“..แอบเก็บเธออยู่ใน heart, heart ข้างในหัวใจ จนมัน hurt, hurt ไม่รู้ว่าทำไม..”

เชื่อเหลือเกินว่าหากครั้งหนึ่งคุณเคยรอใครสักคนออน MSN หรือเคยเข้าไปส่องคนที่แอบชอบใน hi5 สนุกกับการเล่นเกมออนไลน์ในเว็บไซต์ Zheza คงต้องเคยฟังหรือร้องตามเพลงของ 3 สาวเฟย์ ฟาง แก้ว บ่อยๆ แน่นอน

นี่คือส่วนหนึ่งของผลิตผลจากค่ายเพลงที่เติบโตมาพร้อมกับกระแสโซเซียลมีเดีย ฉีกแนวตลาดดนตรียุคนั้นด้วยการนำศิลปินหนุ่มสาววัยทีนหลากหลายสไตล์กว่า 20 ชีวิต มาร้องเล่นเต้นจนเกิดเป็นกระแสฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง

แม้เวลาจะผ่านมานานนับสิบปี แต่ความโด่งดังของบทเพลงอย่าง รักฉันเรียกว่าเธอ, MSN (^_^ ), เด็กมีปัญหา, เหงาปาก, เสียใจแต่ไม่แคร์ หรือ รักต้องเปิด (แน่นอก) ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำไม่เปลี่ยนแปลง เพราะสำหรับใครหลายคนแล้ว เพลงเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากซาวนด์แทร็กในช่วงหนึ่งของชีวิต

Kamikaze Kamikaze Kamikaze

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนย้อนเวลากลับไปถึงช่วงเวลาแสนสุขกับKamikazeค่ายเพลงที่มีศิลปินอายุเฉลี่ยน้อยสุดของประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกุมหัวใจวัยรุ่นไทยได้เหนียวแน่น ผ่านมุมมองของ เอฟู-ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์ อดีต Executive Producer จิ๊บ-หทัย ศราวุฒิไพบูลย์ อดีต Vice President / Creative Director และ ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร อดีต Lyric Producer 3 คนเบื้องหลังที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมปลูกปั้นค่ายเพลงเล็กๆ นี้มาตั้งแต่ก้าวแรก

Kamikaze

1

ลิฟท์-ออย..บอยสเก๊าท์..เจมส์ 2007

เชื่อหรือไม่ว่า Kamikaze มีจุดเริ่มต้นมาจากซีดี K-Pop เพียงแผ่นเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 ในยุคที่เพลงร็อกกำลังเติบโต เพลงฮิพฮอพกำลังไต่ระดับชาร์ตขึ้นเรื่อยๆ

วันหนึ่งแนนนี่ Girly Berry ได้แวะมาหาเอฟู โปรดิวเซอร์ของวง พร้อมนำซีดีเพลงเกาหลี หน้าปกเขียนชื่อศิลปินว่า TVXQ มายื่นให้ เขายังจำได้ดีว่าแนนนี่ดูตื่นเต้นและปลาบปลื้มศิลปินกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ

แวบแรกที่เห็น เอฟูรู้สึกว่าวงนี้ช่างคล้ายกับบอยแบนด์ของ RS ยุคแรกๆ เลย กระทั่งเปิดฟังก็คิดว่าน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากเป็นเพลงป๊อปที่สนุก เหมือนได้ย้อนกลับไปในยุค *NSYNC หรือ Backstreet Boys เลยเกิดความคิดว่าแนวเพลงแบบนี้อาจเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่กำลังสนใจอยู่

พอดีกับที่เขาสนใจรายการ Morning Musume รายการไอดอลของญี่ปุ่น เลยอยากนำทั้งสองเรื่องมาต่อยอดเป็นโปรเจกต์อะไรสักอย่าง จึงปรึกษากับหัวหน้างาน ชมพู-สุทธิพงษ์ วัฒนจัง ผู้บริหารค่าย Melodiga และรองกรรมการอำนวยการสายงานธุรกิจเพลงของ RS ว่าอยากทำเกิร์ลกรุ๊ปเพลงป๊อปที่มีสมาชิกเยอะๆ และมุ่งเจาะตลาด Pre-Teen เป็นหลัก

เผอิญเป็นจังหวะเดียวกับที่ ซัน-อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล โปรดิวเซอร์อีกคน เริ่มอิ่มตัวกับงานเพลง อยากหันมาทำอะไรแปลกใหม่บ้าง จึงเสนอแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมา หวังเป็นศูนย์รวมของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเริ่มใช้ชีวิตอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ชมพูคิดว่าหากเลือกเจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่นแล้วก็น่าจะทำให้ใหญ่ไปเลย จึงมัดทั้งสองโครงการแล้วนำเสนอต่อผู้บริหารพร้อมกันทีเดียว

ความจริง RS เป็นค่ายเพลงที่ทำงานเพลงวัยรุ่นมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จากยุครวมดาวสู่ไอดอลยุค 90 ที่มีศิลปินวัยทีน อย่าง ทัช, เต๋า สมชาย, หนุ่ม ศรราม หรือ นุ๊ก สุธิดา เป็นหัวขบวน และถูกส่งไม้ต่อมาเรื่อยๆ จนถึง D2B, ฟิล์ม, Girly Berry หรือ Nice 2 Meet U เพียงแต่ที่ผ่านมาทิศทางการตลาดเน้นไปยังกลุ่มตลาดวงกว้าง หรือถ้าเจาะกลุ่มก็จะแบ่งตามแนวเพลงเช่นป๊อป ร็อก แจ๊ส มากกว่าแบ่งตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

“ช่วงนั้นเราก็ไปทำรีเสิร์ชว่ากลุ่มผู้ฟังเป็นใคร จำได้เลย กำหนดกันว่าน้องเชอรี่เรียนเซนต์โยเซฟ ไลฟ์สไตล์คือเรียนหนังสือ กลับบ้านเปิดคอมพิวเตอร์ เปิด MSN คุยการบ้านกับเพื่อน พอจบแล้วก็ดูซีรีส์เกาหลี สมัยนั้นยังเป็นซับเถื่อน เด็กพวกนี้ไม่กินข้าวหรือดูทีวีกับพ่อแม่แล้ว ละครหลังข่าวก็ไม่ดู เขาเล่นเกม Audition, PangYa กัน” เอฟูเล่าให้ฟัง

ทว่าด้วยโมเดลธุรกิจที่ต่างจากเดิมมาก ทำให้เขาขายงานกับผู้บริหารไม่ผ่านเสียที เดือนหนึ่งผ่านไปก็ยังไม่คืบหน้า กระทั่งชมพูต้องเอ่ยปากกับ เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เจ้าของ RS ว่า “เอาอย่างนี้แล้วกันเฮีย ลิฟท์-ออย บอยสเก๊าท์ เจมส์ 2007” เพียงประโยคเดียวเท่านั้น เฮียฮ้อถึงกับยิ้มออกมาและผู้บริหารก็เคาะผ่านเลย

จนนำไปสู่จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนภาพลักษณ์และแบรนด์ของ RS สู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

Kamikaze Kamikaze

2

‘Kamikaze’ แสบ ใส ซ่า

ค่ายเพลงใหม่ก่อร่างขึ้นประมาณกลางปี 2549 ภายใต้ชื่อ Kamikaze 

ชมพูเคยอธิบายที่มาของชื่อนี้ว่า พอได้ยินแล้วรู้สึกว่าบ้าบิ่นดี ทำให้นึกถึงหน่วยกล้าตายสมัยสงครามโลก เป็นความกล้าหาญเพื่อประเทศชาติ ตรงกับคอนเซปต์ที่วางไว้ว่า นักร้องในค่ายต้องมีความ ใส ซ่า บ้าบิ่น เก่งเรียน และเก่งเล่น

ช่วงแรกๆ ของการเตรียมการ ทีมงานเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ มีสมาชิกไม่กี่คน โดยศิลปินกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในสังกัดใหม่คือ ‘เฟย์ ฟาง แก้ว’ ซึ่งเดิมทีเอฟูตั้งใจผลักดันให้เป็นศิลปินน้องใหม่ของค่าย Melodiga

นอกจากนี้ ยังมีการค้นหาศิลปินหน้าใหม่เพิ่มเติม โดยกำหนดโจทย์ในฝันขึ้นมาว่าอยากได้ศิลปินที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นตัวของตัวเอง นำสมัย เรียนหนังสือดี สื่อสารได้หลายภาษา เพราะคนเบื้องหวังแอบหวังให้ศิลปินกลุ่มนี้เป็นเสมือนตัวแทนไอดอล T-Pop ที่สามารถแข่งกับ K-Pop และ J-Pop ได้

ทีมคัดเลือกจึงไปมองหาเด็กวัยรุ่นที่ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสอนร้องเพลง หรือแม้แต่ญาติพี่น้องของศิลปิน จนได้เด็กมาคัดเลือกนับร้อยชีวิต

เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ หวาย-ปัญญริสา เธียรประสิทธิ์

เอฟูยังจำได้ดีว่าวันแรกที่หวายเข้ามาคัดเลือกยังไม่โดดเด่นมากนัก คือพอร้องได้ เต้นได้ แต่ภาพที่โดนใจทีมงานที่สุดคือ หวายกำลังยืนเถียงกับคุณแม่อยู่หน้าบริษัท

“เขาไม่ได้เถียงแบบก้าวร้าว แต่เป็นลักษณะของเด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งปกติจะไม่ค่อยเห็นในเด็กไทย จำได้ว่าวันนั้นเสียงดังมาก พอพี่พูออกมาเห็นก็บอกเลยว่า นี่แหละเด็กค่ายเรา”

แต่การคัดเลือกบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังเช่นการเลือกศิลปินชาย ซึ่งรุ่นแรกมี พายุ คลาร์ค ที่โดดเด่นเรื่องการเต้น กับวง K-OTIC ซึ่งประกอบด้วยเด็กหนุ่ม 5 คน

“เราคัดไม่ถูกเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัยด้วย เลยใช้วิธีเปิดเพลงเพื่อดูว่าเด็กคนไหนเต้นโดดเด่นสุด วันนั้นผมชวนเฟย์ ฟาง แก้ว ไปดูด้วย แล้วก็บอกว่าเธอเก็ตคนไหนเลือกคนนั้นเลยนะ ปรากฏว่าได้มาคนเดียวคือ ป๊อปปี้ พอเลือกได้ก็ถามป๊อปปี้ว่ามีเพื่อนไหม เพราะเราคิดว่าเพื่อนก็ต้องชอบอะไรเหมือนกัน เขาก็พาโทโมะมา ผมก็ให้เฟย์ ฟาง แก้ว ช่วยเลือกอีก เด็กก็บอกว่าคนนี้เจ๋ง คือเราต้องให้เด็กวัยรุ่นด้วยกันดูกันไง เพราะเขาจะรู้ว่าใครได้หรือไม่ได้”

และอีกศิลปินกลุ่มที่เข้าร่วมทีมในฐานะพี่ใหญ่คือ โฟร์-มด ซึ่งย้ายมาจากค่าย ID Record ของ เจมส์-เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ที่เพิ่งปิดไป

“ความจริงโฟร์-มดเราเป็นคนดึงเข้ามา แต่ไม่ได้ทำ โฟร์เจอจากโฆษณา One-2-Call ตัวที่เป็นเธอวางก่อนดิ จำได้ว่าเด็กคนนี้หน้าตาประหลาดมาก แต่เด็กทุกคนที่รู้จักบอกเป็นเสียงเดียวเลยว่าคนนี้น่ารักจังเลย เราก็ไม่เข้าใจ จริงเหรอ ก็เรียกเข้ามาคุย ฝึกจนเป็นศิลปิน ดังนั้น พอย้ายมา Kamikaze ก็เลยทำงานไม่ยากนัก”

หลังคัดเลือกอยู่พักใหญ่จนได้เด็กกลุ่มแรก 22 คน ก็เข้าสู่ขั้นตอนของการละลายพฤติกรรม โดยนำเด็กทุกคนรวมตัวกันเพื่อฝึกซ้อม พูดคุย ปรับมุมมอง เพื่อดึงศักยภาพของศิลปินแต่ละคนออกมาเต็มที่

เรื่องหนึ่งที่จิ๊บย้ำกับศิลปินใหม่ตั้งแต่แรกคือ ไม่มีใครสนใจคนที่เหมือนตัวเอง ดังนั้น ถ้าอยากเป็นไอดอล อยากเป็นผู้นำ ต้องมีความสามารถพอที่ผู้ชมจะรู้สึกชื่นชอบได้ ต้องมีสไตล์ มีภาพลักษณ์ที่ดี ต้องมีวินัย มีทุกอย่างเกินกว่าที่คนวัยเดียวกันจะเป็นได้ เพราะถ้าทำได้เท่าคนอื่น ก็ไม่ต่างจากเพื่อนของเขา แล้วใครจะอยากติดตามหรือสนับสนุน

“การเป็นไอดอลใครสักคน ความคิดสำคัญมากๆ เราจะเห็นเลยว่าศิลปินที่ไปต่อได้ไกลๆ อยู่ที่วิธีคิดหมดเลย เพราะอย่างอื่นเราห่อหุ้มได้ แต่เราขึ้นเวทีไปกับเขาไม่ได้ บางครั้งในการสัมภาษณ์เรามีคำตอบยัดให้เลยด้วย แต่เมื่อออนสเตจ ความจริงมันจะปรากฏ เพราะฉะนั้น เขาต้องแบบเป็นคนนั้นได้จริงๆ ไม่เช่นนั้นก็เป็นแค่แฟชั่น แล้วก็จากไป”

นอกจากใช้เรียนใช้ฝึกซ้อมแล้ว ห้องเวิร์กช็อปยังมีประโยชน์อื่นอีก คือเป็นพื้นที่สำหรับสังเกตพฤติกรรมของเด็กว่าเป็นอย่างไร ใครสนิทสนมกับใคร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศิลปินให้เหมาะสมที่สุด เช่นบางคนควรจะออกเดี่ยวมากกว่า หรือบางคนก็น่าสนใจ แต่ถ้าออกเป็นศิลปินกลุ่มจะดีกว่า

“การเป็นศิลปินเดี่ยวไม่ได้หมายความว่าคุณจะดูดีเกินเบอร์คนอื่น บางคนหน้าตาหล่อมาก แต่ถ้าออกเดี่ยวจะไม่หล่อ คือมันเป็นเรื่องของเคมี เหมือนสัญชาตญาณที่เรารู้เอง” จิ๊บขยายความ

เมื่อกระบวนการปรับทัศนคติเสร็จสิ้นทุกคนก็แยกไปทำงาน ก่อนส่งกลับมายังชมพูอีกทีเพื่อเคาะครั้งสุดท้าย

เพลง ขัดใจ เป็นเพลงแรกที่เขียนขึ้น โดยเริ่มจากการพูดคุยกับเด็กๆ ซึ่งแต่ละคนมักมาระบายเรื่องที่พ่อแม่ชอบห้ามนั่นนี่ให้ฟัง เพลงนี้จึงเหมือนเป็นการบอกว่า อย่ามาขัดใจ สะท้อนความเป็นขบถของเด็กๆ ได้อย่างดี

ทว่าเพียงเพลงแรก เอฟูก็รู้แล้วว่างานนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด…

“วันที่อัดเพลงเราเพิ่งมารู้ว่า K-OTIC ที่เป็นคนต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ร้องเพลงภาษาไทยไม่ได้ เต้นได้อย่างเดียวเลย คือเวลาเจอกันมันเต้นโชว์ตลอด แล้วพอร้องก็ร้องเพลงสากลทุกที เราก็ชอบ จำได้เลยว่าวันนั้นภาพในอนาคตมันลอยขึ้นมาเลยว่าต่อไปจะเป็นยังไง นั่งอัดไปน้ำตาแทบไหล แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ร้องไปแบบนั้น

“อีกเรื่องที่ยากมากคือการยัดเด็กยี่สิบกว่าคนเข้าห้องอัด แล้วแต่ละคนก็ต้องแสดงคาแรกเตอร์ออกมา พอคนที่เป็นร็อกเราก็ต้องทำดนตรีให้เป็นร็อกตาม แล้วก็แบ่งเนื้อยากมาก เพราะเราไม่เคยทำคนเยอะแบบนี้มาก่อนในเพลงเดียว”

จากเพลงแรกก็มาสู่เพลงเดี่ยวของแต่ละศิลปิน มีการกระจายงานไปยังทีมโปรดิวเซอร์ต่างๆ เช่น ก๊อปดูแลโฟร์-มด ซันดูแลขนมจีนกับมิลา ส่วนเอฟูดูแลเฟย์ ฟาง แก้ว, K-OTIC และพายุ เพื่อให้งานออกมาเร็วที่สุดก่อนถึงวันเปิดค่าย

ขณะที่ฝั่งครีเอทีฟก็มีภารกิจหลักในการกำหนดคาแรกเตอร์ของศิลปินแต่ละคนให้เด่นชัด

จิ๊บอธิบายว่า ทุกเรื่องล้วนหยิบมาตัวศิลปิน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนคนหนึ่งจะสวมบทบาทเป็นอีกคนตลอดเวลา ก่อนทำงานจึงต้องค้นข้อมูลให้ละเอียด เช่นเด็กชอบหรือไม่ชอบอะไร มีวิธีคิดและรับมือเวลาเจอปัญหาอย่างไร

“อย่างเฟย์ ฟาง แก้ว เรารู้ว่าฟางเป็นพี่คนโต เขาเป็นคนที่หวานมาก ส่วนเฟย์เป็นน้องคนกลาง มีความขี้น้อยใจ แต่เปรี้ยวกว่าพี่สาวหน่อย ด้วยความที่แบ็กกราวนด์ของครอบครัวเป็น บ.ก. หนังสือแฟชั่น ส่วนแก้วเป็นเด็กที่ลุคทอมบอย คาแรกเตอร์ของวงจึงทั้งมีตัวหวาน ตัวเปรี้ยว และตัวห้าว เราเลยออกแบบให้แก้วเป็นเหมือนคนที่คอยปกป้องสองสาว

“K-OTIC ก็เหมือนกัน โทโมะเป็นคนพูดน้อย ดูน่าค้นหาแล้ว เพอร์ฟอร์แมนซ์ค่อนข้างสายแข็ง เน้นเต้น แล้ววงก็ต้องมีคนที่ดูร่าเริง ก็เป็นเขื่อน เพราะเป็นคนแบบชิตๆ แชตๆ เป็นสายเอนเตอร์เทน ดูเป็นน้องเล็กของวง ป๊อปปี้ดูเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็กๆ ก็วางให้เป็นพี่ใหญ่ มีเหตุมีผล ปกครองคนได้ ขณะที่เคนตะยังซนๆ ไม่คิดอะไรมาก คาแรกเตอร์เหมือนลิง ส่วนจงเบ เป็นหนุ่มเกาหลี โรแมนติก ขี้อ้อน พูดง่ายๆ คือไม่ว่าเด็กผู้หญิงชอบคาแรกเตอร์แบบไหนก็หาได้ในวงนี้หมด”

เมื่อกำหนดคาแรกเตอร์เรียบร้อย ก็มาสู่การสร้างภาพลักษณ์ต่างๆ ทั้งตั้งชื่อวง คิดเครื่องแต่งกาย ท่าเต้น ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ ซึ่งเพลงแรกนั้นทีมงานให้เด็กๆ ไปเต้นอยู่กลางสยามสแควร์ แหล่งรวมวัยรุ่น กลุ่มเป้าหมายของค่าย

รวมทั้งยังเตรียมโปรโมต ตัดแผ่น มีสัมภาษณ์และเขียนแซวเด็กสนุกๆ บนปกซีดี เช่น อิ๊งค์-วรันธร เปานิล จาก Chilli White Choc ก็เขียนว่า ‘น้องเล็กสุดของแก็งค์ แต่ตัวนะสูงปรี๊ดนำหน้าพี่ๆ หลายคน เพื่อนๆ ชอบเรียกอิ๊งค์ว่าคุณครู ทำไมละ หน้าก็ไม่ได้แก่สักหน่อย เนอะอิ๊งค์เนอะ’ เพื่อนำแผ่นไปส่งยังสถานีวิทยุต่างๆ ต่อไป

เพียงเท่านี้ค่ายเพลงน้องใหม่ก็พร้อมลงสู่สนามดนตรีเต็มตัวแล้ว

Kamikaze Kamikaze Kamikaze

3

เจอเธอออนเอ็มเมื่อไร เราควรจะแชทดีมั้ย…

29 มีนาคม 2550 เป็นวันแรกที่ Kamakaze ดีเดย์พร้อมเว็บไซต์ Zheza ณ ลาน Parc Paragon นับเป็นวันพฤหัสบดีที่อลม่านที่สุดของค่าย

จิ๊บเคยให้สัมภาษณ์เมื่อ 10 ปีก่อนถึงความรู้สึกในวันนั้นว่า เป็นอะไรที่ใหม่และสดมาก มีแฟนๆ มารอกันจนเต็มพื้นที่ ทั้งศิลปิน ทั้งทีมงาน ต่างก็ทำอะไรไม่ถูก ลุกลี้ลุกลนไปหมด

“บางคนบอกว่า พี่ๆ มือเย็นจะเป็นลมทำไงดี บางคนเลือดกำเดาไหล คือแม้เขาจะฝึกกันมานานแต่ก็ยังตื่นเต้นอยู่ เพราะเป็นศิลปินใหม่ อายุแค่ 13 – 14 เอง และนี่เป็นการเปิดตัวที่ใหญ่มาก แต่น่าแปลก พอขึ้นเวทีน้องๆ กลับทำได้ดี ไม่เห็นเหมือนตอนอยู่หลังเวทีเลย เราอยู่ด้านหน้ามองดูถึงกับน้ำตาซึม เพราะที่ผ่านมาเป็นเหนื่อยมาก ซ้อมทุกวันหลังเลิกเรียน”

สำหรับเหตุผลของการเปิดตัว Kamakaze ควบคู่ Zheza เนื่องจากผู้บริหาร RS ตั้งใจให้ผลิตภัณฑ์ทั้งสองตัวนี้เสริมซึ่งกันและกัน ครั้งหนึ่งชมพูเคยอธิบายถึงเด็กในยุคปี 2550 ว่ามีโลก 2 ใบคือโลกจริงกับโลกเสมือน และเด็กเองก็ไม่ซื้อซีดีกันแล้ว เพลงไหนชอบก็ใช้วิธีดาวน์โหลด ดังนั้น แทนที่จะทู่ซี้ทำเหมือนเดิม ก็ควรทำสังคมใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร พบปะ พูดคุย รวมทั้งใช้ขาย Digital Content ไปพร้อมกัน

