตัวเมียถึงจะรำคาญจนยอมเปิดจะปิ้งให้ในที่สุด แสดงว่าการขู่ล่อมวนช่วยลดเวลาในการยินยอมของตัวเมียได้ ที่น่าสนใจมาก ๆ คือตัวเมียที่เคยผ่านประสบการณ์โดนมวนกรรเชียงทำร้ายมาก่อนแล้วรอดชีวิตมาได้ จะยิ่งรีบเปิดจะปิ้งให้ตัวผู้แทบจะในทันที คล้ายว่าเป็นความกลัวฝังใจของนางมาก ไม่อยากโดนมวนจกอีกแล้ว จะให้ทำอะไรก็ยอมทั้งนั้น ซึ่งนี่เองเป็นสิ่งที่ตัวผู้ฉกฉวยประโยชน์

ผลการทดลองสุดท้ายที่ทำให้การตีความเรื่องทั้งหมดดูน่าจะเป็นจริงและไม่ใช่เรื่องบังเอิญ คือทุกครั้งที่มีมวนกรรเชียงอยู่ในละแวกใกล้ ๆ ตัวผู้ที่ขี่หลังตัวเมียอยู่จะยิ่งดีดน้ำถี่ขึ้น แรงขึ้น เหมือนกับเป็นการจงใจตะโกนเรียก “มาทางนี้! ไอ้กุนเชียงมาทางนี้!” และมวนก็จะรีบว่ายมาตามความสั่นนั้นจริงๆ

เอาล่ะ ดูจิงโจ้น้ำไปแล้ว มาดูจิงโจ้บกกันบ้าง

ถึงตอนนี้หลายคนอาจจะเดาไม่ถูกแล้วว่าบทความนี้มันจะไปทางไหนต่อ

แต่เอาเป็นว่าเรามาคั่นรายการกันด้วยเรื่องที่มาของชื่อจิงโจ้ก่อนละกัน

จิงโจ้บก ภาษาอังกฤษเรียก แกงการู (Kangaroo) ซึ่งรากศัพท์นั้นเล่ากันว่าเริ่มมาจากกัปตันคุกล่องเรือไปถึงออสเตรเลีย แล้วก็ถามชาวบ้านอะบอริจินแถวนั้นว่า “ไอ้โดดโหยง ๆ สองขานี่ตัวอิหยัง” ชาวบ้านคนนั้นทำหน้าหล่อแล้วตอบกลับไปว่า “แกงการู” ซึ่งหลังจากฝรั่งเรียกตามไปทั่วโลกแล้ว ถึงค่อยมาค้นพบทีหลังว่าแกงการูในภาษาท้องถิ่นแปลว่า “กูฟังมึงไม่รู้เรื่อง”

แน่นอน เรื่องนี้เป็นที่มาเท็จ คงประมาณเดียวกับตำนาน “แมงโก้ส้นตีน” ของเมืองไทย ซึ่งทุกคนน่าจะเคยได้ยินนะ ในความเป็นจริง แกงการู ภาษาถิ่นแถวนั้นก็แปลว่าจิงโจ้นั่นแหละถูกแล้ว คนฝรั่งที่จดบันทึกมาก็เรียกถูกแล้ว ซึ่งคนที่จดก็คือนักธรรมชาติวิทยาชื่อ เซอร์ โจเซฟ แบ็งค์ (Sir Joseph Banks) หนึ่งในลูกเรือที่ไปกับกัปตันคุกนั่นเอง โดยวันที่ที่ลงในบันทึกก็คือ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1770

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 (ค.ศ. 1861) คณะทูตไทยได้ไปเยือนสวนสัตว์ที่ฝรั่งเศสแล้วได้จดบันทึกการเห็นจิงโจ้ตัวเป็น ๆ ครั้งแรกของคนไทย โดย พระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) ได้บรรบายไว้ว่า

