9 มกราคม 2023
3 K

สมัยก่อน ดิฉันเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม Case Club ของหลักสูตร BBA จุฬาฯ เด็ก ๆ ในชมรมจะช่วยกันแก้โจทย์ธุรกิจต่าง ๆ เช่น ทำอย่างไรให้บริษัท A ยอดขายสูงขึ้นอีกร้อยละ 20 

เด็ก ๆ ในชมรมได้รับการเชื้อเชิญจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกให้ไปแข่ง Business Plan Competition 

จำได้ว่ามีปีหนึ่ง เราได้รับเชิญไปแข่งที่เนเธอร์แลนด์ ไม่มีใครรู้ว่าผู้จัดจะออกโจทย์เกี่ยวกับอะไร ปรากฏว่าโจทย์ที่ออกคือ การหาวิธีลดและจัดการปริมาณขยะให้กับเมือง เด็ก ๆ ทุกคนเหวอ เพราะที่ผ่านมาเราฝึกเรื่องการเพิ่มยอดขาย ทำกำไรกันมาตลอด 

ดิฉันบอกทุกคนว่า แม้ครั้งนี้โจทย์เป็นการแก้ปัญหาสังคม แต่วิธีคิดเหมือนกัน ปัญหาคืออะไร ทางแก้คืออะไร ทำอย่างไรให้คนสนใจสิ่งที่เราทำ 

เรื่องราวของเมืองต่อไปนี้ก็เช่นกัน… เมืองเล็ก ๆ ในหุบเขา แต่โด่งดังไปทั่วโลกด้วยการตั้งเป้า Zero Waste และมุ่งมั่นลดขยะในเมืองมากว่า 30 ปี 

เมื่อเมืองจำเป็นต้องจัดการเรื่องขยะ

ก่อนหน้านี้สัก 20 ปี คงไม่ค่อยมีคนญี่ปุ่นคนไหนรู้จักเมืองคามิคัตสึ จังหวัดโทคุชิมะ สักเท่าไร เมืองเล็ก ๆ กลางหุบเขาเขียวขจี มีประชากรแค่ 1,500 คนเท่านั้น 

Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
หมู่บ้านเล็ก ๆ ท่ามกลางหุบเขา
ภาพ : www.env.go.jp

ในอดีต ชาวเมืองคามิคัตสึจัดการขยะโดยการเผากลางแจ้ง แต่เมื่อปริมาณขยะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางเมืองจึงเริ่มวางแผนรีไซเคิลขยะในปี 1994 และจัดการติดตั้งเตาเผาขยะในปี 1998 

ทว่าหลังจากติดตั้งเตาเผาขยะได้ไม่นาน ทางเมืองก็พบว่าเตาแบบที่ใช้อยู่ก่อให้เกิดมลพิษจากสารไดออกซิน ทำให้ต้องหยุดการใช้เตาเผา และทางเมืองก็ไม่มีงบพอจะซื้อเตาเผาแบบใหม่แล้ว ทั้งเทศบาลเมืองและชาวเมืองจึง ‘จำเป็น’ ต้องช่วยกันแยกขยะเพื่อนำขยะไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด และกำจัดโดยการเผาให้ได้น้อยที่สุด 

พวกเขาค่อย ๆ เริ่มแยกประเภทขยะ จาก 9 ประเภทในปี 1997 เป็น 22 ประเภท แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็น 35 ประเภท และ 45 ประเภทในปัจจุบันในที่สุด

ชาวเมืองต้องช่วยกันแยกขยะทุกชิ้น เช่น ฝาขวดที่เป็นโลหะ ขวดแก้ว ต้องแยกออกจากกันหมด พลาสติกที่ห่ออาหาร ก็ต้องล้างและตากก่อนนำไปที่ที่ทิ้งขยะ หากบ้านไหนจะทิ้งของชิ้นใหญ่ เช่น โซฟาหรือยางรถยนต์ ก็ต้องมีคนในหมู่บ้านมาช่วยกันแยกชิ้นส่วน เช่น ผ้าคลุมโซฟา สปริงในโซฟา ฟองน้ำ ขาไม้ ทุกอย่างต้องถูกแยกส่วนทั้งหมด 

Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
ภาพ : www.env.go.jp

ชาวเมืองยอมรับการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ได้อย่างไร และทางเมืองทำอย่างไรให้ชาวเมืองยอมจัดการเรื่องขยะกันนะ 

การประกาศเป้าหมายและสร้างหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

เมืองคามิคัตสึค่อย ๆ เริ่มแยกและรีไซเคิลขยะมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 1990 ในปี 2003 ทางเมืองประกาศ Zero Waste ไว้ว่า พวกเขาจะ 

1. พยายามสร้างคนที่ไม่ทำให้โลกนี้สกปรก

2. ดำเนินการรีไซเคิลขยะหรือนำไปใช้ต่อ และพยายามลดการเผาหรือฝังขยะให้ได้มากที่สุดภายในปี 2020 

3. สร้างเพื่อนใหม่ทั่วโลกที่มีแนวคิดเดียวกัน 

ในปี 2005 ทางเมืองสร้างองค์กรไม่แสวงหากำไร (NPO) ชื่อ Zero Waste Academy เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างเมืองกับชาวเมือง โดยองค์กรนี้จะช่วยจัดการขยะ ดำเนินการอบรมและสื่อสารเรื่องการจัดการขยะกับชาวเมืองอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ทางเมืองยังสร้างระบบสะสมแต้ม นำแต้มที่ได้จากการแยกขยะอย่างถูกต้องนี้ไปแลกเป็นกระดาษทิชชู หมวก เสื้อผ้า กระติกน้ำ ฯลฯ 

Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
ภาพ : www.recruit.co.jp

นอกจากนี้ ทางเมืองและ NPO ยังช่วยกันคิดสร้างระบบที่ทำให้ชาวเมือง ‘สนุก’ กับแยกขยะและจัดการขยะได้มากที่สุด
แนวคิดหลักในการสร้างระบบ คือ ทำอย่างไรให้ชาวเมืองลำบากน้อยที่สุด โดยพยายามอำนวยความสะดวกให้ชาวเมืองที่สุดดังนี้ 

กลไกที่ทำให้การแยกขยะสำเร็จ 1 – สร้างสถานที่ทิ้งขยะที่ผู้คนอยากมา

หากกล่าวถึงสถานที่ทิ้งขยะ หลายท่านอาจนึกภาพสถานที่มืด ๆ ส่งกลิ่นเหม็น มีแมลงบินบ้าง เดินบ้าง แน่นอนว่าคงไม่มีชาวเมืองคนไหนอยากมาทิ้งขยะในที่แบบนี้บ่อย ๆ แน่ 

ทางเมืองจึงสร้างศูนย์แยกขยะที่ผู้คนอยากมา โดยที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่ทิ้งขยะเท่านั้น แต่เป็นสถานที่ให้ผู้คนมาพบปะ พูดคุยกัน มีโต๊ะและเก้าอี้เล็ก ๆ วางอยู่ 

ตัวสถานที่ทิ้งเป็นอาคารโปร่ง มีถังหรือตะกร้าขนาดใหญ่ของขยะแต่ละประเภทเขียนไว้ชัดเจน พื้นมีผู้ดูแลให้สะอาดเรียบร้อย ขยะทุกชิ้นที่ชาวเมืองนำมาที่นี่เป็นขยะแห้ง จึงไม่มีปัญหาส่งกลิ่นรบกวนผู้อื่น ส่วนขยะเปียก ทางเมืองติดตั้งเครื่องจัดการขยะเปียก และรณรงค์ให้ชาวเมืองนำเศษอาหารต่าง ๆ ไปทำเป็นปุ๋ยแทน 

Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
ภาพ : https://zwtk.jp/

นอกจากนี้ยังมีร้าน คุรุคุรุ ซึ่งชาวเมืองคนใดก็ได้สามารถนำข้าวของที่ไม่ใช้แล้วมาวางที่นี่ ใครต้องการมาหยิบ ก็หยิบกลับไปได้ ในร้านมีทั้งเสื้อผ้า จาน ชาม อุปกรณ์ ข้าวของกระจุกกระจิกต่าง ๆ ชาวเมืองที่เดินมาทิ้งขยะ ก็อาจแวะร้านคุรุคุรุสักนิดก่อนกลับบ้านก็ได้ ใครมาดูงานเรื่องการแยกขยะที่เมืองนี้ ก็หยิบข้าวของในนี้ติดไม้ติดมือไปเป็นที่ระลึกได้เช่นกัน

ร้านคุรุคุรุนี้สร้างการ Reuse สิ่งของได้ปีละประมาณ 15 ตันเลยทีเดียว 

Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
คุรุคุรุ แปลว่า หมุนวนไป เดิมเป็นร้านเล็ก ๆ แต่มีการรีโนเวต ทำให้ร้านดูโปร่งและสวยขึ้น เหมือนเป็นร้านค้าขายของจริง ๆ
ภาพ : sotokoto-online.jp

กลไกที่ทำให้การแยกขยะสำเร็จ 2 – ตั้งเจ้าหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะ

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนในเมืองแยกขยะได้อย่างละเอียดจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน คือการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่มาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ 

โดยปกติแล้ว คนญี่ปุ่นจะแยกขยะเป็นประเภทต่าง ๆ คร่าว ๆ แล้วใส่รวมในถุงขยะขนาดใหญ่ แต่ชาวเมืองคามิคัตสึจะหยิบขยะจากตะกร้าทีละชิ้น ๆ ใส่ลงไปในตะกร้าหรือถังขนาดใหญ่ตามประเภทของขยะนั้น ๆ 

ทีนี้ บางครั้งชาวเมืองอาจไม่แน่ใจว่าขยะแบบไหนต้องแยกอย่างไร เช่น สติกเกอร์ที่ติดบนเครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องลอกออกไหมหรือไปทิ้งแบบไหน เจ้าหน้าที่ก็จะเป็นคนช่วยแนะนำ เพื่อให้ชาวเมืองเข้าใจ รู้สึกอุ่นใจ และได้เรียนรู้การแยกขยะที่ถูกต้องยิ่งขึ้น

Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
ทิ้งขยะแบบไหนไม่ถูก ก็ปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้เสมอ 
ภาพ : www.ana.co.jp

หากไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ ชาวเมืองอาจรู้สึกว่าการแยกขยะยุ่งยาก ไม่รู้จะแยกแต่ละประเภทอย่างไร สุดท้ายก็อาจใส่ขยะผิดประเภทจนนำไปรีไซเคิลต่อไม่ได้ 

การมีเจ้าหน้าที่สักคนคอยประจำและดูแลอยู่ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้เมืองคามิคัตสึประสบความสำเร็จในการแยกขยะได้ขนาดนี้ 

กลไกที่ทำให้การแยกขยะสำเร็จ 3 – การสื่อสาร

ทางเมืองเข้าใจดีว่าการแยกขยะนั้นยุ่งยากและต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวเมืองมากขนาดไหน เพียงแค่กล่องนมธรรมดา ๆ ก็ไม่สามารถโยนลงถังขยะได้ แต่ต้องตัดออกมาเป็นแผ่น ล้างน้ำให้สะอาด ตากให้แห้ง แล้วถึงค่อยนำไปทิ้งที่ศูนย์แยกขยะ 

เพราะฉะนั้น โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้การแยกขยะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวเมือง ทางเมืองคามิคัตสึจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสื่อสารและให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ 

ช่องทางสื่อสารมีตั้งแต่การตั้งเจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์แยกขยะ การจัดทำเว็บไซต์ที่สอนและค้นหาประเภทขยะได้ การร่วมกับโรงเรียนประถม จัดทริปพาเด็ก ๆ มาดูงานที่ศูนย์แยกขยะด้วย

วิธีการสื่อสารก็ใส่ใจในรายละเอียดถึงที่สุด มีการใช้ภาพประกอบให้คนเข้าใจง่าย ส่วนที่ศูนย์แยกขยะนั้นใช้ภาพขนาดใหญ่ ติดไว้ที่แต่ละตะกร้าอย่างชัดเจน เพื่อให้ชาวเมืองหรือแม้แต่เด็กเล็กไม่ต้องเสียเวลาอ่านตัวอักษร แค่เห็นภาพก็เข้าใจและแยกขยะได้เลย 

นอกจากนี้ ป้ายอีกชนิดที่ติดตรงหน้าตะกร้าแต่ละใบ คือ ป้ายบอกว่าขยะแต่ละชนิดจะถูกนำไปรีไซเคิลที่ไหน กลายเป็นอะไร และมีค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลเท่าไร 

Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
ตัวอย่างป้ายราคา
ภาพ : www.sustainablebrands.jp

ยกตัวอย่าง 2 ป้ายนี้ แม้จะเป็นขยะพลาสติกเหมือนกัน แต่ค่าใช้จ่ายในการกำจัดพลาสติกประเภทซ้ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 53.8 เยน ส่วนพลาสติกแบบขวามีค่าใช้จ่ายเพียงกิโลกรัมละ 0.51 เยน

สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวเมืองค่อย ๆ เรียนรู้และเห็นคุณค่าของขยะแต่ละชิ้นมากขึ้น ส่งผลให้ชาวเมืองยิ่งร่วมมือร่วมใจกัน และปัจจุบัน ขยะกว่าร้อยละ 80 ของเมืองคามิคัตสึนำไปรีไซเคิลได้ 

เมื่อชาวเมืองหรือภายในแข็งแกร่ง ทางเมืองก็เริ่มสื่อสารกับคนภายนอก 

ในปี 2020 เมืองคามิคัตสึเปิดโรงแรมชื่อโรงแรม WHY เป็นโรงแรมที่ชวนคนมาตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงซื้อสิ่งนี้ ทำไมเราถึงทิ้งสิ่งนั้น 

Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
โรงแรมอยู่ติดกับสถานที่แยกขยะ มองจากด้านบนจะเป็นรูปเครื่องหมาย Question Mark พอดี
ภาพ : www.awanavi.jp
Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ

เศษไม้ เครื่องประดับต่าง ๆ ในโรงแรม ได้รับการบริจาคมาจากชาวเมืองทั้งนั้น บางบ้านให้บานประตู บางบ้านให้แท่งไม้ที่นำมาทำใหม่เป็นกรอบหน้าต่าง 

Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
ห้องพักมุม Mountain View 
ภาพ : www.awanavi.jp
Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะกับกลไกที่ทำให้ชาวเมืองสะดวก สบาย และไว้วางใจในการแยกขยะ
ของประดับหลายชิ้นมาจากบ้านเรือนของชาวบ้านในเมือง
ภาพ : sotokoto-online.jp

แขกที่มาพักสามารถสัมผัสประสบการณ์การแยกขยะ และเห็นความตั้งใจลดขยะของชาวเมืองยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่ตอนเช็กอิน
ที่นี่ แขกต้องนำแปรงสีฟัน ยาสีฟัน และเครื่องอาบน้ำมาเอง หากไม่มีก็ซื้อที่ล็อบบี้ได้ ส่วนสบู่ หากไม่ได้เอามา ทางพนักงานจะให้แขก ‘หั่นสบู่’ โดยกะปริมาณที่ตนเองใช้แต่พอดี 

ถอดความสำเร็จของ Kamikatsu เมืองเล็กกลางหุบเขาที่ขยะกว่า 80% รีไซเคิลได้ และชาวเมืองมุ่งสู่เป้าหมาย Zero Waste ร่วมกัน
มีที่หั่นสบู่พร้อม ทำให้เราฉุกคิดเหมือนกันว่า วันหนึ่งเราใช้สบู่ปริมาณเท่าไรกันนะ
ภาพ : www.awanavi.jp

 ส่วนอาหารเช้า จะมีพนักงานนำมาเสิร์ฟเป็นขนมปังเบเกิลใส่มาในกล่องเบนโตะ เพื่อลดปริมาณการใช้ขยะอีกเช่นกัน 

ถอดความสำเร็จของ Kamikatsu เมืองเล็กกลางหุบเขาที่ขยะกว่า 80% รีไซเคิลได้ และชาวเมืองมุ่งสู่เป้าหมาย Zero Waste ร่วมกัน
หน้าตาอาหารเช้า
ภาพ : kamipara.jp
ถอดความสำเร็จของ Kamikatsu เมืองเล็กกลางหุบเขาที่ขยะกว่า 80% รีไซเคิลได้ และชาวเมืองมุ่งสู่เป้าหมาย Zero Waste ร่วมกัน
มีคำอธิบายองค์ประกอบต่าง ๆ ในเบเกิลนี้ 
ภาพ : kamipara.jp

แขกที่มาพักคงกลับไปพร้อมความเข้าใจวงจรขยะมากขึ้น เข้าใจวิธีการแยกขยะได้ดีขึ้น และเห็นความสำคัญของการรีไซเคิล โรงแรมนี้ทำให้ปณิธาน 2 ใน 3 ข้อของเมือง กล่าวคือ พยายามสร้างคนที่ไม่ทำให้โลกนี้สกปรก และ สร้างเพื่อนใหม่ทั่วโลกที่มีแนวคิดเดียวกัน เป็นจริงยิ่งขึ้นนั่นเอง

ถอดบทเรียนความสำเร็จ

โจทย์ของเมืองคามิคัตสึ คือการเปลี่ยนพฤติกรรมชาวเมืองให้ยอมรับการแยกขยะที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ดิฉันคิดว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง เราปรับแนวคิดนี้กับโจทย์ธุรกิจได้หลายอย่าง เช่น ทำอย่างไรให้พนักงานหันมาทำ CSR ทำอย่างไรให้ลูกค้าร้านกาแฟยอมซื้อหลอดพลาสติก ทำอย่างไรให้ลูกค้าที่ซื้อครีมทาหน้าของเราไปตั้งใจนวดหน้าอย่างถูกวิธี 

หากให้สรุปสิ่งที่ทำให้เมืองคามิคัตสึประสบความสำเร็จนั้น ดิฉันคิดว่ามีดังต่อไปนี้

1. ตั้งเป้าหมายที่ดีและไม่ใช่แค่เพื่อตนเอง 

เป้าหมายของเมืองนั้นมีทั้งตัวเลขและคุณค่าทางจิตใจ เป้าหมายทางตัวเลข เช่น ปริมาณขยะที่รีไซเคิลได้ เป็นตัวเลขที่เห็นชัด เข้าใจง่าย แต่ลูกค้า (ชาวเมือง) อาจยิ่งกระตือรือร้นอีกหากมีเป้าหมายที่ให้คุณค่าทางจิตใจ เช่น พยายามสร้างคนที่ไม่ทำให้โลกนี้สกปรก 

2. การแต่งตั้งตำแหน่งและผู้รับผิดชอบ กับงานที่คนอาจเกี่ยงกันไม่อยากทำ

หากเกณฑ์แรงของชาวเมืองมาช่วยกัน ชาวเมืองคงต้องวุ่นวายจัดตั้งเวรกันดูแล ส่งคนไปอบรมเรื่องการแยกขยะ คุณภาพการดูแลอาจไม่สม่ำเสมอ และเริ่มเกิดปัญหาบางคนไม่อยากทำ ส่วนทางเทศบาลเมือง หากต้องเจรจากับชาวเมืองเอง อาจใช้เวลานาน หรือบอกอะไรก็ลำบากใจกัน เพราะรู้จักกันดีอยู่ ทางเมืองจึงต้องสร้าง NPO และจัดตั้งตำแหน่งผู้รับผิดชอบที่จะประจำที่ศูนย์แยกขยะไว้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คน 

ในบางกรณี คนกลางนี้จะเป็นคนช่วยประสานและผลักดันให้งานต่าง ๆ ดำเนินไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

3. ทำให้สิ่งที่ยากเป็นเรื่องง่าย 

การเปลี่ยนแปลงในชีวิตล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายและยากที่จะทำ ทางเมืองจึงมุ่งทำให้การแยกขยะเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องสนุกที่สุด เพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ กลไกที่ทางเมืองใช้มีตั้งแต่การสะสมแต้ม ป้ายที่เข้าใจง่าย การเล่าว่าขยะแต่ละชิ้นจะกลายเป็นอะไร มีต้นทุนเท่าไร การใช้ภาพประกอบ 

ทางเมืองไม่ผลักภาระการเรียนรู้หรือการแยกขยะไปที่ชาวเมือง ไม่มีการเพ่งเล็งหรือทำโทษว่าใครทำผิด แต่มองตนเองเป็น Facilitator เพื่อช่วยให้ชาวเมืองทุกคนไปถึงเป้าหมาย Zero Waste ด้วยกันมากกว่า

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย