The Cloud x ททท.
ฉันเป็นเด็กภาคเหนือที่เติบโตมากับการใส่เสื้อม่อฮ่อมไปโรงเรียนเพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านทุกวันศุกร์ สิ่งที่ฉันรู้เกี่ยวกับเสื้อสีม่วง (ใช่ ที่โรงเรียนฉันม่อฮ่อมสีม่วง!) คือเสื้อม่อฮ่อมมีพื้นเพมาจากภาคเหนือ โด่งดังมากในจังหวัดแพร่… เท่านั้นจริงๆ
เช่นเดียวกับ กุ๊กกิ๊ก-กมลชนก แสนโสภา เด็กจบเแฟชั่นชาวแพร่โดยกำเนิด ผู้รู้เรื่องฮ่อมพอๆ กับฉัน
ต่างกันตรงที่ตอนฉันรู้ว่าฮ่อมคือชื่อของพืชชนิดหนึ่งซึ่งนำมาย้อมผ้าแล้วให้สีคราม (ไม่ใช่สีม่วงเหมือนเสื้อที่ฉันเคยใส่) ฉันได้แค่ตื่นเต้นอยู่ชั่วครู่ แล้วก็จบลงเพียงเท่านั้น
แต่เมื่อกุ๊กกิ๊กได้รู้ที่มาของพืชประจำท้องถิ่นแพร่ กุ๊กกิ๊กสงสัยว่าทำไมเธอรู้เรื่องแฟชั่นไกลตัว แต่กลับไม่รู้เรื่องใกล้ตัวอย่างฮ่อมเลย เด็กเอกแฟชั่นจึงเดินทางจากเมืองหลวงกลับบ้าน ลงมือย้อมฮ่อมเพื่อเล่าเรื่องราวของพืชมหัศจรรย์ใบเขียวแต่ให้สีครามนี้ให้ดังยิ่งขึ้น และยังผลิตเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติลวดลายน่ารักอีกมากมายที่บอกเล่าตัวตนของเธอ บ้านเกิดของเธอ และธรรมชาติรอบตัวได้น่าเอ็นดูเป็นที่สุด
กมล อิน อะไร?
เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อหญิงสาวไฟแรงต้องไปสอบสัมภาษณ์เข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการออกแบบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอจำประวัติศาสตร์ศิลป์ ประวัติศาสตร์แฟชั่นได้แทบทุกแบรนด์ ชาแนล ดิออร์ ขอเพียงอาจารย์ถามมา เธอจะตอบให้ แต่เอาเข้าจริงอาจารย์กลับถามว่า
“เป็นคนแพร่ รู้จักศิลปินแห่งชาติที่ทอผ้าชาวแพร่ไหม”
เพียงเท่านั้นความมั่นใจและความรู้ที่เตรียมมาทั้งหมดก็พังทลายลงตรงนั้น เธอตอบอาจารย์ไปตามตรงว่า
“ไม่รู้จักค่ะ”
คำพูดเพียงสี่พยางค์ที่สั่นสะท้านก้องในหัวใจมาตลอด แม้สุดท้ายเธอจะสอบติดได้เรียนคณะในฝันก็ตาม
“บ้านเรา เราไม่เคยรู้อะไรเลย แล้วเราท่องอะไรอยู่ พยายามท่องอะไรที่คนเขายอมรับ แต่จริงๆ อะไรที่อยู่รอบตัวเราก็สำคัญไม่แพ้กัน”
กุ๊กกิ๊กเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ในวันที่ฉันนั่งอยู่ในบ้านของเธอ
กมล อิน ผ้าทอ
เผอิญกับปีนั้นน้ำท่วมครั้งใหญ่พอดี เธอจึงได้โอกาสกลับบ้าน เธอไม่ปล่อยเวลาสูญเปล่าเข้าไปขอเรียนทอผ้าตีนจกกับศิลปินแห่งชาติคนที่อาจารย์ถาม (อาจารย์ประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติสาขาประณีตศิลป์ศิลปะการทอผ้า)
ไปกินนอนกับชาวบ้านที่อำเภอลองเลยร่วมเดือน
“ผ้าจกชิ้นหนึ่งเล่าเรื่องตั้งแต่คนเกิดจนถึงตาย มีเรื่องราวตั้งแต่ช่วงเอวลงถึงตีนซิ่น เขาเล่าเรื่องวัฒนธรรม ศาสนา สิ่งที่อยู่รอบตัวเขา ลงบนผ้า เช่นผ้าจกชิ้นหนึ่งใช้เวลา 2 อาทิตย์ถึง 1 เดือน เราคิดว่ามันมีค่า และชอบเรื่องราวที่อยู่ในนั้น เช่นลายนกกินน้ำร่วมต้นก็สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ การอยู่เป็นคู่” เธอเล่า
นอกจากเรียนทอผ้าแล้วเธอยังได้เรียนรู้เรื่องสีธรรมชาติไปด้วย เรียนทั้งเส้นใยประดิษฐ์ เส้นใยธรรมชาติ ฝ้ายจริง ฝ้ายโรงงาน
“เป็นครั้งแรกที่รู้ว่าก็เลยทำให้รู้ว่าเราสามารถย้อมผ้าจากสีธรรมชาติได้ เราไม่เคยรู้มาก่อน เราเป็นคนบ้านนอก แต่เราไม่ใช่บ้านนอกที่เดินออกจากปากซอยแล้วมีคนทอผ้าเลย ไม่ได้หมายความว่าคนแพร่ทุกคนจะรู้จักสิ่งนี้”
กมล อิน ม่อฮ่อม
หลังจากเรียนรู้เรื่องสีธรรมชาติ กุ๊กกิ๊กกลับไปเรียนปกติ แม้ช่วงนั้นเธอจะสนใจเรื่องการทอผ้ามากกว่า แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เธอได้ไปช่วยครูทำเวิร์กช็อปที่กรุงเทพฯ แล้วเผอิญว่าบูทตรงข้ามที่มาจากแพร่นำต้นไม้มาเรียงหน้าบูท
นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่เธอรู้ว่าที่แท้ฮ่อมคือต้นไม้
“เขาบอกว่าเนี่ยต้นฮ่อม ต้นฮ่อมที่เขาออกมาย้อมผ้าให้เป็นสีม่อฮ่อมไง ก็เลยรู้สึกว่าวิเศษ ผ้าอะไรมาจากใบไม้สีเขียวแต่ได้สีน้ำเงิน! เขาไม่ได้สอนอะไรมาก แต่พูดว่ารอปิดเทอมรอบหน้าก็ไปเรียนกับเขาสิ ก็เลยรอปิดเทอมแล้วไปเรียน”
เธอเล่าถึงอดีตด้วยแววตาเป็นประกาย เส้นทางอินดิโก้ของสาวแพร่จึงเริ่มต้นขึ้นจากความสนใจพืชจากบ้านเกิด
กมล อิน บ้าน
ความสนใจเรื่องการทอผ้าและสีม่อฮ่อม ทำให้ดีไซเนอร์สาวหมายมั่นปั้นมือว่าเมื่อเรียนจบเธอจะกลับบ้าน กลับมาเล่าเรื่องราวที่บ้านๆ แต่ไม่ธรรมดานี้ให้คนนอกบ้านฟัง ด้วยการเริ่มต้นทำแบรนด์ ‘กมล อินดิโก้’ ที่มาจากชื่อของเธอที่แปลว่า ‘ดวงใจ’ ผสมกับสีครามออกมาหมายถึง ‘หัวใจสีคราม’ นั่นเอง
หญิงสาวไฟแรงจากเมืองกรุงกลับมาเล่าเรื่องราวของที่บ้านต่างจังหวัด ฟังดูเหมือนนิทานชวนฝัน แต่อย่าเพิ่งปิดหน้าต่างไปดูอย่างอื่นกัน จุดพลิกผันกำลังจะมาแล้ว!
เธอย้อมสีธรรมชาติ เธอขายของโดยบอกว่าเธอย้อมสีธรรมชาติ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เธอทำมันไม่ใช่ธรรมชาติ!
“ตอนนั้นก็จะไม่รู้ว่าตัวเองทำเคมี เราซื้อเป็นน้ำย้อมสำเร็จรูปมา คนขายบอกว่าเป็นสีธรรมชาติ แล้วต้นทุนมันไม่ได้สูง เราย้อมได้ 20 – 30 ตัวต่อวัน แต่ถ้าธรรมชาติจริงๆ วันหนึ่งได้ 5 ตัวถือว่าเยอะแล้ว แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ ตอนแรกก็คิดว่าตัวเองทำออร์แกนิก เราภูมิใจมาก” เธอกล่าวติดตลก
เมื่อมีไม่รู้ ก็ต้องมีรู้ เธอไปออกงานขายของคราฟต์แล้วพบว่าทุกคนคือตัวจริง
“ตอนแรกเราสงสัยก่อนว่าทำไมคนขายของธรรมชาติต้องขายแพงด้วย เราก็ทำของธรรมชาติเหมือนกันแต่ต้นทุนเรานิดเดียว เขาใช้คำว่าธรรมชาติมาเพิ่มราคาหรอ อีกอย่างคือมันมีอะไรที่เราไม่รู้หรือเปล่า” เธอเล่า
เมื่อไม่รู้ก็ต้องถาม คำสอนที่ครูพร่ำบอกสมัยเด็กใช้ได้เสมอ
“งานขาย 3 วัน วันแรกก็คิดสงสัยอยู่ในใจ วันที่สองก็ชะโงกไปดูบูทข้างๆ ว่าทำไมพี่ขายครามราคาสูงจัง เขาทำเสื้อยืดตัวละ 400 – 500 เราขายตัวละ 250 เราก็คิดว่า เอ หรือเราไม่ได้บวกค่ารถ” เธอเล่าพลางหัวเราะ
กมล อิน สีธรรมชาติ
คำตอบที่ได้มาจากคนทำงานคราฟต์ตัวจริงกลับมาคลุมเครือเสียนี่กระไร พี่เขาบอกว่าให้ไปดูขั้นตอนการผลิตฮ่อมธรรมชาติกันยังไง ของออร์แกนิกต้องสืบที่มาได้ตั้งแต่ต้น
เป็นลูกหลานชาวแพร่ และฮ่อมดังในจังหวัดแพร่ทั้งที ก็ต้องกลับไปถามบรรดาแม่อุ้ยพ่ออุ้ยเพื่อนพี่น้องชาวแพร่ แม้ครามให้สีน้ำเงินอินดิโก้คล้ายกัน แต่กมลสนใจย้อมฮ่อม พืชบ้านเกิดที่คนรู้จักน้อยลงไปทุกที มากกว่าครามที่โด่งดังในอีสาน
กุ๊กกิ๊กไปเรียนวิชาก่อหม้อครามมาปรับใช้กับม่อฮ่อม วิเคราะห์ค่ากรดด่างและทดลองทำเองร่วมครึ่งปีกว่าจะเจอสูตรที่ใช่ ในแบบที่ชอบ แม้ไม่ใช่เวลายาวนานนัก แต่การสู้กับสิ่งที่พยากรณ์ไม่ได้ เทียบกับการกลับไปทำฮ่อมเคมีเหมือนแต่ก่อนดูเหมือนจะง่ายกว่ามาก
สิ่งที่ทำให้เธอยังมุ่งมั่นทดลอง-ผิดหวัง-เริ่มใหม่ ทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นจนผ่าน 6 เดือนหฤโหดมาได้คืออะไร
“เรารู้สึกแย่มาก เราอยากเล่าเรื่อง แต่เรากลับเล่าเรื่องที่มันไม่จริง ก่อนหน้านี้รู้สึกว่าตัวเองเท่ เรียนจบแล้วกลับมาเล่าเรื่องที่บ้านให้คนอื่นรู้จัก คือเราไม่ได้ปฏิเสธเคมีนะ ที่เราเรียนมาก็ไม่ได้ธรรมชาติอยู่แล้ว เราเรียนผสมสีมาว่าต้องใช้สารตัวไหนบ้าง แต่เราแค่รู้สึกขัดแย้งกับความรู้สึกตัวเองตอนนั้น ว่าสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดมันผิดหมดเลย ก็เลยต้องมาปรับใหม่”
“มีคนบอกเราว่าฮ่อมตายไม่ได้ แต่ความเชื่อมันตายได้”
หญิงสาวกอบกู้ทั้งสองอย่างให้รอดชีวิต ไม่ใช่ด้วยโชค แต่ด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ของคนกลับบ้าน
กมล อิน สีสัน
นอกจากเหล่าเสื้อผ้าสีฟ้าจากฮ่อมแล้ว กมล อินดิโก้ ยังมีเสื้อผ้าสีเหลืองจากใบหูกวางและดอกดาวเรือง สีชมพูจากครั่ง และสีน้ำตาลจากมะเกลือ ทั้งหมดพลิ้วไหวสดสวยอยู่ในสตูดิโอสังกะสีในเขตบ้านของเธอเอง
“ตอนแรกเด็ดเดี่ยวมาก ไม่ทำสีอื่นเลยนอกจากสีฟ้า แต่เราเป็นคนชอบแต่งตัวสีๆ มาก หลายครั้งก็นึกว่าทำไมจบมาทำงานที่เป็นสีม่อฮ่อมต้องใส่ม่อฮ่อมตลอดเวลาเลย แล้วตัวเองตอนนั้นที่สนุกกับการแต่งตัวหายไปไหน ก็เลยคุยกับ พี่สตางค์-จินตพงศ์ สีพาไชย ว่าทำสีอื่นด้วยก็ดี แล้วเราก็มองว่าคนอื่นก็คงเป็นแบบเดียวกับเราที่ไม่ได้ชอบสีฟ้าอย่างเดียว ฮ่อมก็ไม่ได้มีทั้งปีในช่วงหน้าร้อนก็จะหายากเพราะมันเหี่ยว กรอบ ใช้สีอื่นก็ได้เล่าเรื่องอย่างอื่นไปด้วย”
เมื่อตกลงได้แล้วว่าชีวิตต้องการสีสัน ตัวฉันต้องการแต่งตัวหลากสี เรื่องก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะกมลเลือกใช้สีที่หาได้ในท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้หรือหาวัตถุดิบจากแดนไกล เพราะต้องการเล่าเรื่องถิ่นที่อยู่และธรรมชาติผ่านทุกกระบวนการ
ถึงจะเล่าเรื่องบ้านเกิด แต่เสื้อผ้าของกมล อินดิโก้ กลับวัยรุ่นมาก ไม่ได้หน้าตาเหมือนเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติรูปแบบเดิม บัณฑิตเอกแฟชั่นนำความรู้ที่เรียนมาตัดเย็บเสื้อผ้าที่เรียบง่าย แต่แตกต่างไม่เหมือนใคร
“เราดูตัวเองก่อนเป็นหลัก อยากใส่เสื้อผ้าแบบไหนก็ทำแบบนั้น แล้วก็ไม่ได้ทำเสื้อผ้าแบบแฟชั่น เพราะเราคิดว่ามันใส่แล้วเบื่อง่าย”
กุ๊กกิ๊กได้แรงบันดาลใจจากเสื้อม่อฮ่อมโบราณที่มักใส่ได้ทุกโอกาส เธอจึงมุ่งเน้นการทำเสื้อผ้าให้ใส่ไปไหนก็ได้ ใส่นอนก็ได้ ใส่ออกไปข้างนอกก็ดี ภาพในอินสตาแกรมของร้านที่เธอไปร่วมงานแต่งงานด้วยชุดม่อฮ่อมสีคราม ตอกย้ำความใส่ง่าย สวยง่าย ของแบรนด์เป็นอย่างดี
กมล อิน ลวดลาย
คุยเรื่องแพตเทิร์นและสีสันจนบันเทิงไปแล้ว อีกสิ่งที่เราสนใจคือลายพิมพ์เทียนแมลงตัวนั้น ตัวนี้ ที่มีเยอะมากมาย แต่สำหรับเธอมันดูไม่คล้ายกันไปซะหมด ทั้งผึ้ง กว่าง ด้วง มด แมลงปอ กุดจี่ ที่สำหรับคนอื่นอาจจะแยกชนิดไม่ออก แต่ไม่ใช่สำหรับเธอแน่ๆ
ลวดลายบนเสื้อผ้าเกิดจากไอเดียตอนตากผ้าแล้วเห็นแมลงมาเกาะ เธอจึงคิดให้แมลงแถวบ้านมาอยู่บนผ้าจริงๆ เป็นการนำธรรมชาติมาไว้บนธรรมชาติอีกที นอกจากฝูงแมลง เธอยังเก็บลวดลายพืชพรรณไปจนถึงสารพัดดวงดาวมาไว้บนเสื้อผ้า โดยออกแบบแม่พิมพ์เอง และผลิตใหม่เองอยู่เรื่อยๆ โดยใช้กระดาษแข็งสร้างลายแล้วพิมพ์ลายทีละตัว ทีละตัว เสื้อผ้าที่ซื้อไปใส่จึงไม่ซ้ำกันสักตัวเดียว
กุ๊กกิ๊กเสริมว่า เธอไม่ได้จำกัดลวดลายแค่ธรรมชาติเท่านั้น ผ้าทอตีนจกสมัยก่อนก็เล่าเรื่องทั้งการใส่ขันดอกในวัดในวันสงกรานต์ มีลายบุ้ง ลายผักกูด และอีกมากมาย
“เคยคิดเหมือนกันว่าเราอยากสร้างลายรถติด มีห้างสรรพสินค้า เพื่อให้คนในอีก 30 ปีข้างหน้ามาดูผ้าผืนนี้แล้วรู้ว่าในปีที่ทำผ้าผืนนี้มันมีสิ่งเหล่านี้อยู่”
ฟังแค่นี้ก็รู้ว่าเส้นทางออกแบบของกมล อินดิโก้สนุกสนาน ไม่จนมุมง่ายๆ แน่นอน
กมล อิน เรื่องราว
เห็นแค่เสื้อผ้าแล้วชอบ คนก็ซื้อใส่แล้ว ทำไมต้องตั้งใจแฝงเรื่องราวเข้าไปมากขนาดนี้ ฉันถามอย่างประทับใจ
“เราอยากให้คนใส่เห็นคุณค่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา เหมือนอย่างเราตอนเข้ามหาวิทยาลัย เราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ใกล้เราเลย เรามองว่าการจะไปเรียนที่นู่นต้องอ่านหนังสือดีๆ แต่เราไม่สังเกตเรื่องราวรอบตัวเลย พยายามศึกษาอะไรที่ดังอยู่แล้ว เรากลับมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่มีค่ามากเหมือนกัน อีกอย่างคือเรามองว่าการได้เล่าเรื่องธรรมชาติอาจจะทำให้คนรักธรรมชาติมากขึ้น
“เราอยากให้คนเข้าใจกระบวนการทำงาน ถ้าไม่รู้ เราจะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้น อย่างสมัยก่อนเราซื้อเสื้อผ้ามือสองมาใส่ เราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน เบื่อก็ทิ้งได้ เพราะไม่ได้รู้จัก ไม่รักมัน แต่พอรู้เรื่องราวก็ไม่อยากทิ้ง อยากรักษามัน อยากนำไปให้คนสำคัญของเรา”
เธอกล่าวอย่างจริงใจ เมื่อความมุ่งมั่นผสมกับความเชื่อในธรรมชาติรอบตัว ผลลัพธ์คือพื้นที่ในรั้วบ้านเมืองแพร่ซึ่งได้รับการเปลี่ยนเป็นสตูดิโอย้อมสีธรรมชาติสุดชิค ไม่เพียงแค่ขายของ ที่นี่ยังมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติ การปั๊มเทียน ทอผ้า หรือใครอยากจะเขียนโปสการ์ด ที่นี่ก็มีสีธรรมชาติที่รอคุณระบายส่งถึง ตัวเองหรือคนรู้ใจได้อีกด้วย
ใครจะรู้ จากความตั้งใจจะมาฟังเรื่องราวของเธอแต่แรก คุณอาจกลับไปเป็นคนเล่าเรื่องราวบ้างก็เป็นได้
*หมายเหตุ The Cloud สะกดคำว่า ม่อฮ่อม ตามสำนักงานราชบัณฑิตยสภาที่ระบุว่าเขียนได้ทั้ง ม่อห้อม หรือม่อฮ่อม
The Cloud กำลังจะจัดทริปไปเวิร์กช็อปที่เมืองแพร่ที่สตูดิโอของกมล อินดิโก้ และนักออกแบบเมืองแพร่อีกมากมาย สนใจเข้าไปดูรายละเอียดและลงชื่อสมัครได้ที่ The Cloud Journey 06 : เผยแพร่