“จริงๆ Kamikaza เป็น Second Choice ตัวเลือกแรกคือเว็บ คือผมอยากทำเว็บไซต์ที่วัยรุ่นแฮปปี้ ผู้ใหญ่แฮปปี้ เว็บที่เด็กเข้าทุกวันที่มียอดคลิก มียอดไอพีเยอะๆ เป็นแสน เพราะทุกวันนี้เว็บดังๆ มันเชื่อมต่อกับเว็บโป๊หมดเลย เพราะเขามองถึงผลประกอบการเป็นหลัก แต่เราอยากทำเว็บที่เด็กเข้าเยอะด้วย แล้วก็สะอาดด้วย”

เพราะฉะนั้น การทำงานช่วงแรกของทั้งสองแผนกจึงเชื่อมโยงกัน ทั้งการนำข้อมูล คลิปสัมภาษณ์ กิจกรรมเล่นเกม ตอบคำถาม เขียนบล็อก รวมถึงนำเพลงใหม่ๆ มาเผยแพร่ที่เว็บ Zheza เป็นแห่งแรก ตลอดจนมีการจำลองคาแรกเตอร์ของศิลปินมาเป็นตัวละครในเกมต่างๆ ทำให้แฟนคลับรู้สึกใกล้ชิดกับศิลปินมากขึ้น

ในทางกลับกัน มิวสิกวิดีโอแต่ละเพลงก็จะแทรกโลโก้แมวสีชมพู และหน้าเว็บไซต์ Zheza เสมอ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้วัยรุ่นรู้จักสังคมออนไลน์แห่งนี้

นอกจากแผนออนไลน์ที่ชัดเจน ฝั่งออฟไลน์ก็ทำงานหนักไม่แพ้กัน

หนึ่งในนโยบายที่ชมพูวางไว้ คือแต่ละปีต้องปล่อยอัลบั้มต่อเนื่อง แต่ละอัลบั้มไม่จำเป็นต้องมีเพลงเยอะ ชุดหนึ่ง 4 – 5 เพลงก็พอ ทำให้ราคาซีดีของ Kamikaze หลายๆ ชุดค่อนข้างถูกกว่าอัลบั้มทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีการดึงบุคลากรรุ่นใหม่ทั้งภายในและภายนอกค่ายเข้ามาช่วยเสริม เช่น สองนักแต่งเพลงคนดังค่าย Love Is  แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข จากวง 7thSCENE และ แทน-ธารณ ลิปตพัลลภ จากวง Lipta ตลอดจนใช้ทรัพยากรเดิมของ RS ทั้งรายการโทรทัศน์และวิทยุให้คุ้มค่าที่สุด

หลังจากเพลงขัดใจเผยแพร่ ทีมงานก็เร่งโปรโมตเฟย์ ฟาง แก้ว ต่อทันที โดยเริ่มจาก นะครับ นะคร้าบ ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าที่ควร กระทั่งเพลงที่ 2 MSN (^_^ ) ออกอากาศ Kamikaze ก็กลายเป็นค่ายเพลงที่ถูกจับตามองทันที

MSN (^_^ ) เด็กวัยรุ่นชอบมาก เพราะมันเป็นเพลงที่แปลกประหลาดมาก เป็นเนื้อหาที่ไม่เคยมีใครพูดถึง และพวกเราเองก็ไม่เคยเขียนเพลงแบบนี้มาก่อน จำได้ว่าตอนนั้นเราเอาคำพูดเด็กมาใช้เลย เช่น ‘เจอเธอออนเอ็มเมื่อไร เราจะควรแชทดีมั้ย หรือแกล้งๆ ออฟไลน์’ และยิ่งมาบวกกับดนตรี เมโลดี้ก็ต่าง มีแร็พเข้ามาประกอบ สำหรับผมนี้เป็นนวัตกรรมเพลงป๊อปที่ฟังง่ายและลงตัว” เอฟูอธิบาย

อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริม Kamikaze ถูกพูดถึงในวงกว้าง คือ อัลบั้ม WOO! ของโฟร์-มด ศิลปินเบอร์ 2 ซึ่งมีกลุ่มตลาดกว้างกว่าศิลปินคนอื่นมาก

จิ๊บเล่าว่า เดิมทีคนมักติดภาพลักษณ์เก่าๆ ของโฟร์-มดสมัยที่ร้องเพลง หายใจเป็นเธอ จึงต้องปรับภาพลักษณ์ให้ดูโตขึ้น และมีความเป็นผู้นำแฟชั่น จำได้ว่าครั้งแรกทีมครีเอทีฟเสนอให้สองสาวใส่วิกคนละสี คนหนึ่งเป็นสีชมพูพาสเทล อีกคนเป็นสีมินต์ นอนในอ่างน้ำ แต่ยังใส่เสื้อผ้า ซึ่งเธอเชื่อว่าจะเปลี่ยนภาพจำของโฟร์-มดไปเลย แต่พอเสนอขึ้นไป ทางผู้บริหารก็เกรงว่าแฟนเพลงจะรับไม่ได้ เลยขอปรับให้เบาลง แต่ยังมีความเปรี้ยวซ่าที่ชัดเจน

“ตอนนั้นเราไปถ่ายเอ็มวีเพลง เด็กมีปัญหา กันที่ญี่ปุ่น ไปแบบกองโจร ซึ่งหนาวมาก แล้วน้องก็ใส่ชุดเอี๊ยมขาสั้น ใส่ถุงน่อง ใส่สเกตด้วย น้องก็เล่นไม่เป็น เราก็ใช้วิธีเข็นๆ กันไป แล้วครั้งแรกที่เพลงออกมากระแสตอบรับไม่ดีเลย โดนกระหน่ำหนักมาก อย่างใน Pantip บอกว่าไม่ชอบเลย ทำไมโฟร์-มดเป็นแบบนี้ แต่เมื่อเราปล่อยอัลบั้มไป กลับเป็นการเป็นเปลี่ยนเจเนอเรชันของทั้งคู่ที่ดังมาก และกลายเป็นอัลบั้มของโฟร์-มดที่แรงที่สุดด้วย”

การปรับคาแรกเตอร์ศิลปินให้ชัดเจนขึ้น ยังถูกส่งต่อมายัง ‘Neko Jump’ ศิลปินดูโอ้อีกคู่ที่ถูกดึงมาอยู่ Kamikaze ภายหลัง เพราะแต่เดิมทั้งคู่จะมีภาพลักษณ์ทับซ้อนกับโฟร์-มดอยู่ จึงทดลองปรับไปในแนวเซ็กซี่มากขึ้น ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างน่าพอใจ

ด้วยกระบวนการต่างๆ ทำให้แบรนด์ Kamikaze กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ

Kamikaze Kamikaze Kamikaze

4

สถาปนิกเพลงวัยรุ่น

ข้อความ ‘..2019 ยังฟังอยู่..’ ปรากฏขึ้นในช่องแสดงความคิดเห็นตามมิวสิกวิดิโอต่างๆ ของ Kamikaze มากมายบน Youtube เป็นเครื่องยืนยันถึงความทรงจำของผู้คนที่มีต่อค่ายเพลงแห่งนี้ได้อย่างดี

สิ่งหนึ่งเอฟูพยายามย้ำเสมอก็คือ การทำให้ Kamikaze เป็นตัวแทนของวัยรุ่นไทย ดังนั้น ทีมงานจึงพยายามใส่กลิ่นความเป็นไทยลงไปแต่ละเพลง หากยังผสมผสานไลฟ์สไตล์และภาษาแบบวัยรุ่นเข้าใจง่ายด้วย ซึ่งเนื้อเพลงเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของค่ายถูกเขียนและควบคุมการผลิตโดยก๊อป หรือที่แฟนเพลงคุ้นเคยในชื่อ ‘Postcard’

เดิมทีก๊อปเป็นนักเขียนเพลงรุ่นเก๋าของ RS ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการมานับสิบปี ผลงานที่สร้างชื่อสุดคือ ดูมั้ย ของลิฟท์-ออย แต่ช่วงก่อนจะมาร่วมงานกับ Kamikaze เป็นจังหวะที่เขากำลังตัดสินใจวางมือจากงานสายนี้พอดี

“วันนั้นกำลังเดินออกจากบริษัทเลย ก็บังเอิญสวนกับน้องที่ทำงานอยู่ค่ายของเจมส์ เขาบอกว่า ‘พี่ช่วยทำเพลงให้สองคนนี้หน่อย’ เราก็บอกว่าไม่เอาแล้ว เขาก็เลยหันมาบอกน้องๆ ว่า ‘สวัสดีพี่เขาหน่อย’ ปรากฏว่าหันมาแล้วเป็นโฟร์-มด ก็จำโฟร์ได้ เพราะเขาเพิ่งเล่น MV เพื่อนสนิท ของ Endorphine แล้วเราชอบคาแรกเตอร์มาก เลยตัดสินใจช่วยก็ช่วย”

จากนั้นก๊อปจึงเริ่มเขียนเพลงให้สองสาวเรื่อยมา ทั้ง หายใจเป็นเธอ, บีบน้ำตา, Love Love, เปลี่ยนกันไหม ฯลฯ

“เพลงพวกนี้เขียนแบบไม่คิดมากเลย เขียนแบบเอาสนุก แต่ก็เป็นตัวเอง เป็นเพลงสำหรับวัยรุ่นผู้หญิงที่แปลก ภาษามันจะไม่เหมือนแบบเพลง DOJO คือมีภาษาแบบตัวเราชัดเจน เช่น ‘เธอต้องการจริงๆ เธอจะรักกันจริงหรือเปล่า’

หลังจากเขียนเพลงให้โฟร์-มดครบ 2 ชุด ID Records ก็ปิดค่าย ก๊อปจึงตัดสินใจพักตามไปด้วย

แต่เมื่อ RS เตรียมเปิดตัวค่ายเพลงใหม่ ชมพูจึงดึงตัวกลับมาช่วยอีกครั้ง ด้วยมองว่าปัจจัยที่ทำให้ Kamikaze เดินหน้าต่อไปได้ คือเพลงที่มีลายเซ็นบ่งบอกความเป็นวัยรุ่นชัดเจน ซึ่งจุดเด่นของก๊อปนอกจากเขียนเพลงให้สองสาวโด่งดังแล้ว เขายังเพิ่งมีลูกสาวเล็กๆ ด้วย จึงพอเข้าใจว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องการอะไร และควรสื่อสารอย่างไร

ก๊อปบอกว่า หัวใจหลักของการทำเพลง Kamikaze คือการล้อไปกับคาแรกเตอร์ของศิลปิน หากสังเกตจะพบว่าหลายๆ เพลงสะท้อนความแสบของตัวศิลปินอยู่ แต่ไม่ใช่แสบแบบเลวร้าย เนื้อหาบางอย่างอาจดูรุนแรงบ้าง แต่ก็แรงแบบมีเหตุผล เช่น ‘ทิ้งเขาซะ..ถ้าไม่รักก็เขี่ยเขาไป’ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่เป็นไอดอลที่ต้องมีความเป็นผู้นำ เป็นขบถ และมีความเป็นหัวโจกอยู่

“เราใช้วิธีคุยกับผู้ปกครอง ซึ่งสะท้อนวิธีคิด วิธีเลี้ยงลูก ออกมาได้เลย หากผู้ปกครองบอกว่าลูกเป็นอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่าเขาดันหรือมีแรงขับเท่าไร คาดการณ์ว่าเด็กจะคิดอย่างไรต่อ เช่นธามไท เรารู้ว่าผู้ปกครองจะขำๆ ตลก เราก็โอเค เด็กคนนี้ต้องมีเส้นตลกอยู่ หรือหวายก็เครียดๆ หน่อย เหมือนจะปล่อยแต่เครียดๆ หน่อย”

จากความคุ้นเคยนี้เองทำให้ Lyric Producer สามารถกำหนดทิศทางของการเขียนเพลงว่านักร้องคนนี้ควรร้องเพลงแบบไหนได้ง่ายขึ้น

ครั้งหนึ่งก๊อปเคยเขียนเพลง เสียใจแต่ไม่แคร์ เดิมทีเล็งนักร้องไว้ 2 คน คือขนมจีนกับหวาย เนื่องจากมีภาพลักษณ์เป็นผู้หญิงแรงๆ เหมือนกันทั้งคู่ แต่สุดท้ายก็เลือกหวาย เพราะตามความรู้สึก หากหวายตัดสินใจเลิกคือจบ ต่างจากขนมจีนที่อาจมีลูกฟูมฟายอยู่บ้าง

แต่สิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สุดสำหรับเพลงค่ายนี้ คือความสร้างสรรค์ และเทคนิคทางภาษา

ด้วยความที่จบมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก๊อปจึงมองการเขียนเพลงไม่ต่างจากการออกแบบบ้าน เพียงแต่เปลี่ยนอิฐหินปูนทรายมาเป็นถ้อยคำเท่านั้น ก่อนลงมือเขียนจะมีการวางโครงสร้างเพลงว่าจะเล่าเรื่องอะไร บางทีก็เป็นสิ่งที่วัยรุ่นในช่วงนั้นสนใจ และนำมาบิดให้น่าสนใจขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีหลายครั้งที่เขาทดลองเขียนเพลงด้วยภาษาแปลกๆ แบบที่วัยรุ่นชอบใช้ ซึ่งถ้าเป็นผู้ใหญ่มาฟังก็คงโวยวายว่าร้องอะไร ฟังไม่เห็นรู้เรื่อง เช่นเพลง Help me please ของเฟย์ ฟาง แก้ว ซึ่งมีเนื้อร้องว่า “..คนไม่ใช่กระดาษ เลิกมาประกาศ ให้ฟังซะที…”

“ความจริงแล้วคำมันไม่เคลียร์ ฟังไม่รู้เรื่อง แต่พอถามเด็กใน Twitter ว่าเข้าใจไหม ปรากฏว่าไม่มีใครไม่เข้าใจ เราก็เลยเข้าใจเองว่า บางทีเพลงเร็วควรเน้นสนุกกับคำดีกว่าความถูกต้องตามหลักภาษา

“เพลงของ 3.2.1 ก็เหมือนกัน ด้วยความเป็นฮิพฮอพ เราคิดว่าคงต้องอินดี้หน่อยๆ เลยตั้งคอนเซปต์ให้มันเซอร์ๆ ติสท์ๆ เช่น ‘ฉันนั่งมองนาฬิกา แต่ไม่รู้เวลาเท่าไหร่’ ก็คิดไปประมาณนี้ พอส่งให้ป๊อปปี้ร้อง ป๊อปปี้บอกชอบมาก ใช่เลยค่ะ เราบอกใช่ก็ใช่ ถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าใช่หรือเปล่า” ก๊อปเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

Kamikaze Kamikaze Kamikaze

5

Kamikaze Fever

5 ปีแรกของ Kamikaze นับเป็นช่วงเวลาของความสำเร็จ ผลงานเกือบทุกชุดไต่ชาร์ตเพลงฮิตอย่างรวดเร็ว ศิลปินหลายคนกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่น ทั้งโฟร์-มด, เฟย์ ฟาง แก้ว, K-OTIC, หวาย, ขนมจีน หรือ Neko Jump

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน รวมถึงอิสรภาพที่เจ้าของค่ายเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่

“เฮียเคยพูดกับเราว่าเฮียโตเกินกว่า Kamikaze มากๆ แล้ว เพราะฉะนั้น จะให้มานั่งเคาะว่าเสื้อผ้าหรือแนวเพลงแบบนี้ใช่ไหม เฮียตอบไม่ได้หรอก เพราะเฮียคือรุ่นพ่อ เฮียจึงอยากได้คนที่ไว้ใจได้ อยู่ในวัยใกล้กัน มาเป็นคนดูแลแล้วเฮียจะวัดจากผลที่เกิดขึ้น” จิ๊บซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารค่ายแทนชมพูที่ลาออกไป เมื่อเดือนมกราคม 2552 กล่าว

Kamikaze มีโปรเจกต์พิเศษมากมายเพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เต็มไปด้วยความสนุก และเรื่องคาดเดาไม่ได้ แต่ละปีจะมีการจัดทำเพลงพิเศษ เพื่อเป็นของขวัญแก่แฟนๆ เช่นปีที่ 2 ก็มีแคมเปญ Foward 2 U โดยนำศิลปินทั้งค่ายมาร้องเพลงร่วมกัน ซึ่งเพลงหนึ่งที่โด่งดังและกลายเป็นสัญลักษณ์ของค่ายถึงวันนี้คือ รักฉันเรียกว่าเธอ

“ตอนนั้นเราปล่อยซิงเกิลไปก็ดังหมดเลย แต่รู้สึกว่ามันดังแบบกระจาย เลยพยายามทำเพลงร่วมกันสักเพลงให้เป็นเพลงคอนเซปต์ จะได้เห็นภาพ Kamikaze ชัดเจนขึ้น ซึ่งพอปล่อยออกมาก็ดังเลย เพราะมันเห็นภาพของทุกคน คนนี้ฉันก็ชอบ คนนั้นฉันก็ชอบ” ก๊อปเล่าเบื้องหลังของเพลงนี้

โดยเฉพาะในวาระครบรอบ 4 ปี Kamikaze จัดโครงการที่ชื่อ ‘Kamikaze Love เว่อร์ รู้สึกได้ แม้ไม่ได้ยิน’

จิ๊บได้ไอเดียหลังจากชมซีรีส์เรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนหูหนวก เลยรู้สึกว่าคนหูหนวกหลายคนก็เป็นวัยรุ่น และควรมีโอกาสรับรู้ถึงความสุขของเพลง Kamikaze เช่นกัน จึงเสนอเรื่องไปยังผู้บริหาร ซึ่งเฮียก็ซื้อไอเดียทันที

ครั้งนั้นทีมงานได้ชวนน้องๆ หูหนวกนับสิบชีวิตมาร่วมเล่นมิวสิกวิดีโอเพลง รักเธอ ทุกวินาที ซึ่งจัดทำขึ้นพิเศษ รวมทั้งวางคอนเซปต์ของคอนเสิร์ตให้มีการใช้ภาษามือตลอดงาน โดยรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนการผ่าตัดฝังเครื่องช่วยฟัง

นอกจากเรื่องกิจกรรมที่แปลกใหม่แล้ว เรื่องการหารายได้ก็ต้องมาวางแผนกันเยอะมาก เนื่องจากศิลปินกลุ่มนี้ไม่สามารถรับงานในสถานบันเทิงได้

ดังนั้น ทีมงานจึงมองหาช่องทางสร้างรายได้จากทุกวิถีทาง ตั้งแต่การ Tie-in สินค้าต่างๆ ในมิวสิกวิดีโอ การเปิดดาวน์โหลดเสียงรอสายโทรศัพท์ ซึ่งวิธีการนี้ประสบความสำเร็จมาก เพราะแต่ละเดือนมียอดดาวน์โหลดอย่างต่ำ 20,000 ครั้ง ตลอดจนเดินสายไปตามไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ

แต่ที่เป็นกอบเป็นกำที่สุดคือการจัดคอนเสิร์ตประจำปี ซึ่งทางค่ายพยายามเลือกจัดงานช่วงบ่ายวันเสาร์ ณ Royal Paragon Hall เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางของแฟนเพลงวัยรุ่นที่มาร่วมงานที่สุด

“ทุกครั้งที่เราจัดงานคนเต็มฮอลล์ และอีกภาพหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนคือ พ่อแม่ยืนรออยู่หน้าคอนเสิร์ตเป็นร้อยคน เพราะฉะนั้น คอนเสิร์ตของเราจะมีคนเยอะมาก กลุ่มหนึ่งมาชม อีกกลุ่มหนึ่งมารอ” เอฟูเล่า

นอกจากนี้ Kamikaze ยังพยายามขยายฐานแฟนคลับด้วยการนำศิลปินดังๆ มารวมตัวทำอัลบั้มเฉพาะกิจ เช่น Seven Day ซึ่งวางคอนเซปต์ให้ศิลปินสาว 7 คนรับหน้าที่เป็นตัวแทนของแต่ละวัน ถ่ายทอดบทเพลงออกมา ตลอดจนมีการคัดเลือกศิลปินหน้าใหม่เพิ่มเติม เช่น 3.2.1, Kiss Me 5 หรือ XIS ทำให้ค่ายสามารถผลิตงานได้หลากหลายมากขึ้น

แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปเสียหมด มีหลายครั้งเหมือนกันที่ Kamikaze ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องการลอกเลียนสไตล์หรือดนตรีของต่างชาติ ซึ่งเหล่าคนทำงานยอมรับว่าช่วงแรกๆ ก็ฉุนอยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เข้าใจว่าเป็นปกติของสังคมที่มักมีการวิพากษ์วิจารณ์ จับผิด เปรียบเทียบ

สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการผลักดันศิลปินให้สามารถเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจที่ดีของวัยรุ่นไทย

หากสังเกตจะพบว่าศิลปินทุกคนของ Kamikaze ต่างมีผลการเรียนที่ดี หลายคนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ แม้จะทำงานควบคู่ไปด้วยก็ตาม ดังนั้น ทีมงานจึงนำเรื่องดีๆ เหล่านี้ พร้อมไลฟ์สไตล์สนุกๆ มาเผยแพร่ผ่าน www.ilovekamikaze.com ซึ่งแยกตัวมาจาก Zheza.com หลังจากที่อีกเว็บมุ่งสู่ตลาดเกมออนไลน์เต็มตัว

เอฟูย้ำว่า นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่เข้าใจและไม่ต่อต้านงานของ Kamikaze เพราะเชื่อว่าศิลปินกลุ่มนี้มีอิทธิพลเชิงบวกและทำให้ลูกหลานลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง  

แต่ก็มีบางครั้งที่ศิลปินอาจซวนเซไปบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีมงานที่ต้องคอยช่วยเหลือ ดูแลให้คำปรึกษา เช่น ทีเจ นักแต่งเพลงมือหนึ่งของ 3.2.1 ซึ่งมักรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ก็ต้องคอยกระตุ้นว่าเขาเป็นคนมีพรสวรรค์ และสามารถพัฒนาฝีมือจนเป็นอาชีพได้ หรือหวายก็เคยถูกโลกโซเซียลโจมตีด้วยความหมั่นไส้ ก็ต้องเตือนสติว่าอย่าไปผูกโยงตัวเองกับคนที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่งอยู่มุมไหนของโลก ควรให้ค่ากับคนที่ดีกับเรามากกว่า เช่นเดียวกับบางคนที่ผิดหวังเรื่องความรักก็ต้องคอยประคับประคอง รับฟังและช่วยแก้ปัญหาจนกว่าจะผ่านอุปสรรคนั้นไปได้

“ชีวิตของศิลปินใน Kamikaze สามารถเขียนเป็นบทซีรีส์ได้เลย พอเวลาผ่านไปเราจะรู้สึกว่าผ่านมาได้ยังไงนะ สำหรับตัวเองแล้ว ที่นี่เป็นเหมือนครอบครัว เด็กทุกคนเราตั้งใจทำให้เขาอย่างเต็มที่ อย่างเรื่องหนึ่งที่เราจะบอกกับครีเอทีฟที่ทำงานด้วยเสมอคือ ต้องคิดว่าเขาเป็นคนในครอบครัวให้ได้ เพราะถ้าคุณเห็นเขาเป็นน้องจริงๆ คุณจะทำทุกอย่าง และเมื่อเขาเติบโตขึ้นมา ได้เห็นเขาประสบความสำเร็จ เราก็จะรู้สึกภูมิใจและดีใจทุกครั้ง” จิ๊บย้อนความทรงจำ

Kamikaze Kamikaze

6

ปรากฏการณ์ ‘แน่นอก’

หลังกวาดความนิยมในหมู่วัยรุ่นถล่มถลาย ในปี 2556 เฮียฮ้อเริ่มมองว่าอาจถึงเวลาแล้วที่ Kamikaze ควรเป็นที่รู้จักในตลาดวงกว้าง จึงวางโจทย์ให้นำลูกทุ่งสาว ใบเตย Rsiam-สุธีวัน ทวีสิน มาร้องเพลงร่วมกับวง 3.2.1

เวลานั้นต้องยอมรับว่านอกจากเพลงดังอย่าง สกัดดาวยั่ว หรือ เช็คเรทติ้ง แล้ว ภาพลักษณ์เรื่องความแรงและความเซ็กซี่ของใบเตยก็เป็นที่กล่าวขานไม่แพ้กัน นี่จึงถึงเป็นงานหินสำหรับทุกคน โดยเฉพาะฝั่งทำเพลงที่ต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างกลมกลืนไปด้วยกัน

เริ่มจากส่วนดนตรี เอฟูยอมรับว่าช่วงแรกคิดอะไรไม่ออกเลย จึงบอกให้ทีเจลองแต่งเพลงแบบที่แต่งให้ 3.2.1 เสนอเข้าไป เพลงที่ออกมานั้นค่อนข้างเป็นฮิพฮอพสูงมาก แล้วก็มีแบ่งท่อนให้ใบเตยเพียงเล็กน้อย หลังเฮียได้ฟังก็บอกว่า ดี แต่ไม่เห็นความเป็นใบเตยเลย จึงต้องกลับมาปรับแก้ใหม่

เผอิญช่วงนั้นเป็นจังหวะที่ภาพยนตร์ พี่มาก..พระโขนง ใกล้จะเข้าฉายพอดี เอฟูรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นตัวของ T-Pop อย่างแท้จริง เลยได้ไอเดียว่าควรนำความเป็นไทยเข้ามาใส่ในเพลงนี้ให้มากที่สุด จึงเปลี่ยนวิธีใหม่ ด้วยการให้ทีมงาน 3 คน คือเขา ทีเจ และโฟร์ 25hours ไปแต่งเพลงของตัวเองมา แล้วค่อยนำมาประกอบร่าง ก่อนที่จะผสมเสียงที่เป็นลูกทุ่ง สามช่า ลงไป มีการนำวงแห่นาค แตรวง มือถือเก่าๆ มากดเป็นเสียงประกอบ จนกลายเป็นดนตรีที่แตกต่างไม่เหมือนใคร

ขณะที่ฝั่งเขียนเนื้อเพลง ก๊อปได้รับโจทย์จากจิ๊บว่าอยากให้ฟังแล้วสนุก ให้อารมณ์เหมือนสติกเกอร์ท้ายรถบรรทุก เขาเลยเริ่มคิดจากคำว่า รักต้องเปิด ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ของใบเตย จากนั้นก็เริ่มมาต่อยอดว่านักร้อง 4 คนควรต้องพูดเรื่องอะไรบ้างถึงจะเหมาะกับคาแรกเตอร์ของแต่ละคน

“เราให้ทีเจพูดแบบเด็กไฮปาร์กหน่อย แต่พูดแบบขำๆ สิทธิผู้ชายสมัยนี้ อยู่ไหนก็ไม่ทราบ คือเรื่องจะเปิดจะปิด ทำไมผู้หญิงเปิดได้ แต่พอผู้ชายเปิดโดนด่าว่าเป็นตุ๊ด ส่วนกวินทร์ก็จะทะลึ่งๆ เพลย์บอย เป็นแนวแซวผู้หญิงว่า เปิดให้มันน้อยๆ หน่อย แหม ใจดีจังเลยนะ ขณะที่ป๊อปปี้มาแบบจริงจังเลย ไหนขอดูใจเธอหน่อย ฉันเปิดแล้วเธอล่ะเปิดไหม

“ส่วนใบเตยมาทีหลังเลย ตอนนั้นเหมือนใบเตยมีข่าวค่อนข้างแรงมาก ก็เลยให้พูดธรรมะแล้วกัน สมัยนั้นจะมีพระที่เทศน์ตลกๆ แต่ว่าทะลึ่งหน่อยๆ พอเขาส่งเมโลดี้มาให้ คำมันออกมาทันที ‘มันแน่นอก ก็ยกออก’ ความจริงแปลว่า อย่ายึดมั่นถือมั่น เรื่องทั้งหมดมันเกิดยุบหนอพองหนอ แต่ด้วยภาษาที่สนุก เป็นภาษาลูกทุ่ง ทำให้คนฟังไม่รู้สึกว่านี่คือคำสอน ไม่เชื่อลองคิดเป็นคำพระพูดดูก็ได้ ‘มันแน่นอก ก็ยกออกซิโยม แบกเอาไว้ทำไมให้ใจถลอก’”

เมื่อเพลงทั้งหมดเรียบร้อย ก็ถูกส่งต่อมายังฝ่ายครีเอทีฟ ซึ่งต้องออกแบบคอนเซปต์ตั้งแต่ท่าเต้นว่าต้องสนุก เต้นตามได้ไม่ยาก เห็นปุ๊บเข้าใจได้เลย พร้อมกับตั้งโจทย์ว่าปีใหม่ที่จะถึง วิทยุทุกคลื่น ร้านลูกทุ่งทุกร้าน โรงงานทุกแห่งต้องพร้อมใจกันเปิดเพลงนี้ ซึ่ง เจด้า-อภิสราฐ์ เพชรเรืองรอง แห่งสถาบัน Harlem Shake Dance Studio ก็สามารถทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม

ขณะเดียวกันวางคอนเซปต์มิวสิกวิดีโอ เน้นสีสันจัดจ้าน มีการนำรถทัวร์สองแบบเข้าฉากสะท้อนสไตล์ของศิลปินทั้งสองฝ่าย หาคำกวนๆ มาแปลงเป็นสติกเกอร์รถสิบล้อ เช่น Gavin จิ๊กโก๋ สุดหล่อ Play Boy เรียกพ่อ, T.J. RAPPER สุดเท่ เสน่ห์ กระชาก FEEL, POPPY สาวแรงสุดซิ่ง Step สะดิ้งสะท้านโลก, ไม่สั้นเสมอหู อย่าเรียกหนูใบเตย

หลังเผยแพร่เพลงในวันที่ 1 พฤษภาคม รักต้องเปิด (แน่นอก) กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกคนพูดถึง มียอดรับชมใน YouTube เกิน 1,000,000 ครั้ง เกิดคลิปเต้น Cover ขึ้นเต็มไปหมด ถึงขั้นเกิดงาน ‘รวมพลคนแน่นอก’ กลางลาน Siam Discovery ซึ่งมีคนมาเต้นท่าแน่นอกนับพันชีวิต และเพลงก็ยังโด่งดังข้ามปีดังที่ทีมงานตั้งใจไว้

“แน่นอกคือจุดที่ทำเราเข้าใจสิ่งที่เฮียคิด สิ่งที่ควรจะไป ทุกเพศทุกวัยฟังได้ เขาบอกให้ปรับนานแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าสกิลล์เราอาจได้แค่ระดับหนึ่ง” เอฟูเล่าพร้อมหัวเราะ

Kamikaze

7

รักฉันเรียกว่าเธอ

ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่มีวันเลิกลา เช่นเดียวกับค่ายเพลงวัยรุ่นที่ชื่อ Kamikaze

หลังความสำเร็จของ รักต้องเปิด (แน่นอก) ค่ายก็ยังคงผลิตงานอย่างต่อเนื่อง มีการเสริมทัพสมาชิกหน้าใหม่เสมอ ทั้ง มิณทร์ แชมป์จากรายการ The Trainer ปั้นฝันสนั่นเวที ปีที่ 2, แต๊งกิ้ว สาวน้อยวัย 14 ปี รวมถึงเปิดตัวศิลปินฝึกหัดในนาม Kamikaze Newcomer

แต่ด้วยสภาพของตลาดเพลงที่เปลี่ยนไป บวกกับช่วงอายุของศิลปินหลักของค่ายที่อาจเกินวัยไปแล้วสำหรับตลาด Pre-Teen ทำให้กระแสความนิยมเริ่มแผ่วลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงภายใน RS เองที่มุ่งความสนใจไปยังธุรกิจอื่นมากขึ้น กระทั่งปี 2558 ทีมงานเกือบทั้งหมดจึงย้ายสังกัดมาอยู่ GMM GRAMMY

ทีมเพลงซึ่งรวมตัวกันชื่อ UnderDog เปิดตัวค่ายใหม่ชื่อว่า HALA SOCIETY มีผลงานออกมาประมาณหนึ่ง ก่อนแยกย้ายตามเส้นทางของตัวเอง โดยเอฟูหันมาเปิดค่ายเพลงอิสระ DEMOLAB Music House มีอดีตสมาชิก Kamikaze มาร่วมทีมหลายคน อาทิ แก้ว จากเฟย์ ฟาง แก้ว, แจม Siska, กวิน ป๊อปปี้ 3.2.1 รวมถึง ป๊อปปี้ K-OTIC ส่วนก๊อปยังมุ่งมั่นกับการผลิตไอดอล Pre-Teen ผ่านสังกัดใหม่ BH Brick House

ขณะที่จิ๊บและทีมครีเอทีฟบางส่วนเปลี่ยนมารับหน้าที่บริหารค่าย MBO ผลิตศิลปินดังๆ เช่น พลอยชมพู กระทั่งเมื่อปี 2561 จึงย้ายมาร่วมงานกับ 4NOLOGUE ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย New Business ปั้นโครงการพิเศษอย่าง 9X9 ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 9 ไอดอลหนุ่ม

Kamikaze เดิมก็ยังดำเนินต่อไป พร้อมปรับเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ โดยมอบหมายให้ เณร-ศุภชัย นิลวรรณ จาก Rsiam มารับหน้าที่ดูแลธุรกิจเพลงทั้งเครือ มีการเปิดตัวศิลปินเลือดใหม่ 18 คนภายใต้ชื่อ Kamikaze Next ซึ่งส่วนใหญ่เติบโตมาจากศิลปินฝึกหัดนั่นเอง ถ่ายเทศิลปินเก่าบางส่วน เช่น หวาย, เฟย์-ฟาง-แก้ว, ขนมจีน, Neko Jump, ธามไท ไปยังสังกัดใหม่ Yes! Music ซึ่งเจาะกลุ่มตลาดที่กว้างขึ้น รวมทั้งปรับทิศทางค่ายไปสู่แนวทางใหม่ Teen Media And Lifestyle Society ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงตลาดเพลงเป็นหลักเท่านั้น แต่ตั้งใจขยายไปสู่ตลาดอื่นๆ เช่นมีการผลิตซีรีส์ชุด 21 วันฉันรักนาย เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็น Entertainment Community ของวัยรุ่น

แต่สุดท้ายดูเหมือนการปรับเปลี่ยนใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้ค่ายที่มีอายุยาวนานถึง 10 ปีกลับมาเป็นที่นิยมเช่นดังเดิม ในที่สุด Kamikaze ก็หยุดการเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2560

อดีตคนเบื้องหลังทั้งสามมองคล้ายๆ กันว่า การหายไปของ Kamikaze เป็นเรื่องปกติของวงการเพลง โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินไอดอล ซึ่งปกติแล้วมีอายุเฉลี่ยประมาณ 5 – 7 ปี และต้องยอมรับว่า Kamikaze อาจขยับตัวช้าไปสักหน่อย โดยเฉพาะการที่ไม่ได้ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียน ศิลปินในค่ายอย่างต่อเนื่อง ให้เหมาะสมกับกลุ่มตลาดที่วางไว้ โดยเฉพาะศิลปินรุ่นโตที่ยังอยู่กับค่ายเรื่อยมา ทำให้แนวเพลง กระบวนการโปรโมต บางอย่างไม่ชัดเจน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Kamikaze ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงวงการดนตรีไทยอยู่ไม่น้อย ทั้งการเป็นเวทีให้คนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปินและคนบันเทิงชื่อดังหลายคน

ทีเจ และกวิน 3.2.1 ก้าวขึ้นเป็นศิลปินฮิพฮอพแถวหน้าของเมืองไทย

อิ๊งค์ วรันธร กลับมาเป็นนักร้องยอดนิยมที่มีแฟนคลับติดตามเหนียวแน่น

เช่นเดียวกับ โฟร์-มด, ฟาง แก้ว, โบ คิตตี้ Kiss Me 5 หรือพิม SWEE:D ซึ่งวันนี้กลายเป็นนางเอกชื่อดัง

แน่นอนว่าความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากคนเบื้องหลังเพียง 3 – 4 คนเท่านั้น แต่เป็นเพราะพลังของทุกคนใน RS ตั้งแต่ผู้บริหาร ทีมงาน ศิลปิน และที่ขาดไม่ได้คือแฟนเพลงทุกคนที่ร่วมกันสนับสนุนเพลงไทย จนกระทั่ง Kamikaze ยืนหยัดในฐานะ ‘ค่ายเพลง เพื่อคนไทย หัวใจวัยรุ่น’ อย่างแท้จริง

“สำหรับผม มันเป็นความทรงจำที่เปลี่ยนชีวิต ทุกคนเจอโจทย์ที่ยาก เจออะไรที่ท้าทาย แต่พอผ่านมาแล้วมันเป็นความภาคภูมิใจ ทั้งศิลปิน ทั้งทีมงาน ทั้งคนฟัง ถ้าวันนี้พูดว่าเป็นตำนานอาจเวอร์ไป แต่ผมเชื่อว่าวันหนึ่งมันก็เป็นตำนาน วันนี้แฟนเพลงเราโตขึ้น เจอกันที่งานเลี้ยงรุ่นก็ร้องเพลง Kamikaze ด้วยกัน เพราะเพลงพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของเขา เป็นซาวนด์แทร็กที่อยู่คู่กับชีวิตเขาตลอดมา” เอฟู อดีต Executive Producer กล่าวทิ้งท้าย

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • สัมภาษณ์คุณณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์ วันที่ 28 เมษายน 2562
  • สัมภาษณ์คุณหทัย ศราวุฒิไพบูลย์ วันที่ 13 พฤษภาคม 2562
  • สัมภาษณ์คุณธานี วงศ์นิวัติขจร วันที่ 16 พฤษภาคม 2562
  • นิตยสาร DDT ฉบับที่ 32 ประจำเดือนกันยายน 2550
  • นิตยสาร The Guitar Mag No.424 เดือนกรกฎาคม 2552
  • หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน วันที่ 26 เมษายน 2550 (จากเว็บไซต์ fourfan.com)
  • เว็บไซต์ ilovekamikaze.com

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว