“ถ้าถึงอายุที่ต้องเกษียณแล้วมันจะเป็นยังไงนะ”
แอบคิดในใจตอนที่มองเห็นตึกบ้านพักของรัฐบาลที่สูงเท่ากันอย่างเป็นระเบียบ เรียงทอดยาวสุดสายตาอยู่ตรงหน้า

อาคารบ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

อากาศเย็นแผ่วเบา ฟ้ามีเมฆฝนเล็กน้อยกำลังเคลื่อนเข้ามา เตรียมจะแวะมาเติมพลังให้ต้นกล้าที่ถูกปลูกโดยเจ้าบ้านผู้อาศัยอยู่ด้านล่างอาคารแห่งนี้

ชั้น 8 คือปอดขนาดเล็กของผู้ที่ถูกจำกัดความตามพจนานุกรมไทยว่า ‘สูงอายุ’ หรือ ‘เกษียณอายุ’ ได้ใช้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เดินออกกำลังกาย ชมวิว ซึ่งบริเวณโดยรอบมีการปลูกต้นไม้เล่นระดับลดหลั่นคล้ายภูเขาขนาดเล็ก เขียวขจี พร้อมทั้งมีทางลาดสำหรับให้รถเข็นขึ้นลงได้อย่างสะดวก ระหว่างทางเดินมีจุดที่นั่งให้พักขาเป็นระยะๆ

อาคารบ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์
บ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

ถ้าจะว่าไปแล้ว โต๊ะปิกนิกที่ตั้งอยู่ก็เหมาะสำหรับให้ครอบครัวมาใช้เวลาร่วมกันทานอาหาร หรือพูดคุยระหว่างที่ฝ่ายคนชราเดินเล่นดูแลสวนพรวนดินไปพลางๆ

บ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

มุมต่างๆ ของดาดฟ้าก็มีการแบ่งซอยพื้นที่ใช้สอยและปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด ทั้งไม้ดอก และไม้ใบ ทำให้มีความเป็นส่วนตัวในแต่ละโซนที่นั่ง แม้ว่าในโซนต้นกล้าจะมองไม่ค่อยเห็นผลผลิตน้อยๆ ที่อยู่ใต้ดินนัก แต่ก็เห็นถึงความตั้งใจของคนปลูก เผลอๆ แอบคิดว่าถ้าเป็นบ้านเราอาจจะโดนเก็บทานไปเสียหมดแล้ว

สิงคโปร์
สิงคโปร์

กำปง (Kampung, Kampong) คือภาษามลายู แปลว่า ที่อยู่อาศัยแบบง่ายๆ อาจจะไม่มีน้ำ ไฟ หรือแก๊ส เป็นคำที่ใช้กันในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

‘Kampung Admiralty’ แปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ที่อยู่บ้านๆ แถวเขต Admiralty นั่นเอง และดาดฟ้าเขียวขจีคือส่วนหนึ่งของตึกบ้านๆ แห่งนี้

สิงคโปร์

อาคาร Kampung Admiralty เป็นอาคารแบบ Mixed-use ต้นแบบของรัฐบาลสิงคโปร์ที่สร้างเพื่อผู้เกษียณอายุ (First Retirement Village) แปลง่ายๆ ก็อาคารบ้านพักคนชราอย่างเป็นทางการแห่งแรก อาคารแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ 3,000 ล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ ที่จะพัฒนาให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณในพื้นที่ที่เหมาะสม (Age in Place)

อาคารดังกล่าวเกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง Housing & Development Board, Yishun Health, National Environment Agency, National Parks Board, กรมการขนส่ง (Land Transport Authority), Early Childhood Development Agency และ กระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health) ร่วมวางแผนและพัฒนาขึ้นมา

สิงคโปร์

กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์เล็งเห็นว่า การนำบ้านพักคนชราและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของคนในช่วงอายุดังกล่าว อาทิ สถานพยาบาลดูแลผู้ป่วยชราภาพ ประกอบไว้ในตึกเดียวกันกับอาคารที่พักอาศัย น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องสังคมผู้สูงอายุในอนาคต โดยในปี 2018 สถิติของกรมแรงงานระบุว่า ประชากรของสิงคโปร์ 1 ใน 4.2 คน มีอายุมากกว่า 65 ปี และภายในปี 2030 อัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้นเท่าตัวคือ 1 ต่อ 2.4 คน

แล้วตึกที่ว่ามันต่างจากบ้านพักคนชราที่บางแคบ้านเรายังไง แค่มีสวนบนดาดฟ้าแค่นั้นเหรอ มันจะแตกต่างกันได้สักแค่ไหนเชียว

ต้องเกริ่นก่อนว่า ปกติแล้ว HDB (Housing & Development Board) อาคารที่อยู่อาศัยโดยรัฐบาลของชาวสิงคโปร์ประกอบด้วย 3 ส่วน คืออาคารที่พัก สวนหรือสนามเด็กเล่น และตึกจอดรถ ซึ่งทั้งสามส่วนกระจายอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กันตามแนวราบ มีหลายครั้งที่พื้นที่สวน สนามเด็กเล่น หรือตึกจอดรถ ถูกแบ่งกันใช้ระหว่างหลายๆ ตึกที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน แล้วก็มีตลาด ศูนย์อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ธนาคาร คลินิก หรือห้างร้าน กระจายอยู่รอบๆ ซึ่งแต่ละที่อาจต้องเดินเท้าหรือนั่งรถขนส่งมวลชนไป ถึงแม้ว่ารถเมล์และระบบขนส่งที่สิงคโปร์จะรองรับรถเข็นผู้สูงอายุเป็นอย่างดี แต่ว่าคุณลุงคุณป้าเหล่านั้นก็ยังต้องเดินทางอยู่ดี

บ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

แต่อาคารกำปงไม่กำปงแห่งนี้กลับมองการณ์ไกลไปถึงยุคที่จะมีแต่คนแก่มากกว่าคนทำงาน ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง การเดินทางเพื่อไปซื้อของใช้หรือหาหมอตามคลินิกก็อาจจะเป็นอุปสรรคหนักหนา เพราะข้อเข่าที่เสื่อมของเหล่าผู้ชราภาพ

WOHA บริษัทสถาปนิกที่ชนะการออกแบบในโจทย์นี้จึงพลิกสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จากแนวราบยกขึ้นไปในแนวดิ่ง ตั้งทุกอย่างเรียงซ้อนกันภายใต้พื้นที่ 9,000 ตารางเมตร (ประมาณ 2 สนามบอล) ที่ความสูง 45 เมตร โดยที่มีพื้นที่สวนขนาดเล็กแต่แน่นไปด้วยต้นไม้นานาชนิดและสนามเด็กเล่นเป็นเหมือนสะพานเชื่อมอาคารที่อยู่อาศัยของรัฐบาล 2 อาคารเข้าด้วยกัน (อาคารหมายเลข 676A & 676B)

บ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

ด้านล่างของดาดฟ้ามีศูนย์พัฒนาศักยภาพคนชรา (Active Aging Club) ที่มีกิจกรรมให้คุณลุงคุณป้าได้เสริมสร้างสมองตลอดเวลา และศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนหรือที่บ้านเรามักจะเรียกเนอร์สเซอรี่ (Child Care Centre) ครอบคลุมพื้นที่ชั้น 7 ทั้งชั้น และชั้น 6 บางส่วน โดยบางส่วนของชั้น 6 ประกอบไปด้วยสวน (Rooftop Garden) สนามเด็กเล่น และห้องจัดงาน (Function Hall) ต้องชมสถาปนิกผู้ออกแบบที่ให้ความสำคัญแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ เช่นการซ่อนท่อระบายน้ำด้วยต้นไม้

บ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

ตามมาตรฐานความปลอดภัยต่อเด็กๆ เนอร์สเซอรี่รับเลี้ยงเด็กต้องอยู่ในชั้นที่เคลื่อนไหวคล่องตัวเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน (เช่น อยู่ชั้น 1) แต่ในกรณีนี้ ทางสถาปนิกแก้โจทย์ว่าหากมีเหตุคับขันที่ต้องอพยพ เด็กๆ จะถูกเรียกให้รวมตัวกันที่ลานสนามเด็กเล่นแทน

โปรเจกต์นี้ใช้เงินลงทุนกว่า 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อเนรมิตอาคาร Mixed-use แห่งนี้ให้สมบูรณ์พอที่จะเป็นต้นแบบบ้านพักหลังเกษียณในอนาคตให้กับประชาชนชาวสิงคโปร์

นอกเหนือจากตัวบ้านพักจำนวน 104 ห้อง (รวม 2 อาคาร) ศูนย์อาหาร (Hawker Center) ในชั้น 2 เนอร์สเซอรี่ (Child Care Centre) ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนชรา (Active Aging Club) ลานกิจกรรมแสนกว้างโล่ง โปร่ง สบาย เหมือนใต้ถุนบ้านแบบไทยๆ และร้านค้าที่บริเวณชั้น 1 และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้น B1 แล้ว

ที่พิเศษยิ่งไปอีกคือ ตึกแห่งนี้มีต้นแบบที่จอดจักรยานอัตโนมัติแบบที่ญี่ปุ่นมีนั่นแหละ (Automated Bicycle Parking System) ซึ่งทางรัฐบาลสิงคโปร์นำมาทดลองใช้ที่นี่เป็นที่แรก สามารถจอดจักรยานได้ประมาณ 500 คัน เลือกจอดได้ทั้งแบบรายชั่วโมง (S$0.45) และรายเดือน (S$48) มีข่าวแว่วมาว่าอาจจะมีการเปิดอีกที่หนึ่งแถวๆ มารินาเบย์อีกด้วย

อาคารบ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

ในส่วนของ Admiralty Medical Care Centre ชั้น 3, 4 ทางผู้รับเหมาก็นำมาตรฐานการก่อสร้างระดับโรงพยาบาลมาปรับใช้เช่นกัน มีบริการที่ครอบคลุมการรักษาเทียบเท่ากับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยคงจะไม่รู้สึกว่าเหมือนโรงพยาบาลสักเท่าไร เพราะวิวที่มองผ่านกระจกออกไปเป็นสวนขนาดย่อมๆ

บ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

Medical Center แห่งนี้มีบริการแผนกรักษาเฉพาะทางผู้ป่วยนอก (Specialist Outpatient Clinics) แผนกศัลยกรรมและส่องกล้อง (Day Surgery & Endoscopy Suite) สถานฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย (Rehabilitation Gym) แผนกเอกซเรย์และอัลตราซาวนด์ (X-ray & Ultrasound Suite) แผนกเทคนิคการแพทย์ (Medical Laboratory) และร้านขายยา

หน่วยงานรัฐอย่าง National Environment Agency (NEA) ควบคุมส่วนงานนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าการวางระบบหลังบ้านจะทำให้ส่วนต่างๆ ของอาคารแห่งนี้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีการปนเปื้อนจากท่อส่งของเสียของชั้น 3, 4 ไปปะปนกับศูนย์อาหารชั้น 2 และเช่นเดียวกันกับที่ผู้รับเหมางานชั้นศูนย์อาหารก็ต้องทำงานภายใต้กรอบและข้อกำหนดเรื่องความสะอาดอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ท่อน้ำทิ้งที่มาจากร้านต่างๆ ลงไปปนเปื้อนที่ร้านค้าบริเวณชั้น 1

บ้านพักคนชรา Mixed-use แห่งแรกโดยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

  โดยสรุปต้องขอมอบ 5 ดาว ให้กับความสมบูรณ์ของการออกแบบและการใช้งานจริงของอาคารกำปงแห่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องความสะดวกในการเข้าถึงได้ง่ายดายของรถเข็นผู้สูงอายุ นับตั้งแต่ออกมาจากสถานีรถไฟฟ้า Admiralty ผ่านลานหน้าอาคารที่กว้างเป็นพิเศษ (เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อาจเดินช้าได้เดินอย่างสะดวกสบายขึ้น) ไปยังอาคารที่พักใน Kampung Admiralty หรือจะขึ้นลงในอาคารไปยังชั้นต่างๆ สมศักดิ์ศรีกับที่รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งใจให้ตึกนี้เป็นต้นแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุนับต่อจากนี้ไป ที่เหลือก็แค่เก็บเงินให้มากพอที่จะดูแลตัวเองตอนถึงวัยที่เราจะใช้บริการที่แห่งนี้..แค่นั้นพอ

Writer & Photographer

Avatar

ส้มฉุน มะลิกุล

สาวโสดชาวไทยผู้จับพลัดจับผลูมาทำงานติดเกาะสิงคโปร์ เคยตั้งใจจะรีบทำงานเก็บเงินกลับบ้าน แต่หลังจาก 7 ปีก็เปลี่ยนเป็นเที่ยวให้รู้ กินให้สุข และลิ้มโกปี๊ (ดื่มกาแฟ) ก่อนที่เข่าและข้อเท้าจะไม่อำนวยให้ออกเดินทาง เย่!