“การสืบสานภูมิปัญญานั้นไม่ใช่ทำแค่ปีละครั้ง แต่ต้องทำตลอดเวลา ต้องทำทุกลมหายใจเสมือนสายน้ำไหล หากน้ำเก่าไหลไป น้ำใหม่ไม่ไหลมา ก็จะเป็นน้ำห่างสายน้ำแห้ง หากน้ำเก่าไม่ไหลไป น้ำใหม่ไม่ไหลมา ก็จะเป็นน้ำเน่า

แม่น้ำจะยังคงเป็นแม่น้ำ เมื่อน้ำเก่าไหลไป น้ำใหม่ไหลมาทดแทนสืบเนื่องกันไป”

นี่คือคำพูดของ หลวงปู่จันทร์ กุสโล หรือ พระพุทธพจนวราภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ พระนักพัฒนาชุมชนผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา หนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิด โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โรงเรียนสอนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมล้านนาที่มีพ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ย เป็นครูสอนวิชาเพื่อหวังให้คนรุ่นใหม่สืบสาน

ประโยคนี้ของหลวงปู่จันทร์ยังคงก้องสะท้อนอยู่ในความคิดของครอบครัวโรจนะภิรมย์ ทำให้สองพี่น้อง ทราย-อัจฉริยา โรจนะภิรมย์ และ กรวด-อารยะ โรจนะภิรมย์ ตัดสินใจสร้าง Kalm Village ขึ้นมากลางเวียงเชียงใหม่ โดยตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม หัตถกรรม ทั่วทุกภูมิภาคของไทยทั้งรูปแบบเก่าและใหม่ แถมออกแบบวิธีการนำเสนออย่างน่าสนใจ ทำให้เรื่องราวภูมิปัญญาไม่น่าเบื่อและประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตปัจจุบันอย่างร่วมสมัย

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

“ครอบครัวเรารู้จักหลวงปู่จันทร์ตั้งแต่สมัยคุณแม่ เรานับถือสิ่งที่ท่านทำและเราต้องการจะสานต่อ” กรวดเปิดบทสนทนาพร้อมกับทรายที่เดินเข้ามาต้อนรับ “อย่างที่หลวงปู่จันทร์เคยพูดไว้ค่ะ เราเชื่อว่าการสืบสานต้องต่อยอดและพัฒนา เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราต้องย้อนมองภูมิปัญญาของเรา ซึ่งมีอยู่เยอะมาก การออกแบบ Kalm Village จึงพยายามนำภูมิปัญญาต่างๆ มาแทรกร่วมกับการนำเสนอเรื่องราวศิลปะวัฒนธรรม ที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละเดือน

“ชื่อของ Kalm Village เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า คาม ที่มีความหมายว่า หมู่บ้าน กับ Calm ที่หมายถึงความสงบเรียบง่าย จนกลายเป็น Kalm Village หมู่บ้านที่เชื่อว่าวิถีการดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายของผู้คนในอดีตนั้นมีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรม ทุกอย่างล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน 

“ซึ่งทรายและกรวดยังเชื่อว่า วิถีแบบเก่าที่ดีงามจนกลายเป็นภูมิปัญญา อยู่ร่วมกันวิถีสมัยใหม่ได้อย่างงดงามและมีความหมาย และยังช่วยต่อยอดภูมิปัญญาให้คงอยู่ต่อไป” ทรายช่วยน้องชายอธิบายคอนเซปต์

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

สองพี่น้องแบ่งหน้าที่ดูแล โดยกรวดรับหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของโครงการ ส่วนทรายเป็นสถาปนิก รับหน้าที่ออกแบบ รวมถึงคิดคอนเซปต์การนำเสนอศิลปะ วัฒนธรรม โดยเธอตั้งใจทำให้ Kalm Village เป็นเสมือนหมู่บ้าน แต่ละหลังมีเรื่องเล่าของตัวเอง ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ประกอบด้วยบ้านทั้งหมด 8 หลัง

เดินตามสองพี่น้องชมบ้านใน Kalm Village ว่าพวกเขาทำให้แนวคิดที่ว่าเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร

Kalm Reception

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

“อาคารหลังแรกอยู่ด้านหน้าสุดของโครงการ เราอยากให้เป็นอาคารต้อนรับ ถ้าสังเกตลายอิฐบนกำแพง เราตั้งใจจัดวางเป็นลายจักสานที่เห็นตามเสื่อวัด เพื่อต้อนรับผู้คนที่เข้ามาให้เกิดความสงบ เรานำคำพูดของหลวงปู่จันทร์มาแสดงเพื่อให้คนที่เข้ามาได้ทำความเข้าใจเรื่องราวที่ Kalm Village ตั้งใจนำเสนอ” ทรายเริ่มต้นอธิบายการออกแบบ

เดินผ่านโถงอาคารต้อนรับเข้ามาด้านใน จะพบกับลานกว้างกึ่งกลางหมู่บ้าน ช่วงนี้ลานเต็มไปด้วยทุ่งข้าวสีทอง เป็นไอเดียการจัดวางเพื่อสอดรับกับธีม ‘หลังฤดูเก็บเกี่ยว’ (After The Harvest) ที่หมู่บ้านกำลังนำเสนอ

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

“การนำเสนอนิทรรศการของ Kalm Village เราไม่เอาชื่อของศิลปินนำ แต่จะเอาเรื่องราวนำ แล้วคัดสรรงานจากศิลปินหรือนักออกแบบที่เราเคารพ ชื่นชอบ และเห็นว่าเหมาะกับเรื่องราวที่จะนำเสนอ สำหรับ หลังฤดูเก็บเกี่ยว (After The Harvest) เป็นงานแรกของเราหลังจากเปิดโครงการ ซึ่งตรงกับช่วงที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวกันเสร็จพอดี 

“หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวทุกคนจะมารวมตัวกันทำงานหัตถกรรม ทั้งทำใช้ในครัวเรือน ใช้ในชุมชนและถวายวัด มันคือวิถีของคนสมัยก่อน และเป็นแกนที่มาของงานศิลปะต่างๆ ในชุมชน” กรวดช่วยทรายนำเสนอ ก่อนเธอเสริมต่อ

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

“เราออกแบบบ้านให้แตกต่างกันและมีโลโก้ประจำบ้าน เช่น อาคาร Reception เป็นตราพลังจักรวาล เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามา อาคาร Kalm Kitchen เป็นตราปลาตะเพียนคู่ หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และอาคารแต่ละหลังจะมีงานจักสานและงานหัตถกรรมที่คุณแม่สะสมไว้มาจัดวางให้สอดคล้องกับเรื่องราวของแต่ละหลังด้วย 

“เมื่อเราต้องการจะเชิดชูเรื่องราวของงานฝีมือและภูมิปัญญา เราก็อยากให้ช่างที่ช่วยเราสร้างที่นี่ขึ้นมาเขามีตัวตน เราเลยทำแผ่นป้ายที่มีชื่อของช่างติดตามกำแพง ตั้งแต่ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างไฟ ยันช่างประปา เพราะเราอยากให้เขารู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้ และให้เขาเกิดความภูมิใจในทักษะฝีมือของพวกเขาเองด้วย” 

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

Kalm Kitchen

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

“ที่นี่เป็นร้านอาหาร เรามองว่าการทำอาหารก็เป็นงานฝีมืออย่างหนึ่งที่ใกล้ตัวเรามากๆ ซึ่งคุณยายของเราเป็นคนจังหวัดลำปาง ทำอาหารเก่งมาก บ้านนี้เลยทำเพื่อคุณยาย ทุกเมนูเป็นเมนูที่เรากินมาตั้งแต่เด็ก จะเปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆ และสำหรับผู้ที่สนใจต้องการเรียนทำอาหาร บริเวณชั้นบนเราก็จัดทำห้องเวิร์กช็อปสำหรับทำอาหารไว้ด้วย

“เราตั้งใจให้การเข้ามาใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ว่าจะกินข้าว ดื่มกาแฟ ก็ได้อยู่ใกล้ชิดกับงานศิลปะ หัตถกรรม โดยไม่รู้ตัว เราอยากให้มันกลมกลืน โดยไม่ต้องบังคับให้เขาเรียนรู้ ถ้าเขาสนใจก็เป็นเรื่องดี ซึ่งเราพยายามทำป้ายเล่าเกร็ดเรื่องราว เพื่อช่วยสะกิดใจให้เขาค้นคว้าต่อ และมันเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับสิ่งของเหล่านั้นได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง”

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

เราเดินผ่านของตกแต่งอย่างกระทะทองเหลืองที่ผ่านการใช้งานมาแล้วทั้งหมด 4 รุ่น ตั้งแต่รุ่นคุณทวด ส่งถึงมือคุณยาย ซึ่งปัจจุบันคุณยายอายุ 86 ปีแล้ว มีครกและเครื่องจักสานยุคเก่าที่ครอบครัวเคยสะสมนับสิบปี

Kalm Coffee House

ถัดมานิดเป็นร้านกาแฟ ทรายและกรวดคัดสรรเมล็ดพันธุ์กาแฟท้องถิ่นจากดอยต่างๆ ของภาคเหนือ

สองศรีพี่น้องว่า ที่นี่มี ‘ชามะกล่ำเครือ’ เครื่องดื่มไฮไลต์ชื่อไม่คุ้นหูเป็นตัวชูโรง

“เมนูแนะนำ เราอยากให้ลองสั่งชามะกล่ำเครือ ภูมิใจนำเสนอมาก” ทรายแววตาเป็นประกาย

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

“พอลองดื่มปุ๊บจะรู้สึกทันทีว่าชุ่มคอ ทิ้งรสหวานไว้ในปากโดยธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงน้ำตาลเพิ่ม และมีสรรพคุณเป็นยา ช่วยเรื่องการหมุนเวียนของเลือด แต่ปัจจุบันคนไม่ค่อยรู้จักแล้ว ทั้งที่มะกล่ำเครือขึ้นทั่วไปในภาคเหนือ เราเจอคนหนึ่งปลูกเป็นสวนเลยอยู่จังหวัดลำปาง แล้วเขาเอาใบมะกล่ำเครือมาคั่วด้วยเตาถ่านแบบสมัยโบราณ”

ทรายยกให้ชามะกล่ำเครือเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของร้าน เพื่อเผยให้คนรู้จักมากขึ้น และเขยิบมาอีกหน่อย บริเวณที่นั่งใกล้ร้านกาแฟ สถาปนิกสาวแบ่งพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเล็กๆ โดยรวบรวมเก้าอี้ของสล่าขณะก่อสร้างไว้

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

“เริ่มเก็บมาตั้งแต่ก่อสร้างที่นี่ มีวันหนึ่งช่างเหล็กลองทำเก้าอี้โยก รอให้เรามาเจอ มันเป็นสิ่งที่ช่างเขาทำขึ้นเพื่อใช้งานจริงๆ ซึ่งน่ารักมากสำหรับเรา” เธอส่งยิ้ม “เราอยากให้ที่นี่สนับสนุนงานสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ เรามองว่าอันนี้ก็เป็นหนึ่งในงานสร้างสรรค์นะ ซึ่งหลายคนมองไม่ค่อยเห็น เราเลยนำมาจัดแสดงไว้ตรงส่วนของร้านกาแฟเลย”

ถัดจากเคาเตอร์ชงเครื่องดื่มเป็นพื้นที่ที่พวกเขาตั้งชื่อว่า Kalm Market เป็น Selected Shop ที่คัดสรรสินค้าน่าสนใจจากแต่ละจังหวัดเวียนมาวางขาย โดยเลือกสินค้าที่ยังคงใช้กรรมวิธีผลิตแบบดั้งเดิมและรักษาภูมิปัญญา

ใกล้ๆ กับชั้นวางสินค้ายังมีไฮไลต์ที่จะนำงานของศิลปินรุ่นใหม่มาจัดแสดง หากขึ้นบันไดไปด้านบนของร้าน จะเจอกับ Kalm Library ห้องสมุดที่มีหนังสือเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมคอยบริการแก่ผู้สนใจ ซึ่งบริเวณนี้ ลูกค้านำเครื่องดื่มขึ้นมาจิบพร้อมอ่านแกล้มกับหนังสือได้ แถมถูกใจคนรักงาน เพราะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่นั่งทำงานได้ด้วย

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

บ้านหลังนี้ทรายออกแบบโดยเลือกใช้ผักกูด หนึ่งในผักท้องถิ่นภาคเหนือมาเป็นโลโก้ประจำบ้าน 

เธอดัดลายให้คล้ายลายก้านขดในศิลปะไทย หยอกล้อกับการใช้ประโยชน์ของยอดพืชพันธุ์ชนิดต่างๆ ทั้งการรับประทานและการประยุกต์ใช้เป็นงานศิลปะ หากมองลอดผ่านหน้าต่างออกมาบริเวณพื้นที่โดยรอบ ต้นไม้ทุกต้นภายในนี้ เป็นต้นไม้ท้องถิ่น ซึ่งทรายได้แรงบันดาลใจจากบ้านชาวบ้านบริเวณรอบๆ เธออยากรักษาต้นไม้ท้องถิ่นเอาไว้ และแสดงให้เห็นว่าเมื่อถูกนำมาจัดวางอย่างดี ก็สวยสู้ไม้พันธุ์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยมในบ้านเราได้

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

Kalm Gallery

“บริเวณแกลเลอรี่ เราตั้งใจให้งานของศิลปินรุ่นเก่าและรุ่นใหม่อยู่ร่วมกันได้ โดยเราคัดสรรผลงานศิลปินที่เราเคารพและรู้จักให้ตรงกับธีมที่เรากำลังจะนำเสนอ ตอนนี้ชั้นล่างกำลังนำเสนอผลงานไม้ของ อาจารย์อินสนธิ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติจังหวัดลำพูน เราชอบงานของแก แกเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์และงานศิลปะอยู่ในทุกอณูของชีวิต

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

“ไม้เท้าที่จัดแสดงแกก็ใช้จริงๆ งานแกเป็นงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มันไม่ใช่แค่งานประติมากรรมไว้จัดแสดงเฉยๆ เราอยากบอกเล่าเรื่องงานหัตถกรรม การใช้งานได้จริงด้วย และแกเป็นตัวแทนของช่างไม้รุ่นเก่าได้อย่างดี ส่วนชั้นบนนำเสนองานของศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่ โดยเราคัดงานของหลายๆ คนที่น่าสนใจมาให้ชม”

เราเดินมาหยุดหน้าบันไดวน ทรายชี้ชวนให้เราดูด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ

“ตรงนี้เป็นผลงานลุงมิตร ลุงมิตรคือสล่าไม้จากจังหวัดน่านที่มีฝีมือมาก เราให้ลุงมาช่วยดูแลงานไม้ทั้งหมดภายในโครงการ อย่างบันไดวนกลางแกลเลอรี่ เราปล่อยให้แกออกแบบเอง ถ้าสังเกตให้ดี แกไม่ใช้ตะปูเลย แต่ใช้การเข้าลิ่มแบบสมัยก่อน แกตั้งใจสร้างบันไดนี้มาก นั่งทำอยู่คนเดียวอย่างมีความสุขไม่ยอมให้ช่างคนอื่นช่วย 

“แกนั่งอยู่ตรงนี้เป็นเดือน ออกแบบเอง สร้างเอง จบงานเอง” สาวเจ้ายิ้มไม่หุบด้วยความชื่นชม

Kalm Hall

Kalm Village หมู่บ้านที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมทั่วประเทศไว้ใจกลางเชียงใหม่

บ้านอีกหลังที่พวกเขาตั้งใจให้เป็นห้องโถงอเนกประสงค์ เมื่อเดินเข้ามาจะได้กลิ่นหอมนวลลอยแตะจมูก

“ตรงนี้เราปล่อยให้คนที่สนใจมาเช่าใช้บริการได้ ตอนนี้ยังไม่มีการใช้งาน เลยจัดเป็นแกลเลอรี่เกี่ยวกับ Art Craft and Spirit เป็นศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับจิตวิญญาณ โดยเป็นงานที่ศิลปินพูดเรื่องพุทธทั้งหมด แล้วก็มีข้าวของในวัดจริงๆ มาแสดงด้วย พอเข้ามาจะได้สัมผัสรูป รส กลิ่น เสียง ทันที คล้ายกับโบสถ์ กลิ่นที่ลอยมาเป็นกลิ่นธูปจากอินเดีย

“ถ้ามองขึ้นไปบนห้องโถงฯ จะเห็นลายคำ ซึ่งมีการประยุกต์ใหม่ให้เป็นสีสันที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่สีทอง มีช่อฟ้าที่อยู่ในวัดด้วย เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยเห็นช่อฟ้าที่เป็นไม้ทั้งแท่งแล้ว อันนี้เป็นของที่คุณแม่เก็บไว้ที่บ้านนานมากแล้ว”

Kalm Style

Kalm Style เป็นพื้นที่ขายของ มีด้วยกัน 3 หลัง 3 สไตล์ สินค้าทุกอย่างเป็นสินค้าที่ทรายออกแบบเอง มีทั้งทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ และคัดสรรมาจากต่างประเทศ โดยเน้นผ้าและสไตล์ที่เธออยากนำเสนอ

บ้านแต่ละหลังออกแบบให้สอดคล้องกับเสื้อผ้าที่วางจำหน่าย เช่น หลังแรกเล่นกับสีเอิร์ธโทน เป็นสีของเครื่องปั้นดินเผาที่คนสมัยก่อนใช้ในชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับเสื้อผ้าภายในบ้านหลังนี้ที่นำมาใส่ได้แทบทุกวัน อีกหลังออกแบบเป็นกรีนเฮาส์สบายๆ เสื้อผ้าภายในบ้านก็จะมีความสบายๆ และเกิดจากกรรมวิธีธรรมชาติทั้งหมด

หมู่บ้านกลางเวียงเชียงใหม่ ที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาผ่านสล่า ผ้า อาหาร ศิลปะ หัตถกรรมและประสบการณ์
หมู่บ้านกลางเวียงเชียงใหม่ ที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาผ่านสล่า ผ้า อาหาร ศิลปะ หัตถกรรมและประสบการณ์

นอกจากพื้นที่ด้านล่างจัดเป็นโซนขายของแล้ว ด้านบนของแต่ละหลังก็ซ่อนเอกลักษณ์เอาไว้ไม่น้อย อย่างชั้นบนของหลังสีเอิร์ธโทนที่พวกเขาตั้งใจจัดให้เป็น DIY โซน มีห้องผ้าที่ขายผ้าม้วน ซึ่งผ้าม้วนจะผลัดเปลี่ยนตามธีมที่นำเสนอ โดยลูกค้าซื้อผ้าเมตรกลับบ้านไปสร้างสรรค์ต่อเองได้ หรือจะใช้พื้นที่ที่โครงการจัดเตรียมไว้ให้ก็ได้ ม่วนขนาด!

อนาคต พื้นที่ที่ว่าก็ยังปรับเปลี่ยนเป็นห้องเรียนสำหรับคนที่สนใจทำงานผ้าได้อีก 

Kalm Archive

หมู่บ้านกลางเวียงเชียงใหม่ ที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาผ่านสล่า ผ้า อาหาร ศิลปะ หัตถกรรมและประสบการณ์

ชั้นบนของบ้าน Kalm Style อีกหลังมีมุมไฮไลต์ที่ต้องลองมาเดินและใช้เวลาที่ส่วนนี้สักครั้ง

“เราเรียกห้องนี้ว่าห้อง Archive เป็นห้องจัดแสดงงานผ้าแต่ละภาคของไทยที่คุณแม่สะสมเอาไว้ เราตั้งใจให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งความรู้ ให้คนมาดูงานระดับครูเพื่อนำไปต่อยอด และอยากให้คนเข้ามาดูผลงานโดยไม่รู้สึกห่างเหินกับผลงานมากนัก แต่ก็ต้องรักษาผ้าเก่าเอาไว้ด้วยเช่นกัน เลยไม่เลือกโชว์ในตู้กระจก เพราะดูเป็นการกั้นคนกับชิ้นงาน 

“เราออกแบบให้เป็นการแขวนในระยะที่สายตายังมองเห็นรายละเอียดได้ และวางหมอนให้คนมานั่งดูกันแบบสบายๆ ส่วนจำนวนผ้าที่เอามาจัดแสดงก็มีร้อยกว่าผืนได้ ซึ่งยังไม่หมดเลยค่ะ” เธอเล่าพลางหัวเราะ

Kalm Residency Program

นอกจากแกลเลอรี่และร้านรวง ทรายและกรวดยังจัดสรรพื้นที่ให้ศิลปินและนักออกแบบมาพำนัก โดยมีห้องสตูดิโอส่วนตัวสำหรับทำงาน จะว่าไป เราก็ชื่นชอบที่หมู่บ้านแห่งนี้ให้ความสำคัญกับศิลปะและศิลปินอย่างแท้จริง

“ด้านบนเราเตรียมไว้สำหรับ Residency Program มีห้องพัก มีสตูดิโอให้ทำงาน เราอยากให้พื้นที่นี้เป็น Knowledge Production ไม่จำเป็นต้องเป็น Final Product ก็ได้ เราพยายามชวนศิลปินให้มาทำงานร่วมกันตามหัวข้อ เช่น ถ้าช่างทอผ้าภาคเหนือและภาคใต้มาทำงานด้วยกันในสถานที่เดียวกัน งานจะออกมาแบบไหนกันนะ

“เราไม่แบ่งหรือกั้นว่าคุณจะต้องเป็นนักออกแบบ เป็นศิลปิน เป็นช่าง ทุกคนมาสร้างงานด้วยกันได้หมดเลย แล้วแกลเลอรี่ตรงนี้ก็จะแสดงงานที่เกิดจากโปรแกรมนี้ คนที่เข้ามาในพื้นที่ก็จะชมการทำงานได้ด้วย”

หอแก้ว

หลังจากทรายและกรวดพาเราเดินชมพื้นที่โดยรอบจนครบ ก็มาจบที่ชั้นบนของโครงการ

“ตรงนี้เป็นศาลาที่ลุงมิตรทำค่ะ เราตั้งใจทำเป็นหอแก้ว ต้องการโชว์โครงไม้ ซึ่งเป็นการเข้าไม้แบบโบราณ จะเห็นว่ามีรายละเอียดของลุงมิตรเยอะแยะไปหมดเลย อย่างการเข้าลิ่มบริเวณบัวตรงเสา มันเป็นส่วนที่เราอยากเชิดชูงานของสล่าสมัยก่อนที่เขาสามารถสร้างสรรค์อาคารต่างๆ ออกมาจนกลายเป็นภูมิปัญญาหนึ่งของบ้านเรา”

หมู่บ้านกลางเวียงเชียงใหม่ ที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาผ่านสล่า ผ้า อาหาร ศิลปะ หัตถกรรมและประสบการณ์

บนหอแก้วยังเป็นจุดชมวิวที่มองออกไปจะเห็นยอดเจดีย์หลวงภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นทิวทัศน์ที่สวยงามมาก และยังเป็นการเชื่อมโยงไปยังสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นไอเดียของการสร้างโครงการแห่งนี้ขึ้นมา

“โปรเจกต์นี้ทำให้เราได้เรียนรู้จากช่าง ศิลปิน และนักออกแบบเยอะแยะมากมายเลยค่ะ เราหวังว่าผู้คนที่มาที่นี่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับภูมิปัญญาของบ้านเราได้มากยิ่งขึ้น 

“ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ถ้าการเข้ามาที่ Kalm Village ทำให้เขานำภูมิปัญญาเหล่านี้ไปต่อยอดต่อไปในชีวิตได้” สองคนพี่น้องจบบทสนทนาด้วยรอยยิ้มและแววตามุ่งมั่น

หมู่บ้านกลางเวียงเชียงใหม่ ที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาผ่านสล่า ผ้า อาหาร ศิลปะ หัตถกรรมและประสบการณ์

Kalm Village

ที่อยู่ : 14 ซอย 4 ถนนพระปกเกล้า อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)เปิดบริการวันจันทร์-วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันพุธ) เวลา 09.30 น. – 18.30 น.
โทรศัพท์ : 0 2115 2956
Website : www.kalmvillage.com
Facebook : Kalm Village

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