เหตุผลที่ The Cloud เดินทางมาขอนแก่นครั้งนี้ เพราะตั้งใจมาพบ กมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ผู้ทำงานเป็นตัวกลางประสานผู้ประกอบการรุ่นเก่าและใหม่ เชื่อมภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานเรื่องเมืองเข้าด้วยกัน จนขอนแก่นวันนี้สนุกมาก

ซึ่งที่ขอนแก่นเป็นอย่างวันนี้ก็เพราะคนขอนแก่น

ขอนแก่นเป็นเมืองที่ทุกคนพร้อมลุกขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียง บางทีก็ลุกขึ้นสู้กับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง ทั้งยังเปิดกว้างรับฟังสิ่งใหม่ๆ เพราะอยากเห็นเมืองพัฒนา

ที่น่าสนใจคือ ขอนแก่นมีวิธีแก้ปัญหาการทำงานที่เกิดจากช่องว่างระหว่างวัย จากการเตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่มาสานต่อสิ่งที่รุ่นเก่าทำซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา บรรยากาศดีมากจนอยากให้ขอเป็นสะใภ้ขอนแก่น

เริ่มจากการจดทะเบียนบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ขับเคลื่อนเมืองผ่านโครงการมากมาย เช่น ริเริ่มการสร้างศูนย์ประชุมในจังหวัด และขอนแก่นซิตี้บัสที่ฮือฮาเมื่อหลายปีก่อน โดยตอนนี้กำลังจะทำรถไฟฟ้ารางเบา ขนส่งมวลชนเพื่อชาวเมือง 

ใครที่กำลังสนใจเรื่องการสร้างพลังท้องถิ่น เชื่อเรื่องการกระจายความเจริญว่ามีส่วนขับเคลื่อนประเทศ ไม่หวังหรือรอการช่วยเหลือจากส่วนกลางอีกต่อไป ขอให้ดูขอนแก่นเป็นตัวอย่าง

คอลัมน์ กัปตันทีม ตอนนี้ นอกจากจะคุยกับกมลพงศ์ในฐานะประธานหอการค้าที่ทำงานเรื่องเมืองแล้ว เราสนใจวิธีคิดการบริหารองค์กรและคนของเขาในอีกบทบาทหนึ่ง อย่างการเป็นทายาทธุรกิจเก่าแก่ในขอนแก่น และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยต้าขอนแก่น ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด

ซึ่งประวัติเขาสนุกมาก เราขอใช้เวลาสั้นๆ นี้เล่าให้ฟัง

กมลพงศ์เป็นหลานชายคนโตของ ชวน คุณวาสี พ่อค้าชาวอีสานเชื้อสายจีน ที่เริ่มต้นทำธุรกิจนำเข้าจักรเย็บผ้าจากญี่ปุ่น และเป็นดีลเลอร์รายแรกที่นำเข้ารถยนต์โตโยต้าเข้ามาในประเทศเมื่อ พ.ศ. 2499 ในชื่อ ‘สกลภัณฑพินิจ’ ตามชื่อหลวงสกลภัณฑพินิจ บรรพบุรุษผู้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ยที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โตโยต้าขอนแก่น

หลังเรียนจบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และปริญญาโทจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กมลพงศ์ผู้สนใจงานด้านนโยบายการเงินและการคลัง ตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมการเงิน หรือ Financial Engineering ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ซึ่งเป็นวิชาแขนงใหม่ในยุคนั้น หลังโลกเจอวิกฤตและการโจมตีของค่าเงินที่ดุเดือด หลังเรียนจบ กมลพงศ์เริ่มทำงานด้าน Equity Research ที่ Bear Stearns ซึ่งเป็น Investment Bank อันดับ 8 ของอเมริกาในตอนนั้น ก่อนกลับมาช่วยงานครอบครัวที่ขอนแก่น เปลี่ยนจากคนขายรถเป็นคนแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนชีวิต

กับเรื่องเมือง กมลพงศ์ก็ทำเต็มที่ ขอเชิญพบกับนักขับเคลื่อนตัวจริงเสียงจริง

อะไรคือลักษณะพิเศษของชาวขอนแก่น ที่ทำให้พวกคุณทำงานด้านการพัฒนาเมืองได้เป็นรูปธรรมที่สุด

ขอนแก่นไม่ได้เกิดที่รุ่นผม แต่เกิดมาก่อนนานแล้ว แค่มาตกผลึกที่รุ่นนี้ จริงๆ คนรุ่นเราเหมือนมดงาน ที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องเมืองในวงกาแฟอยู่แล้ว และเวลาที่เมืองขอนแก่นเกิดเรื่องอะไร เราทุกคนจะมารวมตัวช่วยกัน โดยคิดถึงผลประโยชน์ของเมืองเป็นสำคัญ เหมือนทุกคนฝากความหวังไว้ที่นี่

อะไรคือที่มาของการรวมทุนจดทะเบียนบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง

เดิมที่ระบบบริหารเมืองทุกอย่างมาจากศูนย์กลางคือกรุงเทพฯ เวลาที่คนท้องถิ่นคิดจะทำโครงการอะไรขึ้นมา มักจะมีเรื่องงบประมาณเป็นปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้นหรือสำเร็จได้จริง เช่น เมื่อเมืองอยากเริ่มจะทำอะไรใหม่ จะต้องมีการทำวิจัยซึ่งใช้งบประมาณก้อนใหญ่ แต่เมื่อถึงเวลานำไปต่อยอดทำงานจริงกลับติดปัญหาเรื่องงบประมาณ เวลาผ่านไปสี่ห้าปี มีคนอยากรื้อโครงการมาทำใหม่ ก็เสียเวลาและงบประมาณกับการทำวิจัยครั้งใหม่ จนตอนนี้เรามีงานวิจัยเต็มตู้ไปหมด แต่ไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้นในจังหวัดเลย

เริ่มอย่างไร

ขอนแก่นพัฒนาเมือง เป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำเพื่อบ้านเกิดสามสิบถึงสี่สิบคน รวมตัวเพื่อคุยกันว่าอยากทำอะไรให้เมืองบ้าง จนได้โครงการกว่าสามสิบโครงการ ก่อนสรุปสองโครงการที่ต้องทำก่อน โครงการแรก คือศูนย์ประชุม เราเป็นเมืองใหญ่หนึ่งในห้าของประเทศ

แต่ที่ผ่านมา นอกจากศูนย์ประชุมของมหาวิทยาลัย ขอนแก่นยังไม่เคยมีศูนย์ประชุมสำหรับจัดงานโดยเฉพาะมาก่อน ซึ่งพอออกข่าวไป ก็มีเอกชนสนใจ เกิดเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติขอนแก่น แม้เราจะไม่ได้เป็นเจ้าของก็ไม่เป็นไร ขอเพียงแค่ให้เมืองเรามี โครงการที่สอง คือระบบขนส่งมวลชนในจังหวัด LRT หรือรถไฟรางเบา

แล้วเราจะแก้ปัญหางบประมาณที่มีอยู่อย่างไร

เราต้องสร้างกระเป๋าเงินของเมืองขึ้นมา ด้วยการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ นั่นคือ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานจังหวัด โดยมีข้อจำกัดเรื่องขนาดของโครงการที่ทำ จำเป็นต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบใหญ่ๆ อย่างโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ซึ่งก็เหลือระบบขนส่งมวลชนแบบรางที่ยังไม่มีเจ้าของ

ระบบขนส่งมวลชนแบบรางสำคัญกับการพัฒนาเมืองอย่างไร

ต้นทุนการใช้ชีวิตหรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคน ประกอบด้วยค่าที่อยู่อาศัยและค่าเดินทาง ถ้ารวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ เราก็ไม่มีทางมีเงินเหลือเก็บ ซึ่งในต่างประเทศ เรื่องนี้ถือเป็นงานของรัฐบาลที่จะทำให้เมืองมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี มีบ้านในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเราอยากทำตรงนี้ เราอยากลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน

เรียนรู้อะไร จากการทำ ‘ขอนแก่นซิตี้บัส’ มาก่อน

เราทำขอนแก่นซิตี้บัส เพื่อแก้ปัญหาการใช้ขนส่งมวลชนของผู้คน และสร้างความปลอดภัยจากการใช้รถสาธารณะในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น เมื่อรู้ว่าคนไม่ใช้ขนส่งมวลชนเพราะไม่รู้ว่ารถจะมาเมื่อไหร่ เราก็ทำแอปพลิเคชัน อากาศร้อนและมีฝนตก เราก็ติดแอร์ที่รอรถ หรือหากกลัวโจรกรรม เราก็ติดกล้องวงจรปิด ซึ่งตลอดสามปีที่ผ่านมา เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของรถที่หายนั้นได้คืนเพราะกล้องตัวนี้ รวมถึงสร้างมาตรฐานงานบริการ คนขับรถของเราจะแต่งตัวเรียบร้อย มีเงินเดือนหมื่นห้าพันบาท สร้างความภูมิใจทำให้เขาเคารพและรักในหน้าที่

ดังนั้น กลุ่มคนแรกๆ ที่เราไปคุยตอนคิดจะทำ LRT ไม่ใช่หน่วยราชการ แต่เป็นผู้ประกอบการรถสองแถว เพราะได้รับผลกระทบที่สุด ไปเพื่อบอกว่าเราทุกคนจะได้อะไร เมืองจะได้อะไร ถ้าไม่ทำ ปล่อยให้เมืองพัฒนาไปแบบไร้ทิศทาง เศรษฐกิจโดยรวมอาจจะดี มีคนหรือองค์กรจากส่วนกลางมาลงทุน แต่เมื่อใช้ทรัพยากรแล้วก็จะขนเงินกลับไป ไม่เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นจริงๆ เราต่อต้านโลกาภิวัตน์ไม่ได้ แต่ถ้าเราร่วมมือกัน โตไปด้วยกัน เมืองก็จะเติบโต

มีแนวทางขอความร่วมมือจากคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร

ชวนเขาคิดตามว่า สมมติทุกวันต้องขับรถสองแถวระยะทางสองร้อยกิโลเมตร ได้เงินร้อยบาท แต่ถ้าเปลี่ยนจากเดินรถตลอดสาย มาเป็นรับส่งจากย่านชุมชนถึงสถานีรถไฟฟ้า เท่ากับว่าระยะทางที่ขับรถจริงสั้นลง แต่ได้เงินเท่าเดิม แล้วขอให้ลองดู แสดงความจริงใจระหว่างกัน 

เวลากว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ในการทำขอนแก่นพัฒนาเมืองจึงไม่ใช่ทำรถไฟฟ้า แต่เป็นการออกไปคุย ทั้งขอความรู้และให้ความรู้ สำคัญคือการสื่อสารในทุกระดับ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ในกลุ่มคนที่ช่วงวัยและความเข้าใจปัญหาแตกต่างกัน ไปจนถึงผู้ใหญ่ของเมืองที่อยู่ในกลุ่มยี่สิบสี่องค์กรจีน ซึ่งขอนแก่นมีวิธีแก้ปัญหาการทำงานที่เกิดจากช่องว่างระหว่างวัย ได้แก่ การเตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่มาสานต่อสิ่งที่รุ่นเก่าทำซึ่งเกิดขึ้นตลอด โดยที่ผมมีหน้าที่อำนวยความสะดวก พาทุกคนไปถึงจุดหมาย

อะไรคือหลักการทำงานของขอนแก่นพัฒนาเมือง

หนึ่ง เป็นการลงทุนที่ไม่มีเงินปันผล กำไรที่เกิดขึ้นจะนำไปใช้ทำโครงการอื่นๆ ต่อไป สอง หากใครคิดจะลงสนามการเมือง จะต้องถอดหุ้นที่มีออกไปทั้งหมด สาม ความเป็นเจ้าของ เจ้าของรถไฟรางเบาไม่ใช่ขอนแก่นพัฒนาเมือง แต่เป็นเทศบาลห้าเทศบาลที่รถไฟวิ่งผ่าน 

และการเริ่มโครงการรถไฟรางเบาเป็นแค่ขาหนึ่ง จริงๆ เราต้องการปลูกฝังหรือทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของเมือง ไม่ใช่แค่แก้ปัญหารถติด แต่แก้เรื่องเชิงโครงสร้าง ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็เท่ากับว่าเมืองที่พึ่งพาตัวเองได้จะพัฒนาได้ สร้างแรงบันดาลใจให้เมืองอื่นๆ เรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องรวมคนที่เชื่อเหมือนกันมาไว้ด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงดึงดูดชาวขอนแก่นเท่านั้น คนตัวเล็กๆ ที่ทำงานแก้ปัญหาเรื่องเมืองตามที่ต่างๆ ก็มาช่วยกัน เช่น MAYDAY! กลุ่มนักออกแบบที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหารถสาธารณะ และกลุ่มเอกชนที่มาลงทุนติดตั้งเสาไฟระบบ ioT และอื่นๆ เพื่อทดลองทำ Smart City กับเมือง

แต่ธุรกิจหลักของคุณคือขายรถยนต์ ที่ผ่านมารถยนต์ขายดีเพราะระบบขนส่งมวลชนไม่ดี ถ้าระบบขนส่งมวลชนดี คุณจะขายรถได้น้อยลงจริงไหม

จะคิดอย่างนั้นก็ได้ ถ้าเราคิดว่าเค้กมีเท่านี้ จริงๆ แล้ว ถ้าเมืองเราน่าอยู่และเติบโตดี ก้อนเค้กก็จะขยายใหญ่ขึ้น ถ้าธุรกิจเราเติบโต แต่ชุมชนไม่โตตามเราก็ไม่มีทางอยู่ได้ ผมคิดเสมอว่าถ้าเมืองดี โอกาสที่ดีอื่นๆ ก็จะตามมา

คุณเรียนรู้อะไรจากงานขายรถ

ช่วงกลับมาทำงานที่บ้าน ตอนแรกคิดว่าจะได้นั่งขายรถอยู่ในโชว์รูมเท่ๆ แต่พ่อให้มาดูแลฝ่ายบริการหลังการขาย ท่านบอกว่านี่คือหัวใจของธุรกิจ ในโชว์รูมขายรถ ลูกค้ามาเพื่อซื้อรถเขาจะอารมณ์ดีและมีความสุข แต่ที่แผนกบริการ ลูกค้ามาเพื่อซ่อม เขากำลังกลุ้มใจเพราะรถเสีย ถ้าเราดูแลและสร้างความประทับใจได้ ลูกค้าจะกลับมาหาเราอีกครั้ง 

พ่อเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับงานช่างมากๆ ท่านทำแผนกฝึกอบรมมาสามสิบปี ทำให้โตโยต้าขอนแก่นเป็นดีลเลอร์ขายรถเจ้าแรกที่มีแผนกฝึกอบรมช่างจริงจัง เริ่มจากเป็นพาร์ตเนอร์กับโรงเรียนสายอาชีพสร้างช่างฝีมือปีละห้าสิบคน ให้ทำงานกับเราในสิบสามสาขา ทั้งที่ขอนแก่น เลย และบุรีรัมย์

อะไรคือสิ่งที่โตโยต้าขอนแก่นแตกต่างจากคนอื่น

ไม่ใช่แค่ขายรถใหม่ แต่ให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่ทำเรื่องไฟแนนซ์ ดูแลประกันภัย พาไปตีราคารถเก่า เพื่อหาเงินดาวน์คันใหม่ อำนวยความสะดวก สร้างบรรยากาศให้ลูกค้าแวะมาที่โชว์รูมบ่อยๆ ด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมลูกค้าที่มาจ่ายค่างวด ทำให้เจอลูกค้าทุกเดือน แทนที่จะเจอแค่ปีละสองครั้ง คือวันที่เอารถมาเช็กกับวันที่เอารถมาซ่อมสี เมื่อได้พูดคุยก็รู้ความต้องการของลูกค้า เกิดการต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ๆ เช่น เราทำระบบดิจิทัลสำหรับการบริหารงาน ซึ่งทางโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย ชอบมาก จนได้กลายเป็นทีมเขียนโปรแกรมให้ทั้งบริษัท 

เรามีโรงเรียนสร้างช่างอีสานมืออาชีพ รับเป็นที่ปรึกษาธุรกิจเกี่ยวกับซ่อมบำรุงรถยนต์แก่บริษัทใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ 

ทั้งๆ ที่ประเทศเรามีชื่อเสียงเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ก็ไม่มีที่ไหนทำโรงเรียนช่างเป็นของตัวเอง

ใช่ครับ ไม่มีใครคิดจะทำ เพราะใช้เงินลงทุนสูงมากในช่วงแรก

ในฐานะผู้บริหารโตโยต้าขอนแก่น อะไรคือเป้าหมายในการทำงานของคุณ

ผมมีความฝันอยากสร้างและพาเด็กอีสานไปเวทีโลก ซึ่งจริงๆ อีสานมีประชากรประมาณหนึ่งในสามของประเทศ เมื่อมีพื้นที่แสดงความสามารถน้อย เขาเลยต้องไปหางานที่อื่น ช่วงที่ผมเดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เห็นว่าช่างเขาเท่มากๆ เขาไม่เรียกตัวเองว่าช่างเทคนิค แต่มองว่าตัวเองเป็นวิศวกรรมผู้เชี่ยวชาญ ดูแลระบบและเครื่องยนต์ เราก็ยิ่งอยากสร้างคนแบบนั้น 

ผมเชื่อว่าทักษะเหล่านี้สำคัญต่อการสร้างชาติ ประเทศเรามีคนอยู่ในสายบริหารธุรกิจเยอะแล้ว แต่สำหรับสายการผลิต โดยเฉพาะการผลิตที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง คนสายอาชีพนี่แหละที่จะขับเคลื่อนประเทศ

หลังจากใช้ถึงเวลา 5 ปี สร้างโรงเรียนสำหรับช่างฝีมือชาวอีสาน ในที่สุดก็ได้ส่งเด็กอีสานไปยืนในเวทีโลกตามฝัน

ปีที่ผ่านมา เราส่งเด็กไปแข่งขันสาขาเทคโนโลยียานยนต์ ในสนามการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ที่เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย (World Skills Kazan 2019) ยิ่งใหญ่ระดับเดียวกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกของชาวช่าง ซึ่งมีตั้งแต่ช่างซ่อม ช่างยนต์ ช่างสี ก่อสร้าง รวมทุกๆ ทักษะฝีมือ 

สำหรับการแข่งขันปี 2020 จัดขึ้นที่ประเทศจีน เราส่งเด็กเข้าแข่งขันเพิ่มอีกสองสาขา ได้แก่ ช่างสีรถยนต์ และช่างเครื่องหรือช่างเคาะตัวถัง ซึ่งก่อนหน้านี้ ไทยไม่เคยมีเครื่องนี้มาก่อน ผมไปเจอแท่นดึงถังนี้ตอนดูงานที่อเมริกา ก่อนจะถามไปทางโตโยต้าจนได้เจอบริษัทที่นำเข้าเครื่อง จึงทำงานด้วยกันโดยมีจุดประสงค์เพื่อฝึกอบรมทักษะฝีมือ ก่อนต่อยอดเป็นธุรกิจที่ปรึกษา ความสำคัญคือ เวลาที่รถชนจนบุบ ช่างจะใช้เครื่องดึงส่วนที่บุบนั้นออกมา ช่วยลดเวลาการซ่อมลงจากสามเดือนเหลือเพียงหนึ่งเดือน 

อนาคตของธุรกิจรถยนต์ส่งผลต่อการบริหารงานอย่างไร

คุณอาคิโอะ โทโยดะ (Akio Toyoda) เจ้าของโตโยต้า บอกว่า การใช้รถยนต์ในอนาคตจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจากสี่ปัจจัย ได้แก่ CASE โดย C มาจาก Connected หรือการเชื่อมต่อกันระหว่างรถแต่ละคันด้วยระบบ 5G A มาจาก Autonomous หรือระบบไร้คนขับ S มาจาก Sharing และ E มาจาก Electrification หรือรถยนต์ไฟฟ้า เมื่ออุปกรณ์เครื่องภายในไม่ใช้น้ำมัน ค่าบำรุงรักษาก็จะถูกลง และทำให้รถวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้น

และจากการสำรวจความคุ้มค่าในการใช้งานรถยนต์หนึ่งคัน พบว่าส่วนใหญ่ใช้งานไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ของประสิทธิภาพรถที่มี และหมดเก้าสิบเปอร์เซ็นต์นั้นไปกับการจอดไว้ในที่ทำงานและที่บ้าน มีโอกาสที่คนจะเช่าใช้มากกว่าซื้อใช้ รถคันหนึ่งให้บริการคนได้สิบคน เท่ากับว่ารถยนต์จะหายไปจากตลาดเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ผมจึงบอกทีมงานเสมอว่า ถ้าเรามัวแต่ขายรถ เราตายแน่ๆ เพราะในอนาคตคนจะเป็นเพียงผู้ใช้ไม่ใช่เจ้าของ

ถ้าไม่ให้ขายรถ แล้วจะให้ไปทำอะไร

โตโยต้าเองก็เปลี่ยนตัวเอง จากผู้ผลิตรถยนต์เป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อน 

เราก็เช่นกัน เราเปลี่ยนตัวเองจากคนขายรถเป็นนักแก้ปัญหาการเคลื่อนที่ของผู้คน นั่นคือ เราเชื่อว่าในชีวิตของคนยังต้องมีการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว รับส่งคน รับส่งของ เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบการเป็นเจ้าของรถอีกต่อไป เราต้องทำให้พนักงานมองเห็นภาพที่เรากำลังจะไปเป็นภาพเดียวกัน

เช่น

เกษตรกรที่อำเภอกระนวน อยากจะส่งแตงโมมาขายที่ตลาดเมืองขอนแก่น มีความจำเป็นต้องใช้รถ โจทย์คือเราจะเสนอวิธีขนส่งแตงโมมาขายในราคาที่ถูก ตรงเวลา และปลอดภัยกว่าเดิม โดยที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อรถได้อย่างไร ขนส่งมวลชนก็เช่นกัน การมาถึงของรถไฟฟ้า เราจะช่วยออกแบบวิธีการขนส่งผู้โดยสารจากสถานีไปชุมชนย่อย และจากชุมชนย่อยถึงบ้านอย่างไร 

อีกตัวอย่าง โรงงานน้ำแข็งต้องการลงทุนทำรถขนส่งห้าสิบคัน ใช้เงินหนึ่งแสนบาทดัดแปลงช่วงล่าง และอีกหนึ่งแสนบาทสำหรับต่อเติมตู้บรรทุกน้ำแข็ง ถ้าเขามีรถห้าสิบคัน เขาต้องมีเงินสิบล้านบาท ยังไม่รวมเงินดาวน์รถ

งานของเราได้แก่ ออกแบบวิธีเช่าใช้ พูดคุยกับโตโยต้า ลีสซิ่ง เรื่องการเสริมเพลา ซึ่งหากลูกค้าไปดัดแปลงเองประกันจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย จากนั้นเชิญโตโยต้ามาคุย บอกให้เห็นความสำคัญของการปรับตัวนี้จนเขายอมรับ และช่วยดูแลประกันให้ ลูกค้าก็ได้รถใหม่โดยจ่ายเป็นค่าเช่าแทน และจากเดิมที่ต้องขนส่งน้ำแข็งสามรอบต่อวัน เหลือเพียงสองรอบ ประหยัดค่าน้ำมันวันละหกร้อยบาท หรือเดือนละหมื่นแปดพันบาท เป็นโครงการแรกที่โตโยต้าทำให้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีที่มาจากทีมงานเราเจออินไซด์ของปัญหาจริงๆ

ทั้งๆ ที่ยากกว่าการขายรถให้ได้มากๆ ทำไมยังเลือกทำ

จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจแบ่งปันหรือการตอบสนองความต้องการ ถ้าเราทำได้ เราก็จะอยู่รอดในธุรกิจนี้ได้ จริงๆ ก็เชื่อมโยงกับที่เราทำงานเรื่องเมือง ทั้งนี้ ผมทำคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำให้ทุกคนเห็นภาพปลายทางเป็นภาพเดียวกัน รวมกันเป็นพลังขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบริษัทหรือเมือง

ในวันนี้ ถ้าถามว่าโตโยต้าขอนแก่นเป็นอะไรสำหรับเมืองนี้ คุณจะบอกว่า

เป็นอะไรก็ได้ เป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อน เป็นธุรกิจที่สนับสนุนการเคลื่อนที่ของผู้คน เป็นธุรกิจโรงเรียน เป็นธุรกิจฝึกอบรมที่สร้างงานสร้างอาชีพ เป็นธุรกิจที่ทำงานด้านการพัฒนาเมืองขอนแก่นหรือจังหวัดอื่นๆ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การทำเพื่อคนอีสาน อย่างเข้าใจคนอีสาน เพราะอยากเห็นคนอีสานในเวทีโลก สร้างโอกาสที่นี่ สร้างบรรยากาศให้คนกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด โดยเราตั้งใจจะสื่อสารสิ่งที่ทำผ่านแบรนด์ SKP ย่อมาจากชื่อเต็มของหลวงสกลภัณฑพินิจ ผู้เป็นพ่อของอากง

คุณเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

เป็น Facilitator ที่จะคอยอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกคน เมื่อสองปีก่อน ตอนที่ผู้ใหญ่มอบหมายให้เป็นประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ซึ่งประกอบไปด้วยคนที่มีอายุและประสบการณ์มากกว่าผม ผมบอกทุกคนว่า ผมไม่ได้มาเพื่อนำ แต่จะมาเพื่อรับฟังและอำนวยความสะดวกแก่ทุกคน

ส่วนที่บริษัทผมใช้วิธี OKR มาจาก Objective and Key Results นั่นคือบอกจุดหมายปลายทาง เปิดโอกาสให้ทีมเสนอวิธีการจากข้อมูลที่มี เพื่อไปถึงเป้าหมายอย่างเหมาะสมและไร้ข้อจำกัด นั่นคือเป็นผู้สนับสนุนให้คนเดินทางไปสู่จุดหมายของเขาอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข

เหมือนที่อยู่ๆ พนักงานโตโยต้าขอนแก่นทุกคนก็ลุกขึ้นมาจัดคอนเสิร์ต 

เริ่มจากสามปีที่แล้ว เราทำเพลงครบรอบหกสิบปีโตโยต้าขอนแก่น ตอนนั้นอยากจัดคอนเสิร์ตแต่ไม่มีโอกาส พอได้มารู้จักพี่บี๋ (ปรารถนา จริยวิลาศกุล) ผู้จัดคอนเสิร์ต Love Is Hear ระดมทุนเพื่อเด็กหูหนวก ก็ปรึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดงานนี้ที่ขอนแก่น หลังจากนั้นงานก็ใหญ่ขึ้น จากพี่นภ พรชำนิ เริ่มมี BNK48, Friday, เป๊ก ผลิตโชค, Tattoo Color, ว่าน ธนกฤต, ไอซ์ พาริส และแพรวา ณิชาภัทร รู้จักใครก็ชวนมา พิเศษมากๆ

เราได้น้องฟ้าใส เด็กหูหนวกคนแรกที่ได้ทุนผ่าตัดประสาทหูเทียมเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว จากมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเป็นเด็กขอนแก่น ตอนนี้เรียนอยู่ปีสองคณะวิทยาศาสตร์ ด้านนาโนฟิสิกส์ ขึ้นมาร้องเพลง ฤดูที่แตกต่าง โดยคอนเซปต์ของคอนเสิร์ตครั้งนี้ เราไม่ได้ขายความน่าสงสาร แต่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้มาโชว์ร้องเต้น เล่นโขน ความสามารถพิเศษ แทนที่เราจะอิ่มใจที่ได้มอบความสุขให้น้องๆ ผู้จัดและคนดูกลับได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากพวกเขาแทน

อะไรคือสิ่งที่ชาวโตโยต้าขอนแก่นได้เรียนรู้จากการจัดคอนเสิร์ตร่วมกัน

จากกระบวนการทำงาน ชาวโตโยต้าขอนแก่น แบ่งหน้าที่กันเป็นผู้จัดการดารา ผู้จัดการคิว ทำทุกอย่างที่คอนเสิร์ตต้องมี โดยไม่มีออร์แกไนเซอร์มาช่วย สุดท้ายคือการสร้างทีม ไม่ใช่แค่การขายรถ แต่ยกระดับจิตใจของทุกคนขึ้นมา ผมเชื่อในพลังที่ได้รับจากการทำอะไรเพื่อคนอื่น ซึ่งจะฝังอยู่ในหัวใจคนคนนั้น ผ่านไปครึ่งปีแล้วก็ยังจำความรู้สึกตอนนั้นได้ดี สำคัญคือ ตราบใดที่องค์กรมีบรรยากาศแบบนี้ ไม่ว่าเรื่องที่ทำจะยากแค่ไหนก็สำเร็จได้

ซึ่งคุณใช้วิธีคิดนี้กับช่วง COVID-19 ด้วย

หลังจากเฝ้าระวังสถานการณ์โรคระบาดมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พวกเราที่ทำงานให้เมือง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน สาธารณสุข และการศึกษา มารวมตัวกัน โดยผมใช้หลักการเดียวกับตอนที่ทำคอนเสิร์ตเลย เพราะตอนนั้นจะไปของบประมาณอะไรก็คงไม่ทัน มันปัจจุบันทันด่วนมากๆ

เราคุยกันว่าใครมีอะไร ถนัดอะไรก็ให้เอามากองรวมกัน การทำงานครั้งนั้น ทำให้ได้เจอเด็กอีสานเก่งๆ ที่กลับบ้านมาช่วง COVID-19 เยอะมาก พวกเราทำโปรแกรม ‘Khonkaen Stop COVID-19’ ให้ความรู้และเฝ้าติดตาม ทำสมาร์ทโรงทาน แจ้งจุดช่วยเหลือ ทำสมาร์ทพุ่มพวง พาตลาดไปถึงบ้านคน ด้วยการต่อยอดแอปพลิเคชันของขอนแก่นซิตี้บัส เกิดนวัตกรรมสังคมโดยไม่คิดถึงงบประมาณ

สุดท้ายนี้ถ้าเปรียบขอนแก่นเป็นสนามฟุตบอล คุณเป็นใครในเกมนี้ 

ผมคงเป็นคนเสิร์ฟน้ำ ที่คอยมองทุกคนจากขอบสนาม ช่วยโค้ชซึ่งได้แก่ท่านผู้ว่าฯ มองจุดเล็กๆ ที่คนอาจจะไม่ทันมองเห็น แล้วคอยแนะนำผู้เล่นที่มีแววให้ทีม คอยอำนวยความสะดวกให้ทุกคนเล่น หรือแสดงบทบาทของตัวเองที่ถนัดอย่างเต็มที่


10 Questions answered by President of The Khon Kaen Chamber of Commerce and Assistant Managing Director of Toyota Khon Kaen

  1. ย่านโปรดในขอนแก่น : ถนนศรีจันทร์
  2. เส้นทางเที่ยวชมเมืองที่คุณอยากแนะนำ : ลองขึ้นรถขอนแก่นซิตี้บัส ซึ่งเริ่มจากที่นี่ เลี้ยวไปวัดหนองแวง แวะบึงแก่นนคร ดูเจดีย์ 9 ชั้น จากนั้นผ่านถนนศรีจันทร์ ผ่านตลาดศรีเมืองทอง จากนั้นไปที่ บขส.1 ดูสถานที่ราชการแล้วออกมาที่ประตูเมือง จะผ่านมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปสนามบินก็ทำได้
  3. โปรเจกต์พัฒนาเมืองในฝันแบบที่ไม่มีตัวเลขมากำหนด จะมีหน้าตาหรือออกมาเป็นอย่างไร : เมืองที่ทุกคนเดินทางได้อย่าง สะดวก ปลอดภัย มีต้นทุนการเดินทางที่ต่ำ และไปถึงจุดหมายอย่างอิสระและมีความสุข
  4. ทริปการเดินทางที่เปลี่ยนชีวิต : การไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ช่วง ค.ศ. 2001 – 2003
  5. หนังสือเล่มที่เปลี่ยนชีวิต : Start with Why ของไซมอน ซิเนค (Simon Sinek)
  6. เรื่องใหม่ล่าสุดที่เรียนรู้ : เมื่อก่อนผมคิดว่าทุกอย่างต้องมีงบเป็นที่ตั้ง ถ้าไม่มี ทำไม่ได้ การจัดคอนเสิร์ต Love Is Hear พิสูจน์ให้ผมเห็นว่า จริงๆ แล้วทำได้
  7. คุณชอบทำงานกับคนแบบไหน : คนที่ไม่จำเป็นต้องคิดเห็นตรงกันแต่เปิดใจรับฟัง คนที่ไม่ดูถูกความคิดของคนอื่น
  8. คำพูดติดปาก : ลองดู 
  9. หากต้องขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ในวันปัจฉิมนิเทศนักศึกษาจบใหม่ คุณจะบอกอะไรพวกเขา : ในโลกความเป็นจริง ความรู้เพียงด้านเดียวไม่ทำให้แก้ปัญหาได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและพหุวิทยาการหรือศาสตร์หลายด้านในการแก้ไขปัญหา และถ้าเราร่วมมือกันได้ ไม่ว่าปัญหานั้นคืออะไร เราก็จะผ่านไปได้
  10. คุณไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้ จะแข่งตอนไหนได้บ้าง : ทีมเชลซี

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล