The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

“อาจารย์คงไม่รู้ตัวว่า อาจารย์ได้ขายวิญญาณให้กับนกและป่าเขาลำเนาไพรไปแล้ว”

นี่เป็นประโยคเดียวที่หลุดเข้ามาในความคิดของผม หลังจากจบบทสนทนาในบ่ายวันอาทิตย์นั้น

ใช่ เหมือนผมกล่าวเกินเลยไปสักหน่อย แต่ลองนึกภาพตามนะครับ

จะมีสักกี่คนที่หลงใหลกับการขีด ๆ เขียน ๆ รูปนกตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จนบัดนี้อายุ 73 แล้ว ก็ยังไม่คิดจะวางดินสอ ปากกา และพู่กัน ดูจากสายตาที่มุ่งมั่นแล้ว ผมว่าภาพคุณปู่บนเก้าอี้โยกกับการอุ้มหลานนั้น ไม่ใช่แน่ ๆ รถโฟร์วีลที่จอดอยู่ในโรงรถยังพร้อมจะบุกป่าฝ่าดงเสมอ…

คุณปู่ที่ผมกำลังกล่าวถึงคนนี้ คือ

อาจารย์กมล โกมลผลิน นักวาดภาพนกอันดับหนึ่งของเมืองไทย

กมล โกมลผลิน นักดูนก-นักวาดภาพนกวัย 73 ที่อนุรักษ์และมอบชีวิตให้กับป่าเขาลำเนาไพร

อาจารย์เป็นที่เคารพและรู้จักกันดีในหมู่นักดูนกทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ร่วมวาดภาพนกที่มีการสำรวจพบในประเทศไทย ในหนังสือ ‘A Guide to the Birds of Thailand’ คัมภีร์เล่มสำคัญสำหรับนักดูนก 

ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่นักวาดภาพทั่วไปที่จับพู่กันและใช้สีน้ำเป็นจะได้รับการยอมรับเช่นนี้ ในฐานะของคนที่ร่ำเรียนศิลปะมาเหมือนกัน ผมชักอยากรู้ว่าอะไรหล่อหลอมให้อาจารย์รักและหลงใหลในนกและธรรมชาติเช่นนี้

“ผมเกิดและเติบโตมาในสวน สมัยนู้นคุณคงนึกไม่ถึงว่าบ้านผมไม่มีไฟฟ้า แค่ตลิ่งชันเองนะ บ้านผมอยู่ริมคลอง การสัญจรก็ใช้เรือ ผมเลยรู้จักสวนเป็นอย่างดี แล้วสวนยุคนั้น ไม่มีถนน มีแต่ธรรมชาติ จึงมีนกอยู่มากมาย”

อ้อ อาจารย์กมล ก็เป็นคนฝั่งธนฯ เหมือนกันกับผม 

ถึงตรงนี้ขอขยายความสักนิดว่า ในอดีตนั้น อำเภอตลิ่งชันอยู่ในเขตจังหวัดธนบุรี จังหวัดทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนฝั่งขวานั้นเรียกว่า ‘พระนคร’ ต่อมาใน พ.ศ. 2514 เกิดการผนวกรวมธนบุรีและพระนครเข้าด้วยกัน ในชื่อ ‘นครหลวงกรุงเทพธนบุรี’ และในปีถัดมาจึงเปลี่ยนเป็น ‘กรุงเทพมหานคร’ เมื่อเป็นเพียงจังหวัดรอบนอก ระบบสาธารณูปโภคจึงยังกระจายไม่ทั่วถึงเมื่อเทียบกับเมืองหลวง

“บ้านโบราณมันมีสองฝั่ง ตรงกลางเป็นชาน เรียกว่า ‘นอกชาน’ บ้านสองหลังนี้ข้างหน้าเป็นคลอง มีอยู่วันหนึ่ง นกเป็ดน้ำบินมากันเป็นพันตัว เต็มหลังคา มืดไปหมด เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก ชะงักไปเลย บินสักพักก็หายไป”

อย่าว่าแต่อาจารย์เลย เป็นผมเจอนกมากมายขนาดนั้นก็คงตะลึงไม่ต่างกัน

แต่นั่นก็ช่วยยืนยันได้ว่า ตลิ่งชันเมื่อ 70 ปีก่อนยังมีความเป็นธรรมชาติสูงมากทีเดียว

“แล้วผมก็เลี้ยงนก ตอนเด็ก ๆ ชอบไปขโมยลูกนกในศาลพระภูมิตามสวน เอามาป้อนอาหาร ตอนโรงเรียนหยุด ไม่มีของเล่น โทรทัศน์ไม่มี ไฟฟ้าก็ไม่เข้ามา บางกอกน้อยเข้า บางหลวง บางแวกเข้า แต่ตรงกลางไม่เข้า”

เมื่อฟังอาจารย์กมลเล่าถึงบ้านในวัยเด็ก ผมเชื่อว่าสภาพแวดล้อมคือจุดเริ่มต้นในความสนใจศิลปะ ภาพในอดีตและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ยังจดจำได้ดี บอกกับผมว่าอาจารย์เป็นนักสังเกตสิ่งต่าง ๆ ชั้นยอด เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนวาดภาพ ส่วนการนำลูกนกมาเลี้ยง ทำให้อาจารย์กมลได้ศึกษาสรีระและพฤติกรรมของนกไปในตัว

อาจารย์เริ่มวาดภาพตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ (ผมเริ่มอยากรู้ต่อ)

ถ้าคุณอยากรู้ ผมจะไปหยิบให้ (พูดยังไม่จบ อาจารย์ก็ลุกขึ้นเดินไปที่ตู้หนังสือ หยิบเอาสมุดเขียนหนังสือสมัยโบราณที่มีเส้นบรรทัด พร้อมกับสมุดสเก็ตช์เล่มเล็กที่เก็บรักษาอย่างดีมาจำนวนหนึ่ง)

มันเป็นสมุดที่ผมวาดตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน อันนี้เป็นสมุดตำรายาของตา แล้วผมก็วาดรูปสารพัด ผมวาด ๆ ไป แม่ก็นั่งรีดผ้า ผมชอบเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างที่บอก สิ่งที่เราจะเล่นก็ไม่มี ของเล่นก็เล่นไปตามพื้นบ้าน แล้วนี่ก็เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตผม แม่บอกผมนั่งเขียนนอนเขียนทั้งวัน ก็ไม่ถึงกับเพอร์เฟกต์แต่บางครั้งมันก็บันทึกเหตุการณ์ ตอนนั้นก็มีอะไรปน ๆ อย่างเรือดำน้ำ มีใครเคยเห็นไหมล่ะ จอดอยู่ศิริราช ผมก็เขียนไว้อยู่ในนี้ 

กมล โกมลผลิน นักดูนก-นักวาดภาพนกวัย 73 ที่อนุรักษ์และมอบชีวิตให้กับป่าเขาลำเนาไพร

(อาจารย์เปิดสมุดค้างที่หน้าหนึ่ง แม้มีเส้นบรรทัดพาดผ่านตลอดหน้า แต่ก็ไม่ได้บดบังความงามของภาพวาดนั้นเลย ภาพลายเส้นไร้เดียงสาแต่เก็บรายละเอียดของนกครบถ้วน จัดว่าเป็นภาพวาดที่ฉายแววศิลปินสำหรับเด็ก ๆ ในยุคนั้น ที่ยังไม่มีโรงเรียนสอนศิลปะสำหรับเด็กเหมือนในปัจจุบัน

ผมรับสมุดสเก็ตช์มาพลิกดูทีละหน้า เป็นสมุดวาดภาพสมัยอาจารย์เรียนศิลปากร ด้วยความทึ่งในผลงานวาด ที่แม้เป็นภาพชิ้นเล็ก แต่สมบูรณ์แบบทั้งเรื่องสัดส่วนและเทคนิคการใช้สี ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ที่ให้ความงามสมจริงมาก เมื่ออาจารย์พูดถึงศิลปากร ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวการฝึกวาดภาพนกของอาจารย์ในช่วงนั้น)

ได้ข่าวมาว่า อาจารย์สนใจนกถึงขนาดเดินเก็บซากนกมาวาด

ใช่ ๆ นี่ไง ที่ตลาดนัดสนามหลวง เขาโยนทิ้งในถังขยะ ผมก็ไปเก็บมา ความคิด ความรู้สึกขณะนั้น มันไม่ใช่เศษกระดาษนะ คุณดูสิ ความวิจิตรในขนของมันทำให้ผมหิ้วซากกลับไปเขียนที่ศิลปากร ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสนใจ เพื่อน ๆ ก็คิดว่าผมฝึกมือ ผมเก็บมาไว้เยอะแยะ ช่วงที่ผมเก็บซากนกมาวาดคือตอนเรียนปี 1 ที่ศิลปากร

(ผมสะดุดกับคำว่า ‘ตลาดนัดสนามหลวง’ จำได้ว่าช่วงเวลานั้น ทุกเสาร์-อาทิตย์มีตลาดนัดที่นั่น ภายหลังย้ายมาจัดสร้างที่สวนจตุจักร ที่สนามหลวง ก็มีการจัดโซนขายสัตว์เลี้ยงและนก ไม่ใช่แค่นกเลี้ยงอย่างเดียว มีนกป่าด้วย)

ผมศึกษาเรื่องนกมานาน นกพวกนี้ไม่ใช่นกเมืองไทย แต่เป็นนกที่มาตามฤดูกาล

กมล โกมลผลิน นักดูนก-นักวาดภาพนกวัย 73 ที่อนุรักษ์และมอบชีวิตให้กับป่าเขาลำเนาไพร

แล้วพ่อค้าก็ไปดักจับมาขายหรอครับ

เขาไม่รู้หรอก คงคิดว่านกเมืองไทย แต่สะดุดตาผม ก็ไปเก็บมา ไม่มีใครสนใจ นกตายแล้วเขาก็ทิ้ง

(ผมว่าวิธีการเก็บซากนกมาเป็นแบบในการวาดภาพ ทำให้อาจารย์กมลเรียนรู้เกี่ยวกับโครงร่าง ข้อต่อกระดูก การเรียงซ้อนของขนในแต่ละส่วน สีสันที่มีการไล่เฉดสีสวยงาม และลวดลายเฉพาะของนกแต่ละชนิด ทำให้ภาพวาดนกของอาจารย์ทุก ๆ ภาพมีชีวิตชีวา สมจริง)

อาจารย์ไปศึกษาของจริงที่สวนสัตว์เขาดิน เพื่อให้รู้จักกายภาพนกทุกแง่มุมด้วยใช่ไหมครับ 

ใช่ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือผมเห็นจริง แล้วเขียนมันจริง ๆ เขียนตรงนั้นเลย เรานั่งกินข้าวในป่า น้ำไหล เราก็บันทึก มันไม่ได้เป็น Ornithology แต่บางครั้งก็เป็นนะ เพราะว่าผมต้องบันทึกด้วย

ผมว่าการดูนกสนุก คุณจะดูช้างได้ยังไง ก็ผมอยู่ในสวน มันมีแต่กระรอก กระแต นก แล้วผมก็ต้องไปแอบนั่งอยู่ในสวน ตอนนั้นไม่มีกล้อง แต่ได้เห็นนก มันก็ซึมซับ อีกอย่างผมเป็นคนชอบศิลปะ ก็ประสานรวมกัน

ผมทำด้วยความสุข อย่างเล่มนี้ (หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand) ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะจ้างยังไง แต่ผมเอาสมุดสเก็ตช์ภาพนี้ให้เพื่อนฝรั่งดู เขาบอกมาทำพวกนี้เลย ไม่เคยเห็นใครทำแบบนี้มาก่อน

กมล โกมลผลิน นักดูนก-นักวาดภาพนกวัย 73 ที่อนุรักษ์และมอบชีวิตให้กับป่าเขาลำเนาไพร

ขายต่างประเทศด้วยใช่ไหมครับ 

ใช่ เขาทำเป็นภาษาอังกฤษ เพราะยุคนั้นคนไทยไม่สนใจ เจ้าของหนังสือกับผู้เขียนก็ตกลงกันทำเป็นภาษาอังกฤษ แล้วค่อยมีฉบับภาษาไทยออกมาทีหลัง สรุปคือไทยก็ก็อปปี้เอาจากต้นฉบับ (หัวเราะ)

สมุดพวกนี้ไซส์แรกเป็นสมุดบันทึกของไทย บันทึกช่วยจำ มีเส้นบรรทัด แต่ผมก็เขียน ส่วนเล่มนี้ซื้อจากอังกฤษ สมัยก่อนหาซื้อสมุดไม่มีเส้นยาก นี่คือสมุดเล่มแรกที่ออกฟิลด์ เพราะขนาดพอดีกับกระเป๋ากางเกง พกพาง่าย ใช้งานได้สะดวกดี แล้วผมก็เขียนสีไม้ด้วย สีน้ำด้วย ตอนนั้นผมชอบไปศึกษาที่เขาดินนะ สเก็ตช์รูปร่าง

กมล โกมลผลิน นักดูนก-นักวาดภาพนกวัย 73 ที่อนุรักษ์และมอบชีวิตให้กับป่าเขาลำเนาไพร
กมล โกมลผลิน นักดูนก-นักวาดภาพนกวัย 73 ที่อนุรักษ์และมอบชีวิตให้กับป่าเขาลำเนาไพร

การทำงานภาคสนามของอาจารย์ มีกล้องหรืออุปกรณ์ช่วยไหม หรือดูด้วยสายตา

มีครับ นี่คือกล้องส่องทางไกล อุปกรณ์ที่คนดูนกต้องมี คนเดินป่าสมควรมี เพราะนกเคลื่อนไหวและบินอยู่ไกล กล้องนี้คือสิ่งที่ช่วยให้เราเห็นรูปร่างมัน ผมใช้กล้องนี้ก่อนนะ มันมีอารมณ์ที่เรียกว่าแพสชันที่ต้องการเก็บรูปนก แต่ผมไม่ได้สนใจกล้องถ่ายรูป เพราะผมเขียนแล้วผมมีความรู้สึก เส้นมันขาดหรือเยอะไปหน่อยก็ลดทอนลงมา ผมไม่ได้ต้องการความเหมือนจริงเป๊ะ แต่ถ้ามาใช้งานจริงจังแบบนี้ ผมก็วาดให้เหมือนจริงเป๊ะได้เหมือนกัน

สมัยก่อนรูปถ่ายเป็นสีขาวดำ จึงไม่ค่อยเป็นที่พึ่งเท่าไหร่ ที่สำคัญ ออกไปดูจริง ๆ มันมีรสชาติให้สเก็ตช์ ก่อนหน้านั้นผมก็สเก็ตช์อยู่บ้าน ออกไปดูบ้าง แต่พอทำเรื่องหนังสือ ผมก็มีทุนที่จะออกเดินทาง

ระหว่างเดินทาง อาจารย์ทำอาชีพอื่นด้วยไหม

ผมทำสมัยเรียน ผมเรียนศิลปากรตั้ง 8 ปี จนผมเป็น Super Senior

(จริงอยู่ว่าอาจารย์กมลจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่อาจารย์กลับเลือกไปทำงานบริษัท เริ่มต้นอาชีพจากกราฟิกดีไซเนอร์ ผันมาเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ จิวเวอรี่ดีไซเนอร์ และสุดท้ายจบที่ ปตท. แม้จะผ่านงานหลายรูปแบบ แต่ไม่มีสักช่วงเวลาที่อาจารย์ทิ้งความสนใจในการวาดนกและสัตว์ต่าง ๆ)

ระหว่างทำงานทิ้งเรื่องนกไปไหมครับ (ผมสงสัยในความแปลกแยกระหว่างงานต่าง ๆ ที่อาจารย์ทำ)

นี่ไงนก ยังเป็นนกอยู่ (อาจารย์หยิบผลงานออกแบบจิวเวอรี่รูปนกมาวางข้างหน้า)

มันเป็นตลับ มีบางอันเป็นรูปแมว ผมก็นั่งดูมันทุกวันเพื่อรำลึกความหลัง ตอนที่เข้าไปสมัครงาน เขาให้ทดสอบ เอากล่องทองเหลืองเป็นรูปวงรีแบบนี้มาให้ ต้องการให้สร้างรูปสัตว์บนฝากล่อง แล้วเอากล่องไปตั้งบนโต๊ะเครื่องแป้ง แล้วผมก็ปั้นรูปแมวนอน แหม่มบอกว่า มาทำงานพรุ่งนี้เลย สรุปก็ได้งานนั้น 

กมล โกมลผลิน นักดูนก-นักวาดภาพนกวัย 73 ที่อนุรักษ์และมอบชีวิตให้กับป่าเขาลำเนาไพร

ต่อมาพรรคพวกชักชวนไปทำงาน ปตท. เป็น Public Relations Center ผลิตสิ่งพิมพ์ ช่วงเวลานั้นผมได้ทุนจากหลายประเทศ และเป็นประธาน Bangkok Bird Club สรุปแล้วไปเรียน Conservation Education ที่อังกฤษ สนุกดี มันก็อยู่ในวงการนี้ เอาความรู้ที่เกี่ยวกับนกมาสอนคน ในยุคนั้นก็โปรยเมล็ดพืชไว้ หว่านใหญ่เลย แล้วมันก็เห็นผล 

ตอนอยู่อังกฤษ ผมว่าเขาเป็นชาติเดียวในยุโรปที่สนใจเรื่องนกในยุคนั้น เขาทำ Education Center ได้ดีมาก ผมก็นำความรู้นี้กลับมาพูดให้องค์กรฟังว่า นกนำคนไปรู้จักธรรมชาติ เพราะไม่ได้อยู่ในป่าอย่างเดียว ในน้ำก็มี เมื่ออนุรักษ์น้ำก็เท่ากับอนุรักษ์ Wetland ที่ใช้เป็นอ่างเก็บน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำด้วยเหมือนกัน

กมล โกมลผลิน นักดูนก-นักวาดภาพนกวัย 73 ที่อนุรักษ์และมอบชีวิตให้กับป่าเขาลำเนาไพร

อาจารย์ค้นพบนกพันธุ์ใหม่หรือสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ บ้างไหมครับ

มี ๆ พวกผมนี่แหละที่เป็นพวกลุยไปหาข้อมูลนกใหม่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นนกหิมาลัยย้ายถิ่นมา มันเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติเหมือนมดหรือสิ่งมีชีวิตที่ต้องเคลื่อนย้ายถิ่น เหมือนพวกวัวกระทิงเพื่อหาทุ่งหญ้างาม ๆ มันไม่สนใจเขต สนใจแค่ว่าตรงไหนเป็นแหล่งอาหาร เมื่อตรงนี้มีแหล่งอาหารดีก็มุ่งหน้าไป มันเลยทิ้งแหล่งที่มันหากินไว้ข้างหลัง แล้วก็ย้ายเคลื่อนไปเคลื่อนมา ฉะนั้น นกที่มาบ้านเราในฤดูหนาว มันก็หนีความเย็น หนีความอัตคัดเรื่องอาหาร เช่น ผลไม้ฤดูนี้ไม่เต็มที่ก็ย้าย มีสองทาง ไม่มีใครย้ายตะวันออก-ตะวันตกหรอก เพราะว่าเขตหนาวอยู่ข้างบน เขตร้อนอยู่ข้างล่าง ขืนย้ายจากตะวันออกไปตะวันตกก็คืออากาศเขตเดียวกัน เหมือนคุณย้ายจากฮอกไกโดไปตุรกี 

ครั้งหนึ่ง อาจารย์เป็นผู้ค้นพบนกชนิดใหม่ในไทยด้วย

นกปากนกแก้วหัวสีส้ม (Rufous-headed Parrotbill) ผมไปสำรวจพบที่แม่เมย ผมเจอนกตัวนี้ก่อนแล้วก็โน้ตวาดรูปลงในสมุดสเก็ตช์ จากนั้นก็ส่งให้ฟิลลิปดู จากรายละเอียดที่ผมเห็นและบันทึกไว้น่าจะเป็นนกใหม่ หลังจากนั้นผมขึ้นไปอีกทีที่จุดเดิมก็ยังเจอ ห่างกันตั้งหลายปีนะ ห่างเป็นสิบ ๆ ปี นกสายพันธ์ุนี้ก็ยังปรากฏอยู่

ในยุคนั้นไม่มีคนออกไปดูนกกันพรึ่บพรั่บเหมือนยุคนี้ ตามันน้อย เดี๋ยวนี้ตามันถี่ เจอนกอะไรใหม่ก็หยิบกล้องมาถ่ายไว้ก่อน มันง่าย แต่สมัยก่อนเจอแล้วจดบันทึกถึงจะมีหลักฐาน ใช้วิธีเขียนในสมุดโน้ตเป็นหลักแล้วก็เขียนบันทึกรายละเอียดไว้ เช่น พบที่ไหน สูงจากพื้นดินเท่าไหร่ พฤติกรรมเป็นยังไง ปกติกระโดดไปกระโดดมาหรือว่าไต่ตามกิ่งไม้

เราต้องออกไปดูนก เพราะถ้าดูจากหน้าจอมาเขียนก็จะไม่รู้บุคลิกของนกที่แท้จริงใช่ไหมครับ

ใช่ จะไม่รู้จักเลย นกบางตัวกระโดด บางตัวเดิน เช่น นกเอี้ยงเดินได้ นกเขาเดินได้ แต่นกกระจอกไม่เดินทีละก้าว มันกระโดดเอา เพราะฉะนั้น การออกไปสังเกตนกพวกนี้ในธรรมชาติมันสำคัญมาก 

อาจารย์ว่ากิจกรรมดูนกกับคนรุ่นใหม่ จะมีต่อไปเรื่อย ๆ ไหม แล้วมีอะไรที่แตกต่างจากเดิมบ้าง

คิดว่าจะยิ่งคึกคักขึ้นนะ และแตกต่างออกไปตามยุคสมัย สมัยนั้นดูเอาความเพลิน เป็นความสุข ผมเสาะหาแล้วก็จดลงสมุด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่ดูแล้ว มันต้องตะเกียกตะกายเพื่อ Record ของตัวเองในโซเชียลมีเดีย

เหมือนเล่นเกมสะสมแต้มไหมครับ

คล้าย ๆ มีส่วน มันไม่ใช่แค่แลกเปลี่ยนนะ ของฝรั่งเขามี สถานะของใครที่ได้มาก ก็จะเป็นคนโพสต์นัมเบอร์ที่เขาเห็น ไม่ใช่แค่เมืองไทยนะ World Species นกชนิดที่เห็น ที่เขาเดินทางไปทั่วโลก

อาจารย์มีรูปแบบการจัดทริปดูนกยังไงบ้างครับ

(คุณปุ๊ ภริยาอาจารย์ มาร่วมพูดคุยด้วย) เราโฆษณาก่อน มันมี 2 แบบ บางกรณีก็มีคนเข้ามาติดต่อเอง บางกรณีก็มีบริษัทที่จัดแล้วส่งมาให้เรา ก็จัดแจงติดต่อกับผู้จัดการ ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ เสร็จแล้วเขาก็ประกาศโฆษณาจนครบจำนวน แต่ว่าช่วงนี้ขาลงแล้วนะ โควิดมันเยอะ สมัยก่อนนี้สนุก เราเคยไปออกงานต่างประเทศด้วย

เรียกได้ว่าชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับธรรมชาติและการดูนก

(คุณปุ๊) ช่วงที่นำดูนก อาจารย์จะมีอีกรูปแบบหนึ่ง คือเขาจะเป็นคนนำดูนกจริง ๆ ไม่ใช่ศิลปิน 

แสดงว่าช่วงนั้นอาจารย์ไม่ได้หยิบสมุดไปวาดเลย นำดูนกอย่างเดียว

(คุณปุ๊) ก็หยิบนะ พอเวลาเจอพวกแมลง เขา Scope แล้ว ลูกค้าก็ดูวนไป อาจารย์ก็วาดบ้าง ในยุคแรกที่ไปอยู่กับอาจารย์กมลบ่อย ๆ อาจารย์จะนำเด็กรุ่นใหม่ ๆ ดูนก นำเด็กในชมรมของสมาคมออกไปดูนก นั่นคือวิธีการสอนให้รักธรรมชาติโดยมีนกเป็นตัวนำ แล้วอาจารย์กมลก็ยังเป็นไกด์พาต่างชาติดูนกด้วย อันนี้เป็นธุรกิจดำรงชีพ ซึ่งช่วง พ.ศ. 2530 – 2540 การเป็นไกด์นำคนดูนกไม่ใช่ง่าย ๆ ต้องรู้จักเสียง ตาต้องไว แต่ตอนนี้เลิกแล้ว เพราะลูกค้าไวกว่าเรา เราเริ่มมองไม่เห็นแล้ว (หัวเราะ) ไม่ค่อยเต็มที่แล้ว แต่อย่างน้อยเราก็พาเขาเข้าไปในจุดที่ต้องการได้

การดูนกให้อะไรกลับคืนแก่อาจารย์บ้างครับ

ให้มากเลย ให้สัจจะ ยกตัวอย่าง ต้นไม้ต้นหนึ่งผึ้งมาทำรังเต็มเลย มีกล้วยไม้ ผมต้องใช้เส้นทางนี้ผ่านประจำ 2 – 3 ปีต่อมา ฟ้าผ่าต้นไม้ใหญ่ตาย ใบค่อย ๆ ร่วง ไม่นานก็เริ่มผุกร่อน นกหัวขวานมีหน้าที่ไปทำให้ตอผุเปื่อยสลาย นกหัวขวานไม่ได้ทำหน้าที่จริง ๆ โดยตรงของมัน แต่ดำรงชีพเพื่อเจาะหาหนอนที่กำลังกินไส้ต้นไม้ มันก็เป็นไปตามนั้น ที่นี้มันก็หมุนเวียน ไม้ที่มันเจาะเป็นขุย ๆ หนอนด้วงที่เป็นอาหารนกหัวขวาน ก็ทำให้ต้นไม้ทั้งต้นที่เคยยืนตระหง่านทรุดลงกับดิน ค่อย ๆ กร่อนลงไป กลายเป็นปุ๋ย เมล็ดพืชที่อยู่ใกล้ ๆ ก็โตขึ้น

สรุปแล้วนี่คือเรื่องจริง วัฏฏะของชีวิต ไม่มี Waste ไม่มีสูญเปล่า ในธรรมชาติไม่มีสัตว์นอนตายจนเน่าหรอก เพราะมีสัตว์อีกชนิดเข้าไปกินเนื้อเสมอ นอกจากแบคทีเรียแล้วไม่เคยเหลือ คุณดูสิ มีแร้งชนิดหนึ่งที่กินแม้กระทั่งกระดูกคนตายที่หิมาลัย มันกินกระดูกใหญ่ ๆ จากซากที่หมาป่ากินไม่หมด โดยบินขึ้นไปสูง ๆ พอเห็นหินก้อนใหญ่ ก็ปล่อยกระดูกลงมาให้แตกเพล้งเพื่อกินไขกระดูก นี่คือความละเอียดที่พบเห็นจากการสังเกตเฝ้ามองธรรมชาติ

ได้เห็นธรรมชาติอย่างถ่องแท้ ได้เห็นวัฏฏะ ได้เห็นการบุบสลาย ดับแล้วก็เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา

เรียกว่าสัจจะ สัจธรรม มันมีตัวอย่างที่สอนเราได้หมดเลย เช่น ต้นไม้ต้นหนึ่ง คุณรู้จักนกไต่ไม้ใช่ไหม นกไต่ไม้ไม่เคยเอาหัวขึ้น จะเอาหัวไต่ลง ในขณะเดียวกันนกหัวขวานก็ไม่เคยเอาหัวไต่ลง เอาหัวขึ้นแล้วมันก็เป็นแบบนี้ ผมเคยเขียนรูปนี้ด้วย ไอ้นกหัวขวานมาทางนี้ นกไต่ไม้ไปทางนู้น เพราะว่าเปลือกไม้มันเผยอกันคนละทิศ แต่ข้างล่างนกไต่ไม้มันก็กิน เพราะมีหนอนแอบ ส่วนนกหัวขวานก็กินหนอนข้างบน มันคือการ Sharing ในต้นไม้ต้นเดียว

ทราบมาว่าอาจารย์มีโปรเจกต์จะทำหนังสือรวบรวมภาพวาดนกและธรรมชาติ โดยคัดเลือกจากสมุดที่อาจารย์วาดสะสมมาตลอดทั้งชีวิต ทำไมอาจารย์ถึงมีความคิดที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ครับ

ไม่ได้ลุกขึ้นมา (หัวเราะ) นั่งคิดนอนคิดมานานแล้ว

ด้วยเริ่มแรกผมสเก็ตช์พวกนี้ก็เป็น Data Information เพื่อเอามาขยายเป็นรูปที่จะเพนต์ ทีนี้สะสมมาเรื่อย ๆ ไป ๆ มา ๆ มีมากถึง 63 เล่ม มันก็เป็นงานและอาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนเข้าหาธรรมชาติโดยวิธีนี้ก็ได้ ไม่ต้องมีฝีมือมาก่อน จริง ๆ แล้วผมอยากให้วัฒนธรรมการเขียนรูปสืบทอดไปจนถึงเด็กรุ่นใหม่ด้วยซ้ำ การมองแล้วจดบันทึก ซึ่งตอนนี้มันกำลังจะหายไป ก็เลยทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะว่าในความเป็นจริง การวาดรูปกับการถ่ายรูปไม่เหมือนกัน พอคนมาเรียนถ่ายรูปปุ๊บ ก็จะขี้เกียจกลับไปวาดรูป หนังสือเล่มนี้ก็อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้เยอะขึ้น

หนังสือเล่มนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนออกไปหาธรรมชาติ สัมผัสมันด้วยตา บันทึกโดยการวาด

อีกอย่างหนึ่ง มันเป็นโลกส่วนตัวของคุณ คุณจะเขียนอะไรก็ได้ จะเขียนตัวหนังสือประกอบกับรูปก็ได้ นอกจากใช้เพื่อความสุขของตัวเอง ยังใช้ฝึกบันทึก และเป็นประโยชน์ต่อฝั่งวิทยาศาสตร์ ผมคาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือที่นักดูนกรุ่นใหม่ นักวาด ต้องมีสะสม เพราะมันชี้นำและจุดประกายมาก เป็นเหมือนคัมภีร์ดูนกเล่มหนึ่ง

อาจารย์คาดว่าการอนุรักษ์นกและธรรมชาติจะมีทิศทางไปทางใด

ที่น่าเป็นห่วงก็คือรัฐบาลที่ชอบไปสัญญาว่าจะทำนี่ทำนู่น เขาคิดว่ามันจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้โฟกัสที่การอนุรักษ์ แต่ไปโฟกัสที่การพัฒนาการท่องเที่ยวแล้วเพิ่ม Facility ทำให้ Habitat ของนกหายไป เช่น ป่าแหว่ง ทำเท่าไหร่ก็ทุเรศใช่ไหม พูดง่าย ๆ เหมือนฟันหลอ นึกภาพมันฮามากเลยนะ ป่ามันไม่ติดกัน เขาเรียกว่า Fragment

การพัฒนากับการอนุรักษ์มักจะสวนทางกันใช่ไหมครับ

ใช่ พอคุณยิ่งทำอะไรเยอะ ยิ่งมีกิจกรรมมาเสริมเศรษฐกิจ ก็เลยกลายเป็นว่าเพิ่มถนนเข้าไป ทำรีสอร์ตเข้าไป ทำให้ป่าถูกจำกัดพื้นที่การใช้ชีวิตสัตว์ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง

อาจารย์อยากบอกอะไรกับคนรุ่นหลังหรือรุ่นใหม่ในเรื่องการดูแลธรรมชาติหรือผืนป่าบ้าง

ถ้านึกดูดี ๆ คนไม่ได้หยุดที่รุ่นเรา จะมีคนรุ่นใหม่ไปเรื่อย ๆ ขอให้คิดก่อนเสมอ เช่น การใช้พลาสติก การทิ้งขยะ อย่าคิดว่าบ้านเราบ้านเดียวจะเป็นอะไรไป ถ้าเห็นแก่ตัว เราก็จะไม่คิดถึงสิ่งเหล่านี้ เราควรเก็บรักษาธรรมชาติไว้ก่อน เอาไว้ใช้ประโยชน์ยามจำเป็นที่สุด ผมอยากให้มีการควบคุม ไม่ให้เกิดการเบียดเบียนธรรมชาติหรือเบียดเบียนป่า

ตลอดการสนทนา นอกจากใบหน้าอาจารย์ ก็มีแต่ภาพวาดในสมุดสเก็ตช์ซึ่งวางเรียงรายบนโต๊ะที่สายตาผมมองดูอยู่ตลอด จะมีเป็นบางครั้งที่หันไปชื่นชมภาพวาดชิ้นใหญ่ที่ประดับบนผนัง เมื่อสมควรแก่เวลา ผมจึงขอให้อาจารย์สาธิตการวาดนกให้ชมสักภาพ แน่นอนว่าอาจารย์ไม่ปฏิเสธ เส้นดินสอขึ้นโครงอย่างฉับไว และพู่กันจุ่มสีน้ำปาดลงกระดาษเพียงไม่กี่ครั้ง นกตัวงามก็ปรากฏโฉมให้เห็น ช่างน่าตื่นตาอะไรอย่างนี้ ระหว่างทีมงานกำลังชื่นชมการสาธิตภาพวาด ผมได้ถือโอกาสสุดท้ายนี้กวาดสายตาไปรอบบ้าน นี่ไม่ใช่เพียงบ้านที่อบอุ่น แต่เสมือนแกลเลอรี่ขนาดกะทัดรัดเลยทีเดียว ภาพวาดนกและสัตว์ป่าในธรรมชาติถูกประดับลงทุกพื้นที่ว่างได้อย่างเหมาะเจาะ 

“แปลกจังครับอาจารย์ ผมคิดว่าจะได้เห็นนกสตัฟฟ์ตั้งประดับแบบฉากบ้านผู้เชี่ยวชาญในหนังฝรั่งซะอีก”

อาจารย์ยิ้มเล็กน้อย ก่อนจะหันหลังไปเปิดตู้ แล้วหยิบวัตถุในกระดาษห่ออย่างดีมา 2 – 3 ชิ้น บางชิ้นใหญ่เท่ากับมะม่วงผลโต ๆ แต่พอเปิดออกมาเท่านั้น ทำเอาทีมงานร้องว้าว กับร่างนกที่ยังสมบูรณ์ทั้งรูปทรงและขนสวย เพราะผ่านกรรมวิธีรักษาสภาพมาแล้ว

“เขา Skin ไม่ใช่ Stuffed นะ เป็นตัวที่เขาเอาส่วนข้างในออกหมดแล้ว”

ผมแอบมองท่าทีที่อาจารย์สัมผัสนกตัวนั้นอย่างทะนุถนอม แผ่วเบาราวกับยังมีชีวิต อาจารย์เก็บรักษาเสมือนสิ่งล้ำค่า เทิดทูนบูชา มากกว่าจะนำมาโอ้อวดใคร ๆ นั่นทำให้ผมมองเห็นความรักที่แท้จริง

 แน่นอนว่าผมยังยืนยันประโยคเดิม

“อาจารย์คงไม่รู้ตัวว่า อาจารย์ได้ขายวิญญาณให้กับนกและป่าเขาลำเนาไพรไปแล้ว”

The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!

Writer

Avatar

คณิต ภาพย์ธิติ

กราฟิกดีไซเนอร์เฒ่าอารมณ์ดี ที่พูดคุยกับโลกภายนอกผ่านภาพสีน้ำกับน้องโสร่งแดง ณ หุบเขาอันไกลโพ้น

Photographer

Avatar

ยุพดี สัตตะรุจาวงษ์

ช่างภาพจากคณะวิทยาศาสตร์ ผสมผสานงานศิลปะ มีใจรักการทำอาหารและขนม