“สัตว์อีกอย่างหนึ่งเป็นของประหลาด ไม่มีในเขตแดนสยาม เท้าหน้าสั้น เท้าหลังยาว รูปคล้ายชะมด มีถุงอยู่ที่ท้อง เมื่อเวลาเที่ยวหากิน ลูกก็ออกจากถุง เที่ยวเดินตามแม่ คนที่ไปดูตบมือให้ตกใจ ลูกก็วิ่งเข้าในถุงท้องแล้วเยี่ยมหน้าออกมา แม่ก็พาวิ่งไป ฝรั่งเศสเรียกว่า กังกูลู เป็นสัตว์บก”

อย่างไรก็ตาม ในพจนานุกรมไทยสมัยรัชกาลที่ 5 (ค.ศ. 1896) กลับมีการบัญญัติให้เรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า ‘จิงโจ้’ แทนที่จะเรียก ‘กังกูลู’ ตามต้นฉบับ อยู่ดี ๆ ทำไมถึงเปลี่ยนมาใช้คำนี้

ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คำว่า ‘จิงโจ้’ ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ อิเหนา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีมานานก่อนชาวสยามจะรู้จักจิงโจ้ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกระเป๋าหน้าท้องเสียด้วยซ้ำ

กระลุมพู จับกระลำพักพ้อ

จิงโจ้ จับจิงจ้อแล้วส่งเสียง

ในบทชมนกของอิเหนาบทนี้ กระลุมพูเป็นชื่อนกชนิดหนึ่ง ส่วนกระลำพักเป็นชื่อต้นไม้

ท่อนต่อมาก็เช่นกัน จิงโจ้เป็นชื่อนกชนิดหนึ่ง ส่วนจิงจ้อเป็นชื่อต้นไม้

ปรากฏว่าก่อนจิงโจ้จะแปลว่าจิงโจ้ จิงโจ้ในสมัยนั้นเคยเป็นชื่อนกมาก่อน แต่ก็ไม่มีใครแน่ใจว่าหมายถึงนกอะไรในปัจจุบัน รู้แต่มันอาจจะร้องเสียง จี-โจ้ จี-โจ้ และเมื่อร้องก็อาจจะโยกหัวและตัวไปมา แลดูยงโย่ยงหยก จึงเหมาะกับชื่อ จิง-โจ้ จิง-โจ้

อีกหลักฐานความเก่าแก่ของคำว่าจิงโจ้ คือบทเพลงกล่อมเด็กที่มีมาแต่โบราณจนไม่ทราบที่มาดั้งเดิม

จิงเอ๋ยจิงโจ้ มาโล้สำเภา

หมาในไล่เห่า จิงโจ้ตกน้ำ

หมาในไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี

เอากล้วยสองหวี รับขวัญจิงโจ้

ไม่มีใครรู้เหมือนกันว่าทำไมจิงโจ้ในเพลงต้องไปโล้สำเภา แต่ปรากฏว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการเอาบทกลอนนี้ไปถ่ายทอดเป็นภาพจิตกรรมฝาผนังที่วัดโพธิ์ และศิลปินก็ได้ตีความวาด ‘จิงโจ้โล้สำเภา’ ออกมาเป็นลักษณะ ผู้ชายเกือบเปลือยเกาะยงโย่อยู่ที่หัวเรือสำเภา และถ้าดูดี ๆ จะเห็นตีนนางเป็นตีนนก แถมมีขนนกอุย ๆ ปกคลุมตรงแขนด้วย สรุป จิงโจ้เวอร์ชันนี้คือเบิร์ดแมนนั่นเอง และเป็นเบิร์ดแมนที่ชอบทำบัดสีกับเรือสำเภาด้วยเหตุผลบางประการ

การตีท้ายครัวของจิงโจ้หนุ่ม เซ็กส์ประหลาดของจิงโจ้น้ำ และทำไมจิงโจ้ต้องโล้สำเภา
ภาพจากบทความ คนไทยเห็น “จิงโจ้” ครั้งแรกเมื่อใด? ทำไม “แกงการู” ในไทยถึงเรียกว่า “จิงโจ้”?
ภาพ : ศิลปกรรมวัฒนธรรม www.silpa-mag.com/history/article_32945

จะอย่างไรก็ตามแต่ แอคชันโล้สำเภากับการที่มีน้ำอยู่ในเรื่องด้วย ก็ชวนให้ผมคิดอย่างไม่มีมูลเลยแม้แต่น้อยว่า ไม่แน่จิงโจ้น้ำก็อาจจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เกิดเนื้อเพลงกับภาพนี้ขึ้นมาด้วยก็ได้นะ ไม่แน่แอคชันโล้สำเภานั่นแหละคือพฤติกรรมขย่มตัวดีดน้ำเรียกมวนกรรเชียงของตัวผู้เวลาขึ้นขี่ตัวเมีย ซึ่งคนโบราณอาจจะสังเกตเห็นมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว และไม่แน่ชื่อจิงโจ้น้ำอาจจะมีมาก่อนจิงโจ้บก โอ้ว… อันนี้ผมมั่วนะครับ แต่ก็น่าสนใจ 

ท้ายที่สุด จิงโจ้ช่างเป็นคำที่ใช้เรียกสัตว์หลากหลายเหลือเกิน ทั้งนกจิงโจ้ แมลงจิงโจ้ จิงโจ้แบบเบิร์ดแมนแฟนทาสติกบีสต์ จนนักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อกันว่า พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มันอาจจะกลายเป็นคำที่ไว้เรียกสัตว์ประหลาดแบบกว้าง ๆ และพอคนไทยเริ่มรู้จักแกงการูซึ่งมีความประหลาด แถมยังเคลื่อนไหวยงโย่ยงหยก คงคอนเซปเดียวกับพวกที่เคยใช้ชื่อนี้มาก่อนด้วย ชื่อจิงโจ้ก็เลยตกเป็นสมญาของแกงการูในภาษาไทยไปโดยปริยาย 

ผมไม่รู้หรอกนะว่าแกงการูอร่อยมั้ย แต่แกงกาหรี่นั้นอร่อยแน่นอน

กลับมาปิดท้ายกันด้วยคำถามที่ว่า จิงโจ้บกกับจิงโจ้น้ำต่างกันอย่างไร

เอาจริง ๆ มันจะเด็ดมากถ้าหากว่าผมค้นคว้าเจอพฤติกรรมวิตถารหื่นโหดของจิงโจ้บกตัวผู้มาแข่งกับจิงโจ้น้ำที่เล่าไปได้ แต่ปรากฏว่าเท่าที่ค้นดู จิงโจ้บกตัวผู้นี่ไม่ค่อยมีอะไรวิตถารเท่าไหร่เลย ตัวเมียของมันก็ชิลล์มาก สาเหตุที่เกิดความสงบสุขทางเพศเช่นนี้ได้ อาจเป็นเพราะระบบผสมพันธุ์ของจิงโจ้บกเป็นแบบมีจ่าฝูงตัวเดียวครอบครองกรรมสิทธิ์ตัวเมียทั้งหมด ถ้าเป็นในสังคมมนุษย์ก็ไม่ใช่ค่านิยมที่ควรยกย่องเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยในกรณีของจิงโจ้บก ตัวเมียที่อยู่ภายใต้การดูแลของพี่เบิ้มก็ไม่ต้องทนรำคาญตัวผู้ตัวเล็กตัวน้อยที่หื่นจัด แล้วคอยจ้องจะเข้ามาปล้ำมันตลอดเวลา สมมติถ้ามีไอ้เปี๊ยกตัวไหนคิดจะเข้ามาลวนลาม ตัวผู้จ่าฝูงก็จะโดดเข้ามาต่อยทันที ไม่ก็โน้มคอถีบ (มีงานวิจัยบอกด้วยว่าตัวผู้ที่กล้ามแขนใหญ่ยิ่งต่อสู้เก่ง) 

การตีท้ายครัวของจิงโจ้หนุ่ม เซ็กส์ประหลาดของจิงโจ้น้ำ และทำไมจิงโจ้ต้องโล้สำเภา
จิงโจ้บกตัวผู้สู้กัน
ภาพ : BBC Earth

การเป็นจิงโจ้บกตัวผู้ ถ้าอยากได้เมียกับเขาบ้างก็ต้องกินเยอะ ๆ โตไว ๆ และฝึกฝนหมัดมวยจนเก่งกล้าพอจะล้มจ่าฝูงตัวเก่าให้ได้ก่อน ศึกแห่งการผสมพันธุ์ในจิงโจ้บกจึงเป็นศึกระหว่างตัวผู้กับตัวผู้เป็นหลัก ไม่ได้มาซวยตัวเมียเหมือนอย่างในจิงโจ้น้ำ 

แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อมีการแข่งขันที่เข้มข้น ก็ย่อมเกิดวิวัฒนาการวิธีเล่นสกปรกนอกกติกาขึ้นมาอีกแล้ว (หัวข้อนี้เรียกว่า Alternative Mating Tactics เป็นหัวข้อใหญ่ในวิชาพฤติกรรมศาสตร์ที่สักวันผมอยากเปิดคอร์สสอนมาก) เพียงแต่จิงโจ้บกตัวผู้ไม่ได้ตุกติกด้วยการทำร้ายข่มขู่ตัวเมีย แต่อาศัยทีเผลอของลูกพี่จ่าฝูงแอบเข้าไปเล่นชู้กับตัวเมียอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครทันเห็น ซึ่งตัวเมียเองก็สมยอมและไม่ได้ขัดขืนอะไรด้วย อาจจะเป็นเพราะการเข้ามาของเด็กหนุ่มในลักษณะนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความถี่กำลังดี ไม่มากเกินไปจนรำคาญ และตัวเมียเองก็อาจจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มความหลากลายทางพันธุกรรมให้กับลูกที่เกิดมาบ้าง ไม่ใช่ว่ามีแต่ลูกที่ปฏิสนธิด้วยสเปิร์มของตัวจ่าฝูงอยู่ตัวเดียว 

สรุปแล้ว อาจกล่าวได้ว่า จิงโจ้บกต่างจากจิงโจ้น้ำตรงที่ตัวผู้ของจิงโจ้น้ำเลวกับตัวเมียมากกว่าเยอะ

การที่มันใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ ดีดน้ำเรียกปีศาจร้ายมากดขี่ให้ตัวเมียต้องยอม ถ้าเป็นคนก็เข้าข่ายแบล็กเมลข่มขู่ “คอยดูนะ ถ้าเธอไม่ยอม ฉันจะปล่อยคลิปเรียกพวกมวนกรรเชียงมารุม” 

พฤติกรรมมนุษย์อาจจะมีต้นตอมาจากสัญชาตญาณธรรมชาติทั้งนั้น แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะหยุดวิวัฒนาการในระดับสติปัญญาและจริยธรรม

และเมื่อได้อ่านบทความตอนนี้แล้ว เราควรเลิกด่าผู้ชายเหี้ยว่า ไอ้เหี้ย

แต่เราควรด่ามันว่า ไอ้จิงโจ้น้ำ

อ้างอิงข้อมูล

th.wikipedia.org/wiki/จิงโจ้_(เทพปกรณัม)

www.silpa-mag.com/history/article_32945

www.discovermagazine.com/planet-earth/male-water-striders-summon-predators-to-blackmail-females-into-having-sex

www.atlasobscura.com/articles/the-sexual-intimidation-tactics-of-the-male-water-strider

www.youtube.com/watch?v=mUm7b5_UGZ0

slll.cass.anu.edu.au/centres/andc/borrowings-australian-aboriginal-languages

Writer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast