“ผ่านแนวกำแพงกรุงรัตนโกสินทร์มาจะเจอคลอง เลียบแนวคลองที่มีสะพานเจริญกรุง สะพานผดุงด้าว ไปจนสุดทางก็ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นป้อมปราการเด่นอยู่ริมน้ำ”
อ่านดูเผิน ๆ คุณอาจจะคิดว่าข้อความบรรทัดบนนี้เป็นการบอกทางไปที่ไหนสักแห่งในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร บ้างก็คงนึกย้อนในใจว่าเราบอกทางผิด หรือชื่อสะพานนี้ไม่มีอยู่จริง
ซึ่งก็ถูกต้องแล้วที่คุณคิดเช่นนั้น เพราะชื่อทั้งหมดที่เรากล่าวถึงนี้ล้วนไม่ใช่สถานที่ดั้งเดิมในเมืองฟ้าอมร หากเป็นของย่อส่วนที่สร้างไว้ใน ‘กาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท (KALANAN Riverside Resort)’ ที่ซึ่งเรามีนัดกับ อุ้ม-พิชยา ชยวรประภา เพื่อพูดคุยถึงที่พักแสนสวยของเธอในจังหวัดนนทบุรี
“เราไม่ค่อยอยากใช้คำว่า ‘จำลองสถานที่มา’ สักเท่าไหร่ เนื่องจากเราพยายามรักษากลิ่นอายของยุคสมัยนั้นมาไว้ที่นี่ทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรม แต่รวมถึงประสบการณ์และความรู้สึกของการที่ได้มาเยือนที่นี่ด้วยค่ะ” อุ้มเกริ่นถึงเจตนารมณ์ในการสร้างโรงแรมธีมย้อนยุคแห่งนี้ โดยมี เกด-ธนิดา พิศาลย์ ผู้จัดการทั่วไปของกาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท ร่วมฟังและเล่าเสริมเรื่องราวเป็นระยะ
เนิ่นนานกว่า 14 ปีแล้วที่ครอบครัวของอุ้มสร้างโรงแรมนี้ขึ้นด้วยความหลงใหลในศิลปวัฒนธรรมไทย แต่ตัวเธอเพิ่งก้าวเข้ามาดูแลอย่างเต็มตัวเมื่อไม่กี่ปีก่อน นำมาซึ่งการปรับปรุงสถานที่และรีแบรนด์ขนานใหญ่เมื่อปลาย พ.ศ. 2566 จนได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เราขอนำทุกท่านไปดื่มด่ำกลิ่นอายเมืองไทยในอดีต จากรีสอร์ตที่อุ้มตั้งใจรีแบรนด์ใหม่ด้วยหลักการ 3 ข้อ อันได้แก่ ความทรงจำ ความมีเสน่ห์ และอยู่เหนือกาลเวลา
ที่พักในความทรงจำ
กาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท เป็นชื่อที่เพิ่งตั้งขึ้นไม่นานมานี้ ส่วนชื่อที่เคยใช้มาแต่นมนานคือ Buddy Oriental Riverside ซึ่งเป็นชื่อที่ ไทฟ้า ชยวรประภา คุณพ่อของอุ้มเป็นผู้ตั้งขึ้น เพื่อให้ล้อไปกับชื่อเครือ Buddy Group และบรรดาธุรกิจก่อนหน้าที่ท่านสร้างสมไว้ในละแวกถนนข้าวสาร ก่อนมาพบที่ดินแปลงนี้
อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมของย่านบางลำพูที่เติบโตมานั้นอวลอายไปด้วยบรรยากาศเมืองเก่า มองไปทางไหนก็เห็นแต่ตึกเก่า วัดเก่า ปราสาทราชฐานที่ตกทอดมาจากยุคเก่า คุณพ่อไทฟ้าจึงชื่นชอบประวัติศาสตร์และความเป็นไทยมาก สมัยเด็กท่านมักใช้เวลายามว่างกับการเดินชมวัดวาอาราม เข้าพิพิธภัณฑ์ เมื่อสร้างฐานะได้จากธุรกิจที่ทำ ท่านก็ซื้อหาของเก่ามาเก็บรักษาและจัดแสดงในสถานที่ของตน ทั้งรถโบราณ เครื่องเสียง เศียรพระ และรูปปั้น ซึ่งหลาย ๆ ชิ้นก็มีให้ชมได้ที่นี่
“พอมีธุรกิจแถบข้าวสารแล้ว คุณพ่อก็มาได้ที่ดินตรงนี้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดกู้ ท่านมองว่าตรงนี้มีประวัติศาสตร์ เช่น วัดกู้เป็นสถานที่กู้พระศพของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) ขึ้นจากเรือที่ล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวคุณพ่อเองก็มีชื่อเล่นว่า กู้ ด้วย เลยคิดว่าตำแหน่งที่ตั้งตรงนี้เชื่อมโยงกับทั้งประวัติศาสตร์และตัวท่านเอง เลยอยากทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับโรงแรมขึ้นมาค่ะ”
แต่ก่อนจะเริ่มสร้างโรงแรมขึ้น คุณไทฟ้าได้สร้างร้านอาหารนาม ‘สองฝั่งคลอง’ ขึ้นมาใน พ.ศ. 2549 กลายเป็นร้านอาหารไทยริมน้ำชื่อดังคู่เมืองนนทบุรีมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนโรงแรมที่มีขนาดใหญ่กว่า การก่อสร้างนั้นต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี จึงเปิดให้บริการได้ครั้งแรกใน พ.ศ. 2553
“คุณไทฟ้าออกแบบตามความชื่นชอบในสถาปัตยกรรมรอบตัวที่แกโตมา อาจจะยังไม่มี Brand Design หรือการเล่าเรื่องมากนัก ท่านมีความอาร์ตพอสมควร ทุกอย่างมันอยู่ในหัวท่านหมดเลย” อุ้มเล่าพลางเดินนำมายังป้อมปราการสีขาวที่ตั้งตระหง่านหันหน้าออกสู่ลำน้ำกว้าง
ไม่ว่ามองจากมุมไหน ก็ดูช่างละม้ายป้อมพระสุเมรุ ใกล้บ้านเดิมที่คุณไทฟ้าเคยอาศัยอยู่
“คนถามกันเยอะว่าป้อมนี้อายุกี่ร้อยปีแล้ว เมื่อก่อนมีอย่างนี้ด้วยหรือ” ลูกสาวผู้ก่อตั้งพูดกลั้วเสียงหัวเราะใส ๆ “มันมาจากการที่คุณพ่อเคยวิ่งเล่นแถวป้อมพระสุเมรุที่บางลำพูมาก่อน ที่นี่ก็อยู่ริมแม่น้ำเดียวกัน เป็นทางที่เรือขนส่งแล่นผ่านเหมือนกัน ท่านมองว่าเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเมืองที่จำเป็นต้องมีเพื่อเป็นการคุ้มกัน ถ้าจะดึงกลิ่นอายมา นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่คุณต้องดึงมาให้เหมือนและลงตัวกับสถาปัตยกรรมรอบด้าน อันนี้ก็เป็นอีกความภาคภูมิใจที่เรามีต่อที่นี่ ใครมาพักก็จะรู้สึกว่าได้รับการปกป้องจากป้อมนี้”
แม้จะผ่านมานานกว่าทศวรรษ แต่ป้อมดังกล่าวก็ยังโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงแรม อยู่เคียงคู่สระน้ำ 1 ใน 2 สระของโรงแรม หนำซ้ำยังผ่านการบูรณะใหม่ให้เป็นที่ตั้งของสปาไทยโบราณชื่อ ‘บุหงาสปา’ ชั้นบนเป็นฟิตเนสที่ให้แขกได้ออกกำลังกายพร้อมชมวิวแม่น้ำจากใต้หลังคาป้อมอีกด้วย
คุณไทฟ้าดูแลกิจการทั้งร้านสองฝั่งคลองและโรงแรม Buddy Oriental Riverside อยู่ได้ระยะหนึ่ง ท่านก็เสียชีวิต คุณแม่และอุ้มจึงเข้ามาสืบทอดการบริหารธุรกิจเหล่านี้ต่อ นับเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของโรงแรมนี้ เมื่อชื่อเสียงเรียงนามของที่นี่ถูกเปลี่ยนใหม่เป็น ‘กาลนาน’
โฉมใหม่ที่ทรงเสน่ห์
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 อุ้มเปลี่ยนสถานะจากลูกสาวผู้บริหารมาเป็นผู้บริหารเองเต็มตัว พร้อมกับนำวิชาความรู้ที่คุณพ่อผู้ล่วงลับได้ส่งเสริมให้เรียน มาช่วยพัฒนาธุรกิจนี้อย่างเต็มที่
“คุณพ่อไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย แต่เป็นคนมีความคิด มีความชอบ และมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตัวเองคิดอยากจะทำ ซึ่งอุ้มเองก็เห็นจากคุณพ่อมา ท่านอยากให้อุ้มเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ อุ้มเลยได้เป็นสถาปนิก พอกลับมาจึงมองเห็นถึงคุณค่าที่คุณพ่อพยายามจะสร้าง เลยอยากเพิ่มคุณค่าตรงนี้ลงไปให้ครบถ้วน ตามเป้าหมายที่ท่านตั้งใจไว้ค่ะ”
จุดแรก ๆ ที่เธอเล็งเห็นคือลักษณะธุรกิจของที่นี่ซึ่งแตกต่างไปจากโรงแรมอื่นในเครือ คือมีพื้นที่มากที่สุด มีระดับการบริการเหนือกว่าที่อื่น เธอจึงตัดสินใจยกระดับแบรนด์โรงแรมนี้เพื่อขับเน้นความพิเศษให้ชัดยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนชื่อโรงแรมและปรับสภาพพื้นที่โดยรอบทั้งหมดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
ด้วยบรรยากาศโรงแรมที่ย้อนยุคไปสมัยรัตนโกสินทร์ ชื่อไทย ๆ ย่อมเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าชื่อภาษาฝรั่ง ทีมสร้างแบรนด์ได้มีส่วนร่วมประเมินชื่อที่เหมาะสมที่สุด จนมาได้ชื่อ กาลนาน ที่ไม่ได้เจาะจงเฉพาะอดีต แต่ยังลากยาวไปถึงอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเข้ากันได้ดีกับประสบการณ์ที่เธออยากให้แขกได้รับ
“คุณอุ้มตั้งใจให้รู้สึกว่าทุกสิ่งของที่นี่จะหยุดเวลาไว้ เพื่อรอให้ทุกคนมาสัมผัส ได้เข้ามามีประสบการณ์ โดยหยุดไว้ชั่วกาลนาน” เกดซึ่งเป็นผู้จัดการโรงแรมพูดขึ้นบ้าง
ในขั้นตอนการบูรณะ อุ้มได้หารือกับทีมสถาปนิก Shma ซึ่งเข้ามาช่วยดูแผนแม่บททุกส่วน และร้อยเรื่องราวของที่นี่ใหม่โดยแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 3 ยุคสมัยตามราชธานีของสยาม ประกอบด้วย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
ความเป็นอยุธยานั้นปรากฏให้เห็นตั้งแต่รถเลี้ยวเข้ามายังกำแพงโรงแรม ท่ามกลางต้นหมากรากไม้ที่ร่มครึ้ม มีแนวกำแพงอิฐที่ดูคล้ายซากโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยาโอบล้อมอยู่
ถัดมาอีกหน่อยก็จะพบกับส่วนที่เป็นตัวแทนของกรุงธนบุรี คือร่องสวนที่แลลานตาไปด้วยพืชผักสวนครัวนานาชนิด เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ตลิ่งชัน’ ตามย่านบ้านสวนชื่อดังฝั่งธนฯ อุ้มเป็นคนคิดที่จะสร้างพื้นที่นี้ให้มีมูลค่าขึ้นมา จากที่เคยถูกปล่อยทิ้งร้างไว้เฉย ๆ ในสมัยที่คุณพ่อยังมีชีวิตอยู่
และเมื่อขยับผ่านร่องส่วนมาอีก จะพบแนวกำแพงสูงหนาที่ถอดแบบมาจากกำแพงพระราชวังและป้อมสนามยุครัตนโกสินทร์ คือส่วนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโรงแรม เพื่อให้สอดรับกับตัวตนของเมืองหลวงปัจจุบัน อุ้มเลือกสรรชื่อเรียกสถานที่ต่าง ๆ จากชื่อที่มีจริงในพระนคร ให้เข้ากับการใช้งานของที่นั่น
พื้นที่สนามที่ใช้จัดงานต่าง ๆ ถูกเรียกว่า สนามหลวง
ห้องประชุมใช้ชื่อ สราญรมย์ ตามชื่อพระราชวังสราญรมย์ซึ่งเคยเป็นที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ และทำเนียบองคมนตรี
สะพานน้อยใหญ่ที่ทอดข้ามทางน้ำซึ่งขุดเลียนแบบคลองในกรุงเทพฯ ถูกตั้งตามชื่อถนนเก่าแก่หลายสาย เป็นต้นว่า ผดุงด้าว เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร รูปแบบของสะพานก็อ้างอิงจากสะพานที่มีอยู่จริงอย่างสะพานพุทธ และบนสะพานจะมีตัวเลข พ.ศ. ที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมและครอบครัวของอุ้ม เช่น ปีเกิดคุณแม่ ปีเสียชีวิตคุณพ่อ ปีที่เธอเข้ามาบริหาร และปีที่เปลี่ยนชื่อโรงแรม
อุ้มใส่ใจกับการสะกดชื่อตามอักขรวิธีสมัย 100 กว่าปีก่อน ซึ่งจะเขียนคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศไม่เหมือนปัจจุบัน อย่างห้องรับรองแขกวีไอพีก็ชื่อ สยาม รีคอเดอ (Siam Recorder)
สำหรับห้องพักที่มีมากถึง 82 ห้อง ในยุคที่เปลี่ยนโฉมใหม่เป็น กาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ทนี้ ที่พักถูกแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภทย่อยมาก จำแนกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ Deluxe, Grand Deluxe และ Pool Villa ซึ่งต่างเน้นหนักในเรื่องวิวทิวทัศน์ที่เห็นได้จากหน้าต่างห้อง
Deluxe จะมี 5 ประเภทย่อย ได้แก่ Deluxe แบบธรรมดา,Deluxe Canal View, Deluxe Forest View, Deluxe Garden View และ Deluxe Pool View ชื่อที่ต่างกันนี้บ่งบอกวิวนอกหน้าต่างของแต่ละห้อง ว่าจะหันหน้าเข้าหาพื้นที่คลอง ป่า สวน หรือสระว่ายน้ำตามลำดับ
Grand Deluxe ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก เหมือนกันตรงที่ทุกห้องหันหาแนวแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วน Pool Villa ที่ใหญ่ที่สุดจะมีทั้ง 1 – 2 ห้องนอน มากที่สุดคือ 3 ห้องนอน
เกดเล่าว่าทุกห้องเหมาะสำหรับผู้เข้าพักเพียง 2 คน แต่เสริมเตียงได้ และจะมีห้องแบบ Family อีกประเภทซึ่งพักได้ห้องละ 3 – 4 คน
“ห้องที่วิวดีที่สุดเป็นห้อง Grand Deluxe River View ชั้นบน ทุกเช้าจะเห็นเรือลำเล็ก ๆ วิ่งผ่าน ซึ่งเราคงหาไม่ได้จากในกรุงเทพฯ ค่ะ” อุ้มเปิดเผยประเภทห้องในดวงใจ ก่อนที่เกดจะช่วยหนุนอีกเสียง
“ตอนเช้าที่นี่จะเห็นวิวหนึ่ง ตอนเย็นที่พระอาทิตย์ตกดินก็จะเห็นวิวที่สวยงามมากอีกแบบค่ะ”
คุณค่าเหนือกาลเวลา
ตลอดเวลาที่เราสนทนากับอุ้มและเกด ท่องตระเวนไปตามพื้นที่ 3 ยุคสมัย ผ่านตึกโรงแรมทรงโคโลเนียลปนไทย กำแพงใหญ่ ร่องสวนอันร่มรื่น ป้อมปราการย่อส่วน และทุกส่วนที่ประกอบกันเป็น กาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท แห่งนี้ เรารู้สึกได้ถึงกลิ่นอายความเก่าแก่ที่กระอวลอยู่รอบตัว ราวจะกกกอดเราให้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในนั้น และกอดนั้นก็ยิ่งกระชับแน่นขึ้น เมื่อเราปรายสายตาไปนอกโรงแรม ผ่านแนวแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงภาคกลางไปยังฝั่งทิวภาพตรงข้ามด้วย
บ้านเล็กเรือนน้อยซึ่งรายเรียงอยู่ตามแนวน้ำ เบื้องหลังเป็นทิวไม้ใหญ่หลายสายพันธุ์ ห่างออกไปเป็นวัดเก่าที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมมอญ มีชาวบ้านสวมงอบแจวเรือเล็กแหวกกระแสธารที่ไหลเอื่อยมานาน ๆ ที ดูเป็นภาพที่งามสะกดใจดุจภาพวาด เหมือนวารวันได้หยุดไว้เมื่อสัก 100 กว่าปีก่อน ซึ่งเราคงไม่มีวันได้เห็นวิวหลักล้านเช่นนี้จากกรุงเทพฯ ที่อยู่ห่างไปแค่ไม่กี่นาทีเดินรถ
“เราอยากให้ลูกค้าที่มาพักได้เติมเต็มในสิ่งที่เขาไม่ได้รับในชีวิตประจำวันของเขา ได้มาเจอความโบราณ เจอกลิ่นอายของประวัติศาสตร์” เกดเอ่ยขึ้นหลังจากรอให้เราได้ซึมซาบวิวริมน้ำจนหนำใจ
“ถัดจากนี้ไปแค่ 3 กิโลเมตรก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเกาะเกร็ด ซึ่งเป็นชุมชนคนมอญ ใกล้ ๆ กันก็เป็นวัดกู้ซึ่งเป็นวัดเก่าที่มีประวัติศาสตร์เยอะมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งต้องการหาที่พักผ่อนไม่ไกลจากกรุงเทพฯ พอออกมาตรงนี้ทุกคนก็จะบอกว่าเหมือนไม่ได้อยู่ใกล้บ้าน มองออกไปนอกป้อมของเราก็เหมือนไม่ได้มีความเป็นกรุงเทพฯ เลย นี่คือเสน่ห์หนึ่งของนนทบุรีค่ะ”
เพื่อมอบประสบการณ์แปลกใหม่แก่แขกที่มาพัก กาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท ได้ริเริ่มกิจกรรมหลายประเภทให้ผู้เข้าพักทดลองทำ อย่างแรกที่ทั้งสองภูมิใจนำเสนอที่สุดคือการใช้ประโยชน์จากผักสวนครัวในร่องสวน แขกที่มาพักขอเรือพายเข้าไปเก็บผักผลไม้ที่นั่นได้ และยังมีกิจกรรมสอนทำอาหาร (Cooking Class) จากพืชผักเหล่านั้นให้ได้เรียนรู้กันด้วย
ทุกอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน จะมีกิจกรรมทำบุญในชื่อ สิริบุญ ช่วง 7 โมงเช้า โดยพระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงพายเรือมาบิณฑบาตริมท่าน้ำของวัด ลูกค้าที่ใคร่อยากทำบุญก็แจ้งชื่อและใส่บาตรได้
มีคลาสสอนวาดภาพริมแม่น้ำ กิจกรรมแต่งชุดถ่ายภาพย้อนยุค สปาไทย และอื่น ๆ
ทั้งหมดนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากบรรดาพนักงานผู้ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี อุ้มเน้นบ่อยครั้งว่าพนักงานทุกชีวิตได้รับการปลูกฝังความเป็นเจ้าบ้านไว้เต็มกมล ดูแลลูกค้าเสมือนแขกที่มาพักค้างแรมที่บ้าน พวกเขาจึงต้อนรับขับสู้เป็นอย่างเป็นกันเอง บ่อยครั้งไปที่ลูกค้าจดจำชื่อเล่นของพนักงานที่นี่ได้ และมีประสบการณ์ที่ดีกับบริการของพวกเขา
เพราะอย่างนี้กระมัง ลูกค้าบางคนถึงเลือกมาอยู่หลายวัน บ้างก็อยู่นานร่วมสัปดาห์ โดยเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมสารพัดของที่นี่ โดยไม่ต้องก้าวพ้นรั้วโรงแรมออกไปเลย
“เรามักจะพูดกันเสมอว่า DNA หรือแท็กไลน์ของโรงแรมเราคือ Remembrance (ความทรงจำ) Charm (ความมีเสน่ห์) และ Timelessness (การอยู่เหนือกาลเวลา) เราต้องการให้ทุกคนที่เข้ามาได้หยุดเวลาตัวเอง ได้พักผ่อนจริง ๆ อยู่กับตัวเองและคนที่มาด้วยกัน อยากให้พวกเขาจดจำความรู้สึกเหล่านี้ไว้ พอลูกเขาโต ได้กลับมาแล้วก็จำได้ว่าเคยมีความรู้สึกดีกับที่นี่ และอยากกลับมาอีกในอนาคต”
อุ้มถ่ายทอดแนวคิดที่เป็นดั่งหัวใจในการบริหารโรงแรมที่เธอรับเป็นมรดกตกทอดมาจากผู้ให้กำเนิด และเล่าถึงกลุ่มลูกค้าที่เคยรับ ทั้งกลุ่มสัมมนา ข้าราชการ ครอบครัว และคู่รัก เกดยังกล่าวต่อไปว่าตอนนี้กาลนานกำลังปรับพื้นที่ให้เป็น Pet-friendly เพื่อเอื้อกับกลุ่มลูกค้าที่พาสัตว์เลี้ยงมาด้วย
ไม่ว่าคุณที่กำลังอ่านบทความมาถึงย่อหน้านี้จะมาพักผ่อนที่นี่ในฐานะไหน เราก็เชื่อเหลือเกินว่าเสน่ห์ที่แฝงอยู่ในทุกอณูบรรยากาศและบริการของโรงแรมอิงประวัติศาสตร์แห่งนี้ ย่อมมอบความทรงจำที่แสนสุขอันจะติดตัวคุณไปตลอด…กาลนาน
3 Things you should do
at KALANAN Riverside Resort
01
ลองถ่ายรูปกับวิวสวย ๆ ทั้งที่ป้อม ห้องพัก ฯลฯ เพื่อเก็บภาพจำ
02
ลองตักบาตรพระสงฆ์ที่บิณฑบาตมาทางแม่น้ำ
03
ลองชิมอาหารที่ร้านสองฝั่งคลอง และอาหารไทยผสมอินเตอร์ที่ห้องอาหารฟ้าประภา